ความเป็นมา
กองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประกาศเกียรติคุณและเป็นอนุสรณ์แห่งความดีของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ปูชนียบุคคลของนักนิติศาสตร์ ท่านได้ประกอบคุณงามความดีรับใช้ประเทศชาติและสังคมนานัปการ โดยเคยดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกฯลฯ ต่อมาได้กราบถวายบังคมลาออก จากตำแหน่งประธานองคมนตรี เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์ และขณะยังคงดำรงตำแหน่งองคมนตรีอยู่ ท่านได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ดังกล่าว ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ซื่อสัตย์ สุจริต มีความกล้าหาญอันเปี่ยมด้วยคุณธรรมเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป นอกจากนั้น ท่านยังได้อุทิศตนเพื่อการศึกษาวิชานิติศาสตร์ ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมและวิชาชีพกฎหมาย ผลงานของท่านเป็นที่ปรากฏและยอมรับกันทั่วไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เพื่อเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์และคุณงามความดีของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ดังกล่าว ไปสู่อนุชนรุ่นหลัง คณะกรรมการกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ จึงได้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และสังคมตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของกองทุน ได้แก่
๑. จัดสรรทุนเพื่อทำนุบำรุงการศึกษาและการวิจัยทางนิติศาสตร์ และส่งเสริมวิชาชีพกฎหมาย
๒. ส่งเสริมและให้ทุนอุดหนุนการจัดพิมพ์ตำรากฎหมาย และเผยแพร่วิชานิติศาสตร์
๓. ส่งเสริมการพัฒนาห้องสมุดกฎหมายและการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลด้านกฎหมาย
๔. ให้รางวัลแก่นักศึกษา หรือผู้ทำการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการด้านกฎหมาย
๕. ให้ทุนอุดหนุนการศึกษาและกิจกรรมอื่นๆตามที่คณะกรรมการจะพิจารณาหรือเห็นสมควร
ระเบียบมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ พ.ศ. ๒๕๓๙
โดยที่ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ปฏิบัติภารกิจรับใช้ประเทศชาติ ในตำแหน่งสำคัญ ๆ ด้วยความอุตสาหะ วิริยะ ซื่อสัตย์ สุจริต เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม เป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วไปท่านได้อุทิศตน ทำนุบำรุงการศึกษาวิชานิติศาสตร์ ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม และวิชาชีพกฎหมายมีผลงานปรากฏเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ นับได้ว่าท่านเป็นนักกฎหมายที่สำคัญของประเทศชาติ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและเป็นอนุสรณ์แห่งความดีที่ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ประเทศชาติตลอดมา บรรดาศิษยานุศิษย์ ญาติมิตรสมาคม องค์การ และมูลนิธิต่างๆ ผู้มีจิตศรัทธาและเคารพรักในตัวท่านจึงได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้น อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑๗ แห่งข้อบังคับของมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒๖ จึงตราระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ พ.ศ. ๒๕๓๙”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากประกาศนี้เป็นต้นไปข้อ ข้อ
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ พ.ศ. ๒๕๓๒
หมวด ๑
วัตถุประสงค์ ข้อ ๔ วัตถุประสงค์ของกองทุนมีดังต่อไปนี้
- ๔.๑ จัดสรรทุนเพื่อทำนุบำรุงการศึกษาและการวิจัยทางนิติศาสตร์ และส่งเสริมวิชาชีพกฎหมาย
- ๔.๒ ส่งเสริมและให้ทุนอุดหนุนการจัดพิมพ์ตำรากฎหมายและเผยแพร่วิชานิติศาสตร์
- ๔.๓ ส่งเสริมการพัฒนาห้องสมุดกฎหมายและการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลด้านกฎหมาย
- ๔.๔ ให้รางวัลแก่นักศึกษาหรือผู้ทำการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการด้านกฎหมาย
- ๔.๕ ให้ทุนอุดหนุนการศึกษาและกิจกรรมอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการจะพิจารณาเห็นสมควร
หมวด ๒
ทุนทรัพย์ ทรัพย์สิน และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน
ข้อ ๕ กองทุนนี้ได้จัดตั้งเป็นกองทุนรับบริจาคทั่วไป และให้นำดอกผลของทรัพย์สินของกองทุนมาจัดสรรตามวัตถุประสงค์ในข้อ ๔
ข้อ ๖ ทรัพย์สินของกองทุนมีทุนเริ่มแรกคือเงินสด จำนวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดแสนบาทถ้วน)
ข้อ ๗ กองทุนอาจได้มาซึ่งทรัพย์สิน โดยวิธีดังต่อไปนี้
- ๗.๑ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่น ๆ ที่ปราศจากหนี้สินหรือ ภาระติดพันแก่กองทุน
- ๗.๒ เงิน หรือทรัพย์สินที่มีผู้มีจิตศรัทธาอุทิศให้
- ๗.๓ ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินของกองทุน
- ๗.๔ ค่าลิขสิทธิ์และรายได้จากการพิมพ์ตำราและเอกสารต่าง ๆ
- ๗.๕ รายได้อื่น ๆ
หมวด ๓
การดำเนินงาน
ข้อ ๘ ให้มีคณะกรรมการกองทุนคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการกองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ประกอบด้วยผู้แทนมูลนิธินิติศาสตร์ มธ. เป็นประธานกองทุน ผู้แทนคณะนิติศาสตร์ มธ. และผู้แทนสมาคมนิติศาสตร์ มธ. เป็นกรรมการกองทุน โดยตำแหน่งและบุคคลอื่น ๆ อีกไม่น้อยกว่า ๓ คนเป็นกรรมการ และให้ประธานกองทุนเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้จัดการกองทุน สำหรับตำแหน่งกรรมการกองทุน หากมูลนิธิฯ มิได้ประกาศแต่งตั้งไว้ ให้คณะกรรมการกองทุนเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งตามเห็นสมควร ทั้งนี้ให้กรรมการกองทุนมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกก็ได้
ข้อ ๙ ให้จัดสรรดอกผลของกองทุนอย่างน้อยร้อยละ ๑๐ สมทบเข้าในเงินกองทุนทุกปี จนกว่าเงินกองทุนจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าล้านบาทถ้วน)
ข้อ ๑๐ การจัดสรรเงินตามวัตถุประสงค์ในข้อ ๔ ให้นำเฉพาะดอกผลจากทรัพย์สินของกองทุนมาใช้จ่ายเท่านั้น ทั้งนี้ภายในบังคับแห่งเงื่อนไขหรือวัตถุประสงค์ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาอุทิศเงิน และทรัพย์สิน ให้แก่กองทุนได้กำหนดไว้
ข้อ ๑๑ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่พิจารณาจัดสรรเงินทุนและพิจารณาให้เงินทุนอุดหนุนและคัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับทุนตามความเหมาะสม
ข้อ ๑๒ ให้นำเงินกองทุนไปลงทุนในธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มั่นคง และมีธนาคารค้ำประกัน หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ ตามที่คณะกรรมการจะเห็นสมควร โดยให้นำระเบียบมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการเงินและการบัญชีมาใช้บังคับโดยอนุโลม
หมวด ๔
บทเบ็ดเตล็ด
ข้อ ๑๓ การแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบหรือการวางระเบียบเฉพาะเรื่อง ให้คณะกรรมการตามข้อ ๘ พิจารณาขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานกรรมการมูลนิธิ
ข้อ ๑๔ ให้ประธานกองทุนเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๓๙
ประภาศน์ อวยชัย (ศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย)
ประธานมูลนิธิ
(ระเบียบนี้ออกตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งที่ ๑/๒๕๓๙ เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๓๙)
หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกนักศึกษากฎหมายดีเด่น รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์
๑. หลักการและเหตุผล
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นปูชนียบุคคลของนักนิติศาสตร์ ได้ประกอบคุณงามความดีรับใช้ประเทศชาติและสังคมนานัปการ โดยเคยดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เป็นต้น ท่านได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ดังกล่าวด้วยความวิริยะอุตสาหะ ซื่อสัตย์ สุจริต มีความกล้าหาญอันเปี่ยมด้วยคุณธรรมเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป นอกจากนั้นท่านยังได้อุทิศตนเพื่อการศึกษาวิชานิติศาสตร์ ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมและวิชาชีพกฎหมาย ผลงานของท่านเป็นที่ปรากฏและยอมรับกันทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ
กองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประกาศเกียรติคุณและเป็นอนุสรณ์แห่งความดีของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งคณะกรรมการกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้พิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์และคุณงามความดีของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ดังกล่าวให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนคนรุ่นหลัง จึงได้จัดให้มีการคัดเลือกนักศึกษากฎหมายดีเด่นที่มีความรู้กฎหมายดีพร้อมด้วยคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และอุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อรับรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์
แต่เดิมนั้นกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ได้พิจารณาจากนักศึกษากฎหมายที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียงเท่านั้น ต่อมาจึงได้เริ่มขยายมายังสถาบันการศึกษาของรัฐที่เปิดการเรียนการสอนและผลิตบัณฑิตทางด้านนิติศาสตร์รับใช้สังคมมาไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี เป็นก้าวแรกแห่งการขยายเพื่อเปิดกว้างสู่การเป็นรางวัลระดับประเทศ ซึ่งได้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กระทั่งในการพิจารณารางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่นในปีการศึกษานี้ กองทุนพร้อมขยายไปถึงสถาบันการศึกษาเอกชนที่เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนนิติศาสตร์รับใช้สังคมมาไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี เช่นกัน ซึ่งรางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่น ในปีการศึกษานี้ มีสถาบันการศึกษาที่เข้าตามหลักเกณฑ์ ทั้งสิ้น ๑๐ สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยพายัพ
๒. วัตถุประสงค์
- ๒.๑ เพื่อสรรหาและคัดเลือกนักศึกษากฎหมายดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๖๒ และนักศึกษากฎหมายดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จการศึกษา ในปีการศึกษา ๒๕๖๓ (ยกเว้นของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ใช้สำเร็จการศึกษาปีการศึกษา ๒๕๖๑ และ ๒๕๖๒ เพราะการพิจารณาการจบการศึกษาแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น) ของมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรนิติศาสตร์มาแล้วตั้งแต่ ๓๐ ปีขึ้นไปทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อนักศึกษากฎหมายรุ่นต่อไป
- ๒.๒ เพื่อเผยแพร่และประกาศเกียรติคุณของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
- ๒.๓ เพื่อเป็นรางวัลให้กับนักศึกษากฎหมายที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ทำความดี มีคุณธรรมและช่วยเหลือสังคม อันจะเป็นเกียรติยศแก่ตนเองและครอบครัวของตนเอง สถาบันและสังคม
๓. เกณฑ์การพิจารณาผู้สมควรได้รับรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ สำหรับนักศึกษากฎหมายดีเด่น
- ๓.๑ สอบผ่านวิชาบังคับตามหลักสูตรปริญญาตรีที่ได้จดทะเบียนศึกษาตลอดหลักสูตร โดยมีผลการศึกษาในระดับเกียรตินิยม ตามหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ดังต่อไปนี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยพายัพ
- ๓.๒ ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง
- ๓.๓ เป็นผู้ที่มีคุณธรรม
๔ . ขั้นตอนการดำเนินการสรรหาและคัดเลือก
- ๔.๑ ประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์การพิจารณาสรรหาและคัดเลือกนักศึกษากฎหมายดีเด่น รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ให้ทราบโดยทั่วกัน
- ๔.๒ คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยตามข้อ ๓.๑ ดำเนินการสรรหานักศึกษากฎหมายดีเด่นซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ ๓ โดยเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในปี ๒๕๖๒ จำนวน ๑ คน และเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในปี ๒๕๖๓ จำนวน ๑ คน รวม ๒ คน โดยเสนอชื่อพร้อมข้อมูลและเหตุผลประกอบ ไปยังคณะกรรมการพิจารณารางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ภายในวันศุกร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕
- ๔.๓ คณะกรรมการพิจารณารางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ จะพิจารณาคัดเลือกนักศึกษาที่แต่ละสถาบันเสนอชื่อตามข้อ ๔.๒ โดยจัดให้มีการสัมภาษณ์เพื่อประกอบการพิจารณาคัดเลือกนักศึกษากฎหมายดีเด่น
- ๔.๔ กองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกนักศึกษากฎหมายดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๔ และ ๒๕๖๕
๕. การพิจารณาตัดสิน
การพิจารณาคัดเลือกและตัดสินนักศึกษากฎหมายดีเด่น รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ทั้งนี้ ผลการตัดสินของคณะกรรมการฯ ให้ถือเป็นที่สุด หากปีใดมีผู้เหมาะสมได้รับรางวัลมากกว่า ๑ คน ก็ให้มอบรางวัลให้แก่นักศึกษาทุกคนที่ได้รับการพิจารณาตัดสินให้เป็นนักศึกษากฎหมายดีเด่น รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ หรือหากปีใดไม่ปรากฏว่ามีผู้ที่เหมาะสมได้รับรางวัลก็ให้งดการมอบรางวัลสำหรับปีนั้นได้
๖. รางวัล
- ๖.๑ นักศึกษาผู้ได้รับรางวัล จะได้รับเงินสด ๕๐,๐๐๐ บาท และโล่เกียรติยศ
- ๖.๒ นักศึกษาผู้ได้รับการเสนอชื่อจากมหาวิทยาลัย ตามข้อ ๔.๒ และผ่านการสัมภาษณ์จะได้รับใบเกียรติบัตร
๗. กำหนดการมอบรางวัล
ในวันสัญญาธรรมศักดิ์ วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๕