ประวัติและข้อมูลเกี่ยวกับคณะฯ
แต่เดิมนั้นการศึกษากฎหมายทำโดยการสั่งสอนสืบต่อ ๆ กันมาจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยยังไม่มีโรงเรียนกฎหมายที่จะมีสถาบันอบรมสั่งสอนความรู้ในด้านกฎหมายอย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยในปี ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435) เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (มองสิเออร์ โรแลง ยัคแมงส์ – Rolin-Jaequemyns) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 ได้ถวายความเห็นว่าควรเพาะปลูกวิชานี้เพื่อทำกฎหมายและจัดการศาลยุติธรรมให้ดียิ่งขึ้น เนื่องด้วยในขณะนั้นประเทศไทยเสียเปรียบรัฐต่างประเทศในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ดังนั้นในปี ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนาศักดิ์ (ต่อมาคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) รับตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจึงได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเพื่อให้การศึกษาด้านกฎหมายเป็นระเบียบแบบแผนมากยิ่งขึ้น โดยโรงเรียนกฎหมายในขณะนั้นยังไม่ได้มีฐานะปรากฏในทางราชการ จนกระทั่งถึงวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 6 ได้ทรงทำนุบำรุงให้เป็นโรงเรียนหลวงชั้นอุดมศึกษา ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม และโปรดให้ย้ายสถานที่ทำการมาเป็นเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา
2476 – 2477
ในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2476 หรือประมาณ 1 ปีหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้รวมการศึกษากฎหมายเข้าอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาอีกประมาณ 11 เดือน ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2476 (เดิมการเปลี่ยนศักราชจะทำ ณ วันที่ 1 เมษายน ดังนั้น หากนับตามปีปัจจุบันซึ่งกำหนดให้มีการเปลี่ยนศักราช ณ วันที่ 1 มกราคม วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2476 จะหมายถึงวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2477) ได้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น (เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477) โดยการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476” ซึ่งมีผลให้มีการโอนคณะนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนทรัพย์สินและงบประมาณทั้งหมดของคณะดังกล่าวมาขึ้นต่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยในการเรียนการสอนมีเพียงหลักสูตรเดียว คือ หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตซึ่งเน้นการสอนวิชากฎหมาย โดยสอนควบคู่ไปกับวิชาทางรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์
2492 – 2496
ต่อมาในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2492 หลังจากเหตุการณ์กบฏวังหลวง รัฐบาลได้ยื่นข้อเสนอ 2 ประการให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยดำเนินการ ได้แก่
1) ให้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย โดยขอให้ตัดคำว่า “การเมือง” ออก
2) ให้ดำเนินการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกเป็นคณะต่าง ๆ
ข้อเสนอทั้ง 2 ประการได้รับการตอบรับจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยในส่วนของการดำเนินการเปลี่ยนชื่อ มหาวิทยาลัยนั้นใช้เวลาดำเนินการอยู่ 3 ปี มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (University of Moral and Political Science) จึงกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat University) เช่นทุกวันนี้ สำหรับข้อเสนอที่ให้มีการดำเนินการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยแบ่งออกเป็นคณะต่าง ๆ นั้นก็ได้รับการตอบสนองเช่นเดียวกัน ในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2492 ผู้บริหารได้ออกประกาศกำหนดให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจัดการศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 4 คณะ ได้แก่ 1) คณะนิติศาสตร์ 2) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 3) คณะรัฐศาสตร์ และ 4) คณะเศรษฐศาสตร์ ส่วนหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตเดิมก็ให้ทยอยปิดไปทีละปี และปิดหลักสูตรอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2496 จึงอาจกล่าวได้ว่า คณะนิติศาสตร์ได้ก่อตั้งขึ้นแล้วนับแต่วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา ส่วนนักศึกษาในหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตเดิมที่ยังศึกษาไม่สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2496 ก็ให้โอนย้ายมาเรียนที่คณะนิติศาสตร์แทน
2515 – 2549
ในปีการศึกษา 2515 คณะนิติศาสตร์เปิดโครงการนิติศาสตร์ภาคบัณฑิตขึ้น เพื่อขยายโอกาสให้ผู้ที่จบการศึกษาเป็นบัณฑิตจากคณะอื่นมาแล้วได้เข้าศึกษาวิชากฎหมาย โดยศึกษาเฉพาะวิชาบังคับตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2, 3 และ 4 ของคณะนิติศาสตร์ โดยผู้จบการศึกษาในโครงการนี้จะมีศักดิ์และสิทธิเป็นนิติศาสตรบัณฑิต แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สมบูรณ์ทุกประการ ต่อมาในปีการศึกษา 2529 คณะนิติศาสตร์ได้ดำเนินการตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ด้วยการย้ายการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 1 ของชั้นปริญญาตรี (ภาคปกติ) มาทำการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และขยายเป็นชั้นปีที่ 2 ในปีการศึกษา 2545 จนกระทั่งในปีการศึกษา 2549 จึงได้ย้ายการสอนในระดับปริญญาตรี (ภาคปกติ) มาทำการที่ศูนย์รังสิตทั้งหมด
2552 – ปัจจุบัน
คณะนิติศาสตร์เห็นถึงความสำคัญในการขยายโอกาสทางการศึกษาไปยังส่วนภูมิภาค คณะนิติศาสตร์จึงได้ขยายการจัดการศึกษาไปยังภาคเหนือ โดยทำการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ในโครงการนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต และหลังจากรวบรวมข้อมูลและเตรียมความพร้อมมาอย่างเพียงพอ ในปีการศึกษา 2552 คณะนิติศาสตร์จึงจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรปริญญาตรี (ภาคปกติ) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ซึ่งในแต่ละปีจะรับนักศึกษาประมาณ 200–250 คนต่อปี โดยใช้มาตรฐานเดียวกันกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รวมทั้งใช้หลักสูตรและคณาจารย์ชุดเดียวกัน ในปัจจุบันคณะนิติศาสตร์ได้เปิดสอนกฎหมายในหลักสูตรภาษาอังกฤษเพิ่มเติม ทั้งในระดับปริญญาโทและระดับปริญญาตรี นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 และ 2557 ตามลำดับ เพื่อตอบสนองต่อความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัย สังคมและประเทศโดยรวม