สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ
คำศัพท์
Cis/cisgender (เพศสถานะสอดคล้อง) คำที่ถูกใช้ในการอธิบายบุคคลที่อัตลักษณ์ทางเพศสอดคล้องกับเพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิด ซึ่งเป็นคำที่ตรงกันข้ามกับบุคคลข้ามเพศ (trans/transgender)
Gender (เพศสภาพ) เพศที่สังคมกำหนดบทบาทหน้าที่ให้เมื่อร่างกายเกิดมาเป็นหญิง หรือเกิดมาเป็นชาย โดยสังคมและวัฒนธรรมได้หล่อหลอมบทบาทหน้าที่ของความเป็นหญิงและความเป็นชายไว้แตกต่างกัน
Gender Expression (การแสดงออกทางเพศ) การที่บุคคลมีวิธีในการสื่อสารเพศสถานะ เช่น การไม่ระบุความเป็นเพศ ความเป็นชาย ความเป็นหญิง ซึ่งกระทำผ่านลักษณะทางกายภาพ เช่น เสื้อผ้า ทรงผม และการใช้เครื่องสำอาง เป็นต้น มารยาท วิธีการพูด และรูปแบบพฤติกรรมเมื่อปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
Gender Identity (อัตลักษณ์ทางเพศ) ความรู้สึกภายในของบุคคลในการเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือเพศสถานะอื่น ๆ หรือการมีหรือไม่มีเพศสถานะก็ได้ ซึ่งทุกคนล้วนมีอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับเพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิด (sex assigned at birth)
Gender Marker (คำระบุเพศสถานะ) การที่บุคคลถูกบันทึกว่าเป็นเพศสถานะอะไรในเอกสารทางการ ในประเทศไทยถูกกำหนดให้มีผู้ชาย ผู้หญิง และยังหมายรวมถึงคำนำหน้านาม ได้แก่ นาย นาง และนางสาว
Intersex/Sex Characteristics (เพศกำกวม/ลักษณะของเพศสรีระ) บุคคลที่มีเพศกำกวมเกิดมาโดยมีลักษณะของเพศสรีระ เช่น อวัยวะเพศ ต่อมบ่งเพศ และรูปแบบโครโมโซม ซึ่งไม่สอดคล้องกับระบบเพศแบบขั้วตรงข้าม คือ เพศชายและเพศหญิง คำว่าเพศกำกวมจึงหมายรวมถึงความผันแปรของร่างกายในลักษณะต่าง ๆ ในบางกรณีลักษณะของเพศกำกวมจะมองเห็นได้เมื่อแรกเกิด หรืออาจไม่เห็นจนกว่าจะย่างเข้าสู่วัยรุ่น หรือบางส่วนก็ไม่แสดงให้เห็นทางกายภาพ มีเพียงโครโมโซมที่ผันแปร การเป็นเพศกำกวมจึงเกี่ยวเนื่องกับลักษณะของเพศสรีระ (sex/sex characteristics) ซึ่งอาจต่างไปจากวิถีทางเพศ (sexual orientation) หรืออัตลักษณ์ทางเพศสถานะก็ได้ บางคนอาจเป็นผู้ชาย ผู้หญิง เกย์ เลสเบียน คนรักสองเพศหรือคนไม่มีเพศก็ได้เช่นกัน
Non-binary (ไม่อยู่ในระบบเพศขั้วตรงข้าม) คำที่ใช้บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งไม่ใช่เพียงความเป็นชายหรือความเป็นหญิงเท่านั้น
Sex/Sex Characteristics (เพศสรีระ) คำที่อ้างถึงลักษณะทางชีววิทยาที่ใช้แบ่งแยกคนว่าเป็นเพศชาย หรือเพศหญิง
Sex assigned at birth (เพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิด) เพศสรีระที่บุคคลถูกกำหนดให้เมื่อแรกเกิดหรือหลังจากเกิดได้ไม่นาน การกำหนดนี้อาจไม่ได้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศเมื่อบุคคลนั้นเติบโต คนส่วนมากมักมีอัตลักษณ์ทางเพศที่สอดคล้องไปกับเพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิด แต่สำหรับบุคคลข้ามเพศ อัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกทางเพศมีความแตกต่างจากเพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิด
Sexual Orientation (วิถีทางเพศ) คำที่อ้างถึงอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความดึงดูดทางเพศลึกซึ้งใกล้ชิดรวมทั้งความสัมพันธ์ทางเพศกับบุคคลอื่น ซึ่งคนเราอาจดึงดูดทางเพศกับคนที่มีเพศสถานะเดียวกัน (คนรักเพศเดียวกัน/เกย์/เลสเบี้ยน) หรือคนต่างเพศสถานะ (คนรักต่างเพศ) หรืออาจมากกว่าหนึ่งเพศสถานะก็ได้เช่นกัน (คนรักสองเพศหรือรักได้ทุกเพศ)
Trans/transgender (บุคคลข้ามเพศ): คำที่ใช้อธิบายบุคคลซึ่งมีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างไปจากเพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิด
Transgender man (ผู้ชายข้ามเพศ): คำที่ใช้อธิบายบุคคลข้ามเพศที่นิยามตนเองเป็นผู้ชาย (กล่าวคือ บุคคลที่มีเพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิดเป็นเพศหญิงหรืออื่น ๆ แต่นิยามว่าตนเป็นเพศชาย)
Transgender woman (ผู้หญิงข้ามเพศ): คำที่ใช้อธิบายบุคคลข้ามเพศที่นิยามตนเองเป็นผู้หญิง (กล่าวคือ บุคคลที่มีเพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิดเป็นเพศชายหรืออื่น ๆ แต่นิยามว่าตนเป็นเพศหญิง)
(ที่มา : UNDP & APTN. (2560). การรับรองเพศสถานะตามกฎหมายในประเทศไทย: การทบทวนกฎหมายและนโยบาย.; กฤตยา อาชวนิจกุล. (2554). เพศวิถีที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในสังคมไทย. วารสารประชากรและสังคม, 15(1), 43-66.)
แนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติ
- ไม่คาดเดาเกี่ยวกับเพศสภาพ (gender) หรือความสัมพันธ์ของบุคคลอื่น
- เคารพในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ถามคำถามที่เป็นการละลาบละล้วงหรือเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ควรถามผู้อื่นหรือคาดหวังว่าผู้อื่นจะไม่ถามตนเอง เช่น การถามเกี่ยวกับสรีระร่างกาย ความสัมพันธ์ ชีวิตทางเพศ หรือการรับบริการทางการแพทย์ หากคิดว่าเป็นการเหมาะสมที่จะถามคำถามส่วนตัว ควรถามบุคคลนั้นก่อนว่าเขายินดีหรือไม่
- อย่าคาดหมายว่าบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคนพร้อมที่จะพูดคุยประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ อย่าคาดหมายว่าบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนี้ หากต้องการรู้ข้อมูลเพิ่มเติมควรทำการค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง
- เคารพในความเป็นส่วนตัว ไม่บอกผู้อื่นเกี่ยวกับเพศสภาพ รวมถึงสถานะของการเป็นบุคคลข้ามเพศของผู้อื่น สำหรับบุคคลข้ามเพศ (transgender) เมื่อเปลี่ยนผ่าน (transition) บุคคลนั้นจะนิยามตนเองโดยเพศที่บุคคลนั้นต้องการ เช่น เป็นชาย หรือเป็นหญิง ไม่ใช่บุคคลข้ามเพศ บุคคลบางบุคคลอาจต้องการการนิยามอื่น
- เมื่อบุคคลปรารถนาให้ผู้อื่นคิดว่าตนมีเพศสภาพใด ก็ควรคิดและปฏิบัติต่อบุคคลนั้นตามเพศสภาพดังกล่าว
- ใช้ชื่อและสรรพนามที่บุคคลนั้นต้องการ หากไม่แน่ใจ ควรถามด้วยความสุภาพ หากใช้ถ้อยคำผิด ควรแก้ไข ขอโทษและปล่อยผ่านไป ไม่ควรทำให้เป็นเรื่องใหญ่
- เมื่อเขียนหรือกล่าวถึงบุคคลข้ามเพศ อย่าดูถูกอัตลักษณ์ของบุคคลนั้นโดยเขียนเน้นชื่อหรือสรรพนามที่บุคคลนั้นต้องการด้วยวิธีการใด ๆ
- ทำความเข้าใจว่าบุคคลข้ามเพศมีสิทธิที่จะใช้พื้นที่ที่เหมาะกับเพศที่บุคคลนั้นเลือก เช่น ห้องน้ำ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ทั้งในขณะและหลังการเปลี่ยนผ่าน
- ทำความเข้าใจว่าบุคคลข้ามเพศมีสิทธิที่จะใช้พื้นที่ที่เหมาะกับเพศที่บุคคลนั้นเลือก เช่น ห้องน้ำ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ทั้งในขณะและหลังการเปลี่ยนผ่าน
- ปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพให้เกียรติและศักดิ์ศรีอย่างที่พึงปฏิบัติกับผู้อื่น รวมถึงอย่างที่ตนคาดหวังให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนเอง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ยอมรับคำพูดและพฤติกรรมเป็นการเลือกปฏิบัติ ดูหมิ่น ตีตรา เกลียดชัง ไม่เคารพให้เกียรติด้วยเหตุอันเกิดจากความหลากหลายทางเพศ ผู้ถูกกระทำสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจสอบและส่งเสริมความเสมอภาค อีเมล lawaudit@tu.ac.th หรือกรอกแบบฟอร์ม https://forms.gle/mcM4fDKxzqsCeDAV7
(ที่มา : แปลและดัดแปลงจาก Charles Sturt University)