มุมมองอาจารย์กับการจัดการความเครียด 101 : รศ.ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
คำถาม (1) : ประวัติส่วนตัว และแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
“ชื่อ รองศาสตราจารย์ ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองคณบดีศูนย์ลำปาง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ค่ะ”
“สำหรับแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย ตอนเลือกคณะในช่วงที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ตัวอาจารย์เองเรียนในสายวิทยาศาสตร์มาก่อน แต่ก็รู้ตัวว่าไม่ได้ชอบวิทยาศาสตร์หรือการคำนวณมากนัก แต่ให้เรียนก็สามารถเรียนได้ คิดว่าตัวเองชอบการอ่านมากกว่า แล้วก็ชอบศึกษาในทางสังคมศาสตร์ด้วย คุณแม่เลยถามว่าลองเลือกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดูไหม ซึ่งพอพูดถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราก็จะนึกถึงคณะนิติศาสตร์ขึ้นมาเป็นอันดับแรกเลย ในช่วงแรกอาจารย์ไม่ได้มีความเป็นนักกฎหมายมากมายอะไร แต่พอได้มีโอกาสเรียนไปเรื่อย ๆ หลาย ๆ ปี เราก็ค่อย ๆ สะสมความชอบจนมีความถนัดและความเชี่ยวชาญในสายกฎหมายมากขึ้นค่ะ”
“ส่วนระดับปริญญาโท อาจารย์เรียนนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายมหาชน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เช่นกัน และไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ จบปริญญาโทและปริญญาเอกในด้านกฎหมายสุขภาพและสวัสดิการสังคม จากมหาวิทยาลัยตูลูส (คาปิโตล) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการศึกษาแบบพหุสาขา ต้องอาศัยความรู้ในศาสตร์หลาย ๆ ด้านทั้งในด้านกฎหมายมหาชน กฎหมายสาขาอื่น และศาสตร์อื่น ๆ ประกอบกัน โดยศูนย์กลางการศึกษาคือเรื่องของสุขภาพและสวัสดิการสังคมค่ะ”
“ที่เลือกศึกษาและสร้างความเชี่ยวชาญในด้านกฎหมายมหาชน เนื่องจากอาจารย์ได้มีโอกาสเรียนวิชาเลือกในปี 4 กับ ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ในกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย เป็นคลาสเล็ก ๆ มีคนเข้าเรียนแค่ 2-3 คน (แต่ลงทะเบียนมากกว่านี้) อาจารย์ได้มีโอกาสซึมซับอย่างใกล้ชิด และพบว่าสาขากฎหมายมหาชนนั้นกว้าง และเพิ่มเส้นทางโอกาสให้กับอาจารย์ได้ค่อนข้างมาก ตอนนั้นยังไม่มีความชัดเจนในอาชีพที่ตัวเองต้องการทำ แต่พอเรียนมาเรื่อย ๆ ก็ชอบและพบว่ามีความน่าสนใจมากค่ะ”
คำถาม (2) : ความสุขในการศึกษากฎหมาย
“ตอบยากมากค่ะ ความสุขในการเรียนกฎหมายสำหรับอาจารย์น่าจะเริ่มจากการที่เราเห็นประโยชน์ของการเรียนกฎหมายก่อนค่ะ กฎหมายช่วยให้เรามีความรู้ เท่าทันสถานการณ์ และเท่าทันคน ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย ประกอบกับตอนเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบบการเรียนและการประเมินผล โดยส่วนใหญ่ทำให้เราไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร เราตั้งใจเรียน เราขยัน เราก็จะได้คะแนนดี ไม่ต้องไปตัดเกรดเทียบกับใคร ถ้าจะแข่งก็แข่งกับตัวเองอย่างเดียวเลยค่ะ เปรียบเหมือนกับการวิ่งที่ทุกคนมีลู่วิ่งของตัวเอง ไม่ตองไปเบียดกับใคร อาจารย์คิดว่ามันเที่ยงธรรมและมีความเสมอภาคค่ะ”
“ตอนทำงาน ด้วยนิสัยส่วนตัวจะไม่ค่อยชอบความวุ่นวายมากนัก ชอบทำงานเงียบ ๆ อ่านหนังสืออยู่ในบรรยากาศที่สบาย ๆ เป็นความโชคดีที่ได้ทำงานเป็นอาจารย์ ทำให้เราได้ทำในสิ่งที่ชอบ ที่ถนัด และสอดคล้องกับบุคลิกส่วนตัวของเรา การอ่านหนังสือและสอนหนังสือทำให้อาจารย์มีความสุข ที่สำคัญเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมีประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย โดยเฉพาะการได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่นักศึกษาค่ะ”
คำถาม (3) : เป้าหมายในเส้นทางนิติศาสตร์
“ช่วงแรก ๆ อาจารย์ก็เหมือนนักศึกษาโดยทั่วไป คือ สนใจในอาชีพข้าราชการ พยายามที่จะดูเส้นทางและเตรียมความพร้อมเอาไว้ แต่ตอนที่เรียนปริญญาโทอาจารย์มีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดี ซึ่งท่านเป็นต้นแบบให้กับอาจารย์ในหลาย ๆ เรื่องทั้งในเรื่องของการทำงานวิจัย งานบริหาร หรือการสอนหนังสือ การเป็นผู้ช่วยวิจัยอยู่ 2-3 ปีเนี่ยเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของอาจารย์ ทำให้เรารู้ว่าอาชีพอาจารย์มีงานที่ต้องทำหลากหลายและน่าสนใจมาก เรามีหน้าที่หลักที่สำคัญที่สุดคือการสอนหนังสือ และเรายังมีหน้าที่ต้องค้นคว้าเพิ่มพูนความรู้ให้กับตัวเองในการทำวิจัย เขียนหนังสือ ฯลฯ เป็นอาชีพที่ให้มากกว่ารับ เป็นการให้ความรู้กับคนอื่นและในขณะเดียวกันการค้นคว้าก็ทำให้เรามีความรู้เพิ่มขึ้นด้วยค่ะ”
คำถาม (4) : บทบาทของการเป็นอาจารย์และเป็นฝ่ายบริหารมีความแตกต่างกันอย่างไร
“การสอนหนังสือในช่วงแรกสำหรับคนที่เป็นอาจารย์รุ่นใหม่ ๆ เป็นเรื่องที่เหนื่อยมากค่ะ เราจะต้องเตรียมการสอนเป็นอย่างดีและฝึกพูดให้รู้เรื่อง ซึ่งการพูดให้รู้เรื่องนี่ไม่ใช่ว่าเป็นคนเก่งแล้วจะพูดรู้เรื่องเสมอไป เราจึงต้องฝึกการสอน การถ่ายทอดให้ดี และต้องพยายามประเมินผลการเรียนของนักศึกษาอย่างเที่ยงธรรม ซึ่งนี่เป็นงานหลักของการเป็นอาจารย์เลยค่ะ”
“ส่วนในเรื่องการทำวิจัยและการเขียนตำรา คนที่เป็นอาจารย์จะสอนหนังสืออย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว จะต้องจัดสรรเวลาเพื่อการค้นคว้าด้วย เพราะทั้งการเขียนหนังสือและการทำวิจัยเป็นสิ่งที่จะทำให้เราได้เพิ่มพูนความรู้ให้ตัวเอง และเอาไปสอนนักศึกษาในชั้นเรียนต่อได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นค่ะ”
“ในด้านงานบริหารเป็นการทำงานที่เกี่ยวกับคน เป็นการผัดเปลี่ยนหมุนเวียนเพื่อช่วยกันพัฒนาคณะให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นงานที่ต้องคอยเข้าไปแก้ปัญหา จัดวางระบบ และคอยพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ให้มันดีขึ้น เพื่อที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับนักศึกษาและบุคลากรของเราค่ะ ตอนแรกอาจารย์ก็ไม่มั่นใจว่าจะทำไหว แต่ตอนนี้ก็อยู่ในตำแหน่งเป็นวาระที่สองแล้ว ปีนี้ก็ใกล้จะหมดวาระแล้ว ก็คิดว่าเราก็พอทำได้อยู่นะ”
รศ.ดร.นิรมัย ขณะสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต
คำถาม (5) : กิจกรรมและงานอดิเรกระหว่างศึกษา และเทคนิคการบริหารจัดการเวลาระหว่างการเรียนและการใช้ชีวิต
“ตอนเรียนปริญญาตรีอาจารย์ก็ร่วมกิจกรรมเหมือนนักศึกษาทั่วไปค่ะ เช่น ร่วมแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณี ทำกิจกรรมกับ กศป. มีท่านอาจารย์สมยศ เชื้อไทย เป็นที่ปรึกษา ร่วมออกค่ายสร้างกับชมรมต่าง ๆ เป็นต้น อาจจะไม่ได้ทำกิจกรรมเยอะมากค่ะ ส่วนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกก็เน้นไปที่การศึกษาค้นคว้ามากกว่า”
“เรื่องการบริหารเวลา จะเน้นการเรียนเป็นหลักก่อนค่ะ ถ้าพอมีเวลาจะทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างที่บอกไป และหาเวลาพักผ่อนกับครอบครัวและเพื่อน ๆ เพื่อไม่ให้ตึงเครียดจนเกินไป ไปดูหนัง ฟังเพลง ท่องเที่ยวสถานที่ธรรมชาติ เหมือนนักศึกษาทั่วไปค่ะ”
คำถาม (6) : เมื่อมีความเครียด อาจารย์มีวิธีจัดการอย่างไร
“สำหรับความเครียดที่เกี่ยวข้องกับการเรียน ช่วงแรกอาจจะยังจัดการไม่ดีเท่าไหร่ เพราะวิธีการเรียนในมหาวิทยาลัยแตกต่างกับการเรียนระดับมัธยมค่อนข้างมาก ไม่ต้องเข้าเรียนก็ได้ การประเมินผลก็ต่างกันมาก ไม่มีใครมาคอยบอกเราว่าต้องเตรียมตัวเรียน เตรียมตัวสอบอย่างไร ทำให้ตอนปีหนึ่งคะแนนแค่พอผ่าน เอาตัวรอดมาได้ แต่คะแนนไม่สูงมากค่ะ”
“แต่พอเข้าปีสอง และปีสูง ๆ เราไม่อยากเครียดก็เตรียมตัวตั้งแต่ต้นเทอมเลยค่ะ อาจจะไม่ถึงขั้นอ่านหนังสือก่อนเข้าเรียนทุกครั้ง แต่ก็พยายามทำนะคะ โชคดีตรงที่เป็นคนชอบเข้าไปนั่งเรียน นั่งฟังอาจารย์ จะเข้าเรียนก่อนเวลาและนั่งแถวหน้า ๆ ตลอด ทำให้เห็นท่าทางและการเน้นเนื้อหาของผู้สอน ชอบจดเลคเชอร์เอง ถ้าไม่ทันจริง ๆ ก็จะจดแบบใช้ตัวย่อ ซึ่งอาจารย์เลคเชอร์ละเอียดและมาจากความเข้าใจของเราเอง ก็ทำให้ตอนกลับมาทบทวนเข้าใจได้ง่ายขึ้นค่ะ”
“มีบางช่วงที่รู้สึกว่ายากที่จะจัดการความเครียดสำหรับบางวิชาค่ะ ไม่ถึงกับไม่ชอบนะคะ แต่รู้สึกว่ามันยากมากด้วยเนื้อหาวิชา มีอยู่สองวิชา คือ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งตัวเนื้อหา ลักษณะข้อสอบ และตัวผู้สอนด้วยพูดเร็วมาก อาจารย์จดแทบไม่ทันเลย ทั้ง ๆ ที่ปกติแล้วเลคเชอร์ของเราจะจดทันและสวยงามตลอด แต่วิชานี้เนื้อหาอัดแน่นมากค่ะ ส่วนอีกวิชา คือ นิติปรัชญา เนื้อหามีความเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ ไม่เหมือนวิชาที่มีมาตรา มีตัวบท ตอนเรียนเลยทำให้รู้สึกเครียดและกังวลค่ะ”
“วิธีการที่ช่วยคลายความกังวลในตอนนั้น คือ อาจารย์สนิทกับคุณพ่อ เราก็โทรไปคุยด้วยเพื่อที่จะทำให้คลายความกังวลค่ะ คุณพ่อของอาจารย์ท่านก็จะพยายามบอกว่า จะสอบผ่านหรือไม่ผ่านไม่สำคัญ แค่เราทำให้ดีที่สุดก็พอแล้ว พอเราฟังทำให้รู้สึกโล่งและสบายใจขึ้นค่ะ อีกวิธีนึง คือ อาจารย์ชอบสวดมนต์หน้าห้องพระค่ะ ทำให้ตัวเองมีสมาธิในการอ่านหนังสือมากขึ้น และช่วยลดความวิตกกังวลของเราไปได้เยอะเลย สุดท้ายก็ผ่านมาได้ทุกวิชาค่ะ”
คำถาม (7) : เมื่อมีสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังเกิดขึ้น มีวิธีจัดการอย่างไร
“จะบอกว่าเราไม่คาดหวังเลยก็ไม่ได้ ส่วนตัวจะพยายาม ตั้งใจในสิ่งที่ทำในทุก ๆ วัน และทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เมื่อเราทำเต็มที่แล้ว ผลจะเป็นอย่างไรก็ไม่สำคัญ เพราะเราก็ทำสุดความสามารถของเราแล้ว สำหรับอาจารย์อาจจะไม่ได้คาดหวังหรือตั้งความหวังไว้สูงมาก แต่พยายามสร้างวิธีคิดของเราว่าเมื่อเราพยายามหรือทำเต็มที่แล้ว ผลจะออกมาอย่างไรเราก็ต้องยอมรับมัน ซึ่งจะทำให้ความเครียด ความกังวลต่าง ๆ ลดน้อยลงค่ะ”
“ในส่วนของนักศึกษาที่อาจจะตั้งใจแล้ว แต่มันไม่เป็นไปตามความคาดหวัง อาจารย์อยากให้กำลังใจว่ากว่าที่เราจะค้นพบวิธีการของตัวเองคงไม่ง่าย หากเราทำทุกอย่างเท่าที่เราจะทำได้แล้ว เราไม่ต้องไปกังวลผลหลังจากนั้นเลย ในแต่ละครั้งที่มีการสอบเราทำให้เต็มที่ก็พอ การสอบได้สอบตกในสายกฎหมายเป็นเรื่องปกติ เรายังมีโอกาสให้แก้ตัวได้อีกหลาย ๆ ครั้ง ขอให้เตรียมตัว เตรียมความพร้อมให้ดี แม้เราอาจจะรู้สึกผิดหวังบ้าง แต่มันเป็นเพียงแค่ก้าวเล็ก ๆ ในชีวิตของเราเท่านั้น เมื่อมันผ่านไป วันนึงเราหันกลับมามองวันที่เราเสียใจ เราจะรู้ได้ว่ามันเป็นเพียงแค่บททดสอบอันนึงของชีวิตเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตเรา”
“อาจารย์เองเคยเห็นเพื่อนที่สอบตก เขาก็เสียใจมาก แต่ปัจจุบันเพื่อนของอาจารย์ก็ประสบความสำเร็จกันอย่างดีเยี่ยมมาก เพราะยังมีปัจจัยอีกหลาย ๆ อย่างที่จะมาทดแทนได้”
“ในความเห็นส่วนตัวของอาจารย์ การได้เกียรตินิยมไม่ได้การันตีความสำเร็จในการประกอบอาชีพเลย การได้เกียรตินิยมมีประโยชน์ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดอย่างแน่นอน ในสายการทำงานทุกคนต้องเริ่มต้นใหม่ ยิ่งในภาคราชการจะรับคนที่มีคุณสมบัติเกียรตินิยมเท่านั้นไม่ได้แล้ว เพราะเคยเป็นคดีฟ้องร้องกันในศาลปกครอง การกำหนดคุณสมบัติว่าจะรับตำแหน่งนิติกรเฉพาะคนที่ได้เกียรตินิยมเท่านั้น ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ปริญญานิติศาสตรบัณฑิตของทุกคนมีศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียมกัน เมื่อมีคำพิพากษาในเคสนี้ออกมาทำให้เกิดบรรทัดฐานแก่หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ด้วยค่ะ ส่วนในภาคเอกชนก็จะพิจารณาถึงเรื่องอื่น ๆ ประกอบกันด้วยนอกจากผลการเรียน เช่น ตำแหน่งที่เราสมัครต้องการคุณสมบัติอะไรบ้าง อย่างลอว์เฟิร์มก็ต้องการทักษะด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่สาม ประสบการณ์การทำกิจกรรม เป็นต้น คนที่ทำกิจกรรมอาจารย์สังเกตุว่ามักจะเป็นคนที่มีทักษะการทำงานที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เข้ามาทดแทนเกียรตินิยมได้ค่ะ พยายามสร้างและฝึกทักษะด้านต่าง ๆ ของตัวเองให้พร้อมเข้าไว้ค่ะ”
คำถาม (7) : ในอดีตนอกจากปัญหาเรื่องเรียนแล้ว อาจารย์มีความกังวลเรื่องอื่นอีกหรือไม่
“อาจจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับคนค่ะ ซึ่งในเวลานั้นไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับเพื่อนนะคะ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่รุนแรงอะไร สามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ต้องอาศัยเวลาสักนิดนึงค่ะ ส่วนวิธีการจัดการในตอนนั้น คือ ไม่เอาเรื่องที่ไม่สบายใจมานั่งครุ่นคิดให้เสียเวลา แต่จะเอาเวลาไปทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ตั้งใจเรียน ทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย ทำกิจกรรมกับเพื่อน โชคดีที่มีเพื่อนดี อาจารย์สังเกตว่าความสัมพันธ์ของคนเหมือนแม่เหล็กนะคะ มักจะดึงดูดคนที่คล้าย ๆ กันเข้าหากัน อาจารย์เป็นคนที่ชอบเรียนหนังสือ ก็มักจะมีเพื่อนที่ชวนกันเรียน และก็ชักชวนกันไปในทางที่ดีค่ะ ในส่วนของปัญหานั้น เมื่อเวลาผ่านไปก็ค่อย ๆ คลี่คลายไปได้ค่ะ”
คำถาม (9) : ฝากข้อคิดสำหรับนักศึกษา
“คนเรามีความแตกต่างกัน เราไม่จำเป็นต้องเอาตัวเราไปเทียบกับความสำเร็จของใคร วันนี้เราอาจจะยังไม่สมหวัง แต่มันไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต ทุกคนมีเส้นทางชีวิตของตัวเอง อาจจะล้มบ้างเจ็บบ้าง แต่ขอให้เราเข้มแข็ง ล้มแล้วก็ลุก ค่อย ๆ เดิน เดินทีละก้าวก็ได้ค่ะ สุดท้ายเราก็จะประสบความสำเร็จได้ ยิ่งในสายกฎหมาย อาจารย์เชื่อว่าทุกคนมีลู่วิ่งของตัวเอง เพียงแค่ว่าเราจะถึงเส้นชัยเมื่อไหร่ เราไม่ต้องไปเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ที่เขาอาจจะประสบความสำเร็จก่อน เพราะเส้นชัยของเราอาจจะไม่ใช่เส้นเดียวกัน ถ้าเราค่อย ๆ ก้าว วันนึงก็จะถึงเส้นชัยของเราค่ะ แค่ทำทุกวันให้ดีที่สุดก็พอ”
ภาพ : รศ.ดร.นิรมัย
เรียบเรียง : Law TU Health & Wellness