บทสัมภาษณ์ ปราการ สมบุญยิ่ง หนึ่งในสมาชิกทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นศาลอุทธรณ์ (Moot Competition) ภายใน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2551 (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/mootcourt_no-5_2551/) สัมภาษณ์โดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ช่วยแนะนำตัวคร่าว ๆ และเล่าให้ฟังหน่อยว่าเข้าแข่งมูทคอร์ทเมื่อไหร่ครับ
ปราการ : “ผมชื่อปราการ สมบุญยิ่ง นิติศาสตรบัณฑิตรหัส 49 เนติบัณฑิต สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขากฎหมายระหว่างเทศ จาก the University of Melbourne Law School ปัจจุบันเป็นทนายความอยู่สำนักงานกฎหมายวีระวงค์, ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส (WCP) ครับ”
“ผมเข้าร่วมการแข่งขันมูทคอร์ทของคณะตอนเรียนอยู่ปี 2 ซึ่งเป็นการแข่งขันมูทคอร์ทภายใน ครั้งที่ 5 ประจำปี 2551 ครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ทำไมถึงตัดสินใจเข้าแข่งขันครับ
ปราการ : “โดยส่วนตัวผมชอบทำกิจกรรมเกี่ยวกับการพูด และการโต้วาทีอยู่แล้วครับ จึงมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะด้านการพูดในที่สาธารณะของตัวเองจากการแข่งขันที่มีรูปแบบและกติกาการแข่งขันที่ต่างออกไปจากการแข่งขันโต้วาที และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ผมเคยทำมาก่อนหน้านี้ครับ และที่สำคัญ การแข่งมูทคอร์ทคือการถกเถียงกันในปัญหาข้อกฎหมาย และแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งเป็นเรื่องที่เราในฐานะนักศึกษากฎหมายกำลังเพียรศึกษากันอยู่แล้ว การเข้าร่วมแข่งขันก็เหมือนได้ศึกษาและค้นคว้ากฎหมายอีกวิธีหนึ่ง”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ตอนนั้นอยู่ปีสอง ทำไมถึงกล้าลงแข่งขัน
ปราการ : “ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอะไรเลยครับ และไม่ได้คิดว่าการเรียนอยู่ปี 2 จะเป็นอุปสรรค์สำหรับการแข่งมูทคอร์ทด้วย ผมมองเป็นโอกาสมากกว่าที่จะได้ศึกษาค้นคว้ากฎหมายในเรื่องที่เรายังไม่เคยเรียนแต่ต้องเตรียมตัวแถลงการณ์ตามที่โจทย์ให้มา สุดท้ายไม่ว่านักศึกษาจะเรียนอยู่ปีไหน แต่ระยะเวลาในการเตรียมตัวสำหรับแต่ละรอบก็เท่ากันครับ ดังนั้นพอผมได้รับการติดต่อจากรุ่นพี่คนหนึ่งในคณะ ชวนให้ผมจับคู่เข้าแข่งขันกับเพื่อนของรุ่นพี่คนดังกล่าว ผมจึงตอบตกลงทันทีครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : แล้วต้องดูไหมว่าจะทำงานร่วมกันได้ไหม
ปราการ : “การทำงานร่วมกันภายในทีมสำคัญมากครับ เพราะแต่ละรอบของการแข่งขัน แต่ละทีมมีเวลาเตรียมตัวจำกัดมาก เพียงแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น เราจึงต้องวางแผนการทำงานให้รัดกุม แบ่งเนื้อหาและประเด็นที่ต้องค้นคว้ากันให้ดีเนื่องจากมีตำราและคำพิพากษาศาลฎีกาจำนวนมากที่ต้องอ่าน เสร็จแล้วต้องนัดประชุมเพื่อนำข้อมูลที่หาได้มาแลกเปลี่ยนกัน ฉะนั้นทีมต้องพร้อมที่จะพูดคุยถกเถียงกันตลอดเวลา หากทำงานไม่เข้าขากันก็ลำบาก และอาจไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน”
อ.กรศุทธิ์ : ครับ แล้วพวกนิสัยใจคอของเพื่อนร่วมทีมเราต้องคำนึงถึงไหม ว่าเข้ากันได้หรือไม่ อะไรอย่างนี้
ปราการ : “ต้องคำนึงด้วยนะครับ ยิ่งถ้ารู้จักเป็นเพื่อนกันมาก่อนก็ยิ่งดีครับ เพราะตลอดช่วงหลายเดือนที่แข่งขันต้องเจอกันแทบทุกวัน หากเพื่อนเราไม่ช่วยกันทำงานไม่รับผิดชอบภาระจะตกหนักกับอีกคนหนึ่ง แต่ผมไม่ค่อยกังวลเรื่องนี้เท่าใดนักครับ นักศึกษาที่ตัดสินใจสมัครเข้าแข่งมูทคอร์ทล้วนตั้งใจดีอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นคงไม่แบ่งเวลาเที่ยวเล่นมาทำกิจกรรมหนัก ๆ แบบนี้ เพียงแต่ว่าก็ควรเลือกเพื่อนร่วมทีมที่ไว้ใจได้ว่าจะไม่ทิ้งกัน ผมเห็นหลายคู่ที่จับทีมกันมาแข่ง รอบแรก ๆ ของการแถลงการณ์ก็ขยันดีอยู่ แต่พอขยับเข้าไปรอบลึก ๆ มันใกล้ช่วงสอบปลายภาคเข้าไปทุกที ๆ บางทีมก็สละสิทธิไม่มาแถลงการณ์เลย ผมจำได้มีอยู่ปีหนึ่งที่ผมกลับไปเป็นกรรมการตัดสินในรอบแรก พอถึงเวลานัดหมาย ฝ่ายจำเลยผู้แถลงแก้ไม่มาศาล (จำลอง) เพราะเตรียมตัวไม่ทัน ปล่อยให้ฝ่ายโจทก์มารอเก้อ และก็จะชนะไปโดยไม่ต้องแถลงเพราะจำเลยขาดนัดอย่างนี้น่าเสียดายมากครับ ผมก็เลยบอกนักศึกษาว่า งั้นแถลงแข่งกับกรรมการไหม ผมก็เลยลงจากบัลลังก์ไปนั่งแถลงเป็นฝ่ายจำเลยให้ เป็นอย่างนั้นไป เพราะไม่อยากให้นักศึกษาเสียโอกาส โดยสรุปคือ เลือกคู่ที่ไว้ใจได้ และพร้อมจะเดินไปด้วยกันจนสุดทางของการแข่งขันครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : การเตรียมตัวก่อนเข้าแข่งขัน ใช้วิธีเตรียมตัวอย่างไรครับ
ปราการ : “เมื่อเราได้โจทย์คำถามมาต้องอ่านปัญหาให้แตก จับประเด็นของคดีให้ครบทุกประเด็น จากนั้นแบ่งประเด็นกันช่วยค้นคว้า เมื่อได้ข้อมูลมาต้องนัดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แล้วรีบกำหนดแนวทางของการแถลงการณ์ให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้มีเวลากลับไปค้นคว้าเพิ่มเติมให้ลึกยิ่งขึ้น ขั้นตอนการค้นคว้าข้อมูลสำคัญมากสำหรับทีม เพราะเป็นเหมือนการวางรากฐานให้มั่นคง แต่อย่าเสียเวลามากจนเกินไป เพราะเราต้องให้เวลากับการย่อยข้อมูลที่เราได้มาและคิดหาวิธีการนำเสนอให้คนฟัง หรือกรรมการฟังเข้าใจง่ายด้วยครับ ไม่เช่นนั้นที่ค้นคว้ามามากมายก็ไม่มีประโยชน์ แล้วเราต้องไม่ลืมว่าเรามีเวลาแถลงต่อหน้าศาลเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น จึงต้องคิดว่าจะเตรียมวิธีการนำเสนอให้ฟังแล้วน่าคล้อยตาม และเข้าใจได้ง่าย ๆ ได้อย่างไร”
“ผมมีเทคนิคอย่างนี้ครับ คือการแถลงด้วยวาจาต้องไม่ใช่การมายืนอ่านคำแถลงการณ์ให้กรรมการฟัง หลังจากที่ผมแบ่งประเด็นกับเพื่อนร่วมทีมแล้ว เราจะเตรียมบทพูดเป็นประเด็นสั้น ๆ จดลงไว้บนกระดาษแผ่นเล็กขนาดครึ่งหนึ่งของแผ่นเอสี่ วิธีนี้บังคับไม่ให้เราไปยืนอ่าน เพราะบนกระดาษที่เราถือตอนแถลงการณ์มีเพียง Bullet Point เท่านั้น แล้วในบทพูดเราก็จดไว้ว่า เราจะใช้คำพูดวาทศิลป์ตรงนั้นว่าอะไร จะเหน็บใครตรงไหน จะหยุดพูดจังหวะใด เราเตรียมไว้หมดเหมือนเป็นการแสดงอย่างหนึ่ง ทำให้มันสนุก ทำให้กฎหมายเรื่องยาก ๆ ฟังแล้วเข้าใจง่าย ไม่ต้องอัดข้อมูลเยอะ ๆ ให้กรรมการฟัง เพราะถ้าใส่ข้อมูลลงไปมากในเวลาที่จำกัด กรรมการก็จับประเด็นไม่ทันอยู่ดี”
“นอกจากนี้ เราต้องไม่ลืมว่าเราไม่ได้เตรียมไปเพื่อพูดอยู่ฝ่ายเดียว เราต้องเก็บคะแนนในการโต้แย้งคำแถลงการณ์ของฝ่ายตรงข้ามด้วย ดังนั้นผมจะเตรียมคิดไปก่อนให้ครบเลยว่า อีกฝ่ายหนึ่งเขาจะนำเสนอประเด็นอะไร ถ้าเราพูดแบบนี้เขาจะเถียงอะไรกลับมา แล้วก็เตรียมเป็นรายประเด็นเหมือนเดิมครับ จดใส่กระดาษแผ่นเล็ก ๆ ไว้ แยกเป็นรายประเด็น วิธีนี้พอถึงวันแถลงเราก็สบาย ๆ ครับเพราะคิดไว้หมดแล้ว อีกฝ่ายจะมาแนวไหนก็ได้เราก็ไม่ตระหนก พอเขาพูดมาในประเด็นนี้เราก็เพียงหยิบกระดาษใบน้อยที่เราเตรียมมาขึ้นไปอัดเขากลับฉากใหญ่ ถ้าเราเตรียมตัวให้พร้อมทุกประเด็น เราจะสนุกกับการแถลงการณ์ครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ใช้วิธีซ้อมพูดเลยไหมครับ
ปราการ : “ซ้อมครับอาจารย์ ซ้อมหนักมากครับ โดยเฉพาะคืนก่อนวันแถลงการณ์ผมจะเอาบทพูดที่เป็นประเด็น ๆ ที่ผมกล่าวเมื่อสักครู่มายืนพูด เดินพูดหน้ากระจก ซ้อมท่วงท่า น้ำเสียง สายตา จังหวะการอ้างเอกสารประกอบการแถลงการณ์ทุกอย่าง แล้วถ้าตรงจุดไหนฟังเสียงตัวเองแล้วยังไม่ลื่นไหลก็จะรีบปรับบทพูดในคืนนั้น ยิ่งซ้อมมากบทพูดก็ยิ่งกระชับขึ้นและสั้นลง ทำให้ผมเหลือเวลาที่จะนำเอาวาทศิลป์เข้ามาแทรกในการนำเสนอของผมมากขึ้นอีก ก็ยิ่งทำให้การแถลงการณ์ของทีมน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ตอนที่แข่งมีปัญหาหรือว่ามีข้อผิดพลาดอะไรไหมครับ
ปราการ : “แทบไม่เคยมีข้อผิดพลาดครับ เพราะเราเตรียมตัวมาอย่างดี แต่ที่หนักใจมากที่สุดคือ ข้อผิดพลาดของฝ่ายตรงข้ามที่หลงประเด็นไปโต้เถียงสิ่งที่ไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทที่โจทย์ให้มา กรณีมักเกิดขึ้นเสมอกับคู่แข่งขันอีกฝ่ายที่ได้รับโจทย์มาแล้วเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากได้รับบทบาทให้แถลงการณ์โต้แย้งแนวความเห็นทางกฎหมายกระแสหลัก หรือโต้แย้งแนวคำพิพากษาฎีกาที่ยึดถือกันมานานแล้ว แทนที่เขาจะพยายามหาช่องโต้แย้งในเชิงทฤษฎีทางกฎหมาย แต่กลับหลบไปโต้เถียงปัญหาข้อเท็จจริงที่โจทย์ให้มาเป็นที่ยุติแล้ว แบบนี้ถือเป็นข้อผิดพลาดของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งทำให้เรา งง ตามไปด้วยว่าจะเถียงอะไรกับเขา ในสถานการณ์แบบนี้ ผมก็ทำได้เพียงแถลงต่อกรรมการว่า อีกฝ่ายหลงประเด็น แล้วก็พยายามดึงกลับให้เข้ามาสู่ประเด็นของการแข่งขันครับ เวลาเจอคู่ต่อสู้แบบนี้ก็ไม่ค่อยสนุกเท่าไรครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : คิดว่าทักษะสำคัญที่ต้องมีสำหรับผู้เข้าร่วมแข่งขันคืออะไรครับ
ปราการ : “ผู้เข้าร่วมแข่งขันต้องมี 3 ทักษะที่สำคัญครับ”
“ทักษะแรกคือ การค้นคว้ากฎหมาย เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของนักศึกษากฎหมายทุกคนที่ต้องมี ต้องเข้าใจหลักกฎหมาย อ่านทฤษฎีและตำราทางกฎหมายแตกฉาน เข้าใจบทบาทและความสำคัญของแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาว่ามันอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ใดในระบบกฎหมายของเรา อ่านแล้วรู้ว่าอะไรคือประเด็น และรู้จักนิติวิธีในการนำคำพิพากษาศาลฎีกามาปรับใช้”
“ทักษะที่สองคือ การนำเสนอข้อมูล เป็นทักษะที่สำคัญมากของนักกฎหมาย เพราะกฎหมายเป็นเรื่องยากและซับซ้อน นักศึกษาจึงต้องรู้จักทำให้กฎหมายเป็นเรื่องง่าย ฟังแล้วเข้าใจได้ทันที และต้องคิดเสมอว่ากรรมการผู้ตัดสินที่นั่งบนบัลลังก์ไม่ใช่อาจารย์ ผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความ ฉะนั้น นักศึกษาต้องรู้จักคัดสรรข้อมูลที่ได้มาจากการค้นคว้า ซึ่งมีจำนวนมาก ให้เหลือเพียงแต่ส่วนที่สำคัญ ๆ ที่เป็นจุดเด่นที่จะถูกนำมาใช้นำเสนอแก่ผู้ฟัง ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นนี้เคยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษายืนตามกันมาอยู่ 10 คดี ก็อย่ายกมาพูดทั้งหมด เสนอแค่คำพิพากษาเดียวพอที่น่าสนใจที่สุด ที่เหลือก็นำเสนอไปว่า นอกจากนี้ก็มีคำพิพากษาอีกจำนวนมากที่สนับสนุนแนวความเห็นตามคำพิพากษาฉบับนี้ เป็นต้น”
“ทักษะสุดท้ายคือ การพูดในที่สาธารณะ เนื่องจากมูทคอร์ทคือการแข่งขันโต้เถียงปัญหาทางกฎหมายด้วยวาจา ฉะนั้น นักศึกษาจะต้องรู้จักวิธีการพูดโน้มน้าวผู้ฟังด้วย หากดูจากโครงสร้างการให้คะแนนสำหรับการแข่งขัน ส่วนนี้คือคะแนนวาทศิลป์นั่นเอง อย่าพูดจาเร็วหรือช้าจนเกินไป จัดวางให้บทพูดมีทั้งช่วงที่เร็วและช้าตามความเหมาะ หยุดพูดเพื่อให้ผู้ฟังได้คิดในจังหวะที่ควรหยุด การวางสายตาและท่วงท่าบุคลิกภาพต้องกลมกลืนกับเนื้อหาที่นำเสนอ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ตอนนั้นแบ่งเวลายังไง มีปัญหากับการเรียนไหม
ปราการ : “ไม่มีปัญหากับการเรียนเลยครับ หลักที่สำคัญคือ ต้องมีวินัยในตนเอง ถึงเวลาเข้าฟังคำบรรยายต้องเข้าเสมอ เสร็จจากห้องบรรยายแล้วก็ควรตัดกิจกรรมอื่น ๆ ออกทั้งหมด และให้เวลากับการค้นคว้าและเตรียมทีมเข้าแข่งขันครับ หากมีความจำเป็นที่ต้องซ้อมจนไม่สามารถเข้าเรียนได้ ก็ต้องรีบตามบันทึกคำบรรยายจากเพื่อนครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : คาดหวังกับการแข่งขันมากน้อยแค่ไหนครับ
ปราการ : “ไม่ได้คาดหวังอะไรเลยครับ ผมเน้นที่ความสนุกสนานอย่างเดียวครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : รู้สึกอย่างไรกับโจทย์ที่ได้ใช้แข่งขัน
ปราการ : “รู้สึกว่ายากและท้าทายครับ เนื่องจากตอนผมลงแข่งผมอยู่ปี 2 หลักกฎหมายหลาย ๆ เรื่องก็ยังไม่ได้เรียนเลย แต่ก็ต้องค้นคว้าเพื่อแถลงการณ์ให้ได้ครับ โจทย์ปัญหาที่เกี่ยวกับข้อโต้เถียงในกฎหมายอาญาสนุกที่สุดครับ เพราะแต่ละประเด็นมีแนวความเห็นแตกต่างกันหลายแนว และคำพิพากษาของศาลฎีกาก็ถูกตัดสินกลับไปกลับมาอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นที่ยุติ ซึ่งทำให้ผมมีวัตถุดิบในการหยิบข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้โต้แย้งโต้เถียงได้มากครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ขอถามเพิ่มเติมว่า ปราการเคยได้แข่ง Moot Court รายการอื่นอีกหรือไม่ครับ
ปราการ : “หลังจากที่ผมแข่งแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นศาลอุทธรณ์ภายในคณะเมื่ออยู่ปี 2 เสร็จ ปีถัดไปตอนผมเรียนอยู่ในชั้นปีที่ 3 ผมได้มีโอกาสร่วมทีมกับพี่ ๆ ชั้นปี 4 เดินทางไปแข่งขัน International Law Moot Court (Asia Cup 2008) ที่ประเทศญี่ปุ่นครับ จากนั้นเมื่อผมขึ้นปี 4 ผมก็ได้จับคู่กับรุ่นน้องในคณะคนหนึ่ง เข้าร่วมแข่งขัน Moot Court ระดับประเทศ ที่จัดขึ้นโดยคณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เป็นเจ้าภาพในการแข่งขัน คร่าว ๆ คือแข่งปีละ 1 รายการใหญ่ ตั้งแต่เข้าเรียนชั้นปี 1 จนสำเร็จการศึกษาครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ได้รับรางวัลไหมครับ
ปราการ : “ครับ ได้รางวัลติดไม้ติดมือกลับมาทุกรายการครับ สำหรับการแข่งขัน Asia Cup 2008 ที่ประเทศญี่ปุ่น ทีมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ได้รับรางวัลร่างคำคู่ความยอดเยี่ยมอันดับที่ 3 และได้คะแนนรวมของทีมเป็นลำดับที่ 5 ของเอเชียครับ ส่วนตัวผมได้รับรางวัลผู้แถลงการณ์ยอดเยี่ยมอันดับที่ 3 ในเอเชีย พร้อมกับรุ่นพี่ที่ร่วมแถลงการณ์ด้วยกันในทีม ปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ของเราครับ คือ อาจารย์ ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย ซึ่งท่านได้รับรางวัลผู้แถลงการณ์ยอดเยี่ยมอันดับที่ 1 ของเอเชียครับ และต้องไม่ลืมกล่าวถึงรุ่นพี่อีกท่านหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญในการแข่งขัน ปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะเช่นเดียวกันครับ คือ อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ครับ”
“และในปีสุดท้ายสำหรับการแข่งขัน Moot Court ระดับประเทศ ที่จัดโดยคณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ผมกับน้องในทีมในฐานะตัวแทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันปีดังกล่าวครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : คิดว่าได้รับอะไรบ้างจากการเข้าร่วมแข่งขันนี้ แล้วก็มีส่วนช่วยในชีวิตจริงของการทำงานไหม
ปราการ : “ประโยชน์ที่ได้รับในระดับผิวเผินมากที่สุด คือ การได้ผ่านประสบการณ์ในการเข้าร่วมแข่งขันนั้น ทำให้เราสามารถนำไประบุใน Resume ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการยื่นสมัครเรียนต่อระดับปริญญาโทในต่างประเทศ และการยื่นสมัครงานหลังเรียนจบครับ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น การเข้าร่วมแข่งขันทำให้เรามีโอกาสได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะสามประการที่ผมกล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ คือ การค้นคว้ากฎหมาย การนำเสนอข้อมูลทางวิชาการให้เข้าใจง่าย และการพูดในที่สาธารณะ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นจนกอปรเป็นบุคลิกภาพของตัวเราได้ต่อเมื่อฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องครับ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในชีวิตการทำงานอย่างมากครับ เนื่องจากไม่ว่าหลังจากสำเร็จการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยแล้วนักศึกษาจะประกอบอาชีพใด ไม่ว่าอาจารย์ ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมายในหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน หรือแม้กระทั่งประกอบอาชีพอื่น ๆ นอกสายกฎหมาย ล้วนแล้วแต่อาศัยทักษะสามประการนี้เช่นเดียวกันครับ โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นทนายความด้วยแล้ว เราต้องอยู่กับการค้นคว้าข้อมูลทางกฎหมาย แล้วต้องทำให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่าย เพื่อโน้มน้าวลูกความของเรา ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดี หรือแม้กระทั่งฝ่ายตรงข้ามให้คล้อยตามอยู่ตลอดชีวิตของการประกอบวิชาชีพอย่างแน่นอนครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : คำถามสุดท้าย อยากฝากอะไรถึงผู้ที่จะเข้าแข่งขันปีนี้บ้างครับ
ปราการ : “ขอให้น้อง ๆ ตั้งใจเตรียมทีมให้ดีครับ ไม่ต้องกังวลผลแพ้ชนะในการแข่งขัน ทำหน้าที่ให้สุดความสามารถ และน้อง ๆ จะพานพบกับความสนุกของการเป็นผู้แถลงการณ์ด้วยวาจาในศาลชั้นอุทธรณ์ครับ แล้วพบกันครับ”
ปราการให้เกียรติเป็นคณะกรรมการตัดสินการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์ รอบภายในคณะนิติศาสตร์ ครั้งที่ 17 ประจำปีการศึกษา 2562 รอบคัดเลือก ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 7-8 พฤศจิกายนนี้ด้วย
ถ่ายภาพ Chn.
แต่งภาพ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง ผศ.ดร.กรศุทธิ์