มุมมองอาจารย์กับการจัดการความเครียด 101 : รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
คำถาม (1) : ประวัติส่วนตัว และแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
“สวัสดีครับ ผมชื่อมุนินทร์ พงศาปาน ผมเป็นอาจารย์ประจำและเป็นคณบดีคนปัจจุบันของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเริ่มเข้ามาทำงานในฐานะอาจารย์ประจำตั้งแต่ปีพ.ศ.2546 เข้าเรียนในระดับป.ตรีที่คณะฯเมื่อปีพ.ศ.2541 ซึ่งในเวลานั้นนักศึกษาปี 1 ของคณะฯ จะใช้เวลาปีแรกที่ศูนย์รังสิต อีก 3 ปีที่เหลือจะใช้เวลาที่ท่าพระจันทร์ หลังจากที่สำเร็จการศึกษาผมเข้าทำงานเป็นทนายความในสำนักงานกฎหมาย Clifford Chance ที่เดิมที่ผมเคยฝึกงานและทำงานอยู่ที่นั่นอีกประมาณเกือบ 2 ปี ซึ่งนานพอสมควรจนสามารถบอกตัวเองได้แล้วว่าตัวเองน่าจะเหมาะที่จะเป็นอาจารย์มากกว่า เลยมาสมัครสอบเป็นอาจารย์ซึ่งอาชีพที่ฝันอยากทำตั้งแต่เรียนปี 2 ผมผ่านการคัดเลือกเป็นอาจารย์ประจำเมื่อปีพ.ศ.2546 ช่วง 3 ปีแรกก่อนที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ ผมได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์สัมมนาวิชา น.100 เป็นหลัก และได้สัมมนา น.101 อยู่หนึ่งเทอมในช่วงที่อาจารย์จุณวิทย์ไม่อยู่ ซึ่งในช่วงนั้นอาจารย์สัมมนามีกันอยู่ไม่กี่คน เพราะฉะนั้นพอผมได้รับมอบหมายให้ดูแลวิชา น.100 นั่นหมายความว่าผมดูแลนักศึกษาปี 1 ในเทอมแรกที่เพิ่งเข้ามาใหม่เป็นหลักเลย ฉะนั้นแล้วผมจะจัดสัมมนาในหลายระดับมาก กลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็กลงมา กลุ่มย่อยลงมาอีก และก็เปิดให้นักศึกษามาพบปะพูดคุยกับผมอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นผมจะมีความคุ้นเคยกับนักศึกษามากเลย และเป็นที่มาของหนังสือแนวทางการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย นั่นคือประสบการณ์การทำงานของการเป็นอาจารย์ในช่วง 3 ปีแรก ซึ่งจริง ๆ แล้วผมทำเป็นเอกสารเพียง 20-30 หน้าเพื่อแจกให้นักศึกษาปี 1 เท่านั้นเอง แต่ต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์สมยศเพราะท่านชอบ ท่านจึงขอเอาไปให้สำนักพิมพ์วิญญูชนนำไปทำให้อยู่ในรูปแบบรูปเล่มสวยงามเพื่อนำไปแจกนักศึกษาที่เข้าร่วมค่ายกศป. จากนั้นพอผมไปเรียนต่อสำนักพิมพ์วิญญูชนก็ขอนำไปพิมพ์ไปเป็นหนังสือ หนังสือเล่มนี้จึงถูกตีพิมพ์ขึ้นมาในช่วงที่ผมไปเรียนต่อต่างประเทศ นี่ก็เป็นประวัติส่วนตัวของผมคร่าว ๆ นะครับ ผมยินดีที่จะมาแลกเปลี่ยนกัน เพราะผมเองก็เป็นศิษย์เก่า เป็นอาจารย์ และก็มาเป็นผู้บริหารในช่วงเวลาหลังแล้ว เรียกได้ว่าผ่านประสบการณ์ของบทบาทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะนิติศาสตร์ มหาลัยธรรมศาสตร์ในหลากหลายบทบาท”
“ถ้าพูดถึงแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย ผมเป็นนักศึกษาในโครงการสอบตรง ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อคัดเลือกนักเรียนที่มีหัวกฎหมายและมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเรียนกฎหมาย ในช่วงแรกก่อตั้งมีการจำกัดจำกัดจำนวนผู้สมัครในแต่ละโรงเรียนว่าแต่ละโรงเรียนส่งมาได้กี่คน เช่น โรงเรียนของผมส่งมาได้ไม่เกิน 3 คน และจำกัดเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำด้วยว่าต้องได้ 2.75 ถึงจะมาสมัครสอบตรงได้ ข้อสอบก็เน้นความรู้กฎหมาย การใช้เหตุผลทางกฎหมาย เรียงความย่อความ โดยที่คณะฯ ตั้งสมมุติฐานว่าเด็กกลุ่มนี้น่าจะมีความสนใจและความสามารถในการเรียนกฎหมายได้มากกว่าเด็กกลุ่มอื่น ผมสอบผ่านเข้ามาในช่องทางนี้ จริง ๆ ในช่วงที่ผมเรียนมัธยม 6 ผมยังไม่ได้คิดที่จะเรียนกฎหมายเลยนะครับ ใจจริงอยากไปทางสายรัฐศาสตร์มากกว่า อยากทำงานทางด้านสายปกครอง ด้านการทูต พอมีการประกาศสอบตรงของธรรมศาสตร์ ผมก็ต้องตัดสินใจว่าจะสอบตรงนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ดี ด้วยความที่ผมสนใจและติดตามประวัติของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์มานานและรู้จักธรรมศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้ผมทราบว่าท่านอาจารย์ปรีดีจบนิติศาสตร์ แต่ท่านก็สามารถทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองได้ ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจสมัครสอบตรงนิติศาสตร์ และจับพลัดจับผลูสอบเข้ามาเรียนได้ ตอนที่เริ่มเรียนที่คณะฯ ผมก็ยังไม่ได้รู้สึกชอบเรียนกฎหมายมาก ๆ นะ ตอนนั้นผมยังนึกไม่ออกเลยว่าอยากจะทำอะไรหรืออยากจะเป็นอะไรในอนาคต ถ้าถามว่าอะไรเป็นแรงผลักดันให้มาเรียนนิติศาสตร์ ต้องบอกว่าผมไม่ได้มีความมุ่งมั่งตั้งใจที่จะเรียนกฎหมายตั้งแต่แรก น่าจะเป็นการตัดสินใจแบบกระทันหันมากกว่า และที่เลือกก็เพราะมีแรงบันดาลใจก็คือท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แต่ว่ามหาลัยธรรมศาสตร์นี่อยู่ในใจมานานมากเพราะชอบอ่านประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองมาตั้งแต่เรียนชั้นประถม”
คำถาม (2) : ความสุขในการศึกษากฎหมาย ความมุ่งหมายในเส้นทางนิติศาสตร์ตั้งแต่ตอนเข้าศึกษาจนถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และค้นพบตัวเองว่าอยากเป็นอาจารย์เมื่อใด เหตุใดจึงตัดสินใจมาเป็นอาจารย์
“ในตอนที่ผมเข้ามาปี 1 ผมไม่ได้ชอบการเรียนนิติศาสตร์มากอะไรขนาดนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับนักศึกษาหลายคนที่ผมเห็นในยุคหลัง ซึ่งผมมองเห็นแววตา ความรัก ความชอบ ความมุ่งมั่นและการมีเป้าหมายที่ชัดเจนมาก ในขณะที่ตอนนั้นผมเดินเข้ามาในคณะฯ ผมเองยังมองไม่เห็นเลยว่าตัวเองในอีก 5 ปีจะเป็นอะไร ผมก็เรียนของผมไปเรื่อย ๆ พอมาเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเรียนวิชาน.100 ก็อยู่ในกลุ่มดีเลย ได้ 82 คะแนน ส่วนวิชานิติกรรมก็ได้ 79 คะแนนซึ่งก็มีคนได้ 80 90 อีกตั้งมากมาย ถามว่าผมตื่นเต้นมั้ย ก็คงมีบ้าง แต่ไม่มากนัก ในตอนนั้นผมคิดว่าถ้าได้เกียรตินิยมก็ดีแต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นอะไร ตอนนั้น ผลสอบ น.100 ออกมามีคนตกเกือบ 50% นะครับ ผมก็รู้สึกโชคดีมากที่รอดมาได้ ต้องบอกว่าผมเรียนมาแบบประคับคอง คะแนนอยู่ในระดับดี แต่ไม่ถึงกับดีมาก จนกระทั่งปี 2 เทอม 2 ซึ่งผมได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ทั้ง 2 ท่านซึ่งก็คือท่านอาจารย์ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์ และท่านอาจารย์สุดา วิศรุตพิชญ์ ทั้ง 2 ท่านช่วยปลดล็อกผม ทำให้ทำให้ภาพที่ผมมองเห็นกฎหมายเริ่มเปลี่ยนไป ผมเริ่มเห็นว่ากฎหมายคือระบบเหตุผล การจะทำความเข้าใจคือต้องมองให้เห็น “เหตุผล” ที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายอย่างเป็น “ระบบ” และต้องมีวิธีการอธิบายความเข้าใจเหล่านี้ออกมา ซึ่งจะทำได้ดีเมื่อมีการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ผมโชคดีที่มีโอกาสฝึกเขียนเยอะมาก ฝึกเขียนตอบข้อสอบเก่าแล้วส่งให้อาจารย์เกือบทุกวิชาที่เรียนช่วยตรวจ ซึ่งอาจารย์ก็กรุณาตรวจการเขียนตอบให้ผมเยอะมาก ผมน่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่เขียนตอบข้อสอบส่งให้อาจารย์ตรวจอย่างจริงจังเกือบทุกวิชา จนทำให้เพื่อน ๆ หลายคนทำตามจนเกิดเป็นวัฒนธรรมเขียนตอบข้อสอบขึ้นมา การเรียนกับท่านอาจารย์ศนันท์กรณ์และท่านอาจารย์สุดาจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก ทำให้ผมค้นพบเส้นทางของการเรียนกฎหมายที่มีความสุข และไม่ได้มองว่ากฎหมายเป็นเรื่องของการท่องจำเอาไปสอบแล้วก็จบแค่นั้น แต่ทำให้รู้สึกว่ากฎหมายเป็นระบบเหตุผล นอกจากการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อกฎหมายแล้ว ถ้าพูดถึงเทคนิคในการเรียนกฎหมายให้สนุก คือ การทำข้อสอบเก่า ผมเป็นคนที่ชอบทำข้อสอบเก่ามากเพราะทำแล้วรู้สึกสนุก มันสนุกกว่าการอ่านหนังสือเฉย ๆ เห็นข้อสอบเก่าแล้วมองว่ามันเป็นความท้าทาย ทำให้หลังจากนั้นมาผลการเรียนของผมก็ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเลยได้ข้อสรุปกับตัวเองอย่างนี้ว่า เราต้องหาสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าการเรียนกฎหมายเป็นเรื่องสนุก ต้องหาเทคนิคหรือวิธีการที่ทำให้เราชอบเรียนกฎหมาย ซึ่งผมคิดว่ามันจะทำให้เราเรียนประสบความสำเร็จด้วย คำว่าเรียนประสบความสำเร็จไม่ได้หมายถึงเรียนแล้วได้คะแนนดีเพียงอย่างเดียว แต่ประสบความสำเร็จหมายถึงเรามีความสุขที่จะเรียนรู้ เรามีพลังผลักดันที่จะทำความเข้าใจเรื่องยากๆ เพราะฉะนั้นผมจึงบอกกับนักศึกษาอยู่เสมอว่าถ้าเราคิดแต่เรื่องคะแนน เรื่องเกียรตินิยมเป็นจุดยึดเหนี่ยวแล้ว ถ้าเมื่อไหร่สอบตกหรือได้คะแนนไม่ดีขึ้นมา เราจะมีความทุกข์มาก และสุดท้ายแล้วพูดในฐานะของคนที่จบออกไปแล้ว เราจะรู้กันดีว่าคะแนนไม่ได้มีความหมายอะไรมากขนาดนั้น ความรู้ความเข้าใจและความชอบในกฎหมายต่างหากที่มีคุณค่าและมีความสำคัญกว่ามาก แต่ผมก็เข้าใจว่าในตอนที่เราเรียนอยู่มันไม่มีสิ่งอื่นใดอีกแล้วที่ดูมีคุณค่าไปมากกว่าคะแนนกับเกียรตินิยม หลายคนจึงโฟกัสไปที่คะแนนกับเกียรตินิยม ผมจึงอยากบอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหาวิธีการเรียนให้มีความสุข ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน สำหรับบางคนความสนุกอาจจะเป็นการได้นั่งเรียนกับเพื่อน หรือการได้มานั่งถกเถียงกัน”
“ผมค้นพบว่าอยากเป็นอาจารย์ช่วงที่เรียนอยู่ปี 2 ตั้งแต่ตอนที่ค้นพบวิธีการเรียนกฎหมายให้สนุก และก็อาจเป็นเพราะไอดอลของผม ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รวมถึงอีกหลาย ๆ ท่านที่ผมเคารพก็เป็นอาจารย์ นอกจากนี้ผมก็เป็นคนที่ชอบอธิบาย ชอบติวหนังสือให้เพื่อนด้วย แต่จุดสำคัญที่ทำให้อยากมาเป็นอาจารย์นอกเหนือจากเรื่องการชอบอธิบายให้คนอื่นฟังแล้วก็คืออาจารย์ที่คณะฯของเราที่ท่านมีความกรุณาและให้เวลากับลูกศิษย์เป็นอย่างมาก ผมจึงมีอาจารย์หลาย ๆ ท่านเป็นแรงบันดาลใจ”
คำถาม (3) : กิจกรรมและงานอดิเรกระหว่างศึกษา และเทคนิคการบริหารจัดการเวลาระหว่างการเรียนและการใช้ชีวิต
“ผมแทบจะไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย เป็นเรื่องเงื่อนไขของครอบครัวผมด้วย เนื่องจากว่าบ้านผมอยู่ไกลจากมหาวิทยาลัยมาก และผมก็มีน้อง 2 คนที่อาศัยอยู่ด้วยกัน ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่อยู่ต่างจังหวัด ผมจึงต้องรีบกลับบ้าน ฉะนั้นตอนเลิกเรียน ผมต้องขึ้นรถเมล์กลับบ้านทันที บางทีก็ต้องยืนบนรถเมล์ถึง 3 ชั่วโมง ก่อนที่จะต้องไปต่อรถตู้อีกต่อหนึ่ง ชีวิตแต่ก่อนของผมจึงเรียกได้ว่าเสียเวลาไปกับกลับเดินทางเป็นอย่างมาก ผมจึงไม่สามารถอยู่ที่มหาลัยเพื่อทำกิจกรรมกับเพื่อนได้ กิจกรรมที่ทำจริงจังมากที่สุดตอนเรียนคือการเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือให้อาจารย์วิริยะ ส่วนใหญ่มาทำวันเสาร์อาทิตย์ วันธรรมดาเป็นบางครั้ง อ่านหนังสือให้อาจารย์อยู่ประมาณ 2 ปีได้ อ่านทุกอย่างที่อาจารย์ให้อ่าน มันน่าเสียดายเหมือนกันนะที่ผมไม่ได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกเสียใจอะไรเพราะด้วยสถานการณ์ของผมในเวลานั้นทำให้ผมทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านั้น แต่ผมแนะนำนักศึกษาเสมอว่า ถ้าเงื่อนไขชีวิตเอื้ออำนวย ก็ควรหาเวลาเข้าร่วมกิจกรรม ทำความรู้จักกับเพื่อนๆ ที่หลากหลาย ผมรู้สึกชื่นชมที่นักศึกษารุ่นหลังที่สามารถจัดสรรเวลาได้ดีทั้งการเรียนและการทำกิจกรรม”
“ในมุมมองคนเป็นอาจารย์ ผมอยากเห็นนักศึกษาซึ่งเอาตัวรอดได้ จัดการกับความเปลี่ยนแปลงหรือความท้าทายที่เข้ามาในชีวิตได้โดยที่ยังมีสุขภาพจิตที่ดี นั่นคือสิ่งที่ผมอยากเห็น ผมเชื่อว่ากิจกรรมทำให้เราได้ฝึกทำงานและสื่อสารร่วมกับคนอื่น นึกถึงผู้อื่น สามารถอยู่ร่วมกับคนที่มาจากพื้นเพที่ต่างกันได้ หรือได้พัฒนาทักษะอื่น ๆ ผ่านการทำกิจกรรม ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ในเรื่องการแบ่งเวลาของตนเอง ถ้าเรามีความคุ้นเคยกับการรักษาสมดุลของการทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างมันจะทำให้เรามีความพร้อมที่จะไปรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหลังจากที่เรียนจบ เพราะชีวิตเราไม่ได้มีแต่เรื่องการเรียนอย่างเดียว มันจะมีความท้าทายอื่น ๆ ที่เข้ามาพร้อมกันหลายเรื่องมาก ผมจึงคิดว่านี่เป็นช่วงเวลาที่เราควรจะลองทำกิจกรรมนะครับ ถ้ามีเวลาก็อยากให้ลองทำ และผมก็สนับสนุนเต็มที่”
รศ.ดร.มุนินทร์ ขณะเป็นอาจารย์สัมมนาที่คณะนิติศาสตร์ ศูนย์รังสิต พ.ศ. 2547
คำถาม (4) : เคยมีความเครียดในระหว่างศึกษาบ้างหรือไม่ (เช่น เรื่องการเรียน การใช้ชีวิต หรือด้านอื่น) และมีวิธีจัดการให้ก้าวผ่านอุปสรรคและความท้อแท้ใจไปได้อย่างไร รวมถึงมีวิชาที่ไม่ชอบบ้างหรือไม่ หากมีมีวิธีจัดการอย่างไร
“ในช่วงปริญญาตรีผมไม่ได้มีความเครียดเรื่องเรียนมากนะครับ เพราะผมทำใจและเตรียมใจไว้ก่อนแล้วว่ามีโอกาสสอบตกได้ และตอนนั้นผมมองว่าเกียรตินิยมถ้าได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ผมคิดว่ามันสำคัญมากที่จะต้องมีแผนสำรอง คือเราต้องเผื่อใจไว้บ้างว่าบางอย่างอาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคาดหวังไว้ แต่เราก็ยังสามารถไปสู่เป้าหมายได้ ผมเชื่อว่าตราบใดที่เรายังไม่หมดลมหายใจ เราสามารถพัฒนาตนเองให้ไปสู่จุดที่เราต้องการได้ แต่ช่วงที่เครียดที่สุดน่าจะเป็นตอนที่เรียนปริญญาโทและบางช่วงของการเรียนปริญญาเอก การคิดแก้ปัญหาเรื่องวิทยานิพนธ์ไม่ตกและการอยู่ห่างบ้านทำให้ผมรู้สึกท้อแท้ จนค่อยพัฒนากลายเป็นอาการที่ใกล้เคียงกับการซึมเศร้า ประมาณ 2-3 เดือนที่มีอาการหนักมาก รู้สึกเบื่อหน่าย นอนไม่หลับ ไม่เห็นหนทางที่จะหลุดพ้นไปจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่เลย ทำให้สุขภาพกายและใจย่ำแย่ไปหมด แต่พอค้นพบวิธีการแก้ไขปัญหาวิทยานิพนธ์ สถานการณ์ก็ค่อย ๆ เริ่มดีขึ้น”
“ช่วงเรียนป.โทก็เครียด ซึ่งมีอยู่ 2 เรื่องที่เฟลมาก ตอนที่ผมเรียนป.โทที่ Cambridge ภาษาอังกฤษของผมอยู่ในระดับที่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำสุดที่เข้าไปเรียนได้ นั่นหมายความว่าผมเรียนด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง พอเรียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วเพื่อนแต่ละคนที่เรียนด้วยกันเค้าตอบได้ เค้าเข้าใจ แต่ทำไมเราไม่เข้าใจเลย ทำให้ตอนนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่ามาก ไม่ควรจะมาเรียนที่นี่เลย ตอนนั้นผมก็มีความคิดแบบนั้นกับตัวเองนะครับ แล้วพอตอนใกล้ ๆ จบผมก็มีความเครียดมากอีก เพราะต้องทำคะแนนให้ได้ดีเพื่อให้เรียนต่อป.เอกที่ Cambridge ได้ เพราะผมมีความรู้สึกว่าถ้าเราเรียนป.โทที่นี่ เราก็จะต้องเรียนเอกที่นี่ ผมใช้เวลาแก้ Thesis Proposal ป.เอกเกี่ยวกับกฎหมายเอกชนอังกฤษ อยู่เป็นปี สุดท้ายพอ submit ไปคณะกรรมการพิจารณาเค้าไม่รับเพราะว่าคะแนนของผมตอนเรียนป.โทไม่ดีพอ และหัวข้อของผมก็ไม่น่าสนใจมากพอเพราะผมพยายามเขียนเพื่อเอาใจคนที่พิจารณา แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจและรู้ดีมากพอ เลยทำให้ผมถูกปฏิเสธในท้ายที่สุด ตอนนั้นมันเหมือนความมุ่งมั่นตั้งใจของเรา ความฝันของเราล่มสลายไปเลย นับว่าเป็นประสบการณ์และความรู้สึกของความล้มเหลวสุด ๆ เป็นครั้งแรกในชีวิต หลังจากนั้นผมก็เบนเข็มไปสมัครเรียนปริญญาเอกที่ Edinburgh ในหัวข้อใหม่ ซึ่งการเรียนที่ Edinburgh นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดในชีวิตทางวิชาการของผม”
“จากความล้มเหลวในการเข้าเรียนปริญญาเอกที่ Cambridge ทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า ในทุกความล้มเหลว มันมีโอกาสที่ทำให้เราได้พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ถ้าเราเรียนรู้มันและเรายอมรับว่าเราต้องเดินหน้าต่อไป บางทีความสำเร็จหรือเรื่องดี ๆ มันอาจจะรออยู่ข้างหน้า พอผมไปเรียนที่ Edinburgh ผมก็มีความสุขมาก ได้เจออาจารย์ดี ๆ ได้เจอเพื่อนดี ๆ ได้ทำงานวิชาการอย่างมีความสุขที่สุด แต่อาจมีช่วงเวลาที่ผมคิดงานปริญญาเอกไม่ออกอยู่บ้างทำให้ซึมเศร้า แต่พอแก้ปัญหาได้มันก็เริ่มหายไป หลาย ๆ คนน่าจะมองว่าชีวิตผมน่าจะเจอความสำเร็จมาเยอะมากจนไม่เคยเจอความล้มเหลว แต่จริง ๆ ไม่ใช่เลย ความล้มเหลวแรกในทางการศึกษาของผมคือความล้มเหลวที่ Cambridge ผมเรียนได้ไม่ดีมากนัก และไม่สามารถเรียนที่ Cambridge ได้ แต่ถ้าวันนั้นผมเรียนที่ Cambridge ผมก็อาจจะไม่ใช่คนที่สนใจประวัติศาสตร์กฎหมายขนาดนี้ และคงไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเปรียบเทียบอย่างทุกวันนี้ ผมจึงอยากให้กำลังใจทุกคนว่าเราอาจจะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการทุกเรื่อง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันคือจุดจบของชีวิตเราแล้ว มันยังมีโอกาสดี ๆ ความสำเร็จอีกเยอะแยะมากมาย ที่ถ้าเกิดเราเดินไปในเส้นทางอื่นมันอาจจะรอเราอยู่ข้างหน้า เส้นทางไปสู่ความสำเร็จไม่ได้มีเส้นทางเดียว”
“ถ้าถามถึงวิชาที่ไม่ชอบ ผมไม่ค่อยชอบวิชาที่ให้ท่องฎีกาหรือออกข้อสอบตามแนวฎีกา ผมมองว่าการออกข้อสอบที่เน้นธงคำตอบอย่างเดียวและไม่ได้ส่งเสริมให้นักศึกษาแสดงเหตุผลนั้นเป็นการปิดกั้นการเจริญงอกงามในทางสติปัญญาของนักศึกษา มันสอนให้คนเป็นเครื่องจักรในการจำเท่านั้นเอง มันไม่ใช่เป้าหมายของการผลิตนักกฎหมาย เพราะฉะนั้นสำหรับผมผมจะเน้นดูระบบความคิดของนักศึกษาเป็นหลัก ดังนั้นถ้าย้อนกลับไปตอนเป็นนักศึกษาผมก็จะไม่ชอบวิชาที่เน้นธงคำตอบ แต่ผมคิดว่านักศึกษาต้องหาวิธีการที่ทำให้ผ่านวิชาที่ไม่ชอบไปให้ได้ เพราะมันเป็นเหมือนกับการจำลองชีวิตจริงของเราเหมือนกัน บางเรื่องไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ผมแนะนำว่าหาวิธีการที่ทำให้ชอบ ถ้าไม่ชอบก็ต้องหาวิธีการเอาตัวรอดไปให้ได้”
คำถาม (5) : เมื่อมีสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังเกิดขึ้น มีวิธีจัดการอย่างไร
“ผมเชื่อว่าทุกคนก็คงจะมีความคาดหวังกับเรื่องคะแนน แต่ว่าเราจะจัดการกับความผิดหวังยังไงนี่ก็จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคนนะครับ ถ้าเป็นผมในภาพรวม ๆ ผมจะมีภูมิคุ้มกันในเรื่องของการสอบตก สอบไม่ผ่าน ได้เกียรตินิยมหรือไม่ได้เกียรตินิยมอะไรทั้งหลายเหล่านี้ แต่ในแต่ละวิชาที่ผมสอบผมเองก็มีความคาดหวังเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น วิชานิติปรัชญา ผมอ่านหนังสือจนทะลุปรุโปร่งและสามารถติวให้เพื่อนได้ แต่ว่าคะแนนออกมาผมก็ได้มาประมาณ 79 คะแนน ซึ่งผมเองก็รู้สึกผิดหวังมากเหมือนกัน แต่ว่าในภาพรวมมันไม่ได้กระทบอะไรเกี่ยวกับเกียรตินิยมอยู่แล้วล่ะ เพราะเป็นวิชาสุดท้ายแล้ว แต่เราอุตส่าห์ลงทุนลงแรงเยอะมาก กับอีกวิชานึงคือคดีบุค ผมรู้สึกว่าตัวเองแม่นยำมาก สามารถติวให้เพื่อนจนเพื่อนออกปากว่าคงจะได้ 100 เต็มแน่ แต่พอคะแนนออกมาได้ 81 มีบางข้อได้ 7 คะแนนด้วย ผมเองก็รู้สึกผิดหวังมากเหมือนกันนะครับ”
“ถามว่าผมรับมือกับความผิดหวังยังไง ผมคิดว่าเราต้องเตรียมแผนสำรองไว้ เราอาจจะมีเป้าหมาย แต่ถ้าเราไปไม่ถึงเป้าหมายก็ไม่ได้หมายความว่าเราล้มเหลวในการไปทำงานทางกฎหมายหรือในการไปประกอบอาชีพในอนาคต เรายังสามารถเป็นในสิ่งที่เรายังอยากเป็นได้อยู่ มันเป็นแต่เพียงความผิดหวังที่เกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้นเอง ผมว่าเราต้องคิดนะว่ามันไม่ใช่จุดสุดท้ายของชีวิตการเป็นนักกฎหมายของเรา และตอนนี้ถ้าเราสอบตกเราก็สามารถสอบซ่อมได้ซึ่งช่วยให้เราลดความกดดันลงไปได้มาก เรื่องนี้เป็นเรื่องของใจล้วน ๆ เพราะฉะนั้นแล้วมันเป็นเรื่องยากมากที่แต่ละคนจะใช้เทคนิคแบบเดียวกันแล้วเวิร์คเหมือนกันหมด ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของภูมิคุ้มกัน ผมอยากให้ทุกคนคิดอยู่เสมอว่าคุณอาจจะสอบตก คุณอาจจะไม่ได้เกียรตินิยม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะหมดหวังที่จะเป็นนักกฎหมายที่ดีหรือที่ประสบความสำเร็จ คุณยังสามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้ คุณยังเป็นได้ทุกอย่าง ไม่ได้หมดโอกาสหรือหมดหวัง นอกจากนี้การมีเพื่อนหรือมีคนที่พูดคุยด้วยก็เป็นเรื่องสำคัญ ผมเชื่อว่าพอได้ระบายความรู้สึกออกมามันก็จะมีความรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น จะดีไปกว่านั้นถ้าเขาสามารถมาพูดคุยกับคนที่เค้าไว้เนื้อเชื่อใจได้ เช่น อาจารย์ ผมเชื่อว่านักศึกษาหลายคนพอสอบตกหรือได้คะแนนไม่ดี ถ้าได้มีโอกาสไปคุยกับอาจารย์ว่าผิดพลาดตรงไหน ต้องทำอย่างไรเพื่อให้พัฒนาดีขึ้น น่าจะทำให้รู้สึกดีขึ้นในระดับนึง หรือว่าถ้ามีเพื่อนคอยพูดคุย ชวนทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยกันก็อาจจะจะทำให้รู้สึกดีขึ้นได้เหมือนกัน พวกนี้ก็จะเป็นวิธีการเยียวยา ซึ่งในเรื่องของการเยียวยาจิตใจของตัวเองหลังจากที่พลาดไปแล้วนั้นเป็นเรื่องเทคนิคของแต่ละคนที่ต้องค้นหาว่าทำอะไรแล้วทำให้แต่ละคนรู้สึกสบายใจขึ้น”
รศ.ดร.มุนินทร์ ขณะเริ่มเรียนปริญญาโทที่ Cambridge Universityพ.ศ. 2549
คำถาม (6) : หากย้อนเวลากลับไปได้ จะบอกกับตัวเองตอนกำลังศึกษาอยู่ว่าอย่างไร
“น่าจะเป็นเรื่องของการทำกิจกรรมให้มากขึ้น แต่ก็อย่างที่บอกไปว่าผมมีเงื่อนไขชีวิตที่ไม่เหมือนกับคนอื่นมากนัก ทำให้มีโอกาสในการทำกิจกรรมได้น้อยกว่าคนอื่น นอกจากนี้ก็คิดว่าควรเรียนและฝึกภาษาอังกฤษให้เยอะขึ้น อาจจะฝึกด้วยตัวเองก็ได้ เพราะไม่เพียงแต่จะเพิ่มโอกาสในการทำงานเท่านั้น แต่ว่าวิชานิติศาสตร์เป็นวิชาของโลกตะวันตก ทำให้แหล่งข้อมูลที่ลึกซึ้งมากมักจะอยู่ในรูปภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นแล้วการที่เรามีความสามารถในเรื่องภาษา สามารถอ่านแล้วเข้าใจจะทำให้เรามีกุญแจไขทางความรู้ได้อย่างมหาศาล และภาษาอังกฤษก็เป็นเรื่องที่ผมอยากจะส่งเสริมให้ทุกคนเรียนรู้ อย่าทิ้งภาษาไปเลยเพราะภาษามีความจำเป็น ส่วนเรื่องกิจกรรม ถ้าเรามีโอกาสจะทำได้ก็อย่าทิ้งโอกาสนั้นไป”
คำถาม (7) : เพราะเหตุใดอาจารย์จึงให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตใจของนักศึกษา อีกทั้งยังเป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งศูนย์ Law TU Health & Wellness ขึ้นมา
“สำหรับผมเป้าหมายของการผลิตนักกฎหมายคือเราไม่ได้ต้องการคนที่เรียนเก่งเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องการคนที่มีสุขภาพจิตใจที่เข้มแข็งด้วย สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ สามารถเอาตัวรอดจากความท้าทายแตกต่างหลากหลายที่เข้ามา นักกฎหมายที่ดีต้องมีความมั่นคงเข้มแข็งทางจิตใจด้วย ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องทำไปพร้อม ๆ กัน นักศึกษาแต่ละคนโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน มีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน บางคนเพิ่งมาเจอความท้าทายครั้งสำคัญในชีวิตตอนเรียนมหาวิทยาลัยแล้วอาจจะรับมือไม่ได้ นอกจากครอบครัวแล้วผมคิดว่ามหาลัยก็มีบทบาทที่สำคัญมาก ผมเชื่อว่าเรามีหน้าที่ต้องประคับประคองให้นักศึกษาสามารถปรับตัวและเรียนอย่างมีความสุขไปได้ ผมคิดว่านั่นคือเป้าหมายของคณะนิติศาสตร์ มหาลัยธรรมศาสตร์”
“เรื่องการจัดตั้งศูนย์ Law TU Health & Wellness นั้นเป็นนโยบายของผมตั้งแต่ตอนที่ขึ้นมาเป็นคณบดีแล้ว เพราะเรื่องสภาพจิตใจของนักศึกษานั้นเป็นปัญหาที่เด่นชัดมากขึ้นในช่วงหลัง ผมก็ได้ประกาศไว้ว่าจะมีโครงการที่มาดูแลเรื่องสภาพจิตใจของนักศึกษาอย่างจริงจังและเป็นระบบ ในตอนแรกยังไม่มีใครที่จะมาดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างเต็มตัวเลย แต่ท่านอาจารย์พนัญญาท่านมีความสนใจและมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะอยากจะช่วยนักศึกษาในเรื่องนี้พอดี ท่านก็ยินดีที่จะมาช่วยดูแล จึงทำให้เกิดศูนย์ฯนี้ขึ้นมา ผมรู้สึกดีใจมากและพร้อมจะสนับสนุนให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ถือเป็นความโชคดีของผมและทีมผู้บริหารที่เราเจอคนที่เหมาะสมและมีใจที่จะมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง และมีทีมนักศึกษาที่มีน้ำใจและความสนใจมาช่วยกันอย่างแข็งขัน”
รศ.ดร.มุนินทร์ ขณะเรียนปริญญาเอกที่ Edinburgh University พ.ศ. 2552
คำถาม (8) : อาจารย์มุนินทร์เป็นหนึ่งในอาจารย์ที่รับฟัง ให้ความช่วยเหลือและเข้าใจนักศึกษามาก ๆ อยากทราบว่าอาจารย์มีแรงบันดาลใจเบื้องหลังอย่างไร
“มี 2 เหตุผลด้วยกัน เหตุผลแรกคือผมเป็นคนชอบช่วยเหลือคนอื่น ในฐานะอาจารย์ผมอยากช่วยให้นักศึกษาได้พัฒนาตัวเองไปในทิศทางที่ดีที่เขาต้องการ ผมคิดว่าคนที่เป็นอาจารย์ต้องมีคุณสมบัตินี้ร่วมกันอยู่แล้วทุกคน ถ้าใครเข้ามาเป็นอาจารย์แล้วไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่อยากช่วยคนอื่น ก็คงเป็นอาจารย์ใครไม่ได้ เพราะหน้าที่ของอาจารย์คือการช่วยนักศึกษาที่ไม่รู้ให้รู้ รู้น้อยให้รู้มากขึ้น ให้ค้นพบตัวเอง ให้พัฒนาตัวเองได้ และให้ผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ ได้ อีกเหตุผลนึงคือความประทับใจของผมตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การที่ผมพัฒนาตนเองและค้นพบวิธีการเรียนที่ผมชอบได้ก็เป็นเพราะครูบาอาจารย์ท่านมีความกรุณาช่วยเหลือผม และอีกหนึ่งความประทับใจของผมก็คืออาจารย์ในคณะฯหลาย ๆ ท่านพร้อมที่จะพูดคุยและมีเวลาให้นักศึกษาเสมอ อาจารย์ในคณะฯของเราเข้าถึงได้ง่าย ผมจึงรู้สึกว่าถ้าผมเป็นอาจารย์ผมก็อยากเป็นอาจารย์แบบนั้นให้กับนักศึกษาบ้าง เหมือนมันเป็นวัฒนธรรมและจิตสำนึกที่ส่งต่อกันมาของอาจารย์ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
“นอกจากนี้ผมมองว่านักศึกษาคือหัวใจของระบบการศึกษา เป้าหมายของการมีมหาวิทยาลัย หรือคณะนิติศาสตร์ก็คือเพื่อสร้างคน เพื่อพัฒนาคน เราจึงควรต้องให้เวลาและให้ความสำคัญกับนักศึกษามาก ๆ หน้าที่เราไม่ใช่แค่สอนหนังสือแล้วก็จบ แต่อาจารย์ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ ทั้งยังเป็นแบบอย่างให้กับนักศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออาจารย์กับนักศึกษามีปฏิสัมพันธ์ติดต่อสื่อสารพูดคุย ให้คำแนะนำ มันก็ช่วยให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้และเกิดแรงบันดาลใจด้วย ดังนั้นผมจึงคิดว่าเราควรที่จะรับฟังและตอบสนองกับนักศึกษา ทุกทีพอเห็นความกังวลของนักศึกษา ผมคิดว่าบางทีคนที่มีความทุกข์ร้อนทางจิตใจ เค้าก็ไม่รู้จะพึ่งใคร เค้าก็ต้องอยากมีอะไรมา comfort เค้า ทำให้เค้าสบายใจ ผมจึงคิดว่าถ้าเราทำให้เค้าสบายใจขึ้นได้เราก็ควรจะทำ เพราะบางทีถ้าเค้าไม่สบายใจ ปัญหาความไม่สบายใจนั้นมันอาจจะยิ่งพัฒนาหนักขึ้นไปเรื่อย ๆ ผมเลยคิดว่าถ้าเรารีบช่วยเค้ามันอาจจะทำให้ความไม่สบายใจและสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นได้”
คำถาม (9) : ให้ข้อคิดสำหรับนักศึกษาที่หมดไฟหรือกำลังท้อแท้ใจ
“ผมอยากจะยืนยันคำพูดของนักกฎหมายหลาย ๆ ท่านที่ผ่านการเรียนในระดับปริญญาตรีไปแล้วว่าคะแนนหรือเกียรตินิยมมันไม่ใช่ตัวบ่งชี้ว่าเราจะเป็นนักกฎหมายที่ประสบความสำเร็จในอนาคต หรือเป็นตัวบ่งชี้คุณค่าของเรา หรือความสามารถในการทำประโยชน์ให้กับบุคคลอื่น เราต้องถามตัวเองว่าเราต้องการเป็นนักกฎหมายเพื่ออะไร แล้วถ้าเราได้คะแนนไม่ดีหรือเราสอบตก เราจะยังจะไปสู่จุดหมายได้หรือไม่ คำตอบก็คือเรายังทำได้ เส้นทางที่ไปสู่จุดที่เราอยากจะเป็นมันยังคงเปิดกว้างอยู่ มันไม่ได้มีเพียงเส้นทางเดียว คุณยังสามารถเป็นนักกฎหมายที่มีคุณค่าต่อตัวคุณเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคมได้ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าทุกคนย่อมมีความผิดหวังเมื่อไม่สามารถทำได้อย่างที่ตัวเองตั้งเป้าหมายไว้ แต่เราต้องหาวิธีการในการรับมือกับความผิดหวัง และเมื่อเราเป็นนักกฎหมายจบออกไป เราจะเป็นกำลังสำคัญของสังคม ให้คิดเสียว่าตัวเองเป็นหมอที่รักษาคนไข้ คุณไม่ได้เกียรตินิยมก็ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นหมอที่เก่งไม่ได้ คุณก็ยังสามารถรักษาคนไข้ให้หาย คุณก็ยังปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้ และก็จะมีคนที่ชื่นชมคุณขอบคุณที่คุณไปช่วยเหลือเค้า อย่าให้เรื่องคะแนนหรือเกียรตินิยมมันมาเป็นตัวปิดกั้นโอกาสที่คุณจะทำเรื่องดีงามในอนาคตอีกมากมาย”
“ผมอยากให้กำลังใจทุกคนและผมเชื่อเสมอว่าบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นมีความรู้กฎหมายไม่ได้ต่างกันมากไม่ว่าคุณจะได้เกียรตินิยมหรือไม่ได้เกียรตินิยม ผมเชื่อว่าทุกคนมีพื้นฐานทางกฎหมายใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่ต่อไปอาจจะแตกต่างกันคือเรามีสภาพจิตใจที่เข้มแข็งพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทาย ความเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่งแรงจูงใจ อำนาจ เงินทองมากแค่ไหน เราต้องสร้างทัศนคติของการเป็นนักกฎหมายที่ดี สร้างภูมิคุ้มกันจากความทุจริต และอคติทั้งหลายตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเรื่องพวกนี้เป็นอุปสรรคหรือความท้าทายที่ใหญ่หลวงมากในการทำงานของนักกฎหมาย ผมอยากให้นักศึกษาทุกคนเชื่อในคุณค่าของตัวเองว่าจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมได้มากมายในอนาคตข้างหน้า ความเชื่อมั่นในคุณค่าและศักยภาพของตัวเองจะเป็นพลังผลักดันให้พวกเราเดินหน้าต่อไปได้ไม่ว่าจะพบเจอกับอุปสรรคที่ยากแค่ไหนก็ตาม”
ภาพ : รศ.ดร.มุนินทร์
เรียบเรียง : อ.ดร.พนัญญา