บทสัมภาษณ์รองศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า กับประสบการณ์เข้าแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นศาลอุทธรณ์ (Moot Competition) ภายในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2551 สัมภาษณ์โดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
รองศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเข้าแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์ รอบภายในคณะนิติศาสตร์ ในปีการศึกษา 2551 เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และได้รับรางวัลชมเชยจากการแข่งขัน และในปีนี้อาจารย์อานนท์จะมาร่วมเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันด้วย วันนี้เราได้รับเกียรติจากอาจารย์อานนท์มาพูดคุยถึงประสบการณ์จากการแข่งขัน รวมถึงข้อแนะนำสำหรับผู้ที่จะเข้าแข่งขันในปีนี้
คำถาม (1) : เหตุผลที่อาจารย์อานนท์สมัครเข้าแข่งขัน
รศ.อานนท์ : “เหตุผลก็อย่างนี้ครับ ผมว่ากิจกรรมนี้ของคณะ เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจครับอาจารย์ เนื่องจากว่าเราเรียนกันแต่ในทางวิชาการ กิจกรรมที่มีลักษณะให้นักศึกษาได้คิดได้ทำวิจัยเล็ก ๆ หรือว่าได้ลงมือในภาคปฏิบัติ หรือประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมันมีน้อยมากเลยครับ อาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นเรื่องที่แปลกใหม่สำหรับผมเอง และเพื่อนร่วมทีม ก็เลยตัดสินใจลงแข่งครับ เพื่อหาประสบการณ์”
“ตอนที่คณะเปิดประกาศ เราก็ไม่รีรอที่จะสมัครแข่งขัน พอคณะเปิดชี้แจงกติกา เราก็ศึกษากติกาครับ พอเราได้หัวข้อของมูทคอร์ท ในแต่ละรอบที่คณะทยอยส่งให้ เราก็รีบไปทำการค้นคว้าโดยใช้ห้องสมุดสัญญาเป็นหลักเลยครับ”
“ผมยังเก็บไว้เลยครับว่ารอบแรกตอนที่แข่งเนี่ยเป็นเรื่องปัญหาคดีที่ที่เกี่ยวข้องกับเบี้ยปรับในสัญญาเช่าซื้อ แล้วก็รอบถัดจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของสัญญาแชร์ครับ มันจะเปลี่ยนไปทุกรอบสมัยที่ผมแข่งขันครับ”
คำถาม (2) : อยากให้อาจารย์อานนท์พูดถึงเพื่อนร่วมทีม
รศ.อานนท์ : “ผมจับคู่กับคุณรมย์รวินท์ ศรีบานชื่นนะครับ เป็นเพื่อนนักศึกษาผู้หญิงที่เขาอยู่ชมรมปาฐกถาและโต้วาทีด้วยนะอาจารย์ เพราะฉะนั้นเนี่ย (หัวเราะ) ผมจึงเบาใจมากเลยว่า เขามีความสามารถและน่าจะมีความสามารถมากกว่าผมด้วยเพราะเขาอยู่ชมรมปาฐกฐาและโต้วาที”
คำถาม (3) : อาจารย์อานนท์และเพื่อนร่วมทีมแบ่งหน้าที่กันอย่างไร
รศ.อานนท์ : “คือตอนนั้นต้องบอกว่าเราช่วยกันทำครับ เพราะว่าเราคิดว่า ถ้าเราแยกประเด็นกันไปแล้วมันอาจจะขาดตกบกพร่องนะครับ การที่เราช่วยกันคิดประเด็น กำหนดประเด็น แล้วก็ไปค้นคว้า แล้วเราก็จะกลับมารีเช็คกันเอง กลับมานั่งคิดน้ำหนักของประเด็นที่จะใช้ในการต่อสู้ในการแข่งขัน มันมากพอมั้ย โดยที่เราไม่ได้ใช้วิธีที่ว่าแบ่งประเด็นแล้วไปหากัน เพราะว่าเรากลัวพลาดครับ”
คำถาม (4) : การแบ่งเวลาสำหรับการเตรียมตัวแข่งขันกับการเรียน
รศ.อานนท์ : “ตอนนั้นเรารู้สึกว่ามันไม่มีปัญหาเลย ในเรื่องของการแบ่งเวลา อาจจะเป็นเพราะว่า ประการแรกนะครับ เรารู้สึกว่า ตรงนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของเราเอง แล้วก็มันก็เป็นเรื่องในทางกฎหมาย เราไม่เคยคิดเลยว่านี่มันจะเป็นการเบียดเวลา หรือว่าต้องเจียดเวลาทำให้มันเสียไปเลย แม้ว่าเนื้อหาของการแข่งขันมูทคอร์ทบางเรื่องจะเป็นเรื่องที่เราเรียนกันมาแล้วในชั้นปีที่ 2 หรือปีที่ 1 เช่นเรื่องเบี้ยปรับ หรือเรื่องที่เราไม่เคยเรียนมาก่อนเช่น สัญญาแชร์ เราก็จะไม่รู้สึกเลยว่ามันเป็นภาระต่อชีวิต เราใช้เวลาในช่วงพักกลางวัน แล้วก็ช่วงเย็นครับในการไปค้นคว้าห้องสมุด ซึ่งเราก็ไม่รู้สึกว่าเสียเวลาอะไร เนื่องจากว่าแหล่งค้นคว้าเราเนี่ยมันติดอยู่กับที่เรียนของเราอยู่แล้ว เนื่องจากว่าสมัยผมเนี่ย ผมกลับมาเรียนที่ท่าพระจันทร์เป็นรุ่นสุดท้ายครับ ห้องสมุดเราก็คือเป็นส่วนหนึ่งตึกคณะเลย มันไม่มีปัญหาเรื่องการเดินทางไปค้นคว้า หรือปัญหาใดทั้งสิ้นเลยครับ”
คำถาม (5) : ปัญหาหรือข้อผิดพลาดในการแข่งขัน
รศ.อานนท์ : “ผมมองว่าข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการทำงานของผม คือว่า ผมเนี่ยจดรายละเอียดซึ่งเป็นถ้อยคำในแถลงการณ์อย่างละเอียดมาก จนมันคล้ายเป็นสคริปต์เลย มันไม่ใช่การกำหนดประเด็นนะครับ พอเราเขียนยาว ๆ มากเลยเนี่ย เราจะติดกับความสมบูรณ์แบบในสิ่งที่เราร่าง แล้วเราจะเกร็งมากเลย เวลาเราคิดว่า เราตกตรงไหนไป เราข้ามตรงไหนไปหรือหรือเปล่า ฎีกาตรงนี้กระโดด Wording ตรงนี้มันหายไป คำสำคัญตรงนี้มันหายไป มันก็จะเกร็ง แล้วก็ทำให้การถ่ายทอดมันดูไม่เป็นธรรมชาติ มันเหมือนกับว่าเราจำน่ะครับ เราเป็นหุ่นยนต์แล้วก็ถ่ายทอดถ้อยคำแบบภาษาเขียน แล้วความเกร็งมันก็ออกมาทางสีหน้าและอาการครับ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันเป็นความผิดพลาดในการแข่งขันนะครับอาจารย์ ซึ่งเราก็เห็นนะครับ ว่าเพื่อนเราที่เป็นคนที่ชนะเลิศ เขาก็เก่งมาก เขาก็พลิ้วมากเลย เขาไม่ต้องพะวงกับตัวสคริปต์ที่เราร้อยเรียงจนสมบูรณ์จนมันทำลายศักยภาพในการพูดของเราไปเลย”
คำถาม (6) : ทักษะสำคัญที่ควรมีในการแข่งขันในความเห็นของอาจารย์อานนท์
รศ.อานนท์ : “ทักษะที่สำคัญมีอยู่สองสามข้อครับอาจารย์ ข้อแรกคือ ทักษะในการที่มีมีหัวในเชิงวิพากษ์นะครับมี Critical Thinking นะครับ เนื่องจากว่า ประเด็นที่เราจะแข่งขันนั่นคือ ประเด็นที่ยกข้อต่อสู้ในส่วนที่เรารู้สึกและเข้มแข็งที่สุด และก็เป็นการโจมตีฝั่งตรงข้ามในข้อที่เราเห็นว่ามันเป็นจุดอ่อนเขามากที่สุด เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามไปคิดไปหาข้อมูลว่าส่วนไหนเป็นส่วนที่เข้มแข็งของเรา มีข้อมูลอะไรที่จะมาสนับสนุนเรายิ่งขึ้นได้อีก มากกว่าที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วยซ้ำ และข้อมูลในส่วนไหนที่มันเป็นปัญหาบ้าง ในส่วนที่ฝั่งตรงข้ามเขาชนะคดีขึ้นมา อันแรกเลยผมคิดว่าเป็นเรื่องพื้นฐานของการจะทำมูทคอร์ท เพราะว่าถ้าเรายอมศิโรราบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นตั้งแต่แรกเลย เราก็จะรู้สึกอึดอัดหรือลำบากมากเลยถ้าจะคิดจะก้าวข้ามผ่านจุดที่เราไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลนะครับ”
“ประการที่สอง ผมคิดว่ามันคือทักษะของการถ่ายทอดโดยการพูดนะครับ ผมเห็นว่าทักษะนี้มีความสำคัญเนื่องจากว่าเราอาจจะคุ้นชินกับการเรียนของเรา ที่เราถ่ายทอดด้วยการเขียนจากการตอบข้อสอบในการสอบไล่ในทุก ๆ วิชา การพูดเป็นโอกาสที่เราไม่ค่อยมีกันนักนะครับในสมัยชั้นเรียนเป็นปริญญาตรี เนื่องจากว่าคลาสเรียนของเราเป็นคลาสที่ค่อนข้างใหญ่ ไม่สามารถที่จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกคนได้มีส่วนในการแลกเปลี่ยนและอภิปราย ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นทักษะอันนึงที่สำคัญมาก แต่เราขาดไปในชั้นเรียน อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องพยายามไปพัฒนานะครับ เพื่อที่จะเอามาใช้ในการแข่งขัน เพราะการแข่งขันของเราคือการที่เราต้องแสดงศักยภาพในการถ่ายทอดการพูดเป็นสำคัญเลย”
“ประการที่สาม ผมคิดว่าการทำงานร่วมกันกับเพื่อนครับเป็นทักษะที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง การแข่งขันเนี่ยมันเป็นการแข่งขันเป็นทีมเราไม่ได้ทำงานคนเดียวนะ เพราะฉะนั้นเนี่ยในเรื่องของการเตรียมตัว เราก็ต้องเตรียมตัวโดยการพูดคุยกับเพื่อนอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่เราทำนั้นเรากำลังทำอะไรอยู่ แล้วประเด็นที่เราพอเราเจอมานั้นมีอะไรบ้าง ไม่งั้นแล้วเนี่ย การทำงานเป็นทีมเวิร์คมันไม่ประสบความสำเร็จเลยนะ ถ้าเรายึดตัวเองเป็นที่ตั้งหรือว่าเราโยนงานให้เพื่อนเป็นหลัก นอกจากนั้นก็คือว่า พอเราทำงานเป็นทีมปุ๊บเนี่ย เวลาที่เราจะต้องลุกขึ้นพูด มันก็จะต้องมีการแบ่งว่าใครพูดก่อนหรือใครพูดหลัง อันนี้เรากับเพื่อนก็ต้องมานั่งคิดมาทบทวนกันว่าศักยภาพของเราแต่ละคนเนี่ย ว่าเราพลิ้ว หรือเราจะเป็นธรรมชาติ หรือมันจะลื่นไหลได้มากที่สุดในประเด็นไหน เพราะว่าแต่ละคนจะมีความถนัดไม่เท่ากันในการที่จะถ่ายทอด ในความเชี่ยวชาญหรือการพูดในประเด็นปัญหาบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราไม่ถนัดในเรื่องสัญญาแชร์นะครับ ในประเด็นหนึ่งที่มัน เอ็ะ สัญญาแชร์มันมีลักษณะอย่างไร สมมติเพื่อนเราเป็นคนที่เชี่ยวชาญและก็ชอบ หรือเขาอินกับข้อกฎหมายธุรกิจ เขาก็จะพูดได้ดีหรือลื่นไหลกว่า เราก็ควรที่จะเลือกศักยภาพ หรือแบ่งศักยภาพตามความเชี่ยวชาญด้วยในกรณีที่เราเห็นว่า เรื่องใดเป็นเรื่องที่เพื่อนเชี่ยวชาญในประเด็นนั้นกว่า เราจะไม่แบ่งกันว่าฉันก็ต้องเป็นมือหนึ่งในการพูดปากหนึ่งในการพูดตลอดมันไม่ใช่ครับ มันจะดูที่เนื้อดีกว่า ว่าเราจะสลับให้ใครเป็นปาก 1 ปาก 2 ในเวลานั้นนะครับ”
คำถาม (7) : สิ่งที่อาจารย์อานนท์ได้รับจากการแข่งขัน
รศ.อานนท์ : “ผมมองว่ามันเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก ๆ เลยครับอาจารย์ ครั้งหนึ่งเลยในชีวิตผมถึงขนาดเก็บตัวบันทึกของถ้อยคำแถลงการณ์เอาไว้ แล้วผมคิดว่าในช่วงเวลาอันจำกัด กรอบจำกัดของระยะเวลา มันทำให้บีบศักยภาพของพวกเรากับเพื่อนเราได้อย่างมากเลยนะครับ ในการที่จะต้องไปกระตือรือร้นในการที่จะทำโจทย์หรือตีโจทย์ หรือหาจุดเด่นจุดด้อยในงานนั้นก็ตาม มันสร้าง Passion น่ะครับ ด้วยการแข่งขันที่มันบีบมันสร้าง Passion ในการทำงานวิชาการชิ้นเล็ก ๆ ของเรา อันนี้ผมมองว่ามันเป็นจุดใหญ่เลยนะครับ มันจะทำให้เราได้ประสบการณ์มาก เราหาประสบการณ์อย่างนี้ไม่ได้ในห้องเรียน เพราะว่าอะไรครับ เพราะว่าเราไม่เคยเจอโอกาสที่เราจะมาทำเวทีอภิปรายโต้วาทีในข้อกฎหมายกับเพื่อนเลย การสอบข้อสอบของเราเราก็ไปเจอกันเอาหน้างานตอนสอบไล่อย่างเดียวไงครับ แต่ว่านี่มันไม่ใช่ มันเป็นโจทย์ที่เรารับมาแล้วก็ทำการบ้านแล้วก็ ก็มาแลกเปลี่ยนกับเพื่อน แล้วก็ไปต่อสู้กับเพื่อนฝั่งตรงข้าม ผมรู้สึกมันสนุกมากครับ สนุกมาก ประสบการณ์ในแง่นี้ ณ เวลานั้นนะครับ ถามว่าวันนี้ย้อนกลับไปรู้สึกยังไงรู้สึกเหมือนเดิมครับอาจารย์ รู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ก็ผมคิดว่าผมก็อยากฝาก ถ้ามีนักศึกษาอ่านบทสัมภาษณ์อันนี้ก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจของเขาครับ ที่ให้เขามามาแข่งขันหรือว่าแม้ไม่แข่งขันก็มาติดตามการแข่งขันของเพื่อน ๆ นะครับจะได้ความรู้และประสบการณ์ด้วย”
คำถามสุดท้าย : อยากให้อาจารย์อานนท์ฝากถึงผู้เข้าแข่งขันในปีนี้
รศ.อานนท์ : “ผมฝากผู้เข้าแข่งขันในการแข่งขันปีนี้นะครับ ไม่ว่าท่านจะเป็นคนที่เข้ารอบหรือไม่เข้ารอบ ผมคิดว่าถ้าเราได้ตั้งใจนะครับ ในการเข้าแข่งขันทำ Research ได้เป็นอย่างดี การแข่งขันนี้เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก ๆ ของท่านเอง มันจะอยู่ใน Profile คนก็เห็นแล้วก็ว้าวนะครับ ถ้าเป็นนายจ้างเห็นก็ว้าว เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนที่นึกอยากจะมาแข่งกิจกรรมแบบนี้ ถ้าเราเห็นในจำนวนสถิติตัวเลข นักศึกษาเรามีประมาณปีละ 500 คนผู้สมัครในแต่ละปีก็ไม่เกิน 80 คนนะครับ อาจจะน้อยไปกว่านั้นด้วยซ้ำ มันแสดงให้เห็นอะไรบางอย่างถึงความกระตือรือร้นของตัวเราเอง มองจากเวลาที่คนอื่นมองกลับมายัง Profile หรือ CV ของผู้สมัครแข่งมูทคอร์ท แต่ว่าเหนือสิ่งใดครับ ผมคิดว่าการที่นักศึกษาปีนี้ได้ตั้งใจที่จะร่วมแข่งขัน แล้วก็เอาจริงเอาจังกับมัน ประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับระหว่างทางนั้นมีค่าแน่นอนครับ”
ถ่ายภาพ Pump
เรียบเรียง ผศ.ดร.กรศุทธิ์