ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : ช่วยแนะนำตัวคร่าว ๆ และเล่าให้ฟังหน่อยว่าเข้าแข่งมูทคอร์ทเมื่อไหร่ครับ
บรรเจิด : “ผมจบนิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต เมื่อปีการศึกษา 2559 จากธรรมศาสตร์ครับ ก่อนมาเรียนภาคบัณฑิตก็เรียนจบบัญชีมาก่อน ปัจจุบันก็ยังทำงานในสายงานบัญชีและการเงินบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งหนึ่งครับ นอกจากนี้ก็กำลังเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขากฎหมายธุรกิจที่ธรรมศาสตร์ครับ สำหรับการแข่งขันมูทอคร์ทเกิดขึ้นตอนปีสุดท้ายที่เรียนภาคบัณฑิตครับ เป็นการแข่งขันครั้งที่ 14 ปีการศึกษา 2559 มีพี่ที่เป็นเพื่อนร่วมคลาสมาชวนครับ ผมก็คิดอยู่คืนนึง รุ่งขึ้นก็ตอบตกลงไปครับ และปีนั้นเป็นปีแรกที่ภาคบัณฑิตมีสิทธิเข้าร่วมแข่งขันด้วยครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : ทำไมถึงตัดสินใจเข้าแข่งครับ
บรรเจิด : “ที่จริงแล้วผมเป็นคนที่ชอบทั้งเรียนและทำกิจกรรมระหว่างเรียนมาตลอดอยู่แล้วครับ แล้วก็คิดว่าการแข่งขันมูทคอร์ทจะทำให้เราลองฝึกการใช้กฎหมายในทางปฏิบัติจริง ๆ ครับ ความตั้งใจแรกของผมที่มาเรียนกฎหมายก็เพราะอยากจะมารู้วิธีคิดหรือว่าวิธีการทำงานของนักกฎหมาย ว่าเขาคิดอย่างไรทำงานกันอย่างไร ดังนั้นพอมันมีกิจกรรมทางวิชาการแบบนี้ ซึ่งมันเหมือนเวทีจริง ๆ ของการใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ ผมจึงอยากจะพาตัวเองมาลองดูซักครั้งครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : ก็คือตอนจับคู่เพื่อนร่วมทีม เราก็ไม่ใช่เป็นคนเลือกใช่ไหม
บรรเจิด : “(หัวเราะ) ใช่ ๆ เขาเป็นคนเลือกเรา”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : แล้วต้องดูไหมว่าจะทำงานร่วมกันได้ไหม
บรรเจิด : “อันนี้ก็ต้องดูครับ คืออย่างผมจบบัญชีก่อนแล้วก็มาเรียนกฎหมาย ส่วนพี่ที่คู่กันเขาจบวิศวะฯ มาก่อนแล้วก็มาเรียนกฎหมายแล้วก็ทำธุรกิจการส่วนตัวด้วย ตัวคู่ร่วมทีมของผมเขาก็จะมีวิธีคิดที่ได้มาจากการเรียนวิศวะฯ และประสบการณ์ทำงานในธุรกิจส่วนตัวด้วยครับ แล้วก็ในคลาสเราก็จะสัมผัสได้อยู่แล้วล่ะว่าคู่ร่วมทีมเราคนนี้เขามีลักษณะอย่างไร ทั้งนิสัยส่วนตัวหรือความสามารถในการศึกษาก็ตาม ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นบัดดี้ที่ดีของเราทั้งในเรื่องของความรู้ที่จะใช้ในกิจกรรมแข่งขันและวิธีการทำงานที่เป็นผู้ใหญ่ครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : การเตรียมตัวก่อนเข้าแข่งขัน ใช้วิธีเตรียมตัวอย่างไรครับ
บรรเจิด : “ในปีที่ผมแข่งขันเป็นระบบ knocked out อยู่นะครับ ซึ่งเราก็จะได้โจทย์มาล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์ ดังนั้นเรามีเวลาแค่ 7 วันเท่านั้นเองในการมาตีโจทย์ให้แตก หาข้อมูลทั้งจากหนังสือหรือฎีกา เตรียมสคริปต์ เตรียมซ้อมพูด เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวก่อนเข้าแข่งขันเราแบ่งกันหน้าที่กันให้ชัดว่าใครรับผิดชอบพูดแถลงการณ์ในประเด็นใด จากนั้นแต่ละคนไปหาข้อมูลและเตรียมสคริปต์ในส่วนของตัวเองมา แล้วเอามาคุยกันเพื่อให้เนื้อหาเชื่อมโยงกันไม่ติดขัด ทั้งนี้เราต้องพิจารณาด้วยว่าอีกฝ่ายหนึ่งเขาน่าจะต่อสู้อย่างไร เราต้องเตรียมข้อกฎหมาย แนววินิจฉัยของศาล หรือความเห็นทางวิชาการเพื่อมาหักล้างด้วย ที่สำคัญต้องซ้อมพูดด้วยครับจะได้คล่องปากและได้ควบคุมเวลาด้วย”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : ใช้วิธีซ้อมพูดเลยไหมครับ
บรรเจิด : “ซ้อมพูดเลยครับ ผมไม่ถึงกับดูแอคติ้งตัวเองหน้ากระจกครับ แต่จะพูดอัดเสียงตัวเองมาฟังครับ เราจะได้รู้ว่าน้ำเสียงเราเป็นยังไง เนิบช้าเกินไปหรือเกรี้ยวกราดเกินไปรึเปล่า กับฟังว่าเราพูดรู้เรื่องมั้ยด้วยครับ รวมถึงถ้าเราได้ซ้อมพูดเราจะได้มาฟังว่าเนื้อหาส่วนไหนยาวไปที่ควรตัด หรือส่วนไหนสั้นไปต้องเพิ่มด้วยครับ โดยต้องเน้นประเด็นหลัก ส่วนประเด็นรองไม่ต้องพูดเยอะครับ เพราะเวลามีจำกัด ต่อให้อยากพูดแค่ไหนหากเกินเวลาก็ต้องตัดออก เพราะถ้าเราไม่ตัดเนื้อหา เราจะถูกตัดคะแนนเพราะพูดเกินครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : ตอนที่แข่งมีปัญหาหรือว่ามีข้อผิดพลาดอะไรไหมครับ
บรรเจิด : “ของทีมตัวเองมีไม่มากครับ แต่จะเห็นข้อผิดพลาดของทีมอื่นที่กรรมการ Comment ครับ เราก็จะนำ Comment ข้อไม่ดีหรือข้อผิดพลาดของทีมอื่นแล้วเราเอามาปรับใช้กับเราครับว่าพฤติกรรมแบบนี้มันไม่เหมาะสมที่จะทำ เช่น กรรมการ Comment ทีมอื่น เรื่องน้ำเสียงหรือลีลาในการแถลงการณ์ที่เกินไป เพราะการแข่งขันนี้เป็นการแถลงการณ์ด้วยวาจา ไม่ใช่การโต้วาทีหรือการอภิปรายในสภา ดังนั้นอารมณ์ของผู้พูดมันเป็นการพูดเชิงวิชาการเพื่อแก้ต่างต่อสู้คดี ไม่ต้องมีลีลาอย่างนักโต้วาทีหรือ ส.ส. ครับ ส่วนข้อผิดพลาดของตัวเองนี่ผมเจอตอนรอบท้าย ๆ ครับ จำได้ว่าผมเผลอชายตามองทนายความฝั่งตรงข้ามตอนที่กล่าวถึงข้ออ้างของฝ่ายตรงข้าม สงสัยผมมองแรงไปหน่อย อันนี้ผมถูก Comment ว่าเป็นพฤติกรรมของทนายความที่ไม่เหมาะสมครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : คิดว่าทักษะสำคัญที่ต้องมีสำหรับผู้เข้าร่วมแข่งขันคืออะไรครับ
บรรเจิด : “เห็นว่าที่สำคัญผู้เข้าแข่งขันต้องตีโจทย์ให้แตกครับ เราต้องรู้ว่าประเด็นปัญหาในคดีนั้นต้องการอะไรครับ เพราะถ้าตีโจทย์ไม่แตกก็ไปศึกษาหาข้อมูลมาต่อสู้ไม่ตรงประเด็น เวลาในการแถลงการณ์มีจำกัดผู้เข้าร่วมแข่งขันต้องแถลงการณ์ให้ตรงประเด็นที่โจทย์ข้อนั้นต้องการครับ นอกจากนี้คำแถลงการณ์ของเราต้องมี Keyword ด้วยครับ คือสมมติว่าการแถลงการณ์เนื้อหาส่วนอื่น ๆ เราจะถูกกดให้คะแนน 1 คะแนน แต่ถ้าในคำแถลงการณ์ของเรามี Keyword ที่ตรงกับเรื่อง ที่กรรมการจะต้องกด 5 กด 10 คะแนน เพราฉะนั้นอันนี้สำคัญว่าพูดมาตั้งเยอะได้ทีละ 1 คะแนน แต่ว่ามันไม่มี Keyword ให้กรรมการกด 5 คะแนน หรือ 10 คะแนนเลย ก็แปลว่าเราอาจยังตีโจทย์ไม่แตกครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : อยากถามว่าปกติภาคบัณฑิตจะไม่ค่อยกล้าลงแข่งขัน ทำไมคุณบรรเจิดถึงกล้า แล้วก็อยากฝากอะไรถึงนักศึกษาภาคบัณฑิตไหมเกี่ยวกับการแข่งขัน
บรรเจิด : “ผมก็ไม่ได้กล้าหาญอะไรขนาดนั้นครับ แต่คิดว่าการเข้าร่วมแข่งขันไม่ได้มีอะไรน่ากลัวครับ เนื่องจากอยากลงแข่งขันเพราะอยากได้ประสบการณ์นอกห้องเรียน ไม่ได้คาดหวังสูง จึงไม่ต้องกลัวว่าจะแพ้ครับ ผมมองนักศึกษาภาคบัณฑิตว่าอาจจะกังวลเรื่องของเวลาครับ เพราะส่วนมากทำงานกันอยู่แล้วและต้องจัดสรรเวลามาเรียนตอนเย็น ในประเด็นนี้ผมมองว่ามันคุ้มค่ามากที่เราจะสละเวลามาร่วมกิจกรรมนี้ครับ วันนี้ผมเรียนจบมาแล้ว ถ้าให้ผมกลับไปพูดถึงประสบการณ์ตอนเรียนปริญญา ผมก็ยังต้องพูดเรื่องการเข้าร่วมกิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ดีของผมอย่างหนึ่งเลยครับ แล้วคดีที่เป็นโจทย์ในการแข่งขันส่วนใหญ่แล้วจะสู้ได้ทั้ง 2 ฝ่าย หรือเป็นกรณีที่ศาลกับทางวิชาการเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้นแปลว่ามันยังเป็นปัญหาในทางกฎหมายอยู่ หลายเรื่องสามารถต่อยอดไปเป็นงานวิชาการอย่างอื่นได้ ยิ่งถ้าจะเรียนต่อปริญญาโทผมว่าหลายเรื่องต่อยอดไปเป็นวิทยานิพนธ์ยังได้เลยครับ ฉะนั้นมันจึงมีประโยชน์มากที่เราจะได้ลงมือมาศึกษาก่อนคนอื่น ก็อยากจะเชิญชวนเพื่อน ๆ ภาคบัณฑิตมาร่วมลงแข่งขันกันครับ เชื่อว่าจะได้รับประสบการณ์ดี ๆ อย่างที่ผมได้มาแน่นอนครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : ตอนนั้นแบ่งเวลายังไงครับเพราะว่าก็ต้องทำงานและเรียนด้วย
บรรเจิด : “เมื่อเราตกผลึกกับโจทย์ที่ใช้แข่งขันแล้วเราแบ่งประเด็นกันให้ชัดเจนครับ มันก็จะจำกัดขอบเขตมาแล้วว่าสิ่งที่เราต้องศึกษาหาข้อมูลมีอะไรบ้าง ส่วนเรื่องการแบ่งเวลาก็จะเป็นหลังเลิกเรียน และวันเสาร์อาทิตย์ครับ แล้วบัดดี้ผมเนื่องจากทำธุรกิจส่วนตัวก็จะมีเวลามากหน่อย ตรงนี้หากใครค้นคว้าแล้วเจอว่าอีกคนน่าจะมีประโยชน์เราก็เอามาแชร์กันครับ ผมเชื่อว่าการค้นหาข้อมูลหรือการเตรียมตัวจริง ๆ มันไม่ได้ใช้เวลามากเลยครับ แค่ลงมือทำเท่านั้นเอง อีกอย่างถ้าเรารักที่จะทำอะไรเราก็จะมีเวลาให้สิ่งนั้นครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : คิดว่าได้รับอะไรบ้างจากการเข้าร่วมแข่งขันนี้ แล้วก็มีส่วนช่วยในชีวิตจริงของการทำงานไหม
บรรเจิด : “ได้รับมากครับ แต่ก่อนอื่นอยากเล่าเรื่องหนึ่งครับ จำได้ว่าเป็นการแข่งขันในรอบที่ 3 อย่างที่บอกว่า ปกติแล้วคดีมันจะสู้กันได้ทั้งสองฝ่ายครับ แต่ในรอบที่ 3 ผมจำได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำมั่นจะให้เช่าในสัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษ ซึ่งทั้งเรื่องคำมั่นจะให้เช่าและเรื่องสัญญาต่างตอบแทนพิเศษ ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะ มีแต่แนวคำพิพากษาของศาลกับแนวความเห็นของนักวิชาการ ซึ่งก็เลยยากเลยทีเดียว แล้วครั้งนั้นเราเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบในรูปคดีจนกรรมการออกปาก แต่ว่าพอเราเสียเปรียบมันก็ไม่ได้แย่ซะทีเดียว ผมมองว่ายิ่งถ้าเราเสียเปรียบแล้วถ้าเราหาข้อหักล้างได้คะแนนเรามาเต็มเลย จำได้ว่าผมไปพบแนวความคิดที่สนับสนุนฝ่ายผมอยู่ในเชิงอรรถหนังสือเช่าทรัพย์ของท่านอาจารย์ศนันทกรณ์ ที่หน้านั้นมีเชิงอรรถอยู่ค่อนหน้า ซึ่งตามปกติเวลาผมอ่านหนังสือมักจะข้ามเชิงอรรถไปเร็ว ๆ แต่ความเห็นของอาจารย์ศนันทกรณ์ในเชิงอรรถนั้นแหละครับที่ผมนำไปกล่าวหักล้างแนวคำวินิจฉัยของศาลได้อย่างมีเหตุผลที่มีน้ำหนัก เรื่องนี้มีประโยชน์กับผมมากทั้งในการทำงานและทำวิทยานิพนธ์ในการเรียนปริญญาโทที่ต้องให้ความสำคัญกับการอ้างอิงครับ ทำให้ผมเห็นประโยชน์ของการอ้างอิงมาก ๆ และเรียนรู้ว่าถ้าข้อความใดที่ถูกเขียนมาในหนังสือของอาจารย์ท่านนี้จะต้องมีประโยชน์ทุกตัวหนังสือ ท่านไม่ได้เขียนให้มีปริมาณมากให้หนังสือหนาเกินจำเป็นอยู่แล้ว นอกจากนี้ การแข่งขันในรอบดังกล่าวนั้นผมกับคู่ร่วมทีมรู้สึกอินถึงกับคิดกันว่าจะทำอย่างไรถึงจะชนะ ซึ่งชนะนี้ไม่ได้หมายความว่าจะทำอย่างไรทีมเราถึงจะชนะ แต่เราคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ลูกความของเราที่เสียเปรียบในเชิงคดี ได้รับความยุติธรรมอย่างที่เขาควรได้ เราในฐานะทนายความของเขาเราจะช่วยเขาได้อย่างไร ไม่ได้คิดว่าแข่งขันเพื่อเอาชนะทีมฝ่ายตรงข้ามแล้วครับ ซึ่งพอมันสำเร็จแม้จะเป็นทนายความในกรณีสมมติพวกเราก็มีความสุขครับที่ได้ช่วยเหลือคนที่เค้าเดือดร้อนได้ด้วยความรู้ของเรา”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : ทำไมถึงรู้สึกว่ามูทคอร์ทไม่ใช่การแข่งขัน แต่เหมือนมาทำกิจกรรมมากกว่า
บรรเจิด : “มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะว่าเราเริ่มต้นมาด้วยรู้สึกว่าอยากจะพาตัวเองเข้ามาร่วมกิจกรรมทางวิชาการของคณะ เราไม่ได้มองว่าเราแข่งกับคนอื่น ดังนั้นพอเรามาร่วมกิจกรรมเราก็เต็มที่ที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ผลจะออกมาเป็นอย่างไรเราจะได้ไม่เสียดาย แม้ว่ากรรมการท่านอาจจะไม่ได้ให้เราชนะก็เป็นสิทธิที่ท่านจะให้ความเห็นของท่าน ไม่ได้แปลว่าชีวิตนี้เราจะไม่ประสบความสำเร็จอะไรอีกแล้ว มันเลยไม่ได้รู้สึกว่าแข่งขันกับคนอื่น แต่เรากำลังทำเต็มที่กับสิ่งที่เราตัดสินใจลงมาทำวันนี้ เชื่อว่าทุกคนทุกทีมที่แข่งขันก็ต้องมีอุปสรรคหรือปัญหากันทั้งนั้น แต่พอวันแข่งขันเราก็จะเห็นทุกคนทุกทีม Perform the Best Potential ของตัวเองออกมา ดังนั้นทุกครั้งที่ทีมผมได้ผ่านเข้ารอบเราจึงรู้สึกว่าเราไม่ได้ชนะ เราแค่ดีกว่าอีกทีมในการแถลงการณ์เมื่อ 30 นาทีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง น้อง ๆ หลายคนที่เคยร่วมกิจกรรมด้วยกัน ทุกวันนี้ก็ยังติดต่อพูดคุยกันอยู่ ผมก็พลอยได้น้องเพิ่มไปด้วยครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : คาดหวังกับการแข่งขันมากน้อยแค่ไหนครับ
บรรเจิด : “ไม่คาดหวังเลยครับ เพราะทราบว่าน้อง ๆ ภาคปกติเค้าจริงจังกันมาก และทราบว่ามีอาจารย์เป็นที่ปรึกษากันอยู่ด้วย แต่ทีมผมเป็นภาคบัณฑิตซึ่งก็เข้ามาเป็นปีแรก ผมกับคู่ร่วมทีมงุบงิบกันมาแข่งโดยไม่ได้บอกใคร กะว่าจะตกรอบแรกไปเงียบ ๆด้วยซ้ำครับ แต่ท้ายที่สุดการแข่งขันกิจกรรมนี้ก็สอนผมว่าการทำอะไรโดยตั้งความหวังให้น้อย แต่ใส่ความมุ่งมั่นทุ่มเทลงไปให้มาก ทำเหตุให้ดี เมื่อผลมันออกมาไม่ว่าจะเป็นอย่างไรเราก็จะมีความสุข ส่วนเรื่องอันดับหรือรางวัลเป็นแค่ผลพลอยได้เท่านั้นเองครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : รู้สึกอย่างไรกับโจทย์ที่ได้ใช้แข่งขัน
บรรเจิด : “รู้สึกว่าโจทย์ที่แข่งขันมันเป็นของจริงครับ ของจริงนี่ก็หมายความว่าเป็นความจริงของคดีที่มีโอกาสต้องผสมผสานกฎหมายทุกฉบับมาปรับใช้ครับ อย่างตอนที่เราเรียนจะแยกเป็นรายวิชา ข้อสอบอุทาหรณ์ที่เราต้องทำมันก็จะถามในประเด็นเพียงที่เกี่ยวข้องกับวิชานั้น ๆ ตัวอย่างเช่น หนี้ สัญญา เอกเทศสัญญา อาญา หรือวิธีพิจารณาความต่าง ๆ แต่พอเป็นโจทย์ในการแข่งขันซึ่งเป็นกรณีปัญหาหรือคดีที่เกิดขึ้นจริง มันต้องผสมผสานการใช้กฎหมายทุกกฎหมายครับ หลายครั้งเราต้องพิจารณาทั้งเรื่องทรัพย์ สัญญา และอาญาประกอบกัน หรือถ้ามีการตายก็มีเรื่องมรดกเข้ามาเกี่ยวด้วย หากเป็นการตายในทางอาญาก็อาจมีเรื่องความเป็นผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในการฟ้องคดีเข้ามาเกี่ยวด้วยเป็นต้นครับ เหล่านี้มันคือของจริงของชีวิตทนายความและของพนักงานอัยการครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : คำถามสุดท้าย อยากฝากอะไรถึงผู้ที่จะเข้าแข่งขันปีนี้บ้างครับ
บรรเจิด : “ก็สำหรับน้อง ๆ ภาคปกติ หรือเพื่อน ๆ ภาคบัณฑิตที่เข้ามาแข่งขัน อย่างที่เรียนไปครับว่าไม่อยากให้คิดว่ามันเป็นการแข่งขันกับคนอื่นเพื่อเอาชนะกันเท่านั้นครับ อยากให้มองว่าเป็นกิจกรรมทางวิชาการของคณะที่จะเป็นโอกาสของเราได้มาฝึกฝน เพราะคณะตั้งใจจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษาของเรามีประสบการณ์จริง ดังนั้นอยากให้มองว่ามันเป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้ความรู้ที่เราเรียนแยกเป็นรายวิชามาก่อนหน้านี้ มาลองทำคดีจริง ๆ ดูครับ จากประสบการณ์นักศึกษาของเราถูกชมจากท่านกรรมการที่เป็นผู้พิพากษา พนักงานอัยการ หรือทนายความ ท่านชื่นชมพวกเราว่า performance ของพวกเราสามารถเป็นทนายความมืออาชีพได้เลย ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่พูดเก่งเท่านั้นครับ ถือว่าเป็นโอกาสที่เราได้มาฝึกฝนทักษะการใช้กฎหมายและการแถลงการณ์ครับ ไม่ต้องกลัวว่าจะผิดพลาด เพราะหากจะมีความผิดพลาดขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่องแย่ครับ แต่เราจะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นและจะได้รับคำแนะนำดี ๆ จากท่านคณะกรรมการที่พร้อมจะให้ความเมตตาพวกเรา บางทีแล้วคำแนะนำสั้น ๆ ของกรรมการซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการนิติศาสตร์จากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ อาจจะเป็นประโยชน์กับเราทั้งชีวิตการทำงานในสาขานิติศาสตร์นี้เลยก็ได้ครับ”
ถ่ายภาพ Chn.
เรียบเรียง ผศ. ดร.กรศุทธิ์