พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 84 จาก #TULAWInfographic
.
“ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” กำลังเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน จึงได้มีการออกกฎหมายพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ออกมาเพื่อควบคุมและกำกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการเฉพาะ เนื้อหาในกฎหมายดังกล่าวจะเป็นอย่างไร? มีสิ่งใดที่ต้องแก้ไขหรือไม่?
.
#TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากบทความวิชาการเรื่อง “ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้มาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภคและความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ปลอดภัย” โดย ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ, รศ.ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร,ณัฏฐ์ สิงหศิริ
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติม: https://cutt.ly/QevVq3G3
.
ผลิตภัณฑ์สมุนไพร?
ปัจจุบันความหมายของ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” ตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ได้ให้ความหมายไว้ใน 4 รูปแบบด้วยกันคือ
.
- ยาจากสมุนไพร ยาแผนไทย ยาพัฒนาจากสมุนไพร ยาแผนโบราณที่ใช้กับมนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือยาตามองค์ความรู้ทางการแพทย์ทางเลือก ตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนดเพื่อการบำบัด รักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์ หรือการป้องกันโรค
.
- ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบสำคัญที่เป็น หรือแปรสภาพจากสมุนไพร ซึ่งพร้อมที่จะนำไปใช้แก่มนุษย์เพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพ หรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างโครงสร้าง หรือการทำงานของร่างกาย หรือลดปัยจัยเสี่ยงของการเกิดโรค
.
- วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร
.
- วัตถุอื่นตามที่รัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนดให้เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร
.
โดยจากนิยามข้างต้นจะเห็นได้ว่านิยามของคำว่า “ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” มีความหมายที่กว้างและครอบคลุมถึงยาที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการบำบัด รักษา บรรเทาความเจ็บป่วยและการป้องกันโรค ทั้งยังรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างหรือการทำงานของร่างกายมนุษย์อีกด้วย
.
4 การควบคุมผลิตภัณฑ์สมุนไพร
พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 กำหนดให้กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุม โดยมีการควบคุม 4 ข้อคือ
.
- การขออนุญาตและการอนุญาต
ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกิจการการผลิตนำเข้า หรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ รัฐมนตรีได้ประกาศชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งการผลิต นำเข้า หรือขายต้องได้รับใบอนุญาตนั้น ต้องยื่นคำของอนุญาต เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจึงจะผลิต นำเข้า หรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นได้
.
- การควบคุมผลิตภัณฑ์
กรณีที่ผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือผู้ที่ได้รับอนุญาต ผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม ผิดมาตรฐาน เสื่อมคุณภาพ หรือไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ไม่ได้แจ้งรายละเอียด หรือจดแจ้งตามที่กฎหมายกำหนด จะถูกควบคุมตามกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีคุณภาพ และไม่เป็นการฉ้อฉล
.
รวมทั้งในกรณีที่เกิดความสงสัยแก่ในผลิตภัณฑ์สมุนไพรถึงกรณีที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่ปลอดภัย เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยามีอำนาจในการสั่งให้ดำเนินการส่งเอกสารหรือหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความสงสัยนั้นได้ และมีอำนาจในการสั่งระงับการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวจนกว่าสามารถพิสูจน์ได้แล้วอีกด้วย
.
- การโฆษณา
หลักเกณฑ์เฉพาะที่กำหนดห้ามผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรเว้นแต่ได้รับใบอนุญาตก่อน โดยจะต้องขออนุญาตและได้รับใบอนุญาตตาม ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2564 รวมทั้งโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะต้องไม่มีเนื้อหาในลักษณะต้องห้าม เช่น โอ้อวดสรรพคุณ แสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ หรือทำให้เข้าใจผิดในสรรพคุณ ฯลฯ อีกด้วย
.
- การรายงานอาการอันไม่พึงประสงค์
ตาม “ประกาศคณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการติดตาม การเฝ้าระวัง การประเมินผลตลอดจนการรายงานอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2565” กำหนดให้ ผู้รับอนุญาต ผลิต นำเข้า หรือขาย, ผู้สนับสนุนการวิจัย และบุคคลอื่นใดที่มีหน้าที่ต้องติดตาม เฝ้าระวัง การประเมินผลตลอดจนการรายงานอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีหน้าที่ต้องติดตาม เฝ้าระวัง ประเมินผลตลอดจนรายงานอาการอันไม่พึงประสงค์
.
โดยต้องรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาภายในระยะเวลาและวิธีการรายงานที่กฎหมายกำหนด แต่ในบางกรณีอาจถูกพิจารณาไปตามระดับความร้ายแรงของอาการที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน อาทิ เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ชนิดร้ายแรง เป็นต้น
.
อย่างไรก็ตามมาตรการคุ้มครองดังกล่าว เป็นเพียงมาตรการเชิงป้องกันที่มุ่งกลั่นกรอง ควบคุม และรายงานผลร้ายจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรอันตรายเท่านั้น แต่ยังไม่ปรากฎมาตรการในการเยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับความเสีบหายจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ปลอดภัยแต่อย่างใด
.
3 ปัญหากฎหมายไทย
ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบกฎหมายที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ข้อคือ
.
– ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยความรับผิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
ยังมีปัญหาอยู่ว่า “ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” ถือว่ามีสถานะเป็นสินค้าที่จะอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 หรือไม่ เพราะ “ผลผลิตการเกษตรกรรม” เป็นผลผลิตที่เกิดจากกิจกรรมทางเกษตรกรรมต่าง ๆ ส่วน “สมุนไพร” เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ถ้ามีการเพาะปลูกสมุนไพรในระดับเดียวกับเกษตรกรรม ต้องถือว่าผลผลิตสมุนไพรนี้เป็นผลิตผลเกษตรกรรมอย่างหนึ่ง
.
ดังนั้นในกฎหมายจึงยังขาดความชัดเจนในขอบเขตของความหมายหรือลักษณะของตัวสินค้าว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรประเภทใดหรือลักษณะใดบ้างที่ไม่สามารถเทียบเคียงกับผลผลิตเกษตรกรรม ที่ได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้ไม่สามารถปรับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคได้ในทุกกรณี
.
– ภาระการพิสูจน์ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ปลอดภัยซึ่งได้ฟ้องคดีต่อศาลจะได้รับประโยชน์จากภาระการพิสูจน์ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ
.
(1) กรณีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย “ไม่อยู่” ในขอบเขตความหมายของสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
ผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ความเสียหายความไม่ปลอดภัยของสินค้าและความสัมพันธ์ระหว่างความไม่ปลอดภัยของสินค้ากับความเสียหายนั้นตามหลักเกณฑ์ของตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เป็นสำคัญ
.
(2) กรณีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย “อยู่” ในขอบเขตความหมายของสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ผู้บริโภคที่เสียหาย
เพียงแค่พิสูจน์ว่าตนเองได้รับความเสียหาจากสินค้าของผู้ประกอบการและการใช้ หรือการเก็บรักษาสินค้านั้นเป็นไปตามปกติธรรมดา โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าความเสียหายเกิดจากการกระทำของผู้ประกอบการผู้ใดเลย ตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ซึ่งผู้ประกอบจะมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนั้นผ่านข้อแก้ตัว 3 ข้อคือ สินค้านั้นไม่ได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย, ผู้เสียรู้อยู่แล้วว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือ ความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้หรือการเก็บรักษาสินค้าที่ไม่ถูกต้องตามวิธีใช้ วิธีเก็บตามคำเตือนหรือข้อมูลที่ได้แจ้งไว้อย่างถูกต้องและชัดเจน ในขณะที่ผู้บริโภคก็ยังคงสามารถนำหลักเกณฑ์ของตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาปรับใช้ได้ด้วย
.
– การเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีสิทธิได้รับการเยียวยาความเสียหาย โดยวิธีการอาจแตกต่างกันไปตามข้อกฎหมายที่ปรับใช้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและความประสงค์ของผู้เสียหาย โดยผู้ได้รับความเสียหายอาจเลือกใช้วิธีการตามกฎหมายสัญญาหรือกฎหมายละเมิดก็ได้แต่ทั้งสองวิธียังมีข้อจำกัดและขาดประสิทธิภาพที่เพียงพอที่จะให้ความคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ โดยแบ่งได้ดังนี้
.
(1) ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 กลไกการเยียวยาจะต้องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 และศาลยังสามารถใช้มาตรการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ปลอดภัยได้ด้วยการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อ “ค่าอันมิใช่ตัวเงิน หรือค่าเสียหายทางจิตใจ” ตามมาตรา 446 แห่ง ป.พ.พ. แต่ต้องมีการพิสูจน์ให้ศาลเห็นถึงความเสียหายดังกล่าวก่อน
.
รวมทั้งถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ประกอบการได้ ผลิต นำเข้า หรือขายสินค้าโดยรู้อยู่แล้วว่า สินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือไม่รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเมื่อรู้ว่าสินค้าไม่ปลอดภัยภายหลังจากการ ผลิต นำเข้า หรือขาย สินค้าแล้วไม่ดำเนินการใด ๆ ตามสมควรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้น ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบการจ่าย“ ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ” ได้
.
นอกจากนี้ ผู้เสียหายอาจเลือกฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามหลักเกณฑ์ของ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้ โดยต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้ประกอบธุรกิจมีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภค หรือโดยไม่เป็นธรรม หรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด
.
(2) หากผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นไม่อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัยผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายทางจิตใจตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายละเมิดนั้นตามมาตรา
446 จะกำหนดรายละเอียดที่แตกต่างจากพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ทำให้สิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายประเภทนี้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีเงื่อนไขจำกัดมากกว่า ทั้ง
นี้ ผู้เสียหายยังคงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายเพื่อการลงโทษอยู่เช่นเดิม
.
มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าแม้ว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นจะอยู่ภายใต้ขอบเขตของพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551หรือไม่ก็ตาม ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายยังคงได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ด้วยกลไกการใช้มาตรการการเรียกคืนสินค้าและใช้ราคา (Product recall) หากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัยของผู้บริโภค หากสินค้านั้นได้จำหน่ายไปแล้ว ศาลมีอำนาจ สั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดการประกาศและรับสินค้านั้นคืน เพื่อทำการแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงให้ใหม่ภายในเวลาที่กำหนดโดยผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายเอง หรือถ้าเป็นกรณีที่ไม่อาจแก้ไขได้ก็ต้องใช้ราคาตามที่ศาลเห็นสมควร โดยคำนึงถึงลักษณะและสภาพของสินค้าในขณะรับคืน รวมทั้งความสุจริตของผู้ประกอบธุรกิจประกอบกันด้วย
.
รวมทั้งยังสามารถสั่งห้ามผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าที่เหลืออยู่ และให้เรียกเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่ายแก่ผู้บริโภคกลับคืนจนกว่าจะได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสินค้าดังกล่าวให้มีความปลอดภัย
แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ศาลจะมีคำสั่งห้ามผู้ประกอบธุรกิจผลิตหรือนำเข้าสินค้านั้นก็ได้และ หากเป็นที่สงสัยว่าผู้ประกอบธุรกิจจะเก็บสินค้าที่เหลือไว้เพื่อจำหน่ายต่อไปให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจทำลายสินค้าที่เหลือนั้นด้วย ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันและป้องปรามเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคหรือผู้บริโภครายอื่นได้รับความเสียหายจากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ปลอดภัยนั้น
.
– การขาดมาตรการการสนับสนุนการเยียวยาตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ชัดเจน
พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ไม่ได้กำหนดการเยียวยาสำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรไว้เป็นการเฉพาะ รวมทั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่จัดตั้งภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าวก็มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรในการชดใช้เพื่อเยียวยาโดยตรง
.
ดังนั้นผู้บริโภคจึงต้องใช้สิทธิฟ้องร้องด้วยตนเองตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 หรือโดยการใช้สิทธิเรียกร้องผ่านกลไกการฟ้องคดีแทนภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 รวมทั้งหากผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผิดกฎหมาย ผู้บริโภคที่เสียหายยังคงมีหน้าที่ในการพิสูจน์ให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดชดใช้เยียวยาความเสียหายโดยนำหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 หรือตามหลักเกณฑ์เรื่องผิดสัญญาหรือความรับผิดทางละเมิดมาปรับใช้อีกด้วย
.
3 ข้อเสนอแนะ
ผู้วิจัยเห็นว่ามีข้อเสนอแนะ 3 ข้อคือ
.
- ศึกษาค้นคว้าและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการพัฒนา
เพื่อสร้างการประเมินผลของการคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรและแนวการพัฒนา ระบบกลไกช่วยเหลือผู้บริโภคในอนาคตก่อนมีการแก้ไขกฎหมาย ควรดำเนินการดังนี้
.
– เก็บข้อมูลเพิ่มเติมกรณีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อประเมินแนวทางในการพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในอนาคต
.
– ศึกษาทำความเข้าใจระบบกลไกระบบเยียวยาความเสียหายในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องกลไกการจัดตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหายจากการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ซึ่งมีต้นแบบแล้วจากประเทศเกาหลีใต้ เพื่อประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการนำมาปรับใช้แก่ประเทศ
.
– ศึกษาประเมินผลการปรับใช้การฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญามาใช้ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจได้กระทำการที่เป็นความผิดตามกฎหมายและมีโทษทางอาญาตามพ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562
.
- พัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลให้แก่ผู้บริโภคเพื่อให้รับรู้สิทธิของตน
ภายใต้กฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรมี 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคม
.
โดยทั้งสามหน่วยงานควรทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบในการบริหารจัดการข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ปลอดภัย และการโฆษณาเกินจริง ซึ่งควรมีการส่งต่อข้อมูลเพื่อเป็นการแจ้งเตือนในกรณีที่มีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างทันท่วงทีให้ผู้บริโภคได้เกิดความระมัดระวัง และควรมีการแจ้งสิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกร้องให้มีการเยียวยาความเสียหายไปพร้อมกันด้วย รวมทั้งควรแจ้งช่องทางและสิทธิต่างๆที่ผู้บริโภคมี เช่น สิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในกรณีต่างๆรวมถึงค่าเสียหายทางจิตใจและค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามที่กฎหมายรับรองไว้ให้ผู้บริโภครับทราบ
.
- แก้ไขพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย
เพื่อเสริมสร้างกลไกคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาของผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ผู้ศึกษามีข้อเสนอต่อการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายในสองส่วน ได้แก่
.
– พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551
ควรต้องมีการประเมินผลและหารือถึงความจำเป็นในการจัดให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอยู่ในกลุ่มสินค้าที่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศที่มีอยู่หรือไม่ หากต้องการให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรทุกประเภทอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายเดียวกันไม่อยู่ในกลุ่มสินค้ายกเว้นควรต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้ชัดเจนในการไม่นำหลักเกณฑ์ตามข้อยกเว้นมาใช้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพรแต่หากยังคงต้องการให้มีการกำหนดข้อยกเว้นไว้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพรกรณีที่มีประกาศออกมาด้วยควรต้องมีการกำหนดเพิ่มเติมให้ชัดเจนในประกาศเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความสับสนในอนาคต
.
– พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562
เนื่องจากกลไกของกฎหมายฉบับนี้ในปัจจุบันไม่ได้กล่าวถึงสิทธิของผู้บริโภคไว้โดยตรง และกลไกในการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาอาจยังไม่มีความสะดวกสำหรับผู้บริโภคเท่าที่ควร ดังนั้นจึงเห็นควรให้มีการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ หรือบทบัญญัติเพื่อรับรองสิทธิแก่ผู้บริโภคที่ซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรและได้รับความเสียหายในการเรียกร้องเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากผู้ประกอบธุรกิจได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายในมาตรา 58 โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ตามมาตรา 70 และมาตรา 74 เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถยกขึ้นมาในการต่อสู้คดีได้
.
การกำหนดในลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์ในการยกขึ้นเป็นข้อสันนิษฐานความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจในการเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดต่อเนื้อตัวร่างกาย หรือความเสียหายทางจิตใจ รวมถึงสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการรับรองสิทธิที่มีอยู่ให้เกิดความชัดเจนในกฎหมายสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น
.
ที่มา: เอมผกา เตชะอภัยคุณ, นิรมัย พิศแข มั่นจิตร, ณัฏฐ์ สิงหศิริ, ‘ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้มาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภคและความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ปลอดภัย’ (2566) 52(4) วารสารนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 755.