บทสัมภาษณ์พลภวิษย์ พันธุ์คำเกิด และวรัญญา ตรงพิสุทธิ์ศักดิ์ ผู้ชนะเลิศการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นศาลอุทธรณ์ (Moot Competition) ภายใน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2553 สัมภาษณ์โดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ช่วยแนะนำตัวคร่าว ๆ และเล่าให้ฟังหน่อยว่าเข้าแข่งมูทคอร์ทเมื่อไหร่ครับ
พลภวิษย์ : “สวัสดีครับ ผมชื่อพลภวิษย์ พันธุ์คำเกิด ชื่อเล่น พล ครับ จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 66 ประกาศนียบัตรอบรมกฎหมายภาคฤดูใบไม้ผลิ หรือ CPG Spring School ที่ The University of Passau สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีปี 2555 โดยทุนของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาล เยอรมัน-อุษาคเนย์ หรือ CPG ครับ และประกาศนียบัตรอบรมกฎหมายคดีเยาวชนและครอบครัวที่ New York University ทุนของสำนักการต่างประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม โดยสอบได้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 66 ตอนนี้เป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาครับ ส่วนตอนที่เคยแข่งมูทคอร์ท ก็แข่งเมื่อตอนปี 2553 ตอนนั้นศึกษาชั้นปีที่ 3 ครับ”
วรัญญา: “สวัสดีค่ะ วรัญญา ตรงพิสุทธิ์ศักดิ์ ชื่อเล่น เปา ค่ะ เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รหัส 52 ค่ะ เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 70 จบปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชนจาก London School of Economics and Political Science (LSE) โดยทุนรัฐบาลไทย ใช้ทุนที่กระทรวงศึกษาธิการค่ะ ปัจจุบันก็เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 71 แข่งมูทคอร์ท ปีเดียวกับพี่พลค่ะ อยู่ทีมเดียวกัน แต่ตอนนั้นพี่พลอยู่ปีสาม ส่วนเปาอยู่ปีสอง”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ทำไมตอนนั้นจึงตัดสินใจเข้าแข่งขันครับ
พลภวิษย์ : “ตอนนั้นที่อยากแข่งเนื่องจากว่า จริงๆ ต้องยอมรับว่าตัวผมเองเนี่ยเป็นเด็กต่างจังหวัด ยังพูดอะไรไม่ค่อยเก่ง แต่พอได้ทำกิจกรรมที่ ค.พ.น. หรือโครงการเผยแพร่วิชานิติศาสตร์ ทำให้เราเห็นความสำคัญถึงการถ่ายทอดความรู้กฎหมายและการอธิบายข้อกฎหมายให้บุคคลอื่นเข้าใจ ซึ่งทักษะการถ่ายทอดเนี่ยมันสำคัญมาก ถ้าไม่ฝึกเราก็คงจะถ่ายทอดไม่เป็นไปตลอดชีวิต ก็เลยคิดว่าหนึ่งในทักษะที่สำคัญก็คือการพูดนี้จะต้องหาทางให้ตัวเองฝึกให้ได้ พอเห็นกิจกรรมมูทคอร์ทนี้เปิดแล้วกับเห็นว่ามีคู่ที่ดีก็เลยไปแข่ง ถามว่ารางวัลคาดหวังไหม ก็คาดหวังนิดนึง แต่สิ่งที่ตั้งใจจะเอาจริงๆ ก็คือการฝึกการพูดต่อหน้าสาธารณชนแล้วก็ทักษะการถ่ายทอด ก็เลยลงแข่งครับ”
วรัญญา: “ตอนที่ตัดสินใจลงแข่งหลัก ๆ ก็คือพี่พลชวนค่ะ บวกกับความรู้สึกแรกที่เห็นว่ามันเป็นกิจกรรมที่น่าสนุกมาก คือปกติเราเรียนกฎหมาย เวลาวัดผลเราจะถ่ายทอดออกมาโดยการเขียน แต่กิจกรรมนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นทักษะการถ่ายทอดอีกแบบหนึ่งผ่านการพูด ทำให้รู้สึกอยากจะลองเล่นดูค่ะ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ถามวรัญญาเพิ่มเติมว่าทำไมจึงตัดสินใจลงเข้าแข่งขันเพราะว่าผู้สมัครส่วนใหญ่จะเป็นปีสามปีสี่
วรัญญา : “ใช่ค่ะ คนสมัครส่วนมากเป็นปีสามปีสี่ แต่ทางศูนย์นิติศาสตร์ก็ให้โอกาสนักศึกษาปีสองลงแข่งด้วยซึ่งเรารู้สึกว่าการลงแข่งตั้งแต่ปีสอง ข้อดีคือเราไม่มีความกดดันอะไรเลย เพราะทุกคน ทุกทีมเนี่ย ส่วนมากคือรุ่นพี่ทั้งนั้น ทุกอย่างเลยถือว่าเป็นระสบการณ์อันดี ถ้าน้อง ๆ ปีสองสนใจจริง ๆ ก็ลงแข่งได้นะ ไม่ต้องคิดว่าพี่ ๆ เขาจะเก่งกว่าเราไหม เขาจะเรียนมามากกว่าเราไหม เราจะสู้เขาได้รึเปล่า ให้คิดว่าแค่เราไม่อะไรจะเสียนะ ทุกอย่างที่ทำมีแต่กำไรทั้งนั้นสำหรับน้องปีสอง”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ตอนนั้นเลือกเพื่อนร่วมทีมกันอย่างไร
พลภวิษย์ : “คือ ต้องเท้าความว่าเราสนิทกันอยู่แล้ว เนื่องจากผมไปเป็นพี่เลี้ยงรับเพื่อนใหม่ตอนที่รุ่นเปาเข้ามาแล้วก็เป็นพี่เลี้ยงกลุ่มของเปาก็เลยรู้จักกันตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้ามหาวิทยาลัยก่อนที่เขาจะเปิดเทอมด้วยซ้ำก็เลยรู้จักกันเรื่อยมา แล้วก็เห็นว่าเขาเป็นคนที่ตั้งใจเรียน มีทักษะในการใช้กฎหมายแล้วก็มีความรู้กฎหมายที่ดีในระดับที่ใช้ได้ ก็เลยชวนกันเข้ามาแข่งด้วยกัน”
วรัญญา : “เป็นความสบายใจมากกว่าค่ะ เพราะตอนที่พี่พลเข้ามาชวนเราก็ใช้เวลาตัดสินใจไม่นานเลย รู้สึกว่า อืม เราทำงานกันได้แน่นอน”
พลภวิษย์ : “แล้วหลังจากเห็นประกาศรับสมัครปุ๊ปผมก็นึกถึงเปาคนแรกแล้วก็ไม่มีคนอื่นอีกเลยในหัว แล้วก็พอถามเขา เขาก็โอเคเลยไม่ลังเล”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : คิดว่าการจับคู่ควรเลือกคนที่สนิทกันไหมครับ
วรัญญา : “คือ ถามว่าจำเป็นไหม จริง ๆ ต้องบอกว่าถ้าสนิทกันก็เป็นข้อดีหนึ่งมากกว่าค่ะ เพราะระหว่างการแข่งขันมันจะมีหลาย ๆ อย่างที่เป็นปัญหา หลาย ๆ ครั้งที่เรารู้สึกว่าคำถามยากมากเลยนะ เราหาทางออกไม่ได้ หรือเรากดดัน ซึ่งการผ่านช่วงเวลาแบบนั้นอ่ะ ถ้าเรามีพาร์ทเนอร์หรือคู่ที่เรารู้สึกว่าพร้อมจะทุ่มเทไปด้วยกัน ก็จะทำให้เราสบายใจขึ้นมาก แต่ถ้าถามว่ามันจะต้องสนิทกันมาก ๆ ขนาดนั้นเลยไหม ก็ไม่อยากให้จำกัดกรอบค่ะ เพราะว่าไม่ว่าในวันแรกที่ตัดสินใจลงแข่งด้วยกันจะสนิทกันมากขนาดไหน ก็มั่นใจได้เลยว่าวันสุดท้ายที่แข่งขันเสร็จ คุณจะสนิทกันมากขึ้น เพราะว่าคุณผ่านปัญหาด้วยกันมา มันคือลักษณะอย่างนี้มากกว่า”
พลภวิษย์ : “เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ เพราะว่าจริง ๆ สาระสำคัญก็คืออยู่ที่ความสบายใจในการร่วมงานเนอะ ถ้าเราคิดว่าเราจูนกันได้เราสามารถที่จะหาเวลามาแชร์อยู่ด้วยกันได้ในระดับที่นานพอสมควรโดยที่คิดว่าแต่ละฝ่ายไม่อึดอัดในการทำงานร่วมกัน เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วครับในการเลือกคู่เพื่อฟอร์มทีมครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ถามถึงการเตรียมตัวก่อนเข้าแข่งขันว่าทั้งสองคนเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
พลภวิษย์ : “เตรียมตัวหนักมากเพราะว่าบางคำถามเนี่ยเรายังไม่เคยเรียนด้วยซ้ำ คำถามในรอบแรก ๆ ที่ผมแข่งผมจำได้ว่าเป็นวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งตอนนั้นเนี่ยมันเพิ่งจะเปิดเทอมสองของปีสาม แน่นอนว่าเปาซึ่งยังอยู่ปีสองไม่มีทางเคยเรียน ผมเพิ่งจะเรียนวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 มันยังไม่ถึงเรื่องอำนาจสอบสวนมาตรา 18 หรือ 19 เลย ผมก็ต้องไปค้นหาเอง เนื้อหาโดยเฉพาะกฎหมายที่เราไม่เคยเรียนมาก่อน เราก็ต้องไปศึกษาจนกระทั่งเรารู้ดีในประเด็นนั้น ๆ รู้ทั้งคำอธิบายตัวบท ความเห็นทางวิชาการ ความเห็นที่แตกต่างในระดับ Thesis แล้วฎีกามีว่าอย่างไร ทุกเลเวลในขอบเขตของประเด็นนั้น เราต้องศึกษาให้ดีทั้งที่เราไม่เคยเรียนมาก่อนเลย ก็จะเป็นเรื่องยากตรงนี้”
วรัญญา : “ทันทีที่เราได้รับโจทย์เราก็จะทำความเข้าใจประเด็นก่อนค่ะ เนื่องจากเราทราบแล้วว่าจะได้เป็นฝ่ายไหนในคดี คือเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลย เราก็จะแยกแยะได้ชัดเจนอยู่แล้วว่าข้อมูลไหนเป็นประโยชน์ ข้อมูลไหนเป็นโทษ ดังนั้นพอเราทำความเข้าใจโจทย์ปุ๊ป เราก็ไปหาข้อมูลและเอาข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายเรามาจัดเข้าในฐานข้อมูลได้เลย แล้วเราก็เตรียมข้อมูลที่เป็นของฝั่งตรงข้ามด้วย เอามาเทียบกันทั้งสองฝั่ง ดูว่าข้อมูลไหนที่เป็นคู่ชกกัน คือเป็นประเด็นที่สามารถนำมาหักล้างกันได้ คู่ไหนดูแล้วฝ่ายเราเสียเปรียบ ก็ต้องหาข้อมูลหรือเหตุผลอื่นมาสนับสนุนเพิ่มเติม จนกว่าเราเองชั่งน้ำหนักแล้วเห็นว่าฝ่ายเราจะชนะได้หรืออย่างน้อยก็ไม่แพ้น้อคในประเด็นนั้น ทำแบบนี้ไล่ไปให้ครบทุกเรื่อง หลังจากนั้นก็ค่อยขึ้นโครง เรียบเรียงว่าเราจะหยิบประเด็นไหนมานำเสนอก่อน – หลังเป็นลำดับยังไง เชื่อมโยงกันยังไงค่ะ”
พลภวิษย์ : “คือ เวลาเราเตรียมข้อมูลเนี่ย พอเราได้รับโจทย์มาปุ๊ป สิ่งแรกที่เราทำคือตีโจทย์ โจทย์ข้อนี้ต้องการถามอะไร ประเด็นที่เขาถามเรา เขาต้องการวัดผลเราเรื่องอะไร 1. เราดูให้ออกว่าถามเรื่องอะไร 2. เราดูว่าที่เราคิดว่าเขาถามเนี่ยมันใช่สิ่งที่เขาต้องการไหม มันเป็นประเด็นที่สามารถที่จะถกเถียง มันสมดุลกันไหม มัน make sense ที่จะถกเถียงกันไหม ถ้ามัน make sense เราคิดว่าเราฟันประเด็นถูกแล้ว พอเราตีโจทย์เสร็จปุ๊ป 3. เราก็ไปหาคำอธิบายที่เป็นพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องของเรา พอเสร็จปุ๊ป 4. เราไปหาฎีกาซึ่งเราสองคนจะเรียกว่า “ฎีกาทอง” ก็คือเป็นฎีกาที่เรายึดว่าประเด็นนี้เนี่ย ต้องใช้ฎีกานี้เป็นฎีกาแม่เลย เป็นฎีกาทองเลยที่เราจะอ้าง เสร็จปุ๊ป 5. เราก็จะไปหา Thesis หรือบทความอะไรที่เกี่ยวข้องแล้วก็อย่างที่เปาพูดก็คือ สำคัญมาก ๆ ซึ่งบางทีมันอาจจะพร่องไปก็คือ 6. การเตรียมข้อมูลที่เป็นข้อดีของฝ่ายตรงกันข้าม คือเวลาเตรียมข้อดีของฝ่ายตรงกันข้ามมันทำให้เรารู้ว่าเขาจะสู้อะไร พอเรารู้ว่าเขาจะสู้อะไรปุ๊ป บางทีเราสามารถจะแก้ลำได้ก่อน อย่างเช่นเขาอ้าง เรารู้ว่าฎีกาอันหนึ่งจะต้องเข้าปากเขา คือเป็นคุณแก่เขา บางทีเราคิดว่าฎีกานี้มันสามารถถกเถียงได้ เราหยิบขึ้นมาฟาดเขาก่อนได้เลยว่าทำไมฎีกานี้มันถึงไม่มีคุณค่าที่น่าเชื่อแล้วพอเวลาเราพูดปุ๊ป เราพูดไปก่อน เขาก็จะเริ่มมึนว่าทำไมฎีกาที่เขาจะอ้างถึงมีคุณค่าลดลง สิ่งหนึ่งที่ควรระวังคือ ประเด็นใดที่เรามีคำพิพากษาฎีกาสนับสนุนอยู่ในมือเนี่ย ผมมองว่าประเด็นนั้นเราจะอยู่ในอันตรายนะครับ เพราะการที่เรามีฎีกานั้นอยู่ในมือ ก็แปลว่าฝั่งตรงข้ามเขาจะรู้อยู่แล้วว่าเราจะต้องอ้างฎีกานั้นเป็นฎีกาหลักหรือฎีกาทองของฝั่งเราแน่ๆ เปรียบเสมือนเราไปอยู่ในที่แจ้งมีสปอตไลท์ส่องเสียแล้ว ต่างกับฝั่งที่ไม่มีฎีกา support ประเด็นนั้นอยู่ เขาก็จะต้องไปเสาะแสวงหาเอกสารทางวิชาการจากมุมต่างๆ มาตีเรา ซึ่งผมมองว่าแบบนั้นเขาจะได้เปรียบมากกว่าเพราะเป็นการโจมตีจากมุมมืด หน้าที่เราก็จะต้องไปเตรียมควานหาเอกสารที่ support ฝั่งเขามาให้มากไว้ก่อนว่าเขาจะเอาอะไรมาสู้เรา เพราะถ้าเราไม่เตรียมทางฝั่งเขาด้วย เราซึ่งอยู่ในที่แจ้งจะต้องโดนตีหนักแน่ อันนี้ก็จะเป็นเรื่องการเตรียมตัวครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ใช้วิธีซักซ้อมในการพูดไหมครับ
พลภวิษย์ : “โดยส่วนตัวผมซ้อมเยอะนะครับเพราะว่าพอเราลิสต์มาทั้งหมดแล้วเราก็จะรู้ว่าเราต้องพูดอะไรก่อนหลัง ผมก็จะนั่งซ้อม ทีนี้เวลาผมซ้อมเนี่ยก็จะมีทั้งซ้อมให้เปาฟังแล้วก็ซ้อมให้ตัวเองฟังโดยพูดหน้ากระจกคนเดียวที่หอ โดยในช่วงแรกๆ เรารู้สึกว่าโจทย์ยังไม่ยาก เตรียมข้อมูลอาจจะสักสองสามวันนะ แล้วก็ซ้อมสักสองสามวัน แต่พอเป็นหลังๆ โจทย์มันเริ่มยากมาก บางทีพอเราได้รับโจทย์มาใช้เวลาเตรียมข้อมูลห้าวันหรือห้าวันครึ่ง กว่าจะได้เริ่มซ้อมมีเวลาแค่วันเดียว แล้ววันเดียวตรงนั้นอาจจะเป็นเวลาที่เราไม่ได้จูนกัน จะไม่ได้เจอกัน ก็อาจจะต้องแยกกันซ้อม แต่ถามว่าซ้อมไหม ต้องซ้อมหนักมาก เพราะว่าผมที่พูดไม่เก่งก็จะซ้อมแล้วก็สิ่งที่ผมใช้เตรียมในการซ้อมก็คือคลิปการแข่งขันของรุ่นก่อนๆ โดยเฉพาะคลิปรอบชิงชนะเลิศเนี่ยก็จะช่วยเรา เพราะว่ารอบชิงคือรอบคนที่เก่งมากๆ มาเจอกัน เราก็จะศึกษาว่าวิธีการพูดของเขามีลำดับอะไร เขาขยี้ประเด็นตรงนั้นอย่างไร ดูวิธีการเดินอ้างเอกสาร วิธีการเดินโค้งคำนับเขาทำอย่างไร รวมถึงฟัง comment ของกรรมการรอบชิงก็เป็นประโยชน์ต่อเราในการนำมาซ้อมพูดครับ”
วรัญญา : “สำหรับส่วนตัวแล้ว ถามว่าซ้อมพูดแยกหน้ากระจกมีไหม ก็มีบ้างนะคะโดยเฉพาะรอบแรก ๆ เพราะเวลาเราซ้อมเราไม่ได้ซ้อมแค่ว่าเราจะพูดอะไรบ้าง แต่ซ้อมไปถึงท่าทางที่เราใช้สื่อ น้ำเสียงว่าเสียงเราสั่นไหม ดูแล้วเรามีความมั่นใจมากแค่ไหน เพราะเวลาที่ขึ้นไปในห้องพิจารณาซึ่งมีลักษณะเป็นศาลจำลอง มีบัลลังก์อะไรอย่างนี้ ความตื่นเต้นของเราก็จะมากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องซ้อมทั้งท่าทางทั้งน้ำเสียงด้วย แล้วก็อีกอย่างที่ควรเตรียมไปประกอบกับการซ้อมพูดเลย คือสิ่งที่เราจะใช้เป็นตัวไกด์เวลาที่เราแถลงการณ์จริง จากที่เห็นมา หลายๆ คนมักถือกระดาษไซส์ใหญ่หรือไซส์ A4 แล้วสิ่งที่เขียนในนั้นอ่ะเป็นบทพูดคำต่อคำ ซึ่งแบบนี้ส่วนตัวไม่เคยใช้เลย และไม่ค่อยแนะนำให้ทำนัก ถ้าเราจะถืออะไรในมือก็มักเป็นกระดาษเล่มเล็ก เหมือนกระดาษโน้ตของสำนักพิมพ์วิญญูชนที่เป็นสมุดฉีก ไซส์ประมาณฝ่ามือ และสิ่งที่เขียนในนั้นจะเป็น bullet point คือเขียนเป็นหัวข้อว่าเราจะพูดประเด็นอะไรบ้าง โดยไม่ใส่คำพูดลงไป เพราะฉะนั้นเวลาที่เราแถลงการณ์ตอนซ้อมกับตอนแข่งจริงจะมีความแตกต่างกันบ้าง เนื่องจากเราไม่ได้จำคำพูดแบบคำต่อคำ การจำคำพูดแบบคำต่อคำจะทำให้เรามีลักษณะเหมือนหุ่นยนต์ คือพอเราลืมคำต่อไปปุ๊บ เราหลุดเลย จะมีช่วงที่นิ่ง มี dead air ละ แต่ถ้าเราจำเป็น bullet point เราจะรู้ว่าประเด็นสำคัญตรงนั้นคืออะไร ส่วนรูปประโยคจะออกมาเป็นแบบไหนเนี่ย มันสามารถขึ้นอยู่กับบรรยากาศ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในตอนนั้นได้ ตราบใดที่เรายังสื่อประเด็นที่ต้องการได้ก็พอแล้ว แบบนี้จะทำให้การแถลงการณ์มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น กรรมการจะแยกแยะได้เลยว่าคนนี้ท่องบทมาทื่อ ๆ ส่วนอีกคนแถลงการณ์แบบเข้าใจสิ่งที่ตัวเองกำลังพูดจริง ๆ ซึ่งสำคัญมาก สรุปก็คือเราต้องซ้อมทั้ง script ที่จะถือให้ชินมือ ซ้อมน้ำเสียง ซ้อมท่าทาง รวมทั้งเนื้อหาสาระเป็นประเด็นหลาย ๆ อย่างประกอบกันค่ะ”
พลภวิษย์ : “ขออนุญาตเสริมนิดนึงครับ เรื่อง short note และวิธีการโคว้ทคำเนี่ยตรงนี้ สิ่งนี้ที่เปาทำ ถ้าผมจำไม่ผิด ของเราสองคนแข่งกัน 5 รอบจนถึงรอบชิง รอบที่ 1 และ 2 เปายังใช้โพย short note เล็ก แต่พอรอบ 3, 4, 5 เปาไม่ใช่โพยเลย ของผมเนี่ยรอบ 1 ถึง 4 ยังใช้โพยอยู่ โดยรอบ 4 ก็ดูน้อยลงมาก แล้วรอบ 5 ก็ไม่ใช้เลย ซึ่งมันจะช่วยมากก็คือ ยิ่งเราไม่ใช่โพย เราจะไม่ติดกับกระดาษแต่เราจะไหลไปตามความรู้ความเข้าใจในหัวเราที่เราเข้าใจแล้วก็จดจำมันได้ ลักษณะท่าทาง การผายมือ การยืน การพูด น้ำเสียง แล้วก็แววตา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ มันก็จะเป็นธรรมชาติมากแล้วก็จะดึงความสนใจจากกรรมการมาได้หมดเลย และจุดนี้ก็เป็นจุดนึงที่กรรมการใช้ชี้ขาดตอนที่เราแข่งรอบชิงโดยกรรมการท่านหนึ่งซึ่งเป็นท่านผู้พิพากษา ผมจำได้เลยว่าท่านถึงขนาดพูดว่า ทีมของเราไม่ได้ใช้โพยในการพูดเลย ท่านรู้สึกกินใจมาก อีกจุดหนึ่งที่ผมจะเสริมก็คือเรื่องที่เปาบอกว่าถ้าเรา quote คำมาก ๆ เขาจะมองเราเป็นหุ่นยนต์หรือนกแก้วนกขุนทองเนี่ย ตรงนี้มันก็จะมีข้อยกเว้นนิดนึงซึ่งทั้งผมและเปาก็ทำ คือเวลาที่เราอ้างส่วนเอกสารที่เราใช้ในการประกอบ ข้อความที่อยู่ในเอกสารเราจะเป๊ะนะเพราะว่าสิ่งที่เป็นความเห็นของอาจารย์ สิ่งที่เป็นคำวินิจฉัยในฎีกาซึ่งเราไม่ได้คิดเอง ดังนั้นเราอาจต้อง quote มาเป๊ะ ตรงนี้เราก็จะเลือกจับเฉพาะส่วนที่สำคัญ”
วรัญญา : “ใช่ค่ะ จะมีข้อมูลบางอย่างที่เราต้องใช้ wording ตามนั้นเป๊ะทุกคำ พวกนี้ก็สามารถจดใส่โพยแล้วอ่านได้ แต่ในรอบชิงชนะเลิศซึ่งตัดสินใจจะขึ้นแถลงการณ์โดยไม่ถืออะไรในมือเลย ข้อมูลทุกอย่างทั้งเลขฎีกา เลขเรื่องความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และถ้อยคำที่ใช้อ้างอิง ก็ต้องบันทึกเอาไว้ในหัวทั้งหมดค่ะ จำได้ว่าเป็นรอบทิ้งทวนที่อยากจะลองท้าทายตัวเองไปอีกขั้นก็เลยทำแบบนี้ ทั้งตื่นเต้นแล้วก็สนุกมาก”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ตอนที่เข้าแข่งขันมีปัญหาหรือว่ามีข้อผิดพลาดอะไรบ้างไหมครับ
วรัญญา : “ที่จริงส่วนตัวไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหาหรือข้อผิดพลาดอะไรนะคะ แต่มองเป็นพัฒนาการที่เราสามารถทำให้ดีขึ้นได้ในทุกรอบที่แข่งมากกว่า คือเป็น room of improvement อย่างเช่นในรอบแรกเราใช้คำบางคำที่เป็นภาษาพูดแล้วท่านกรรมการแนะนำมา เราก็จำไว้ว่ามันแตกต่างจากโต้วาทีนะ การเลือกใช้คำต้องระวังมากขึ้น หรือแม้แต่เรื่องการแต่งกาย เนื่องจากตอนนั้น สองรอบแรกที่แข่งไม่ได้ใช้ห้องศาลจำลอง เราก็ใส่ชุดนักศึกษาปกติ พอรอบถัดมาต้องสวมครุยและเราไม่เคยเข้าห้องพิจารณาคดีจริงมาก่อน เลยใส่รองเท้าไม่เรียบร้อย เพราะฉะนั้นในแต่ละรอบจะมีสิ่งที่เราค่อย ๆ พัฒนาขึ้น ต่อมาเราอยากลองใช้กลยุทธ์ในการลำดับเรื่องที่แถลงการณ์ให้เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เราก็ทำเลย อย่างที่เมื่อสักครู่พี่พลบอกว่าเราหยิบฎีกาทองของฝ่ายตรงข้ามขึ้นมาพูดก่อน อันนี้ตอนรอบแรก ๆ เราก็ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้อย่างไร สามารถทำได้ไหม เพราะส่วนมากเวลาเตรียมตัวเราจะมองหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตัวเอง ถ้าเจอข้อมูลที่สนับสนุนอีกฝ่ายก็จะทิ้งเลย ไม่กล้าหยิบขึ้นมาพูดเพราะกลัวของเข้าตัว กลัวไปชี้โพรงให้เขา แต่พอรอบลึกเราเริ่มพัฒนากลยุทธ์ คือเอาข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามขึ้นมาพูดเองตั้งแต่ปากแรกเลย ทำให้สิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามจะพูดเนี่ยมันกลายเป็นแค่การพูดซ้ำสิ่งที่เราพูดไปแล้ว และเรายังโต้ประเด็นทำลายน้ำหนักข้อมูลชิ้นนี้ไปตั้งแต่ปากของเราเองแล้วด้วย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เรานำหน้าอีกฝ่ายไปก้าวนึงเสมอ ทำให้ทีมของเรามีพัฒนาการที่ท่านคณะกรรมการสามารถมองเห็นได้ในแต่ละรอบค่ะ”
พลภวิษย์ : “จุดที่จะเสริมเกี่ยวกับที่เรียกว่าเป็นปัญหาหรืออุปสรรคก็อาจจะเป็นประสบการณ์ในรอบแรก ๆ เวลาเราจะคุยกันอ่ะนะ เราก็จะพูดคุยกันเลย ซึ่งพอเราชวนคุยกันปุ๊ปว่า เฮ้ย ประเด็นนี้เขาพูดถูกหรือไม่ถูก เราจะคิดหาประเด็นอะไรเนี่ย ความคิดเราสองคนจะไม่ได้อยู่ที่การแข่ง เราจะหายไปจากการแข่งตรงนั้น เราจะไม่รู้ว่า เอ๊ะตอนนี้เขาพูดอะไร พอรอบหลัง ๆ เราก็มาคุยกันว่าเราต้องใช้วิธีการส่งโน้ต เขียนโน้ตเล็ก ๆ แล้วก็ส่งให้กัน เหมือนเวลาส่งไลน์แล้วเขาจะอ่านเมื่อไรก็เรื่องของเขาอ่ะครับ ก็แล้วแต่ว่าถ้าน้องเขาสามารถที่จะคิดว่าตรงนี้ เขาหยุดฟังได้แป๊ปนึง แล้วเขามาอ่าน เขาก็จะรู้แล้วว่าเราส่งข้อความอะไร จากที่รอบแรก ๆ เราใช้วิธีการคุยซึ่งมันไม่ดี แต่พอเราเปลี่ยนเป็นวิธีการส่งโน้ตแล้วมันดีมาก เรายังเก็บข้อมูลตรงหน้าเราได้ครบอันนี้เรื่องนึง อีกเรื่องนึงสำหรับตัวผมเองนะก็คือ การพูด ด้วยทักษะการพูดพื้นฐานของผมเนี่ยอ่อนกว่าเปา ดังนั้นเวลาพูดโดยเฉพาะรอบชิง เมื่อผมไม่ถือโพยเลยมันก็จะมีการตะกุกตะกักนิดหน่อย ทำให้เราพูดไม่ลื่นไหล แต่อย่างไรก็ดี ประเด็นหลักเราครบเนื่องจากว่าผมใช้วิธีการตั้งไว้ห้านิ้ว คือผมมีเรื่องที่จะพูดใหญ่ ๆ เนี่ย 5 ประเด็นแล้วผมก็ทำไว้ห้านิ้ว เมื่อพูดเรื่องไหนไปแล้วผมก็ค่อยหักเอาทีละนิ้ว แล้วเราก็ได้จดจำไปแล้วว่าประเด็น 1 2 3 ที่ต้องพูดเนี่ยคืออะไร พอเราหักนิ้วไปปุ๊ปเราก็จะรู้ว่าเหลืออีกกี่ประเด็น ดูเวลาตรงหน้าเหลืออีกเท่าไร ก็ใช้วิธีการบริหารเวลาแบบนี้เอาครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : คิดว่าทักษะสำคัญสำหรับผู้เข้าแข่งขันมูทคอร์ทคิดว่ามีอะไรบ้างครับ
พลภวิษย์ : “ทักษะสำคัญเกี่ยวกับการแข่งมูทคอร์ทประการแรกคือ ความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมาย ถ้าน้องมีความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมายที่ไม่ดีพอน้องจะตีโจทย์ไม่แตก เพราะว่าเราไม่รู้ว่าเขาต้องการวัดผลอะไร ดังนั้นนี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด 1. ความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมาย”
“2. ทักษะการ research เพราะเวลาพอเรารู้ประเด็นปุ๊ปเราต้องไป research แล้ว research อะไร บางทีเป็นกฎหมายพิเศษมาก ๆ อย่างเช่นรอบชิงเราเนอะ ฝ่ายเราเป็นจำเลยคือเป็นตัวแทนสรรพากร ฝ่ายโจทก์เขาเป็นบริษัททีโอที จำกัด คดีนี้โจทก์มาฟ้องขอให้ศาลภาษีอากรกลางเพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของตู้โทรศัพท์สาธารณะ โดยข้อกฎหมายที่ต้องใช้ ก็จะเป็นเรื่องตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 31 วรรคท้าย หรือเปล่า ยังมีข้อกฎหมายเรื่องรัฐวิสาหกิจก็คือทีโอทีโจทก์เนี่ยเป็นนิติบุคคลอะไรเพราะแปรรูปมาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจต้องทำตามมติคณะรัฐมนตรีไหม มติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจบังคับเหนือกฎหมายได้ไหม อย่างประเด็นพวกนี้ เราคงไม่เคยเรียนข้อกฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติแปรรูปรัฐวิสาหกิจแน่นอน ดังนั้นเราต้องค้นตัวบท ค้นคำอธิบาย ค้น Thesis ดูแนวฎีกา แล้วก็ค่อยมานั่งลิสต์ว่าอะไรอยู่ฝั่งเราก็ทำตารางไว้ซ้ายขวา อะไรที่ฝั่งประโยชน์แก่เรา อะไรเป็นฝั่งประโยชน์เขา เราเก็บหมดเลย เพราะเราต้องวีโต้เขาด้วย แล้วก็พอเราเสร็จปุ๊ป”
“3. ทักษะที่สามที่ต้องใช้ก็คือ การอธิบายทางวิชาการ อย่างเช่นตัวอย่างเดิมที่ผมเล่าให้ฟังเนี่ยข้อสอบรอบชิงที่เราแข่ง ผมอยู่ฝั่งจำเลยผมต้องสู้ว่าทีโอทีไม่มีอำนาจฟ้องเพราะทีโอทีไม่ได้ทำตามมติครม.ที่ต้องนำเรื่องที่พิพาทกับกรมสรรพากรไปเข้าทางอัยการสูงสุดก่อนเนื่องจากว่ามันมีมติครม.ว่าถ้าหน่วยงานของรัฐพิพาทกันต้องเอาเรื่องไปเข้าอสส.ไกล่เกลี่ยก่อน แล้วกระบวนการยุติธรรมชั้นศาลตามมา แต่ในเคสที่เราทำเนี่ย ทีโอทีเขาไม่ได้ไปขั้นตอนตรงนั้นก่อน เขาฟ้องศาลภาษีอากรกลางเลย เราก็ต้องสู้ว่าสิ่งที่ทีโอทีไม่ทำตามมติครม.เป็นเรื่องที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ทางฝั่งทีโอทีโจทก์ก็สู้ว่า เขาทำตามกฎหมายทุกอย่างและเขาเองอ้างว่าเป็นรัฐวิสาหกิจโดยตั้งขึ้นตามครม.ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติ ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชกฤษฎีกา ดังนั้นเขาจึงเป็นนิติบุคคลเอกชนไม่ต้องทำตามมติครม. แล้วเขาก็สู้ด้วยว่ามติครม.ก็ไม่ใช่กฎหมาย มติครม.ไม่อาจไปฝ่าฝืนกฎหมายได้ ซึ่งเขาก็บอกว่าเขามีอำนาจฟ้องอยู่แล้วเพราะเขาเป็นเอกชนแล้วเขาฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เราก็ต้องไปสู้โดยพยายามเอามติครม.ให้อยู่เหนือกฎหมายที่เขาอ้างให้ได้ซึ่งมันเป็นงานที่ยากมาก เพราะเราเองก็รู้ว่ามติครม.ไม่สามารถฝ่าฝืนกฎหมายได้ แต่ธงที่เราต้องทำตอนนั้นคือโน้มน้าวทุกอย่างเพื่อให้ศาลเชื่อว่ามติครม.สำคัญมาก มากพอที่จะต้องทำตามมติครม.ก่อน แล้วสิ่งที่เราทำก็คือไปอธิบายว่ามติครม.คือสิ่งที่กำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐต้องทำตามให้เหมือนกันเพื่อที่เวลาหน่วยงานของรัฐจะดำเนินการอะไรก็จะไม่ลักลั่นและไม่ทำให้ประโยชน์ของประชาชนได้รับไม่เสมอกันในแต่ละช่วงเวลา แต่ละสถานที่ เราก็ต้องโน้มน้าวโดยเอาข้อเท็จจริงเรื่องความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นเนี่ยไปสู้ เหมือนกับว่าเราอาจจะสู้เรื่องข้อกฎหมายได้ไม่มากนัก เราก็ต้องพยายามหาอะไรก็แล้วแต่ไปโน้มน้าวเขา ตรงนี้คือ skill ที่สาม ก็คือทักษะการอธิบาย”
วรัญญา : “ทักษะสำคัญในการแข่งขันแถลงการณ์เนี่ยอาจจะคล้ายกับของพี่พล แต่ว่าของหนูแบ่งง่าย ๆ เป็น 3 ข้อคือ 1. ขาเข้า 2. ขาออก 3. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
“ทักษะที่ 1 คือขาเข้า ก็คือการหาข้อมูล หาความรู้ที่เราจะต้องใช้ในการตอบโจทย์นั้น ๆ หรือแถลงการณ์เรื่องนั้น ๆ ให้องค์ความรู้นั้นเข้ามาอยู่ในตัวเราให้ได้ ไม่ว่าจะผ่านการ research กฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกา ตำรา บทความ หรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องทำความเข้าใจข้อมูลทั้งหมดโดยกระจ่างแม้ว่าเราจะไม่มีความรู้เรื่องนั้นมาก่อนเลยก็ตาม”
“ทักษะที่ 2 คือขาออก หมายถึงการอธิบายสิ่งที่เราได้รับมาให้คนอื่นเข้าใจและสามารถโน้มน้าวเขาได้ว่าสิ่งที่เราพูดเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลและเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นมากกว่าของอีกฝ่ายหนึ่ง นี่คือทักษะในการถ่ายทอด”
“ทักษะที่ 3 คือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะว่าไม่ว่าเราจะเตรียมตัวมาดีอย่างไร พอถึงสถานการณ์การแข่งขันจริงมันจะมีปัญหาเกิดขึ้นเสมอ เช่นสำหรับทีมของเรา โดยหลักแล้วพี่พลจะพูดปากแรกค่ะ เปาพูดเป็นปากปิดท้ายซึ่งจะต้องเก็บประเด็นที่อีกฝ่ายหนึ่งยกขึ้นมาด้วย ตอนนั้นที่เราทำคือการเขียนกระดาษแผ่นเล็ก ๆ เตรียมไว้ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่เขาอาจจะสู้ได้และเป็นประโยชน์กับเขา แผ่ไว้เต็มโต๊ะ เมื่อเขาแถลงการณ์ถึงเรื่องนั้นจริง ๆ เราจะหยิบโน้ตทีละแผ่นมาใส่ไว้ในมือ ส่วนประเด็นไหนเขาไม่ได้ใช้เราจะไม่พูดถึง เพราะฉะนั้นมันเป็นทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เราจะไม่สามารถมีเค้าโครงการพูดชัดเจนอยู่ในหัวได้ตั้งแต่ตอนก่อนแข่งเพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะพูดเรื่องอะไรบ้าง เท่ากับว่าเราต้องเตรียมเค้าโครงการพูดสดในขณะแข่งเลยด้วยซ้ำ แล้วยังต้องบริหารเวลาให้เหมาะสมกับประเด็นทั้งหมดด้วย รวมทั้งการเก็บประเด็นใหม่ที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อนเลย เรียกว่าหลุดไปจากกรอบที่เตรียมมา เราจะหาข้อโต้แย้งสด ๆ ได้อย่างไร จะพูดอธิบายอย่างไร อันนี้คือทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งสามทักษะสำคัญนี้น้อง ๆ จะได้เรียนรู้และฝึกฝนไปในแต่ละรอบที่แข่งค่ะ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ตอนนั้นแบ่งเวลาอย่างไรสำหรับการแข่งมูทคอร์ทและการเรียน
วรัญญา : “ช่วงที่แข่งมูทคอร์ทเวลาที่เราสามารถทุ่มเทให้การเรียนได้ก็จะน้อยลงโดยสภาพค่ะ จึงต้องทำความรู้จักตัวเองนิดนึงว่าเราเป็นคนที่มีทักษะอย่างไร ถ้าเป็นคนชอบเรียนอย่างส่วนตัวเนี่ยเป็นคนที่เข้าเรียนตลอดและอาจจะอ่านหนังสือไม่มากนักเพราะชอบรับสารโดยการฟัง ชอบฟังอาจารย์สอนในห้องเรียนเพราะฉะนั้นจะไม่เอาเวลาเข้าเรียนมาใช้เตรียมตัวแข่งเด็ดขาด คือ เข้าเรียนให้ครบทุกคาบเหมือนเดิม แต่หลังจากเลิกเรียนก็ทุ่มเทให้การเตรียมตัวแข่งเต็มที่ แบบนี้เท่ากับเราไม่ได้ทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เราเข้าเรียน เราฟัง เราเก็บข้อมูลไว้ เพื่อที่ก่อนสอบเราจะได้มี lecture ไว้อ่าน ส่วนหลังเลิกเรียนเนี่ยเราก็เน้นทำกิจกรรม แต่ถ้าเป็นคนชอบอ่านหนังสือเองก็อาจจะสามารถจัดสรรเวลาได้ตามที่เห็นควร เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องของการแบ่งเวลามากกว่าค่ะ ทำความรู้จักตัวเองให้ดีว่าเราจะสามารถนำเรื่องการเรียนและเรื่องกิจกรรมเข้ามาไว้ด้วยกันได้อย่างไรให้สมดุลค่ะ”
พลภวิษย์ : “ครับ ก็ที่เปาพูดเนี่ยถูกต้องเลย สำหรับผมรู้จักตัวเองดีก็คือชอบอ่านมากกว่าฟัง (หัวเราะ) ดังนั้นก็จะชอบเข้าเรียนวิชาที่อาจารย์สอนสนุก ถ้ามีบางคาบที่เรารู้สึกว่าเราชอบอ่านมากกว่าในวิชานั้น ก็จะเอาเวลาตรงนั้นมาทำมูทคอร์ท ทีนี้ถามว่าแบ่งเวลาอย่างไรมันก็จะเกี่ยวกับระบบการแข่งนิดนึง เนื่องจากว่าตอนที่พวกเราแข่งด้วยกันเนี่ยเป็นระบบทัวร์นาเมนต์ แบบน็อคเอาท์ แล้วก็โจทย์จะเปลี่ยนทุกครั้ง แข่งห้ารอบ โจทย์ก็ห้าโจทย์ ทำ research ใหม่ทั้งห้าครั้ง เหมือนกับต้องเริ่มต้นใหม่ทุกรอบ ดังนั้นวิธีการแบ่งเวลา ถ้าแบ่งแบบกว้างๆ เราได้รับโจทย์วันนี้ อีก 7 วันแข่ง วันที่ 1 – 4 เรามักจะอยู่กับการ research เท่านั้น เอาเนื้อหาทั้งหมดเก็บให้ครบก่อน เราจะพรีเซนต์อะไร เราจะหักเขาอย่างไร เราจะลำดับทุกอย่าง เราทำตรงนี้ให้พร้อมประมาณ 4 วันแรก เหลืออีก 2-3 วันเราก็จะเริ่มซ้อม พอซ้อมเนี่ยเราจะเริ่มเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในการลิ้งค์เนื้อหาว่าแท้ที่จริงแล้วมันมีบางจุดที่น่าจะยังข้ามไป หรืออาจจะเกิดประกายความคิดใหม่ว่าจุดนี้เรายังไม่ได้ research เราก็จะทำเพิ่มตรงนั้น เวลาก็จะแบ่งประมาณนี้คือ 2 ช่วงใหญ่ตามที่กล่าว ส่วนในแต่ละวัน ถ้ากลางวันมีเรียน ก็เข้าเรียนด้วย ทำ research ด้วย แล้วพอหลัง 4 โมงครึ่งผมก็จะเจอเปา เราเจอกันทุกเย็นอยู่แล้ว ก็ทำแต่มูทคอร์ท เจอกันที่หอสมุดป๋วยตลอด บางทีก็อยู่จนห้องสมุดปิดหรือบางทีถ้าออกจากห้องสมุดก่อนมาหาอะไรกิน 3-4 ทุ่ม หลังจากนั้นก็ยังไปคุยกันต่อที่ร้านโดเม่แถวหอเอเชียนเกมส์ C4 นั่งทำจนถึงเที่ยงคืนแล้วก็แยกไปนอน วันรุ่งขึ้นก็ไปเข้าเรียนแล้วก็ทำเหมือนเดิมอย่างนี้ทุกวันครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ไม่ทราบว่านอกจากมูทคอร์ทศูนย์นิติศาสตร์ ยังเคยไปแข่งมูทคอร์ทอื่นอีกไหม
พลภวิษย์ : “โดยหลักแล้ว จริง ๆ ทีมเราในฐานะทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศมีสิทธิที่จะเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยไปแข่งรอบระดับประเทศที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต แต่เนื่องจากพวกเราแข่งรอบชิงกันประมาณเดือนมกราคม ปี 2554 ปรากฏว่าปีนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ พอน้ำท่วมใหญ่ปุ๊ปมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ก็เลิกจัดแล้วเราก็เลยไม่ได้แข่ง จากนั้นก็เป็นธรรมศาสตร์ที่มาจัดรอบระดับประเทศแทนซึ่งตอนนั้นผมเรียนจบแล้ว เราก็เลยไม่ได้แข่งครับ แต่ว่าส่วนตัว ผมได้ไปทำหน้าที่กรรมการมูทคอร์ท ที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และของคณะกรรมการกาชาดสากลหรือ ICRC ที่จัดแข่งขันว่าความเรื่องกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศครับ”
วรัญญา : “เหมือนกันเลยค่ะ คือไม่ได้แข่งในระดับประเทศตอนนั้น ส่วนในบทบาทกรรมการก็จะมีล่าสุดของคณะกรรมการกาชาดสากลหรือ ICRC ค่ะ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : คิดว่าได้รับอะไรบ้างจากการเข้าแข่งขันมูทคอร์ทนี้ แล้วก็คิดว่ามีส่วนช่วยในชีวิตจริงไหม ทั้งการเรียนตอนเป็นนักศึกษา แล้วก็การทำงาน
พลภวิษย์ : “สำหรับผมนะครับผมว่ากิจกรรมแข่งขันโต้เถียงปัญหาข้อกฎหมายโดยการแถลงการณ์ในชั้นศาลอุทธรณ์นั้นเป็นกิจกรรมที่น่าจะดีที่สุดสำหรับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์เลย เพราะว่าอย่างที่ได้เรียนไปแล้วว่ามันฝึกทักษะการ research แล้วก็การพรีเซนต์ออกมาซึ่งสองทักษะนี้ เป็นทักษะที่สำคัญมากที่สุดสำหรับนักกฎหมายแล้วแหละ เราจะต้องค้นให้ได้แล้วเราจะต้องเอาสิ่งที่เรารู้เนี่ยถ่ายทอดออกไปให้ประชาชนเข้าใจในข้อกฎหมายซึ่งเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่ค่อยเข้าใจ ให้ได้ แล้วสิ่งที่เป็นประโยชน์ในทางรูปธรรมกับผมจริง ๆ ก็คือ อย่างเช่นทุกวันนี้ผมทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา หน้าที่เราคือตรวจร่างคำพิพากษาศาลฎีกาก่อนตีออก สิ่งที่เราต้องทำคือเช็คข้อกฎหมายตรงว่ากับความเห็นทางวิชาการไหม เช็คว่าตรงตามแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยออกไปไหมเพื่อให้มาตรฐานที่เกิดขึ้นกับสังคมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พอเวลาเราเช็คฎีกา ไม่ได้แปลว่ารูปคดีคล้าย ๆ กันแล้วเราจะปล่อยผ่าน เพราะเราต้องเช็คข้อเท็จจริงด้วยว่าข้อเท็จจริงที่เรากำลังถืออยู่ในมือกับข้อเท็จจริงในเคสที่เราไป research มามันตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ถ้าตรงกันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วอะไรคือสาระสำคัญที่เราคิดว่ามันตรงกันแล้วมันออกไปในทางเดียวกันได้ไหม ซึ่งสิ่งนี้เราได้มาจากการทำมูทคอร์ท เต็ม ๆ เพราะตอนเราทำมูทคอร์ท เราต้องคิดว่าฎีกานี้มันตรงกับโจทย์เราหรือว่ามันตรงกับโจทย์ฝั่งตรงข้าม แล้วสิ่งนี้มันแยกแยะให้เราเห็นชัดว่าเราสามารถที่จะนำคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนั้นหรือเอาตำราเล่มนั้นมาใช้กับการทำงานเราได้ไหม อันนี้พูดถึงการทำงานหลักนะครับ แต่ว่าถ้าเป็นงานอื่น ๆ เนี่ยมันก็ช่วยอยู่แล้ว อย่างเช่นการที่เราได้แสดงความรู้ทางกฎหมายหรือมีโอกาสบรรยายอะไรก็แล้วแต่สำหรับผมได้มาจากการแข่งขันมูทคอร์ท เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เลยครับ”
วรัญญา : “ทักษะในการสื่อสารมันเป็นทักษะที่นักกฎหมายไม่สามารถละเลยได้อยู่แล้วค่ะ ถ้าเราไม่ได้อยู่ร่วมกันเป็นสังคมหรือเราอยู่บนโลกนี้คนเดียว กฎหมายก็ไม่จำเป็น แต่ในความเป็นจริงก็คือเราอยู่ร่วมกับคนอื่นตลอดเวลา เพราะฉะนั้นกฎหมายมันก็เลยมีชีวิตอยู่ควบคู่กับสังคม ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่เราเข้าใจ สิ่งที่เรารู้ออกไปสู่สังคมได้ กฎหมายก็จะอยู่ในตัวเรา เราจะเป็นนักกฎหมายที่มีความรู้แต่พูดไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถถ่ายทอดออกไปได้ ไม่สามารถสื่อสารให้สังคมเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นทักษะในการสื่อสารตรงนี้ โดยเฉพาะการพูด ถ้าจะประกอบวิชาชีพต่อไปในอนาคต ไม่ว่าเป็นอาจารย์ผู้บรรยาย ทนายความ อัยการหรือว่าเป็นอาชีพอื่น ๆ ที่อยู่ในสายกฎหมาย หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือทักษะในการถ่ายทอด เพราะฉะนั้นการแข่งขันแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นศาลอุทธรณ์เนี่ยเป็นจุดเริ่มต้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร นี่คือประโยชน์ที่ได้รับเต็ม ๆ ทั้งตอนเป็นนักศึกษาและตอนนี้ที่ออกมาประกอบวิชาชีพค่ะ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : สุดท้ายนี้อยากฝากอะไรถึงรุ่นน้องที่กำลังจะเข้าแข่งขัน
พลภวิษย์ : “ก็อยากให้น้องเตรียมตัวให้เต็มที่เพราะว่าการแข่งขันมูทคอร์ทเป็นกิจกรรมที่คุ้มค่า ถ้ายิ่งน้องได้เตรียมตัวเยอะน้องก็จะได้ขัดเกลาตัวเองเยอะ ได้ค้นหาข้อมูลเยอะ ได้ลับคมสมองตัวเองเยอะแล้วก็มีโอกาสที่จะได้ใช้ทักษะตรงนี้ในการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายต่อไปแน่นอน ส่วนนักศึกษาที่ยังไม่เคยสมัครแข่ง ถ้ามีโอกาสหน้าอีกก็ขอให้สมัครนะครับ ถ้าน้องได้เรียนนิติศาสตร์ ก็ควรได้แข่งมูทคอร์ทสักครั้งในชีวิตครับ”
วรัญญา : “ฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังจะมีโอกาสเข้าแข่งขันว่า จงเต็มที่และให้โอกาสตัวเองในการเรียนรู้ค่ะ วันนี้โจทย์ที่น้องได้รับน้องอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง ไม่มีใครตายจริง ไม่มีใครบาดเจ็บจริง ไม่มีใครเสียหายจริง แต่วันหนึ่งเมื่อน้องจบออกไปแล้วประกอบวิชาชีพ ทุกอย่างจะเป็นเรื่องจริง การทำงานสายกฎหมายคือน้องต้องเข้าไปอยู่ในชีวิตของคนจริง ๆ ทุกการกระทำของเราในฐานะนักกฎหมายมันส่งผลกระทบต่อชีวิตคนอื่นเสมอ ซึ่งถ้าน้องได้ทักษะประสบการณ์จากการแข่งขัน ก็อยากให้จดจำทักษะนั้นไว้แล้วพัฒนาต่อไป แล้ววันหนึ่งน้องจะรู้ว่างานที่น้องทำในอนาคตมันจะมีคุณค่ามากมายขนาดไหน ฝากให้น้องเต็มที่กับการแข่งขันแล้วก็ได้ประสบการณ์ที่ดีค่ะ”
ถ่ายภาพ Chn.
แต่งภาพ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง ผศ.ดร.กรศุทธิ์