สรุปสาระสำคัญงานเปิดตัวและวิพากษ์ตำรา “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัวมรดก (ภาคมรดก)” โดย ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ตอนที่ 1
สรุปสาระสำคัญจากงานเปิดตัวและวิพากษ์ตำรา “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัวมรดก (ภาคมรดก)” โดย ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2567 ปรับปรุงแก้ไขโดย ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ จัดโดยศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 – 14.00 น. ณ ห้อง SC 4023 อาคารบรรยายรวม 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และถ่ายทอดไปยังห้อง 3414 อาคารเรียนรวม 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร่วมวิพากษ์โดยคณาจารย์ผู้สอนกฎหมายลักษณะมรดก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ
– รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ
– รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล
– ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
– ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ
– อ.ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์
– อ.ดร.อภินพ อติพิบูลย์สิน
– ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ
– อ.กิตติภพ วังคำ
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายจิรภัทร ชนะสิทธิ์ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลางอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง (ผู้ดำเนินรายการ) แนะนำตัวในฐานะผู้ดำเนินรายการ กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมงาน และเกริ่นนำว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดขึ้นโดยเป็นหนึ่งกิจกรรมภายใต้โครงการ 100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และอธิบายเกี่ยวกับตำราประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ครอบครัวมรดก ภาคมรดก ของศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยสังเขป หลังจากนั้นได้เชิญให้ รศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดกิจกรรมอย่างเป็นทางการ
รศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ (ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายแพ่งฯ) กล่าวทักทายผู้เข้า ร่วมงาน และอธิบายเกี่ยวกับกิจกรรมกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการ 100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยสังเขป โดยเฉพาะกิจกรรมเกี่ยวกับการเปิดตัวตำรากฎหมายลักษณะมรดก ซึ่งมีการเปิดตัวตำรากฎหมายมรดกของผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ ผ่านไปแล้ว และในกิจกรรมนี้เป็นการเปิดตัวตำรากฎหมายมรดกของ ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.ศ.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งได้รับการแก้ไขปรับปรุงโดยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ หลังจากนั้นได้กล่าวเปิดกิจกรรมอย่างเป็นทางการ
ช่วงที่ 1 พูดคุยกับผู้แก้ไขปรับปรุงและผู้ช่วยแก้ไขปรับปรุงตำราฯ
วิทยากร
– ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ ผู้แก้ไขปรับปรุงตำราฯ
– คุณสุรดา พฤกษ์ชัยกุล ผู้ช่วยแก้ไขปรับปรุงตำราฯ
ผู้ดำเนินรายการ
– ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ (ผู้แก้ไขปรับปรุงตำราฯ) อธิบายถึงที่มาแรกเริ่มในการจัดทำตำรากฎหมายครอบครัวมรดกของ ม.ร.ว.ศาสตราจารย์เสนีย์ ปราโมช โดยสังเขปว่า เมื่อปี พ.ศ. 2507 อาจารย์เสนีย์ฯ ได้ทำหนังสือไปถึงอาจารย์เกษม อุทยานิน คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลานั้น (ในเวลานั้นภาควิชานิติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐศาสตร์) ขอความอนุเคราะห์ให้จัดพิมพ์ตำรากฎหมายครอบครัวมรดก โดยขอให้จัดพิมพ์และจำหน่ายให้ทันในวันที่ 26 พฤษภาคม 2508 อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์เสนีย์ฯ ซึ่งอาจารย์เกษมฯ ได้ตอบรับการจัดพิมพ์จนเป็นที่มาของตำราเล่มดังกล่าว (พิมพ์ครั้งที่ 1)
หลังจากนั้น ได้กล่าวถึงคุณูปการ เกียรติภูมิ และความสามารถด้านต่าง ๆ ของอาจารย์เสนีย์ฯ โดยเฉพาะ ที่ท่านได้รับราชการเป็นผู้พิพากษา มีโอกาสได้เขียนหมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับ รวมถึงเคยสอนวิชากฎหมายลักษณะมรดก และประการสำคัญคือท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก ด้วยเหตุเหล่านี้เอง จึงทำให้ตำราของอาจารย์เสนีย์มีความครบถ้วน สมบูรณ์ และยังคงได้รับความนิยมตลอดมา
ต่อมาได้เล่าถึงที่มาที่ทำให้มีโอกาสได้เข้ามาเป็นผู้แก้ไขปรับปรุงตำรากฎหมายครอบครัวมรดก (ภาคมรดก) ของอาจารย์เสนีย์ฯ ครั้งนี้ ซึ่งเริ่มต้นจากเมื่อต้นปี พ.ศ. 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน ได้เชิญชวนให้แก้ไขปรับปรุงตำราดังกล่าว หลังจากตอบตกลงได้มีการทำเรื่องติดต่อขออนุญาตจากทายาทของอาจารย์เสนีย์ฯ คือ คุณขวัญวลี ปราโมช ณ อยุธยา ซึ่งก็ได้รับคำตอบตกลงและอนุญาต หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นแก้ไขปรับปรุงเรื่อยมาร่วมกับคุณสุรดา พฤกษ์ชัยกุล (ผู้ช่วยปรับปรุงแก้ไขฯ)
คุณสุรดา พฤกษ์ชัยกุล (ผู้ช่วยแก้ไขปรับปรุงตำรา) เล่าถึงที่มาที่ทำให้มีโอกาสได้เข้ามาเป็นเป็นผู้ช่วยแก้ไขปรับปรุงตำรากฎหมายครอบครัวมรดก (ภาคมรดก) ของอาจารย์เสนีย์ฯ ร่วมกับศ.ดร.ไพโรจน์ฯ ซึ่งเริ่มต้นจากในปี พ.ศ. 2565 ที่ขณะนั้นกำลังศึกษาวิชากฎหมายลักษณะมรดกที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มของศ.ดร.ไพโรจน์ฯ โดยศ.ดร.ไพโรจน์ฯ กล่าวเชิญชวนนักศึกษาให้เข้ามาสมัครเป็นผู้ช่วยแก้ไขปรับปรุงตำรากฎหมายมรดกของอาจารย์เสนีย์ฯ ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องได้คะแนนสอบกลางภาคอย่างน้อย 45 จาก 50 คะแนน ซึ่งคุณสุรดาฯ ทำคะแนนได้พอดี 45 คะแนน จึงได้เข้ามามีส่วนช่วยในการแก้ไขปรับปรุงดังกล่าว
หลังจากนั้น ได้กล่าวถึงรูปแบบและเนื้อหาของตำรากฎหมายครอบครัวมรดก (ภาคมรดก) ในมุมมองของผู้แก้ไขปรับปรุงว่า ตำราเล่มนี้เป็นการอธิบายแบบเรียงมาตรา แต่เห็นว่าคงไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้อ่านในการทำความเข้าใจ เพราะโครงสร้างบทบัญญัติของบรรพ 6 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถูกตราขึ้นอย่างสอดคล้องเป็นลำดับขั้นตอนทมีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน ในส่วนเนื้อหานั้น อาจารย์เสนีย์ฯ ก็ได้อธิบายความหมาย วิธีการปรับใช้บทบัญญัติ เจตนารมณ์ และตัวอย่างไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะตัวอย่างที่มีทั้งตัวอย่างพื้นฐาน และตัวอย่างที่มีความซับซ้อน ซึ่งมีจุดเด่นที่อาจารย์เสนีย์ฯ มักใช้ภาษาชาวบ้าน หรือเหตุการณ์ทั่ว ๆ ไปในการยกเป็นตัวอย่าง และมักสอดแทรกมุกตลกไว้ในเนื้อหาส่วนต่าง ๆ
ทั้งนี้ โดยในการแก้ไขปรับปรุงเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจวิธีคิดและวิธีการเขียนตำราของอาจารย์เสนีย์ฯ โดยศึกษาผ่านหนังสือชีวลิขิต (เสนีย์ ปราโมช) หลังจากนั้น ได้มีการรวบรวมตำราและคำอธิบายกฎหมายมรดกของนักกฎหมายชั้นแนวหน้าหลายเล่มเพื่อใช้เป็นฐานในการแก้ไขปรับปรุง ได้แก่ ตำราของ ศ.เพรียบ หุตางกูร ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ ศ.ดร.พินัย ณ นคร, อ.กีรติ กาญจนรินทร์ และ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ โดยมีการแทรกแนวทางการตีความต่าง ๆ ในแต่ละประเด็นไว้ในเชิงอรรถ รวมทั้งมีการแก้ไขถ้อยคำให้ทันสมัยมากขึ้น เช่น ถ้อยคำว่า “โต๊ะเจ๊ก” แก้ไขเป็น “โต๊ะจีน” หรือคำ “ออกลูก” แก้ไขเป็น “คลอดบุตร” รวมทั้งยังได้แก้ไขคำว่า “สามีภริยา” เป็นคำว่า “คู่สมรส” เพื่อรองรับกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เพิ่งประกาศใช้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ในการแก้ไขถ้อยคำหรือข้อความต่าง ๆ ดังกล่าว ยังคงรักษาเนื้อหาให้แสดงออกถึงอัตลักษณ์และลีลาการเขียนตำราของอาจารย์เสนีย์ฯ ไว้ นอกจากนี้ มีการแก้ไขเนื้อหาบางส่วนตามกฎหมายที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม เช่น การตัดเนื้อหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินเดิมและสินบริคณห์ ซึ่งตามกฎหมายในปัจจุบันยกเลิกระบบทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม ในบางประเด็น ถึงแม้ว่าจะได้มีกฎหมายออกมาแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ก็ยังคงเนื้อหาในส่วนนั้นไว้เพื่อใช้สำหรับศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์กฎหมาย เช่น ประเด็นเรื่องการสมรสซ้อนที่ในอดีตวางหลักว่าผู้สมรสซ้อนโดยสุจริตย่อมไม่เสื่อมสิทธิที่ได้มา แต่ในปัจจุบันการสมรสซ้อนทุกกรณีตกเป็นโมฆะทั้งสิ้นโดยไม่คำนึงถึงความสุจริตของคู่สมรส เป็นต้น และประการสำคัญที่สุด คือ มีการแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาศาลฎีกาให้ทันสมัย โดยการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนนี้นับเป็นส่วนหลักที่ได้ทำการแก้ไขปรับปรุง
นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงานว่า ในทางรูปแบบ การแก้ไขปรับปรุงตำราเล่มนี้ทำงานร่วมกับ ศ.ดร.ไพโรจน์ฯ ในรูปแบบกึ่ง digital กึ่ง manual กล่าวคือ ในระหว่างกระบวนการแก้ไขปรับปรุงนั้น ใช้วิธีการทำงานโดยใช้กระดาษเป็นหลักเพื่อความสะดวกในการตรวจพิจารณาของศ.ดร.ไพโรจน์ หลังจากนั้นจึงนำรายละเอียดที่แก้ไขปรับปรุงในกระดาษแปลงเป็นรูปแบบ digital ส่วนในทางเนื้อหานั้น มีความท้าทายในการสรุปสาระสำคัญ วิเคราะห์ และรวบรวมแนวทางการตีความที่แตกต่างกันจากตำรากฎหมายมรดกที่รวบรวมไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการตีความที่แตกต่างจากแนวความเห็นของอาจารย์เสนีย์ฯ โดยได้แทรกไว้ในเนื้อหาแต่ละประเด็นในส่วนเชิงอรรถ
ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ (ผู้แก้ไขปรับปรุงตำราฯ) กล่าวเสริมคุณสุรดาฯ ถึงข้อเด่นของตำรากฎหมายมรดกของอาจารย์เสนีย์ฯ ว่า การยกตัวอย่างและการตั้งประเด็นพิจารณาต่าง ๆ ในหนังสือเล่มนี้ อาจารย์เสนีย์ฯ มักยกตัวอย่างที่เห็นภาพ มีความชัดเจน และมีลักษณะที่ผู้อ่านสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น การตั้งประเด็นในเรื่องทรัพย์สินของพระภิกษุว่าชาวบ้านจะคิดอย่างไรหากทราบว่าทรัพย์สินที่ถวายแด่ภิกษุด้วยศรัทธานั้นจะต้องตกทอดแก่ภริยาของพระภิกษุนั้นครึ่งหนึ่ง เป็นต้น
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง (ผู้ดำเนินรายการ) กล่าวนำเข้าสู่ช่วงที่สองของกิจกรรม ซึ่งเป็นส่วนของการวิพากษ์ตำรากฎหมายครอบครัวมรดก (ภาคมรดก) ของอาจารย์เสนีย์ฯ ที่แก้ไขปรับปรุงโดยศ.ดร.ไพโรจน์ฯ โดยจะแบ่งตามลักษณะของบรรพ 6 ประกอบด้วย 4 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป, ลักษณะ 2 สิทธิโดยธรรมในการรับมรดก, ลักษณะ 3 พินัยกรรม, และลักษณะ 4 วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก ส่วนลักษณะ 5 มรดกไม่มีผู้รับ และลักษณะ 6 อายุความ จะมิได้ยกมาวิพากษ์ด้วยเนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลา หลังจากนั้นได้กล่าวเชิญให้ทีมวิพากษ์กลุ่มที่ 1 เริ่มต้นการวิพากษ์
ช่วงที่ 2 วิพากษ์ตำราโดยคณาจารย์ผู้สอนกฎหมายลักษณะมรดก
การวิพากษ์ช่วงที่ 1 (เนื้อหาบรรพ 6 ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป)
ผู้วิพากษ์
– ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ
– ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ
ผู้ดำเนินรายการ
– อ.ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์
อ.ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ (ผู้ดำเนินรายการ) กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมงานและแนะนำผู้วิพากษ์ ได้แก่ ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ และผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ หลังจากนั้นได้เกริ่นนำภาพรวมเนื้อหาของบทบัญญัติบรรพ 6 ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป และเรียนเชิญให้ผู้วิพากษ์เริ่มการวิพากษ์ตามลำดับ
ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ (ผู้วิพากษ์) กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมงาน และเกริ่นนำว่าตำราของอาจารย์เสนีย์ฯ เกือบทุกเล่ม โดยเฉพาะตำรากฎหมายครอบครัวมรดกที่จัดพิมพ์ในปี พ.ศ. 2508 ถูกทำให้อยู่ในรูปแบบไฟล์ digital ทั้งหมดแล้ว ในฐานข้อมูลของห้องสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้น ได้เชิญชวนให้อ่านตำรากฎหมายครอบครัวมรดก (ภาคมรดก) ที่เพิ่งแก้ไขปรับปรุงนี้ เนื่องจากเป็นตำราที่อ่านง่าย เขียนสั้นกระชับ ได้ใจความ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นทางกฎหมายมรดกบางประเด็นไม่สามารถหาอ่านได้จากตำรากฎหมายต่างประเทศ เช่น ประเด็นมรดกของพระภิกษุ ซึ่งแม้ว่าตำราไทยจะมีเขียนไว้บ้างแต่ก็มิได้มีรายละเอียดเท่าตำราของอาจารย์เสนีย์ฯ
ในส่วนของเนื้อหานั้น เห็นว่าตำราของอาจารย์เสนีย์ฯ ได้ตั้งประเด็นที่น่าสนใจไว้หลายเรื่อง อาทิ ประเด็นปัญหาว่าศพเป็นทรัพย์หรือไม่ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกฎหมายมรดก ประเด็นวิธีการจัดลำดับทายาท หรือที่อาจารย์เสนีย์ฯ เรียกว่า “วรรณะของญาติ” โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับทายาทชั้นบุตร และได้กล่าวย้ำตามที่คุณสุรดาฯ เล่าว่าในการแก้ไขปรับปรุงตำราเล่มนี้ยังคงประเด็นเรื่องสมรสซ้อนตามกฎหมายเก่าไว้ เพื่อให้สามารถใช้ศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์กฎหมายได้ ซึ่งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก
ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ (ผู้วิพากษ์) เกริ่นนำว่า มีโอกาสเคยอ่านตำรากฎหมายครอบครัวมรดกของอาจารย์เสนีย์ฯ ฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ.2508 แล้วเมื่อตอนเขียนตำรากฎหมายลักษณะมรดกของตนเอง แต่เมื่อได้รับมอบหมายให้มาเป็นผู้วิพากษ์เนื้อหาในส่วนนี้ ก็ได้อ่านโดยละเอียดอีกครั้ง และพบว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจแต่มองข้ามไป หลังจากนั้น ได้เข้าสู่เนื้อหาการวิพากษ์โดยยกประเด็นของลักษณะ 1 ในเรื่องการตกทอดแห่งทรัพย์มรดก ซึ่งเล่าว่าในตำราเล่มนี้ อาจารย์เสนีย์ฯ ได้ตั้งข้อสังเกตในเชิงกฎหมายเปรียบเทียบที่กล่าวถึงการตกทอดแห่งทรัพย์มรดกในกฎหมายอังกฤษว่า การตกทอดแห่งทรัพย์มรดกของกฎหมายอังกฤษนั้น มีหลักการว่าทายาทจะต้องทำการ “สนองรับมรดก” ของเจ้ามรดกด้วย ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายไทยที่มรดกจะตกทอดในทันทีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ โดยกล่าวว่าอาจารย์เสนีย์ฯ อธิบายเหตุผลที่หลักกฎหมายอังกฤษเป็นเช่นนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านว่าบุคคลที่ได้รับมรดกแท้จริงแล้วไม่มีสิทธิได้รับมรดกนั้น ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก นอกจากนี้ ยังวิเคราะห์ต่อไปว่าการใช้หลักการสนองรับมรดกยังอาจมีผลดีในแง่ที่ลดข้อยุ่งยากที่ทายาทอาจ จะต้องแบกรับหากได้รับมรดกมา เป็นต้น
นอกจากนี้ เห็นว่าข้อเด่นโดยภาพรวมของตำราเล่มนี้ คือ มีการเชื่อมโยงเนื้อหาส่วนต่าง ๆ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท้าถึงกันด้วย เช่น ประเด็นเรื่องนิติบุคคลก็มีการกล่าวเชื่อมโยงไปถึงบรรพ 1 หรือประเด็นเรื่องการสละมรดกที่เชื่อมโยงไปถึงการทำนิติกรรมที่เป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ตามบรรพ 2 เป็นต้น รวมถึงในบางประเด็นก็มีการกล่าวเชื่อมโยงกับจารีตประเพณีของไทย เช่น การอธิบายเหตุผลของการตัดมิให้รับมรดกว่า การตัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกนั้นมักมีที่มาจากการเห็นว่าบุตรหลานทายาทเป็นผู้มี “จิตใจหยาบช้ากล้าแข็ง” ซึ่งเป็นการใช้ภาษาที่สื่อสารได้อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา รวมทั้งในประเด็นเรื่องการตัดมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรมก็มีข้อสังเกตว่า อาจารย์เสนีย์ฯ อธิบายประเด็นนี้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศว่าบางประเทศกฎหมายไม่เปิดช่องให้ตัดมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรมได้ทั้งหมด
โดยภาพรวม เห็นว่าตำราเล่มนี้มีประโยชน์มาก ๆ เนื่องจากเป็นตำราที่กลั่นกรองมาจากผู้ร่างกฎหมายโดย ตรง มีการยกตัวอย่างที่หลากหลายทั้งตัวอย่างพื้นฐานและตัวอย่างที่มีความสลับซับซ้อน รวมทั้งเนื้อหาในหลายจุดก็มีการบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจหลักกฎหมายยิ่งขึ้นด้วย
การวิพากษ์ช่วงที่ 2 (เนื้อหาบรรพ 6 ลักษณะ 2 สิทธิโดยธรรมในการรับมรดก)
ผู้วิพากษ์
– รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล
– อ.ดร.อภินพ อติพิบูลย์สิน
ผู้ดำเนินรายการ
– ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ
ผศ.ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ (ผู้ดำเนินรายการ) กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมงานและแนะนำผู้วิพากษ์ อัน ได้แก่ รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล และอาจารย์ ดร.อภินพ อติพิบูลย์สิน หลังจากนั้นได้เกริ่นนำภาพรวมเนื้อหาของบทบัญญัติบรรพ 6 ลักษณะ 2 สิทธิโดยธรรมในการรับมรดก และเรียนเชิญให้ผู้วิพากษ์เริ่มการวิพากษ์ตามลำดับ
รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล (ผู้วิพากษ์) กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมงาน และขอบคุณผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ที่ชักชวนให้มาเป็นผู้วิพากษ์ในกิจกรรมนี้ หลังจากนั้น ได้เกริ่นนำว่าตำรากฎหมายในอดีตนอกจากตำราของอาจารย์เสนีย์ฯ แล้ว เช่น ตำราของศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ หรืออีกหลาย ๆ ท่าน มีข้อเด่นร่วมกันคือ มีการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหลักกฎหมายโดยละเอียด และโดย เฉพาะอย่างยิ่ง การวางเค้าโครงของตำรามีความเป็นระบบ เป็นลำดับขั้นตอน และเป็นเหตุเป็นผลเชื่อมโยงกัน ซึ่งนับเป็นแบบอย่างที่ดีของตำรากฎหมาย
กล่าวเฉพาะข้อเด่นของตำราอาจารย์เสนีย์ฯ เล่มนี้ที่มีการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของหลักกฎหมายไว้หลายเรื่อง ซึ่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์กฎหมายนี้จะทำให้เห็นถึงพลวัตของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตสู่ปัจจุบันและสามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยในอนาคตต่อไปด้วย นอกจากนี้ ตำราเล่มนี้ยังมีจุดเด่นที่ใช้ภาษาสละสลวย อ่านได้ต่อเนื่องไม่ติดขัด และมีการใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายแฝงด้วยมุกตลกบ้าง ทำให้รู้สึกอ่านเพลินและไม่น่าเบื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวอย่างที่อาจารย์เสนีย์ฯ ยกประกอบคำอธิบายในตำราเล่มนี้มักเป็นตัวอย่างที่เรียบง่าย อ้างอิงจากเรื่องใกล้ตัว ทำให้สามารถเห็นภาพได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญตัวอย่างต่าง ๆ เป็นเสมือนคำทำนายหรือการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า เพราะหลายตัวอย่างก็เกิดเป็นประเด็นปัญหาขึ้นจริงในปัจจุบัน ในแง่นี้จึงกล่าวอุปมาว่าอาจารย์เสนีย์ฯ เปรียบเสมือนกับนอสตราดามุสก็ว่าได้
ในส่วนของเนื้อหานั้น เห็นว่าประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่อาจารย์เสนีย์ฯ ตั้งข้อสังเกตไว้ เป็นประโยชน์ต่อการ ศึกษาและทำวิจัยอย่างมาก เช่น ประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิในส่วนแบ่งมรดกที่แต่เดิมกฎหมายใช้ถ้อยคำว่า “ภาค” แต่ตามกฎหมายปัจจุบันใช้ถ้อยคำว่า “ส่วน” ซึ่งแม้จะดูว่าเป็นประเด็นทางภาษา แต่มีนัยสำคัญในการตีความอย่างยิ่ง เพราะจะมีผลให้ส่วนแบ่งในมรดกแตกต่างกันได้ หรือประเด็นที่มีความร่วมสมัย เช่น การตั้งประเด็นปัญหาว่าบิดามารดาที่มิได้เลี้ยงดูบุตรอย่างสิ้นเชิงสมควรจะมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรหรือไม่ ในขณะที่ญาติหรือบุคคลที่เลี้ยงดูบุตรนั้นมา เหตุใดกฎหมายจึงตัดมิให้รับมรดก ปัญหาเหล่านี้แม้ว่าบางคำถามอาจจะยังไม่มีคำตอบ แต่เป็นเรื่องปกติในทางวิชาการที่จะต้องมีการหยิบยกขึ้นมาขบคิดตามโอกาสและการเปลี่ยนแปลงของพลวัตในสังคม
อ.ดร.อภินพ อติพิบูลย์สิน (ผู้วิพากษ์) กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมงาน และขอบคุณศ.ดร.ไพโรจน์ฯ และคุณสุรดาฯ ที่แก้ไขปรับปรุงตำราเล่มนี้ รวมทั้งกล่าวขอบคุณกองทุนอาจารย์เสนีย์ฯ และทายาทของอาจารย์เสนีย์ฯ ที่อนุญาตให้มีการจัดพิมพ์ตำราเล่มนี้ด้วย หลังจากนั้นได้วิพากษ์เนื้อหาของตำราเล่มนี้โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่หนึ่ง เห็นว่าตำรากฎหมายครอบครัวมรดกของอาจารย์เสนีย์ฯ เป็นมากกว่าตำราที่อธิบายให้ความรู้แต่มีลักษณะเป็นตำราเชิงสัญลักษณ์และการแสดงออกซึ่งมีนัยทางการเมืองแฝงอยู่ เนื่องจากตำราเล่มนี้ อาจารย์เสนีย์ฯ ถ่ายทอดเนื้อหาของกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน และเขียนอธิบายในลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าหลักกฎหมายไทยสามารถเข้ากันได้และสอดรับกับหลักกฎหมายต่างประเทศของตะวันตก ทั้งนี้ เนื่องจากในขณะนั้นประเทศไทยมีความต้องการทางการเมืองให้ได้รับการยอมรับในด้านต่าง ๆ จากประเทศภาคพื้นตะวันตก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือด้านกฎหมาย ดังนั้น ข้อเด่นของตำราเล่มนี้คือเป็นตำราที่สะท้อนนัยทางการ เมืองของประเทศในขณะนั้นได้ ซึ่งไม่พบลักษณะเช่นนี้ในตำราเล่มอื่น ๆ
ส่วนที่สอง เห็นว่าอาจารย์เสนีย์ฯ เขียนตำราเล่มนี้บนฐานคิดแบบนักกฎหมายคอมมอนลอว์ที่โดยทั่วไปมักมีแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ผสมผสานอยู่ด้วย อันจะเห็นได้จากคำอธิบายในตำราเล่มนี้หลายเรื่องมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับหลักการและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ เช่น หลักประโยชน์สูงสุด หรือหลักการขยายผลประโยชน์
(increase the size of the Pie) เป็นต้นว่า การอธิบายเหตุผลของหลักการญาติสนิทตัดญาติห่างว่ามีที่มาจากการที่กฎหมายไม่ต้องการให้ทรัพย์มรดกกระจัดกระจายไปยังทายาททุกคนที่เกี่ยวข้องเป็นญาติกับผู้ตาย แต่เลือกที่จะให้มรดกตกทอดแก่ทายาทเป็นชั้นเรียงลำดับและตัดกันไป ทั้งนี้เพื่อให้ทายาทที่ได้รับมรดกได้รับทรัพย์เป็นก้อนซึ่งจะทำให้สามารถเอาไปใช้เป็นทุนสำหรับประกอบธุรกิจอันจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ ซึ่งเห็นว่าการอธิบายหลักกฎหมายประกอบกับหลักเศรษฐศาสตร์หรือศาสตร์อื่น ๆ ที่แวดล้อมกฎหมายเช่นนี้ มักไม่พบเจอในนักกฎหมายซีวิลลอว์
ส่วนที่สาม ในประเด็นปัญหาเรื่องการรับมรดกแทนที่ เห็นว่าคำอธิบายของอาจารย์เสนีย์ฯ ในตำราเล่มนี้อธิบายไว้ชัดเจนว่าการรับมรดกแทนที่กับการสืบมรดกเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่เป็นการสืบมรดกที่กฎหมายวางหลักไว้โดยเฉพาะว่าเป็นข้อยกเว้นให้อาจสืบมรดกกันได้ผ่านการรับมรดกแทนที่ ซึ่งเห็นพ้องด้วยอย่างยิ่งในประเด็นนี้ นอกจากนี้ อาจารย์เสนีย์ฯ ยังอธิบายไว้ชัดเจนว่ามาตรา 1643 มิได้มุ่งให้ปรับใช้กับกรณีผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม แต่โดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2528 ก็ได้กลับคำอธิบายดังกล่าวไป ซึ่งจุดนี้เห็นว่าสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาในการใช้และตีความกฎหมายมรดกได้เป็นอย่างดี จึงมีข้อเสนอแนะให้ผู้แก้ไขปรับปรุงใส่รายละเอียดความเปลี่ยนแปลงในการใช้และตีความกฎหมายเช่นนี้ไว้ในเชิงอรรถของตำราด้วย
ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ (ผู้แก้ไขปรับปรุงตำราฯ) กล่าวเสริมว่า ตามความเห็นของอาจารย์เสนีย์ฯ ที่เสนอต่อที่ประชุมร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ท่านเสนอว่าให้ทายาทลำดับที่หนึ่ง คือ ผู้สืบสันดาน ตัดทายาทชั้นที่สอง คือ บิดามารดา ซึ่งเป็นอย่างที่อาจารย์ ดร.อภินพฯ กล่าวว่ามีที่มาจากเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ว่าควรให้ทรัพย์มรดกของผู้ตายตกทอดแก่ผู้สืบสันดานซึ่งเป็นทายาทที่อยู่ในวัยกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว เพราะหากให้มรดกตกทอดโดยต้องไปแบ่งส่วนกับบิดามารดาของผู้ตายแล้ว อาจารย์เสนีย์ฯใช้คำว่า “มันจะแตกเป็นเบี้ยน้อยหอยน้อย” ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ โดยอาจารย์เสนีย์ฯ เสนอข้อเสนอดังกล่าวต่อที่ประชุมถึงสองครั้ง แต่ที่ประชุมฝ่ายเสียงข้างมากไม่เห็นพ้องด้วย
รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล (ผู้วิพากษ์) กล่าวเสริมว่า การวิเคราะห์คำอธิบายของอาจารย์เสนีย์ฯ ของอาจารย์ ดร.อภินพ ว่ามีเนื้อหาที่มีหลักการทางเศรษฐศาสตร์อยู่เบื้องหลังนั้น สะท้อนว่าวัตถุที่ศึกษาคือกฎหมายนั้น อาจถูกมองผ่านหลักการต่าง ๆ ได้หลากหลาย เป็นต้นว่า มองผ่านหลักการทางเศรษฐศาสตร์ดังเช่นที่อาจารย์ ดร.อภินพฯ วิเคราะห์ หรืออาจมองผ่านหลักการอื่น ๆ ก็ได้ เพื่อใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนคำอธิบายทางกฎหมายในการนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือความเป็นธรรม
สรุปสาระสำคัญจากงานเปิดตัวและวิพากษ์ตำรา “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัวมรดก (ภาคมรดก)” โดย ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ตอนที่ 2 จะเผยแพร่ภายหลัง