สรุปสาระสำคัญโครงการอบรมทักษะการปฏิบัติงานทางกฎหมาย ประจำปีการศึกษา 2564 ครั้งที่ 2 หัวข้อ “การจับประเด็นและให้ความเห็นทางกฎหมาย”
วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2565 เวลา 17.00-19.30 น.
วิทยากรโดย
– คุณเคารพ ลอยทอง Manager, The Concrete Products and Aggregate Co., Ltd. , (SCG)
– คุณปราการ สมบุญยิ่ง Senior Associate, Chandler MHM Limited
ดำเนินรายการโดย อ.เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ.
คุณปราการ สมบุญยิ่ง Senior Associate, Chandler MHM Limited (วิทยากร) :
วิธีการสื่อสารในการทำงานของ Law firm ใช้การสื่อสารผ่านอีเมลและไลน์เป็นหลัก ส่วนการประชุมใช้วิธีประชุมออนไลน์ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ เช่น MS Team, Cisco Jabber เป็นต้น เว้นแต่การติดต่อกับลูกความที่อยู่ต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ใช้วิธีการโทรศัพท์เป็นหลัก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง นอกจากนี้ สำหรับการสั่งงานจะสั่งงานเป็นลำดับชั้นตามตำแหน่งลงไป เช่น จาก Partner ไปสู่ Senior lawyer หรือจาก Senior lawyer ไปสู่ Associate lawyer เป็นต้น
อ.เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
การทำงานใน Law firm ต้องมีเวลายืดหยุ่นหรือไม่ เนื่องจากบางครั้งต้องติดต่อกับลูกความที่ต่างประเทศ ซึ่งเวลาอาจไม่ตรงกันกับประเทศไทย
คุณปราการ สมบุญยิ่ง Senior Associate, Chandler MHM Limited (วิทยากร) :
การทำงานใน Law firm เวลาต้องยืดหยุ่น โดยเฉพาะลูกความที่อยู่ประเทศอเมริกาหรือประเทศที่เวลาต่างกับประเทศไทยมาก ๆ เพราะเวลาในการทำงานไม่ตรงกัน เช่น เวลาการทำงานของลูกความอเมริกาตอนเช้า คือเวลาตอนกลางคืนของประเทศไทย
อ.เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
รูปแบบและวิธีการสื่อสารในการทำงานฝ่ายกฎหมายของ SCG เป็นอย่างไร
คุณเคารพ ลอยทอง Manager, The Concrete Products and Aggregate Co., Ltd. (SCG) (วิทยากร) :
ลักษณะงานของฝ่ายกฎหมายที่ SCG มีลักษณะเป็น In–house lawyer ซึ่ง SCG มีบริษัทกฎหมายแยกต่างหากออกมาจากบริษัทหลัก เพื่อทำหน้าที่ดูแลและสนับสนุนงานของบริษัทในเครือทั้งหมด ลักษณะงานมีความแตกต่างกับ Law firm เพราะ Law firm มีนักกฎหมายทำหน้าเป็นหลัก เช่น การให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ลูกความ แต่ In-house lawyer มีนักกฎหมายทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนเพื่อให้ธุรกิจหลักขององค์กรขับเคลื่อนไปได้
SCG เป็นบริษัทขนาดใหญ่มีพนักงานประมาณ 50,000 คน และมีบริษัทประจำการอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้
การสื่อสารแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ (1) ระดับทางการ การสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการสั่งงาน รับงาน และเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ใช้อีเมลเป็นหลัก โดยการใช้อีเมลยังแบ่งออกเป็นอีกหลายระดับ เช่น บางอีเมลใช้สำหรับเรื่องที่เป็นความลับซึ่งตำแหน่งผู้บริหารเท่านั้นที่สามารถใช้ได้ หรือบางอีเมลใช้สำหรับกลุ่มคนทำงานเท่านั้น เป็นต้น (2) ระดับไม่ทางการหรือกึ่งทางการ ใช้วิธีการสื่อสารผ่าน MS Team และไลน์เป็นหลัก เช่น ใช้สำหรับการประชุม การส่งไฟล์งาน การคุยงาน เป็นต้น นอกจากนี้ SCG ยังมีแพลตฟอร์มเฉพาะที่ SCG สร้างขึ้นมาเอง ชื่อว่า “สังคมออนไลน์” เพื่อใช้สำหรับการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข่าวสารภายในองค์กร โดยลักษณะของแพลตฟอร์มมีความคล้ายกับ Facebook แต่แตกต่างตรงที่แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์สามารถให้พนักงานโพสต์ข้อมูลต่าง ๆ ได้ ซึ่งหากมีพนักงานคนอื่นกดให้คะแนนการโพสต์นั้นจำนวนมาก ผู้โพสต์ข้อมูลสามารถนำคะแนนที่ได้รับมาแลกของรางวัลได้
อ.เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
การสั่งการหรือระบบการบังคับบัญชาของบริษัท SCG เป็นอย่างไร
คุณเคารพ ลอยทอง Manager, The Concrete Products and Aggregate Co., Ltd. (SCG) (วิทยากร) :
สำหรับการสั่งการภายในองค์กร มีตั้งแต่ระดับของกรรมการผู้จัดการ คณะกรรมการ คณะผู้จัดการ หัวหน้าทีมงาน ทีมงาน ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นการสั่งการมีลักษณะเป็นลำดับขั้นแบบบริษัทอื่น ๆ ทั่วไป
อ.เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
จากที่วิทยากรทั้งสองท่านกล่าวมา เห็นได้ว่า ทักษะการใช้อีเมลเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะองค์กรแต่ละแห่งใช้อีเมลในการสื่อสารเป็นหลัก จึงอยากให้ท่านวิทยากรช่วยแนะนำวิธีการเขียนอีเมลให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน เช่น การเขียนอีเมลอย่างไรให้เหมาะสมถูกต้องตามโอกาสต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ อยากให้ท่านวิทยากรเล่าว่าภายหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด องค์กรแต่ละแห่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานอย่างไรหรือไม่ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นหรือไม่
คุณปราการ สมบุญยิ่ง Senior Associate, Chandler MHM Limited (วิทยากร) :
ภายหลังจากสถานการณ์โควิด บริษัทมีการใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น เพราะไม่สามารถเข้าทำงานที่บริษัทได้ เช่น จากเดิมที่เคยประชุมงานที่บริษัท ต้องเปลี่ยนเป็นประชุมออนไลน์ทั้งหมด อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายบริษัทได้แบ่งพนักงานออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อให้สลับเข้ามาทำงานในบริษัททีละครึ่งหนึ่งเพื่อลดจำนวนคนที่มาทำงาน โดยในแต่ละวันแต่ละฝ่ายต้องมีเลขานุการหรือผู้ช่วยทนายความเข้ามาทำงานเพื่อช่วยทนายความที่ไม่ได้เข้าบริษัททำงาน เช่น การปริ้นเอกสารเพื่อนำไปยื่นต่อศาล การปริ้นเอกสารและส่งเอกสารให้ทนายความที่ทำงานอยู่ที่บ้านเซ็นรับรอง เป็นต้น ส่วนการประชุมหรือคุยงานกับลูกความ แม้ว่าสถานการณ์โควิดเริ่มเบาลง แต่ลูกความส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะประชุมแบบออนไลน์อยู่
สำหรับบริษัท Law firm อื่น ๆ จากที่สอบถามมา บริษัทบางแห่งลดพื้นที่ของบริษัทลง เช่น จากเดิมบริษัทมี 3 ชั้น ก็ลดเหลือ 2 ชั้น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายหรือนำเงินไปจ้างทนายความเพิ่มขึ้น หรือบางบริษัทเปลี่ยนห้องทำงานส่วนตัวของทนายความเป็นพื้นที่แบบ Hot Seat หรือ Co-working space เพื่อให้สอดรับกับการทำงานแบบ Work From Home
คุณเคารพ ลอยทอง Manager, The Concrete Products and Aggregate Co., Ltd. (SCG) (วิทยากร) :
หลังจากมีสถานการณ์โควิด SCG ให้พนักงาน Work From Home และมีการสำรวจความเห็นของพนักงาน
ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านผลผลิตของงาน ด้านความยืดหยุ่นของเวลาในการทำงาน ด้านคุณภาพชีวิต ซึ่งพนักงานแต่ละรุ่นก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน เช่น พนักงานรุ่นเก่ามองว่าการเข้ามาทำงานหรือการเข้ามาประชุมเจอหน้ากันที่บริษัท ทำให้ผลผลิตของงานออกมาได้ดีกว่า ส่วนพนักงานรุ่นใหม่มองว่าการทำงานที่บ้านไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร แต่กลับเป็นผลดีกว่าเพราะไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องแต่งตัว เป็นต้น SCG จึงนำความเห็นของพนักงานมาปรับปรุงระบบการทำงานที่มีอยู่แต่เดิมให้เปลี่ยนเป็น Work From Anywhere คือเป็นการทำงานในรูปแบบ Hybrid ที่สามารถทำงานที่ใดก็ได้ ไม่จำกัดว่าต้องทำงานที่บ้านเพียงอย่างเดียว และเมื่อมีพนักงานเข้ามาทำงานในบริษัทน้อยลง SCG ได้ปรับพื้นที่ใช้งานของบริษัท เช่น เปลี่ยนจากห้องทำงานส่วนตัวของพนักงานตำแหน่งสูงเป็น Co-working space หรือสร้างห้องประชุมสำหรับการใช้งานคนเดียว เป็นต้น
ส่วนระบบที่ใช้สำหรับการทำงาน SCG ได้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์เป็นของตัวเอง เพื่อให้พนักงานสามารถทำงาน
ที่ใดก็ได้ ซึ่งระบบนี้มีระบบรักษาความปลอดภัยค่อนข้างสูงโดยมีฝ่าย IT ช่วยควบคุมดูแล เพื่อป้องกันการแฮกข้อมูลจากแฮกเกอร์ หรือมัลแวร์ต่าง ๆ
อ.เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
ถามวิทยากรทั้งสองท่านว่ารูปแบบการฝึกงานของแต่ละบริษัทในตอนนี้เป็นอย่างไร หากนักศึกษาเข้าไปฝึกงาน การฝึกงานยังอยู่ในรูปแบบออนไลน์หรือไม่
คุณปราการ สมบุญยิ่ง Senior Associate, Chandler MHM Limited (วิทยากร) :
นักศึกษาที่เข้ามาฝึกงานจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อสลับวันกันเข้ามาทำงาน เช่น หากมีนักศึกษาฝึกงาน 30 คน บริษัทจะแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มละ 15 คน และให้เข้ามาทำงานที่บริษัทสัปดาห์เว้นสัปดาห์สลับกันไป นอกจากนี้ บริษัทมีแผนให้นักศึกษาได้ทดลองเรียนรู้งานในแต่ละแผนก นักศึกษาฝึกงานจะได้เรียนรู้งานในแผนกต่าง ๆ เช่น แผนก Litigation แผนก M&A แผนก Capital Market แผนก Finance เป็นต้น
คุณเคารพ ลอยทอง Manager, The Concrete Products and Aggregate Co., Ltd. (SCG) (วิทยากร) :
นักศึกษาฝึกงานจะได้ทำงานเหมือนกับพี่ที่ดูแลนักศึกษาในแต่ละทีม โดยบริษัทจะให้นักศึกษาเปลี่ยนแผนก
การทำงานเพื่อให้ได้เรียนรู้งานในแต่ละแผนก ส่วนรูปแบบของการทำงานจะอิงตามพี่ที่ดูแล เช่น วันไหนพี่ที่ดูแลเข้าบริษัท นักศึกษาฝึกงานก็ต้องเข้าบริษัทด้วย หรือวันไหนพี่ที่ดูแลไม่ได้เข้าบริษัท นักศึกษาฝึกงานก็ไม่ต้องเข้าบริษัท ซึ่งบริษัทคาดว่าในแต่ละสัปดาห์ อยากให้นักศึกษาเข้ามาเรียนรู้งานในบริษัท 2 – 3 วันต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ ไม่ได้กำหนดวันเข้ามาทำงานอย่างชัดเจน เพราะขึ้นอยู่กับพี่ที่ดูแลในแต่ละทีม
สิ่งที่อยากให้นักศึกษาเตรียมความพร้อมไว้ คือ อุปกรณ์และเครื่องมือในการทำงาน เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค อินเทอร์เน็ต โปรแกรมที่ใช้สำหรับการทำงานเบื้องต้น
อ.เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
เนื่องจากการฝึกงานมีทั้งแบบเข้ามาทำงานที่บริษัทและแบบออนไลน์ การสอนงานนักศึกษาของแต่ละบริษัทเป็นอย่างไรโดยเฉพาะการสอนงานในรูปแบบออนไลน์
คุณปราการ สมบุญยิ่ง Senior Associate, Chandler MHM Limited (วิทยากร) :
นักศึกษาที่เข้ามาฝึกงานจะมีพี่ที่ดูแล 1 คน (นักศึกษาฝึกงาน 1 คน ต่อพี่ที่ดูแล 1 คน) ซึ่งนักศึกษาสามารถถามข้อมูล ถามข้อสงสัย หรือระบายการทำงานกับพี่ที่ดูแลได้ นอกจากพี่ที่ดูแลนักศึกษาฝึกงานรายคนแล้ว ยังมีพี่ที่คอยดูแลภาพรวมของแต่ละแผนกงานอีก
เมื่อนักศึกษาฝึกงานได้รับงานมาจากพี่ ๆ นักศึกษาต้องจดหรือบันทึกเวลาในการทำงานไว้ (บันทึกลง Time Sheet) เพื่อจะได้รู้ว่านักศึกษาทำงานอะไรในแต่ละวัน และงานแต่ละชิ้นใช้เวลาในการทำงานเท่าไหร่ เพื่อบริษัทจะได้นำจำนวนชั่วโมงที่นักศึกษาทำงานไปคิดค่าบริการจากลูกความ
ส่วนการสอนงานเป็นลักษณะ Learning by doing คือ พี่ ๆ จะให้งานแก่นักศึกษาฝึกงาน เช่น ให้ค้นคว้าข้อกฎหมายหรือคำพิพากษาฎีกาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เมื่อนักศึกษาค้นคว้าเสร็จและส่งข้อมูลให้แก่พี่ที่ดูแล พี่ ๆ ก็จะให้
คอมเมนต์และให้คำแนะนำ เพื่อให้นักศึกษาฝึกงานได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติงานจริง นอกจากนี้ บริษัทมีระบบ Training ให้แก่นักศึกษาฝึกงาน โดยในแต่ละสัปดาห์พี่ ๆ จะมีบทเรียนมาสอนนักศึกษาฝึกงาน เช่น เรื่องทางบัญชี การอ่านงบการเงิน เป็นต้น
คุณเคารพ ลอยทอง Manager, The Concrete Products and Aggregate Co., Ltd. (SCG) (วิทยากร) :
สิ่งที่อยากให้นักศึกษาเตรียมตัวก่อนมาฝึกงาน คือ พื้นฐานหรือทักษะการใช้โปรแกรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำงานในรูปแบบออนไลน์ที่ต้องใช้ MS Team, Cisco Webex, Zoom นักศึกษาควรเรียนรู้ระบบของโปรแกรมต่าง ๆ ว่าใช้งานอย่างไร เช่น การเข้าระบบ การแชร์หน้าจอต่าง ๆ เป็นต้น
การมาฝึกงานที่ SCG เริ่มแรกบริษัทจะจัดงานในลักษณะ Open house เพื่อแนะนำภาพรวมขององค์กรและลักษณะงานในแต่ละทีม นักศึกษาฝึกงานจะได้รับงานโดยอาจเป็นงานเดี่ยวหรืองานกลุ่ม เช่น งานค้นคว้าข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งหากนักศึกษามีปัญหาหรือติดขัดอย่างไร พี่ ๆ ที่อยู่ในทีมจะช่วยให้คำแนะนำแก่นักศึกษา
ส่วนการทำงานในองค์กรอยากให้นักศึกษา (1) ทำงานอย่างเต็มที่ (2) รับผิดชอบส่งงานตามกำหนดเวลา (3) ค้นคว้าข้อมูลและแสดงความคิดเห็น โดยมีแหล่งข้อมูลอ้างอิงประกอบเสมอ โดยให้คิดว่าตนเองเสมือนเป็นพนักงานขององค์กร อย่าคิดว่าตนเองเป็นแค่นักศึกษาฝึกงาน สุดท้ายก่อนจบโครงการฝึกงาน บริษัทจะให้โปรเจกต์แบบกลุ่มแก่นักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาฝึกทักษะค้นคว้าข้อมูลและทักษะการนำเสนอผลงาน
อ.เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
จากประสบการณ์ที่แต่ละบริษัทมีโครงการฝึกงาน พบปัญหาหรือสิ่งที่อยากให้นักศึกษาฝึกงานเตรียมความพร้อมมาก่อนหรือไม่
คุณปราการ สมบุญยิ่ง Senior Associate, Chandler MHM Limited (วิทยากร) :
ปัญหาที่พบ ได้แก่ (1) เรื่องการค้นคว้าข้อมูลทางกฎหมาย เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดทำให้ต้องทำงานที่บ้าน (ไม่สามารถใช้ห้องสมุดของบริษัทได้) นักศึกษามักค้นข้อมูลมาแต่คำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งไม่มีทฤษฎีอ้างอิงอื่น ๆ มาประกอบ ทำให้ข้อมูลยังขาดความสมบูรณ์ ดังนั้น นักศึกษาควรสืบค้นข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ นอกเหนือจากอินเทอร์เน็ตประกอบด้วย เช่น หนังสือ ตำราเรียน เป็นต้น (2) เรื่องนักศึกษาไม่เข้าใจบทบาทของการเป็นนักศึกษาฝึกงานหรือ Junior lawyer กล่าวคือ เมื่อนักศึกษาหาข้อมูลส่งพี่ ๆ แล้ว แต่พี่ ๆ เห็นว่าข้อมูลนั้นยังไม่ครบถ้วนหรือยังไม่ถูกประเด็น นักศึกษามักคิดว่า “ถ้าพี่รู้อยู่แล้ว จะสั่งให้นักศึกษาค้นข้อมูลทำไม” ความคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะพี่ ๆ ย่อมรู้ข้อมูลภาพรวมอยู่แล้วในฐานะที่เป็นหัวหน้า เพียงแต่บางประเด็นต้องการความแน่ชัดของข้อมูลก่อนที่จะส่งงานให้แก่ลูกความ บทบาทของนักศึกษาฝึกงานจึงเป็นบทบาทที่เข้ามาเพิ่มเติมข้อมูลให้แก่
พี่ ๆ ทนายความ
คุณเคารพ ลอยทอง Manager, The Concrete Products and Aggregate Co., Ltd. (SCG) (วิทยากร) :
ปัญหาที่พบ ได้แก่ (1) เรื่องความใส่ใจในการทำงาน นักศึกษาบางคนมักรวมกลุ่มกันออกไปสังสรรค์กินข้าวกับเพื่อนร่วมงาน จนไม่ได้สนใจงานที่ได้รับมอบหมายหรือไม่ทำงานอย่างเต็มที่เท่าที่ควร ซึ่งหากเทียบกับนักศึกษากลุ่มที่ตั้งใจและทุ่มเทให้กับงาน นักศึกษากลุ่มนี้มีความโดดเด่นและฉายแววให้แก่พี่ ๆ มากกว่า (2) เรื่องความกระตือรือร้นในการทำงาน เช่น หากวันใดสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดีทำให้ทำงานออนไลน์ไม่ได้ น้องอาจแจ้งพี่ ๆ ว่าขอไปทำงานที่ร้านกาแฟเพื่อใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ได้ ไม่ใช่อยู่บ้านเฉย ๆ แล้วไม่ได้ทำงาน หรือวันไหนที่เข้ามาทำงานที่บริษัท หากพี่ ๆ ให้เข้าประชุมด้วย นักศึกษาควรเตรียมสมุดปากกาสำหรับการจดงานไว้ด้วย (3) เรื่องความกล้าแสดงออกหรือกล้าแสดงความคิดเห็น บางครั้งนักศึกษาค้นคว้าข้อมูลมาดี แต่ไม่กล้าแสดงความเห็นออกมา อยากบอกนักศึกษาว่าการทำงานทุกความเห็นมีความสำคัญ เพราะบางทีความเห็นหนึ่งสามารถช่วยให้งานดำเนินต่อไปได้ (4) เรื่องการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียน อยากให้นักศึกษาใช้คำให้ถูกต้องและเรียงลำดับความคิดให้ดีโดยเฉพาะการเขียนอีเมล จากประสบการณ์ที่พบสมมติมีนักศึกษา 10 คน จะมีนักศึกษาอยู่ 1 – 2 คน ที่เขียนอีเมลส่งงานมาถูกต้อง นักศึกษาหลายคนส่งแค่ไฟล์งานมาโดยไม่แจ้งหัวข้อและเนื้อหาในอีเมล หรือไม่มีการลงชื่อและช่องทางติดต่อกลับในอีเมล จึงอยากฝากให้นักศึกษาเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ด้วย
(5) เรื่องการแต่งกาย กรณีที่นักศึกษา Work From Home บริษัทไม่ได้บังคับว่านักศึกษาต้องใส่ชุดนักศึกษาอยู่ที่บ้าน แต่หากมีการประชุมหรือทำงานที่ต้องเปิดกล้อง อยากให้นักศึกษาเตรียมความพร้อมในเรื่องการแต่งกายด้วย เช่น ไม่ควรเสื้อกล้าม ไม่ควรให้ผมยุ่ง เป็นต้น
คุณปราการ สมบุญยิ่ง Senior Associate, Chandler MHM Limited (วิทยากร) :
การเขียนอีเมลต้องมี 3 ส่วนหลัก ๆ คือ (1) ส่วนขึ้นต้น (ส่วนที่เรียนถึงใคร) (2) ส่วนเนื้อความ (3) ส่วนลงท้าย
ไม่ว่าจะส่งงานให้คนภายในองค์กรหรือคนภายนอกองค์กรก็ตาม การเขียนอีเมลที่ดีคือต้องเขียนให้มีสาระสำคัญครบถ้วนและไม่มีเนื้อหายาวจนเกินไป
อ.เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
บริษัทแต่ละแห่งต้องการคุณสมบัติของนักศึกษาฝึกงานหรือบัณฑิตที่จบการศึกษาอย่างไร เพื่อให้นักศึกษาได้เตรียมความพร้อมสู่การทำงานในอนาคต
คุณเคารพ ลอยทอง Manager, The Concrete Products and Aggregate Co., Ltd. (SCG) (วิทยากร) :
เนื่องจากปัจจุบันทำงานในรูปแบบออนไลน์ องค์กรส่วนใหญ่คาดหวังว่านักศึกษาที่จบมาสามารถใช้โปรแกรมพื้นฐานได้ เช่น MS Team, Zoom, Cisco Webex เป็นต้น พื้นฐานการใช้โปรแกรม Microsoft เพียงอย่างเดียว จึงอาจไม่เพียงพอต่อรูปแบบการทำงานในปัจจุบัน นอกจากนี้ หากนักศึกษามีความรู้เรื่องเทรนของโลกและ Soft Skills เช่น การเขียนอีเมล การเปลี่ยนภาษาทางกฎหายให้เป็นภาษที่เข้าใจง่าย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและทำให้นักศึกษามีความโดดเด่นกว่าคนอื่น
คุณปราการ สมบุญยิ่ง Senior Associate, Chandler MHM Limited (วิทยากร) :
บริษัท Law firm ส่วนใหญ่คาดหวังเรื่องภาษาอังกฤษของนักศึกษา โดยพิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนของการรับสมัคร หลาย ๆ บริษัทจะมีการทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษกับนักศึกษาทั้งข้อเขียนและการสอบสัมภาษณ์ ดังนั้น นักศึกษาควรมีพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษที่ดี แต่ไม่ต้องขึ้นขั้นที่สามารถพูดหรือเขียนเป็นแบบต่างชาติก็ได้
คุณสมบัติอีกอย่าง คือ ความสามารถในการนำเสนองาน โดยเฉพาะการทำงานในรูปแบบออนไลน์ที่ต้องนำเสนองานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ เช่น นำเสนอการขายงานภายใน 1 ชั่วโมงอย่างไรให้ลูกความเข้ามาใช้บริการกับบริษัท หรือนำเสนองานอย่างไรให้น่าฟังและทำให้มีผู้ติดตามอยู่ตลอดเวลาที่นำเสนอ เป็นต้น