สรุปสาระสำคัญโครงการอบรมทักษะการปฏิบัติงานทางกฎหมาย ประจำปีการศึกษา 2564 ครั้งที่ 2 หัวข้อ “การเขียนเอกสารทางกฎหมาย”
วันอังคารที่ 19 เมษายน 2565 เวลา 17.00-19.30 น.
วิทยากรโดย
– คุณอภิวัฒน์ นาคชำนาญ Managing Partner, AP Law Office Co., Ltd.
– คุณวีรพจน์ ตลอดสุข Senior Associate, AP Law Office Co., Ltd.
– คุณพลเชฏฐ์ พันธุ์โพธิ์ Senior Associate, AP Law Office Co., Ltd.
– คุณญาณวัฒน์ เฮงวาณิชย์ Junior Associate, AP Law Office Co., Ltd.
ดำเนินรายการโดย คุณพรปวีณ์ อุดมรัตนะศิลป์ ทนายความศูนย์นิติศาสตร์
ขั้นตอนและวิธีการจับประเด็นและให้ความเห็นทางกฎหมาย
ขั้นตอนและการจับประเด็นและให้ความเห็นทางกฎหมายมีความสำคัญมากกับวิชาชีพทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความ ซึ่งวิชาที่มีความสำคัญคือวิชากฎหมายพยานหลักฐาน โดยระบบกฎหมายพยานหลักฐานนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ระบบ ได้แก่ (1) ระบบกล่าวหา (Accusation System) เป็นการกล่าวหาว่ามีบุคคลหนึ่งเป็นผู้กระทำความผิด โดยหลักผู้กล่าวหามีหน้าที่ในการค้นหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตน ส่วนศาลทำหน้าที่ควบคุมการดำเนินกระบวนการพิจารณาอย่างเป็นกลางให้เป็นไปตามกฎหมาย ตัวอย่างศาลที่ใช้ระบบกล่าวหาเช่น ศาลแขวง ศาลจังหวัด (2) ระบบไต่ส่วน (Inquisitorial System) เป็นระบบที่ศาลทำหน้าที่ไต่สวนหาความจริง กฎเกณฑ์การสืบพยานจึงไม่เคร่งครัดแบบระบบกล่าวหา ตัวอย่างศาลที่ใช้ระบบไต่สวนเช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ
กฎหมายที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับเรื่องพยานหลักฐาน ได้แก่
1) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่น มาตรา 84 ที่เป็นการกำหนดว่าข้อเท็จจริงใดต้องใช้หรือไม่ต้องใช้พยานหลักฐานในการนำสืบ หรือมาตรา 84/1 ที่เป็นการกำหนดหลัก “ผู้ใดกล่าวหา ผู้นั้นนำสืบ” หรือมาตรา 85 ที่กำหนดสิทธิให้คู่ความนำพยานหลักฐานมมาสืบเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงได้ หรือมาตรา 94 ที่กำหนดห้ามศาลรับฟังพยานบุคคลเมื่อมีกฎหมายบังคับให้นำพยานเอกสารมาแสดง (มีข้อยกเว้นในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค) เป็นต้น
2) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น มาตรา 226 ที่กำหนดให้พยานต่าง ๆ ที่น่าจะพิสูจน์ความผิดหรือบริสุทธิ์ของจำเลยใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ หรือมาตรา 226/1 ที่กำหนดเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานในกรณีที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยมิชอบ หรือที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ หรือมาตรา 238 ที่ให้ใช้ต้นฉบับเอกสารในการอ้างเป็นพยาน หรือมาตรา 241 ที่กำหนดให้พยานวัตถุต้องนำมาศาล เป็นต้น
ในเรื่องของมาตรฐานการพิสูจน์ คดีแพ่งมีความแตกต่างกับคดีอาญา กล่าวคือ ในคดีแพ่งศาลจะตัดสินให้คู่ความฝ่ายใดชนะคดีย่อมขึ้นอยู่กับว่าพยานหลักฐานของคู่ความฝ่ายใดมีเหตุผลน่าเชื่อถือกว่ากัน ซึ่งพยานหลักฐานของฝ่ายใดมีเหตุผลน่าเชื่อว่าเป็นความจริงมากกว่า ก็ถือว่าพยานหลักฐานของฝ่ายนั้นมีน้ำหน้าดีกว่า และศาลจะตัดสินให้คู่ความฝ่ายนั้นชนะคดี ส่วนในคดีอาญาโจทก์ผู้ฟ้องคดีต้องนำสืบจนปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิด ซึ่งข้อต่อสู้ที่จำเลยสามารถยกขึ้นต่อศาลได้ เช่น ต่อสู้ว่าตนไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด และต่อให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น จำเลยก็มิใช่ผู้กระทำความผิด
ขั้นตอนและวิธีการเตรียมคดีก่อนชั้นศาล คือ การแสวงหาข้อเท็จจริงในพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ โดยทนายความควรมีความรู้กฎหมายสารบัญญัติและกฎหมายวิธีสารบัญญัติเบื้องต้น เพื่อที่จะสามารถสอบถามข้อเท็จจริงจากลูกความได้ เช่น มีปัญหาอย่างไร เกิดเหตุการณ์อะไร มีหลักฐานอะไรบ้าง เป็นต้น ทนายความจะได้ประเมินความเป็นไปได้ของการต่อสู้คดี และให้ความเห็นทางกฎหมายแก่ลูกความต่อไป นอกจากนี้ กรณีที่มีการต่อสู้คดีกัน ทนายความต้องกำหนดทฤษฎีแห่งคดี (Case Theory) เพื่อคาดการณ์ว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะยกประเด็นอะไรขึ้นกล่าวอ้างและฝ่ายเราจะใช้พยานหลักฐานใดมาโต้แย้งประเด็นของอีกฝ่าย ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียของพยานหลักฐานฝ่ายตนเองและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง
การสอบข้อเท็จจริงจากลูกความและพยาน ในทางปฏิบัติควรมีการบันทึกรายละเอียดคำให้การไว้ โดยอาจบันทึกในรูปของวิดีโอ ซีดี หรือในรูปของเอกสารก็ได้ สาระสำคัญที่ต้องบันทึก เช่น วันเดือนปีและสถานที่ที่ทำบันทึกถ้อยคำ ชื่อสกุลของคู่กรณี ชื่อที่อยู่อาชีพของผู้ให้ถ้อยคำและความเกี่ยวพันกับคู่กรณี รายละเอียดของข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำ ลายมือชื่อของผู้ให้ถ้อยคำและพยานหรือผู้จดบันทึกถ้อยคำ เป็นต้น เหตุผลที่ต้องมีการบันทึกและให้ผู้ให้ถ้อยคำลงลายมือชื่อรับรอง เพราะเพื่อเป็นการป้องกันกรณีถูกโต้แย้งในภายหลังว่าไม่เคยให้ถ้อยคำดังกล่าว เนื่องจากบางกรณีผู้ให้ถ้อยคำชอบกลับถ้อยคำไปมาโดยเฉพาะในชั้นศาล หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ทนายความสามารถนำบันทึกถ้อยคำที่ผู้ให้ถ้อยคำเคยลงลายมือชื่อไว้แจ้งต่อศาลได้
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับการสอบข้อเท็จจริงจากลูกความหรือพยาน เช่น ลูกความหรือพยานเล่าข้อเท็จจริงทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคดี หรือลูกความหรือพยานไม่ฟังทนายความเพราะทนายความมีอาวุโสน้อยกว่า เป็นต้น ทางแก้ไขคือทนายความต้องควบคุมการสื่อสารของลูกความหรือพยานให้อยู่กับประเด็นในคดีมากที่สุด เพื่อความรวดเร็วและข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วน นอกจากนี้ ทนายความมีหน้าที่เตือนลูกความหรือพยานให้เล่าข้อเท็จจริงด้วยความสัจจริง เพราะหากเล่าความเท็จ ทนายความจะไม่สามารถเตรียมรูปคดีได้อย่างถูกต้องและลูกความหรือพยานอาจมีความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือเบิกความเท็จแล้วแต่กรณีได้
ประชุมเชิงปฏิบัติการสถานการณ์จำลอง
เป็นการจำลองสถานการณ์ที่มีลูกความมาปรึกษาหรือขอความเห็นทางกฎหมายจากทนายความ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้ฝึกจับประเด็นและให้ความเห็นทางกฎหมาย โดยสถานการณ์จำลองแบ่งเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา มีบทการสนทนาดังนี้
บทสนทนาจำลองสถานการณ์เพื่อการจับประเด็นและให้ความเห็นทางกฎหมายในคดีแพ่ง
ช่วงที่ 1
คุณมาร์ค (ลูกความ): สวัสดีครับ คุณทนายความ
ทนายความ: สวัสดีครับ ผมรับเป็นทนายความเพราะเห็นคุณพ่อคุณมมาร์คบอกว่าคุณมาร์คมีปัญหาเกี่ยวกับสัญญากู้ ไม่ทราบว่าคุณมาร์คเคยไปกู้ยืมเงินใครไว้บ้างครับ
คุณมาร์ค (ลูกความ): จำไม่ได้ครับ พอดีกู้เงินไว้กับคนอื่นหลายคน แต่น่าจะเป็นเจ้ศรีครับ
ทนายความ: โอเคครับ ผมขอบัตรประชาชนคุณมาร์คหน่อยครับ
คุณมาร์ค (ลูกความ): ไม่ได้เอามาครับ
ทนายความ: ไม่เป็นไรครับ คุณมาร์คชื่อจริงและนามสกุลอะไรครับ
คุณมาร์ค (ลูกความ): ชื่อจริงชื่อมาร์ค นามสกุลณเดชครับ
ทนายความ: ขอทราบบัตรประชาชนหน่อยครับ
คุณมาร์ค (ลูกความ): 12 123 12 12 1 111 ครับ
ทนายความ: ปัจจุบันคุณมาร์คอายุเท่าไหร่ครับ และอยู่ที่ไหนครับ
คุณมาร์ค (ลูกความ): อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 112 ถนนคลองเปรม แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพ
ทนายความ: อยากให้คุณมาร์คเล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเจ้ศรีหน่อยครับ
คุณมาร์ค (ลูกความ): เจ้ศรีเป็นคนที่ทำอาชีพหลายอย่างมาก มีธุรกิจเป็นของตัวเอง ขายรถ ขายผัก
ขายปลา ขายผลไม้ ทำตลาด …
ทนายความ: ผมอยากให้คุณมาร์คช่วยเล่าหน่อยครับว่ารู้จักเจ้ศรีได้อย่างไร เกี่ยวข้องกันอย่างไร และทำสัญญากู้ยืมเงินวันไหนอย่างไรครับ
คุณมาร์ค (ลูกความ): วันนั้นน่าจะเป็นช่วงสาย ๆ แต่ไม่แน่ใจว่าวันเสาร์หรือวันอาทิตย์
ทนายความ: พอทราบปีไหมครับ
คุณมาร์ค (ลูกความ): จำปีไม่ได้ครับ แต่ว่าเป็นช่วงน้ำท่วม
ทนายความ: น้ำท่วมที่ไหนครับ
คุณมาร์ค (ลูกความ): ที่ธรรมศาสตร์ รังสิต ครับ
ทนายความ: น้ำท่วมน่าจะเป็นปี 2554 หรือเปล่าครับ ใช่ไหมครับคุณมาร์ค
คุณมาร์ค (ลูกความ): ใช่ครับ
ทนายความ: พอจำวันและเดือนได้ไหมครับ
คุณมาร์ค (ลูกความ): ไม่แน่ใจครับ น่าจะเป็นช่วงต้นปี ปัจจุบันปี 2565 ก็น่าจะผ่านมาเกิน 10 ปีแล้วครับ
ทนายความ: พอทราบจำนวนเงินไหมครับ
คุณมาร์ค (ลูกความ): เฉียดล้านครับ น่าจะราว ๆ 9 แสนบาทครับ
ทนายความ: ในวันดังกล่าว มีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันหรือไม่
คุณมาร์ค (ลูกความ): ไม่แน่ใจครับ ผมจำได้แค่ว่ารับเงินเจ้ศรีมา
ทนายความ: รับเงินด้วยวิธีการใดครับ
คุณมาร์ค (ลูกความ): รับเงินด้วยวิธีการโอนเงินครับ
ทนายความ: ทราบชื่อธนาคารไหมครับ
คุณมาร์ค (ลูกความ): ธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ครับ
ทนายความ: มีการคิดดอกเบี้ยในสัญญากันไหม
คุณมาร์ค (ลูกความ): มีสัญญาไหม อันนี้จำไม่ได้ ส่วนเรื่องดอกเบี้ยเจ้ศรีคิดอัตราร้อยละ 5 ต่อวันครับ
จากบทสนทนาสิ่งที่ต้องทราบคือสัญญากู้ยืมเงินเกิดในปีใด ทำสัญญาที่ใด ขาดอายุความแล้วหรือไม่ หรือเจ้ศรีได้ฟ้องคุณมาร์คแล้วหรือไม่ ซึ่งต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป นอกจากนี้ สิ่งที่ทนายความควรถาม
คุณมาร์คเพิ่มเติม คือ คุณมาร์คทราบข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้ศรีหรือไม่ เช่น ชื่อ – สกุล ที่อยู่ เพื่อใช้สำหรับ
การตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ
ช่วงที่ 2
คุณพ่อคุณมาร์ค: สวัสดีครับคุณทนาย ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าคุณมาร์คถูกฟ้องแล้วนะครับ
ทนายความ: คุณมาร์คถูกฟ้องเมื่อไหร่
คุณพ่อคุณมาร์ค: …
ทนายความ: ขอบคุณครับคุณพ่อ เดี๋ยวแจ้งคุณมาร์คให้ครับ
ทนายความ: คุณมาร์คครับ คุณพ่อแจ้งว่าคุณมาร์คถูกฟ้องในคดีสัญญากู้ยืมเงินแล้วโดยฟ้อง 9 แสนบาท
คุณมาร์ค (ลูกความ): แสดงว่าตอนนี้ผมเป็นจำเลยแล้วหรือเปล่าครับ แล้วต้องถูกจำคุกหรือไม่ครับ
ทนายความ: ใช่ครับ คุณมาร์คเป็นจำเลยแล้ว แต่ไม่ถูกจำคุกครับ เพราะคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับ
การโต้แย้งในทรัพย์สิน ไม่ใช่คดีอาญาที่มุ่งลงโทษผู้กระทำความผิด
ทนายความ: จากที่คุณพ่อแจ้ง คุณมาร์คถูกฟ้องเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 ครับ ซึ่งในคำฟ้องเจ้ศรีแนบสัญญากู้มาด้วยครับ สัญญากู้ฉบับนั้นลงวันที่ 10 เมษายน 2554 ครับ ดังนี้แล้ว คุณมาร์คพอจำได้ไหมครับว่าเก็บ
คู่ฉบับสัญญากู้ไว้ที่ใด
คุณมาร์ค (ลูกความ): อยู่ในกระเป๋าครับ
ทนายความ: จากรายละเอียดในสัญญา มีการระบุว่าคุณมาร์คได้รับเงินในวันดังกล่าวจริง และสถานที่ทำสัญญาคือบ้านคุณมาร์ค
ทนายความ: หลังจากที่คุณมาร์คทำสัญญา คุณมาร์คเคยชำระเงินแล้วหรือไม่
คุณมาร์ค (ลูกความ): หลังจากกู้เงิน ไม่เคยชำระเงินเลยครับ
ทนายความ: เจ้ศรีเคยทวงเงินหรือไม่
คุณมาร์ค (ลูกความ): เจ้ศรีไม่เคยทวงเงินนะครับ เพราะเจ้ศรีเป็นคนใจดี
ทนายความ: ภายหลังจากทำสัญญา คุณมาร์คเคยทำหนังสือรับสภาพหนี้ไหมครับ
คุณมาร์ค (ลูกความ): คิดว่าไม่เคยทำหนังสือรับสภาพหนี้ครับ
จากบทสนทนาต้องพิจารณาว่าทำสัญญาที่ใดเพื่อดูมูลเหตุแห่งคดี อันเป็นเขตอำนาจศาลที่ใช้ในการพิจารณา และจากที่ทนายความสอบถามว่าเคยมีการชำระเงินหรือมีการทำหนังสือรับสภาพหนี้หรือไม่ เพื่อพิจารณาในประเด็นของอายุความ ซึ่งเรื่องนี้เจ้ศรีนำคดีมาฟ้องพ้นกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่ที่เจ้ศรีผู้ให้กู้มีสิทธิทวงเงินจากคุณมาร์ค ดังนั้น คุณมาร์คจึงสามารถยกอายุความขึ้นต่อสู้ในคดีได้
นอกจากนี้คุณมาร์คสามารถยกข้อต่อสู้เรื่องอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อวันได้ เพราะเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ร้อยละ 15 ต่อปี
บทสนทนาจำลองสถานการณ์เพื่อการจับประเด็นและให้ความเห็นทางกฎหมายในคดีอาญา
ช่วงที่ 1
ทนายความ: อยากให้คุณมาร์คเล่าข้อเท็จจริงในคดีอาญาให้ฟังหน่อยครับ
คุณมาร์ค (ลูกความ): ช่วงเวลาประมาณบ่ายถึงเย็น ตะวันยังไม่ตกดิน ผมไปซื้อของที่ตลาดเชียงราก ระหว่างกลับบ้านได้จอดรถมอเตอร์ไซค์มีชายแปลกหน้าชี้หน้าด่าว่า “ไอ้หัว…”
ทนายความ: วันเกิดเหตุเป็นวันที่เท่าไหร่
คุณมาร์ค (ลูกความ): 10 มีนาคม 2565
ทนายความ: ชายแปลกหน้าพูดอะไรอีกหรือไม่
คุณมาร์ค (ลูกความ): พูดว่า “มึงมันเลวเหมือนพ่อเหมือนแม่มึง” แต่ผมไม่ได้ด่าอะไรตอบ
ทนายความ: เหตุเกิดที่ไหน
คุณมาร์ค (ลูกความ): ร้านก้ำกึ่ง ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
ทนายความ: ชายแปลกหน้าได้เข้ามาที่บ้านหรือบริเวณบ้านหรือไม่
คุณมาร์ค (ลูกความ): ไม่ได้เข้ามา ชายแปลกหน้ายืนอยู่นอกรั้วบ้าน
ทนายความ: หลังจากที่ด่าเสร็จ ชายแปลกหน้าได้ทำอะไรอื่นอีกหรือไม่
คุณมาร์ค (ลูกความ): ชายแปลกหน้าเข้ามาผลักและชกหน้า ทำให้ผมล้มลงไปที่พื้น
ทนายความ: ใครเป็นคนเข้ามาระงับเหตุการณ์
คุณมาร์ค (ลูกความ): ผมไม่ทราบ เพราะถูกชกและล้มอยู่ จำได้แค่ว่ามีคนระแวกนั้นเข้ามาช่วยครับ
ทนายความ: บาดแผลคุณมาร์คเป็นอย่างไร
คุณมาร์ค (ลูกความ): เจ็บที่ใบหน้าและมีเลือดออก
ทนายความ: คุณมาร์คได้ไปโรงพยาบาลหรือไม่
คุณมาร์ค (ลูกความ): ผมไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์
ทนายความ: คุณมาร์คนอนโรงพยาบาลนานหรือไม่
คุณมาร์ค (ลูกความ): จำจำนวนวันไม่ได้
ทนายความ: คุณมาร์คออกจากโรงพยาบาลวันไหน
คุณมาร์ค (ลูกความ): วันที่ 10 เมษายน 2565
ทนายความ: แสดงว่านอนรักษาที่โรงพยาบาลอยู่ 30 วัน
จากบทสนทนาเห็นได้ว่าเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายทำให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 เพราะนอนรักษาที่โรงพยาบาลเกิน 20 วัน ไม่ใช่การทำร้ายร่างกายอย่างทั่วไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295
ช่วงที่ 2
ทนายความ: สรุปคุณมาร์คนึกเวลาเกิดเหตุออกหรือยัง
คุณมาร์ค (ลูกความ): น่าจะเป็นช่วงระหว่าง 5 โมง ถึง 6 โมงเย็น
ทนายความ: มีการถ่ายภาพบาดแผลไว้หรือไม่
คุณมาร์ค (ลูกความ): ถ่ายไว้ครับ
ทนายความ: ดีแล้วครับ เพราะภาพถ่ายสามารถใช้ประกอบเป็นหลักฐานในสำนวนคดีอาญาได้ ส่วนค่ารักษาพยาบาล คุณมาร์คสำรองเงินจ่ายไปก่อนหรือไม่
คุณมาร์ค (ลูกความ): จ่ายไป 50,000 บาท
ทนายความ: ตอนออกจากโรงพยาบาล คุณหมอให้รักษาตัวเองต่อยังไงอีกหรือไม่
คุณมาร์ค (ลูกความ): คุณหมอให้รักษาตัวต่ออีก 30 วันตามใบรับรองแพทย์
ทนายความ: แล้วคุณมาร์ครักษาตัวต่อตามที่คุณหมอแจ้งไว้หรือไม่
คุณมาร์ค (ลูกความ): รักษาตัวต่อภายหลังจากออกโรงพยาบาล 30 วันครับ
ทนายความ: มีค่าใช้จ่ายอื่นอีกหรือไม่
คุณมาร์ค (ลูกความ): ไม่มีครับ มีเพียง 50,000 บาท
จากบทสนทนาเห็นได้ว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คือ มีทั้งความผิดอาญาและสามารถเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ โดยการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาสามารถฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40