จากที่ศูนย์นิติศาสตร์ฯ ได้จัดรายการ Law To U by TU Law Centre Special Live EP: กฎหมายลักษณะมรดก เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมรดก และมีคำถามจากผู้เข้าร่วมฟังรายการว่า กรณีได้รับผลประโยชน์จากสัญญาประกันชีวิต (ซึ่งไม่ใช่มรดก) นั้น หากในกรณีที่ผู้ตายมีหนี้สิน ผู้รับประโยชน์ที่ได้รับผลประโยชน์จากสัญญาประกันชีวิตนั้นจำต้องรับภาระหนี้สินของผู้ตายหรือไม่ ศูนย์นิติศาสตร์จึงได้จัดทำคำอธิบายในประเด็นดังกล่าว
- มรดก
มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
มาตรา 1601 ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน
มรดก จึงหมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดที่มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายของผู้ตาย เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ เป็นต้น และรวมถึงสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดต่าง ๆ เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หนี้ในการชำระราคาตามสัญญาซื้อขาย ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน เป็นต้น[1]
อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นที่กฎหมายไม่ถือว่าเป็นมรดก อาจสรุปได้ดังนี้
– กรณีที่กฎหมายกำหนดว่าไม่ใช่มรดก เช่น ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 446 สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน เป็นต้น
– กรณีโดยสภาพแล้วเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ เช่น สิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรส สิทธิในใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน เป็นต้น[2]
– กรณีทรัพย์สินหรือที่ได้มาหลังเจ้ามรดกตายโดยไม่มีความผูกพันมาก่อนหรืออาศัยความตายของเจ้ามรดกเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน เช่น เงินช่วยค่าทำศพที่ส่งมาให้เจ้ามรดกหลังวันตายโดยไม่มีความผูกพันใด ๆ มาก่อนระหว่างผู้ส่งกับเจ้ามรดก เป็นต้น[3]
คำพิพากษาฎีกาที่ 3656/2557 เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายนั้น พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้บัญญัติให้จ่ายแก่บุคคลตามมาตรา 73 (2) และทายาทผู้มีสิทธิตามมาตรา 77 จัตวา ตามลำดับ เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว อีกทั้งประโยชน์ทดแทนในกรณีดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายได้มาเนื่องจากความตายหรือได้มาภายหลังที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ประกันตนโดยแท้ ไม่เป็นทรัพย์มรดก
โจทก์เป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ประกันตน ไม่ใช่บุคคลและทายาทผู้มีสิทธิตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2), 77 จัตวา จึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าว
– กรณีภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ เช่น ทรัพย์สินที่วัดได้จากภิกษุที่มรณภาพตามมาตรา 1623 ทรัพย์สินที่ผู้รับบุตรบุญธรรมมีสิทธิเรียกร้องจากกองมรดกบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1598/30 เงินที่ได้รับจากสัญญาประกันชีวิตตามมาตรา 897 เป็นต้น[4]
แม้ว่าทายาทจะรับมาทั้งทรัพย์สิน สิทธิหน้าที่และความรับผิด แต่กฎหมายก็กำหนดให้ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินกว่าจำนวนมูลค่าทรัพย์สินที่ตนได้รับ[5] เช่น ผู้ตายมีมรดกรวม 15 ล้านบาท แบ่งเป็นที่ดินและบ้าน 5 ล้านบาทและหนี้สิน (หน้าที่หรือความรับผิด) 10 ล้านบาท ทายาทย่อมรับรับผิดต่อเจ้าหนี้เพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 2161/2558 แม้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา 194 และมาตรา 214 แต่เมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายกฎหมายคุ้มครองให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ตามมาตรา 1734 และมาตรา 1738 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าหนี้จะไปบังคับเอาจากทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ทายาทของลูกหนี้จะต้องรับผิดทั้งสิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้ามรดกก็เพื่อให้เจ้าหนี้มีทางได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ไม่ทำให้ทายาทนั้นต้องรับผิดชดใช้จากทรัพย์สินส่วนตัวด้วย หากทายาทรับทรัพย์สินจากกองมรดกของผู้ตายไปแล้วก็เพียงให้รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับไปตามมาตรา 1601 และมาตรา 1738 วรรคสอง โดยยังถือว่าทรัพย์สินที่ได้รับไปนั้นเป็นกองมรดกอยู่
คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทรับผิดในค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ตายเจ้ามรดกกระทำละเมิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น มิได้ฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฉะนั้น เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิบังคับคดีเฉพาะทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาท
- สัญญาประกันชีวิต
สัญญาประกันชีวิต เป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้เอาประกันหรือผู้สืบสิทธิ เมื่อผู้เอาประกันหรือผู้ถูกเอาประกันถึงแก่ความตายในเวลาหรือมีชีวิตอยู่จนถึงเวลาที่ได้ตกลงกัน โดยผู้เอาประกันภัยตกลงส่งเบี้ยประกันในการนี้[6] ดังนั้น เมื่อผู้เอาประกันถึงแก่ความตาย หรืออยู่จนถึงเวลาที่กำหนดไว้ ผู้รับประกันจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ โดยอาจจะเป็นบุคคลที่ถูกระบุไว้โดยเฉพาะเจาะจงแล้ว หรือระบุว่าตกแก่ทายาทก็ได้ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 897
มาตรา 897 ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้
ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้
มาตรานี้มีสาระสำคัญคือ ในกรณีที่ผู้เอาประกันไม่ได้ระบุชื่อบุคคลใดโดยเฉพาะให้เป็นผู้รับประโยชน์ในสัญญาประกันชีวิต เงินจากสัญญาประกันชีวิตจะถูกนำไปสมทบเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดกเพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ในการบังคับชำระหนี้[7]
ตัวอย่างเช่น ผู้ตายทำประกันชีวิตตนเองวงเงิน 200,000 บาท ระบุว่า “ทายาทเป็นผู้รับประโยชน์” เมื่อถึงแก่ความตาย เงินที่ได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจำนวน 200,000 บาท จะถูกนำเข้ากองมรดกของผู้ตาย[8]
แต่ถ้าผู้เอาประกันได้ระบุชื่อบุคคลไว้โดยเฉพาะเจาะจงแล้ว เงินที่ได้รับจะไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้เอาประกัน ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกจะเป็นเฉพาะเงินเบี้ยประกันภัยที่ได้ส่งไปแล้วเท่านั้น[9]
ตัวอย่างเช่น ผู้ตายทำประกันชีวิตตนเองวงเงิน 200,000 บาท ระบุว่า “นางสาว ข. เป็นผู้รับประโยชน์” เมื่อเบี้ยประกันไปได้ห้าปี รวมเป็นเงิน 50,000 บาท ก็ถึงแก่ความตาย ผู้รับประกันจะต้องจ่ายเงินจำนวน 200,000 บาทแก่ นางสาว ข. แต่นางสาว ข. จะต้อง่สงเงินจำนวน 50,000 บาทที่เท่ากับเบี้ยประกันที่ผู้ตายได้จ่ายไปเข้าสู่กองมรดกของผู้ตาย ซึ่งเจ้าหนี้ของผู้ตายจะเรียกเอาชำระได้จากจำนวน 50,000 บาทนี้ ไม่ใช่จำนวน 200,000 บาทตามสัญญาประกันชีวิต[10]
คำพิพากษาฎีกาที่ 4714/2542 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้นหมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน ณ. ถึงแก่กรรมย่อมทำให้การสมรสระหว่าง ณ. กับโจทก์สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501
เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกและจำเลยเพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์สืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะถึงแก่กรรมที่โจทก์จะใช้สิทธิแบ่งได้
สัญญาประกันชีวิตที่ผู้ตายระบุให้จำเลยซึ่งมิใช่คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์อันต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 897 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วนั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย อันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาเบี้ยประกันภัยโดยกล่าวอ้างมาในคำฟ้องเพื่อเรียกเงินประกันชีวิต จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
[1] ไพโรจน์ กัมพูสิริ, หลักกฎหมายมรดก (พิมพ์ครั้งที่ 6 โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2563) 18-20; พินัย ณ นคร, กฎหมายลักษณะมรดก (พิมพ์ครั้งที่ 4 วิญญูชน 2558) 41-42, 44-45.
[2] ไพโรจน์ กัมพูสิริ 20-21.
[3] ไพโรจน์ กัมพูสิริ 21.
[4] ไพโรจน์ กัมพูสิริ 221.
[5] ไพโรจน์ กัมพูสิริ 18; พินัย ณ นคร 45.
[6] จิตติ ติงศภิทิย์ (สิทธิโชค ศรีเจริญ ผู้ปรับปรุงเพิ่มเติม), กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
(พิมพ์ครั้งที่ 15 วิญญูชน 2563) 156.
[7] จิตติ ติงศภิทิย์ 169; ปิติกุล จีระมงคลพาณิชย์, กฎหมายลักษณะประกันภัย (เดือนตุลา 2562) 309;
พินัย ณ นคร 66-67, 144-145.
[8] ปิติกุล จีระมงคลพาณิชย์ 310-311.
[9] จิตติ ติงศภิทิย์ 169; ปิติกุล จีระมงคลพาณิชย์ 310.
[10] ปิติกุล จีระมงคลพาณิชย์ 311.