??บทสัมภาษณ์อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน เกี่ยวกับประสบการณ์เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์และการทำงานในฐานะกรรมการชุดต่าง ๆ ของศูนย์นิติศาสตร์?? สัมภาษณ์โดยผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
?อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน เคยดำรงตำแหน่งกรรมการชุดต่าง ๆ ของศูนย์นิติศาสตร์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 – กรกฎาคม 2564 (กรรมการวิชาการ / กรรมการฝ่ายอบรมเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายแก่ประชาชน / กรรมการจัดการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมาย รอบภายในและรอบระดับประเทศ และกรรมการฝึกงานภาคปฏิบัติ) ปัจจุบันอาจารย์ศุภวิชลาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ National University of Singapore ประเทศสิงคโปร์
?คำถาม (2) : แรงบันดาลใจในการเลือกเป็นอาจารย์ของอาจารย์ศุภวิชมีความเป็นมาอย่างไรครับ
?อ.ศุภวิช : “พอดีตอนนั้นคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์เปิดรับสมัครอาจารย์ด้านกฎหมายแพ่ง จริง ๆ ผมก็สนใจทางด้านแพ่งและพาณิชย์ มันเชื่อมโยงกัน กฎหมายพาณิชย์อยู่โดยปราศจากรากฐานกฎหมายแพ่งไม่ได้ หรือกฎหมายแพ่งก็คือพื้นฐานของกฎหมายพาณิชย”
“จริง ๆ ตอนเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ ผมก็สนใจที่จะเป็นอาจารย์อยู่แล้ว ก็เคยสอบอาจารย์วุฒิปริญญาตรี ตั้งแต่เข้าเรียนปริญญาโทใหม่ ๆ แต่ว่าตอนนั้นก็สอบไม่ได้ ก็ปรึกษากับอาจารย์ผู้ใหญ่ที่คณะ ท่านก็บอกว่าอยากเป็นอาจารย์ก็ดี แต่ถ้าเราไม่ได้เป็น ถ้าไปทำงานอื่น อย่างน้อยเราก็มีความรู้เฉพาะด้าน อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ไปทำงานที่ ก.ล.ต. เพราะอยากมีความรู้เฉพาะด้านในกฎหมายหลักทรัพย์ เพราะถ้าไปทำงานที่อื่นก็ไม่เห็นในส่วนนี้ วิธีการปฏิบัติ หรือที่มาที่ไปที่ลึกขนาดนั้น ก็เชื่อคำแนะนำของท่าน ก็ไปทำงานที่ ก.ล.ต.”
“แต่ก็คุยกับอาจารย์หลาย ๆ ท่านตลอดโดยเฉพาะอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องที่สอนเรามา เกี่ยวกับองค์กรธุรกิจ กฎหมายการเงิน ผมก็คุยกันตลอดและก็มาช่วยงานที่คณะหลาย ๆ ครั้ง บางทีก็มาเป็นทีมผู้บรรยายพิเศษ เป็นผู้บรรยายพิเศษบ้าง จนต่อมาพอเปิดรับสมัครอาจารย์พอดี เราก็ใช้ทุนกำลังจะจบแล้ว ก็คิดว่าย้ายมาเป็นอาจารย์ดีกว่า ก็ตั้งใจว่าถ้าเป็นอาจารย์ก็อยากเป็นที่ธรรมศาสตร์ เพราะว่า หนึ่งรู้สึกผูกพันกับที่นี่มาก เพราะว่าเราก็เรียนปริญญาตรี ปริญญาโทที่นี่ และผมก็เป็นรุ่นแรกที่อยู่ที่รังสิต 4 ปีเลย ก็ผูกพันกับที่รังสิตอยู่แล้ว ปริญญาโทก็เรียนที่นี้ ก็คุ้นเคย”
“เริ่มรู้ตัวตอนอยู่ ก.ล.ต. ว่าชอบทำงานเกี่ยวกับการค้นคว้า การวิจัยมากกว่า มันก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน เพราะว่าอยู่ ก.ล.ต. ก็เหมือนหน่วยงานบริหาร องค์กรก็เป็นแบบพีระมิด อย่างผมเคยทำงานวิจัยให้ผู้บังคับบัญชา ตอนนั้นเราทำเรารู้สึกว่าชอบ แต่สุดท้ายผลงานที่ออกมา ถึงแม้ว่าเราจะมีส่วนมากในการค้นคว้าหาข้อมูลก็ตาม แต่สุดท้ายผลงานทุกชิ้นก็ไม่มีชื่อเราปรากฏ มันก็จะเป็นชื่อคนอื่น ผมก็เกิดความรู้สึกว่าหากเราเป็นอาจารย์มันกลับกัน คือมุมหนึ่งมันก็มีระบบบังคับบัญชาไม่ใช่ไม่มีเลย ก็มีคณบดี มีอธิการบดี แต่ในแง่ของมุมวิชาการมันไม่มีใครมาบังคับเราได้ การค้นคว้า การวิจัยมันเปิดกว้าง แล้วผลงานทุกอันเราทำเองมันก็เป็นชื่อของเรา ไม่ต้องไปใส่ชื่อคนอื่น อันนี้ก็เป็นเหตุผลหลักเหตุผลหนึ่งที่ตัดสินใจ”
“เรื่องการสอนเรียนตรง ๆ ว่าเดิมทีผมเป็นคนที่ขาดความกล้าในการพูดในเวทีที่มีผู้ฟังเยอะ ๆ คือค่อนข้างตื่นเวที แต่ก็ถือว่า ก.ล.ต. เป็นสถานที่ที่ทำให้ผมปรับปรุงในส่วนนี้ เพราะว่าไปทำงานที่ก.ล.ต. ต้องคุยกับผู้ใหญ่ บางทีคุยกับรัฐมนตรี หรือว่าไปเจอเลขาธิการ ไปเจอระดับผู้ใหญ่ของหน่วยงานอื่น ก็ได้ไปนำเสนอต่าง ๆ จนผ่านไปหลาย ๆ ปีเราก็ชินก็รู้สึกว่าเราพูดกับผู้ใหญ่ขององค์กรได้ พอเรามาสอนนักศึกษา เขาอายุน้อยกว่าเรา หรือถ้ามองอีกมุมหนึ่งเราเป็นรุนพี่ เขาเป็นรุ่นน้องก็ไม่เห็นต้องอายอะไร พอคาบแรกที่ผมสอนไม่ได้ตื่นเวทีแล้ว เพราะก็ด้วยที่เราอายุเยอะแล้วไม่ได้เริ่มเป็นอาจารย์ตั้งแต่อายุน้อย”
“ตอนสัมภาษณ์เป็นอาจารย์ก็บอกอาจารย์มุนินทร์ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นรองคณบดีว่าตั้งใจจะเข้ามาดูด้านกฎหมายหลักทรัพย์การเงิน เพราะว่าก็ทำมาก่อนที่ผมจะมาเป็นอาจารย์ ผมอยู่ ก.ล.ต. มา 6 ปีนิด ๆ คิดว่าเราก็มีความรู้มีประสบการณ์ในระดับหนึ่งแล้ว น่าจะพอที่จะถ่ายทอดต่อไปได้ คืออย่างน้อยไม่ใช่เรียนตัวบทอะไร แค่ประสบการณ์ทางปฏิบัติเราเห็นอะไรมา ผมก็คิดว่าคณะก็ได้ประโยชน์ ตัวเราก็ได้พัฒนาวิชาการไปพร้อม ๆ กันด้วย”
?คำถาม (3) : การที่อาจารย์เคยทำงานภาคปฏิบัติมาก่อน แล้วมาทำงานด้านวิชาการ อาจารย์คิดว่ามีข้อดีอย่างไรบ้างครับ
?อ.ศุภวิช : “ข้อแรกเลยที่ผมเห็นแน่ ๆ เลยก็คือเรื่องของการที่เราได้เห็นมุมมองทางธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจหลักทรัพย์ที่เราเคยคลุกคลี อยู่ในวงการมาก่อนเรารู้ว่าผู้ประกอบธุรกิจต้องการอะไร ดูว่าเกณฑ์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร รู้ว่ากฎหมายมีลายละเอียดเป็นอย่างไร ที่มาที่ไปความเชื่อมโยงต่าง ๆ อะไรเป็นอย่างไรมันทำให้เราสามารถเอาสิ่งที่เรามีความรู้ความเข้าใจมาสอนกับนักศึกษาได้โดยตรง เป็นประสบการณ์ตรงเพราะฉะนั้นเราก็ต้องเชิญอาจารย์พิเศษอย่างเดียวก็ถือว่าผมก็สอนเองได้ หรือถ้าในบางมุมผมก็ยังอยู่ในวงการอยู่ หรือเคยอยู่ในวงการผมก็รู้ว่าใครเป็นผู้เชี่ยวชาญ สมมติว่าวันใดวันหนึ่งที่คณะอยากติดต่อ ผมก็ยังสามารถติดต่อให้ได้ หรือถ้าทำให้ได้เพราะผมรู้ว่าวิทยากรท่านใดที่มีความเชี่ยวชาญความรู้เฉพาะด้านในเรื่องนั้น ๆ”
“ส่วนที่สองก็คือเราเห็นมุมมองทางปฏิบัติเราก็สามารถมาต่อยอดในการค้นคว้าวิจัยในเรื่องนั้น ๆ หรือว่าเฉพาะจุดที่มันเกี่ยวข้องได้ดียิ่งขึ้น เพราะเราก็จะสามารถเชื่อมโยงว่าทางธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกับอะไร ทำให้เราสามารถค้นคว้าวิจัยได้โดยใช้ระยะเวลาที่สั้นลงเพราะว่าบางทีเราอาจต้องไปค้นหาหนังสืออ้างอิง หรือแหล่งข้อมูลแต่อย่างน้อยเรามีธงในใจแล้ว หรือว่าเราเห็นแนวทางเบื้องต้นว่ามันควรจะต้องเป็นอย่างนี้นะแล้วจึงไปค้นหาข้อมูล แต่ถ้าเกิดท่านอื่นอาจจะต้องเริ่มไปค้นหาตั้งแต่แรกเลยว่าทางปฏิบัติเป็นอย่างไร อาจต้องใช้ระยะเวลาที่มากขึ้นก็เรียกว่าเป็นข้อดีของการทำงาน”
“อย่างตอนอยู่ก.ล.ต. สิ่งที่เจอคือมันเป็นงานเกี่ยวกับหลักทรัพย์ โดยฝ่ายแรกที่เข้าไปอยู่คือฝ่ายพัฒนากฎเกณฑ์ คือดูเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทั้งหมดของ ก.ล.ต. เกี่ยวกับตลาดทุนในทุกด้าน ช่วงปี สองปีแรกที่ผมทำจะเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ มันก็จะเกี่ยวกับตัวกลางในการประกอบธุรกิจ ตลาดหลักทรัพย์ หรือบางทีก็เกี่ยวข้องกับกฎหมายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กฎหมายทรัสต์ การประกอบธุรกรรมในตลาดทุน หลัก ๆ เลยงานที่ต้องทำคือ research เพื่อค้นคว้าหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเหล่านี้ ซึ่งบอกได้เลยว่าไปทำตอนแรกค่อนข้างเคว้ง ช่วงปีแรกคือต้องหาข้อมูลอะไรใหม่เองหมด ต้องศึกษาใหม่เองหมด คือเรียกว่ากฎหมายพื้นฐานตอนที่เรียนจบปริญญาตรี หรือปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือช่วยได้เยอะ”
“แต่ว่าในทางปฏิบัติในการประกอบธุรกิจมันต้องเริ่มใหม่หมด เพราะว่าเราไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนว่า เขามีการประกอบธุรกิจ มีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร คือบางทีมันไม่ได้เขียนเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรชัดเจน แต่บางทีมันเป็นทางปฏิบัติ เป็นแนวทางการตีความ หรือบางทีก็เป็น เขาเรียกว่า soft law ก็คือเป็นกฎหมายที่แบบเป็นสมาคม หรือว่าตัวสมาคมที่เขาประกอบธุรกิจนั้น ๆ เขากำหนดทางปฏิบัติขึ้น ถ้าคุณไม่ทำตามคุณก็เข้าไปประกอบธุรกิจกับเขาไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งมันมีสภาพบังคับอีกวิธีการหนึ่ง ต่างจากกฎหมายที่รัฐกำหนดมาโดยตรง อันนี้ก็ใช้เวลาปีกว่า แต่พอมาอยู่ได้ประมาณปีกว่าเราก็เริ่มที่จะคุ้นเคย”
“แต่จริง ๆ เรียนตรง ๆ ว่าประกาศทุกตัวเวลาตอนทำงานจริง ๆ ไม่ได้จำเนื้อหาทั้งหมด เพราะมันมีประกาศหลายร้อยฉบับ แต่มันก็จะจำหลัก ๆ ได้ และสุดท้ายเมื่อเราทำงานไปเรื่อย ๆ มันก็จะคุ้นเคยว่าเหตุและผลของมันมีความเชื่อมโยง ทำไมจึงต้องเขียนอย่างนี้ และกฎหมายที่เป็นแม่บทคือ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้อำนาจอย่างไรอำนาจมีข้อจำกัดอะไรไหม”
“หลังจากกลับจากเรียนต่อก็เปลี่ยนมาดูด้านกฎเกณฑ์ ฝ่ายกฎหมายและพัฒนา อันนี้จากเกณฑ์ที่เราดูเป็นรายละเอียดแล้วก็ขยับมาดูภาพรวม ในส่วนของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พระราชกำหนดแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ และพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อการประกอบธุรกรรมในตลาดทุน มี 5 พระราชบัญญัติหลัก การดูในที่นี้หมายความว่าเวลามีข้อหารืออะไร เวลาที่คนนอกติดต่อธุระเข้ามามีปัญหาเรื่องกฎเกณฑ์ เรื่องการตีความอะไรเขาจะถามไปที่ส่วนงานก่อน และคำถามที่ไปส่วนงานเกี่ยวกับการตีความกฎหมาย หรือต้องพิจารณาข้อกฎหมาย เขาก็จะถามมาที่ฝ่ายกฎหมาย อันนั้นก็จะเป็นหน้าที่หลัก ในแง่ที่ว่าดูว่าข้อกฎหมายนั้นรองรับไหม สามารถทำได้ไหม เปิดช่องไหม เราก็ไปวางระบบ อันนี้คืองานส่วนแรกการให้ legal opinion เกี่ยวกับด้านหลักทรัพย์”
“ส่วนที่สอง เกี่ยวกับการแก้กฎหมาย และก็ร่างกฎหมายใหม่ ก็บังเอิญระหว่างนั้นมีการแก้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ คือผมไม่ได้ทำงานในส่วนแก้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ตรง ๆ ก็เป็นอีกทีมหนึ่งแต่ก็อยู่ในฝ่ายเดียวกันเราก็เห็นว่าพัฒนาอย่างไร แนวคิดเป็นอย่างไร เพราะว่าในแต่ละเดือนก็มีการประชุมฝ่าย เราก็เห็นพัฒนาการเห็นที่มาที่ไปก็จะเห็นในมุมที่ลึกกว่า ทำไมจึงต้องบัญญัติกฎหมายอย่างนี้ ทำไมต้องแก้ไขอย่างนี้ และทำไปเพื่ออะไร”
?คำถาม (4) : หัวข้อที่อาจารย์สนใจค่อนข้างเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจง อาจารย์มีวิธีการศึกษาหรือทำความเข้าใจประเด็นปัญหาหรือหลักกฎหมายอย่างไรครับ บางทีเป็นเรื่องเฉพาะมากและอาจจะไม่มีตำราอธิบายในเรื่องเหล่านี้มากนัก เช่น ในเรื่องเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์หรือ FinTech
?อ.ศุภวิช : “บอกตรง ๆ ตอนแรกมีปัญหามากคือช่วงแรกตอนที่ FinTech เข้ามา หรือแม้แต่หลักทรัพย์เอง คือหลักทรัพย์จริง ๆ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ในไทยมีตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 แต่ว่าจริง ๆ แล้วตลาดหลักทรัพย์เองตั้งพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์กฎหมายแรกเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 คือมันนานมากแล้ว แต่หลักกฎหมายก็ไม่ได้มีการพัฒนา หรือมีใครเขียนตำราอย่างชัดเจนคือเท่าที่มีจริง ๆ ก็ต้องให้เครดิตท่านอาจารย์พิเศษ เสตเสถียร ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เท่าที่ผมดูถ้าเป็นตำราภาษาไทยก็จะมีท่านเพียงท่านเดียวที่เขียนตำราออกมาเป็นเล่มเล็ก ๆ แต่ก็คือในภาพรวมเรียกได้ว่าในปัจจุบันถือเป็นตำราที่ดีที่สุดที่มีในท้องตลาดที่เป็นภาษาไทย”
“ยกเป็นตัวอย่างดีกว่าคือตอนเรียนปริญญาโทจริง ๆ ตอนแรกผมตั้งใจที่จะทำหัวข้อในส่วนที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์ แต่มีประเด็นอย่างนี้ครับว่าตอนที่เลือกจะทำ คือ หนึ่ง หาอาจารย์ที่ปรึกษา ณ ตอนนั้นก็ประมาณ 10 ปีแล้วไม่มีอาจารย์ที่ปรึกษาเลย ก็คืออาจจะมีแหละแต่ตอนนั้นขออนุญาตเอ่ยนามอย่างท่านอาจารย์นิลุบลซึ่งจริง ๆ ท่านก็มีความถนัดในด้านนี้เหมือนกัน แต่ท่านก็อยู่ระหว่างลาศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย ส่วนอาจารย์ท่านอื่น ๆ เอง ก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญขนาดนั้น เป็นเหตุผลหนึ่งเลยที่ทำให้ผมไม่เลือกทำหัวข้อนี้ เพราะผมอยากทำอะไรในส่วนที่เรามีอาจารย์ที่ปรึกษาสามารถให้คำปรึกษาได้ และท่านสามารถให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์จริง เพราะว่าถ้าเราไม่มีอาจารย์ที่ปรึกษาผมก็คิดว่าเราอาจจะเคว้ง เพราะว่าต้องไปค้นหาอะไรเองหมดอันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง”
“สองเรื่องตำรา อย่างตอนก่อนที่จะไปศึกษาต่อก็ต้องศึกษาตำราเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย ไม่มีภาษาไทยเลยในช่วงนั้น ถามว่าลำบากไหม ภาษาอังกฤษก็เรียกว่าอยู่ในระดับพอใช้ได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไรมากในการอ่านหรือทำความเข้าใจ บางทีมันก็จะมีศัพท์ทางเทคนิคที่เราก็ต้องค่อย ๆ ค้น ต้องอาศัยเวลานิดหนึ่ง แต่ว่าตอนที่ไปทำงานที่ ก.ล.ต. มันทำให้เราเห็นศัพท์เทคนิคในทางธุรกิจที่เขาปฏิบัติกัน มันก็เกิดความคุ้นเคยยิ่งอยู่หลายปีมันก็ยิ่งคุ้นเคยมาก แล้วยิ่งตอนไปเรียนต่อเราก็เห็นภาพรวม และเชื่อมโยงได้แล้วว่าแต่ละประเทศโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นแม่แบบให้เกือบทุกประเทศในโลกในเรื่องตลาดหลักทรัพย์มันเป็นอย่างไร”
“ต่อไปในเรื่องของ FinTech อันนี้ยิ่งใหม่เลยเพราะว่าตอนที่ไปเรียนต่อ ตอนนั้น FinTech ยังไม่มีบทบาทอะไรคือจริง ๆ มันอาจมีในต่างประเทศก่อน แต่มันก็ยังไม่มีใครสนใจอะไรมาก เพราะจริง ๆ มันโยงกับเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งมันมีมาหลายปีแล้วต้องบอกก่อน แต่จริง ๆ ในประเทศไทยเองหรือประเทศรอบข้างเราคนให้ความสนใจโดยเฉพาะคนที่เป็นนักกฎหมาย ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หรือนักวิทยาศาสตร์ที่ดูด้านนั้นโดยตรง มันเริ่มมาสนใจมาเมื่อไม่เกิน 4-5 ปีนี้ ตอนแรกเรียนตรง ๆ ว่าผมไม่มีความรู้เลยไม่รู้เลยว่าทางปฏิบัติเป็นอย่างไรเทคโนโลยีเป็นอย่างไร อันนี้ก็เริ่มใหม่หมดเลยก็ต้องไปสัมมนาไปถามผู้รู้ และก็เริ่มอ่านหนังสือต่างประเทศแล้ว ซัก 2 ปีก็คล้าย ๆ กับเรื่องหลักทรัพย์เราก็เริ่มเกิดความคุ้นเคย แต่จะดีกว่าตรงที่ว่าอันนี้เราเริ่มจากแต่แรกเราจะเห็นพัฒนาการตั้งแต่ต้น และไปเรื่อย ๆ แต่หลักทรัพย์นั้นเป็นอะไรที่จริง ๆ ในโลกมันเป็นอะไรที่เกิดมากว่า 10 ปีแล้วเราก็ต้องเริ่มไปศึกษาอดีตก่อน ดูว่าปัจจุบันเป็นอย่างไรพัฒนาการเป็นอย่างไรเหตุผลเป็นอย่างไรมันก็จะต่างกัน อันหนึ่งคือเราไปดูของเก่าแล้วพัฒนาต่อ”
“ส่วนในเรื่องของ FinTech เรื่องเทคโนโลยี Blockchain หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเช่นเรื่อง Initial coin offering (ICO) Security Token Offerings (STO) มันก็เป็นอะไรใหม่ ๆ แต่เราก็เริ่มไปด้วยกัน คนละอย่างแต่ก็มีความยาก แต่ผมก็เชื่อว่าสมมติถ้าท่านใดสนใจมันก็ไม่ได้ยากเกินไป คือผมเข้าใจในมุมมองส่วนตัวว่าผมคิดว่ากฎหมายแพ่ง มันก็มีความยากในแง่ที่เราจะต้องศึกษาที่มาที่ไปแล้วอาจมีการเปรียบเทียบ แต่ถ้าเรามองในบริบทของธุรกิจส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายแพ่งเมื่อมองในมุมธุรกิจมากขึ้น สิ่งที่สำคัญมากคือต้องเข้าใจว่าบริบทในทางธุรกิจ หรือว่าแนวทางปฏิบัติในการทำธุรกิจเขามีแนวปฏิบัติอย่างไร เพราะว่าถ้าเราไม่ทราบมันจะไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงออกแบบธุรกรรมอย่างนั้น ถ้าให้ผมพูดในมุมกว้าง ๆ ในมุมของผม ถ้ายกตัวอย่างเป็นรูปแบบธรรมให้เห็น ผมคิดว่ากฎหมายแพ่งมันเหมือนแบบถ้าคุณยิ่งเรียนกฎหมาย 3 ยุคมากับท่านอาจารย์สมยศ ก็จะยิ่งมองเห็นภาพเหมือนท่านอาจารย์สมยศ โดยจะสอนว่าเป็นทางที่เกวียนมันแล่นผ่านไป เพราะฉะนั้นกฎหมายแพ่งอาจเปรียบเทียบได้ว่า มันก็เหมือนเป็นทางเดินที่อาจเป็นหญ้ารก เราถางหญ้าเราก็สามารถสร้างทางเดินของเราได้ภายใต้หลักเสรีภาพทางแพ่ง หรือหลักเสรีภาพในการทำสัญญา”
“แต่ว่าในทางธุรกิจมันไม่เหมือนกันธุรกิจอาจจะมองจากพื้นฐานที่ว่าทำอย่างไรให้ได้กำไรสูงสุด คือมองที่ profit เป็นหลัก เพราะฉะนั้นมันเหมือนที่ว่าสิ่งที่เขาเลือกมาในทางปฏิบัติมันเป็นสิ่งที่ทำให้ได้กำไรสูงสุด เพราะฉะนั้นสมมติเปรียบเทียบกับกฎหมายแพ่งมันเป็นทางคนเดินที่เราค่อย ๆ เดินย่ำไปย่ำมาจนหญ้าตายเกิดเป็นทางเดินขึ้นหรือรถมันแล่นผ่าน หรือเกวียนมันแล่นผ่านมันเป็นทาง แต่ธุรกิจเหมือนกับเป็นการสร้างทางด่วน หรือการตัดคอนกรีต หมายความว่าถ้าคุณไม่วิ่งตามทางด่วนที่เขาตัดไว้ หรือไม่วิ่งตามทางคอนกรีตที่เขาทำทางไว้ก็จะไม่มีใครทำธุรกิจกับคุณ ถ้าไปเลือกทางอื่นมันทำให้เกิดภาระ อาจเป็นความเสี่ยงทางกฎหมาย หรือภาระทางการเงินที่มันสูงขึ้นเพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจกฎหมายธุรกิจโดยเฉพาะพวกหลักทรพย์ ฯลฯ มันจะต้องเข้าใจมุมมอง หรือทางปฏิบัติทางธุรกิจว่าทำไมจึงเป็นแบบนี้ เสร็จแล้วย้อนกลับมามองกฎหมายแพ่งในมุมกฎหมายแพ่ง มันมีอะไรรองรับบ้าง สามารถที่จะออกแบบให้เชื่อมโยงกันอย่างไรได้บ้าง”
“เพราะฉะนั้นก็ต้องได้ 2 ส่วน มุมหนึ่งก็เป็นทางเกวียน มุมหนึ่งก็เป็นทางด่วนทางคอนกรีตที่ตัดขึ้นสำหรับการประกอบธุรกิจเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ”
?คำถาม (5) : อาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ที่อาจารย์ประทับใจในการสอนมีใครบ้างครับ
?อ.ศุภวิช : “จริง ๆ อาจารย์ท่านแรกที่ผมประทับใจก็คือรองศาสตราจารย์สุดา วิศรุตพิชญ์ อันนี้คือเหมือนผมก็บังเอิญ ต้องท้าวความหลายอย่าง พอดีคุณพ่อของผมก็จบเป็นศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ก็เป็นรุ่นน้องอาจารย์สุดา ก็เคยเหมือนแนะนำให้รู้จักกับท่านอาจารย์สุดาตั้งแต่เข้าปีหนึ่ง ปีสอง ตอนแรกก็ไม่ได้สนิทกับท่านมากแต่พอมาเรียนวิชาหุ้นส่วนบริษัท กับท่านตอนปริญญาตรีและคราวนี้พอเราทำคะแนนได้ดีก็เลยคุยกับท่านบ่อยและก็หลัง ๆ ตอนที่จะเรียนปริญญาโทต่อก็มาปรึกษาท่าน ท่านก็ให้คำปรึกษาดีจนมาเรียนปริญญาโทก็ได้เจอท่านอีก แต่ตอนเรียนปริญญาโทนี้คือในส่วนของอาจารย์สุดา เป็นเหมือนเรียกว่าเป็นแม่แบบเป็นต้นแบบที่ทำให้เราสนใจกฎหมายพื้นฐานที่มันเกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ที่ต่อยอดในปัจจุบันก็คือกฎหมายองค์กรธุรกิจ และกฎหมายการเงินที่มันเกี่ยวข้อง ท่านอาจารย์สุดาจริง ๆ ท่านได้ทั้งองค์กรธุรกิจด้วยและในส่วนของกฎหมายการเงินที่เกี่ยวข้องกับองค์กรธุรกิจด้วย”
“ตอนผมเรียนปริญญาโทก็ประทับใจอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของผมเอง ท่านก็คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรวัฒน์ จันทโชติ เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ผมก็คือตอนนั้นจริง ๆ ก็เรียกว่าบังเอิญจริง ๆ ตอนนั้นเราก็ดูก็หาหัวข้อมาเยอะ แต่เหมือนที่เราเรียนไปแล้วว่าหัวข้อด้านหลักทรัพย์ก็ไม่มีอาจารย์ที่ปรึกษา ก็เริ่มหามุมที่มันจะเขียนวิทยานิพนธ์ได้ พอดีตอนนั้นอาจารย์วีรวัฒน์ท่านว่างพอดี พอผมเสนอหัวข้อไปท่านก็แนะนำ แนะนำเรื่องการวิจัยดีมากจนที่สุดก็คือทำกับท่านนี้แหละ แล้วระหว่างทำก็คือท่านก็แนะนำพอดีตอนนั้นก็ทำทนายด้วยงานมันไม่ได้เยอะมาก ผมก็เลยตั้งใจว่าเรารีบเรียนปริญญาโทให้จบเลย พอเหมือนท่านมีให้ข้อแก้ไขงานอะไรผมรีบแก้เลย ก็คือท่านให้ข้อคิดเห็นอะไรมาใน 3 ถึง 4 วัน ผมก็แก้ไขแล้วส่งให้ท่านเลย เพราะฉะนั้นทุกอาทิตย์ผมจะคุยกับท่าน ก็เลยจบโทเร็วเรียกว่าจบเร็วก็คือเรียน 2 ปีก็จบแล้ว ด้วยหนึ่งพอดีท่านไม่ได้เป็นที่ปรึกษาให้นักศึกษาคนอื่นจังหวะบังเอิญจังหวะมันพอดีเพราะท่านมีเวลาด้วย และเรามีเวลาทำด้วยเราก็เลยรีบทำมัน ก็ทำให้เราจบเร็ว ก็เลยประทับใจว่าท่านถ่ายทอดวิธีการทำวิจัย การค้นหาข้อมูล การให้คำแนะนำเวลาศึกษากฎหมายเปรียบเทียบต้องทำอย่างไร หรือเวลามองกฎหมายทางแพ่งลึก ๆ ต้องมองจากทฤษฎีอะไร เชื่อมโยงอะไรอย่างไรขึ้นเยอะเลยครับ”
“ต่อมาก็ที่มีจะประทับใจอีกจริง ๆ เอาคนล่าสุดเลยนะครับก็คือท่านรองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ประทับใจอย่างไรก็จะเชื่อมโยงกับหลายท่าน ขอเอาท่านนี้เป็นท่านสุดท้าย ต้องเล่าว่าคือตอนนั้นท่านอาจารย์สมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายแพ่งได้ติดต่อมาให้ผมไปช่วยสัมมนาวิชานิติกรรมกลุ่มอาจารย์กิตติศักดิ์ ตอนนั้นก็เปิดเทอมประมาณ 4 ถึง 5 สัปดาห์แล้ว ผมก็ตกใจที่ไม่มีใครสัมมนาเลยเหรอ ผมก็เลยตอบรับ แล้วก็ได้ปรึกษาอาจารย์กรศุทธิ์ว่าแนวทางการสอนอาจารย์กิตติศักดิ์เป็นอย่างไร พอเราได้มาทำตอนแรกรู้สึกหนักมาก เพราะของอาจารย์ท่านอื่นบางทีเราฟังบรรยาย โอเคมันเห็นภาพมันตามได้หมด แต่ของอาจารย์กิตติศักดิ์คือผมต้องมานั่งอ่านหนังสือ คือคำบรรยายที่ท่านลงไว้หน้าเว็บไซต์ของคณะ เป็นเอกสารที่ท่านเขียนไม่ได้ไปตีพิมพ์เป็นตำรา ผมต้องมานั่งอ่านใหม่หมดมาฟังท่านแล้วก็ได้มุมมองท่าน แต่ถ้าไม่อ่านมันไม่เห็นภาพชัดเจนจริง ๆ ผมเรียนตรง ๆ ว่าปัจจุบันสัมมนาผ่านไปแล้ว 2 ปีการศึกษา ผมก็ยังคิดว่า ผมยังไม่ได้มองทะลุในทุกมุมมองของท่าน อย่างเข้าใจมากขึ้น อาจารย์กิตติศักดิ์นี้เป็นคนที่คิดลึกมาก คือสิ่งที่ผมประทับใจก็คือเราได้มุมมองคือเมื่อก่อนตอนเรียนนิติกรรม หรือ น.100 คือตอนเรียนตอนปีหนึ่งคือยากแหละยากในมุมที่เราไม่เคยเรียนกฎหมายมาก่อน แต่พอเรียนปีสอง ปีสาม และปีสี่ ต่อไปพอมองกลับมาก็เป็นวิชาง่าย ๆ ไม่มีอะไร แต่พอเรามาเรียนกับอาจารย์กิตติศักดิ์มันไม่ใช่ นี้ขนาดเราเป็นอาจารย์แล้วเราเรียนจนผ่านการจบปริญญาตรี ปริญญาโทมาแล้ว แต่พอกลับไปนั่งเรียนวิชานิติกรรมของชั้นปริญญาตรีมันก็ยังยากอยู่ดี รู้สึกว่าคือทำให้ได้แง่คิดที่ว่าเรื่องที่คนทั่วไปมองว่าง่าย ๆ แต่ถ้าเรามองลึก ๆ หรือปรับใช้กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่มันยาก หรือมีความซับซ้อนเราต้องคิดให้ลึกขึ้น หรือมามองในมุมมองที่มากขึ้น อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ว่าต่อไปถ้าเราจะทำวิจัยหรือเราจะเป็นอาจารย์เราต้องควรได้แบบอาจารย์กิตติศักดิ์ ไม่ว่าเราจะสอนในกระแสหรือนอกกระแสแต่อย่างน้อยเรา ต้องมีวิธีการคิดหรือมุมมองของเราควรจะต้องมองแบบท่าน เอาจริง ๆ คือยึดท่านเป็นแบบอย่าง ในการสอนก็ดี หรือในการทำวิจัยก็ดีอันนี้คือล่าสุดเลย”
“สรุปว่ามี 3 ท่าน หนึ่งท่านรองศาสตราจารย์สุดา วิศรุตพิชญ์ ก็จะเป็นมุมมองเกี่ยวกับการวางรากฐานให้เราตั้งแต่ตอนอยู่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาโท และก็ได้แนวคิดที่สำคัญเลยจากท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วีรวัฒน์ จันทโชติ คนสุดท้ายล่าสุดเลยคือท่านรองศาสตราจารย์ ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ คือได้มุมมองว่า มุมมองที่มุมมองหนึ่งมองอย่างไร มีความเชื่อมโยง หรือมองให้ลึกขึ้นมันอาจดูธรรมดาไม่มีอะไร”
? ภาพถ่าย : อาจารย์ศุภวิชในฐานะผู้ดำเนินรายการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ประกาศควบคุมสัญญาธุรกิจให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยใครได้ประโยชน์”
?คำถาม (6) : งานอื่น ๆ นอกจากงานสอนที่อาจารย์ได้ทำมีอะไรบ้างครับ
?อ.ศุภวิช : “ตอนนี้เป็นอาจารย์มาสามปีแล้ว รู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว (หัวเราะ) ก็ช่วงแรก ๆ เลยก็จะมีงานสอนอย่างเดียว จากนั้นก็ได้ทำวิจัยเล่มแรก เกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain ที่มันเชื่อมโยงเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ผมเขียนเป็นภาษาอังกฤษ และก็นี้คืองานวิจัยเรียกว่าเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ทำเป็นชื่อของตัวเองตรง ๆ” (หมายเหตุ : วิจัยอาจารย์ศุภวิช เรื่อง “Digital Securities and Blockchain Technology: Challenges and Impact on Thai Capital Market in Legal Context”)
“นอกจากงานคณะแล้วก็จะมีไปเป็นกรรมการในคณะหลาย ๆ ชุด เช่น กรรมการจัดซื้อจัดจ้าง กรรมการโครงการผู้ช่วยอาจารย์ กรรมการฝ่ายการนักศึกษา แล้วก็มีเป็นอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มกิจกรรมนักศึกษา เช่น กลุ่มนิติวิชาการ แล้วก็มาช่วยงานที่ศูนย์นิติศาสตร์ แล้วก็มีเป็นกรรมการเกี่ยวกับการจัดเสวนา ก็ทำไปหลายงานแล้วเหมือนกันก็ดีครับทำให้ได้ประสบการณ์”
“งานแรกเลยที่ผมได้ทำเกี่ยวกับงานเสวนาคือเสวนาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เกี่ยวกับเรื่องประกาศหอพักของ สคบ. จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์นี่แหละครับ บรรยากาศตอนนั้นก็คือเหมือนมีการประท้วงในห้องเสวนาโดยคนที่เขาประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหอพัก เขาบอกว่ากฎระเบียบที่ออกใหม่มันทำให้เขาประสบปัญหาในการประกอบธุรกิจอะไรทำนองนี้ แล้วก็มาหลายร้อยคนวันนั้นน่าจะประมาณ 200 คนเต็มห้องเสวนาเลย ผมก็ไม่เคยเจอบรรยากาศแบบนี้มาก่อน เราเป็นผู้ดำเนินรายการ ต้องคอยควบคุมคอยให้คิววิทยากรในการพูดคนนี้พูดก่อนพูดหลัง แต่ว่าที่ยากคือ มีการกดดันจากผู้ฟังแต่ก็สามารถผ่านไปด้วยดีก็เป็นครั้งแรกเลยที่พูดในบรรยากาศกดดันแบบนั้น ผู้ฟังไม่ได้ตั้งใจจะฟังเหมือนแบบถามคำถาม และค่อนข้างที่จะใช้คำถาม และคำพูดที่ไม่ค่อยสุภาพเท่าไหร่ ก็เป็นการทดสอบเหมือนกันครับว่าต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ และก็ต้องดูแลเรื่องความระมัดระวัง ความปลอดภัยของวิทยากรด้วย เพราะว่าวิทยากรก็มาจาก สคบ. แต่ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีเป็นประสบการณ์ที่ยังตราตรึงอยู่ในใจ (หัวเราะ)”
“นอกจากนี้ก็มีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยอธิการบดีของด้านการคลังดูแลด้านการคลัง หลักก็คือเรื่องเกี่ยวกับการเบิกจ่าย การจัดซื้อจัดจ้าง ดูระเบียบที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย ดูด้านระเบียบที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงินของคณะต่าง ๆ อันนี้ก็จะเรียกว่าจริง ๆ ก็ค่อนข้างที่จะจับพลัดจับผลู คือตอนนั้นผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องไปทำอะไรแบบนั้นเริ่มตั้งแต่เป็นอาจารย์ใหม่ ๆ แต่พอดีท่านอาจารย์ไพโรจน์ กัมพูสิริ ซึ่งตอนนั้นท่านก็เป็นรองอธิการบดีอยู่ ซึ่งท่านก็เห็นว่าผมเคยทำงานที่อื่นมาแล้ว แล้วก็เป็นงานเกี่ยวกับด้านการเงินการลงทุนพอดี พอดีมันมีด้านการลงทุนของมหาลัยด้วย ท่านก็เลยถามว่าสนใจไหม ประกอบกับท่านท่านที่ดำรงตำแหน่งนี้ท่านเก่าติดภารกิจเลยขอถอนตัวออกมา ผมก็เลยได้เข้าไปช่วยงานพอดีตอนนี้ก็อยู่กองคลังโดยได้ทำสองสมัยจนถึงช่วงก่อนมาเรียนต่อครับ”
?คำถาม (7) : อยากให้อาจารย์เล่าประสบการณ์สอนในแต่ละวิชาที่อาจารย์สอนว่าเป็นอย่างไรบ้างครับ
?อ.ศุภวิช : “วิชาแรกที่รับผิดชอบสอนคือวิชากฎหมายแรงงานครับ พอดีตอนนั้นอัตราที่รับมาก็ต้องสอนกฎหมายแรงงานด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวผมว่ามันก็เกี่ยวข้องกัน คือถ้าเรามองในแง่องค์กรธุรกิจทั้งภาพรวม ก็มีการเกิดขึ้นขององค์กร มีการบริหารจัดการ มีเรื่องของการเงิน เราอาจมองได้ว่าในการบริหารจัดการต้องมีผู้แทนนิติบุคคล อาจเป็นกรรมการบริษัท ผู้จัดการที่ได้รับมอบจากกรรมการทีกทีหนึ่ง อีกมุมหนึ่งก็มีการจ้างแรงงาน ทีนี้บังเอิญผมก็นึกไปว่าตอนที่เรียนที่สหรัฐอเมริกา ก็เคยทำรายงานเกี่ยวกับโครงสร้างกฎหมายอเมริกา กฎหมายหุ้นส่วนบริษัท ก็ปรากฏว่าเจอมุมหนึ่งซึ่งเป็นกฎหมายเยอรมันที่เขาบอกว่า ให้เป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองแรงงาน ต้องให้แรงงานเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจด้วย ผมก็เลยคิดว่าอันนี้มันเกี่ยวเลยนะที่จริงถ้าเราสอนแรงงานด้วย มันก็สามารถบูรณาการกันได้ คือมันไม่สามารถแยกจากกันได้อยู่แล้วไหน ๆ คณะยังขาดคนตรงนี้อยู่ ผมเข้ามาก็รู้ว่าสอนวิชาเดียวไม่ได้ ต้องสอนหลายวิชาอยู่แล้ว ก็เลยเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ไปสอนแรงงาน”
“วิชานี้เป็นวิชาปี 4 ที่นักศึกษาจะผ่านการศึกษาวิชากฎหมายในเรื่องอื่น ๆ มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนิติกรรมสัญญา กฎหมายมหาชน กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา ซึ่งทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ของกฎหมายแรงงานมากขึ้น ในการสอน ผมมีความประทับใจที่นักศึกษาจะมีคำถามเกี่ยวกับทางปฏิบัติมาสอบถามเยอะพอสมควร เช่น หากนักศึกษาลงเรียนในปีสี่เทอมสอง ซึ่งเขาก็จะผ่านการฝึกงานมาแล้ว ก็จะสอบถามปัญหาที่เขาไปเจอมากับผมค่อนข้างเยอะพอสมควร ทำให้รู้สึกสนุกขึ้นกับการสอน”
“วิชานี้เป็นวิชาที่ผมสอนเยอะที่สุด โดยสอนทุกศูนย์การศึกษา ในภาคการศึกษาหนึ่งก็จะสอนอย่างน้อย 2 ศูนย์การศึกษา ก็จะสอนร่วมกับ อาจารย์ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ หรือ อาจารย์สุรศักดิ์ มณีศร หรือ อาจารย์วิจิตรา วิเชียรชม ขึ้นอยู่กับศูนย์การศึกษา ซึ่งวิชานี้แม้จะสอนค่อนข้างมาก แต่ก็มีความสุขในการสอนมากครับ”
“ต่อมาก็คือวิชากฎหมายองค์กรธุรกิจ การสอนวิชานี้เริ่มจากการเป็นอาจารย์สัมมนาก่อน และค่อยขยับมาเป็นอาจารย์บรรยาย จากประสบการณ์ที่ผมเคยทำงานภาคปฏิบัติที่เป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนี้มาก่อนเข้าทำงานเป็นอาจารย์ ในการสอนบรรยายจึงสามารถเชื่อมโยงไปในทางปฏิบัติได้ ทำให้มีความสนุกในเวลาที่ได้สอน และก็รู้สึกประทับใจมาก เพราะนักศึกษาที่เข้าเรียนมาพูดคุยสอบถามประเด็นต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองอยากให้เป็นแบบนี้ ซึ่งเมื่อสอนเชื่อมโยงกับทางปฏิบัติ นักศึกษาที่สนใจจะได้รับประโยชน์มากขึ้น”
“ในเทอมที่ผ่านมาก็สอนร่วมกับอาจารย์นิลุบล เลิศนุวัฒน์ และอาจารย์สุดา วิศรุตพิชญ์ มีฟีดแบ็คจากนักศึกษาช่วงสอบเสร็จว่าข้อสอบยาก อาจจะเพราะนักศึกษายังไม่ได้เห็นทางปฏิบัติ เมื่อสอนเชื่อมโยงกับภาคปฏิบัติมากขึ้น จึงทำให้นักศึกษาไม่เข้าใจหรือไม่เห็นภาพ ทำให้คะแนนได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็มีนักศึกษาที่ทำคะแนนได้ดีมาก ๆ อยู่ ก็เป็นผลตอบรับของนักศึกษาที่ทำให้ผมเข้าใจนักศึกษามากขึ้นครับ”
“ต่อไปก็คือวิชา วิชากฎหมายการเงินในการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นวิชาเลือก ในภาพรวมคือ ประทับใจ โดยในปีแรก ผมได้ร่วมสอนกับ อาจารย์กิตติวัฒน์ จันทร์แจ่มใส และอาจารย์พิเศษอีกท่าน แต่ในปีที่ผ่านมา มีนักศึกษาลงทะเบียนคนเดียว จึงไม่ได้เปิดบรรยาย ผมจะสอนในเรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่มีลักษณะเป็นสัญญาทางการเงินในรูปแบบหนึ่ง นักศึกษาที่มาเรียนจะเป็นผู้ที่มีความสนใจจริง ๆ ซึ่งผมก็มีความประทับใจเพราะว่านักศึกษาจะพยายามตอบคำถามในประเด็นต่างๆ และในหลาย ๆ ครั้งก็เป็นคำตอบที่ดี เพียงแต่ว่าวิชานี้เป็นกฎหมายเฉพาะจึงทำให้คนสนใจน้อยอยู่ ผมจึงคิดว่าจะต้องพยายามทำให้วิชานี้มีนักศึกษาสนใจมากขึ้นในอนาคตครับ”
? ภาพถ่าย : อาจารย์ศุภวิชกับบทบาททำงานในฐานะกรรมการชุดต่าง ๆ ของศูนย์นิติศาสตร์
?คำถาม (8) : อยากให้อาจารย์เล่าประสบการณ์สอนในแต่ละวิชาที่อาจารย์สอนว่าเป็นอย่างไรบ้างครับ (ต่อ)
?อ.ศุภวิช : “ต่อมาก็คือวิชามรดกครับ อันนี้ก็สอนเป็นทีม ของภาคบัณฑิตสอนร่วมกับอาจารย์ไพโรจน์ อาจารย์มาตาลักษณ์ และอาจารย์กรศุทธิ์ แล้วก็มีหลักสูตร LLB สอนเป็นภาษาอังกฤษร่วมกับอาจารย์กรศุทธิ์กับอาจารย์กิตติภพ จริง ๆ ตอนแรก ก็ไม่ได้มีความสนใจกฎหมายมรดกนะครับ แต่ว่าที่สอนเพราะอาจารย์กรศุทธิ์ชวนแหละ และอาจารย์กิตติภพ ก็รู้สึกว่าในเมื่อเราก็ทำกิจกรรม จัดกิจกรรมให้นักศึกษา หรือว่าทำโครงการ ทำให้คณะหลาย ๆ อย่างด้วยกันมาตลอด จึงรู้สึกว่าลองไปสอนดูก่อน เพราะวิชานี้ก็ขาดคนสอนด้วย”
“และจริง ๆ มรดกเนี่ยมันก็มีความเชื่อมโยงกับกฎหมายแพ่งตัวอื่น ๆ เชื่อมโยงในกฎหมายลักษณะทรัพย์ ซึ่งมันก็จะเชื่อมโยงไปสู่วิชาที่ผมสนใจในท้ายที่สุด มันก็เชื่อมโยงไปได้อยู่นะครับ หรือระบบในการจัดการมรดก ผู้จัดการมรดก จริง ๆ มันก็เป็นระบบเรื่องตัวแทนแหละ หรือว่าอาจจะมีระบบเรื่องการจัดการทรัพย์สิน มันก็เชื่อมโยงไปกับในที่ผมสนใจ การจัดการทรัพย์สินที่มันโยงไปกับกฎหมายหลักทรัพย์ได้อยู่ดี หรือว่าถ้าในอนาคต มีการเอากฎหมายทรัสต์เข้ามาใช้ มันก็จะกลายเป็นวิชาที่น่าสนใจขึ้นมาทันที ก็เลยคิดว่าเราจับไว้ก่อนก็ดี ในอนาคตมันก็ยังมีพัฒนาการไปได้อีก ผมเองคิดว่ามันยังไปต่อได้นะครับ มันยังมีอะไรที่มันพัฒนาไปต่อแล้วก็ทำให้เราสามารถไปค้นคว้าวิจัย หรือทำให้การสอนมันน่าสนใจมากขึ้นได้ในอนาคต”
“แล้วตอนที่มาสอนจริง ๆ กลับกันเลยนะครับ กลายเป็นว่านักศึกษาที่มาเรียนกับเรา หรือว่าความสนใจหรือว่ามีคำถามอะไรต่าง ๆ ที่มันเข้ามา คือส่วนใหญ่ผมจะสอนภาคบัณฑิต เขาจะมีคำถามที่ดีและเยอะมาก เรื่องนั้น เรื่องนี้ มีทางปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ และก็เข้าเรียนเยอะ มีความสนใจเยอะ ก็ทำให้สอนสนุก กลายเป็นว่าผิดคาด วิชาบางวิชาที่เราแบบตั้งใจว่าเราอยากสอน เราอาจจะไม่ได้เจอบรรยากาศในห้องเรียนที่เป็นอย่างนั้น แต่วิชามรดกบรรยากาศในห้องเรียนดีมาก พูดได้เลยว่ามันดีมากจริง ๆ”
“แล้วก็อาจารย์ผู้ใหญ่ หรืออาจารย์ที่เป็นทีมสอน ก็ดีทุกท่าน อย่างอาจารย์ไพโรจน์ที่ท่านเกษียณไปแล้ว ก็มีความเมตตามาสอน มาช่วยคณะ ส่วนอาจารย์มาตาลักษณ์ที่เป็นอาจารย์ผู้ใหญ่และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาผมตอนเรียนปริญญาตรี อาจารย์กรศุทธิ์เองจริง ๆ ก็เป็นอาจารย์รุ่นพี่ และผมก็ได้รับแนวคิดจากท่านอาจารย์กรศุทธิ์เกี่ยวกับการเชื่อมโยงกฎหมายเหมือนกัน และอาจารย์กิตติภพก็เป็นรุ่นน้อง ในการทำงานคือการทำงานมันดูคุยกันง่าย มีเรื่องอะไรก็คุยกันได้ ขาดเหลือตรงไหนมีอะไร ผมก็ประทับใจในทีมผู้สอนเยอะ ทำให้รู้สึกว่าถึงแม้ตัววิชาเราจะไม่ได้ตั้งใจว่าจะมาสอนแต่แรก พอเราเข้าไปช่วยแล้วมันก็ทำให้เราเกิดความตั้งใจว่าในอนาคตจะให้เราจับวิชานี้ต่อไปก็ยินดีครับ”
“สำหรับต่อไปจะขอพูดรวมกันสองวิชาเลยคือวิชา น.100 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย และวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมสัญญา ซึ่งสอนร่วมกับอาจารย์กิตติศักดิ์ทั้งสองวิชา อย่างที่ได้เล่าไปว่าวิชานิติกรรมสัญญากลุ่มอาจารย์กิตติศักดิ์ ท่านก็ขาดอาจารย์สัมมนาอยู่ ผมก็เลยได้โอกาสมาเป็นอาจารย์สัมมนาให้ ส่วนวิชา น.100 ผมก็สอนในส่วนของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ตรงนี้ก็ทำให้เราได้มาค้นคว้าหาข้อมูลในส่วนของบุคคลมากขึ้น ได้ทบทวนหลักกฎหมายที่สำคัญมากขึ้นจริง ๆ วิชานี้สอนไปสอนมารู้สึกชอบ ก็ได้ทบทวนพื้นฐานซึ่งก็มีส่วนเกี่ยวข้องกัน ได้เห็นมุมมองดี ๆ ใหม่ ๆ จากอาจารย์กิตติศักดิ์ จริง ๆ กฎหมายแพ่งมันก็ไม่ได้หยุด แต่มีพลวัตที่จะพัฒนาไปเหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันอาจจะเป็นไปคนละทิศทางหรือคนละรูปแบบกับกฎหมายธุรกิจหรือกฎหมายพาณิชย์ที่ผมคุ้นเคยกว่าก่อนจะมาเป็นอาจารย์ ก็พูดได้เลยว่ามันก็มีข้อดีของมัน มีสิ่งที่น่าสนใจของมันแหละ เพียงแต่ว่าเราต้องเข้าคลุกคลีกับมันก่อน เราถึงจะเห็น อันนี้คือส่วนที่ประทับใจนะครับ”
“อย่างวิชานิติกรรมก็ถือว่าได้ประโยชน์ในแง่ที่ว่าเราได้รู้มุมมองใหม่ ตอนที่ผมเรียนปริญญาตรื ผมเรียนนิติกรรมกับอาจารย์กำชัย คือท่านก็จะสอนมุมที่ว่าเป็นการปรับใช้ แนวทางการปรับใช้กฎหมาย การตีความทั่วไปที่ไปในทางเนติบัณฑิตยสภา เป็นแนวที่นักกฎหมายประกอบวิชาชีพใช้ แต่พอผมมาสัมมนาให้ท่านอาจารย์กิตติศักดิ์ แนวเปลี่ยนเลย คือเป็นมุมมองอีกมุมมองหนึ่งซึ่งจริง ๆ ตอบว่ามีประโยชน์มาก กล่าวคือมุมมองตีความทั่วไปเราได้อยู่แล้ว อันนี้เรามาต่อยอดในมุมมองที่ซับซ้อนขึ้น หรือมีมุมมองที่แตกต่างไป ซึ่งส่วนตัวผมว่าได้ประโยชน์เยอะจากตรงนี้ แต่ถามว่าได้ประโยชน์เยอะก็เหนื่อยเยอะ เพราะว่าอย่างถ้าเราเรียนในกลุ่มเรียนนั้นแล้วเป็นความเห็นกลาง ๆ มันก็ไม่ต้องเตรียมสอนเยอะ แต่ผมยอมรับเลยว่ามันเป็นวิชาปี 1 แต่เวลาในการเตรียมสัมมนาผมใช้เวลาในการเตรียมเพื่อจะสอนเยอะกว่าทุกวิชา ยอมรับว่าเหนื่อยแต่ก็ได้ความรู้เยอะอาจต้องเป็นสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยน และอาจารย์กิตติศักดิ์ท่านก็ดีมาก เป็นกันเองสงสัยตรงไหนสอบถามท่านได้ และสิ่งที่ผมประทับใจอีกอย่างก็คือ ในปีที่ผ่านมาที่สอนออนไลน์มีนักศึกษาเข้าฟังการบรรยายเยอะมาก นักศึกษาความตั้งใจในการเรียนสูง และจุดที่สังเกตได้คือแม้เป็นนักศึกษาปีหนึ่งแต่มีความกล้าที่จะสอบถามปัญหาหรือประเด็นต่าง ๆ กับอาจารย์ผู้บรรยายมากขึ้น ทำให้การเรียนการสอนมีบรรยากาศที่ดีมากครับ”
“นอกจากนี้ก็มีวิชา น.160 การเขียนในเชิงกฎหมาย 1 ของภาคบัณฑิต ซึ่งสอนร่วมกับอาจารย์กรศุทธิ์ อาจารย์ดิศรณ์ อาจารย์กิตติภพ แล้วก็มีวิชา น.161 การเขียนในเชิงกฎหมาย 2 ซึ่งสอนร่วมกับอาจารย์ทั้งสามท่านเหมือนกัน แล้วก็มีอาจารย์พนัญญากับอาจารย์เพียรรัตน์ด้วยครับ แล้วก็มีวิชา น.471 ที่เกี่ยวกับทักษะการฝึกงานด้วยครับ”
? ภาพถ่าย : อาจารย์ศุภวิชกับบทบาทการเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์
?คำถาม (9) : อยากให้อาจารย์เล่าความรู้สึกและประสบการณ์จากทำงานการเป็นกรรมการชุดต่าง ๆ ของศูนย์นิติศาสตร์ครับ
?อ.ศุภวิช : “จริง ๆ ตอนแรก ผมยังไม่ได้เป็นกรรมการศูนย์นิติศาสตร์ ผมจำได้ว่าเป็นอาจารย์กรศุทธิ์ที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์นี่แหละก็ชักชวนให้มาช่วยงาน งานแรกที่รับคือออกข้อสอบมูทคอร์ทรอบภายในให้แก่ศูนย์นิติศาสตร์ ตอนนั้นทำกับอาจารย์เพียรรัตน์ ก็รู้สึกประทับใจ ประทับใจตรงที่ว่าคือ เจ้าหน้าที่ในศูนย์ก็ดี ไม่ว่าจะเป็นนิติกร ทนายความ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวข้อง ทำงานติดต่อประสานงานให้ และรวมถึงตัวกรรมการที่มีอยู่แล้วตอนนั้นที่มีอาจารย์กรศุทธิ์แล้ว ก็มีความประทับใจ คือคุยง่าย หรือเวลามีงานมีอะไรก็คุยกันรู้เรื่อง ไม่ต้องมีพิธีการอะไรกันมาก เหมือนคุยกันตรงๆ ในเรื่องนั้น ปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้ และคอยแก้ปัญหาไปด้วยกัน พอรับงานนี้มาแล้ว หลักจากนั้นก็รับงานจากศูนย์นิติศาสตร์มาโดยตลอด และก็เข้าไปเป็นกรรมการ และอาจจะพูดได้ว่าเป็นกรรมการเกือบทุกชุดในกรรมการย่อยของศูนย์นิติศาสตร์”
“ผมอาจจะไม่ลงรายละเอียดทุกชุดนะครับ ความรู้สึกก็คือดีเหมือนกันนะครับ คณะทำงานก็อาจจะมี ส่วนใหญ่จะเป็นชุดเดิมแหละ คืออาจารย์กรศุทธิ์ อาจารย์กิตติภพ อาจารย์ดิศรณ์ อาจารย์เพียรรัตน์ อาจารย์พนัญญา ยกตัวอย่างอย่างชุดมูทคอร์ท คนที่ดูหลัก ๆ จะเป็นอาจารย์พนัญญา เพราะว่าท่านก็จะเป็นอาจารย์ที่มีประสบการณ์ด้านนี้ เคยแข่งมูทคอร์ทเอง และก็เคยคุมทีม ณ ปัจจุบันเข้าใจว่าคุมทีมของคณะอยู่ด้วย และก็เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่นักศึกษาในเรื่องนี้ด้วย ส่วนใหญ่ผมจะให้ความเห็นเพิ่มเติมมากกว่า จะไม่ได้เป็นตัวหลักเท่าไร แต่ก็ได้ออกข้อสอบหลายครั้ง ๆ ครั้งแรกก็ออกกับอาจารย์เพียรรัตน์แล้วก็ครั้งล่าสุดที่ออกกับอาจารย์กรศุทธิ์และอาจารย์กิตติภพ และก็มีเรื่องของการทบทวนกติกามารยาทและก็เป็นกรรมการขึ้นไปตัดสิน”
“ถ้าความประทับใจจริง ๆ จะเน้นที่ตัวนักศึกษามากกว่าว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมแสดงให้เห็นถึงความสามารถว่าสามารถทำโน่น ทำนี่ได้จริง ๆ อันนี้ก็เป็นความประทับใจ บางทีเราสอนในห้อง นักศึกษาเขาก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นหรือบางทีก็มีการตอบคำถามบ้าง แต่นักศึกษาหลาย ๆ คนที่ร่วมกิจกรรมก็ประทับใจมาก ที่มีวิธีการคิดที่ดีมาก ทั้งการนำเสนอ การคิด บุคลิกภาพ ผมประทับใจหลาย ๆ คนเลย ทำให้เรารู้สึกว่าบางทีมองนักศึกษาในชั้นเรียนอย่างเดียวเนี่ยมันอาจจะไม่พอ พอเรามาเห็นเขาทำกิจกรรมก็เห็นความเป็นตัวตนของเขามากขึ้น รู้ว่าคนแต่ละคนเขามีความสามารถ มีศักยภาพแค่ไหน ทำให้เรามีความภูมิใจ ดีใจ ในแง่ที่ว่าบางทีเราสอนอะไรเขาไปแล้ว นอกจากจะสอนในห้องและตรวจข้อสอบที่ออกไปทางวิชาการ พอเห็นเขาเอามาประยุกต์ใช้กับการแข่งขันในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้วเขาทำได้ อันนี้เรารู้สึกดี มันเป็นความภาคภูมิใจในมุมมองของการเป็นอาจารย์ ซึ่งอันนี้มันดีนะในแง่ที่ว่าเราเป็นกรรมการของศูนย์นิติศาสตร์ด้วย และอยู่ในกรรมการชุดนี้ด้วย และก็ได้ทำงานจริง ๆ อันนี้คือประทับใจในนักศึกษา”
“ส่วนกิจกรรมก็จัดมาหลายปีแล้วนะครับ ซึ่งผมคิดว่ารูปแบบกิจกรรมค่อนข้างนิ่งแล้วก็เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็อาจจะถือเป็นการชักชวนนักศึกษาคนที่อยากพัฒนาทักษะ ในแง่ของการนำเสนอ การคิดวิเคราะห์ เป็นกิจกรรมที่ควรเข้าร่วม แต่หลัง ๆ คนก็เข้าร่วมเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เราน่าจะเรียกว่าเราสำเร็จแล้ว ส่วนระดับประเทศเราก็ได้แสดงฝีมือ ซึ่งข้อสอบระดับประเทศ เราเป็นอาจารย์ประจำคณะ จึงไม่ได้ออกข้อสอบ เป็นบุคลากรภายนอก นักศึกษาเราก็ทำได้ ถึงแม้ว่าปีล่าสุดอาจจะไม่ชนะที่หนึ่ง แต่ผลแพ้ชนะไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ ก็คงมองในแง่ที่ว่านักศึกษาได้แสดงความสามารถเป็นที่ประจักษ์ ผลแพ้ชนะก็เป็นผลพลอยได้ แพ้ชนะเป็นเรื่องธรรมดา”
? ภาพถ่าย : อาจารย์ศุภวิชกับคณาจารย์ซึ่งเป็นกรรมการร่วมในคณะทำงานของศูนย์นิติศาสตร์
?คำถาม (10) : เนื่องจากอาจารย์มีบทบาทในการดูเรื่องการฝึกงานและการฝึกกฎหมายภาคปฏิบัติของนักศึกษาค่อนข้างมาก จึงอยากให้อาจารย์ปิดท้ายเกี่ยวกับความรู้สึกและประสบการณ์ด้านดังกล่าวครับ
?อ.ศุภวิช : “ใช่ครับ เรื่องหนึ่งที่ผมเข้ามาทำหลัก ๆ คือเรื่องการฝึกงาน เพราะบังเอิญว่างานฝึกงานตอนช่วงที่ผมเข้ามาที่เป็นอาจารย์อุดมเป็นคณบดีอยู่ ซึ่งตอนนั้นอาจารย์ณภัทรเป็นคนดูเรื่องฝึกงาน พอดีอาจารย์อุดมและอาจารย์ณภัทรเห็นว่าผมเคยทำงานที่อื่นมาก่อน ที่อาจจะต่างกับอาจารย์ท่านอื่นนิดนึงคือ อาจารย์หลาย ๆ ท่านอาจจะเรียนจบปริญญาเอกแล้วมาสอบเข้าเป็นอาจารย์ ก็อาจจะไม่ได้ไปทำงานข้างนอก ซึ่งผมจะกลับกันคือผมไปทำงานอื่นหลายปีจนมาเป็นอาจารย์ อาจารย์ทั้งสองเลยบอกว่าดังนั้นคุณอาจจะมีหรือเคยเห็นทางปฏิบัติมาก่อน ก็เลยให้มาดูเรื่องฝึกงาน ตอนแรกก็คือออกแบบระบบ ตอนนั้นโครงการที่คิดขึ้นมาคือโครงการจัดอบรมให้แก่นักศึกษาก่อนที่จะส่งตัวไปฝึกงาน ซึ่งเท่าที่ทำมารายละเอียดก็คือได้รับผลตอบรับดี”
“แล้วหลังจากนั้นการฝึกงานมาอยู่ในการดูแลของศูนย์นิติศาสตร์โดยตรง พอผมมาเป็นกรรมการศูนย์เนี่ย ก็ต่อเนื่องนะครับ ไหน ๆ ก็เคยทำตรงนั้นมาแล้ว ก็เป็นกรรมการย่อยชุดฝึกงานต่อยาว ๆ เลย พูดง่าย ๆ ก็คือกลายเป็นงานหลักของผมไปเลย ทำจนเชี่ยวชาญนะครับ ก็จริง ๆ ถามว่าในศูนย์มีระบบอยู่แล้วไหม มีนะครับศูนย์นิติศาสตร์มีระบบฝึกงานที่ดีอยู่แล้วในการดูแลนักศึกษา เพียงแต่ว่าก็หลัง ๆ เนี่ยก็เรียกว่าทุกปีที่นักศึกษามีปัญหาหรือมีข้อเสนอแนะ เราก็รับฟังและปรับปรุงเสมอนะครับ อันนี้ก็เรียนไว้ก่อน ผมว่าเป็นระบที่ดีนะครับ มีการเซ็ตระบบ มีการปรับปรุงเสมอ ตั้งแต่ผมดูแลเรื่องฝึกงานมาเนี่ย ภาพรวมเลยก็ดีนะครับ ซึ่งเรื่องระบบมันดีอยุ่แล้วละ เพียงแต่ว่าเราอาจจะมีการหา มีการจัดบูท มีการทำให้นักศึกษาได้ประโยชน์สูงสุด และก็งานหลัก ๆ อีกงานก็คือการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคณะกับสถานที่ที่รับนักศึกษาฝึกงาน ประสานงานเรื่องนั้นเรื่องนี้ นี่คือสิ่งที่ทำมาตลอด จนคิดว่าโอเคละ”
“และปัญหาที่เราเพิ่งแก้ไป จริง ๆ อาจจะไม่ได้เรียกว่าผมคนเดียว อาจจะเรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่ร่วมกันแก้ระหว่างกรรมการท่านอื่น ๆ ก็คือจะเป็นเรื่องโควิดที่มีการแพร่ระบาด ทำให้ไม่สามารถไปฝึกงานได้จริง ๆ อาจจะมีปัญหาตั้งแต่ฝึกไม่ครบเวลา หรือบางทีรับนักศึกษาไปแล้วก็มายกเลิกทีหลัง หรือบางทีบางที่ก็ไม่รับตั้งแต่แรกทำให้จำนวนไม่ได้ตามเป้า เราก็ต้องมีโครงการอื่น ๆ มารองรับ อันนี้ก็เป็นเรื่องของความท้าทายซึ่งผมคิดว่าในปีที่ผ่านมาที่เราร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกัน เราก็ทำได้ดีมากนะครับ ถึงแม้ว่าอาจจะมีปัญหาเฉพาะหน้าให้แก้หลาย ๆ เรื่อง ส่วนตัวก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดานะครับ เพราะว่าแน่นอนว่าเป็นเรื่องของครั้งแรกก็ต้องมีปัญหาอะไรไป แล้วก็คิดว่าปีนี้เราได้วางระบบอะไรที่มันดี ๆ แล้ว ปีต่อ ๆ ไปถ้ามันมีปัญหาที่ยังไม่คลี่คลาย หรือว่าในอนาคตจะมีปัญหาอีก เราก็จะสามารถแก้ปัญหาโดยใช้โมเดลเดิมที่เราทำไว้อยู่แล้ว ก็จะไม่ต้องมีปัญหาอะไรที่ต้องมาคิดเยอะเหมือนปีที่ผ่านมาแล้ว อันนี้ก็เป็นความภูมิใจนะครับที่เราก็เป็นฟันเฟืองตัวนึงที่เป็นส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในเชิงการปฏิบัติงานหรือว่าโครงการต่าง ๆ ให้แก่นักศึกษาโดยเฉพาะเรื่องฝึกงานนะครับ”
“ส่วนอีกโครงการหนึ่งที่ชุดฝึกงานดู ก็คือเรื่องการฝึกทักษะการปฏิบัติงานทางกฎหมาย หรือ Legal Practice Workshop จริง ๆ อันนี้เป็นเรื่องใหม่ ในเรื่องนี้ต้องให้เครดิตท่านคณบดีมุนินทร์ และผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ อาจารย์กรศุทธิ์ที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เป็นการยกบทบาทของศูนย์นิติศาสตร์ให้มากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราก็จะเน้นทักษะนอกเหนือจากวิชาการที่เรียนในห้อง เป็นเรื่อง soft skills กับ hard skills คือทั้งหมดนะครับ และในแง่ของการปฏิบัติต่าง ๆ ประสบการณ์ต่าง ๆ จากการทำงาน ผมเชื่อว่าตรงนี้เป็นส่วนที่เข้ามาเติมเต็ม ที่ทำให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงาน ในการทำงาน หรือแม้แต่การเรียนการสอน ตลอดจนการที่เขาจะไปเรียนต่อดีมากขึ้น ตัวอย่างนะครับ เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับการพูด การ presentation ในฐานะนักกฎหมาย หรือตลอดจนเกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ การค้นคว้า legal research ที่เราก็เคยมีการจัด หรือที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่บางคนอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องสอนด้วยหรือ แต่เรามีนะครับ และก็ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี ก็คือ เรื่องของการทำ resume เพื่อทำงาน เพื่อศึกษาต่อ บางทีมันอาจจะเป็นเรื่องที่หลายๆท่านคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก จริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอยู่ นักศึกษาหลาย ๆ คนก็อาจจะไม่มีที่ปรึกษา หรือไม่มีใครที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ตรงให้ โครงการเหล่านี้ผมว่าก็ดีนะครับเพราะว่าบางทีเราก็จะไปคิดแทนหมด อย่างผมเมื่อก่อนจริง ๆ ก็ไม่ได้มีที่ปรึกษาอะไร แต่ว่าโชคดีที่ว่ามีรุ่นพี่ ตอนจะไปเรียนต่อก็แนะนำมา ก็ต้องไม่ลืมว่านักศึกษาหลาย ๆ คนเขาอาจจะไม่ได้มีโอกาสแบบนั้น เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็ทำให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสเหมือน ๆ กัน ทั้งในแง่ของการเรียน และในแง่ของการพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ที่จำเป็น ที่จะส่งเสริมกับทักษะด้านวิชาการที่เข้าเรียนในห้องด้วย”
“อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ประทับใจมากนะครับ เพราะว่าเป็นโครงการที่ริเริ่ม คือจริง ๆ ผมอาจจะไม่ใช่ผู้ริเริ่ม ตามที่ได้เรียนว่าต้องให้เครดิตท่านคณบดีกับผอ.ศูนย์ แต่ก็ถือว่าเป็นคณะทำงานคนหนึ่งละกันที่มีส่วนร่วม ผลักดัน ช่วยคิดกิจกรรมต่าง ๆ 2 ปีเต็ม แล้วก็ตอนนี้ผมลาศึกษาต่อแล้ว แต่ว่าโครงการต่าง ๆ ก็ดำเนินการต่อไปได้ เพราะว่าเหมือนว่าพอเราเซ็ตระบบที่ดีแล้วในรูปของคณะกรรมการ มันทำให้ตอนนี้มันเข้าที่แล้ว เพียงแต่ว่าต่อไปในรายละเอียด อะไรที่มันอาจจะดีขึ้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีและผมก็อยากให้มันเป็นอย่างนั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องของความประทับใจและบทบาทของผมในเชิงลึกว่าทำอะไรบ้างในศูนย์นิติศาสตร์ และก็แง่มุมดี ๆ และสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในคณะเราละกันผ่านการดำเนินการของศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอบคุณครับ”
? ถ่ายภาพ Pump, Tue
? เรียบเรียง ผศ.ดร.กรศุทธิ์