ประกาศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ประกาศศาลแพ่ง เรื่อง เปิดทำการแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง
- ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง เข้าถึงได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/087/T_0037.PDF
- ประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ในคดีซื้อขายออนไลน์ เข้าถึงได้ที่ https://jla.coj.go.th/th/content/category/detail/id/10/cid/21/iid/276016
รายละเอียดเกี่ยวกับการฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์
ในปัจจุบันรูปแบบการซื้อขายออนไลน์ หลัก ๆ มี 3 รูปแบบ คือ
1. การซื้อขายผ่าน Social Network โดยผู้ซื้อกับผู้ขายติดต่อกันโดยตรง เช่น การเปิดเพจขายสินค้าบนFacebook / Instagram
2. การซื้อขายผ่านตัวกลาง ซึ่งเป็น Platform ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เช่น การซื้อขายบน Lazada / Shoppe / JD Central
3. การซื้อขายผ่านทางเว็บไซต์ (ส่วนมากมักเป็นผู้ขายรายใหญ่) เช่น Central / Supersport / Lotus
ศาลแพ่งเปิดแผนกคดีซื้อขายออนไลน์อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ดังนั้น ปัจจุบันสามารถฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์ได้แล้ว ซึ่งคดีซื้อขายออนไลน์ หมายความว่า คดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 3(1) ที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าหรือบริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แล้วพบว่าสินค้าชำรุด การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แต่สินค้าไม่ตรงปกหรือไม่เป็นไปตามที่โฆษณา การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แต่ไม่ได้รับสินค้า เป็นต้น
ขั้นตอนของการฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์
1. เข้าไปที่เว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th/eFiling/#/ หรือไซต์ของศาลแพ่ง ซึ่งผู้ฟ้อง (ผู้ซื้อ) ต้องสร้างบัญชีผู้ใช้งาน โดยเลือกประเภทผู้ใช้งานเป็นสำหรับประชาชนและลงทะเบียนในระบบ (กรณีเป็นผู้ใช้งานใหม่) หรือเข้าสู่ระบบ (กรณีเคยลงทะเบียนใช้งานแล้ว)
2. เข้าสู่ระบบและเลือกเมนูคดีซื้อขายออนไลน์ พร้อมกรอกรายละเอียดคำฟ้อง เช่น ข้อมูลโจทก์ ข้อมูลจำเลย ข้อมูลคำฟ้อง เอกสารหรือหลักฐานการซื้อขายสินค้า มูลเหตุเรียกร้อง ข้อมูลความเสียหาย ราคา เป็นต้น ทั้งนี้ ในส่วนข้อมูลจำเลย จะระบุเพียงชื่อหรือนาม (Profile) ที่จำเลย (ผู้ขาย) ใช้ในการติดต่อทำนิติกรรมทางออนไลน์กับโจทก์ (ผู้ซื้อ) ก็ได้ เนื่องจากการซื้อขายออนไลน์ผู้ซื้อและผู้ขายมักไม่รู้จักตัวตนกันและกันในโลกแห่งความจริง อย่างไรก็ดี ควรระบุข้อมูลจำเลย (ผู้ขาย) ให้ละเอียดที่สุด
3. เมื่อผู้ฟ้องกรอกรายละเอียดและยื่นคำฟ้องแล้ว ระบบจะส่งคำฟ้องไปถึงเจ้าพนักงานคดี เพื่อดำเนินการตรวจสอบว่ารายละเอียดในคำฟ้องว่าครบถ้วนหรือไม่ หากครบถ้วน เจ้าพนักงานคดีจะเสนอคำฟ้องเพื่อให้ศาลรับคำฟ้องและส่งหมายเรียกแก่จำเลย (ผู้ขาย) ทางอีเมลหรือทาง SMS หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ โดยถือว่าจำเลย (ผู้ขาย) ทราบหมายนั้นตั้งแต่ข้อความเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวตามแต่กรณี
4. เมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ศาลจะดำเนินการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ เช่น การไกล่เกลี่ย การสืบพยาน การพิจารณาคดี เป็นต้น
-
-
- กรณีคู่ความ (ผู้ซื้อและผู้ขาย) ตกลงไกล่เกลี่ยออนไลน์กันได้สำเร็จ จะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความออนไลน์ พร้อมลงลายมือชื่อในรูปแบบ e-Signature ผ่านระบบของศาล และเมื่อศาลพิพากษาตามยอมหรือมีการถอนฟ้อง ก็จะเป็นการสิ้นสุดกระบวนการฟ้องคดี
- กรณีคู่ความ (ผู้ซื้อและผู้ขาย) ไกล่เกลี่ยออนไลน์ไม่สำเร็จ ศาลจะดำเนินการสืบพยานและพิพากษาคดีในรูปแบบออนไลน์ต่อไป
-
หมายเหตุ :
- การยื่นคำฟ้อง คำให้การ คำคู่ความหรือเอกสารอื่นต่อศาล สามารถยื่นผ่านระบบได้ทุกวันและทุกเวลา (24 ชั่วโมง) โดยหากยื่นนอกเวลาทำการ เช่น ยื่นหลังเวลา 30 น. หรือในวันเสาร์ – อาทิตย์ จะมีผลในเวลาทำการถัดไป
- คู่ความสามารถติดตามความคืบหน้าหรือคำสั่งศาลเกี่ยวกับการยื่นคำฟ้อง คำให้การ คำคู่ความ หรือเอกสารอื่นได้ทางระบบภายใน 12 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ยื่น
ข้อดีของการฟ้องคดีออนไลน์
1. ไม่มีการจำกัดจำนวนทุนทรัพย์ว่ามากหรือน้อย ดังนั้น ไม่ว่าจะซื้อสินค้าออนไลน์ราคาทุนทรัพย์เท่าใด ก็สามารถฟ้องคดีได้
2. ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เพราะเป็นคดีผู้บริโภค
3. ไม่ต้องมาศาล เพราะการระงับคดีซื้อขายออนไลน์จะใช้วิธีการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ คือ กระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น (การยื่นฟ้อง) จนกระบวนการสุดท้าย (การพิพากษาคดี) จะใช้วิธีออนไลน์ทั้งหมด
4. ไม่จำเป็นต้องมีทนายความ (ประหยัดค่าทนายความ) เพราะมีเจ้าหน้าที่ (เจ้าพนักงานคดี) เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของคำฟ้อง ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอข้อมูลของจำเลย (ผู้ขาย) เป็นต้น
5. เปิดช่องทางการฟ้องเพิ่มขึ้น ทำให้การดำเนินคดีมีความสะดวก ลดภาระค่าใช้จ่าย และรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ไม่ตัดสิทธิการฟ้องคดีแบบกรณีทั่วไปที่ฟ้องตามสถานที่ที่มูลคดีเกิดหรือตามภูมิลำเนาของจำเลย (ผู้ขาย)