มุมมองอาจารย์กับการจัดการความเครียด 101 : ศ.ดร.สหธน รัตนไพจิตร
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
คำถาม (1) : ประวัติส่วนตัว และแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
“อาจารย์เป็นเด็กต่างจังหวัด เกิดที่อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช หลวงพี่ที่วัดสุทัศน์ได้ไปชวนให้มาเรียนที่กรุงเทพมหานคร อยู่วัดได้สามเดือนจึงย้ายมาอยู่กับญาติและได้อยู่กับญาติจนเรียนจบปริญญาตรี”
“ในการเรียนอาจารย์สอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงนั้น เขายังไม่ให้เลือกคณะ แต่ให้มาเรียนรวมกันก่อนทุกคน เมื่อปีสองจึงค่อยเลือกคณะได้ เมื่อถึงปีสอง จึงเลือกเข้าคณะนิติศาสตร์”
“เรื่องแรงบันดาลใจตอนแรกไม่ได้เจาะจงนิติศาสตร์หรอก แต่เจาะจงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มากกว่า เพราะคนปักษ์ใต้เดิมจะผูกพันกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากลูกหลายได้ใส่เสื้อครุยสีดำ ๆ พ่อแม่จะปลื้มใจ สมัยนั้นเขาเรียกเสื้อครุยว่า เสื้อเนติ์ แต่เมื่อเข้ามาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาก็ชอบกฎหมายในปีสอง จึงเลือกคณะนิติศาสตร์ต่อ”
คำถาม (2) : ความสุขในการศึกษากฎหมาย และเหตุผลที่เลือกประกอบวิชาชีพอาจารย์
“ความสุขในการเรียนนิติศาสตร์คือการได้นั่งอ่านหนังสือ และถกเถียงกับเพื่อน กฎหมายแต่ละเรื่องจะมีที่มามีเหตุผล ทำให้เราสนุกกับการเข้าไปค้นคว้าหาคำตอบ”
“อาจารย์เป็นคนชอบอ่านหนังสือ จำได้ว่าเมื่อสอบเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ อาจารย์ตื่นเต้นมากที่เห็นหนังสือในห้องสมุดกลางจำนวนมากที่เราไม่เคยได้เห็น ตอนมาเรียนมหาวิทยาลัยปีหนึ่ง รู้สึกว่าตนเองตกอยู่ในทะเลหนังสือ ตอนนั้นตะลุยอ่านเลยครับ”
“ตอนจบปริญญาตรีได้ ๒ เดือนทางคณะนิติศาสตร์รับสมัครอาจารย์ โชคดีจึงสอบเข้ามาได้ ช่วงหักเหของชีวิตน่าจะเป็นช่วงที่อายุใกล้ ๒๕ ปี ช่วงนั้นต้องตัดสินใจว่าจะเลือกอาชีพอะไร ใจหนึ่งก็อยากมีเกียรติไปสอบสายผู้พิพากษาอัยการ ใจหนึ่งก็อยากไปเป็นทนายที่ปรึกษาเพราะจะได้ค่าตอบแทนเยอะ ใจหนึ่งก็ชอบชีวิตอาจารย์เพราะได้อ่านหนังสือ และท้ายที่สุดเตี่ยของอาจารย์ก็ขอให้อาจารย์เป็นอาจารย์สอนหนังสือต่อ โดยเตี่ยบอกว่าเมื่ออาจารย์อ่านหนังสือจะเห็นอาจารย์มีความสุข การที่ได้ทำงานที่มีความสุขถือเป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว ในช่วงนั้นทางบ้านอาจารย์เริ่มมีฐานะขึ้นบ้าง เตี่ยบอกว่าจ้างอาจารย์อยู่เป็นอาจารย์ต่อโดยให้บ้าน ๑ หลัง รถ ๑ คัน และโทรศัพท์ ๑ เครื่อง”
“การตัดสินใจครั้งนั้นถือเป็นจุดสำคัญของชีวิต หลังจากนั้น อาจารย์ไม่เคยสงสัยหรือลังเลกับการเลือกทางเดินชีวิตอีกเลย”
คำถาม (3) : กิจกรรมและงานอดิเรกระหว่างศึกษา และเทคนิคการบริหารจัดการเวลาระหว่างเรียนและการใช้ชีวิต
“ระหว่างศึกษา อาจารย์ก็เหมือนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อื่นตามปกติ ทั้งเรียน ทั้งทำกิจกรรม เพียงแต่กิจกรรมที่ทำในสมัยเรียนอาจเน้นไปทางสนทนา ไม่ได้เน้นออกกำลังกายมาก เนื่องจากอาจารย์มีปัญหาสุขภาพตั้งแต่ปีหนึ่ง”
“ชุมนุมที่อาจารย์สังกัดก็มีชุมนุมพุทธ ชุมนุมมวย และนิติศึกษา ที่อยู่ชุมนุมมวยนี่เป็นข้อยกเว้นเพราะอาจารย์ชอบ เพียงแต่ไม่ได้เป็นนักมวยเพราะปัญหาสุขภาพ อีกทั้งคนอื่นเก่งกว่า อาจารย์เคยเป็นลูกศิษย์ครูแดงกับครูเฒ่าด้วยนะครับ”
คำถาม (4) : วิธีจัดการกับความเครียดความกังวลเรื่องเรียน
“ตอนเรียนหนังสือ อาจารย์ไม่ชอบวิชากฎหมายตั๋วเงิน เพราะภาษากฎหมายตั๋วเงินไม่เหมือนตัวบทอื่น ๆ ตามป.พ.พ. แม้ว่าอาจารย์ที่สอนจะเป็นครูที่เก่งมาก ๆ และเป็นผู้เชี่ยวชาญยิ่งของประเทศก็ตาม เหมือนยิ่งหนีก็ยิ่งเจอครับ แต่วิชานี้ทำให้อาจารย์เปลี่ยนทัศนคติในการถามปัญหาของนักศึกษาเลยครับ เมื่อนักศึกษาถามปัญหา อาจารย์จะคิดทุกครั้งว่าทำไมนักศึกษาถึงถาม หากเราอธิบายจะต้องพูดอย่างไรเพื่อไม่ให้นักศึกษาสงสัย”
คำถาม (5) : วิชาที่ไม่ชอบหรือรู้สึกว่ายากมาก ๆ และมีวิธีจัดการกับวิชาเหล่านั้น
“ช่วงเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์เจอเรื่องหนัก ๆ เยอะครับ แต่โชคดีที่อาจารย์ผ่านมาได้โดยไม่มีปัญหา ทั้งปัญหาสุขภาพ และปัญหาเรื่องเรียน”
“เรื่องปัญหาสุขภาพ ตอนอยู่ปีหนึ่ง อาจารย์เข้าโรงพยาบาลผ่าตัดอยู่โรงพยาบาลได้ ๓ วัน ต้องขอคุณหมอออกมาสอบ ตอนสอบยังต้องไปสอบที่ห้องพยาบาลเลยครับ”
“ตอนอยู่ปีสองเทอมหนึ่งถึงปีสี่ อาจารย์เป็นโรคกระดูกทับเส้น เพราะอาจารย์ไปยกของหนัก ทำให้กระดูกสันหลังแตกและไปทับเส้นประสาท ไม่ได้ผ่าครับ กินแต่ยาแก้ปวด แต่โรคนี้ทำให้นอนไม่เต็มที่ เพราะพอหลับแล้วก็ต้องตื่นเพราะปวดทำให้หลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอด อาจารย์จึงได้เรียนไม่เต็มที่ มาเรียนก็นั่งหลับในห้อง อาจารย์มาเรียนเกือบทุกคาบนะครับ แต่พอนั่งเรียนได้สัก ๑๐ นาทีก็จะหลับ เพราะท่านั่งเรียนจะเป็นท่าที่สบายที่สุดที่จะหลับครับ สมัยนั้นอาจารย์ชอบท่านอาจารย์วรพจน์สอนมาก แต่ฟังได้นานสุดก็แค่ ๑๐ นาทีครับ กว่าโรคนี้จะหายก็ช่วงปีสี่เทอมหนึ่งแล้วครับ หากพวกเราคุ้นเคยกับอาจารย์ จะสังเกตว่าอาจารย์ไม่เคยดุใครที่หลับในห้องเลยครับ เพราะเห็นพวกเราหลับก็นึกถึงอาจารย์สมัยเรียน”
“ที่เล่าให้ทั้งเรื่องปัญหาสุขภาพและการเรียนก็เพราะอาจารย์ได้คะแนนตอนสอบไม่ดีเลยครับ แต่อาจารย์ผ่านช่วงนั้นมาได้เพราะอาจารย์ศรัทธาในตัวอาจารย์เองครับว่าอาจารย์มีดีมากกว่าผลที่ปรากฎ เมื่อเราศรัทธาในตัวเราเองแล้วเราจะลืมสิ่งที่ไม่ได้ตามคาดหมายเองครับ”
คำถาม (6) : สิ่งที่อาจารย์อยากกลับไปบอกตนเองตอนยังไม่จบการศึกษา
“อาจารย์เชื่อว่าการเดินทางท่องเที่ยวทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น อีกทั้งช่วงเวลาที่สนุกที่สุดคือช่วงเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย ดังนั้น หากย้อนเวลาได้ อาจารย์จะไม่เรียนซัมเมอร์ แต่จะใช้เวลาช่วงซัมเมอร์ปีหนึ่ง ปีสอง และปีสาม ออกเดินทางท่องเที่ยวครับ อาจารย์จะเที่ยวให้มากกว่านี้”
คำถาม (7) : วิธีจัดการความกังวลอื่น ๆ นอกจากเรื่องเรียน
“อาจารย์โชคดีที่เป็นคนไม่ย้ำคิดย้ำทำ ดังนั้น เมื่อมีปัญหาจึงมักจะมีปัญหาไม่นานเพราะอาจารย์ลืม อาจเป็นโชคดีที่อาจารย์เป็นคนลืมง่าย”
“แต่ช่วงที่อาจารย์มีปัญหาหนัก ๆ อาจารย์จะไม่อยู่คนเดียว จะไปสังสรรค์กับเพื่อน และทำสิ่งที่ตนเองชอบ เมื่อได้ทำสิ่งที่ตนเองชอบสักพัก เราจะมีสติ และเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เวลาจะกลืนปัญหาของเราเองครับ”
“มีช่วงหนึ่งที่อาจารย์ผิดหวัง อาจารย์จึงไปเช่านิยายกำลังภายในมาอ่าน ๗ วัน ๗ คืน อ่านจบก็ลืมเลยครับว่าเราผิดหวังเรื่องอะไร”
คำถาม (8) : ข้อคิดถึงนักศึกษาที่กำลังหมดไฟหรือกำลังท้อใจ
“ทุกคนย่อมมีเหตุการณ์และช่วงเวลาที่ไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง เมื่อไรก็ตามที่มีสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่หวัง อย่าไปท้อเดินหน้าต่อและลืมเรื่องที่ผิดหวังเสียทันที เราไม่มีโอกาสไปแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้วไม่ให้เกิดขึ้น แต่เรามีโอกาสทำสิ่งใหม่ที่ยังไม่เกิดให้ได้ตามความหวังครับ”
ภาพ : ศ.ดร.สหธน
เรียบเรียง : Law TU Health & Wellness