พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 90 จาก #TULAWInfographic
.
82% ของธุรกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นการใช้ digital payment ทั้งหมด แถมจำนวนคนไทยที่เข้ามาใช้ระบบ digital payment เพิ่มมากขึ้นถึง 5 เท่าใน 5 ปีที่ผ่านมา มีการลงทะเบียนพร้อมเพย์มากถึง 75.8 ล้านหมายเลขทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราในการเติบโตด้านนี้เยอะมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
.
แต่ธุรกรรมการเงินที่ทำได้ง่ายมากในสมัยนี้นั้น นอกจากจะทำให้ธุรกิจเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น แต่ปัญหาก็เยอะขึ้นเช่นกัน จะมีปัญหาใดที่ตามมาบ้าง? #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากสัมมนาทางวิชาการหัวข้อ “ธุรกรรมทางการเงินในยุคดิจิทัล : เบื้องหลังของความง่าย คือข้อกฎหมายที่ซับซ้อน”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถรับชมสัมนา ได้ที่: https://cutt.ly/zeUX0YSK
.
ธุรกรรมทางการเงิน?
เงิน คือ สื่อกลางในการชำระหนี้ ผู้คนต่างใช้เงินเพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น การซื้อขายสินค้าและบริการ การลงทุน การกู้ยืมเงิน การอุปการะเลี้ยงดู การฝากเงิน เป็นต้น นิติสัมพันธ์ที่มีเงินเข้าไปเกี่ยวข้องเหล่านี้ ล้วนต้องอาศัย “การทำธุรกรรมทางการเงิน” เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายทั้งในส่วนของการก่อให้เกิดหนี้ หรือการทำให้หนี้ระงับลงไป
ในปัจจุบัน ธุรกรรมทางการเงินสามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ผ่านเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล แต่เมื่อธุรกรรมเหล่านี้ทำได้ง่ายขึ้น ก็ทำให้มีความเสี่ยงใหม่ ๆ เกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้นักกฎหมายจำเป็นต้องทำความเข้าใจข้อกฎหมายจำนวนมากที่ซ้อนทับอยู่เบื้องหลังการทำธุรกรรมเหล่านี้
ข้อกฎหมายพื้นฐานในนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี
เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลได้ทำให้สภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการชำระหนี้เงินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ผลทางกฎหมายของนิติสัมพันธ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเสนอชำระหนี้เงินในอดีตต้องเสนอด้วยการชำระด้วยเงินตราเท่านั้น หากลูกหนี้ขอชำระหนี้ด้วยวิธีอื่น เจ้าหนี้อาจปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ได้ (มาตรา 320 ป.พ.พ.) แต่ปัจจุบันเมื่อการชำระเงินด้วยการทำธุรกรรมผ่านระบบของธนาคารกลายเป็นสิ่งที่ทำกันแพร่หลาย เจ้าหนี้ก็อาจไม่สามารถปฏิเสธการเสนอชำระหนี้ด้วยการทำธุรกรรมในระบบดิจิทัลได้อีกต่อไป เป็นต้น
นอกจากนี้เรื่องธุรกรรมการเงินในยุคปัจจุบันยังสร้างผลกระทบต่อสังคมในหลากหลายมิติ ทำให้รัฐต้องออกกฎหมายหรือมาตรการใหม่ ๆ ออกมาเพื่อมากำกับและควบคุม ทำให้การตีความมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก และอาจทำให้เกิดการไม่ลงรอยของกฎหมายเก่าและใหม่อีกด้วย
.
กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้อาชญากรนำเอาระบบการชำระเงินของรัฐที่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้คนและระบบเศรษฐกิจ ไปใช้เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ซึ่งส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินของเอกชน และการให้บริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎเกณฑ์ตามกฎหมายฉบับนี้ด้วย เช่น การกำหนดให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่รายงานธุรกรรมต้องสงสัยต่อ ปปง. เป็นต้น
กฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ธุรกรรมทางการเงินในปัจจุบันมักทำขึ้นโดยมีธนาคารหรือผู้ให้บริการเข้ามาอำนวยความสะดวกผ่านระบบการชำระเงินของรัฐ ซึ่งถูกกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องคำนึงถึงการทำให้ระบบการชำระเงินมีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ สามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการ และสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างที่ควรจะเป็น การกำกับดูแลดังกล่าวทำผ่านกลไกที่หลากหลายตามกฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่ให้อำนาจแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย
กฎหมายอื่นๆ ที่ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจ
นอกจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบการชำระเงินข้างต้นแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการธุรกรรมทางการเงินยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของตนด้วย เช่น หากเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของ กลต. ด้วย หรือหากเป็นการให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัย ก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ คปภ. เป็นต้น
โอกาสและความท้าทายสำหรับนักกฎหมาย
.
– การทำความเข้าใจบริบทของกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป
เทคโนโลยีเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนไป อาจทำให้ผลทางกฎหมายเกี่ยวกับธุรกรรมเหล่านั้นเปลี่ยนไปจากความเข้าใจที่มีอยู่เดิม อีกทั้งกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแลการทำธุรกรรมทางการเงินยังมีจำนวนมากและมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย นักกฎหมายต้องแสวงหาความรู้อย่างรอบด้านและวิเคราะห์ปัญหากฎหมายที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเพื่อหาคำตอบทางกฎหมายเกี่ยวกับธุรกรรมเหล่านั้น
– การเชื่อมโยงเป้าหมายทางธุรกิจกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย
ผู้บริโภคมักต้องการการทำธุรกรรมทางการเงินที่ทำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ผู้ประกอบธุรกิจก็ต้องการที่จะสนองตอบความต้องการของผู้บริโภค เพื่อที่จะทำให้สามารถสร้างผลกำไรในทางธุรกิจได้ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบธุรกิจก็ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ในทางกฎหมายที่ใช้บังคับกับการประกอบธุรกิจด้วย นักกฎหมายที่ปฏิบัติงานในสายงานนี้จึงต้องมีทั้งความรู้ในเนื้อหาของกฎหมาย และความเข้าใจมุมมองของการประกอบธุรกิจไปพร้อมกัน เพื่อให้สามารถนำเอาความรู้ทางกฎหมายไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมกับเป้าหมายในทางธุรกิจในเรื่องนั้นๆ
ที่มา: สัมมนาทางวิชาการหัวข้อ “ธุรกรรมทางการเงินในยุคดิจิทัล : เบื้องหลังของความง่าย คือข้อกฎหมายที่ซับซ้อน”