สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ : เช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ” ช่วงที่ 1
สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ : เช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ” วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2567 เวลา 9.00-12.00 น. โดยงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้เขียนตำรา
- รศ.ดร.เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- รศ.ดร.เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายชญานนท์ แสงอ่วม นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ดำเนินรายาการ กล่าวในเบื้องต้นว่า งานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ : เช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ” ผู้เขียน รศ.ดร.เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจัดกิจกรรมทางวิชาการอย่างมากมาย เช่น การเสวนาทางวิชาการ กิจกรรมเกี่ยวกับการเปิดตัวตำรา การบรรยายพิเศษเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น
สำหรับงานในวันนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงที่ 1 เป็นการพูดคุยกับผู้เขียนเกี่ยวกับความเป็นมาของการเขียนตำรา ช่วงที่ 2 จะเป็นการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยคณาจารย์ผู้สอนกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ ช่วงที่ 3 จะเป็นการเสวนาวิชาการเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ สำหรับเป็นแนวทางการแก้ไขในวาระที่ครบรอบ 100 ปีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
รศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายแพ่งฯ กล่าวเปิดงานว่า กิจกรรมของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” จะมีต่อเนื่องไปจนถึงปี พ.ศ. 2568 ซึ่งในส่วนของบรรพหนึ่งและบรรพสองจะมีทั้งโครงการเปิดตัวตำราและการเสวนาทางวิชาการ บรรพสี่ก็มีการจัดเสวนาทางวิชาการ บรรพห้าและบรรพหกจะมีกิจกรรมค่อนข้างหนาแน่นทั้งโครงการเปิดตัวตำราและการจัดเสวนาทางวิชาการเช่นกัน ส่วนในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับบรรพสาม
นอกจากนี้ หน่วยงานอื่น ๆ ก็ยังมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เช่นกัน เช่น กระทรวงยุติธรรมที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั้งหกบรรพ โดยจะมีอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้ามามีส่วนในการทบทวนเป็นรายมาตราว่า มีส่วนใดที่ควรจะปรับปรุงแก้ไขบ้าง
ช่วงที่ 1 การพูดคุยกับผู้เขียนเกี่ยวกับความเป็นมาของการเขียนตำรา
คำถามที่ 1 : เหตุใด รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ จึงเลือกที่จะมาสอนในวิชากฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ
รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ กล่าวว่า ตนเป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และได้มีโอกาสเป็นอาจารย์สัมมนาในรายวิชากฎหมายเอกเทศสัญญา 1 ก่อนที่จะได้ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ซึ่งหลังจากที่ตนกลับมาเพื่อรายงานตัวนั้น เป็นช่วงเวลาที่ ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ได้เข้ามาบรรยายกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ 1 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ผศ.ดร.กรศุทธิ์ฯ จึงได้มีการติดต่อทาบทามเข้ามาเพื่อร่วมบรรยายในรายวิชาดังกล่าวในส่วนของเช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ ตัวแทนและนายหน้า
คำถามที่ 2 : เนื่องจาก รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯเป็นผู้บรรยายในหลายวิชา เหตุใดจึงเลือกเขียนตำราคำอธิบายเกี่ยวกับกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ
รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาที่ได้รายงานตัวเพื่อกลับเข้ามาทำงาน และรับผิดชอบในส่วนของกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ ตัวแทนและนายหน้านั้น หากนักศึกษาจะต้องซื้อตำราเพื่อใช้ในการศึกษาประกอบในรายวิชาดังกล่าวจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดทำเอกสารประกอบการสอนเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 กฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ และส่วนที่ 2 กฎหมายลักษณะตัวแทน นายหน้า ประกอบกับเมื่อครั้งศึกษาในระดับชั้นปริญญาโท รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ ได้มีการศึกษาในส่วนของกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อมาด้วย จึงทำให้มีองค์ความรู้ในส่วนนี้มากกว่าและเป็นเหตุเลือกเขียนตำราคำอธิบายกฎหมายในเรื่องดังกล่าว
คำถามที่ 3 : ชื่อของตำรา “หลักกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ : เช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ” และการออกแบบหน้าปกของตำราดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร
รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ กล่าวว่า ด้วยความที่ตนเองเป็นผู้บรรยายในรายวิชาสัญญาทางพาณิชย์ 1 จึงเลือกใช้คำว่า “สัญญาทางพาณิชย์” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อตำราดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อสื่อให้เห็นว่าเป็นตำราที่ใช้ในการศึกษาประกอบในรายวิชาใด ส่วนคำว่า “หลักกฎหมาย” นั้น รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ ต้องการสื่อให้เห็นว่า ตำราดังกล่าวมิได้เป็นการอรรถาธิบายบทบัญญัติที่อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นตำราที่ต้องการนำเสนอคำอธิบายการใช้การตีความในหลักกฎหมายของกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ (legal principles) นอกจากนี้ การเลือกใช้คำว่า “เช่าทรัพย์สิน” นั้น ผู้เขียนต้องการให้ครอบคลุมถึงการกระทำทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ เนื่องจากการทำสัญญาเช่าทรัพย์นั้นใช้กับกรณีการเช่าวัตถุที่ไม่มีรูปร่างด้วย
ส่วนการออกแบบหน้าปกของตำรานั้น ทางโรงพิมพ์ได้มีการนำเสนอหน้าปกทั้งหมด 2 รูปแบบ ซึ่งผู้ที่ตัดสินใจเลือกหน้าปกของตำราดังกล่าวก็คือภรรยาของ รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ นั่นเอง
คำถามที่ 4 ตำรา “หลักกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ : เช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ” มีการนำเสนอในลักษณะหรือรูปแบบใด
รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ กล่าวว่า ด้วยเหตุที่ตำราคำอธิบายกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ เช่าซื้อนั้น มีปรมาจารย์ทางกฎหมายและอาจารย์อีกหลายท่านได้เขียนคำอธิบายดังกล่าวอยู่แล้ว ตนจึงประสงค์ให้ตำราของตนเองมีความแตกต่างและให้องค์ความรู้เพิ่มเติมจากตำราที่มีอยู่แล้ว ประกอบกับมีความประสงค์ที่จะให้นักศึกษาใช้ตำราดังกล่าวในการศึกษาประกอบการเรียนในรายวิชาสัญญาทางพาณิชย์ 1 เพราะฉะนั้น จึงกำหนดโครงสร้างของตำราในลักษณะของการอธิบายว่า สัญญาเปรียบเสมือนกับสิ่งมีชีวิต กล่าวคือ สัญญามีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ซึ่งตนเองได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ในสมัยที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ในต่างประเทศ
ดังนั้น ตำราเล่มนี้จึงประกอบไปด้วยคำอธิบายหลักกฎหมายที่อยู่เบื้องหลังการทำสัญญาเช่าทรัพย์สินและสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุด โดยจะมีส่วนของคำอธิบายทางวิชาการและคำพิพากษาของศาลฎีกาประกอบด้วย และเป็นตำราที่มีการอธิบายกฎหมายอย่างเป็นระบบ กล่าวคือ มิได้นำเสนอเฉพาะหลักกฎหมายเช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ ที่อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังมีการกล่าวถึงกฎหมายพิเศษอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ ซึ่ง รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ มิได้กล่าวถึงเฉพาะความเห็นของนักวิชาการหรือคำพิพากษาของศาลฎีกาเท่านั้น แต่ยังมีการกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยพิจารณาเปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศในบางประเด็นอีกด้วย
คำถามที่ 5 : ปัญหาและอุปสรรคในการเขียนตำรา “หลักกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ : เช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ” มีอะไรบ้าง
รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ กล่าวว่า ปัญหาและอุปสรรคในการเขียนตำราของตนเองมีสองประการ ประการที่ 1 คือการบริหารจัดการเรื่องเวลา เนื่องจากตนมีหน้าที่ในการบรรยายกฎหมายในหลายวิชา ส่งผลให้ตำราดังกล่าวใช้ระยะเวลาในการจัดทำ 2 ปี จากเดิมที่ตั้งใจว่าจะให้สำเร็จเสร็จภายใน 1 ปี และประการที่ 2 คือปัญหาและอุปสรรคทางด้านเนื้อหา ทัั้งนี้ เนื่องจาก รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ ประสงค์ที่จะสืบค้นคำอธิบายเกี่ยวกับกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ ของปรมาจารย์ทางกฎหมาย รวมถึงคำพิพากษาของศาลฎีกาให้ครอบคลุมมากที่สุด ส่งผลให้ต้องอาศัยการสืบค้นข้อมูลเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในแต่ละประเด็นทางกฎหมายมีการใช้การตีความที่สอดคล้องกันหรือไม่ หรือมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ ยังมีความยากในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ยังไม่มีคำตอบในระบบกฎหมายไทย เช่น การขอลดค่าเช่าในช่วงระยะเวลาที่เกิดโรคระบาดโควิด 19 ที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสิน ซึ่ง รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ ได้มีการศึกษาคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศประกอบ เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุที่ปริมาณของข้อมูลที่ใช้ประกอบในการเขียนตำรามีจำนวนมากและมีที่มาจากหลายแหล่ง จึงส่งผลให้ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานในการคิดวิเคราะห์ เพื่อที่จะทำให้การนำเสนอข้อมูลของตำราเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน
คำถามที่ 6 : ตำรา “หลักกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ : เช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ” จะสร้างคุณูปการให้กับวงการวิชาการอย่างไรบ้าง
รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ กล่าวว่า น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้อ่านต้องประเมินด้วยตนเอง แต่หากมองในมุมของผู้เขียนเห็นว่า หลักกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง ซึ่งตำราเล่มนี้จะตั้งประเด็นหรือให้แนวทางบางอย่าง เพื่อที่ผู้ศึกษาจะสามารถนำไปศึกษาต่อยอดได้
คำถามที่ 7 : รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ มีมุมมองหรือประเด็นอื่น ๆ ที่อยากจะนำเสนอจากตำรา “หลักกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ : เช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ” หรือไม่
รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ กล่าวว่า โดยทั่วไปของการศึกษากฎหมาย สิ่งหนึ่งที่ผู้ศึกษาต้องการจะทราบก็คือ หลักกฎหมายในเรื่องนั้นมีการใช้การตีความอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถศึกษาได้จากนักวิชาการ หรือแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินเป็นบรรทัดฐาน แต่ในบางประเด็นที่ยังคงถกเถียงกันอยู่ ตนเห็นว่า อาจจะต้องรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาของระบบกฎหมายในต่างประเทศบ้างผ่านการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบ ทั้งนี้ เนื่องจากการอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ไม่ว่าจะที่ใด ปัญหาที่พบเจอก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
ในช่วงท้ายของช่วงที่ 1 ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร สอบถามคำถามดังนี้
คำถามที่ 1 : ส่วนใดของหนังสือที่ผู้เขียนประสงค์จะให้ผู้อ่านศึกษาเป็นลำดับแรก
รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ กล่าวว่า เค้าโครงหลักของตำรา “หลักกฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ : เช่าทรัพย์สิน เช่าซื้อ” จะเป็นเรื่องขององค์ประกอบ นิยามของสัญญาเช่าทรัพย์สินและสัญญาเช่าซื้อ สิทธิหน้าที่ระหว่างคู่สัญญา และการสิ้นสุดของสัญญา โดยเนื้อหาที่ผู้เขียนประสงค์ให้ผู้อ่านศึกษาเป็นลำดับแรกคือบททั่วไป ที่มา และความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์ ก่อนที่ผู้อ่านจะศึกษาถึงการอธิบายการใช้การตีความหลักกฎหมายในลำดับถัดมา
คำถามที่ 2 : ส่วนใดของหนังสือที่ผู้เขียนรู้สึกสนุกกับการเขียนมากที่สุด
รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ กล่าวว่า ส่วนที่สนุกที่สุดคือการตั้งประเด็นปัญหาทางกฎหมายในเรื่องที่อาจจะมีคำตอบ แต่ว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหายังไม่ชัดเจน ซึ่งผู้เขียนก็ได้มีการค้นคว้าหาข้อมูลว่า ในประเด็นดังกล่าวระบบกฎหมายของต่างประเทศมีแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่ และแนวทางการแก้ไขนั้นจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับระบบกฎหมายของประเทศไทยได้หรือไม่
คำถามที่ 3 : ผู้เขียนประสงค์จะให้มีการปรับปรุงแก้ไขส่วนใดในกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ
รศ.ดร.เฉลิมวุฒิฯ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังไม่มีความชัดเจนคือ การลดค่าเช่า ซึ่งหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังไม่สามารถตีความเพื่อใช้บังคับได้กับกรณีที่ ผู้เช่าไม่สามารถใช้ทรัพย์สินที่เช่าได้โดยที่มิได้เกิดจากความผิดของผู้เช่า เช่น กรณีของโควิด 19 ที่มีคำสั่งของภาครัฐในการปิดสถานที่ ส่งผลให้ผู้เช่าไม่สามารถใช้ทรัพย์สินที่เช่าได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนประสงค์จะเสนอให้มีการทบทวนเพื่อวางหลักเกณฑ์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น
สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวตำรา “หลักกฎหมายลักษณะมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ช่วงที่ 2 และ 3 จะเผยแพร่ในลำดับต่อไป