สรุปสาระสำคัญโครงการอบรมทักษะการปฏิบัติงานทางกฎหมาย ประจำปีการศึกษา 2564 ครั้งที่ 2 หัวข้อ “การเขียนเอกสารทางกฎหมาย”
วันอังคารที่ 19 เมษายน 2565 เวลา 17.00-19.30 น.
วิทยากร
- คุณณัฐพงศ์ รงค์ทอง ทนายความศูนย์นิติศาสตร์
- คุณณัฐ จินตพิทักษ์กุล ทนายความศูนย์นิติศาสตร์
หลักการเขียนคำฟ้องทางอาญา
การเขียนคำฟ้องทางอาญา โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่
- สถานะคู่ความ เพื่อให้ทราบข้อมูลของโจทก์และจำเลยว่าเกี่ยวข้องกับคดีอย่างไร เช่น กรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจต้องฟ้องแทนผู้เยาว์ หรือกรณีที่ผู้เสียหายตาย จะได้ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้ฟ้องแทนผู้เสียหาย เป็นต้น
- การกระทำความผิด เพื่อให้ทราบว่าจำเลยกระทำความผิดในวันไหน เมื่อไหร่ และมีพฤติกรรมการกระทำความผิดอย่างไร โดยทั่วไปมักมีถ้อยคำการเขียนดังนี้
“ข้อ 2. เมื่อวันที่………. เวลา………. จำเลยได้บังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ………… ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย………… รายละเอียดปรากฏตามสำเนา………… เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข…………”
สำหรับหลักการในการเขียนวันและเวลาในการกระทำความผิดนั้น หากโจทก์ทราบวันที่ที่แน่นอน ให้ใส่วันที่นั้น เช่น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 แต่ถ้ากรณีโจทก์ไม่ทราบว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นวันไหนหรือทราบ แต่การกระทำความผิดนั้นมีลักษณะต่อเนื่องหลายวัน ให้เขียนเป็นช่วงของวันที่ เช่น เมื่อระหว่างวันที่
1 มกราคม 2565 – 1 มีนาคม 2565 เป็นต้น ส่วนเรื่องเวลาโดยทั่วไปไม่สามารถระบุเวลาตรง ๆ ได้ จึงควรเขียนว่าเป็นเวลากลางวัน (06.00 – 18.00 น.) หรือเวลากลางคืนก่อนเที่ยง (00.01 – 06.00 น.) หรือเวลากลางคืนหลังเที่ยง (18.01 – 24.00 น.)
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าคำว่า “จำเลยได้บังอาจ…” เป็นถ้อยคำทางกฎหมายที่สื่อให้เห็นถึงเจตนาของผู้กระทำความผิด ดังนั้น กรณีประมาทไม่ต้องเขียนคำว่า “บังอาจ” ในคำฟ้อง
- ปรับบทกฎหมาย เพื่อชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมที่จำเลยกระทำมีความผิดตามกฎหมายอย่างไร ตัวอย่างการเขียนเช่น “ข้อ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเจตนาใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และเป็นการกระทำโดยการโฆษณาด้วยการทำให้ตัวอักษรปรากฏในสื่อสาธารณะ อันเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย”
- สถานที่เกิดเหตุ เพื่อให้ทราบว่าจำเลยกระทำความผิดที่ใด ตัวอย่างการเขียนเช่น “ข้อ เหตุเกิดที่ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร” หรือ “ข้อ 4. เหตุเกิดที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)”
มีประเด็นว่า หากเป็นการกระทำความผิดบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น การหมิ่นประมาทบน Facebook จะเขียนสถานที่เกิดเหตุอย่างไร เนื่องจากโจทก์ไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยโพสต์ข้อความ ณ ที่แห่งใด เรื่องนี้โจทก์สามารถเขียนสถานที่เหตุเกิดเป็นสถานที่ที่โจทก์เห็นข้อความหมิ่นประมาทเป็นครั้งแรกได้
- ร้องทุกข์ เพื่อให้ทราบว่าโจทก์ร้องทุกข์แล้วหรือไม่ และภายในกำหนดเวลาหหรือไม่ เพราะกรณีความผิดอันยอมความได้ กฎหมายกำหนดว่าต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่กระทำความผิด โดยถ้อยคำของการเขียนกรณีที่ไม่ได้ร้องทุกข์ เช่น “ข้อ คดีนี้โจทก์ได้ได้ร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวน เพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง” หรือกรณีที่มีการร้องทุกข์ เช่น “ข้อ 5. โจทก์ได้ร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 รายละเอียดปรากฏตามสำเนาบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดี เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4”
เมื่อเขียนทั้ง 5 ส่วนเสร็จแล้ว ให้ปิดท้ายด้วยคำว่า “ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด” ที่กึ่งกลางหน้ากระดาษ
หลักการเขียนคำขอท้ายคำฟ้องอาญา
การเขียนคำขอท้ายคำฟ้องอาญาต้องเขียนชื่อกฎหมายและมาตราที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ส่วนการขอให้ศาลออกหมาย หากเป็นกรณีที่ราษฎรฟ้องคดีเองให้เขียนคำว่า “นัด” เพราะศาลต้องนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ก่อนว่ามีมูลคดีน่าเชื่อถือเพียงพอที่ศาลจะประทับรับฟ้องหรือไม่ และลากเส้นแล้วเขียนคำว่า “ไต่สวนมูลฟ้อง” นอกจากนี้ตรงช่องคำขอบังคับ โดยทั่วไปให้โจทก์เขียนเพื่อแจ้งต่อศาลว่าต้องการให้ศาลบังคับอะไรให้แก่โจทก์ ในการเขียนตอบข้อสอบโดยมากจะเขียนว่า “ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ด้วย”
หลักการลงชื่อในคำฟ้องอาญา
การลงชื่อในคำฟ้องอาญา ผู้ที่ลงชื่อได้มีเพียงโจทก์เท่านั้น ทนายความจะลงชื่อแทนโจทก์ไม่ได้ แตกต่างกับการเขียนคำฟ้องคดีแพ่ง
หลักการเขียนคำร้องทุกข์
การเขียนคำร้องทุกข์ประกอบด้วยเนื้อหาหลัก ๆ 3 เรื่อง คือ เรื่องของผู้กระทำความผิด เรื่องรายละเอียดของการกระทำความผิด และเรื่องความประสงค์ของผู้ร้องทุกข์ ซึ่งต้องมีถ้อยคำในลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องทุกข์ประสงค์เอาผิดแก่ผู้ต้องหา โดยต้องการให้ดำเนินคดีจนถึงที่สุด หากผู้ร้องทุกข์ใช้ถ้อยคำในลักษณะของการมาร้องทุกข์เพื่อเป็นหลักฐาน เช่น คำว่า “จึงมาลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน” เช่นนี้เป็นเพียงการลงบันทึกประจำวันเท่านั้น ซึ่งผลทางกฎหมายจะแตกต่างกัน
หลักการเขียนคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
เมื่ออัยการฟ้องจำเลยแล้ว ผู้เสียหายที่แท้จริงจะได้รับหมายเพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายที่แท้จริงว่าสามารถดำเนินการเข้าร่วมเป็นโจทก์กับอัยการได้ ในการเข้าร่วมเป็นโจทก์กับอัยการ ผู้เสียหายต้องเขียนคำร้องโดยในคำร้องให้ระบุสถานะเป็น “ผู้ร้อง” ก่อน และหากศาลมีคำสั่งอนุญาตผู้เสียหายที่แท้จริงที่ร้องขอเข้ามาจึงจะมีสถานะเป็น “โจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ” โดยทั่วไปผู้เสียหายที่แท้จริงมักยื่นคำร้องก่อนมีการสืบพยาน แต่อย่างช้าที่สุดต้องยื่นก่อนศาลพิพากษา
ประโยชน์ของการเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ คือ (1) ทำให้ทราบความคืบหน้าของคดี เช่น
คดีดำเนินกระบวนการพิจารณาอยู่ในขั้นตอนใด จำเลยให้การในคดีว่าอย่างไร จำเลยมีการหลบหนีหรือไม่ เป็นต้น (2) ทำให้สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำของจำเลยได้พร้อมกับการฟ้องคดีอาญา โดยยื่นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ซึ่งต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยานหรือก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาด (กรณีไม่มีการสืบพยาน) ทั้งนี้ คำร้องต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ อย่างไรก็ดี หากในคำฟ้องของพนักงานอัยการมีคำขอส่วนแพ่งอยู่แล้ว ผู้เสียหายจะขอเรียกทรัพย์หรือราคาทรัพย์อีกไม่ได้ แต่ไม่ตัดสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือดอกเบี้ย
ตัวอย่างการเขียน เช่น
“ข้อ 1. คดีนี้ ศาลนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย ในวันนี้
ข้อ 2. เนื่องจากผู้ร้องเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้
ดังนั้น ผู้ร้องจึงขอศาลได้โปรดมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ โดยผู้ร้องขอถือเอาคำฟ้องและพยานหลักฐานของพนักงานอัยการโจทก์เป็นคำฟ้องและพยานหลักฐานของผู้ร้องด้วย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลได้โปรดอนุญาต”
หลักการเขียนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
การขอปล่อยตัวชั่วคราว (การประกันตัว) สามารถดำเนินการได้ใน 3 ช่วงเวลา คือ (1) ในชั้นฝากขัง (2) ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น (3) ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ซึ่งผู้ที่สามารถยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวได้แก่ผู้ต้องหา จำเลย และบุคคลที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น ญาติ พี่น้อง ทนายความ เป็นต้น ในการเขียนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต้องอ้างเหตุผลและข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาของศาลด้วย ตัวอย่างของเหตุผลเช่น ผู้ต้องหาเป็นบุคคลธรรมดาไม่มีอิทธิพลหรืออำนาจใด ๆ อันอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อพยานหลักฐาน หรือผู้ต้องหาเป็นผู้มีแหล่งที่อยู่ชัดเจนแน่นอนไม่สามารถหลบหนีได้ หรือผู้ต้องหามีบุตรยังเด็กอยู่ หากติดคุกบุตรจะไม่มีผู้ดูแล หรือผู้ต้องหายินดีให้ใช้อุปกรณ์ติดตามตัวผู้ต้องหาได้ เป็นต้น
หลักการเขียนคำฟ้องแพ่ง
บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่มีความสำคัญ ได้แก่ (1) มาตรา 55 เมื่อบุคคลถูกโต้แย้งสิทธิ สามารถใช้สิทธิทางศาลได้ (2) มาตรา 172 วรรคสอง คำฟ้องต้องชัดแจ้งถึงสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ และข้ออ้างที่ใช้เป็นหลักแห่งคดี (3) มาตรา 18 เรื่องการตรวจตำคู่ความ เช่น คำฟ้องของโจทก์มีสาระสำคัญครบถ้วนหรือไม่ และ (4) มาตรา 142 ห้ามศาลพิพากษานอกฟ้อง นอกประเด็น หรือเกินคำขอ
การเขียนเนื้อหาคำฟ้องแพ่ง สามารถแบ่งเนื้อหาออกได้เป็น 6 ส่วน ได้แก่
- การบรรยายสถานะคู่ความ เป็นการอธิบายว่าโจทก์และจำเลยคือใคร เป็นบุคคลธรรมดาหรือ
นิติบุคคล หรือบุคคลใดเป็นผู้ฟ้องคดีแทน - การบรรยายนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย ในคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาต้องอธิบายถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย แต่กรณีคดีแพ่งที่เป็นเรื่องละเมิดจะไม่มีการบรรยายถึงนิติสัมพันธ์ เพราะคดีละเมิดไม่ได้เกิดจากความตกลงใจระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ระหว่างกัน
- การบรรยายการเกิดการโต้แย้งสิทธิ เป็นการบรรยายให้เห็นถึงสิทธิในการนำคดีขึ้นสู่ศาลของโจทก์ เช่น กรณีละเมิดต้องบรรยายรายละเอียดวันและเวลาในการกระทำความผิด พฤติการณ์ของจำเลยว่าจงใจหรือประมาท ความเสียหายที่เกิดขึ้น และสถานที่เกิดเหตุละเมิด เป็นต้น
- การบรรยายว่าโจทก์เสียหายจากการกระทำของจำเลยอย่างไรและเพียงใด เช่น กรณีโจทก์บาดเจ็บ สิ่งที่เรียกจากจำเลยได้คือค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียความสามารถในการประกอบอาชีพ ค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงิน และค่าขาดแรงงาน หรือกรณีโจทก์ตายทันที สิ่งที่เรียกจากจำเลยได้คือค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายจำเป็นในการจัดการศพ ค่าขาดไร้อุปการะ และค่าขาดแรงงาน เป็นต้น
- การบรรยายเรื่องการส่งจดหมายทวงถาม (ถ้ามี) ส่วนใหญ่มักเกิดกับการทำสัญญาเพื่อทวงถามให้อีกฝ่ายชำระหนี้ แต่ในคดีละเมิดอาจมีหนังสือทวงถามหรือไม่ก็ได้
- การเขียนคำลงท้าย สิ่งที่ต้องเขียนมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งเขียนคำว่า “โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับเอากับจำเลยได้ จึงต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งบังคับเอากับจำเลยต่อไป” ในย่อหน้าใหม่ และส่วนที่สองเขียนคำว่า “ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด” ที่กึ่งกลางหน้ากระดาษ
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในการบรรยายคำฟ้องแต่ละส่วนต้องอ้างสำเนาเอกสารท้ายคำฟ้องด้วย เพื่อให้
การบรรยายแต่ละส่วนมีความน่าเชื่อถือ เช่น ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ใบสูจิบัตร ใบจดทะเบียนรับรองบุตร
ใบจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เป็นต้น
หลักการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
สัญญาประนีประนอมยอมความมี 2 แบบ คือ (1) สัญญาประนีประนอมในศาล ศาลทำหน้าที่เป็นคนกลางช่วยให้โจทก์และจำเลยประนีประนอมกัน เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดได้เปรียบมากเกินสมควร โดยโจทก์กับจำเลยต้องใช้แบบฟอร์มการทำสัญญาประนีประนอมของศาล และ (2) สัญญาประนีประนอมนอกศาล เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยสามารถดำเนินการตกลงกันได้ด้วยตนเอง ไม่มีศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีแบบฟอร์มการเขียนเหมือนการทำสัญญาทั่วไป
หลักการเขียนคำร้องขอตั้งผู้จัดมรดก
ใช้แบบฟอร์มศาลแบบฟอร์มที่ 7 โดยด้านบนซ้ายของแบบฟอร์มศาลให้ขีดฆ่าคำว่า “คำแถลง/คำขอ” ออกไป เพื่อให้เหลือเพียงคำว่า “คำร้อง” และในส่วนของชื่อให้เขียนตรงกลางระหว่างโจทก์กับจำเลย เพราะ
คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในคดียังไม่มีโจทก์กับจำเลย ตัวอย่างการเขียนเช่น “นาย ก. ผู้ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ ข. ผู้ตาย”
รายละเอียดของการเขียนเนื้อหาในคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ได้แก่
1) บรรยายว่าผู้ร้องเกี่ยวข้องอย่างไรกับเจ้ามรดก
2) บรรยายว่าบิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่
3) บรรยายว่าบิดามารดามีบุตรด้วยกันกี่คน ใครบ้าง
4) บิดามารดาของเจ้ามรดกคือใคร และยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
5) บรรยายว่าเจ้ามรดกตายด้วยสาเหตุใด
6) บรรยายว่าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้หรือไม่
7) บรรยายว่าขณะถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาที่ใด
8) บรรยายว่าขณะถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง (เท่าที่ทราบ)
9) บรรยายว่าเจ้ามรดกมีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกคือใครบ้าง
10) บรรยายว่าการจัดการทรัพย์มรดกมีเหตุขัดข้องอย่างไร
11) บรรยายว่าทายาทของเจ้ามรดกให้ความยินยอมแล้วหรือไม่
12) บรรยายว่าผู้ร้องเป็นบุคคลต้องห้ามทางกฎหมายหรือไม่
ทั้งนี้ การบรรยายเนื้อหาแต่ละส่วนต้องอ้างสำเนาเอกสารท้ายคำร้องขอด้วย เพื่อใช้เป็นหลักฐานและก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือต่อศาล
หลักการเขียนหนังสือบอกกล่าวทวงถาม
สาระสำคัญหรือรายละเอียดของหนังสือทวงถามมี 7 ส่วน ได้แก่
- สถานที่ที่ทำหนังสือ ให้เขียนมุมบนขวาของหน้ากระดาษ
- วัน เดือน ปี เป็นวันที่ที่ทำหนังสือทวงถาม ให้เริ่มต้นเขียนตรงกลางหน้ากระดาษ
- เรื่อง เป็นการบอกหัวข้อของเนื้อหาในหนังสือบอกกล่าวทวงถาม
- เรียน เพื่อให้ทราบว่าหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ไปถึงบุคคลใด
- อ้างถึง (ถ้ามี)
- เนื้อหา
- คำลงท้าย