สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ปัญหาโลก (ออนไลน์) แตก การคุกคามทางเพศบนโซเชียลมีเดีย” ซึ่งจัดโดยกลุ่มนิติวิชาการ วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เวลา 17.00-19.30 น. ณ ห้อง น.301 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กเพจ “กลุ่มนิติวิชาการ – Law TU Academic Assistance Center”
วิทยากร
- รองศาสตราจารย์ ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรด้านกฎหมาย)
- อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรด้านสังคมสงเคราะห์)
- คุณสิรินทร์ มุ่งเจริญ นิสิตคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (วิทยากรจากภาคประชาชน)
ผู้ดำเนินรายการ
- คุณธนขวัญ จันดี
- คุณเพชรภรณ์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายวัฒนกร อุทัยวิวัฒน์กุล นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ประเด็นที่ 1 : นิยามความหมาย รูปแบบ และแนวโน้มของ Sexual Harassment บนโลกออนไลน์
คุณธนขวัญ จันดี (ผู้ดำเนินรายการ) :
นิยามของการคุกคามทางเพศคืออะไร เมื่อพิจารณาในมุมมองที่แตกต่างกันทั้งในแง่ของกฎหมาย สังคมสงเคราะห์ และในแง่ของบุคคลทั่วไปในสังคม มีลักษณะเป็นอย่างไร
คุณสิรินทร์ มุ่งเจริญ :
จากมุมมองของคนธรรมดาที่เคยถูกคุกคามบนโลกออนไลน์ การคุกคามทางเพศ คือ อะไรก็ตามที่ทำให้ฝ่ายที่เป็นผู้รับสารไม่พอใจ รู้สึกอึดอัดบางอย่าง ซึ่งอาจเป็นความรู้สึกที่จับต้องไม่ได้ เช่น การโดนแซวจากกลุ่มผู้ชาย แม้ว่าคำพูดที่ใช้จะเป็นคำชมก็ตาม
อ.เคท ครั้งพิบูลย์ :
การคุกคามทางเพศไม่ว่าจะทางออนไลน์หรือออฟไลน์ คือ การกระทำที่ไม่ดีต่อกัน ผู้ถูกกระทำจะได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนบางครั้งผู้ถูกกระทำไม่สามารถทำอะไรบางอย่างตามที่ตนเองเคยทำได้ เช่น ไม่สามารถยิ้มได้ทุกวันอย่างที่ตนเองเคยทำ จึงต้องหาวิธีการเยียวยาว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ถูกกระทำสามารถกลับมามีพฤติกรรมแบบเดิมได้ ดังนั้น ร่องรอยของบาดแผลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจจึงมีความสำคัญมากกับนักสังคมสงเคราะห์ เพราะเป็นคนที่ต้องประเมินและต้องบอกได้ว่าผู้ถูกกระทำควรได้รับการดูแลเยียวยาในขั้นตอนไหน เช่น หากได้รับผลกระทบทางด้านร่างกายมากที่สุด ก็ควรรักษาสภาพร่างกายก่อนแล้วค่อยรักษาสภาพจิตใจ ทั้งนี้ ผลกระทบไม่เพียงเกิดขึ้นกับผู้ถูกกระทำอย่างเดียว แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ถูกกระทำด้วย
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
เวลาได้ยินคำว่า “การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment)” สามารถแยกคำได้เป็น 2 คำ คือ (1) คุกคาม กับ (2) ทางเพศ การคุกคามเป็นคำที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพในตัวบุคคล เมื่อใดก็ตามที่มีคนทำให้เรารู้สึกสูญเสียสิทธิและเสรีภาพ ก็ถือว่าเป็นการคุกคาม เมื่อนำมาประกอบกับคำว่าทางเพศ จึงแปลความได้ว่า การกระทำที่ทำให้รู้สึกถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในทางเพศ ซึ่งเดิมการคุกคามทางเพศคือการกระทำต่อสิทธิและเสรีภาพของคนอื่นในพฤติกรรมทางเพศที่เขาแสดงออกหรือทำอย่างไม่เหมาะสมเท่านั้น แต่ปัจจุบันการคุกคามทางเพศหมายความรวมถึงการคุกคามในเรื่องเพศสภาพด้วย ทั้งนี้ ในทางกฎหมายไม่มีนิยามของการคุกคามทางเพศที่แน่ชัด แต่สามารถบอกได้ว่าเป็นเรื่องที่ตั้งอยู่บนหลักของการกระทำละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพทางเพศที่วิญญูชนทั่วไปพึงรู้สึกได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม
คุณเพชรภรณ์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
การคุกคามทางเพศสามารถแบ่งออกได้เป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง จงยกตัวอย่าง
อ.เคท ครั้งพิบูลย์ :
ระดับของการคุกคามทางเพศสามารถแบ่งได้เป็น (1) โลกออฟไลน์ คือ ผู้ถูกกระทำมีอำนาจหรือการต่อรองน้อยกว่า อาจเป็นเพราะความแตกต่างในด้านเพศ ด้านสังคม ด้านฐานะ ด้านชนชั้น ด้านความเป็นอยู่ ด้านวัฒนธรรม ด้านชาติพันธุ์ หรือแม้กระทั่งการเป็นผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา กับ (2) โลกออนไลน์ ผู้กระทำจะค้นหาและเป็นฝ่ายสังเกตว่าผู้ถูกกระทำเป็นใคร มีฐานะทางสังคมแบบใด มีตัวตนและวิธีการแสดงออกอย่างไร เพื่อหาช่องทางว่าจะทำอะไรต่อเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำได้บ้าง
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
แบบดั้งเดิม สามารถแบ่งได้เป็น (1) การคุกคามทางเพศที่เกิดในโลกจริง ๆ กับ (2) การคุกคามทางเพศที่เกิดในโลกเสมือนจริง หากเปรียบเทียบทั้ง 2 แบบแล้ว การคุกคามทางเพศที่เกิดในโลกเสมือนจริงมีความน่ากลัวกว่า เพราะคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องมีมากขึ้น ผลกระทบมีความกว้างขวางมากกว่าโลกจริง ๆ และจับตัวผู้กระทำความผิดได้ยากเพราะเป็นโลกที่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด
คุณสิรินทร์ มุ่งเจริญ :
เมื่อมองภาพกว้าง ๆ แล้ว การคุกคามทางเพศสามารถแบ่งได้เป็น (1) การคุกคามทางเพศทางตรง คือ การที่คนเห็นได้อย่างชัดเจนและมีบรรทัดฐานร่วมกันว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เช่น การข่มขืน การทำร้ายร่างกาย สามารถเข้าใจได้ง่ายว่าตนเองกำลังถูกกระทำ กับ (2) การคุกคามทางเพศทางอ้อมที่มีลักษณะซับซ้อนมากกว่า เช่น การใช้คำพูดชมเชย แต่แฝงด้วยนัยยะด้านลบ ต้องตีความคำพูดว่าควรรู้สึกดีหรือไม่ดีเพราะคำพูดนั้นมีลักษณะไม่ชัดเจน จนบางครั้งผู้ถูกกระทำยังไม่รู้ว่าตนเองกำลังโดนคุกคามอยู่
คุณธนขวัญ จันดี (ผู้ดำเนินรายการ) :
จากปรากฏการณ์ของการ “หอม” ถือเป็นการคุกคามทางเพศหรือไม่
อ.เคท ครั้งพิบูลย์ :
เห็นได้ว่าในปัจจุบันการใช้ภาษามีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะคำในเรื่องเพศที่จะนำคำอื่นมาแทนที่เยอะ เช่น ใครชอบกินกล้วย อาจหมายถึงกล้วยจริง ๆ หรืออวัยวะเพศชายก็ได้ สาเหตุเพราะว่าเรื่องเพศมักเป็นการพูดในที่ส่วนตัว หากต้องการพูดในที่สาธารณะ การใช้คำพูดตรง ๆ อาจไม่ได้รับการยอมรับ จึงต้องใช้คำอื่นมาแทนเพื่อหลีกเลี่ยงการพูดตรง ๆ ดังนั้น เมื่อเกิดการพัฒนาของภาษาที่มีการใช้คำแทนที่โดยคนส่วนใหญ่เข้าใจความหมายกัน แม้ผู้รับสารไม่รู้ความหมายที่แท้จริงตามความหมายที่แฝงอยู่ แต่ผู้รับสารรู้สึกไม่ดีหรือไม่ชอบ ก็ถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศได้
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
การเป็นบุคคลสาธารณะมีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกคุกคามมากว่าบุคคลทั่ว ๆ ไป จากปรากฏการณ์คำว่า “หอม” สามารถเกิดได้ทั้งในโลกของความจริงกับโลกเสมือนจริง ซึ่งหากนำไปใช้ในโลกเสมือนจริงจะก่อให้เกิดผลกระทบมากกว่า และปรากฏการณ์นี้เป็นการคุกคามทางเพศทางอ้อมที่ต้องตีความความหมายก่อน เพราะถ้าเป็นการคุกคามทางเพศทางตรงจะสามารถเข้าใจความหมายได้โดยไม่ต้องตีความ การพิจารณาว่าปรากฏการณ์คำว่า “หอม” ผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องพิจารณา (1) บริบทของการสื่อสารว่าสามารถทำให้คนเข้าใจได้หรือไม่ว่าหมายถึงการดูถูกเหยียดหยาม (2) ต้องดูนิยามว่าสิ่งที่ผู้กระทำกล่าวเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิและเสรีภาพทางเพศมากน้อยขนาดไหน (3) การจะเอาผิดตามกฎหมายอาญาต้องดูด้วยว่ามีผลกระทบเกิดขึ้นหรือไม่ กล่าวคือ ในทางอาญาความเสียหายที่เป็นรูปธรรมหรือเห็นได้ชัดจะพิสูจน์ได้ง่าย แต่หากเป็นเรื่อง Sexual Harassment ที่เป็นเรื่องของความรู้สึกจะทำให้พิสูจน์ความเสียหายยาก จึงต้องพิจารณาต่อไปว่าความรู้สึกแบบใดถึงจะทำให้ผิดกฎหมายได้ ความรู้สึกในที่นี้ต้องพิจารณาจากวิญญูชน ไม่ใช่ปัจเจกบุคคล ซึ่งหากเราพิสูจน์และอธิบายถึงผลกระทบที่เราได้รับมาได้ กฎหมายก็จะให้ความคุ้มครอง
คุณสิรินทร์ มุ่งเจริญ :
หากพูดถึงเรื่องการคุกคาม คำว่า “หอม” อาจจะพิจารณาจากนิยามอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูด้วยว่าผู้ถูกกระทำรู้สึกกับคำว่า “หอม” อย่างไร เช่น ถ้าผู้ถูกกระทำโพสต์รูปภาพ แล้วมีคนพิมพ์ว่า “หอม” ผู้ถูกกระทำอาจเริ่มสงสัยแล้วว่ารูปที่ลงสื่อถึงกลิ่นอะไร หรือถ้ามีคนพิมพ์เว้นวรรคว่า “ห อ ม” ผู้ถูกกระทำก็อาจรู้สึกว่าผู้พิมพ์ไม่ได้ต้องการสื่อความหมายโดยตรงของคำว่าหอม หรือรู้สึกว่าภายนอกเป็นคำชมแต่ผู้พิมพ์น่าจะสื่อความหมายแฝงบางอย่างไว้ การที่ผู้ถูกกระทำรู้สึกสงสัยและรู้สึกไม่ดีเช่นนี้ ก็ถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศได้
คุณธนขวัญ จันดี (ผู้ดำเนินรายการ) :
การกล่าวถึงบุคคลโดยไม่เจาะจง แต่บุคคลนั้นรู้ตัวว่าหมายถึงตนเอง เป็นการคุกคามหรือไม่ เช่น เราโพสต์รูปใส่ชุดว่ายน้ำลงเฟซบุ๊ก ต่อมามีเพื่อนโพสต์สเตตัสของตนในทำนองว่า “xxx ใหญ่จัง” หรือ “xxx ขาวจัง” หรือในทำนองอื่น เป็นต้น
อ.เคท ครั้งพิบูลย์ :
เห็นว่า จากตัวอย่างเป็นการคุกคาม ทั้งนี้ ต้องพิจารณาจากเจตนาและความรู้สึกของผู้ถูกกระทำเป็นรายกรณีไป การโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์มีความยากตรงที่ว่าต้องตีความตัวอักษร เพราะไม่สามารถเห็นบริบทโดยรอบอย่างเช่นการคุยกันซึ่งหน้า แต่ถ้าข้อความนั้นมีลักษณะชัดเจนเป็นคำที่มีความหมายเชิงลบ เช่น “โปรด xxx ฉันเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน” “น้ำเดินมากเลย” “เห็นแล้วเดินตัวงอเลย” คำเหล่านี้ถือเป็นการคุกคาม ไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะอยู่ในเพศสภาพไหนก็ตาม
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
ถ้าไม่มีการเจาะจงตัวบุคคลว่าหมายถึงใคร จะเป็นคดีอาญาไม่ได้ เพราะในทางอาญาต้องบอกได้ว่าใครเป็นผู้เสียหาย เว้นแต่คดีอาญาแผ่นดินหรือคดีที่ยอมความกันไม่ได้ เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตาย เป็นความผิดที่ยอมความกันไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องมีผู้เสียหายเป็นผู้ดำเนินคดี ดังนั้น หากไม่สามารถเจาะจงบุคคลหรือไม่มีผู้เสียหายอย่างชัดเจน ในทางกฎหมายจึงไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้
คุณสิรินทร์ มุ่งเจริญ :
จากตัวอย่าง ในแง่ของกฎหมายมีความยากในการเอาผิดเพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้กระทำกล่าวถึงเราจริงหรือไม่ ส่วนในทางปฏิบัติ ถ้าอยากรู้ว่าสิ่งที่เขาโพสต์ต้องการสื่อถึงอะไรหรือหมายถึงใคร เราต้องถามเขาหรือให้คนอื่นถามให้ เพราะการถามจะทำให้ผู้โพสต์ข้อความเกิดความละอายใจขึ้นหรือรู้สึกว่าการโพสต์เช่นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
คุณธนขวัญ จันดี (ผู้ดำเนินรายการ) :
การคุกคามทางเพศกับตัวละครสมมติ เช่น Animation ภาพวาด หรือสิ่งอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ถือเป็นการคุกคามทางเพศหรือไม่
คุณสิรินทร์ มุ่งเจริญ :
หากเป็นตัวละครสมมติ แล้วมีคนคอมเมนต์ว่า “อยาก xxx กับคนนี้” หรือเป็นภาพ แล้วบอกว่า “xxx ใหญ่มาก” ต้องตั้งประเด็นว่าการพิมพ์ข้อความแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ สังคมสามารถยอมรับได้หรือไม่ กล่าวคือ แม้ตัวละครสมมติหรือภาพวาดจะไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่สามารถอ่านข้อความได้ แต่คนที่อ่านคอมเมนต์อาจจะรู้สึกรับไม่ได้ หรือกรณีที่คอมเมนต์คำความหมายเชิงลบกับตัวละครสมมติหรือภาพวาด อาจทำให้คนพิมพ์ไม่สามารถแยกได้ว่าควรพิมพ์กับภาพคนจริง ๆ หรือไม่ จึงสรุปได้ว่าการพิมพ์ข้อความในเชิงลบต่อตัวละครสมมติหรือภาพวาดเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
ในทางกฎหมายตัวละครสมมติไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่อาจเอาผิดทางอาญาได้ โดยทั่วไปการคุกคามทางเพศมีลักษณะเป็นนามธรรมจับต้องได้ยาก หากใช้คำเชิงลบบ่อย ๆ ผู้กระทำจะเกิดความเคยชินและทำให้มีการใช้คำเชิงลบซ้ำ ๆ ได้ จึงควรนำแนวคิดเชิงรุกหรือเชิงป้องกันมาใช้บังคับ เช่น ในทางอาญาโดยหลักต้องลงมือก่อนถึงจะเป็นความผิด แต่หลาย ๆ การกระทำ กฎหมายกำหนดความผิดก่อนขั้นลงมือ เช่น ความผิดฐานผู้ใช้ ใช้แล้วมีความผิดเลย หรือการตระเตรียมการวางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นต้น เมื่อนำแนวคิดเชิงรุกหรือเชิงป้องกันมาปรับกับการคุกคามทางเพศจึงเสนอได้ว่า (1) แม้เป็นตัวละครสมมติ แต่หากเป็นตัวละครเสมือนจริง ก็ควรมีกฎหมายหรือมาตรการบางอย่างมาป้องกันไม่ให้เกิดการคุกคามทางเพศ (2) แนวคิดเชิงรุกเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจริงในอนาคต กล่าวคือ หากคนสามารถกระทำต่อตัวละครสมมติได้ ในทางอาชญวิทยาคน ๆ นั้นก็มีแนวโน้มที่จะกระทำต่อคนจริง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาจึงควรมีมาตรการป้องกันในเชิงรุก
คุณเพชรภรณ์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
หากผู้กระทำไม่ได้เจตนาทำให้ผู้ถูกกระทำไม่สบายใจ แต่ผู้ถูกกระทำก็ยังไม่สบายใจอยู่ดี ถือเป็นการคุกคามทางเพศหรือไม่
อ.เคท ครั้งพิบูลย์ : ทุกครั้งที่มีการกระทำอันเป็นการคุกคาม ผู้กระทำไม่เคยถูกตั้งคำถามกลับ แต่คำถามมักตกแก่ผู้ถูกกระทำ เช่น “ไปทำท่าไหนถึงปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้” หรือ “ถ้ารู้ว่าจะเจอแบบนี้ จะโพสต์รูปแบบนั้นทำไม” หรือ “ทำไมไม่คิดว่าลงรูปแบบนั้น แล้วจะส่งผลอะไรบ้าง” เห็นได้ว่า นอกจากผู้ถูกกระทำจะโดนกระทำแล้ว ยังถูกตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำเสมอ และในกระบวนการยุติธรรมผู้ถูกกระทำจะถูกตั้งคำถามซ้ำ ๆ เหล่านี้ตลอด ตั้งแต่การแจ้งความ การเจอพนักงานสอบสวน การเจอพนักงานตรวจร่างกาย ทำให้ผู้ถูกกระทำเสมือนโดนกระทำซ้ำไปซ้ำมาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงควรตั้งคำถามกลับไปยังผู้กระทำบ้างว่าได้รับบทเรียนอะไรจากการกระทำของตนเองหรือไม่
คุณสิรินทร์ มุ่งเจริญ :
มองว่าเป็นการคุกคาม ถึงแม้ผู้กระทำจะอ้างว่าไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เช่น คำว่า “หอม” ไม่ว่าจะคอมเมนต์ด้วยความตั้งใจหรือด้วยความคึกคะนองพิมพ์ตามคนอื่น ก็ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่ดีได้ หรือคำอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกนิยามในเชิงลบ แต่ถูกนำมาใช้เป็นคำย่อหรือคำแทน ซึ่งทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่ดี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ควรทำ
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
กฎหมายอาญาจะลงโทษผู้กระทำความผิดได้ก็ต่อเมื่อกระทำโดยเจตนา ยกเว้นการกระทำโดยประมาทและเรื่องความรับผิดอย่างเคร่งครัด ซึ่งการคุกคามทางเพศไม่ใช่การกระทำโดยประมาท แต่เป็นการกระทำโดยเจตนา ดังนั้น เมื่อผู้กระทำขาดเจตนา จึงไม่มีความผิดในทางอาญา อย่างไรก็ดีหากมองแต่เพียงทฤษฎี จะทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศได้ จึงเสนอว่า ควรปรับเปลี่ยน Mind Set ของผู้กระทำความผิดว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ อะไรควรพูดหรือไม่ควรพูด ผู้กระทำความผิดต้องเข้าใจว่าหากกระทำการใด ๆ แล้ว จะส่งผลกระทบให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่าอ้างแต่คำว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างเดียว
คุณเพชรภรณ์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
แพลตฟอร์มออนไลน์ทำให้เกิดการคุกคามทางเพศง่ายขึ้นหรือไม่ และทำให้การคุกคามทางเพศเป็นพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่
อ.เคท ครั้งพิบูลย์ :
โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนติดต่อสื่อสารกันง่ายขึ้นและทำให้คนสามารถนัดเจอกันได้ง่ายขึ้น เมื่อเจอกันแล้ว ก็มีโอกาสที่ทำให้เกิดการคุกคามทางเพศได้จริง ๆ ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียต้องใช้ช่องทางออนไลน์ให้เป็น คือ ต้องมีทักษะในการต่อรองหรือมีทักษะในการป้องกันตัวเองอันเป็นสิ่งที่สำคัญ อย่างไรก็ตามการปฏิเสธหรือการต่อรองไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแต่ละคนมีสถานะทางสังคมที่แตกต่างและไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น จึงต้องฝึกว่าการตอบปฏิเสธหรือต่อรองแบบใดจะทำให้เกิดการต่อรองได้จริง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการคุกคามทางเพศ
คุณเพชรภรณ์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
Dirty Joke ที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อคนอย่างไรบ้าง
อ.เคท ครั้งพิบูลย์:
อิทธิพลของสื่อหรือการผลิตสื่อซ้ำ ๆ ทำให้เห็นว่าเรื่องที่ถูกผลิตสามารถเกิดขึ้นในชีวิตจริงได้ กล่าวคือ คนมักคิดว่าสื่อเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องจริง เพราะฉะนั้นในโลกแห่งความจริงสามารถทำตามสื่อได้ ยิ่งเป็นสื่อด้านออนไลน์ที่มีผู้คนใช้งานมาก เมื่อเห็นว่าผู้คนสามารถล้อเลียนอย่าง Dirty Joke ได้ คนอื่น ๆ ที่เห็นก็มักจะทำตามด้วย ดังนั้น จึงต้องมีคนคอยเตือนหรือสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมทราบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น การฟ้องคดีต่อผู้กระทำความผิด เพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคม
คุณธนขวัญ จันดี (ผู้ดำเนินรายการ) :
กรณีที่ LGBTQIA+ ถูกนำมาทำเป็นมุกตลกอันเป็นการคุกคามทางเพศบนแพลตฟอร์มออนไลน์คิดว่าเกิดจากปัญหาอะไร และจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
คุณสิรินทร์ มุ่งเจริญ :
ประเด็นเรื่องการขำขันหรือความตลกเกิดจากปัญหาอะไร มีทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าความตลกขบขันเกิดจากการที่ผู้เล่นมุกมีความรู้สึกเหนือกว่าผู้ที่เป็นตัวตลกในมุกนั้น ไม่ว่าจะเป็นมุกตลกด้านศาสนา ด้านชาติพันธุ์ ด้านเพศ การสร้างมุกล้วนเกิดขึ้นจากอำนาจที่ไม่เท่ากัน ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าเรากำลังสร้างภาพลักษณ์ให้กับเพศสภาพต่าง ๆ นั้นหรือไม่ เช่น การเล่นมุกว่า “คนเป็น Bisexual คือ คนที่เอาหมดเลย” คนที่เป็น Bisexual อาจรู้สึกอึดอัดว่าตนเองไม่ได้เป็นคนอย่างในมุกที่หยอกล้อกัน หรือรู้สึกว่าตนเองไม่ใช่คนที่เอาไม่เลือก จากตัวอย่างเห็นได้ว่าสิ่งที่คนพูดกันเป็นเรื่องตลก อาจสร้างความรู้สึกไม่ดีหรือภาพจำให้แก่คนบางกลุ่ม จึงอยากให้สังคมคิดก่อนพูดหรือเอาใจใส่ความรู้สึกของบุคคลที่ถูกล้อเลียนก่อนจะพูดอะไรออกไป
ประเด็นที่ 2 : มาตรการทางกฎหมายในปัจจุบัน สำหรับการจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์ทั้งในเชิงต้นตอและในเชิงลงโทษ
คุณธนขวัญ จันดี (ผู้ดำเนินรายการ) :
ในปัจจุบันมีกฎหมายใดบ้างที่จะนำมาปรับใช้กับการคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอื่น และมีปัญหาในการปรับใช้อย่างไร
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
ในทางแพ่ง ลักษณะของการกระทำมีลักษณะของการกระทำละเมิด สามารถฟ้องคดีได้ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าการคุกคามทางเพศเป็นปัญหาเกี่ยวกับด้านจิตใจหรือความรู้สึก การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นเรื่องยาก เพราะต้องพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ได้ ส่วนในทางอาญามีการบัญญัติความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ เรื่องนี้มีประเด็นว่าต้องเป็นถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามอันเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และข้อความนั้นต้องยืนยันข้อเท็จจริงได้ ซึ่งหากพูดว่า “หอม” “เล็ก” “ใหญ่” เรื่องแบบนี้ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ นอกจากนี้ หลายครั้งการคุกคามทางเพศเป็นการกล่าวลอย ๆ ไม่ได้ระบุตัวผู้เสียหาย จึงฟ้องคดีอาญาฐานหมิ่นประมาทไม่ได้
ประเทศไทยไม่มีกฎหมาย Cyberbullying ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลักษณะกว้าง ๆ บังคับกับการกระทำได้หลากหลาย เช่น การ Bully เรื่องรูปพรรณ เรื่องเชื้อชาติ เรื่องสำเนียงการพูด รวมถึงเรื่อง Sexual Harassment หรือการคุกคามทางเพศด้วย เมื่อกฎหมาย Cyberbullying ไม่สามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้ จึงต้องพิจารณาต่อว่ากฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์สามารถนำมาใช้กับการคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ได้หรือไม่ ซึ่งพบว่าไม่สามารถนำกฎหมายนี้มาใช้ได้เช่นกัน เพราะการจะเข้าข่ายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ต้องเป็นความเสียหายที่ร้ายแรงมาก แต่เรื่อง Sexual Harassment เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล กฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์จึงนำมาใช้บังคับไม่ได้
อย่างไรก็ดี เรื่อง Sexual Harassment มีกฎหมายแรงงานที่บัญญัติไว้เพื่อป้องกันการคุกคามทางเพศของนายจ้างต่อลูกจ้าง ทั้งนี้ แม้จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ แต่ในความเป็นจริงกฎหมายนี้ไม่สามารถใช้ได้จริง กล่าวคือ หากนายจ้างคุกคามทางเพศต่อลูกจ้าง ลูกจ้างสามารถฟ้องนายจ้างได้และนายจ้างห้ามไล่ลูกจ้างออก แต่นายจ้างมักไม่พอใจที่ถูกฟ้อง จึงให้งานลูกจ้างเพิ่มขึ้น ไม่เพิ่มเงินเดือนให้ หรือไม่เลื่อนตำแหน่งให้ เห็นได้ว่าการฟ้องนายจ้างจะส่งผลเสียต่อลูกจ้างเองมากกว่า
คุณเพชรภรณ์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
หากเป็นการหมิ่นประมาทที่สื่อให้เห็นถึงการคุกคามทางเพศแล้ว เราควรออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายโดยเฉพาะหรือไม่
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
ตามที่กล่าวไปแล้วว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทนำมาใช้กับเรื่อง Sexual Harassment ยาก ซึ่งร้อยละ 80–90 ไม่สามารถนำมาใช้กับคดีการคุกคามทางเพศได้เลย เพราะลักษณะของการกระทำความผิดไม่ได้เป็นการกระทำโดยตรง แต่เป็นการกระทำที่ต้องตีความความหมายของคำ เช่น คำว่า “ผู้ชายขายน้ำ” อาจหมายถึงน้ำจริง ๆ หรือการขายบริการทางเพศก็ได้ หรือคำว่า “ผู้หญิงก้นแฉะ” ที่หมายถึงผู้หญิงสำส่อน ไม่ใช่ผู้หญิงนั่งทับน้ำ เป็นต้น การจะทำความเข้าใจความหมายต้องอาศัยการนำสืบ อันเป็นเรื่องยากที่จะเอาผิดตามความผิดฐานหมิ่นประมาท
คุณเพชรภรณ์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
หากเป็นการคุกคามทางเพศ ควรมีโทษมากกว่าการเป็นลหุโทษตาม ป.อ. มาตรา 397 หรือไม่ และหากการคุกคามทางเพศทำให้ผู้เสียหายมีความเจ็บป่วยด้านจิตเวช เช่น การเป็นโรคซึมเศร้า การเป็นโรค Panic ควรเป็นผลฉกรรจ์ให้ผู้กระทำความผิดรับโทษเพิ่มขึ้นหรือไม่
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
มาตรา 397 วางหลักว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท” มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่ามาตรานี้สามารถลงโทษผู้ที่คุกคามทางเพศได้จริงหรือไม่ ปัญหาที่เกิดขึ้นมี 2 อย่าง คือ (1) โทษที่จะลงเป็นลหุโทษ ซึ่งการคุกคามมีอยู่หลายรูปแบบและการคุกคามทางเพศอาจส่อให้เกิดการกระทำทางเพศในอนาคตด้วย โทษที่จะลงโทษ คือ การปรับไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยมาก ในความเป็นจริงมักปรับกันเพียง 500 บาท เพราะฉะนั้นหลาย ๆ คนจึงไม่รู้สึกยำเกรงต่อความผิดนี้ หรือบางคนยอมจ่าย 500 บาทเพื่อให้ตนเองได้กระทำผิดเพื่อความสะใจ เห็นได้ว่า กฎหมายขาดแรงบังคับเพราะโทษไม่เหมาะสมและไม่ได้สัดส่วนของความผิดทั่วไปกับความเสียหายที่เกิดขึ้น (2) องค์ประกอบของตัวบทมีคำว่า “คุกคาม” แต่ไม่ได้มีนิยามความหมายที่ชัดเจน ส่วนประเด็นเรื่องจะเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หากการกระทำยังไม่ครบองค์ประกอบของความผิด ไม่เป็นความผิด ก็เพิ่มโทษตามผลฉกรรจ์ไม่ได้
คุณธนขวัญ จันดี (ผู้ดำเนินรายการ) :
ในทัศนคติของสังคมสงเคราะห์ มาตรการทางกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ปรากฏการณ์การคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร
อ.เคท ครั้งพิบูลย์ :
ในปัจจุบันลักษณะของการคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์มีความซับซ้อนและมีความแยบยลมากขึ้น ระบบการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำหรือผู้ถูกคุกคามไม่ควรมีช่องทางเดียว กล่าวคือ ควรมีช่องทางการร้องเรียนให้มากขึ้นเพื่อรองรับกับสภาพปัญหาที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ช่องทางแรกที่ควรทำ คือ การเข้าถึงและพูดคุยให้คำแนะนำเบื้องต้น เช่น หากผู้ถูกกระทำต้องการแจ้งความกับตำรวจ จะถูกตั้งคำถามอะไรบ้าง หรืออธิบายถึงขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินคดีในการฟ้องร้องต่อศาล หรืออธิบายว่าบุคคลใดบ้างที่ต้องถูกเรียกตัวมาในกระบวนการยุติธรรม หรือกระบวนการพิสูจน์พยานหลักฐานเป็นอย่างไร เป็นต้น
คุณเพชรภรณ์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
เมื่อถูกคุกคามทางเพศ มาตรการทางกฎหมายหรือความรู้อะไรบ้างที่ต้องรู้เพื่อเตรียมตัวรับมือกับการถูกคุกคามทางเพศ หรือมีวิธีการรับมือต่อการถูกคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์อย่างไรบ้าง
คุณสิรินทร์ มุ่งเจริญ :
จากประสบการณ์โดยตรงมีวิธีการรับมืออยู่ 2 แบบ คือ (1) ถ้าถูกต่อว่าด้วยข้อความที่มีความหมายในเชิงลบแน่ ๆ ไม่ต้องตีความความหมายของคำ ก็จ้างทนายความเพื่อดำเนินคดีต่อไป (2) ถ้าถูกต่อว่าด้วยข้อความที่ไม่อาจสื่อความหมายได้โดยตรง ต้องอาศัยการตีความความหมายของคำ ลักษณะเช่นนี้จะดำเนินคดีไม่ได้ ทำได้มากสุดคือการกด Report ข้อความบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพราะเฟซบุ๊กกับทวิตเตอร์มีกฎว่าหากข้อความใดก่อให้เกิดความเกลียดชังกันสามารถกด Report ได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าสลดว่าผู้ถูกคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์สามารถป้องกันสิทธิของตนเองได้แค่นี้ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ากระบวนการทางด้านกฎหมายมีช่องโหว่ ยิ่งถ้าผู้ถูกกระทำไปแจ้งตำรวจ แล้วตำรวจไม่เข้าใจและถามคำถามซ้ำ ๆ ผู้ถูกกระทำก็เสมือนโดนกระทำซ้ำอีกรอบ จึงอยากให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ กระบวนการทางกฎหมาย กระบวนการเยียวยาผู้ถูกกระทำ มีการพัฒนาช่องทางให้ผู้ถูกกระทำสามารถดำเนินคดีได้
อ.เคท ครั้งพิบูลย์ :
กฎหมายที่คุ้มครองการคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะกฎหมายที่จัดการการคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์มีน้อยมากหรืออาจไม่เคยถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นพิจารณาเลย เรื่องนี้เป็นช่องว่างของกฎหมาย
สำหรับด้านสังคมสงเคราะห์ นอกจากการคุกคามทางเพศจะส่งผลต่อตัวผู้ถูกกระทำแล้ว บางครั้งยังส่งผลต่อครอบครัวของผู้ถูกกระทำด้วย วิธีการจัดการกับปัญหา คือ การทำงานหรือทำความเข้าใจร่วมกับครอบครัว ชี้ให้ผู้ถูกกระทำเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกกระทำ แต่เป็นสิ่งที่ผู้กระทำใช้จุดอ่อนด้านฐานะทางสังคมมาคุกคาม ซึ่งหากวิธีการจัดการปัญหานี้ใช้ไม่ได้ผล ก็ต้องใช้การบำบัดทางอื่น เพื่อให้ผู้ถูกกระทำสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาได้ และเมื่อผู้ถูกกระทำมีสภาพจิตใจดีขึ้นแล้ว จึงค่อยให้ผู้กระทำเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์สิทธิต่อไป
คุณธนขวัญ จันดี (ผู้ดำเนินรายการ) :
กรณีศึกษาที่ 1 ผู้เสียหายถูกนำภาพไปโพสต์ในทวิตเตอร์ด้วยคำพูดที่คุกคามว่าอยากมีอะไรด้วย ทั้งนี้ ภาพดังกล่าวเป็นรูปที่เรียบร้อย แต่งกายสุภาพอยู่ในวัด ในกรณีนี้ผู้เสียหายต้องทำอย่างไร และควรดำเนินการอย่างไร
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
คำถามนี้มองได้ 2 ส่วน คือ (1) ลักษณะของการกระทำด้วยคำพูดที่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม (2) ความสัมพันธ์ของรูปกับข้อความที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าจะเอาผิดทางอาญาอย่างไรได้บ้าง ในส่วนของรูปภาพที่เป็นการแต่งกายเรียบร้อยและอยู่ในวัดไม่สามารถเอาผิดทางอาญาได้ เพราะไม่ได้ส่งผลเสียหาย แต่ในส่วนของข้อความที่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม สามารถฟ้องคดีอาญาฐานหมิ่นประมาทได้
คุณสิรินทร์ มุ่งเจริญ :
ถ้าไม่อยากปรึกษาทนาย แจ้งความ หรือฟ้องร้องดำเนินคดี ในกรณีของทวิตเตอร์สามารถกด Report เพื่อให้รูปภาพกับข้อความถูกลบไปได้ แต่วิธีการแก้ปัญหานี้มีช่องโหว่ คือ เมื่อถูกลบ ผู้กระทำสามารถสร้างบัญชีผู้ใช้งานใหม่มาโพสต์รูปเดิมเพื่อคุกคามอีกได้ หรืออีกวิธีสำหรับการจัดการปัญหา คือ ปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อรักษาสภาพจิตใจของตนเองที่เป็นเหยื่อของการถูกกระทำ
คุณเพชรภรณ์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
กรณีศึกษาที่ 2 ผู้เสียหายเล่นเกมออนไลน์ที่ต้องมีการเปิดไมค์พูด แล้วถูกผู้ชายจากที่ไหนไม่รู้พูดจาคุกคามในทำนองว่าจะไปข่มขืน หากผู้เสียหายถูกคุกคามในลักษณะนี้แล้ว จะมีวิธีการรับมืออย่างไร และต้องดำเนินการอย่างไร
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
มี 3 เรื่องหลัก ๆ ที่ต้องรับมือ ได้แก่ (1) รับมือกับตัวเองให้ได้ อาจพบผู้เชี่ยวชาญปรึกษาปัญหา เพื่อให้ตนเองเข้าใจปัญหาในมุมบวก เช่น การที่ผู้กระทำทำแบบนี้ แสดงว่าเขาไม่รู้จักเราดีพอ หรือเพื่อสร้าง Mind Set ให้มีความแข็งแรง (2) รับมือกับผู้กระทำความผิด ต้องดำเนินคดีนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของตัวเองและสร้างบรรทัดฐานให้แก่สังคม (3) รับมือกับสังคม ซึ่งมี 4 ประเด็นที่ต้องสร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ถูกต้อง คือ ประเด็นแรก สอนให้คนรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง คิดก่อนพูดเสมอ เพื่อลดปัญหาการคุกคามทางเพศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประเด็นที่สอง สร้างหนังสือคู่มือคำที่ต้องคิดหรือตระหนักก่อนพูด เพราะบางครั้งคำพูดของเราสร้างเสียงหัวเราะให้กับพูดอื่น แต่ไปกระทบจิตใจของบุคคลอื่นกลุ่มหนึ่ง ประเด็นที่สาม สร้างความเข้าใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ว่าทางกฎหมายหรือทางสังคมสงเคราะห์ เช่น ไม่ควรถามคำถามแทงใจดำต่อผู้ถูกกระทำ ประเด็นที่สี่ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ควรมีกฎหมาย Cyberbullying เพื่อให้ปรับใช้กับเหตุการณ์การคุกคามได้หลากหลาย ไม่เพียงเฉพาะเรื่องการคุกคามทางเพศเท่านั้น
คุณธนขวัญ จันดี (ผู้ดำเนินรายการ) :
หากรัฐออกมาตรการทางกฎหมายบางอย่าง เพื่อควบคุมหรือป้องกันการกระทำความผิดบนโลกอินเทอร์เน็ต เช่น การที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้มากขึ้น หรือการที่ต้องกรอกข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น เพื่อสมัครบัญชีผู้ใช้งานต่าง ๆ ในกรณีนี้ถือว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพหรือไม่ และถ้าเป็นการจำกัดเสรีภาพจะเป็นการจำกัดที่เหมาะสมหรือได้สัดส่วนหรือไม่
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
กล่าวถึง ทฤษฎีความได้สัดส่วน ที่เวลารัฐต้องการออกกฎหมายใดมาจำกัดสิทธิและเสรีภาพ รัฐต้องคำนึงองค์ประกอบ 3 ข้อ เพื่อพิจารณาว่าการกระทำได้สัดส่วนหรือไม่ คือ (1) จำเป็นหรือไม่ (2) เหมาะสมหรือไม่ (3) เมื่อทำแล้ว จะบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ ดังนั้น หากรัฐจะออกมาตรการหรือเงื่อนไขบางประการที่ทำให้ประชาชนต้องกรอกข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น รัฐต้องคำนึงองค์ประกอบ 3 ข้อดังกล่าว โดยส่วนตัวมองว่าเรื่องบางเรื่องไม่ควรใช้กฎหมายเข้ามาจัดการ เพราะมนุษย์ไม่เหมือนกับสัตว์ตรงที่มนุษย์สามารถคิดเองได้ มนุษย์มีความรู้สึกและมีความละเอียดอ่อน ซึ่งเรื่อง Sexual Harassment ก็เป็นเรื่องของความรู้สึก เพราะฉะนั้นเพื่อให้ปัญหาการคุกคามทางเพศลดลง ควรสร้างความเข้าใจหรือสร้างความตระหนักรู้ให้แก่คนในสังคมให้ทราบถึงปัญหาการคุกคามทางเพศก่อน
ประเด็นที่ 3 : ความคิดเห็นเกี่ยวกับผลเสียของปัญหา และบทบาทในการเข้ามาคุ้มครองช่วยเหลือของกฎหมาย
คุณเพชรภรณ์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
ในความเป็นไปของสังคม ปัญหาการคุกคามทางเพศมีผลกระทบต่อผู้เสียหายอย่างไร และมีแนวโน้มที่จะพัฒนากลายเป็นภัยคุกคามอื่นที่มีความรุนแรงหรือไม่
อ.เคท ครั้งพิบูลย์ :
ในปัจจุบันยังมีวิธีคิดแบบสังคมนิยมชายอยู่ และด้วยความแตกต่างทางเพศสภาพทำให้เกิดคำว่า “เพศที่ 3” ซึ่งการใช้คำจำกัดความเช่นนี้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่าเพศที่ 1 และเพศที่ 2 คือเพศใด อันเป็นปัญหา Priority จากแนวคิดนี้พบว่าผู้หญิงกับเด็กมีโอกาสหรือมีความเสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศเสมอ ประเทศไทยมีศูนย์รับแจ้งการถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์มีความเชี่ยวชาญว่าหากพบผู้ถูกกระทำมาแจ้งปัญหาจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ เช่น หากผู้ถูกกระทำได้รับบาดแผลทางกาย ก็จะส่งให้หมอรักษา หรือหากผู้ถูกกระทำได้รับบาดแผลทางจิตใจ ก็จะส่งให้จิตแพทย์ เป็นต้น
คุณเพชรภรณ์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
เป็นเหตุสมควรหรือไม่ที่รัฐต้องเข้ามาควบคุมพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ และหากควบคุมแล้ว จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร
อ.เคท ครั้งพิบูลย์ :
ประเทศไทยไม่เคยลงนามสนธิสัญญาเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศเลย ถ้ารัฐได้ลงนามสนธิสัญญาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ น่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศได้บ้าง กล่าวคือ การลงนามสนธิสัญญาเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้รัฐเข้าใจว่าควรมีกลไกจัดการกับปัญหาอย่างไรเพื่อไม่เกิดการคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์ และเป็นการกำหนดทิศทางว่าหน่วยงานรัฐใดจะเป็นผู้รับผิดชอบแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์ หากสังคมกล่าวถึงเรื่องการคุกคามทางเพศหลาย ๆ ครั้ง เช่น มีงานเสวนา ก็จะทำให้สังคมเกิดการตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจให้สังคมเห็นถึงปัญหาการคุกคามทางเพศมากขึ้น
คุณธนขวัญ จันดี (ผู้ดำเนินรายการ) :
หากจะยกมาตรการทางกฎหมาย เช่น การกำหนดองค์ประกอบความผิด ดูหมิ่น คุกคาม สร้างความไม่สบายใจ แล้วกำหนดมาตรการลงโทษ เช่น จำคุกมากกว่า 10 ปี หรือตัดอวัยวะเพศ มาตรการดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และมีขอบเขตอย่างไร
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
เรื่องหลักของความได้สัดส่วนต้องพิจารณา 3 ข้อ คือ (1) จำเป็นหรือไม่ (2) เหมาะสมหรือไม่ (3) เมื่อทำแล้ว จะบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ ซึ่งการเขียนกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดว่าการกระทำหรือคำพูดหรือพฤติการณ์แบบใด เป็น Sexual Harassment ไว้ อาจดูเหมือนเป็นสิ่งที่ดี แต่ในทางกฎหมายอาญา หากกฎหมายบัญญัติชัดเจนเกินไป จะไม่สามารถใช้กฎหมายได้ เพราะพฤติกรรมและรูปแบบการกระทำความผิดในเรื่อง Sexual Harassment เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามสภาพสังคม การเขียนองค์ประกอบทางกฎหมายที่จำกัด จะทำให้กฎหมายมีอายุการใช้งานสั้น เพราะต้องออกกฎหมายใหม่เรื่อย ๆ ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การเขียนกฎหมายโดยเฉพาะเรื่อง Sexual Harassment ควรมีความยืดหยุ่นและครอบคลุม
ส่วนประเด็นเรื่องโทษที่จะลงแก่ผู้กกระทำความผิด การเพิ่มโทษในเรื่อง Sexual Harassment โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะควรเขียนไว้ในกฎหมาย Cyberbullying มากกว่า เพื่อให้เกิดการใช้งานได้ครอบคลุมหลากหลาย จากตัวอย่างที่ยกว่าให้ตัดอวัยวะเพศ เรื่องนี้เป็นโมเดลของโทษในคดีข่มขืน แต่ Sexual Harassment ไม่ใช่ความผิดที่มีลักษณะลงมือต่อเนื้อตัวร่างกาย การลงโทษด้วยการตัดอวัยวะเพศจึงไม่น่าจะใช้กับเรื่อง Sexual Harassment ได้ อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายจะให้มีการบัญญัติโทษลักษณะนี้ไว้ ก็ต้องพิจารณาหลักความจำเป็นและหลักความเหมาะสมด้วยว่าสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศได้จริงหรือไม่ เพราะกรณีตัวอย่างจากต่างประเทศในคดีข่มขืนที่มีการลงโทษโดยการฉีดสารเคมีให้ผู้กระทำความผิดไม่มีความรู้สึกทางเพศ ยังคงเป็นที่ถกเถียงและโต้แย้งกันว่าสามารถแก้ปัญหาด้านอาชญากรรมให้ลดลงจริงหรือไม่
คุณเพชรภรณ์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
นอกจากกฎหมายแล้ว การควบคุมพฤติกรรมและทัศนคติ จะทำให้พฤติกรรมการคุกคามทางเพศลดลงหรือไม่
อ.เคท ครั้งพิบูลย์ :
ความเสมอภาคทางเพศจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้ายังไม่ได้จัดการปัญหาที่มีอยู่เดิม เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงในทางเพศ แนวความคิดสังคมชายเป็นใหญ่ เป็นต้น จึงควรนำปัญหาเหล่านี้มาถกเถียงและทำความเข้าใจว่าทิศทางการปฏิบัติที่ดีต่อกันบนพื้นฐานของความแตกต่างต่างหลากหลายควรทำอย่างไร และจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่าการเคารพและการปฏิบัติที่ดีต่อกันจะช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ได้
คุณเพชรภรณ์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
อะไรที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของปัญหา Sexual Harassment และคนในสังคมควรมีความระมัดระวังตัวอย่างไร
คุณสิรินทร์ มุ่งเจริญ :
หัวใจหลักของเรื่องการคุกคามทางเพศ คือ ความเห็นอกเห็นใจ หากรู้ว่าคำพูดแบบไหนไม่ควรพูด ก็อย่าพูดหรืออย่าสร้างความไม่สบายใจให้แก่ผู้รับสาร ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความเห็นอกเห็นใจ ปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศจึงถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงมากขึ้น แม้จะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่การถกเถียงปัญหาในเรื่องนี้น่าจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่ทัศนคติของคนบางกลุ่มได้ และเป็นการช่วยเหลือผู้ถูกคุกคามให้มีความกล้าที่จะลุกขึ้นสู้อีกครั้ง
คุณเพชรภรณ์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
อยากให้กล่าวทิ้งท้ายในเรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับ Sexual Harassment
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
การทำงานเรื่อง Sexual Harassment ไม่ใช่การทำงานด้านกฎหมายอย่างเดียว แต่อยากให้เน้นไปที่การทำงานเชิงรุกหรือเชิงป้องกันมากกว่า สิ่งที่อยากให้คำนึงถึง คือ ในความเป็นจริงเรื่อง Sexual Harassment หรือเรื่อง Cyberbullying มักเกิดในรั้วโรงเรียนกับเด็กที่มีพฤติกรรมเลียนแบบ เราจึงควรเริ่มแก้ไขปัญหาจากในระดับโรงเรียนให้ความรู้แก่เด็กว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ โอกาสการเกิดการกระทำความผิดจะได้ลดลง โดยสิ่งที่ต้องสร้างทัศนคติให้แก่เด็กนักเรียนมี 3 อย่าง คือ (1) ต้องรู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเราและต้องคิดเสมอว่าหากตนเองทำหรือเป็นผู้ถูกกระทำจะส่งผลกระทบอย่างไร (2) ต้องมีความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน (3) ควรแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หากสร้างทัศนคติได้ 3 ข้อ เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาจะสามารถทำได้และอาจไม่จำเป็นต้องเขียนกฎหมายมาแก้ไขปัญหาการคุกคามดังกล่าว
คำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนา
คำถาม (1) : “ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีวลีเรื่อง Men in trash เกิดขึ้น วิทยากรมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร และในทางสังคมสงเคราะห์มีแนวคิดหรือไม่ว่าพฤติกรรมทั้งหมดมาจากพฤติกรรมของเพศชายที่เป็นปัญหา”
อ.เคท ครั้งพิบูลย์ :
ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิง ไม่ได้มองว่าตนเองต้องทำทุกอย่างเหมือนกับที่ผู้ชายทำ แต่ผู้หญิงคิดว่ามีบางจุดที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ เพราะเรื่องต่าง ๆ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอนาคตของตนเอง ทั้งนี้ บางอย่างก็มีข้อจำกัดหรือขอบเขตในเรื่องเพศว่า สิ่งใดเหมาะกับเพศไหน หรือสิ่งใดเพศไหนทำได้หรือทำไม่ได้ สังเกตได้จากการพูดถึงชื่อคณะในมหาวิทยาลัย เช่น หากพูดถึงคณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ วิศวะ หลายคนจะนึกถึงเพศชาย หรือหากพูดถึงคณะพยาบาล หลายคนจะนึกถึงเพศหญิง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเรื่องบ้างเรื่องเพศหนึ่งมีความได้เปรียบ และในขณะเดียวกันอีกเพศหนึ่งก็จะเสียเปรียบ สำหรับนักสังคมสงเคราะห์มีการพัฒนาการทำงานมาโดยตลอด เช่น จากเดิมที่พูดว่า “ผู้หญิงทุกคนต้องซื้อผ้าอนามัย” ปัจจุบันใช้คำพูดแทนว่า “คนมีประจำเดือนต้องซื้อผ้าอนามัย” ส่วนเรื่อง Men in trash จากการศึกษาประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตเพศหญิงเป็นเพศที่ถูกกระทำมาโดยตลอด เพศชายแทบจะไม่ถูกกระทำเลย หากมีคำถามว่าวลี Men in trash เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเพศชายลงหรือไม่ ก็ต้องถามกลับว่าในอดีตเพศสภาพอื่น ๆ ก็เคยถูกกระทำและมีบาดแผลมาตลอดแบบเดียวกัน
คำถาม (2) : “ทำไมความรู้สึกของการถูกคุกคามทางเพศต้องขึ้นอยู่กับวิสัยของวิญญูชนมากกว่าวิสัยของแต่ละบุคคล เพราะแต่ละคนก็มีเกณฑ์ความรู้สึกที่ไม่เท่ากัน”
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
ต้องยึดความรู้สึกตามวิญญูชน ซึ่งวิญญูชนหมายถึงการที่เราต้องไม่เอาตัวเองเป็นตัวชี้วัด เราต้องเอาตัวเราไปเป็นตัวของผู้ถูกกระทำว่าในภาวะ วิสัย และพฤติการณ์เช่นนั้น ควรรู้สึกอย่างไร เช่น เรื่องบันดาลโทสะในทางอาญาต้องพิจารณาว่าการกระทำที่เป็นการก่อเหตุอย่างร้ายแรง วิญญูชนทั่วไปต้องโกรธหรือไม่ ดังนั้น วิญญูชนจึงไม่ได้หมายถึงใครก็ได้ มิเช่นนั้น การใช้กฎหมายจะแกว่งไปมา เพราะบางคนโกรธง่ายหายเร็วหรือบางคนโกรธยากหายช้า
คำถาม (3) : “จากที่กล่าวว่าสังคมต้องถกเถียงปัญหาเพิ่มขึ้น เพื่อให้สังคมพัฒนาขึ้น แต่ส่วนตัวเคยถกเถียงปัญหากับเพจเพจหนึ่ง แต่สุดท้ายกลับโดนล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกกลับมาและโดนเอาข้อมูลส่วนตัวไปลงในที่สาธารณะ มีวิธีการอย่างไรกับการจัดการผู้คุกคามหรือจะทำอย่างไรให้ผู้คุกคามเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม”
คุณสิรินทร์ มุ่งเจริญ :
วิธีการจัดการปัญหา คือ พิจารณาก่อนว่าบุคคลที่คุยหรือถกเถียงด้วยพร้อมรับฟังความคิดเห็นคนอื่นหรือไม่ ถ้าบุคคลนั้นยินดีรับฟังความคิดเห็น เราจึงค่อยถกเถียงปัญหากับบุคคลนั้น แต่ถ้าเจอคนที่ไม่รับฟังความคิดเห็นอะไรเลย ก็อย่าไปเสียเวลาคุยกับเขาเพราะจะทำให้เราเสียเวลาและเสียพลังงานการใช้ชีวิต อยากให้คิดว่าเวลาที่เราถูกด่ากลับมา แสดงว่าให้เห็นว่าเสียงของเราไปถึงเขาและให้มีความหวังว่าเสียงของเราก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล :
วิธีการรับมือ คือ (1) รับมือกับตัวเองให้ได้ก่อน จัดการกับความคิดของตนเอง และสร้างพลังงานบวกให้แก่ตนเอง (2) จัดการกับคนที่คุกคาม ไม่จำเป็นว่าต้องฟ้องร้องดำเนินคดีทุกครั้ง เช่น ประเมินก่อนว่าผู้คุกคามพร้อมรับฟังความคิดเห็นของเราหรือไม่ หากผู้คุกคามไม่รับฟังสิ่งใด ๆ ก็ควร Block หรือ Unfriend คนคนนั้นไป และอย่าคิดมากกับเรื่องที่ถูกด่ากลับมา