มุมมองอาจารย์กับการจัดการความเครียด 101 : อ.ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
คำถาม (1) : ประวัติส่วนตัว และแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
“อาจารย์จบมัธยมจากโรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวันค่ะ ช่วงม.ปลายที่ต้องเลือกคณะ อาจารย์มีความฝันว่าอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สังคมดีขึ้น แล้วก็เชื่อว่ากฎหมายน่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่ง เลยเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ค่ะ”
คำถาม (2) : ความสุขในการศึกษากฎหมาย ความมุ่งหมายในเส้นทางนิติศาสตร์ตั้งแต่ตอนเข้าศึกษาจนถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และค้นพบตัวเองว่าอยากเป็นอาจารย์เมื่อใด เหตุใดจึงตัดสินใจมาเป็นอาจารย์
“ความสุขของการเรียนกฎหมายของอาจารย์น่าจะอยู่ที่ความสนุกท้าทายในการการตีความกฎหมาย การใช้ความเป็นเหตุเป็นผล รวมถึงการตั้งคำถามกับตัวบทกฎหมายและรู้สึกว่ากำลังเรียนสิ่งที่มีความสำคัญอยู่ค่ะ”
“นับตั้งแต่สอบสัมภาษณ์เข้าคณะฯ อาจารย์ก็ตอบว่าอยากเป็นอาจารย์เลยเพราะคิดว่าอาชีพอาจารย์เป็นอาชีพที่จะสามารถแบ่งปันความเชื่อ ความคิดดี ๆ กับคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้ค่ะ”
คำถาม (3) : กิจกรรมและงานอดิเรกระหว่างศึกษา และเทคนิคการบริหารจัดการเวลาระหว่างการเรียนและการใช้ชีวิต
“ระหว่างเรียนอาจารย์อยากเป็นเชียร์ลีดเดอร์ แต่ไม่กล้าไปสมัคร เลยอยากจะบอกนักศึกษาทุกคนว่าในเวลานี้ ถ้าอยากทำอะไรให้รีบทำนะคะ แต่อาจารย์ได้ทำกิจกรรม moot court ทางกฎหมายระหว่างประเทศค่ะ”
“เทคนิคตอนนั้นในการสร้างสมดุลหรอ อืมมม สารภาพว่าตอนทำ moot court ก็โดดเรียนกระจายเลยนะ แต่โชคดีที่มีเพื่อนถอดเทปที่อาจารย์สอน เราก็มาตามอ่านเพื่อสอบน่ะค่ะ และเคล็ดลับที่สำคัญมาก ๆ คือ จะไม่อดนอนช่วงสอบ อาจารย์เชื่อในพลังของสมองที่ได้พักเต็มที่มากเลยค่ะ เชื่อว่าถ้าเราอ่านเต็มที่แล้วและตอนทำข้อสอบสมองเราพร้อม ใจเราพร้อม เดี๋ยวคำตอบมันมาเองค่ะ”
คำถาม (4) : เคยมีความเครียดในระหว่างศึกษาบ้างหรือไม่ (เช่น เรื่องการเรียน การใช้ชีวิต หรือด้านอื่น) และมีวิธีจัดการให้ก้าวผ่านอุปสรรคและความท้อแท้ใจไปได้อย่างไร รวมถึงมีวิชาที่ไม่ชอบบ้างหรือไม่ หากมีมีวิธีจัดการอย่างไร
“เมื่อก่อนอาจารย์มีความเครียดและกังวลพอสมควรค่ะ แต่อาจเพราะมีวิญญาณนักสู้มาตั้งแต่เด็ก ก็จะมีคติว่าจะทำทุกอย่างเต็มที่ แต่จะไม่พูดคำว่าเสียดายกับตัวเองเพราะอดีตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว แต่จะมองไปข้างหน้าว่าจะทำยังไงให้ดีขึ้นได้บ้างค่ะ”
“ตอนสมัยเรียนอาจารย์มีวิชาที่ไม่ชอบอยู่บ้าง แต่ก็อดทนอ่านหนังสือเพื่อให้สอบผ่านไปได้ ตรงนี้อาจจะมีคำแนะนำที่คิดได้ตอนนี้นะ ถ้าเราต้องเรียนวิชาที่เราไม่ชอบและเราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ให้เรายอมรับความจริงก่อน เพราะถ้ายิ่งเราบอกตัวเองว่าไม่น่าเลย ทำไมต้องมาเรียนวิชานี้ด้วย ฯลฯ พลังงานของเราก็จะหมดไปเยอะแล้ว ตอนเรียน ตอนอ่านก็จะทรมาน ถ้ายอมรับเลยว่า ก็ต้องเรียนนี่นา เดี๋ยวเรียน อ่าน ลองหัดเขียนข้อสอบ มันก็จะผ่านไปได้นะ น่าจะเป็นวิธีที่ประหยัดพลังงานกายและใจมากกว่าน่ะค่ะ เพราะยังไงก็ต้องเรียนอยู่ดีใช่มั้ยคะ”
อ.ดร.พนัญญา ขณะเป็นนักศึกษาปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำถาม (5) : เมื่อมีสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังเกิดขึ้น มีวิธีจัดการอย่างไร
“ก็รับรู้ถึงความผิดหวังนะคะ แล้วก็บอกตัวเองว่าไม่เป็นไร ครั้งหน้าเอาใหม่”
คำถาม (6) : หากย้อนเวลากลับไปได้ จะบอกกับตัวเองตอนกำลังศึกษาอยู่ว่าอย่างไร
“คงอยากบอกว่า อยากทำอะไรก็ทำให้เต็มที่เลยนะ สนุกกับชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยให้มาก ๆ จะไปสมัครโครงการแลกเปลี่ยน ทำงานอาสาสมัคร เชียร์ลีดเดอร์ เต้น ร้องเพลง ฯลฯ เพราะพอโตขึ้นมาแล้วมีหน้าที่มีบทบาทที่ต้องสวม ก็อาจจะไม่ได้ทำหลาย ๆ สิ่งแล้วค่ะ”
อ.ดร.พนัญญาเมื่อสำเร็จการศึกษา
คำถาม (7) : เพราะเหตุใดอาจารย์จึงให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตใจของนักศึกษา อีกทั้งยังเป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งศูนย์ Law TU Health & Wellness ขึ้นมา
“ก่อนอื่น อาจารย์เข้าใจถึงความรู้สึกท้อใจหรือหมดไฟของคุณนะคะ ถ้ามันเป็นเพราะคุณผิดหวังจากคะแนนสอบ ก็อยากบอกคุณว่าอย่าให้คะแนนสอบมาตัดสินตัวตนและศักยภาพของคุณนะคะ อยากให้คุณฮึดขึ้นมาใหม่ ลองถามเพื่อนหรืออาจารย์ว่าจะเรียนและเตรียมสอบยังไงได้บ้างให้ดีขึ้น แล้วลองดูอีกซักตั้ง”
เคล็ดลับที่อาจจะแชร์ได้ก็เช่น ตัวอาจารย์เองในวิชาที่เรียนไม่เข้าใจเลย อาจารย์ก็จะไปถามเพื่อนที่เค้าขยันถามอาจารย์มาแล้วให้อธิบายให้ฟัง หรือไปถามอาจารย์ที่ห้องพักแทบจะทุกอาทิตย์เลยค่ะให้อาจารย์อธิบายให้เราเข้าใจจนได้ การขอให้อาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบช่วยแนะนำว่าคำตอบของเราจะเขียนยังไงให้ดีขึ้นก็เป็นประโยชน์มากค่ะ เป็นกำลังใจให้นักศึกษามาก ๆ เลยค่ะ”
ภาพ : อ.ดร.พนัญญา
เรียบเรียง : อ.ดร.พนัญญา