มุมมองอาจารย์กับการจัดการความเครียด 101 : รศ.ธีระ สุธีวรางกูร
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
คำถาม (1) : ประวัติส่วนตัว และแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
“ผม ธีระ สุธีวรางกูร ครับ เป็นคนจังหวัดชุมพรโดยกำเนิด ผมเรียนหนังสือชั้นประถมฯ และมัธยมฯ ที่โรงเรียนประจำอำเภอสวี พอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ก็ศึกษาต่อชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพที่วิทยาลัยเกษตรกรรมในจังหวัด เมื่อเรียนจบแล้ว จึงเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อชั้นปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผมใช้เวลาเรียนและค้นหาตัวเองไปด้วยประมาณห้าปีครึ่งก็จบการศึกษา จากนั้นก็เริ่มทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งพร้อมกับศึกษาต่อชั้นปริญญาโทที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอจบการศึกษาก็ไปทำงานที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ทำอยู่ที่นั่นประมาณสองปี ก็มาสอบเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อสอบได้ ก็ประกอบอาชีพอาจารย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงตอนนี้ ปัจจุบันผมเป็นอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน”
“เรื่องแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมายนั้น จริงๆ ก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรพิเศษ เพียงแต่ตอนที่ผมยังเป็นเด็ก พ่อผมเคยเปิดร้านขายหนังสือพิมพ์อยู่ช่วงหนึ่ง จึงทำให้ผมมีโอกาสอ่านข่าวสารต่างๆ ในหนังสือพิมพ์รวมถึงข่าวสารบ้านเมือง เลยทำให้มีความสนใจในเรื่องการบ้านการเมืองอยู่บ้าง เมื่อจะมาศึกษาต่อชั้นปริญญาตรี ผมคิดว่าที่คณะนิติศาสตร์แม้จะศึกษากันทางกฎหมายเป็นหลัก แต่ในหลายวิชาก็มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่เหมือนกัน ดังนั้น ผมเลยตัดสินใจเลือกเรียนที่คณะนิติศาสตร์”
คำถาม (2) : ความสุขในการศึกษากฎหมาย และเหตุผลที่เลือกประกอบวิชาชีพอาจารย์
“ความสุขหรือขอพูดอีกอย่างว่าความไม่ค่อยทุกข์ในการศึกษากฎหมายของผม พูดโดยพื้นฐาน คือผมได้เรียนในสิ่งที่ผมชอบและสามารถตัดสินใจเลือกเรียนได้เอง คือครอบครัวของผม โดยเฉพาะพ่อกับแม่ ไม่เคยบังคับหรือกำหนดให้ผมต้องเรียนอะไรหรือเป็นอะไร แต่ให้ผมเลือกทางเดินชีวิตเอาเองรวมไปถึงการเรียนด้วย เมื่อกฎหมายเป็นสิ่งที่ผมเลือกเรียนเองและผมเองก็ชอบ ในแง่นี้ การศึกษากฎหมายของผมจึงไม่ค่อยทุกข์กับเรื่องคณะฯ ที่เรียน ส่วนเรื่องอื่นที่อาจติดๆ ขัดๆ บ้าง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องปรับตัวแก้ไขกันไปตามเหตุตามสภาพ”
“สำหรับความมุ่งหมายในการเรียนกฎหมายนั้น ตอนแรกคิดว่าเมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็คงจะไปสอบเป็นผู้พิพากษา หรือไม่อย่างนั้นก็อาจไปทำงานทางการเมือง แต่ต่อมาเมื่อผมเรียนอยู่ในชั้นปีที่สอง พอดีว่าผมได้อ่านหนังสือหลากหลายมากขึ้นทั้งในด้านการเมือง การปกครอง ปรัชญา ศาสนา ฯลฯ เลยทำให้มีคำถามหลายอย่างเกี่ยวกับสภาพสังคมไทยและจุดมุ่งหมายจริงๆ ในชีวิตของตัวเอง เมื่อคิดไปคิดมา หลังจากพบว่าตัวผมเองเป็นชอบคิด ชอบถาม ชอบแลกเปลี่ยนความเห็น ก็เริ่มเห็นว่าตัวเองคงไม่เหมาะที่จะไปสอบเป็นผู้พิพากษาแล้วล่ะ แต่น่าจะไปทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือมากกว่า จึงเปลี่ยนความคิดเป็นอยากเป็นอาจารย์สอนหนังสือตั้งแต่ตอนนั้น และเริ่มวางแผนชีวิตตัวเองว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้ตัวเองสามารถเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยได้”
คำถาม (3) : กิจกรรมและงานอดิเรกระหว่างศึกษา และเทคนิคการบริหารจัดการเวลาระหว่างการเรียนและการใช้ชีวิต
“ตอนเรียนชั้นปริญญาตรี ผมก็ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยอยู่บ้าง ส่วนใหญ่ก็ช่วยเหลืองานซุ้มหรือโต๊ะของนักศึกษาที่ผมนั่งประจำอยู่ เป็นกิจกรรมพื้นๆ ส่วนกิจกรรมอื่นนอกมหาวิทยาลัย ผมก็เล่นดนตรีกับเพื่อนๆ ทั้งแบบสมัครเล่นและแบบอาชีพแล้วแต่โอกาส และก็มีบ้างที่รุ่นพี่ชวนไปเล่นเป็นตัวประกอบในหนังหรือละครทีวี”
“สำหรับการจัดการเวลาเรียนกับการใช้ชีวิตนั้น ตอนเรียนปริญญาตรีชั้นปีที่หนึ่งกับปีที่สอง ผมก็ไม่ได้มีเทคนิคอะไรพิเศษ เวลาเรียนก็เรียน เวลาพักก็พัก ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการจัดสมดุลของชีวิต อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือหลากหลายมากขึ้นอย่างที่ได้บอกไปแล้ว นอกจากจะทำให้ผมเปลี่ยนความคิดจากอยากสอบเป็นผู้พิพากษามาเป็นอยากทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือแล้ว ก็ยังทำให้ผมคิดหาคำตอบเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของชีวิตผมด้วย ผมเลยหยุดเรียนหนังสือชั่วคราวประมาณสองปี คือลงทะเบียนเรียน แต่ไม่ได้ไปสอบ แล้วเอาเวลาช่วงนั้นไปหาความหมายของชีวิต ผมอ่านหนังสือต่างๆ ที่ไม่ใช่ตำรากฎหมาย ไปฟังสัมมนาในที่ต่างๆ เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ช่วงนี้การจัดการชีวิตระหว่างการเรียนกับการใช้ชีวิตเลยไม่มีความสมดุล เพราะใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับการใช้ชีวิต ได้มาจัดการกับชีวิตการเรียนอีกครั้ง ก็เมื่อผมตัดสินใจกลับมาเรียนหนังสือต่อเพราะแม่ผมได้ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง ซึ่งช่วงนี้ผมก็เรียนหนังสืออย่างเดียว แทบจะไม่ได้ใช้ชีวิตแบบก่อนๆ สรุปว่าเรื่องการจัดการเวลาเรียนกับการใช้ชีวิตของผม บางช่วงก็สมดุล บางช่วงก็ไม่สมดุล แล้วแต่สถานการณ์ ยังไงก็ตาม ถ้าใครสามารถจัดการชีวิตทั้งเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิตให้สมดุลกันได้ ก็คงดีมากครับ”
คำถาม (4) : เมื่อมีความเครียด อาจารย์มีวิธีจัดการอย่างไร รวมถึงอยากทราบว่าตอนเรียน อาจารย์มีวิชาที่ไม่ชอบบ้างไหมคะ และวิชาที่ไม่ชอบหรือรู้สึกว่ายากมาก ๆ และมีวิธีการจัดการกับวิชาเหล่านั้นอย่างไร
“ขอพูดถึงวิชาที่ชอบหรือไม่ชอบก่อน วิชาที่ไม่ชอบ ไม่มี คือผมเรียนกฎหมายได้ทุกวิชาโดยไม่มีความรู้สึกว่าไม่ชอบ อันนี้รวมถึงวิชาที่แม้ผมจะสอบไม่ผ่านในการสอบครั้งแรกด้วย แต่วิชาที่ชอบ พอมีครับ คือวิชาเกี่ยวกับกฎหมายมหาชน ไม่ว่าจะเป็นวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายปกครอง เหตุผลที่ชอบก็เพราะเป็นวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองที่ผมมีความชอบหรือความสนใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”
“สำหรับวิธีการเรียนของผม ก็ไม่มีเทคนิคอะไรพิเศษ คือเมื่อเรียนแล้วก็ตั้งใจเรียนโดยพยายามเข้าฟังการบรรยายในชั้นเรียน ถ้าเข้าเรียนในชั้นเรียนไม่ได้เพราะมีเหตุจำเป็น ก็อ่านหนังสือหรือเอกสารประกอบการเรียนเอาเอง ตอนใกล้จะสอบก็วางแผนการอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ ซึ่งปกติแล้ว ผมจะอ่านหนังสือเตรียมสอบให้ได้วิชาละ ๓ รอบ คือรอบแรก อ่านเนื้อหาทั้งหมดให้เข้าใจและเน้นใจความสำคัญ รอบที่สอง อ่านใจความสำคัญตามที่เน้นไว้แล้ว และรอบที่สาม อ่านทบทวนเรื่องที่เน้นอีกครั้ง ไม่มีอะไรซับซ้อน ”
“ส่วนความเครียดความกังวลเรื่องเรียนนั้น ถ้าเป็นเนื้อหาวิชาที่เรียน ผมไม่ค่อยเครียดหรือกังวลอะไร ไม่ว่าวิชานั้นจะง่ายหรือจะยาก อันนี้อาจเป็นเพราะเมื่อผมเรียนแล้ว ก็มักจะวางแผนการเรียนตั้งแต่การเข้าชั้นเรียน ทบทวนเนื้อหาที่เรียน และอ่านหนังสือเตรียมสอบให้พร้อมที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อทำอย่างนี้แล้ว แม้บางวิชาผมอาจสอบได้คะแนนไม่ดีหรือสอบไม่ผ่าน ผมมีหลักคิดอยู่ว่าสำหรับปัจจัยที่ผมพอควบคุมได้ ผมได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว ก็ไม่รู้จะเครียดไปทำไม ถ้าสอบตกก็ว่ากันใหม่อีกครั้ง”
“ยังไงก็ตาม ถึงผมจะไม่ค่อยเครียดเรื่องเนื้อหาวิชาที่เรียน แต่สำหรับเรื่องอื่นที่เป็นปัจจัยแวดล้อมตอนผมเรียนหนังสือแล้ว ก็มีหลายเรื่องที่ทำให้ผมเครียดอยู่เหมือนกัน สำคัญที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่องที่แม่ผมป่วยด้วยโรคมะเร็งตอนที่ผมหยุดเรียนหนังสือชั่วคราว คือแม่ผมตั้งความหวังไว้มากว่าอยากให้ผมเรียนหนังสือจบชั้นปริญญาตรี ไม่อยากให้เหมือนพ่อกับแม่ที่เรียนหนังสือเพียงประถมสามประถมสี่ ดังนั้น เมื่อแม่ไม่สบายและอาจมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ผมเองอยากให้ความหวังของแม่เป็นจริง เลยกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง แล้วพยายามเรียนหนังสือให้จบให้ทันก่อนที่แม่จะเสียชีวิต สิ่งที่ผมกังวลมากก็คือ แม้ผมอาจสอบผ่านทุกวิชาที่เหลืออยู่ตามหลักสูตร แต่มันจะทันกับเวลาชีวิตของแม่ที่นับถอยหลังไปทุกวันหรือเปล่า ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ทัน แม่ผมเสียชีวิตก่อนหน้าที่ผมจะจบการศึกษาเพียงสามสี่เดือน เรื่องนี้ทำให้ผมเสียใจมากตอนนั้น จึงใช้วิธีชดเชยความเสียใจด้วยการตั้งเป้าหมายว่าจะเรียนหนังสือให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามที่แม่คาดหวัง แม้ว่าแม่จะไม่มีชีวิตอยู่แล้วก็ตาม ตอนนี้ บางเวลาผมยังคิดอยู่ว่าถ้าแม่ยังมีชีวิตอยู่และเห็นผมทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย แม่คงจะดีใจมาก”
คำถาม (5) : เมื่อมีสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังเกิดขึ้น มีวิธีจัดการอย่างไร
“ความจริงกับประสบการณ์จากชีวิตจริง ทำให้ผมตั้งหลักคิดอยู่ว่าไม่ว่าอะไรก็อาจไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวังได้ทั้งนั้น”
“การรับมือกับสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังนั้น ผมคิดว่าเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนเรา มันมีทั้งสิ่งที่พอจะควบคุมได้และควบคุมไม่ได้รวมกันอยู่ อะไรในส่วนที่ผมพอจะควบคุมได้ ผมจะพยายามจัดการกับมันอย่างเต็มที่เพื่อให้สิ่งที่ผมคาดหวังเกิดขึ้น แต่ถ้าสิ่งนั้นมันไม่ได้เป็นไปอย่างที่ผมคาดหวังเพราะเหตุปัจจัยที่ผมควบคุมไม่ได้แล้ว ผมยอมรับความผิดหวังนั้น โดยถือเสียว่านี่คือชะตาชีวิต หลักคิดตรงนี้ช่วยผมมากที่ทำให้ผมเมื่อผิดหวังกับอะไรแล้วก็มักจะไม่ค่อยทุกข์ หรือถ้าทุกข์ ก็ทุกข์อยู่ไม่นาน”
“ผมอยากพูดถึงความคิดอีกอย่างหนึ่งที่ผมมักใช้รับมือกับสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง คือผมจะคิดอยู่เสมอว่าความผิดหวังในเรื่องใดนั้น บางทีก็อาจเป็นจุดหักเหเส้นทางชีวิตให้เราพบกับความสมหวังกับอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ อย่างเช่นตอนผมเรียนชั้นปริญญาโท ถ้าผมไม่สอบตกสัมภาษณ์ที่หน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง บางทีผมอาจจะไม่มีโอกาสมาเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ก็ได้ ดังนั้น ในหลายต่อหลายเรื่อง แง่มุมในแง่ดีของความผิดหวังก็พอมีอยู่ ลองนำไปตรึกตรองกับชีวิตของตัวเองดู”
คำถาม (6) : ถ้าสามารถย้อนเวลาได้ อาจารย์อยากจะบอกอะไรถึงตัวเองตอนยังไม่จบการศึกษา
“คงบอกตัวเองว่า “ลุยเข้าไป ชีวิตของเอ็งต่อไปจะเหลือเชื่อมาก””
คำถาม (7) : ฝากข้อคิดสำหรับนักศึกษา
“อาการหมดไฟหรือความท้อใจของนักศึกษาแต่ละคนคงเกิดจากเหตุที่ไม่เหมือนกัน ก็คงต้องแก้ไขกันไปที่เหตุนั้น แต่ไม่ว่ายังไง ผมคิดว่าถ้าเราต้องการความสำเร็จในชีวิตแล้ว ความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งจริงๆ ที่จะนำพาเราไปสู่จุดๆ นั้นได้ ผมพูดได้ว่าที่ผมเองซึ่งเป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่งสามารถเข้ามาเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็เพราะผมมีความตั้งใจและพยายาม ดังนั้น ไม่ว่าใครจะท้อใจหรือหมดไฟจากเหตุอะไรก็ตาม หาเหตุให้พบและพยายามแก้ไขโดยวิธีที่เหมาะสมด้วยความมุ่งมั่นอดทน ถ้าพวกคุณผ่านจุดนี้และจุดอื่นๆ ไปได้ ผมเชื่อว่าต่อไปพวกคุณจะทำประโยชน์ให้กับตัวเอง ครอบครัว และสังคมได้ดีกว่าผมมาก ให้กำลังใจครับ”
ภาพ : รศ.ธีระ
เรียบเรียง : Law TU Health & Wellness