บทสัมภาษณ์สรัล อร่ามรัศมีกุล หัตถพงษ์ หิรัญรัตน์ และนวพล ขำสง่า ผู้ชนะเลิศการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจา ในชั้นอุทธรณ์ รอบภายในคณะนิติศาสตร์ ครั้งที่ 17 ประจำปีการศึกษา 2562 (Moot Court Competition 2019) สัมภาษณ์โดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
คำถาม (1) : เหตุผลที่สมัครเข้าแข่งขัน
สรัล : “สำหรับเหตุผลที่ผมมาร่วมการแข่งขัน คือ ผมต้องการพัฒนาทักษะที่ขาดอยู่ของผมอย่างทักษะการพูดในที่สาธารณะครับ โดยส่วนตัวผมขอออกตัวเลยว่าผมเป็นคนที่พูดไม่ค่อยเก่ง รวมถึงพูดไม่รู้เรื่อง แน่นอนครับตลอดสี่ปีในคณะนิติศาสตร์ ผมมีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะหลายอย่างครับ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการเขียน ทักษะการฟัง และทักษะการอ่าน แต่สิ่งที่ยังขาดจริง ๆ คือ การพูดครับ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการเป็นนักกฎหมายในอนาคต อีกเหตุผลหนึ่งผมคิดว่าการมาแข่งครั้งนี้ ทำให้ผมได้มีโอกาสทบทวนความรู้ที่ได้เรียนมา ได้เอามาเชื่อมโยงเพื่อแก้ไขปัญหาครับ เพราะ อย่างที่รู้กันครับว่าการเรียนของคณะนิติศาสตร์เอง เป็นการเรียนแบบไม่ได้เชื่อมโยงความรู้ระหว่างวิชา คือ ข้อเท็จจริงหนึ่งหากอยู่ในข้อสอบวิชาซื้อขายก็ต้องเอากฎหมายซื้อขายมาตอบ หากอยู่ในวิชาหนี้ก็ต้องเอาวิชาหนี้มาตอบ ทั้งที่ความจริงจากการที่ผมเข้าร่วมแข่งขันในข้อเท็จจริงหนึ่งเราสามารถนำกฎหมายหลาย ๆ ตัวมาบูรณาการตอบปัญหาที่เกิดขึ้นได้ครับ อันนี้คงเป็นสองเหตุผลหลักที่ผมมาเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ครับ”
หัตถพงษ์ : “มีสามประเด็นครับ ตอนปีสี่เทอมสองเนี่ยจะค่อนข้างว่าง แล้วตัวเองก็มีความฟุ้งซ่านระดับนึง ก็เลยอยากจะมองหากิจกรรมที่จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งที่ทำให้ฟุ้งซ่านเนี่ยมาใช้เวลาให้มันเกิดประโยชน์มากขึ้น ประเด็นที่สองเนี่ยคือต้องยกความดีความชอบให้กับพี่ณัฐพงค์ ทรายหมอ ซึ่งเป็นผู้ชนะการแข่งขันปี 60 คือผมได้เจอตอนที่เขากำลังมาค้นคว้างานเกี่ยวกับกฎหมายที่เขาต้องแข่งขัน เขาบอกว่าโจทย์ที่เขาได้รับ แล้วก็ฝ่ายที่เขาได้รับเนี่ย ถ้าเราพูดแค่ในทางกฎหมายยังไงเราแพ้ ผมก็ถามว่าแล้วทำไมยังแข่งเนี่ย ยังไงเราก็ต้องแพ้อยู่แล้ว เขาก็ตอบว่าในเรื่องการแข่งขันครั้งนี้มันเป็นอะไรที่มากกว่าการให้เหตุผลทางกฎหมายด้วย มันมีเรื่องของการเตรียมตัวไปสู้ให้มันถึงที่สุดต่อให้รู้ว่าจะมีความเสียเปรียบ แล้วก็มีการเตรียมตัวเกี่ยวกับเรื่องของการพูดด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในการแข่งขัน แล้วก็ในประเด็นที่สามก็คือผมเห็นว่ามันเป็นกิจกรรมที่ดีเหมือนกันในการจะมีความทรงจำดี ๆ สักครั้งกับเพื่อนสนิทของผมที่อยู่ร่วมกันมาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 นั่นคือเปรม (สรัล) กับแบงค์ (นวพล)ครับ”
นวพล : “ช่วงนั้นผมกำลังตัดสินใจครับว่าผมจะเลือกเดินในเส้นทางอาชีพนักกฎหมายทางไหนดี ซึ่งผมต้องการที่จะพิสูจน์ตัวเองครับว่า ผมพอที่จะมี skill ของการเป็นทนายความหรือพนักงานอัยการไหม ผมจะชอบและเหมาะสมกับสายงานนี้หรือเปล่า ซึ่งการแข่งขันในรายการนี้ก็ช่วยตอบคำถามตรงนี้ได้เป็นอย่างดีเลยครับ เพราะตลอดการแข่งขัน ผมได้สวมบทบาทเป็นทนายความหรือพนักงานอัยการ เสมือนได้ลองทำคดีจริงๆ ซึ่งทักษะที่สำคัญที่เราจะได้ฝึก ก็ได้แก่ การเตรียมคดีเพื่อหาข้อต้อสู้มาหักล้างอีกฝ่ายหนึ่ง การพูดในเชิงโน้มน้าว การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และก็เรื่องบุคลิกภาพ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทักษะที่สำคัญกับการทำงานในฐานะนักกฎหมายในอนาคต ซึ่งพอผมได้มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันครั้งนี้ ได้ลองฝึกทักษะเหล่านี้เป็นครั้งแรก ซึ่งไม่เคยได้มีโอกาสทำมาก่อนเลย ก็ทำให้ผมเห็นว่าอาชีพทนายความหรือพนักงานอัยการก็เป็นอาชีพที่น่าสนใจดีนะ และก็ได้มีพื้นฐานของการทำงานในลักษณะนี้เพื่อที่จะนำไปต่อยอดต่อไปในอนาคต และก็ช่วยตอบคำถามให้กับตัวเองอีกด้วยว่าเราเหมาะสมกับการทำงานในเส้นทางอาชีพนี้หรือไม่”
คำถาม (2) : ความสำคัญและวิธีการในการคัดเลือกเพื่อนร่วมทีม
สรัล : “สำหรับการทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ เพราะ ต้องอย่าลืมว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง เราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ไม่ได้ถนัดทุกเรื่อง โดยการทำงานของทีมผมไม่ค่อยมีปัญหาอะไรครับ ทุกคนก็เป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว ทำให้การติดต่อกันเป็นไปโดยง่าย เหมือนกับพูดภาษาเดียวกันครับ อีกทั้งในทีมผมเองเนี่ยทุกคนล้วนแต่มีความสามารถสูงระดับต้น ๆ และมีความรับผิดชอบในระดับสูง ดังนั้นการทำงานทุกคนจะเป็นอิสระ ทำงานในหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย การทำงานจึงไม่มีใครเป็นหัวหน้าครับ เพราะ ทุกคนสามารถเป็นหัวหน้าได้กันหมด ผมคิดว่าเรื่องนี้สามารถเชื่อมโยงได้กับการทำงานในโลกความจริงครับที่วิชาชีพกฎหมายเวลาจะแก้ปัญหาหนึ่ง ไม่ใช่ว่าจะใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวแก้ไข แต่จะต้องทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่นด้วย”
“ในส่วนของนิสัยใจคอเป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ เพราะ การแข่งขันนี้ ความเชื่อใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราต้องเชื่อใจว่าประเด็นที่เพื่อนร่วมทีมเตรียมมาเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง เพื่อให้เรามีความมั่นใจในการแถลงในส่วนของเราครับ ซึ่งความเชื่อใจนั้นก็เกิดขึ้นมาจากการรู้จักนิสัยใจกันเป็นอย่างดี สำหรับทีมผมทุกคนต่างเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว ทำให้เราต่างมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นอย่างดีครับ และเชื่อว่าในยามลำบากอย่างช่วงใกล้สอบเนี่ย เราคงจะไม่ทิ้งทีมหนีหายไปครับ”
หัตถพงษ์ : “จริง ๆ คือตอนนั้นเราไม่ได้เลือกเลยครับ ก็คือเรารู้กันว่าแบบเราเล็งไว้แล้ว แล้วเปรม (สรัล) เขาก็เป็นเพื่อนกับผมมาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 แล้ว ส่วนแบงค์ (นวพล) เนี่ยเราก็รู้จักกันมาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ก็รู้จัก สนิทสนม มักคุ้นกันดี เพราะฉะนั้นเนี่ยมันแทบที่จะไม่ค่อยมีหลักการในการเลือกเพื่อนร่วมทีมเท่าไหร่ครับ”
“เพื่อนร่วมทีมมันมีความสำคัญในแง่ของการวางแผนว่าเราจะจัดให้คนแต่ละคนอยู่ตำแหน่งไหน เพราะว่าถ้าหากต่อให้เรารวมคนเก่งมาอยู่ด้วยกันแค่ไหน แต่ถ้าความสัมพันธ์มันไปกันไม่ได้ ก็คงออกมาไม่ดี เพราะว่ากิจกรรมครั้งนี้เนี่ยมันนอกจากจะมีความสนใจเกี่ยวกับการแข่งกฎหมายแล้วมันยังมีความสำคัญเกี่ยวกับการมอบความไว้วางใจให้กับเพื่อนที่ออกไปพูดด้วย ถ้าหากเรามีความสัมพันธ์ที่ไม่ได้มีความราบรื่น หรือว่าไม่ได้ไว้เนื้อเชื่อใจกันขนาดนั้น มันอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งกันตอนหลังได้ ถ้าเรารู้จักกันดี สิ่งสำคัญเลยก็คือคุณสามารถที่จะไว้วางใจให้กับคนที่คุณให้เขาออกไปพูดได้ เพราะว่าเราก็จะรู้จักความสามารถดีว่าคนนี้ทำอะไรแบบนี้ได้”
“อีกเรื่องคือสิ่งสำคัญเลยที่ผมรู้สึกก็คือว่าพอเราได้รับโจทย์มา มันก็จะขึ้นอยู่กับตัวเราเองแล้วว่าเราสามารถจะแกะโจทย์ ตีประเด็นออกมาได้มากแค่ไหน ซึ่งก็ต้องอาศัยความรับผิดชอบพอสมควร เพราะว่าเวลาเราทำเป็นโจทก์กับจำเลยเนี่ย ระยะเวลาการเตรียมตัวให้เสร็จทุกอย่างก็ไม่ได้ยาวมาก ถ้าหากให้เรามาดูทีละคน มาดูโจทก์ก่อนแล้วก็มาตีประเด็นโจทก์ก่อน แล้วมาดูจำเลยแล้วค่อยมาตีประเด็นของจำเลย อย่างนี้มันจะช้ามากแล้วก็จะทำให้การเตรียมตัวพยานเนี่ยไม่น่าจะทัน ก็จะต้องเป็นการแบ่งว่าคนนี้ดูจำเลย คนนี้ดูโจทก์แล้วก็ไปแบ่งกันทำมาแล้วค่อยมาดู เพราะฉะนั้นเนี่ยอันนี้ก็ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันประมาณนึงว่าอีกฝ่ายเขาจะทำออกมาได้ดีแน่ ๆ เพราะฉะนั้นหลักการเลือกทีมที่ผมจะแนะนำก็คือว่าเลือกเพื่อนที่ดีครับ”
นวพล : “เพื่อนร่วมทีมผมมองว่าสำคัญมากเลยนะ ไม่ว่าจะในแข่งขันครั้งนี้หรือในสังคมการทำงานก็ตาม เพราะ เพื่อนร่วมทีมจะคอยเสริมในไอเดียที่ผมอาจจะคิดไปไม่ถึง มองไม่เห็นในมุม ๆ นั้น ซึ่งด้วยมุมมองความคิดที่แตกต่างกัน แต่พอหลอมรวมเข้าด้วยกันแล้ว มันจะทำให้ได้ไอเดียที่แหลมคมมากยิ่งขึ้น กว่าการการทำงานคนเดียว นอกจากนั้นเพื่อน ๆ ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนครูผู้ช่วย ที่ช่วยวิจารณ์ ติชม การพูดของผม ทำให้ผมมองเห็นจุดเด่นจุดด้อยของตัวเองเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดต่อไป และที่สำคัญเลย ก็คือ คอยให้กำลังใจกันครับ ทำให้ความกดดันที่ผมมีลดลง และออกไปพูด นำเสนอได้อย่างเป็นตัวเองและเต็มที่มากที่สุด และถ้าได้ร่วมงานกับเพื่อนสนิท รู้จักนิสัยใจคอกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว การทำงานร่วมกันก็จะราบรื่นดีครับ แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รู้จักกันมาก่อน อย่างน้อยก็จะได้ฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นนะ”
คำถาม (3) : การเตรียมตัวในการแข่งขัน
สรัล : “ผมคิดว่าแม้การแข่งขันครั้งนี้เนี่ยจะขึ้นชื่อว่าเป็นการแข่งขันโต้เถียงปัญหาข้อกฎหมาย แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมเลย คือ ทุกคนควรจะต้องเล่นตามกติกาครับ ดังนั้นนอกจากการเตรียมตัวในประเด็นของกฎหมายแล้ว เราก็ต้องเตรียมตัวในส่วนของกฎกติกาเพื่อไม่ให้เกิดการทำผิดกติกาครับ ร่วมถึงตรวจสอบการทำผิดกติกาของทีมฝ่ายตรงข้ามด้วย เพราะ การที่เขาทำผิดกติกาย่อมทำให้ฝ่ายเราเสียเปรียบไม่สามารถต่อสู้ในประเด็นกฎหมายได้ เป็นการตีกินไปฟรี ๆ ของฝ่ายตรงข้าม อย่างการพูดเลยไปกว่าประเด็นที่เขียนในคำแถลงการณ์ หรือการไม่อ้างพยานหลักฐาน ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ”
“ในส่วนของประเด็นกฎหมายนะครับ ทีมเราจะนำข้อเท็จจริงมาเขียนใหม่สรุปใหม่ให้มันเป็นไทม์ไลน์ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจครับ รวมไปถึงพยายามที่จะเข้าใจข้อเท็จจริงโดยที่ไม่ไปเติมข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงตรงไหนที่ยังไม่เป็นที่ยุติเราก็จะนำเสนอไปด้วยไม่เพียงแต่ข้อกฎหมายเท่านั้น เมื่อเราได้ข้อเท็จจริงมาแล้ว เราก็จะคัดเลือกกฎหมายที่น่าจะเกี่ยวข้องกับคดีนี้มากที่สุด เป็นประโยชน์และสอดคล้องกันไม่ขัดกันเองครับ โดยการค้นคว้าเราจะเริ่มจากแนวทางของประเทศไทยเป็นหลัก เพราะ เราก็ต้องไม่ลืมว่าศาลเวลาตัดสินท่านจะต้องตัดสินตามกฎหมายที่ใช้บังคับจริงในราชอาณาจักร (positive law) แนวปฎิบัติต่าง ๆ อย่างคำพิพากษาศาลฎีกาหรือศาลชั้นอื่น ๆ หากเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถหาได้ในไทย หรือเป็นประเด็นพิพาทที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อน เราก็จะไปหาหลักการหรือประสบการณ์ของต่างประเทศที่เกิดขึ้น ที่สามารถยังสอดคล้องใช้ได้กับระบบกฎหมายไทยอยู่ โดยอาจจะค้นหาจากวิทยานิพนธ์ที่ได้เคยค้นคว้าในเรื่องนี้มาแล้วหรือตำราของต่างประเทศ”
“ในส่วนของการเตรียมตัวพูดในส่วนของผมเอง เนื่องจากที่ได้เคยกล่าวไปแล้วว่าผมเป็นคนที่พูดไม่ค่อยเก่งหรือพูดไม่ค่อยรู้เรื่องดังนั้น ผมจึงไปศึกษาตัวอย่างการพูดจากหลายที่ครับ อย่างเทปของรุ่นพี่ที่ได้เคยแถลงในปีก่อน ๆ หรืออย่างการประชุมสภา ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรได้อภิปราย ผมก็ได้เรียนรู้ทักษะในส่วนของท่วงท่าลีลาน้ำเสียงในการอภิปราย การเว้นช่องไฟ การขยับตัวต่าง ๆ โดยคนที่ผมมักจะไปหาดูก็อย่างเช่น คุณสมัคร สุนทรเวช คุณชลน่าน ศรีแก้ว คุณวีระกานต์ มุสิกพงศ์ หรือคุณอรรถวิชญ์ สุวรรณภักดีครับ ซึ่งทักษะที่ผมเรียนรู้มาทั้งหมดผมก็นำมาปรับใช้กับตัวเองครับ”
“โดยตอนพูดเนี่ยผมจะจดประเด็นลงไปในกระดาษโดยละเอียด ทำให้การพูดของไม่มีการติดขัดอะไรเลย พูดไปได้เรื่อย ๆ ไม่ต้องมาเสียเวลานึกในตอนที่แถลงอีก และจะใช้ภาษาที่ง่ายครับ แต่ยังเป็นถ้อยความในกฎหมายอย่างครบถ้วน โดยที่ไม่ได้วิชาการขนาดนั้นและมีการเปรียบเทียบกับสิ่งที่อยู่รอบตัว เพื่อให้กรรมการเห็นภาพตามได้ง่าย และสอดคล้องกัน โดยไม่ได้เน้นว่าจะต้องพูดให้ยาวแต่อย่างใด แต่ทำให้กระชับที่สุดครับ”
“และแน่นอนครับว่าการเตรียมตัวเพื่อโต้แย้งกับอีกฝ่ายเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน โดยผมเองเนี่ยจะเป็นคนมีหน้าที่นี้โดยตรง ก่อนแข่งเมื่อได้รับคำแถลงการณ์ของอีกฝ่ายมาแล้ว ทีมของเราจะมานั่งผ่าตัวคำแถลงการณ์ของเขาว่ามีข้อผิดพลาดอะไรในทางรูปแบบหรือไม่ อย่างการไม่ได้อ้างอิงพยานมา หรือ จดประเด็นของอีกฝ่ายไว้ เพื่อเทียบว่าเวลาแถลงจริงมีการแถลงนอกคำแถลงการณ์หรือมีการเพิ่มเติมข้อเท็จจริงใดๆหรือไม่ครับ อีกเรื่องหนึ่ง คือ เราจะเอาคำแถลงการณ์ของเรามาดูว่ามีจุดอ่อนอะไรหรือไม่ที่อีกฝ่ายจะนำมาโต้แย้งได้ ซึ่งตรงนี้เราจะทำการเตรียมไปล่วงหน้าเลยครับ แม้อีกฝ่ายจะไม่ได้โต้แย้งในประเด็นนี้ก็ตาม ทำให้วันที่แข่งจริงสนุกมากครับ เพราะ เมื่ออีกฝ่ายพูดอะไรมาเราสามารถโต้แย้งไปได้ในทันที”
หัตถพงษ์ : “จริง ๆ ส่วนตัวก็ไม่ค่อยได้เตรียมตัวมากนัก เพราะว่าปีที่เราแข่งมันเป็นปีแรกที่ให้มีการนับคะแนนเกี่ยวกับการเขียนแถลงการณ์ด้วย ซึ่งสิ่งที่พวกผมทำเนี่ย อย่างมากที่สุดก็คือเพียงแค่การไปดูวิดีโอเกี่ยวกับการแข่งขันแถลงการณ์ของปีที่แล้วเท่านั้น ส่วนเรื่องการเขียนอะไรแบบนี้คือเราไม่เคยได้ดูเลย เรามาดูอีกทีคือตอนที่ศูนย์นิติศาสตร์เขาได้ประกาศเนื้อหาบนเพจเฟซบุ๊กของเขาแล้ว เพราะฉะนั้นเนี่ยการเตรียมตัวมีมากน้อยแค่ไหนเนี่ย คือไม่ค่อยได้มีครับ เพราะว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่ต้องเตรียมตัวสำคัญที่สุดก็คือความรู้ทางกฎหมายซึ่งเราก็เรียนกันอยู่แล้ว”
นวพล : “ผมให้ความสำคัญกับประเด็นที่โต้แย้งกันในโจทย์มากที่สุดนะ โดยการค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำมาหักล้างอีกฝ่ายการพูดนำเสนอข้อมูล ก็ควรที่จะอยู่ในประเด็น อย่าหลงประเด็นออกไปจนนอกประเด็น และการที่เราสวมบทบาทฐานะทนายความจำเลยหรือพนักงานอัยการโจทก์แล้ว ในบางประเด็นที่แม้ตามตัวบทกฎหมาย หรือตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เราค้นเจอ จะบอกว่าเราแพ้ในประเด็นนี้ แต่เราก็ไม่ควรหยุดแค่นั้นอ่ะครับ ควรดิ้นรนต่อสู้ไปให้สุดครับเพื่อหาช่องทางที่จะทำให้เราชนะในประเด็นนั้น ๆ ได้โดยไม่ยึดติดอยู่กับกรอบสิ่งที่เราเรียนมาหรือที่ค้นเจอ เช่น อาจจะลองอ้างไปถึงหลักกฎหมายทั่วไป อ้างหลักสุจริต อ้างรัฐธรรมนูญ และก็ใช้ทักษะการพูดโน้มน้าวใจเข้ามาเสริมครับ แต่ที่สำคัญก็คือไม่ควรพูดจนออกนอกประเด็นนะครับ อย่างน้อยถึงแม้เราจะแพ้ในประเด็นนี้ แต่ก็ได้ใจกรรมการนะ และก็ยังได้ฝึกคิดนอกกรอบอีกด้วย”
“ในส่วนของการพูด ก็ต้องอาศัยการฝึกฝนบ่อย ๆ ซึ่งในการฝึกผมก็จะหาตัวอย่างคนที่มีความช่ำชองในเรื่องการพูดมาเป็นแบบอย่างในการซ้อมครับ เอาข้อดีของเขามาเลียนแบบ ฝึกซ้อม และดัดแปลงเป็นสไตล์ของตัวเอง แต่ที่สำคัญ คือ ควรจะพูดให้อยู่ภายในประเด็น และในส่วนที่เป็นสาระสำคัญเท่านั้น เพราะ ในการแข่งขันเรามีข้อจำกัดเรื่องเวลาอยู่ด้วย และการลำดับการพูดก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้กรรมการและผู้ฟัง เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารครับ โดยเราซ้อมพูดเยอะมากเลยครับ ทั้งซ้อมกับตัวเองหน้ากระจก และก็กับเพื่อน ๆ ครับ โดยจะให้เพื่อนช่วยวิจารณ์การพูดของเรา และก็ปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุดครับ”
คำถาม (4) : การแบ่งเวลาสำหรับการเตรียมตัวแข่งขันกับการเรียน
สรัล : “โดยส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาอะไรครับ เพราะแม้จะขาดเรียนไปบ้างเนื่องจากต้องไปเตรียมตัวแข่ง ผมก็จะไปนั่งฟังเทปบันทึกเสียงจากเพื่อนคนอื่นอยู่แล้ว สำคัญที่สุด คือวินัยครับ และห้ามมีข้ออ้างให้ตัวเองเด็ดขาดในเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียน เพราะมันเป็นความรับผิดชอบของเรา”
หัตถพงษ์ : “ส่วนตัวของผมเนี่ย ผมมองว่ามันไม่ค่อยกระทบ เท่าที่ผมจำได้ จะเริ่มมีการประกาศโจทย์แล้วก็เริ่มเขียนมากันตั้งแต่ตุลาคม แล้วก็ตอนพฤศจิกายนก็แค่มาพูดอย่างเดียว แล้วหลักสูตรที่ผมเรียนมันยังไม่มีการสอบกลางภาค ซึ่งสำหรับรุ่นหลังเนี่ยก็อาจจะมีการสอบกลางภาคเป็นหลัก ซึ่งก็อาจก่อนให้เกิดความลำบากบ้าง แต่ผมก็เข้าใจว่าก็น่าจะเกิดการแข่งขันภายหลังการสอบกลางภาคแล้วก็น่าจะหายห่วง”
“ทีนี้ถามว่าเรา manage เวลายังไง สำหรับผมเองผมก็จะพยายามเอาเรื่องการเรียนให้เสร็จภายในภาคเช้าครับ ภาคเช้าถึงภาคเย็นเนี่ยผมจะทำเรื่องนั้นให้เสร็จ ทีนี้ส่วนเรื่องของการแข่งขันเนี่ยผมจะเอาไปไว้ในตอนค่ำ เพราะว่าบางทีเวลาจะพิจารณาประเด็นอะไรที่อยู่ในโจทย์เนี่ยมันต้องใช้ช่วงเวลาที่มันหัวไบรท์ ตอนเช้า ๆ เนี่ยผมไม่ค่อยหัวไบรท์เท่าไหร่อะ จะไบรท์ก็ตอน 3 ทุ่มถึงเที่ยงคืนอะไรแบบนี้ครับ ก็เลยจะชอบเอามาไว้ใช้ในเวลาหลังค่ำ มันก็เป็นข้อดีไปโดยปริยายว่ามันไม่ค่อยกระทบกับการเรียนมากนักเพราะว่าเราจัดการให้มันเสร็จไปก่อนแล้ว แต่ทีนี้มันก็อาจจะมีความลำบากนิดนึงเพราะว่าตอนนั้นเนี่ยเรียนกฎหมายแพ่งเปรียบเทียบแล้วผมก็เจออาจารย์อัครวัฒน์ ซึ่งท่านก็อยากให้มีการสอบวัดผลด้วยการทำสองเรื่องคือเขียนบทความมากับให้สรุปย่อเนื้อหาที่อยู่ในห้องเรียน ซึ่งตอนนั้นท่านก็วางให้มันเสร็จในช่วงของต้นพฤศจิกายน ตอนนั้นผมก็เลยแบบอาจจะมีความมั่ว แล้วก็มีความผิดพลาดในการจัดการเวลาในช่วงค่ำไป เพราะว่าช่วงเวลาที่มันใกล้เดดไลน์เนี่ย เราก็ต้องเอาเวลาในช่วงค่ำมาเบียดเสียดให้กับการทำ take home อะไรตรงนี้ครับ”
นวพล : “ผมมองว่าถ้าหากเราแบ่งเวลาเป็น การทำกิจกรรมต่าง ๆ จะส่งผลดี ช่วยพัฒนา skill ในด้านต่าง ๆ ของเราครับ และช่วยทำให้เราค้นพบตัวเองว่าจริง ๆ แล้วเราชอบสิ่งใด ต้องการทำงานในด้านไหน แต่หากเราแบ่งเวลาไม่เป็น ก็อาจส่งผลต่อการเรียน ซึ่งสำหรับผมมองว่าเป็นเรื่องหลัก ดังนั้น การเรียน การใช้ชีวิต การทำกิจกรรม เราควรจัดสรรให้อยู่ในสัดส่วนที่สมดุลครับ ไม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากจนเกินไปจนอาจจะกระทบเรื่องอื่น”
คำถาม (5) : ทักษะสำคัญที่ควรมีในการแข่งขัน
นวพล : “หนึ่ง การค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำต่อสู้อีกฝ่าย ก็อย่างที่เคยกล่าวไว้เลยครับ ว่าควรสู้ไปให้สุดอย่าหยุดแค่ตัวบทกฎหมายกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกา และก็ควรจะคิดต่อยอดไปอีกขั้นหนึ่งด้วยว่าหากเราต่อสู้ไปเช่นนี้ อีกฝ่ายจะสามารถโต้แย้งเราได้หรือไม่อย่างไรบ้าง คือ นอกจากมองในมุมมองของฝ่ายตนเองแล้ว ก็ควรที่จะมองประเด็นเดียวกันนี้ในมุมมองของอีกฝ่ายด้วย เพราะ ถ้ารู้เขารู้เรา รบกี่ครั้งก็ชนะครับ”
“สอง การถ่ายทอดให้ผู้รับสารเข้าใจและคล้อยตามในสิ่งที่เราพูดได้มากที่สุด ซึ่งการลำดับเนื้อหาที่จะถ่ายทอดให้เป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน จากเหตุไปสู่ผล ไล่ไปทีละองค์ประกอบ 1234 ก็จะทำให้การพูดเราลื่นไหล และง่ายต่อผู้ฟังในการทำความเข้าใจ และก็อาจจะลองเสริมทักษะการพูดด้วยการเน้นเสียงให้หนักแน่นในข้อความที่เป็นสาระสำคัญ การหยุดเว้นจังหวะเพื่อให้ผู้ฟังคิดตามในประเด็นที่ซับซ้อน และการใช้ภาษากายประกอบการพูด เป็นต้น”
“สาม การทำงานร่วมกับผู้อื่นครับ การรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากเพื่อนร่วมทีม ก็ทำให้ผมมองเห็นประเด็นที่ผมคิดไม่ถึงมาก่อน เห็นถึงจุดบกพร่องของตัวเองแล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขครับ และการให้กำลังใจซึ่งกันและกันก็เป็นเรื่องสำคัญครับ”
หัตถพงษ์ : “ถ้าในภาพรวมเนี่ยผมมองว่ามันก็คงไม่พ้นอยู่ประมาณ 3-4 ประเด็น ประเด็นแรกเนี่ยก็คือว่าคุณจะต้องมีความีรู้ความเข้าใจในกฎหมายที่ดี โดยเฉพาะในทางกฎหมายพื้นฐานนั้น เพราะว่าผมก็อยากจะบอกผู้แข่งขันว่าไม่ว่าในโจทย์จะเจอกฎหมายเฉพาะอะไรยังไง สุดท้ายแล้วความเข้าใจในกฎหมายพื้นฐานเนี่ยมันก็ค่อนจะสามารถจะแคะจะแกะประเด็นในช่วงแรก ๆ เพราะว่าแน่นอนฮะ เราค่อนข้างที่จะทราบได้ยากมากว่ากฎหมายเฉพาะที่เราจะเจอในอนาคตเนี่ยมันคือกฎหมายอะไรกันแน่ แต่ว่าสิ่งที่คุณสามารถที่จะเอามาใช้ในการตีประเด็นหรือว่าหาจุดอ่อนได้แรก ๆ เลยก็คือกฎหมายพื้นฐาน เพราะฉะนั้นเนี่ยเรื่องความรู้พื้นฐานเนี่ยเป็นสิ่งสำคัญ”
“เรื่องที่สองเลยก็คือความสามารถในการจับประเด็นแล้วรู้ว่าอันนี้ควรจะแยกออกมาให้เป็นก้อนใหญ่ เพราะว่าเรื่องนี้เนี่ยมันก็จะมีความสำคัญอย่างมากในการที่จะแตกออกมาเป็นประเด็น ๆ หรือว่าเวลาที่คุณคิดจะโต้แย้งเป็นประเด็น ๆ ไป ที่ผมต้องยกออกมาเป็นก้อนแบบนี้เพราะว่าตอนที่เราแข่งขันเนี่ยสิ่งที่เป็นอุปสรรคอย่างมากในการทำเรื่องนี้ก็คือว่าเราค่อนข้างมีความสับสนกันบ่อยในการที่จะแยกว่าตอนนี้เรากำลังทำประเด็นของโจทก์อยู่ ในขณะอีกทางเราก็เข้าใจไปว่าเรากำลังเป็นจำเลยอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเนี่ยก็เลยทำให้บางทีเนี่ยการคิดประเด็นอะไรอย่างนี้มันอาจจะเกิดความผิดพลาดได้ แล้วสุดท้ายเนี่ยถ้าไม่ระมัดระวังเนี่ยเราก็อาจจะมาเจอความผิดพลาดนี้อีกทีก็คือตอนที่เรากำลังจะส่งแล้วมันก็จะจวนตัวในการที่จะกลับมาแก้ไข แล้วทีนี้ถามว่าการจับประเด็นมันมีความสำคัญยังไงเนี่ย ความสำคัญในการจับประเด็นเนี่ยมันจะสืบเนื่องมาจากการมีความรู้พื้นฐานที่ดี”
“ตอนนั้นเนี่ยต่อให้ธีมของโจทย์มันเป็นเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็ตามเนี่ย แต่ว่าพอมันมีเรื่องอนุญาตไม่อนุญาตเนี่ยมันย่อมเกี่ยวข้องกับกฎหมายปกครอง แล้วทีนี้ถ้าหากคุณเนี่ยไม่ค่อยมีความรู้พื้นฐานตรงนี้เนี่ยการจับประเด็นเรื่องกฎหมายปกครองเนี่ยมันอาจจะทำให้คุณเนี่ยจับประเด็นผิดเรื่องผิดราวไป คือคุณอาจจะสู้ประเด็นกฎหมายปกครองจริงแต่ว่าคุณจจะสู้ผิดสิ่งผิดช่อง มันก็จะทำให้สิ่งที่คุณอุตส่าห์คิดออกมาอย่างสร้างสรรค์เนี่ยมันก็จะเสียเปล่าไปโดยเปล่าประโยชน์ อันนี้คือลักษณะที่หนึ่งของการจับประเด็นที่ดีไม่ได้ คือคุณอาจจะรู้แหละมันเป็นประเด็นกฎหมายปกครอง แต่ว่าคุณไม่ได้รู้ไปมากกว่านั้นว่ามันต้องไปสู้ตรงส่วนไหน อีกส่วนนึงก็คือว่า อันนี้ก็อาจจะร้ายแรงหน่อย ก็คือว่าสมมติถ้าคุณไม่ได้รู้กฎหมายพื้นฐานอะไรพวกนั้นเลย คุณก็อาจจะจับประเด็นตรงนั้นอะไรไม่ได้เลย หรืออาจจะไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีประเด็นกฎหมายปกครองทิ้งไว้ตรงนั้น อันนี้คือส่วนที่สอง”
“เรื่องที่สามเนี่ยอันนี้ก็ต้องยกให้กับตำแหน่งคนที่ออกไปแถลงการณ์ ก็คือคุณต้องมีทักษะในการพูด เพราะว่าทักษะในการพูดเนี่ยมันค่อนข้างที่จะไม่สามารถ การที่ออกไปพูดแถลงการณ์เนี่ยมันไม่มีการอ่านแถลงการณ์การเฉย ๆ เพราะว่าในระหว่างที่คุณกำลังทำการแถลงการณ์เนี่ย คือถ้าให้ผมลองสมมติเนี่ยระหว่างนายกรัฐมนตรีไปแถลงการณ์เรื่องนโยบายกับการที่คุณมาแถลงการณ์ต่อหน้า moot court ในการแข่งขันรอบภายในเนี่ยผมว่าไม่เหมือนกัน เพราะว่าถ้าเรารู้เราได้สัมผัสกับการแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีเนี่ย เราจะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีเนี่ยต้องอ่านตามสคริปต์เท่านั้น ไม่สามารถพูดให้แตกต่างจากนั้นได้ แต่ในขณะเดียวกันเนี่ย moot court เนี่ย ตอนที่คุณกำลังแถลงการณ์เนี่ย คุณแถลงการณ์ตามที่คุณเขียนมาไม่ได้ เพราะตอนที่คุณเขียนมาเนี่ยมันเป็นภาษาเขียน เป็นภาษาทางราชการระดับสูงมาก แล้วเวลาพูดออกไปเนี่ยบางทีมันก็จะมึความกระด้าง ในขณะเดียวกันเนี่ยในเวลาที่คุณจะพูดเนี่ยมันก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะพูดแบบไม่เป็นทางการได้ แต่มันจะต้องเป็นการพูดที่มึความสละสลวยแล้วก็สร้างความดึงดูดให้กับคนฟังไม่ให้มีความน่าเบื่อจนเกินไป เพราะฉะนั้นเนี่ยทักษะการพูดในการแข่งขัน moot court รอบภายในเนี่ย ผมว่าจริง ๆ เอาจริง ๆ เลยนะผมว่ามันอาจจะยากยิ่งกว่าหลายรายการในระดับประเทศอีก (หัวเราะ) อันนี้คือสามประเด็นที่ผมแนะนำ”
สรัล : “ผมคิดว่าทักษะที่จำเป็นในการแข่งขันครั้งนี้ครับ มีอยู่ 3 ข้อ คือหนึ่ง ทักษะในการปรับใช้กฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงครับ เพราะ อย่างที่ทราบครับว่าข้อเท็จจริงในเรื่องหนึ่งก็เหมือนกับเหรียญครับ ไม่ได้มีด้านเดียว มันมีหลายด้าน มีความเป็นมิติ เราสามารถที่จะนำกฎหมายหลายตัวมาตอบปัญหาที่เกิดขึ้นจากโจทย์ได้ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้กฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งมาตอบปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นทุกปัญหาไม่ได้มีทางตันครับ แม้บางเรื่องแนวความเห็นหลักและคำพิพากษาจะได้ยืนยันชัดเจนแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถเปลี่ยนคำตอบได้ เมื่อมีความเห็นหลักก็ต้องมีความเห็นกระแสรอง ทฤษฎีกฎหมาย หรือ มองในมุมของกฎหมายอีกฉบับ คำตอบก็อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ ดังนั้นจงอย่าไปยึดมั่นว่าจะต้องมีคำตอบเดียวที่ถูกต้องที่สุดเสมอ อาจจะคำตอบอื่นที่ถูกก็ได้”
“สอง ทักษะในการค้นคว้า สิ่งนี้สำคัญอย่างมากเลยครับ ในการแข่งขัน เพราะ ชื่อการแข่งขันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการโต้เถียงในปัญหาข้อกฎหมาย ดังนั้นไม่เพียงแต่แนวปฎิบัติอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเท่านั้น เราต้องอธิบายคำพิพากษาศาลฎีกาด้วยว่าสอดคล้องเทียบเคียง มีหลักอะไรจากคำพิพากษานั้น และแตกต่างจากคำพิพากษาที่อีกฝ่ายยกขึ้นอ้างอย่างไร ไม่เพียงเท่านี้ครับ การค้นคว้าจากตำราที่เขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิก็สำคัญเช่นกัน เพื่อมาสนับสนุนคำกล่าวอ้างของเรา รวมไปถึงหลักการบางอย่างที่ยังไม่มีในประเทศไทย เราก็ต้องไปค้นคว้าหาเอาจากต่างประเทศ”
“สาม ทักษะในการพูดครับ อย่างที่บอกไปข้างต้นครับว่า แม้เราจะเตรียมข้อมูลมาได้แน่นเพียงใด สอดคล้องเป็นเหตุผลเพียงใด แต่หากเราไม่สามารถอธิบายประเด็นได้ชัดเจน เข้าใจง่าย กรรมการที่นั่งบนบัลลังค์เขาจะไม่มีทางเข้าใจเราแน่นอน การแถลงจึงไม่ใช่มายืนอ่านให้ฟังเท่านั้นครับ อีกเรื่องหนึ่งครับ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราจะต้องมั่นใจในสิ่งที่พูดว่ามันเป็นเรื่องจริง แม้จะขัดต่อความเชื่อหรือสิ่งที่เราเรียนมาอยู่บ้าง เพราะ เมื่อเรามั่นใจในสิ่งที่เราพูดแล้ว และพูดได้อย่างมีเหตุผลสอดคล้องกัน ความมั่นใจตรงนี้จะส่งต่อไปยังคนฟังครับ ว่าสิ่งที่เขาฟังมันเป็นสิ่งที่เอ่อ มันใช่นะ ฟังดูมีเหตุผลดี”
คำถาม (6) : ความรู้สึกเกี่ยวกับโจทย์คำถามและรูปแบบการแข่งขัน (โจทย์เดียวตลอดการแข่งขัน)
นวพล : “พอได้อ่านโจทย์ครั้งแรก ก็รู้สึกชื่นชมกรรมการผู้แต่งโจทย์เลยครับว่าออกโจทย์ได้มีมิติทางข้อกฎหมายที่หลากหลายมาก เชื่อมโยงแต่ละสาชากฎหมายได้ลงตัว และในแต่ละประเด็นก็เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้ต่อสู้กันอย่างไม่เป็นรองกัน ซึ่งในบางสาขาของกฎหมาย เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่ไม่เคยศึกษามาก่อน ก็จะได้ลองเริ่มต้นศึกษาด้วยตัวเองดูบ้างซึ่งจะต่างจากการเรียนในห้องเรียนที่อาจารย์จะเป็นผู้มอบวิชาความรู้ให้เราเป็นหลัก สำหรับน้อง ๆ ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขัน ก็รับรองได้เลยว่าต้องได้รับประสบการณ์ดี ๆ ติดตัวกลับไปอย่างแน่นอนครับ”
หัตถพงษ์ : “โจทย์ที่เจอเนี่ยมันเป็นธีมเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม ถ้าถามว่าตอนนั้นเรามีความรู้สึกยังไง ตอนนั้นเราก็ค่อนข้างเซอร์ไพรส์เพราะว่าจริง ๆ เนี่ยเราก็ไม่ค่อยได้ไปสัมผัสเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมมากขนาดนั้น แล้วมันก็เลยทำให้ตอนแรก ๆ เนี่ยพอมันประกาศธีมออกมาว่าเป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อมเนี่ย เราก็รู้สึกไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะว่าตอนนั้นเหมือนกับเราก็ต้องพยายามไปอ่านมาเยอะเลยว่าตกลงแล้วเนี่ย ถ้าจะมีการออกประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมเนี่ย มันจะเป็นเรื่องอะไรวะ ตอนนั้นเนี่ยรู้สึกแบบทำงานกันหนักมาอะครับ อันนี้คือก่อนไอนี้ ก็คือว่าแบบไปอ่านกันมาก่อนว่าแบบมันจะออกประเด็นอะไร แต่ถามว่าพอเราได้รับโจทย์มาแล้วมาอ่านเนี่ย เราก็รู้สึกสบายใจมากขึ้นเพราะว่าเราก็ได้เห็นว่าเรื่องธีมกฎหมายสิ่งแวดล้อมมันก็มี แต่ว่ามันก็ไม่ได้เป็นแก่นขนาดนั้น แต่ว่าเขาเรียกว่ามันก็คงมี rule ของมันที่สำคัญในการแข่งขันอยู่”
“แต่ทีนี้เราเห็นแล้วว่าในโจทย์เนี่ยมันมีประเด็นกฎหมายอื่น ๆ ส่วนที่เราถนัดเนี่ยสามารถไปทำได้ อย่างเช่นกับเพื่อนก็ถนัดกฎหมายปกครอง เราก็แบบสามารถที่จะขยี้ สามารถที่จะนำ หยิบยกประเด็นกฎหมายปกครองหยิบยกมาได้อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันเนี่ยมันก็ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับอาญาบ้าง แล้วก็ยังมีประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพบ้าง ซึ่งมันก็มีความท้าทายอยู่ คือถ้ากฎหมายอาญามันก็เป็นเรื่องปกติเพื่อนเราทำได้อยู่แล้ว แต่ว่าเรื่องประเด็นของเรื่องสุขภาพ เรื่องของสิ่งแวดล้อมอันนี้ก็มีความท้าทายอยู่ ก็คือว่ามันไม่ใช่ประเด็นที่ชี้ขาดขนาดนั้นอะ คือเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องสุขภาพเท่าที่ผมสัมผัสจากผมเนี่ย มันไม่ใช่ประเด็นชี้ขนาดนั้น แต่ว่าเรารู้เลยว่าถ้าใครสามารถที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุนตรงนี้ได้ในเชิงแบบ storytelling หรือในเชิงแบบของข้อเท็จจริงเนี่ย มันก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการคิดในพอสมควร เพราะฉะนั้นเนี่ยถ้าจะให้สรุปว่าแบบเรามีความรู้สึกยังไงในตอนที่ได้รับโจทย์มาเนี่ย คือสามารถแบ่งเป็นสองช่วงเลยนะ ช่วงแรกก็คือว่าเราตะลึงนะ แต่ว่าช่วงที่สองคือเรามีความสบายใจ แล้วก็กลับกันเราก็รู้สึกตื่นเต้นกับความท้าทาย”
สรัล : “รู้สึกว่าเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากและมีการเชื่อมโยงใช้กฎหมายหลายฉบับ ในหลายประเด็นที่พิพาทกัน ยังเป็นแนวความเห็นที่ขัดแย้งและยังหาข้อสรุปที่ลงตัวไม่ได้ ทั้งความเห็นทางวิชาการและคำพิพากษาศาสฎีกา ทำให้ผมรู้สึกว่าค่อนข้างสนุกไปกับโจทย์ที่ได้ อีกทั้งยังมีประเด็นที่จะต้องโต้เถียงกันในข้อเท็จจริงอย่างเรื่องทางสิ่งแวดล้อม พวกสสารต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ ทำให้เราได้เรียนรู้ในศาสตร์อื่นนอกจากเรื่องกฎหมายด้วย โดยรวม ผมรู้สึกว่าโจทย์ค่อนข้างท้าทายพอสมควรครับ”
“ผมคิดว่าการที่ใช้โจทย์เดียวในการแข่งขันก็ทำให้เราได้เห็นข้อผิดพลาดในประเด็นต่าง ๆ ในการแข่งขันในทุก ๆ รอบ เพื่อที่จะนำไปแก้ไขให้ดีขึ้นในรอบต่อไปให้ดีขึ้นได้ครับ และยังช่วยลดภาระในการเตรียมตัวในเรื่องของเอกสารพยาน ต่าง ๆ เพราะ เมื่อเป็นข้อเท็จจริงเดิม การพูดก็จะเหมือนเดิม เพียงแต่ปรับเปลี่ยนให้มีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้นเท่านั้น”
คำถาม (7) : ปัญหาหรือข้อผิดพลาดในการแข่งขัน
นวพล : “สำหรับผมก็คงเป็นปัญหาเรื่องความตื่นเต้นเป็นหลักเลยครับ แต่เพราะผมได้รับกำลังใจและคำแนะนำจากเพื่อน ๆ ที่ช่วยปรับเปลี่ยน mindset ของผมโดยให้ผมคิดเสียว่าวันนี้เราจะมาสนุกกับการแข่งขัน เป็นตัวของตัวเอง เป็นธรรมชาติ ให้ได้มากที่สุด ทำให้เต็มที่ตามที่เราได้ฝึกซ้อมมาโดยไม่ต้องคิดถึงผลแพ้ชนะเลย ท้ายที่สุดแล้วผลลัพธ์ที่ได้ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เราจะชนะหรือแพ้ เราก็จะมีความสุข เพราะ ในระหว่างทางของการแข่งขัน เราได้ทำเต็มที่ที่สุดแล้วครับ”
หัตถพงษ์ : “ถ้าความผิดพลาดนะครับ เท่าที่ผมพอจะจำได้เนี่ยมันจะมีอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือการคาดการณ์ระยะเวลาในการเขียนแถลงการณ์ผิดไป ก็คือเนื่องจากมันเป็นประสบการณ์ครั้งแรกเนี่ย เราก็เลยอาจจะมีการวางเวลาที่ประมาทไปบ้างว่าให้เวลาค้นคว้าเยอะหน่อย แต่ว่าในเวลาในส่วนการเขียนเนี่ยน้อย พอมาเขียนกันจริง ๆ เนี่ยเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ง่ายอย่างที่เราคิด ทีนี้ทำให้เวลาเราเขียนแล้วเนี่ยมันอาจจะมีความรีบเร่ง รีบเร่งไปรีบเร่งมามันก็ผิดอีก เขียนผิดแล้วก็ต้องมาตามแก้แล้วก็มาย้ายเรื่องอ้างอิงอะไรอีกอย่างนี้ อันนี้คือประเด็นแรกก็คือเราให้น้ำหนักกับการเขียนน้อยเกินไป มันอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดในภายหลังได้ ซึ่งก็ยังดีนะครับทีตอนนั้นเราแก้ไขทัน ถ้าแก้ไขไม่ทันก็คือจบ เพราะว่าการแข่งขันครั้งที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้เนี่ย มันเป็นการแข่งขันที่เจอโจทย์เดียว ซึ่งไม่สามารถที่จะมาแก้ตัวด้วยการเขียนแถลงการณ์ได้ใหม่อีกแล้ว ใช้ไปตลอดทั้งการแข่งขันเลย ถ้าพลาดครั้งนึงก็อาจจะพลาดในครั้งต่อไปได้อีก อันนี้คือประเด็นแรก”
“ประเด็นที่สองก็คงจะเป็นสิ่งที่สืบเนื่องกันมาก็คือพอเรารีบแล้วเนี่ยเวลาเราอ้างคำพิพากษาฎีกาอะไรขึ้นมาเนี่ย เวลาเขียนเลขบางทีเนี่ย เลขบางหลักก็อาจจะผิดไปบ้าง แบบมันอาจจะเป็น 690 เราก็อาจจะเปลี่ยนเป็น 6960 อะไรแบบนี้ครับ ซึ่งมันก็จะทำให้เกิดความลำบากอย่างมากเวลาที่เราจะเอาไปอ้างอิงพยานเอกสารว่าทำไมไม่อ้างอิงในสิ่งที่ตรงกับสิ่งที่อ้างอิงมา ซึ่งอะไรอย่างนี้ก็ต้องอาศัย ก็คงต้องพูดด้วยความจริงใจว่าไอ้ที่เราเขียนไปมันก็มีความผิดพลาดไป”
“ประเด็นที่สามก็คือว่าตอนนั้นเนี่ย ตอนที่เราแข่งขันแถลงการณ์ด้วยวาจาต่อศาลอุทธรณ์มันเป็นประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมใช่มั้ยครับ ซึ่งเท่าที่ผมลองพิจารณาดูแล้วเนี่ย ทีมเราจะค่อนข้างเอาศาสตร์เกี่ยวกับเชิงสิ่งแวดล้อม เอากฎหมายสิ่งแวดล้อมมาจับค่อนข้างน้อย คือไม่ค่อยมีการอ้างกฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้ามาอ้างมากเท่าไหร่ แต่ว่าเราจะเอาประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในเชิงแบบการสร้าง storytelling มากกว่า เพราะฉะนั้นเนี่ย อันนี้ก็อาจจะบอกได้ว่าเป็นข้อผิดพลาดภายในทีม อันนี้ก็คือสามประเด็นที่ผมคิดว่ามีความผิดพลาดกัน ส่วนเรื่องอื่น ๆ เนี่ยผมไม่ค่อยเห็นสักเท่าไหร่”
สรัล : “เนื่องจากทีมพวกเราแม้จะมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายพอสมควร แต่ยังขาดในส่วนเทคนิคในส่วนของภาคปฎิบัติของทนาย ทำให้ผลที่เกิดขึ้น คือ เกิดข้อผิดพลาดในการเขียนสรุปแถลงการณ์ หรือ memo ครับ ที่ทีมเราได้อันดับไม่ค่อยดีนัก ซึ่งตรงนี้เราก็ได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้กับรอบประเทศจนทำให้เราได้อันดับหนึ่งในส่วนของคะแนนคำแถลง”
“และในตอนแข่งขันก็มีข้อผิดพลาดอยู่บ้างครับ ในรอบแรก เนื่องจากเป็นการพูดในรอบแรก ๆ ก็ยังเขินอยู่บ้างครับ ไม่กล้าขยับตัวมาก จนพอพูดไปได้สักระยะหนึ่งรู้สึกว่าความเป็นตัวตนของเรามันเริ่มออกมาก จนกรรมการก็เอ่ยปากชมอยู่หนหนึ่งครับว่าลีลาการพูดใช้ได้ อีกเรื่องหนึ่งคงจะเป็นน้ำเสียงการพูดครับ เพราะ อย่างผมเองเนี่ย เวลามั่นใจผมจะพูดค่อนข้างจะชัดเจน กรรมการบางท่านจะติอยู่บ้างว่าพูดเสียงดังไปหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ผมเองก็ได้นำไปคิดและแก้ไขครับ อีกเรื่องหนึ่งครับ อย่างที่บอกครับการแข่งขันที่เกิดขึ้นในทุกรอบ ทีมของเราในบางครั้งก็เจอคนทำผิกกติกา อย่างทั้งการพูดนอกคำแถลงการณ์ เถียงไม่ตรงประเด็น ทำให้การการถกเถียงไม่สนุก เพราะ เหมือนพูดกันคนละเรื่องครับ”
คำถาม (8) : สิ่งที่ได้รับจากการแข่งขัน และฝากถึงผู้ที่จะสมัครแข่งขันในปีนี้
สรัล : “สำหรับสิ่งที่ได้รับจากการแข่งขัน ผมรู้สึกว่าผมค่อนข้างได้รับมากกมายครับ ไม่ว่าจะเป็นทักษะต่าง ๆ การพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมทีม ทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ผมได้ break through ในหลาย ๆ เรื่องครับ ผมกล้าแสดงออกมากขึ้น ผมกล้ามากขึ้นที่จะถกเถียงกับผู้อื่นด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งเรื่องเนี่ยรวมไปถึงทักษะที่ได้รับผมคิดว่ามันจะสามารถในไปต่อยอดกับสายวิชาชีพกฎหมายที่ผมสนใจได้อนาคต ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย หรือแม้กระทั่งอาชีพอาจารย์สอนกฎหมาย อย่างการพูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย การโน้มน้าวใจ การค้นคว้าเพื่อนำเสนอ สิ่งเหล่านี้คุ้มค่าจริง ๆ ยิ่งกว่ารางวัลที่ได้รับครับ”
“อยากจะฝากน้อง ๆ ทุกชั้นปีนะครับ อยากให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้ามาลองแข่งขันในรายการนี้นะครับ ออกจากจุดปลอดภัยของตัวเองครับ อย่าคิดว่าตัวเองยุ่งหรือไม่มีความสามารถเพียงพอ การแพ้ชนะกันย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าผลการแข่งขัน คือ สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของเราต่างหากครับ”
คำถาม (8) : สิ่งที่ได้รับจากการแข่งขัน และฝากถึงผู้ที่จะสมัครแข่งขันในปีนี้
หัตถพงษ์ : “ถามว่าเราได้รับอะไรมั้ยแล้วเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไรเนี่ย อันนี้คือก็ต้องขอพูดในฐานะคนที่อยู่ในตำแหน่งของตนเองในตอนนั้นนะครับก็คือว่าเนื่องจากการแข่งขันแถลงการณ์ moot court รอบภายในเนี่ย มันมีอยู่ 3 คนเนี่ย 2 คนพูด อีกคนนึงเป็นนักวิจัย ซึ่งตอนนั้นเนี่ยผมรับตำแหน่งเป็นนักวิจัยเนี่ย อันนี้ก็ต้องขอพูดก่อนว่าการเป็นตำแหน่งวิจัยในตอนนั้นมันมีความยากยังไง ความยากประการสำคัญเลยที่ได้รับอยู่ในตอนนั้นก็คือว่าทุกคนในทีมเนี่ยเก่งกันหมดเลย ทุกคนเนี่ยมีดีกรีล้วนจะได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเทอมนั้นทั้งนั้นเลยอะ เพราะฉะนั้นเนี่ยเราไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องความสามารถในการ research แล้วก็ความสามารถในความรู้ทางกฎหมายของเขา เขาเนี่ย premium แน่นอน แต่ในขณะเดียวกันเนี่ยสิ่งที่ผมได้รับมาจากการแข่งขันนี้แล้วก็สามารถที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันหรืออาจจะชีวิตในการทำงานของผมเนี่ยก็คือว่า มันเป็นเรื่องของการหาพื้นที่ของเราครับ สมมติถ้าเราอยู่ในพื้นที่ที่ทำงานแล้วเจอแต่คนที่เขาเก่ง คนที่เขาสามารถทำอะไรได้ดีไปหมด เราจะหาพื้นที่ของเราเนี่ยให้สามารถเป็นประโยชน์กับเขาให้ได้มากที่สุดหรืออาจจะให้มากเพิ่มขึ้นได้ยังไง ก็คือว่าในตอนที่ผมแข่งขันเนี่ยเราก็มาดูแล้วว่า เออ เนี่ย เราสามารถที่จะมานั่งทำอะไรได้บ้าง”
“ตอนนั้นเนี่ยผมก็สามารถจับได้ว่าพื้นที่ของเราเนี่ยมันก็จะมีอยู่ประมาณ 5 พื้นที่ หนึ่งก็คือแบบเนื่องจากว่าเพื่อนเขามีพื้นฐานของกฎหมายที่ดีแล้ว เราจะโยนเรื่องกฎหมายสี่มุมเมืองให้เขาเลย วิแพ่ง วิอาญา อาญา แพ่ง อะไรอย่างนี้เรายกให้เขา แต่ทีนี้ในเรื่องของประเด็นอื่น ๆ ที่บางทีเขาอาจจะมองไม่ค่อยเห็น เพราะว่าเขาอาจจะแบบ คืออันนี้ผมพูดเลยละกันว่าอันนี้เป็นอานิสงค์อย่างหนึ่งของการที่ได้เรียนเซคชั่นที่สอนความเห็นแปลก ๆ หรืออาจจะเป็นความพยายามขวนขวายด้วยตัวเองที่จะทำให้คุณเนี่ยเจอคำตอบที่มันหลากหลายกว่าเพื่อนคุณเจอ เพราะว่าบางทีเพื่อนของคุณเนี่ยเขามีความรู้พื้นฐานดี มีความรู้พื้นฐานที่แน่น แต่ในขณะเดียวกันเนี่ยเขาอาจจะเจอในสิ่งที่คล้าย ๆ กัน แล้วในขณะเดียวกันเนี่ย อย่างผมเนี่ยบางทีเราก็ได้เรียนในเซคชั่นที่มันมีความแปลกแยกไป หรือว่าบางทีเราก็ได้มีเวลาไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเนี่ยเราก็ได้ไปเจออะไรใหม่ ๆ แล้วเราก็สามารถที่จะเอาเรื่องนั้นเนี่ยมาใช้ในการที่จะทำให้ข้อต่อสู้ของเราเนี่ยมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น”
“ตอนนั้นถ้าผมจำไม่ผิด มันก็มีประเด็น clausula rebus sic stantibus คืออันนี้เพื่อนไม่มีรู้แน่ ๆ มีแต่ผมที่รู้ เพราะฉะนั้นเนี่ยผมเลยสามารถที่จะหยิบเรื่องนี้มาสร้างทำให้เราหยิบยกประเด็นนี้มาทำให้ข้อต่อสู้ของเรามีความแปลกแยกไปจากทีมอื่นแน่ ๆ เพราะทีมอื่นเขาก็จะมีลักษณะคล้ายเพื่อนของเราก็คือว่าเขาก็จะรู้ในสิ่งที่คล้าย ๆ กัน แต่ว่าเราเนี่ยจะมีโดดเด่นแยกออกมา หรือไม่ก็ประเด็นเรื่องทางกฎหมายรัฐธรรมนูญเนี่ย เพราะคาดว่าก็มีแต่ทีมผมที่ยกมา ซึ่งอันนี้ก็เป็นเพราะว่าผมก็เป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับกฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเนี่ยเรื่องการหยิบยกกฎหมายรัฐธรรมนูญมาใช้ในทางที่สร้างสรรค์เนี่ยเราก็สามารถทำได้ อันนี้คือประเด็นแรกก็คือว่ามันสามารถที่จะเอามาใช้ในชีวิตจริง มันสามารถเอามาใช้ในการทำงานได้อย่างไร ก็คือว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งวิจัยเลยนะ อันนี้ผมค่อนข้างเน้น ก็คือว่าการที่คุณได้มาแข่งขัน moot court เนี่ย มันจะทำให้คุณเนี่ยสามารถที่จะหาพื้นที่ของคุณได้ในท่ามกลางของคนที่เก่ง ๆ เต็มไปหมดเนี่ย คุณจะหาพื้นที่ที่จะทำให้คุณมีประสิทธิภาพได้เพิ่มมากกว่าคนอื่น อันนี้คือประเด็นแรก”
“ประเด็นที่สองเลยก็คือคงไม่พ้นเรื่องของการบริหารเวลาครับ อันนี้จริง ๆ ก็เป็นสิ่งที่คนทั่วไปเขาก็ชอบพูดกันนั่นแหละว่าการมาทำกิจกรรมโดยส่วนใหญ่ก็จะทำให้เกิดการบริหารเวลา แต่ทีนี้ที่ผมหยิบยกขึ้นมาก็เพราะว่าผมเจอศึกหนักจริง ๆ ก็คือว่าผมเจอ take home ของอาจารย์อัครวัฒน์สองข้อ แล้วก็เท่าที่ผมจำไม่ผิดตอนนั้นคือผมต้องช่วยอาจารย์ลลิลเขา research ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายการบินไปด้วย แล้วในขณะเดียวกันเราก็ต้องมานั่ง moot court ด้วย แล้วก็มี take home อาจารย์เอมผกาด้วย ตอนนั้นก็เลยแบบเขาเรียกว่าอีลุงตุงนังฮะ 4 เรื่อง แล้วก็ต้องจัดการให้เสร็จภายในต้นเดือนพฤศจิกายน ก็คือมันก็คงได้ทักษะในการ manage เวลาครับว่าเราจะประคองทุกอย่างเนี่ยให้มันไปด้วยกันโดยที่มันไม่มีอย่างใดอย่างหนึ่งล้มเนี่ยทำได้อย่างไร”
“ประเด็นที่สามเนี่ย ถ้าจะให้ผมพูดก็คือว่ามันก็คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับอย่างที่ผมพูดในตอนแรก ๆ เลย ก็คือว่าความสำคัญที่สุดในการเลือกคนในทีมของคุณเนี่ย ก็คือการเลือกมาจากความสัมพันธ์ เพราะว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีมันย่อมทำให้คุณรู้จักเพื่อน ไว้วางใจ และสามารถที่จะปล่อยให้เขาสามารถที่จะทำงานไปด้วยตัวของเขาเองได้ แต่ในขณะเดียวกันเนี่ยตอนที่คุณมาทำงานกันจริง ๆ เนี่ย สุดท้ายแล้วเนี่ยมันก็ไม่พ้นที่คุณจะต้องคอยมาประคับประคองความสัมพันธ์ภายในทีมเหมือนกันว่าถ้ามันอยู่ในจุด ๆ นึงที่แบบทีมอาจจะเผชิญช่วงที่มีความยากลำบากเนี่ย เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะทำให้ทีมมันไม่มีความดาวน์ ในระหว่างที่ทีมอาจจะเจออุปสรรคหนักเนี่ย เราจะทำยังไงให้ทีมเนี่ยเขายังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีด้วยกันได้ ซึ่งมันก็จะมีความสำคัญมาก ๆ ในการทำงานเป็นทีมกันในอนาคต”
“ถ้าฝากผู้เข้าแข่งขันปีนี้เนี่ยในฐานะผู้ที่ research แล้วก็เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องการเขียนเนี่ยก็คือว่า เต็มที่นะครับเกี่ยวกับในเรื่องของการเขียนแถลงการณ์ เพราะว่าถ้าการแข่งขันเนี่ยมีลักษณะเหมือนเดิมก็คือเป็นโจทย์เดียว ใช้ในตลอดการแข่งขัน แล้วก็ยังมีการแข่งขันเกี่ยวกับการเขียนแถลงการณ์ อย่างนี้แถลงการณ์ที่คุณจะเขียนออกมาเนี่ยมันจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก อย่าปล่อยปละละเลยเกี่ยวกับเรื่องการเขียนแถลงการณ์ แม้กระทั่งของเรื่องการเขียนอ้างอิง อันนี้ถ้าเป็นไปได้ก็คืออย่าพลาด อันนี้เนี่ยเป็นประเด็นสำคัญเลย เพื่อนคุณเนี่ยจะสามารถพูดได้มากหรือน้อย จะพูดอยู่ในกรอบได้มากแค่ไหนเนี่ย กรอบมันจะกว้างหรือจะแคบได้แค่ไหนเนี่ย ขึ้นอยู่กับแถลงการณ์ที่คุณเขียนออกมาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเนี่ยถ้าแถลงการณ์พลาด โดยส่วนใหญ่ต้องพูดอย่างนี้แล้วกัน โดยส่วนใหญ่แล้วการแถลงการณ์ก็จะพลาดไปด้วยเพราะว่ามันก็จะเป็นราวกับว่าเราเนี่ยทำให้เพื่อนร่วมทีมเนี่ยไม่สามารถที่จะไปโต้แย้งในประเด็นสำคัญ ๆ ที่คุณอาจจะไม่ได้เขียนไป หรือต่อให้เขียนบางทีคุณก็อาจจะไม่ได้เขียนในสิ่งที่เป็นข้อต่อสู้สำคัญในประเด็นนั้น ซึ่งก็จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันระหว่างเพื่อนร่วมทีมกับคนที่ทำวิจัย เพราะฉะนั้นเนี่ยก็ระวังเรื่องการเขียนแถลงการณ์ให้ดีนะครับ อันนี้ก็คงเป็นสิ่งที่ผมสามารถเตือนให้ได้ในฐานะคนที่ทำตำแหน่งนี้”
คำถาม (8) : สิ่งที่ได้รับจากการแข่งขัน และฝากถึงผู้ที่จะสมัครแข่งขันในปีนี้
นวพล : “ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็เป็นเรื่องทักษะการพูดต่อหน้าสาธารณะครับ เพราะถ้าเทียบกัน ในครั้งแรกที่ผมออกไปพุด ตัวผมยังสั่น ๆ อยู่เลย แต่ในครั้งที่สอง ก็ได้รับคำชมจากกรรมการว่าการพูดของผมดูเป็นธรรมชาติ และน่าสนใจมากขึ้น นอกจากได้พัฒนาความรู้ทางกฎหมายแล้วก็ยังได้พัฒนาทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคตครับ ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าข้อมูล การเตรียมคดี และการพูดครับ และก็ได้ลองสัมผัสกับการทำงานของทนายความกับพนักงานอัยการครับว่ามีลักษณะอย่างไร ซึ่งก็จะตอบคำถามกับตนเองได้ว่าเราชอบลักษณะงานเช่นนี้ไหม เหมาะสมกับเราไหม”
“สำหรับใครที่กำลังลังเลอยู่ว่าจะยื่นใบสมัครดีหรือไม่ ผมอยากบอกว่า การแข่งขันรายการนี้จะช่วยพัฒนาทักษะในหลาย ๆ ด้านของเราครับ ช่วยเสริมให้เราเป็นนักกฎหมายสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ได้มีดีแค่ตัวบทกฎหมาย และไม่ต้องกังวลเลยว่าเราพูดไม่เก่ง ข้อกฎหมายเราไม่แน่นพอ เพราะรายการนี้จะมอบสิ่งเหล่านั้นให้คุณเอง แค่ทำให้เต็มที่และสนุกไปกับการแข่งขันก็พอครับ”
ถ่ายภาพ Pump
เรียบเรียง ผศ.ดร.กรศุทธิ์