พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 78 จาก #TULAWInfographic
.
หลักการพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาคือบุคคลจะต้องสามารถเข้าร่วมกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (effectively participation) หากบุคคลนั้นมีความบกพร่องหรือขาดความสามารถที่เพียงพอ กฎหมายก็ต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือให้สามารถเข้าร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
แต่ประเทศไทยกลับยังไม่มีมาตรการพิเศษสำหรับการสอบปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา กฎหมายไทยควรดำเนินการอย่างไรเพื่อให้มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นและเหมาะสม?
.
#TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากบทความวิชาการเรื่อง “การกำหนดให้มีมาตรการพิเศษสำหรับการสอบปากคำผู้เสียหายที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาในประเทศไทย : กรณีศึกษาจากพัฒนาการทางกฎหมายของสหราชอาณาจักร (อังกฤษและเวลส์) และประเทศนอร์เวย์” โดย อาจารย์ ดร.ญาดา เดชชัย เธียรประสิทธิ์
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/3VMwzDE
.
2 ปัญหาประเทศไทย
ปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ข้อคือ
.
- การขาดมาตรการพิเศษในการสอบสวนผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
ประเทศไทยมีมาตรการพิเศษสำหรับการสอบสวนผู้เสียหายบางประเภท อาทิ สตรี เด็ก แต่กลับไม่มีมาตราการพิเศษสำหรับการสอบสวนผู้เสียหายที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา อีกทั้งศาลยังยืนยันว่าการใช้วิธีการสอบสวนสามัญสำหรับผู้เสียหายที่มีความบกพร่องทางสติปัญญานั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากไม่มีข้อกำหนดไว้โดยเฉพาะตามกฎหมาย
.
ถึงแม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีการออกหนังสือสั่งการเรื่อง คำแนะนำการสอบปากคำบุคคลที่เป็นเด็กหรือเยาวชนหรือผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ขึ้นมาแล้วนั้น หนังสือดังกล่าวยังคงเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติของพนักงานสอบสวนในการสอบสวนเท่านั้น ยังไม่ได้มีการอนุญาตให้พนักงานสอบสวนได้ใช้มาตรการหรือเครื่องมือพิเศษใดๆ ในการสอบสวน และไม่ได้เป็นการแนะนำเทคนิคการสอบสวนใดๆ
.
ปัญหานี้อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการสอบสวน และการรวบรวมพยานหลักฐาน จากผู้เสียหายหรือพยานที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา รวมทั้งยังขาดมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้เสียหายหรือพยานที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา สามารถเข้าร่วมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
.
- มาตรการที่มีอยู่ไม่ครอบคลุม
ป.วิ.อ ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือ คนพิการประเภทอื่น ๆ เช่น ในมาตรา 13 วรรค 3 ที่กำหนดให้ต้องมีล่ามในระหว่างกระบวนการพิจารณา หากผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย หรือพยานไม่สามารถพูด ได้ยิน หรือสื่อสารได้ หรืออาจใช้วิธีการอื่นที่เหมาะสมเพื่อชี้แจงคำถาม คำตอบหรือการสื่อสารได้
.
แต่มาตรการข้างต้นสามารถใช้ในการสอบสวนผู้เสียหายที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาได้ แต่เฉพาะในกรณีที่พวกเขาไม่สามารถพูด ได้ยิน หรือสื่อสารได้โดยปกติเท่านั้น รวมทั้งบทบัญญัติยังใช้คำว่า ‘ไม่สามารถ’ ดังนั้นจึงหมายความว่าผู้เสียหายที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาที่จะมีสิทธิ์ได้รับล่ามภาษามือนั้น จะต้องขาดความสามารถในการสื่อสารโดยสิ้นเชิงอีกด้วย
.
นอกจากนี้ยังมี มาตรา 14 ที่ได้วางหลักเรื่องความสามารถในการต่อสู้คดี ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีความผิดปกติทางจิตในระหว่างการพิจารณาคดี หรือในชั้นสอบสวน และมีข้อสงสัยในประเด็นความสามารถในการถูกสอบสวนหรือต่อสู้คดี แต่ทั้งนี้มาตรานี้ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสอบสวนผู้เสียหายและพยานที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาโดยตรงได้ เนื่องจากมาตราดังกล่าวสามารถใช้ได้เฉพาะกับผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยเท่านั้น
.
มาตรการช่วยเหลือผู้พิการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงมีเพียง 2 ประเภทข้างต้นเท่านั้น ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงความพิการทุกประเภท
.
4 ข้อเสนอแนะ
ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะ 4 ข้อได้แก่
.
- ผู้วิจัยเห็นว่าควรมีการเพิ่มมาตรา 133 จตุ โดยมีเนื้อหาดังนี้
.
“มาตรา 133 จตุ การสอบสวนผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา…
ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจาก การชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือคดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาร้องขอ การถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ร้องขอ กรณีที่ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาร้องขอให้มีบุคคลที่ร้องขอเข้าร่วม ร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญานั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าการถามปากคำผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาคนใดหรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาอย่างรุนแรงให้พนักงานสอบสวนปรึกษาการถามคำถามนั้นกับนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ก่อน
เพื่อคุณภาพของการสอบสวนที่ดีขึ้นและการรวบรวมพยานหลักฐานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นมาตรการพิเศษในการสอบสวนผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาอาจถูกนำมาใช้ได้ โดยมาตรการพิเศษ ได้แก่ การสื่อสารผ่านตัวกลางหรือล่าม และ/หรือการใช้เครื่องช่วยการสื่อสารพิเศษ การขอใช้มาตรการพิเศษต้องทำเป็นคำร้องลายลักษณ์อักษร และการอนุญาตให้มีการใช้มาตรการพิเศษนั้นขึ้นอยู่กับการร้องขอและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวน
ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ และผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาร้องขอ ทราบ รวมทั้งแจ้งให้ผู้เสียหายหรือพยานที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาทราบถึงสิทธิตามวรรคหนึ่งด้วย
นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ ที่เข้าร่วมในการถามปากคำอาจถูกผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาตั้งรังเกียจได้ หากมีกรณีดังกล่าวให้เปลี่ยนตัวผู้นั้น
ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 139 การถามปากคำผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาตามวรรคหนึ่งให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน
ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์
หรือบุคคลที่ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาร้องขอ เข้าร่วมในการถามปากคำพร้อมกันได้
ให้พนักงานสอบสวนถามปากคำเด็กโดยมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามวรรคหนึ่งอยู่ร่วมด้วยก็ได้ แต่ต้อง
บันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวน และมิให้ถือว่าการถามปากคำผู้เสียหายหรือ
พยานซึ่งเป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาในกรณีดังกล่าวที่ได้กระทำไปแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
.
บทบัญญัติที่มีการเสนอใหม่ข้างต้นนั้นมีพื้นฐานมาจากมาตรา 133 ทวิ เรื่องการสอบสวน ผู้เสียหาย/พยานที่เป็นเด็ก อย่างไรก็ตาม มาตราใหม่มีความแตกต่างที่สำคัญ 4 ข้อคือ
.
– บทบัญญัตินี้กำหนดเพียงว่านักจิตวิทยาหรือเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ต้องเข้าร่วมการสอบสวน ต่างกับการสอบสวนเด็กที่ต้องมีพนักงานอัยการร่วมด้วย โดยในมาตราใหม่นี้ พนักงานอัยการไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมการสอบสวนเพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าในการสอบสวน อย่างไรก็ดี พนักงานอัยการสามารถตามดูบันทึกภาพและเสียงของการสอบสวนได้
.
นอกจากนี้ บุคคลที่ร้องขออาจเข้าร่วมการสอบสวนได้หากมีการร้องขอ โดยนิยามของบุคคลที่ร้องขอนั้นไม่ได้ถูกกำหนดไว้ภายใต้บทบัญญัติอย่างตายตัวเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ร้องขอนั้นควรเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้เสียหายหรือพยาน
.
– มาตรการพิเศษฯ จะใช้สำหรับความผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศ ชีวิต และร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยไม่ต้องมีการร้องขอ และสามารถใช้กับคดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุกได้หากมีการร้องขอ
.
– มาตรานี้ เสนอให้เพิ่มการใช้มาตรการพิเศษฯ ในวรรคสอง โดยกำหนดว่ามาตรการพิเศษฯ จะบังคับใช้เมื่อมีการร้องขอและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวน หากเชื่อว่าการใช้มาตรการพิเศษฯ จะช่วยให้ผู้เสียหาย/พยานสามารถให้พยานหลักฐานที่เชื่อถือได้มากที่สุดในระหว่างการสอบสวน
.
– ในส่วนของมาตรการพิเศษฯ ที่เสนอให้มีการเพิ่มเติมนั้นมี 2 ประเภท ได้แก่ การสื่อสารผ่านตัวกลางหรือล่าม และ/หรือการใช้เครื่องช่วยการสื่อสารพิเศษ โดยอาจใช้แยกกันหรือร่วมกันก็ได้ตามความเหมาะสม ในการนี้คำร้องจะต้องระบุประเภทของมาตรการพิเศษฯ ที่จะใช้ด้วยโดย วรรคสามถึง
หก ของมาตรา 133 จตุ ที่ได้มีการเสนอมานั้น อ้างอิงมาจากหลักการที่วางไว้ในมาตรา 133 ทวิ เรื่องการสอบสวนผู้เสียหายที่เป็นเด็กและ/หรือพยาน นอกจากนี้ยังเสนอให้การสอบสวนนั้นต้องทีการบันทึกภาพและเสียงไว้เพื่อสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยานได้ต่อไป
.
- ควรมีแนวทางปฏิบัติสำหรับการสอบสวนผู้เสียหายที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถดำเนินการสอบสวนโดยใช้แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และเป็นการประกันมาตรฐานในการสอบสวน โดยเฉพาะในการระบุตัวตนผู้เสียหายที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา การเลือกมาตรการพิเศษฯ ที่เหมาะสม และการเตรียมการสอบสวน
.
- ควรจัดเตรียมหลักสูตรที่เตรียมความพร้อมให้แก่พนักงานสอบสวนในการใช้มาตรการพิเศษฯ ตลอดจนการสอบสวนผู้เสียหายที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
.
- ควรมีการขึ้นทะเบียนล่ามที่จะเข้ามาเป็นตัวกลาง โดยการขึ้นทะเบียนจะช่วยให้แน่ใจว่า ล่ามนั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนและเป็นมืออาชีพ นอกจากนี้ล่ามนั้นควรได้รับการฝึกอบรมให้เข้าใจบทบาทของตนในระหว่างการสอบสวนด้วย
.
ที่มา: วิจัยวิชาการเรื่อง “การกำหนดให้มีมาตรการพิเศษสำหรับการสอบปากคำผู้เสียหายที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาในประเทศไทย : กรณีศึกษาจากพัฒนาการทางกฎหมายของสหราชอาณาจักร (อังกฤษและเวลส์) และประเทศนอร์เวย์”