บทสัมภาษณ์ผู้เข้าแข่งขันที่ได้คะแนนสูงสุด (รายคน) จากการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจา ในชั้นอุทธรณ์ รอบภายในคณะนิติศาสตร์ ครั้งที่ 16 ประจำปีการศึกษา 2561 คะแนนสูงสุดอันดับ 1 ได้แก่ พชร วัฒนสกลพันธุ์ (แพ็ค) และอันดับ 2 ได้แก่ ภาณพิศุทธ์ บุญตรา (จอย) ซึ่งทั้งสองเป็นผู้เข้าแข่งขันจากทีมเดียวกัน สัมภาษณ์โดยผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : “อยากให้เล่าเหตุผลในการสมัครเข้าแข่งมูทคอร์ทซึ่งจัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ครับ”
พชร : “คือแพ็ครู้สึกว่ากิจกรรมมูทคอร์ทเป็นกิจกรรมที่มีความท้าทายครับ เพราะว่าเป็นกิจกรรมที่แพ็คยังไม่เคยทำมาตลอดสี่ปีที่เรียนอยู่ แล้วพอมีการเปิดรับสมัครแข่งขันก็เลยสนใจเลยอยากรู้ว่าเราจะทำมันได้ดีแค่ไหน ก็เลยลองสมัครดูครับ”
ภาณพิศุทธ์ : “ก็รู้สึกว่ากิจกรรมมูทคอร์ทเป็นกิจกรรมที่ดีสำหรับเด็กของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์นะคะ ที่เราได้มีโอกาสได้เข้ามาร่วมทำการแข่งขัน คือสำหรับจอย จอยรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่เอื้อให้เราพัฒนาทักษะของการเป็นนักกฎหมายในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน แล้วก็ช่วยฝึกเรื่องความกล้าแสดงออกด้วย คือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ลองเข้ามาทำค่ะ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : “อยากให้เล่าเหตุผลในการสมัครเข้าแข่งมูทคอร์ทซึ่งจัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ครับ”
พชร : “คือแพ็ครู้สึกว่ากิจกรรมมูทคอร์ทเป็นกิจกรรมที่มีความท้าทายครับ เพราะว่าเป็นกิจกรรมที่แพ็คยังไม่เคยทำมาตลอดสี่ปีที่เรียนอยู่ แล้วพอมีการเปิดรับสมัครแข่งขันก็เลยสนใจเลยอยากรู้ว่าเราจะทำมันได้ดีแค่ไหน ก็เลยลองสมัครดูครับ”
ภาณพิศุทธ์ : “ก็รู้สึกว่ากิจกรรมมูทคอร์ทเป็นกิจกรรมที่ดีสำหรับเด็กของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์นะคะ ที่เราได้มีโอกาสได้เข้ามาร่วมทำการแข่งขัน คือสำหรับจอย จอยรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่เอื้อให้เราพัฒนาทักษะของการเป็นนักกฎหมายในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน แล้วก็ช่วยฝึกเรื่องความกล้าแสดงออกด้วย คือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ลองเข้ามาทำค่ะ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : “ตอนจับคู่เพื่อนรวมทีมว่ามีวิธีการหรือแนวทางในการเลือกอย่างไรครับ”
พชร : “ก็คือตอนที่สมัครอะครับเราก็ คือแพ็คกับจอยก็สนิทสนมกันอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าสามารถทำงานด้วยกันได้แบบสบายใจอะไรอย่างนี้ครับ เหมือนคุยด้วยกันได้ทุกเรื่อง ก็เลยคิดว่าน่าจะทำให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น แบบไม่มีปัญหา ไม่ต้องเกรงใจกันเหมือนถ้าเราไปทำกับคนอื่นที่เราไม่สนิทใจด้วยอะไรอย่างนี้”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : “จอยมีอะไรเสริมไหมครับ”
ภาณพิศุทธ์ : “ไม่มีค่ะ (หัวเราะ) ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : “ครับ อันนี้ขอถามเพิ่มเติมว่า การที่เพื่อนร่วมทีมเป็นคนละเพศมีปัญหาอะไรไหม อย่างเช่น สถานที่หรือเวลาในการฝึกซ้อม”
พชร : “คือผมคิดว่า มันก็ไม่ได้มีผลกระทบขนาดนั้นครับ เพราะว่าถ้าเราทำงานบางทีมันก็เลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่เราจะต้องทำงานกับคนต่างเพศ แล้วก็อย่างของเราการแก้ปัญหาในเรื่องของการซ้อมอย่างนี้ พวกผมจะซ้อมกันที่ห้องสมุดของตึกคณะอะครับ แล้วมันจะมีห้องติวเตอร์แยก ก็คือพวกเราก็จะเข้าไปซ้อมในนั้น ก็เลยไม่ได้มีปัญหาเรื่องการซักซ้อมเท่าไหร่ เพราะว่าห้องนั้นมันจะแบบสามารถซ้อมกันสองคนได้”
ภาณพิศุทธ์ : “ส่วนเรื่องตอนที่เราเตรียมเขียน memo ที่ต้องมาลิสต์ประเด็นกันอย่างนี้ค่ะ ก็ไปป๋วยหรือไปศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งก็ปิดดึก ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรค่ะ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : “อยากถามถึงการเตรียมตัวก่อนจะเริ่มแข่งขันว่าแต่ละคนมีวิธีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง”
ภาณพิศุทธ์ : “อันดับแรกเราก็ทำความเข้าใจโจทย์ก่อนว่าโจทย์ที่ให้มามีประเด็นไหนบ้างที่ซ่อนอยู่ค่ะ แล้วก็ว่าเวลาเขียน memo เราต้องเขียน memo ของทั้งสองฝั่งอยู่แล้วตอนที่ส่งรอบแรก เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเขียน memo ถ้าเราเขียนของฝั่งนึง เราก็พอจะนึกได้ว่าอีกฝั่งนึงเขาจะแย้งเรามาว่าอะไร ส่วนถ้าเราเขียนอีกฝั่งนึงก็พอจะคิดออกอีกว่า อีกฝั่งนึงจะแย้งเรามาว่าอะไร อะไรอย่างนี้แหละค่ะ ก็พยายามลิสต์เป็นประเด็นไปให้มันสอดคล้องกันทั้งสองฝั่งค่ะ แล้วก็ส่วนขั้นตอนในการเข้าแข่งขันแถลงการณ์ด้วยวาจานะคะ จอยก็ไปดูคลิปตอนปีที่พี่เนพี่แป้ง (ณัฐพงค์ ทราบหมอ และปิยากร เลี่ยนกัตวา ผู้ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 และ 2 ปีการศึกษา 2560) แข่งว่าพวกพี่ ๆ แถลงกันประมาณไหน เขาใช้คำว่าอะไร เรียนรู้จากผู้ชนะ (หัวเราะ) อะไรประมาณนี้แหละค่ะ ว่าแบบพี่ ๆ เขามีวิธีเรียบเรียงประเด็นยังไง ขึ้นต้นยังไงลงท้ายยังไง”
พชร : “ทำให้ตอนแรกสำคัญที่สุดที่เราต้องเข้าใจคือต้องเข้าใจกติกาครับ เราต้องเข้าใจก่อนว่าผู้จัดการแข่งขันเขาต้องการอะไรจากการแข่งขันอันนี้ มันถึงจะเริ่มทำอย่างอื่นต่อไปได้ แล้วพอมาอ่านโจทย์หรือว่าข้อเท็จจริง เราก็ต้องพยายามคิดไปอีกว่าคนที่เขาคิดโจทย์นี่เขาพยายามแฝงประเด็นอะไรไว้ในแต่ละประโยคของโจทย์ แล้วก็พยายามมาลิสต์ประเด็นที่เราจะต้องทำการโต้แย้งหรือว่าสนับสนุน แล้วก็เหมือนที่จอยบอกแหละครับ เราก็ต้องคิดทั้งสองด้าน เพราะว่าในการทำ memo เราต้องเป็นทั้งสองฝั่ง ก็พยายามคิดให้รอบด้านมากที่สุด เหมือนพยายามแย้งกับตัวเองอะครับ เวลาเรามีเหตุผลสนับสนุนด้านนี้ เราก็ต้องพยายามแย้งกับตัวเองว่าถ้าเราเป็นอีกฝั่งเราจะโต้ว่าอะไร เพื่อให้ข้อต่อสู้ของเรามันรัดกุมและตรงประเด็นมากที่สุด ส่วนเรื่องพูดก็คือเหมือนที่จอยว่าอีก เราก็ไปดูคลิปการแข่งขันของปีที่แล้ว ซึ่งก็คือเป็นพี่แป้งกับพี่เน เพื่อดูว่าวิธีการพูด หรือการใช้คำ ท่าทางเป็นยังไง เพื่อที่จะทำให้เราพูดออกมาได้ดีที่สุด”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : “ตอนที่เตรียมแข่งแต่ละคนฝึกพูดด้วยไหมครับ หมายถึงว่าซ้อมพูดก่อนด้วยไหม ก่อนจะแข่งจริง”
ภาณพิศุทธ์ : “ของจอยมีเทคนิคก็คือเตรียมสคริปต์ในการพูดเลย ว่าเราจะพูดอะไรก่อนหลัง ยังไงบ้าง แล้วเราจะพูดประมาณไหน คือเตรียมเป็นสคริปต์เลยค่ะอาจารย์ แต่ว่าทีนี้ก็มานั่งอ่านสคริปต์ของเราทวนอีกรอบนึงให้แล้วไฮไลต์ส่วนสำคัญที่คิดว่าเราไม่สามารถหลุดได้ค่ะในการแถลงแต่ละประเด็น แล้วก็จับเวลาในการพูดเหมือนที่พี่เนบอก จอยกับแพ็คซ้อมพูดเยอะมาก ๆ วันนึงหลายรอบมาก ๆ จนกว่าจะได้เวลาที่พอใจ ก็นั่งตัดแล้วตัดอีก ๆ จนกว่าจะอยู่ภายในเวลาที่กติกากำหนด”
พชร : “ครับ ก็คล้ายกัน เราก็ต้องซ้อมในการแถลงการณ์ เพราะว่าการเตรียมตัวของเรา memo ที่เราเตรียมมามันก็จะไม่มีประโยชน์เลยถ้าเราไม่สามารถไม่สามารถนำเสนอออกมาให้คณะกรรมการเห็นได้ เพราะฉะนั้นในการแถลงการณ์เราก็ต้องเตรียมตัวเป็นอย่างดี ทั้งยังมีเรื่องกรอบระยะเวลาที่เราต้องพูดภายในกรอบ เราก็ต้องซ้อมเพื่อให้ได้พูดตามกรอบ แล้วก็เรียบเรียงประเด็นให้เป็นการนำเสนอที่ดีที่สุดสำหรับทีมเรา”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : “ตอนที่แข่งขันรอบภายในมีข้อผิดพลาดหรือว่าเกิดปัญหาอะไรบ้างไหมครับ”
ภาณพิศุทธ์ : “มีนิดนึงก็คือเรื่องกติกาค่ะ อาจเป็นตัวจอยเองที่แบบว่าไม่ค่อยเข้าใจกติกาในตอนแรกว่า เราต้องทำยังไง ทำแบบนี้ได้ไหม ซึ่งระหว่างขณะที่ทำ memo ไปก็จะมีการเมลไปถามกติกาให้มันเคลียร์อยู่เรื่อย ๆ อะไรแบบนี้ เราก็ทำได้ไม่ค่อยลื่นเท่าไหร่”
พชร : ถ้าถามแพ็คก็คือ ตอนแข่งขันรอบรองกับรอบชิงครับ อย่างปีแพ็คก็คือตอนเช้าเป็นรอบรอง แล้วตอนบ่ายเป็นรอบชิงเลย ซึ่งรอบเช้ารอบบ่ายมันมีโอกาสที่เราจะได้ฝั่งไม่เหมือนกัน ซึ่งระยะเวลาในการเตรียมตัวอะครับ คือพวกผมเตรียมตัวไม่ทันที่จะเตรียมพูดทั้งสองฝั่ง แต่ทีนี้ก็อาจเป็นเพราะความโชคดีที่ทำให้ตอนรอบชิงได้ฝั่งเดิม ก็เลยคิดว่าถ้าตอบรอบชิงไปได้อีกฝั่งก็อาจจะทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะว่าเวลาเตรียมตัวมันไม่ทันขนาดนั้นครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : “คิดว่าทักษะที่สำคัญ ทักษะที่ต้องมีสำหรับเข้าร่วมกิจกรรมนี้มีอะไรบ้าง”
ภาณพิศุทธ์ : “สำหรับจอยนะคะ คิดว่าทักษะที่สำคัญคือเรื่องการทำความเข้าใจ ในขั้นต้นเลยที่เราต้องเขียน memo เราก็ต้องเข้าใจก่อนว่าโจทย์ถามอะไร โจทย์ต้องการอะไร แล้วก็พวกเรื่องการตีความกฎหมาย การพลิกแพลงอะไรแบบนี้ค่ะ ถ้าเกิดเรามีทักษะด้านนี้ก็จะทำให้เราไปต่อได้สบาย หรือว่าบางคนอาจจะไม่ได้เก่งมากก็ได้ แต่ว่ามีความตั้งใจ มีความอยากที่จะเข้าร่วมแข่งขัน ถ้าเกิดว่าตั้งใจมาตั้งแต่แรกยังไงก็คิดว่าดีค่ะ”
พชร : “สำหรับแพ็คคือคิดว่าเป็นความทุ่มเทกับการแข่งขันครับ เพราะว่าการแข่งขันครั้งนี้ก็เป็นอะไรที่มีความท้าทายและก็ยาก เพราะว่าผู้จัดการแข่งขันก็คิดข้อเท็จจริงหรือว่าโจทย์ได้ยากและก็ซับซ้อนแล้วก็มีความท้าทายต่อนักศึกษามาก เพราะฉะนั้นในการที่ผู้เข้าแข่งขันจะทำผลงานออกมาได้ดี แพ็คคิดว่าต้องมีความทุ่มเทและก็ตั้งใจกับมันจริง ๆ เพราะว่าต้องอาศัยทั้งเวลา และการเตรียมตัวที่ดี การซักซ้อม ถึงจะทำให้ทำผลงานออกมาได้ดี ถ้าเราไม่ตั้งใจจริงหรือท้อใจไปตั้งแต่แรกก็คงไม่สามารถแสดงผลงานออกมาให้ดีได้”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : “อยากถามเพิ่มเกี่ยวกับประเด็น memo หรือแถลงการณ์ย่อนะครับ พอจะแนะนำผู้เข้าแข่งขันได้ไหมครับว่ามันจะต้องเตรียมอย่างไร เพื่อให้เขียนเขียน memo ได้ดี”
ภาณพิศุทธ์ : “ทุกประเด็นในข้อสอบมันสำคัญหมด คือเราไม่ควรจะทิ้งเลยแม้แต่ประเด็นเดียว ต่อให้เราคิดว่าเราสู้ไปยังไงก็ไม่ชนะหรอก ต่อให้ไม่มีคำพิพากษามาซัพพอร์ท หรือว่าตำราทางวิชาการอะไรก็ตาม อย่างน้อยเราก็จะต้องพยายามคิดหาเหตุผลขึ้นมาให้ได้เพื่อที่จะเอามาซัพพอร์ทข้อต่อสู้ของเรา แล้วก็ตอนที่ทำ memo นะคะ เราต้องคิดให้รอบด้าน ลองคิดว่าถ้าเราเป็นโจทย์เราเขียนไปแบบนี้ จำเลยจะสู้ว่าอะไร แล้วเราจะสู้กลับต่อไปว่าอะไร คือคิดให้มันตลอดกระบวนการแข่งขันค่ะว่าแถลงการณ์และก็แถลงแก้ แต่ละครั้ง ลำดับถ้าเราเขียนไปแบบนี้เราควรจะสู้ต่อว่ายังไง เพื่อให้เราได้มองข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านค่ะ”
“คือเราแข่งขันเกี่ยวกับปัญหากฎหมายใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเวลาที่เขียน memo ให้ระวังดี ๆ อย่าไปใส่ปัญหาข้อเท็จจริงเข้ามา เพราะว่าจากประสบการณ์ที่เราเห็น memo บางทีม เขาก็จะใส่โต้แย้งมาด้วยเรื่องปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งมันจะทำให้เราเสียคำไปฟรี ๆ ใน memo ที่ไม่ได้อะไรจากประเด็นตรงนั้นค่ะ”
พชร : “การเขียน memo คือเราควรเริ่มจากการเขียนให้ครบทุกประเด็นก่อนครับ แล้วก็มาเรียงลำดับความสำคัญของแต่ละประเด็น ในแง่ที่ว่าเป็นประเด็นที่เราได้เปรียบ หรือเป็นประเด็นที่เราเสียเปรียบ เราก็เอาประเด็นเอาประเด็นที่เราได้เปรียบในข้อนี้ขึ้นต้นก่อน แล้วเอาประเด็นที่ข้อต่อสู้อาจจะอ่อนไว้ทีหลัง แล้วเรื่องต่อไปก็คือเรื่องของการให้เหตุผลของในแต่ละประเด็นครับ คิดว่าควรจะเขียน memo ให้กระชับแต่ว่าตรงประเด็น ก็คือใช้เหตุผลทางกฎหมายเป็นหลัก แล้วก็จะมีการเสริมด้วยตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาก็จะทำให้เหตุผลของเรามีน้ำหนัก แล้วก็ทำให้คนอ่านเนี่ยคล้อยตามได้ง่าย แล้วถ้าเราเขียนในทุก ๆ ประเด็นได้อย่างกระชับแล้วก็เข้าใจง่ายครับ มันก็ไม่มีความจำเป็นเลยที่เราจะต้องไปซ่อนเหตุผล ตอนอย่างแพ็คกับจอยแข่งตอนที่พูดก็คือพูดประเด็นแล้วก็ให้เหตุผลตามที่เขียนใน memo ในทุกรอบก็สามารถชนะเลิศการแข่งขันได้”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : “คิดว่าเราได้รับอะไรบ้างจากการเข้าร่วมแข่งขันกิจกรรมนี้ และการแข่งขันมูทคอร์ทมีส่วนช่วยในการเรียนหรือตอนออกไปทำงานจริง ๆ ไหมครับ”
พชร : “สิ่งที่ได้จากการแข่งขันรอบภายในก็คือเหมือนรู้จุดอ่อน หรือว่าข้อเสียของตัวเองครับในการแถลงการณ์ด้วยวาจา เพราะว่าก็จะมีคอมเมนต์จากทั้งตัวอาจารย์หรือว่าคณะกรรมการจากข้างนอกครับที่เขาคอยให้ความเห็นที่ดีมาก ๆ ต่อการพัฒนาตัวเองของเรา ซึ่งคอมเมนต์เหล่านี้เราสามารถนำไปใช้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาตนเองและนำไปใช้ในการแข่งขันรอบระดับประเทศได้ต่อไป”
“อย่างการเรียนก็ช่วยครับ เพราะว่ามันก็ทำให้เรามองประเด็น โดยเฉพาะประเด็นทางกฎหมายได้อย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น คือมันไม่ใช่แค่ว่าเราเห็นประเด็นเรื่องนึงแล้วเราคิดว่าความเห็นของเรามันต้องถูกเสมออะไรแบบนี้ครับ กับทุกเรื่องมันก็สามารถมองได้หลายมุมแล้วแต่เหตุผลที่จะให้ แต่ว่าขึ้นอยู่กับว่าเราชักจูง หรือว่าเห็นว่าเหตุผลด้านไหนมันสนับสนุนได้ดีกว่า ส่วนในเรื่องการทำงานก็คือการทำ Moot Court เนี่ยครับ มันช่วยให้เราต้องรู้จักการเตรียมตัวที่ดีอะครับ เพราะว่ามันต้องเริ่มตั้งแต่การแบบวางแผนว่าจะสู้ยังไง กำหนดประเด็น รีเสิร์ช เตรียมตัว memo อย่างนี้ครับ ซึ่งก็สอดคล้องกับการทำงานจริง ๆ ที่ว่าเราเป็นนักกฎหมาย ในการทำงานมันต้องอาศัยความละเอียดและความรอบคอบ การวางแผน รวมถึงการรีเสิร์ชด้วย ก็คิดว่าทุกอย่างมันก็สามารถเอาไปใช้กับการแข่งขันจริง ๆ ได้ รวมถึงในตอนที่แถลงการณ์ด้วยวาจาอะครับ มันจะมีช่วงที่ต้องอาศัยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการที่โต้แย้งในช่วงห้านาทีอะครับ ก็เหมือนกับการที่เราทำงานจริง ๆ มันก็ต้องมีปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แล้วเราก็ต้องอาศัยไหวพริบในการแก้ไขให้มันราบลื่นมากที่สุด”
ภาณพิศุทธ์ : “สำหรับจอยนะคะ ก็รู้สึกว่ามีมุมมองทางความคิดที่กว้างขึ้น แล้วก็หลังจากที่ได้แข่ง Moot Court เนี่ย รู้สึกว่าตัวเองมองโลก มองข้อเท็จจริงกว้างขึ้น แล้วก็รู้สึกว่าพลิกแพลงขึ้น ไม่ได้ด่วนตัดสินอะไรไปตั้งแต่แรก เพราะว่าพอมาแข่งแล้วจะรู้ว่าข้อเท็จจริงมีความละเอียดอ่อนมาก มีประเด็นเยอะไปหมด ซึ่งก็ทำให้เราเป็นคนละเอียดรอบคอบมากขึ้นในการมองข้อเท็จจริง ตัดสินข้อเท็จจริงค่ะ”
“คิดว่าในเรื่องการเรียนก็ช่วยนะคะ ก็เหมือนที่แพ็คบอกอะค่ะว่ามันทำให้เรามองประเด็นข้อกฎหมายได้อย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น แบบว่าตัวบทบอกมาว่าแบบนี้ เอ๊ะ แต่ว่ามันตีความได้ในแง่ไหนบ้าง เป็นต้นค่ะอาจารย์ ส่วนเรื่องการทำงานจอยคิดว่ามีส่วนช่วยได้เยอะมาก เพราะว่าจากที่ตอนนี้จอยเริ่มทำงานแล้วนะคะ ก็รู้สึกว่าการทำงานของเราเหมือนการทำ Moot Court แบบเข้มข้นทุก ๆ วัน เวลาที่มีคนเข้ามาปรึกษาเรา หรือว่ามีคดีเข้ามา คือเราในฐานะทนายความก็ต้องอำนวยความยุติธรรมให้เขาให้ได้มากที่สุด ให้เขาควรได้รับในสิ่งที่เขาควรได้ อย่างนี้อะค่ะ ก็พยายามหาข้อต่อสู้ แล้วก็รีเสิร์ช หาเหตุผลซัพพอร์ทต่าง ๆ นา ๆ มาช่วยให้ลูกความได้รับสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ”
ปัจจุบันพชรและภาณพิศุทธ์ ประกอบวิชาชีพที่ปรึกษากฎหมายที่ Linklaters และ Baker & McKenzie ตามลำดับ
(แถวแรกจากซ้ายไปขวา) พชร วัฒนสกลพันธุ์ (แพ็ค) ภาณพิศุทธ์ บุญตรา (จอย) ปิยากร เลี่ยนกัตวา (แป้ง) ณัฐพงค์ ทรายหมอ (เน)
(แถวหลัง) ผศ. ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
ถ่ายภาพ Pump
เรียบเรียง ผศ. ดร.กรศุทธิ์