มุมมองอาจารย์กับการจัดการความเครียด 101 : รศ.ดร.สุปรียา แก้วละเอียด
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
คำถาม (1) : ประวัติส่วนตัว และแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
“ชื่อ รองศาสตราจารย์ ดร.สุปรียา แก้วละเอียด ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศูนย์ลำปางและกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน และศูนย์กฎหมายภาษีอากรของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
“เริ่มเข้าศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2540 จบการศึกษาในปี 2543 จากนั้นได้ศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายภาษี และระหว่างนั้นก็ได้ทำงานเป็น ที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอากรให้กับบริษัท Pricewaterhouse Coopers (หรือ PwC ในปัจจุบัน) ต่อมา ได้รับการคัดเลือกและบรรจุเป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในปี 2546 ได้รับทุนจากรัฐบาลของสาธารณรัฐฝรั่งเศสไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านกฎหมายมหาชน ที่มหาวิทยาลัย Toulouse Capitole ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นก็ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ด้านกฎหมายการคลัง ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน จนจบการศึกษาในปี 2552 และกลับมาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนถึงปัจจุบันค่ะ”
คำถาม (2) : ความสุขในการศึกษากฎหมาย และเหตุผลที่เลือกประกอบวิชาชีพอาจารย์
“อาจารย์คิดว่ากฎหมายเป็นศาสตร์ที่มีสเน่ห์ ความรู้ทางกฎหมายไม่ได้อยู่แค่ที่ตัวบทอย่างเดียว แต่จะต้องใช้ประกอบกับศาสตร์อื่น ๆ ด้วย เช่น หากอยากเข้าใจและปรับใช้กฎหมายการคลังได้ดี จะต้องมีความเข้าใจด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ กฎหมายไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวเป็นเอกเทศ แต่กฎหมายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคม พฤติกรรมของมนุษย์ และมีความเป็นพลวัตร ดังนั้น การเรียนกฎหมายจึงทำให้เราเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ รอบตัวเราไปพร้อมกันด้วย อีกประการหนึ่ง อาจารย์มองว่านิติศาสตร์มีระบบคิดคล้ายกับวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ ที่ต้องใช้ตรรกะ ความเป็นเหตุเป็นผล การพิสูจน์ในทางข้อเท็จจริง หลักกฎหมายหรือตัวบทกฎหมายก็เปรียบเสมือนกับสูตรเลข ที่ผู้ใช้ต้องนำหลักกฎหมายหรือสูตรเลขดังกล่าว ไปปรับข้อเท็จจริงหรือโจทย์ เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง แต่กฎหมายจะมีความพิเศษตรงที่การปรับตัวบทกฎหมาย จะมีมิติทางสังคมศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ นอกจากปรับใช้กฎหมายกับข้อเท็จจริงให้ถูกต้องแล้ว การปรับใช้กฎหมายจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย”
“ส่วนเป้าหมายในด้านอาชีพ ในสมัยก่อน อาชีพทางกฎหมายไม่ได้มีหลากหลายมากนัก ดังนั้น นักศึกษากฎหมายส่วนใหญ่ก็จะมุ่งไปในด้านวิชาชีพเป็นหลัก ได้แก่ ผู้พิพากษา ในตอนแรกก่อนเข้ามาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ก็คิดจะเป็นผู้พิพากษาเหมือนกัน แต่พอเข้ามาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ เราจะเห็นว่ามีกฎหมายในหลายสาขาที่น่าสนใจ และเราไม่ได้เรียนกฎหมายแบบที่ยึดติดในคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลว่าเป็น dogma ประกอบกับด้วยความที่เป็นคนชอบความโลดโผน ชอบการทำสิ่งใหม่ ๆ และสนใจประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน จึงเบนความสนใจมายังสายงานด้านมนุษยธรรมขององค์การระหว่างประเทศ อย่างเช่น UNHCR จึงไม่ได้คิดเป็นอาจารย์ตั้งแต่ต้น”
“มาค้นพบว่าอยากเป็นอาจารย์เมื่อตอนจะขึ้นปี 3 เพราะรู้สึกว่าเราไปได้ดีในการเรียนกฎหมาย เข้าใจเรื่องได้ง่ายและชอบความเป็นระบบของกฎหมาย บางเรื่องเราสามารถคิดไปล่วงหน้าก่อนที่อาจารย์จะได้อธิบาย อาจพูดได้ว่ามี passion ในการเรียนกฎหมายจริง ๆ คือ ไม่ได้อ่านกฎหมายเพราะอยากสอบผ่านอย่างเดียวแล้ว แต่อ่านเพราะสนใจ เพราะอยากรู้เรื่องนั้นให้ลึกซึ้งขึ้น เช่น เรียนกฎหมายอาญา หลักทั่วไป ยังไม่ทันเรียนภาคความผิดเลย ก็ไปอ่านหนังสือด้านทัณฑวิทยาเพราะอยากรู้เรื่องระบบการลงโทษและวิธีการทำให้นักโทษกลับคืนสู่สังคม หรือไปหยิบหนังสือด้านนิติเวชศาสตร์มาอ่าน เพราะอยากรู้เรื่องวิธีการพิสูจน์การกระทำความผิดทางอาญา เป็นต้น จึงเริ่มคิดว่าอาชีพที่ได้ค้นคว้า อ่านหนังสือ และมาถ่ายทอดให้คนอื่นฟัง น่าจะทำให้เรามีความสุขดี นอกจากนี้ ด้วยเป็นคนที่รักอิสระ ไม่ชอบอยู่ในกรอบตายตัว จึงคิดว่าอาชีพอาจารย์ที่มีเสรีภาพทางวิชาการ ในการคิดการเขียน จึงน่าจะเหมาะกับเราแล้ว”
อีกเหตุผลที่สำคัญ คือ อาจารย์เป็นผู้สร้างปัญญาชน สร้างคนที่จะออกไปทำงานในวงการกฎหมาย อาจารย์จึงเหมือนกับแป้นพิมพ์ ถ้าแป้นพิมพ์บิดเบี้ยวหรือไม่ดีแล้ว ผลผลิตจะมีคุณภาพได้อย่างไร ดังนั้น ในเมื่อเราก็พอจะมีศักยภาพในทางวิชาการและมีใจรักที่จะเป็นอาจารย์ ก็อยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคน หล่อหลอมนักศึกษากฎหมายของเราให้เป็นนักกฎหมายที่เก่งและดีด้วย”
คำถาม (3) : กิจกรรมและงานอดิเรกระหว่างศึกษา และเทคนิคการบริหารจัดการเวลาระหว่างการเรียนและการใช้ชีวิต
“อาจารย์ทำกิจกรรมตอนเรียนอยู่สองประเภทค่ะ คือ สายบันเทิงกับสายวิชาการ อาจารย์อยู่ในชมรม Folk songs and Glee Club ได้เรียนพวกดนตรีคลาสสิก เช่น กีตาร์คลาสิค และมีห้องซ้อมอยู่ในอาคาร กิจกรรมนักศึกษา ก็จะซ้อมตอนหลังเรียน และวันเสาร์อาทิตย์บ้างตามที่นัดกัน ในขณะที่ก็หาเวลาไปเรียน Electone ที่โรงเรียนสอนดนตรีด้วย สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เล่นไปได้สัก 1-2 ปี ก็เริ่มเรียนหนักขึ้นในปี 3 ก็ต้องเพลา ๆ ลงค่ะ”
“ในช่วงปี 3 เอง เพื่อนในกลุ่มก็ชักชวนมาทำกิจกรรมสายวิชาการ คือ กลุ่มศึกษากฎหมายภาคปฏิบัติ หรือ กศป. เป็นกลุ่มนักศึกษาที่จัดค่ายให้กับนักศึกษาของคณะนิติศาสตร์ได้เข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเรียนกฎหมายผ่านกิจกรรมทางวิชาการ เช่น แนะแนวการเรียนกฎหมายหรือเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย เป็นต้น และทำกิจกรรมบริการสังคม เช่น จัดค่ายวันเด็กเพื่อไปปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในต่างจังหวัด หน้าที่หลักของอาจารย์ใน กศป. คือ เป็นวิทยากรที่แนะนำเรื่องการเรียน และก็ช่วยทำค่าย หาสปอนเซอร์”
“ส่วนงานอดิเรก ถ้ามีเวลาว่างก็อ่านหนังสืออ่านเล่นประเภทแบบหักมุม หรือไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนมหาวิทยาลัยหรือเพื่อนมัธยมบ้าง แล้วก็ชอบร้องคาราโอเกะ (ในขณะที่เพื่อนไม่ชอบ) ก็ เป็นวิธีการคลายเครียดอย่างนึงค่ะ”
“ส่วนการแบ่งเวลาเรียนกับการทำกิจกรรมนั้น หลักของอาจารย์เลย คือ ไม่โดดเรียน ทำกิจกรรมนอก เวลาเรียนเท่านั้น ดังนั้น ตลอด 4 ปีที่เรียนมาไม่เคยโดดเรียนเลยค่ะ เพื่อไม่ให้การทำกิจกรรมของเราไม่กระทบกับการเรียน เพราะการเข้าเรียนสำคัญ ทำให้เราเข้าใจและปรับใช้กฎหมายได้ดีกว่าการไปอ่านหนังสือเอาเอง หลายเรื่องเราจำเป็นต้องเห็นตัวอย่าง ซึ่งอาจารย์ผู้สอนจะยก cases และอธิบายขยายความในเรื่องนั้นให้เราเข้าใจได้อย่างถูกต้องและง่ายขึ้น หากไปอ่านเอง ด้วยข้อจำกัดของหนังสือบางเล่มที่เน้นตัวบทเยอะ หรือเน้นคำพิพากษาฎีกาเยอะก็อาจจะไม่สามารถทำให้เราเข้าใจเรื่องได้ทั้งหมด ดังนั้น การจัดสรรเวลาจึงต้องให้กับการเข้าเรียนเป็นหลักค่ะ”
คำถาม (4) : เมื่อมีความเครียด อาจารย์มีวิธีจัดการอย่างไร
“เป็นเรื่องปกติมาก ๆ เลยค่ะที่เราจะเครียดและกังวลในการเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนปี 3 ซึ่งจะเป็นกฎหมายด้านวิธีพิจารณาความ โดยนอกจากจะต้องอาศัยความเข้าใจแล้ว ยังต้องจำขั้นตอนเยอะ พอสมควร หนังสือวิธีพิจารณาความทั้งหลายจะหนามากและมีหลายเล่ม ประกอบกับปี 3 เป็นปีที่เรียนทั้งหมด 7 วิชาซึ่งเยอะมาก ช่วงนั้นจึงค่อนข้างเครียดมาก ยิ่งเป็นช่วงปลายเทอมก็กังวลว่าจะอ่านหนังสือไม่ทันค่ะ”
“อาจารย์มีวิธีการคลายเครียดอยู่สองอย่างค่ะ คือ หนึ่ง คลายเครียดด้วยดนตรี การฟังเพลง ก็ผ่อนคลายไปได้บ้าง จำได้ว่าได้ทำเทปรวมเพลงแนวให้กำลังใจไว้เป็นการเฉพาะเลย ใช้ดนตรีบำบัดความเครียดก็ได้ผลดีค่ะ สองคือ พยายามไม่กดดันตัวเอง ตั้งเป้าหมายไว้ว่าแค่ 60 คะแนน ก็โอเคแล้ว เพราะ 60 คะแนน คือ เกณฑ์ผ่าน ถือว่าเท่าทุนถ้าได้คะแนนเกินกว่านั้นก็เป็นกำไรค่ะ ไม่ต้องไปกดดันตัวเองมาก พอสอบเสร็จแล้วก็ออกจากโหมดวิชาการไปชั่วขณะ คือ ไม่ดูธงคำตอบเลย จริง ๆ สมัยก่อนไม่มีธงด้วยค่ะ แล้วก็ไม่ไปหาเรื่องตามไปเปิดหนังสือว่าตัวเองตอบถูกหรือไม่ด้วย เราทำหน้าที่เสร็จแล้วก็พอแค่นั้น หลังจากนั้นก็ไปทำอย่างอื่น พักผ่อน ใช้เวลากับครอบครัว กับเพื่อน เมื่อเปิดเทอมแล้วก็กลับเข้าสู่โหมดวิชาการใหม่ ดังนั้น เวลาเรียนก็เรียนจริงจัง เวลาเล่นก็เล่นเต็มที่”
คำถาม (5) : วิชาที่ไม่ชอบหรือรู้สึกว่ายากมาก ๆ และมีวิธีการจัดการกับวิชาเหล่านั้น
“ถ้าเป็นวิชาเลือกก็ชอบหมดเลยค่ะเพราะเราเลือกในสิ่งที่เราชอบ ส่วนถ้าเป็นวิชาบังคับ ไม่มีวิชาไหนที่รู้สึกไม่ชอบจริงจัง แต่อาจจะรู้สึกว่าเราเข้าใจวิชานี้ยากกว่าวิชาอื่น เช่น วิชาตั๋วเงิน เพราะตอนนั้นอาจจะยังไม่เห็นภาพตั๋วแลกเงินหน้าตาเป็นอย่างไร A/C Payee Only จะขีดคร่อมอย่างไร เพราะไม่เคยมีประสบการณ์การใช้เช็ค ณ ตอนนั้น (แต่อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส กลับใช้เช็คในชีวิตประจำวันเยอะมาก) ทำให้เราไม่ค่อยเข้าใจ แต่พยายามไม่คิดลบกับมัน คิดว่ามันจะเป็นประโยชน์ในอนาคต ดังนั้นก็พยายามทำความ เข้าใจ หากยังไม่เข้าใจก็ค้นคว้าเพิ่ม หากยังไม่เข้าใจจริง ๆ ก็จะไปถามอาจารย์ผู้สอนค่ะ จึงต้องเริ่มจาก การปรับทัศนคติก่อนว่าทุก ๆ วิชามีประโยชน์ เราอาจจะเข้าใจมันได้ยากหน่อย แต่มันก็มีวิธีอยู่ ค้นคว้าเองบ้าง ถามอาจารย์ผู้สอนบ้าง สุดท้ายก็ผ่านมาได้ค่ะ”
คำถาม (6) : ความเห็นของอาจารย์ว่าด้วยเรื่องเกียรตินิยม
“ทุกคนที่รู้จักอาจารย์มักจะชอบพูดว่า อาจารย์ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งมาในช่วงปี 2543 ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งมาหลายปีติดต่อกันแล้ว และได้คะแนนสูงกว่าที่เคยมีมา (ในขณะนั้น) อาจารย์วางแผนในการทำให้ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งได้อย่างไร ตอบจริง ๆ เลย ก็คือ ตอนเข้ามาเรียนคณะนิติศาสตร์ ไม่เคยคาดหวังเลยว่าจะได้เกียรตินิยม หรือคาดหวังว่าจะต้องได้ที่ 1 เลย หวังแค่ว่าขอให้ผ่านทุกวิชาและจบการศึกษาภายใน 4 ปีก็เพียงพอแล้ว แต่พอได้เรียนในสิ่งที่เราชอบ เราสนใจ จะรู้สึกว่าเราไม่ได้ฝืนใจหรือต้องอดทนอะไรมาก ประกอบกับมีวินัยกับตนเองในการเข้าเรียนและการอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ต้นเทอมจนปลายเทอม เราจึงไม่ได้รู้สึกว่าเราเหน็ดเหนื่อยในการเตรียมสอบมากนัก เลยทำให้คะแนนออกมาดี จึงอาจพูดได้ว่าการที่เรามีความสุข สนุกในการทำสิ่งใด เราจะทำได้ดีในสิ่งนั้น ดังนั้น เกียรตินิยมของจึงเป็นผลจากความชอบในการเรียนกฎหมายและการมีวินัยในการอ่านหนังสือค่ะ”
“นักศึกษาหลายคนอาจจะคาดหวังเกียรตินิยมมาตั้งแต่ต้น ก็เป็นเรื่องที่ดีที่เราจะมีเป้าหมายในการเรียน และพยายามที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าเราจะไม่ได้เกียรตินิยมตามที่คาดหวังไว้ ก็ไม่เป็นไรค่ะ เพราะความสำเร็จในชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับเกียรตินิยม แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก และความสำเร็จของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ละคนมีทักษะหรือความถนัดแตกต่างกันไป ดังนั้น เกียรตินิยมไม่ใช่ไม้บรรทัดที่จะใช้วัดความสำเร็จในชีวิตของทุก ๆ คนได้ ดังนั้น แม้จะไม่ได้เกียรตินิยมก็ ไม่เป็นไร มีทักษะอื่นที่สามารถทดแทนได้หลายอย่าง”
“ในการรับคนเข้าทำงาน แม้ว่าเกรดหรือเกียรตินิยมจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ใช้วัดว่าบุคคลนั้นมีความรู้ ความสามารถหรือไม่ก็จริง แต่ก็ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ผู้ใช้บัณฑิตพิจารณา ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาร่วมด้วย เช่น ความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศ ประสบการณ์ในการฝึกงาน เป็นต้น หรือ Soft skills เช่น การทำงานเป็นทีม การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ความเป็นผู้นำ เป็นต้น ซึ่งทักษะเหล่านี้บางเรื่องเรียนรู้ได้จากห้องเรียน แต่บางเรื่องต้องเรียนรู้นอกห้องเรียน เรียนรู้จากการใช้ชีวิต เช่น การทำกิจกรรมระหว่างเรียน การทำ Pro bono ดังนั้น หากเราเรียนอย่างเดียวไม่เคยทำกิจกรรมหรือพบปะพูดคุยกับ
คนอื่น ๆ เลย แม้ว่าเราจะได้เกียรตินิยม เก่งมาก แต่สื่อสารและทำงานร่วมกันกับคนอื่นไม่ได้ ก็ไม่ได้ทำให้เราประสบความสำเร็จในการทำงานได้ นักกฎหมายนอกจากจะมีความรู้ในกฎหมายเป็นอย่างดีแล้ว ปรับใช้กฎหมายเป็น ต้องมีความรอบรู้ในเรื่องอื่น ๆ ประกอบด้วย และต้องเข้าใจมนุษย์ด้วย หมายถึง ต้องทำงานกับ คนได้ เพราะกฎหมายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมและคนเสมอ”
“สำหรับในอาชีพอาจารย์เองที่มักจะพิจารณาจากคะแนนเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ดี การรับเข้าอาจารย์ก็สามารถใช้เกณฑ์อื่นในการทดแทนเกียรตินิยมได้ เช่น ความสามารถในการผลิตผลงานทางวิชาการ เป็นต้น อาจารย์ในคณะเราหลายคนก็ไม่ได้เกียรตินิยม ก็เป็นอาจารย์ที่ยอดเยี่ยมและประสบความสำเร็จได้ สิ่งที่สำคัญมากกว่าเกียรตินิยมที่เป็นเพียงแค่ใบเบิกทาง คือ คนที่จะเป็นอาจารย์ ต้องรักที่จะค้นคว้าหาความรู้ รักที่จะทำวิจัย รักที่จะสอน ต้องมีทักษะในการถ่ายทอดความรู้ออกมาให้ได้ ไม่เช่นนั้นต่อให้เก่งมากแต่สอนไม่รู้เรื่องก็เท่านั้น การเป็นอาจารย์ก็ต้องพัฒนาตัวเอง ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่เช่นนั้นจะไม่มีอะไร มาถ่ายทอดให้นักศึกษาได้ จริง ๆ อาชีพอื่น ๆ ก็เช่นกัน เกียรตินิยมที่ได้จะไม่มีความหมายเลย หากว่าความรู้และความสามารถของเราหยุดอยู่แค่เมื่อได้รับใบปริญญาเมื่อสิบหรือยี่สิบปีที่แล้ว ดังนั้น แม้ว่าเราจะไม่ได้เกียรตินิยมมาตั้งแต่แรก แต่หากเราไม่หยุดเรียนรู้ ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ก็จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ตรงกันข้าม แม้ว่าเราจะได้เกียรตินิยมมาตั้งแต่ต้น แต่หยุดการเรียนรู้ไว้แค่นั้น ไม่รู้จักพัฒนาตัวเอง การประสบความสำเร็จก็เป็นไปได้ยาก เกียรตินิยมที่ได้มาก็ไร้ความหมายและไม่ยั่งยืน”
คำถาม (7) : เมื่อมีสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังเกิดขึ้น มีวิธีจัดการอย่างไร
จากประสบการณ์ตอนเรียน ก็จะมีบางวิชาที่เราคิดว่าเราทำได้ดีนะ แต่คะแนนออกมาไม่ดีมากนัก แม้จะพยายามบอกตัวเองแล้วว่าไม่ต้องคาดหวังเรื่องคะแนน แต่ก็มีบ้างที่เราจะรู้สึกว่าผิดหวัง เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อผิดหวัง ลำดับแรกที่ทำ คือ ปลอบใจตัวเอง ตนนี่ล่ะเป็นที่พึ่งแห่งตน อย่างที่เล่าให้ฟังว่าอาจารย์ชอบฟังเพลง ก็จะมีลิสต์เพลงของอาจารย์เลย เป็นเพลงให้กำลังใจ ก็จะมาเปิดฟัง เอาไว้ปลอบใจตัวเอง ลำดับต่อไป คือ ยอมรับความจริง เมื่อมาถึงจุดที่เรายอมรับความผิดหวังได้ เราจะเรียนรู้ว่าเราพลาดอะไร ก็ให้มันเป็นบทเรียนของเรา ให้เราระมัดระวังและรอบคอบขึ้นในวันข้างหน้า ลำดับสุดท้าย คือ ก้าวเดินต่อไป เมื่อยอมรับความจริงได้ เรียนรู้แล้ว ก็ถึงเวลาที่เราก็ต้องลุกขึ้นและก้าวเดินต่อ ดังนั้น กระบวนการจัดการอารมณ์ความรู้สึกตัวเองเมื่อผิดหวังเรื่องการเรียนในสมัยนั้น ก็จะใช้เวลาไม่นานนัก หลังจากยอมรับความจริงได้ สัก 2 – 3 วัน อาจารย์ก็กลับไปใช้ชีวิตของตัวเองเหมือนเดิม
หากย้อนไปในสมัยเรียนได้ อาจารย์อยากจะให้ตัวเองผ่อนคลายกว่านี้ อยากบอกตัวเองในสมัยนั้นว่าโลกนี้มันไม่ใช่โลกแห่งความสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่โลกในอุดมคติ ความเป็นจริงแล้วมันเป็นโลกที่เต็มไป ด้วยความโกลาหลวุ่นวาย เป็นโลกที่เราต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ อยู่เสมอ คนที่อยู่รอดได้และอยู่ได้อย่างมีความสุขด้วย คือ คนที่รู้จักปรับตัว และมองหาสิ่งที่สร้างความสุขให้ตัวเองได้ อย่าทำตัวเป็น perfectionist เพราะไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบในโลกนี้ ความสุขและความสำเร็จมันไม่ได้หยุดเพียงแค่เราได้คะแนนดี ๆ เท่านั้น แต่ความสำเร็จในชีวิต คือ เราสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพให้เกิดประโยชน์กับตัวเองและสังคม มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวและคนรอบข้าง และมีความสุขในการใช้ชีวิต
คำถาม (5) : ฝากข้อคิดสำหรับนักศึกษา
ตลอดระยะเวลาที่เราศึกษาในมหาวิทยาลัย จะมีทั้งสุขและทุกข์ มีสมหวังและผิดหวัง ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ความสำคัญไม่ได้อยู่แค่ว่าเราจะได้คะแนนดี ๆ หรือได้เกียรตินิยม ความสำคัญอยู่ที่เราได้เรียนรู้และใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยคุ้มค่าเพียงใด มันคือ กระบวนการการเรียนรู้และเติบโตของนักศึกษา ผ่านการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ขอให้นักศึกษามีจิตใจที่เข้มแข็งและมั่นคง มีความสุขในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวันค่ะ บางครั้งเราอาจจะพบปัญหาและอุปสรรคก็พยายามก้าวข้ามผ่านมันไป บางครั้งเจอความผิดหวังก็ยอมรับ เรียนรู้และก้าวต่อไป เพราะชีวิตข้างหน้ายังอีกไกล ยังมีโอกาสและหนทางอีกมากให้เราจะได้เจอ อาจารย์ขอให้นักศึกษาเรียนรู้ให้มากและใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างคุ้มค่าและมีความสุข เป็นกำลังใจให้นักศึกษาทุกคนค่ะ
ภาพ : รศ.ดร.สุปรียา
เรียบเรียง : Law TU Health & Wellness