สรุปสาระสำคัญจากเสวนาออนไลน์หัวข้อ “ทางเลือกวิชาชีพสายกฎหมายในสถานการณ์ Covid-19” จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2563 ได้เวลา 9.30-12.30 น. ทางระบบ Cisco WebEx Meetings และ Facebook Live ผ่านหน้าเพจ ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
วิทยากร
- คุณโมกข์พิศุทธิ์ รตารุณ (ที่ปรึกษากฎหมาย Fintech Startup)
- คุณพิทวัส พิชญ์ชานน (รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.ปะนาเระ)
- คุณสกุลพงษ์ ตรีสมพงษ์ (นักวิชาการคดีรัฐธรรมนูญปฏิบัติการ)
- คุณนันทวัฒน์ ทองช่วง (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ)
- คุณวีรพจน์ ตลอดสุข (ทนายความอิสระ)
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์ กิตติภพ วังคำ อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- ชวัลรัตน์ ศรีธาดา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 3 (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ (ผู้เรียบเรียง)
อาจารย์ กิตติภพ วังคำ (อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ผู้ดำเนินรายการ
อ.กิตติภพ ได้กล่าวนำเพื่อเข้าสู่โครงการอบรมทักษะการปฏิบัติงานทางกฎหมาย ( Legal Practice Workshop) ซึ่งการจัดเสนาในครั้งนี้เป็นนโยบายของทางคณบดีที่ต้องการให้นักศึกษาได้มีทักษะทางด้านอื่นนอกจากด้านกฎหมาย หรือเป็นความรู้เกี่ยวกับการแนะแนววิชาชีพให้กับนักศึกษา โดยในครั้งนี้เป็นหัวข้อ ทางเลือกวิชาชีพสายกฎหมายในสถานการณ์ Covid-19 เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน และได้มีการเชิญ ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง กล่าวเปิดงาน จากนั้นอาจารย์กิตติภพ ได้ถามคำถามวิทยากรใน 5 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นแรก ประวัติการศึกษาและประวัติการทำงาน
ประเด็นที่สอง ลักษณะของงาน แรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจที่เลือกอาชีพนี้
ประเด็นที่สาม งจุดเด่น และจุดด้อยของงานที่ทำ
คำถามที่สี่ ข้อจำกัดในการทำงาน และการรับมือในสถานการณ์ Covid-19
คำถามสุดท้าย การเตรียมตัวที่จำเป็นในการประกอบวิชาชีพ และในฝั่งของผู้จ้างงานต้องการนักศึกษากฎหมายแบบใด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ได้กล่าวเปิดงานโดยกล่าวถึงเหตุผลในการจัดเสวนาครั้งนี้ว่า ในการจัดครั้งนี้มีแรงบันดาลใจมาจากคณาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ซึ่งเห็นว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นักศึกษาค่อนข้างมีความกังวลค่อนข้างมาก นอกจากการเรียน การสอบแล้ว สำหรับนักศึกษาปี 4 ซึ่งกำลังจะสำเร็จการศึกษายังมีความกังวลในเรื่องการทำงานอีกด้วย ทางกรรมการศูนย์นิติศาสตร์ จึงได้ริเริ่มจัดการจัดเสวนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อแนะแนววิชาชีพและการเตรียมตัวให้แก่นักศึกษา โดยได้ได้มีการเลือกอาชีพให้หลากหลาย ซึ่งบางอาชีพอาจไม่ได้มีการพูดถึงบ่อยนักในการแนะแนววิชาชีพครั้งที่ผ่าน ๆ มา
คุณโมกข์พิศุทธิ์ รตารุณ (ที่ปรึกษากฎหมาย Fintech Startup )
คุณโมกข์พิศุทธิ์สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) รหัส 50 เนติบัณฑิต เริ่มประกอบวิชาชีพโดยการทำงานในลอว์เฟิร์ม โดยทำอยู่ 6 ปีครึ่ง และหลังจากนั้นได้ไปลองทำฟรีแลนซ์ และได้ไปเจอกับคณะอาจารย์ซึ่งชวนให้ทำวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้ไปดูตั้งแต่ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล หลังจากนั้นได้มาเขียนหนังสือชื่อ Thailand Data Protection Guidelines และได้ทำงานประจำในปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากการรู้จัก CEO ของบริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทำเกี่ยวกับเป็นศูนย์ซื้อขาย และเป็นนายหน้าซื้อขายในทางภาษากฎหมายเรียก สินทรัพย์ดิจิทัล หรือเรียกว่า คริปโต หรือ บิทคอย ได้เข้าไปทำในฐานะ Complaint Manager
ลักษณะงาน หลัก ๆ จะทำงานให้คำปรึกษาด้านกฎหมายทั้งหมดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล และต้องดูกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้นองค์กรธุรกิจ เช่น การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ อีกส่วนหนึ่งคือเรื่อง Corporate เช่น การเพิ่มทุนบริษัท การประชุม และรวมไปถึงการตกลงกับคู่ค้า และงานอีกส่วนเรียกว่า Compliance คือการทำงานตามกฎหมายบางอย่าง หรือหลักการบางอย่าง ซึ่งบริษัทของคุณโมกข์พิศุทธิ์ต้องทำตามกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ รวมไปถึงได้ไปทำงานในส่วนของการบริหารบุคคล และทำในหลากหลาย
ส่วนแรงจูงใจคุณโมกข์พิศุทธิ์ ได้ตั้งหลักสำคัญไว้ 3 ประการ คือ ประการแรก เรื่องเนื้องาน ตัวเนื้องานต้องมีความน่าสนใจ ประการที่สอง เรื่ององค์กร คือ เป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่ และมีบุคคลเป็นอย่างไร ประการที่สาม เรื่องค่าตอบแทน โดยมองว่า เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ดังนั้นจึงไม่ได้ให้ความสำคัญมาก และในส่วนของงานปัจจุบันคุณโมกข์พิศุทธิ์ได้กล่าวว่า ตัวเนื้องานเป็นเรื่องใหม่ และมีความน่าสนใจ โดยมีความอยากรู้ในตัวเนื้องาน ในส่วนตัวองค์กร เห็นว่า ตัวองค์กรมีความในเชื่อถือ และมีความเชื่อมั่น และในองค์กรเล็ก ๆ จึงทำให้ได้ทำหน้าที่หลายๆอย่าง เป็นการฝึกทำงานมากกว่างานทางด้านกฎหมาย ในเรื่องค่าตอบแทน มองว่าถ้าเพียงพอกับค่าใช้จ่าย และเพียงพอในการเก็บเงินก็ยอมรับได้
ข้อดีของงาน ประการแรกคือ ตัวเนื้องานมีความน่าสนใจ และมีความแปลกใหม่ ประการที่สองคือ เนื่องจากองค์กรมีความเล็กทำให้มีโอกาสได้พูดคุย และแสดงความคิดเห็นกับหัวหน้า ซึ่งทำให้ได้มีทักษะในการสื่อสาร และการแก้ไขปัญหา อีกทั้งเป็นการทำให้เห็นคุณค่าจากการทำงาน ประการที่สามคือ ได้ทำงานกับคนเก่ง และมีความสามารถทำให้ศึกษาการทำงานของแต่ละคน รวมถึงการเข้าหาบุคคล ประการที่สี่คือ เรื่องเวลา เป็นองค์กรที่เห็นความสำคัญด้านเวลา กล่าวคือ มีเวลาชัดเจนในการทำงาน มีความยืดหยุ่น ส่วนข้อเสีย ประการแรก เนื่องจากงานมีความใหม่ ทำให้ไม่มีแนวทางในการทำงาน เพราะ อาจจะทำให้มีโอกาสผิดพลาดสูง ประการที่สองคือ มีความเครียด เพราะจะต้องอยู่บนความคาดหวังของผู้บริหาร และไม่ต้องมีการสอนงานใหม่ การที่จะมาทำงานจะต้องมีประสบการณ์การทำงานมาในระดับหนึ่ง ประการที่สาม เรื่องความมั่นคง เพราะเป็นธุรกิจที่ใหม่ จึงไม่มีใครตอบได้ว่าจะไปได้แค่ไหน ประการที่สี่ เรื่องค่าตอบแทน อยู่บนพื้นฐานของธุรกิจ
ด้านผลกระทบของการแพร่ระบาดของ Covid-19 ประการแรกคือผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ทำให้องค์กรธุรกิจมีการปรับตัว ซึ่งบริษัทฯไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากยังมีเงินทุนมากพอในการบริหารจัดการ ผลกระทบในเรื่องที่สองได้แก่ความเป็นอยู่ในฐานะพนักงาน บริษัทฯได้มีคำสั่งให้ทำงานอยู่ที่บ้าน 1 เดือน สิ่งที่ตามมาในเรื่องข้อจำกัดการทำงาน เนื่องจากองค์กรในด้านดิจิทัลแทบจะทั้งหมด ทำให้ผลกระทบในฝั่งองค์กรมีน้อยมาก ส่วนรูปแบบการทำงานยังสามารถทำงานได้ยังปกติ เพราะมีการปรับตัว และเมื่อกลับมาทำงานจะมีความระมัดระวังมากขึ้นในการใช้ชีวิต และในส่วนของด้านร่างกาย เนื่องจากมีการใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้นทำให้เกิดความล้าของกล้ามเนื้อสายตา และสมอง และส่วนสุดท้าย การติดต่อประสานงานค่อนข้างยากขึ้น
ส่วนประเด็นวิชาที่ควรเน้น ให้เน้นกฎหมายแพ่ง ในเรื่องนิติกรรมและสัญญา หนี้ เอกเทศสัญญาทั้งหมด กฎหมายหุ้นส่วนบริษัท เป็นต้น และกฎหมายแรงงาน กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาคบังคับคดี กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และวิชาเลือกถือว่ามีความสำคัญ เพราะทำให้เรามีความน่าสนใจในการไปสมัครเข้างาน และยังรวมไปถึงวิธีการค้นหากฎหมาย การตีความกฎหมาย
ด้านการเตรียมตัว ตั๋วทนายมีประโยชน์ในหลาย ๆ แง่ทั้งในแง่การไปสอบต่อ หรือไปทำงานอื่น ๆ ส่วนเนติบัณฑิต บางองค์กรก็ให้ความสำคัญที่อาจจะได้เงินเพิ่ม และข้อดีของการเรียนเนติบัณฑิตทำให้กรอบทางความคิดกว้างขึ้น ด้านปริญญาโทเป็นใบเบิกทาง ช่วยทำให้มีโอกาสสอบอะไรหลาย ๆ อย่างได้มากขึ้น และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
ในมุมของทักษะที่สำคัญ คือ การค้นคว้ากฎหมาย และมี Legal Mind รวมไปถึงการวิเคราะห์ตัวกฎหมาย และทักษะในการสื่อสาร การพูด การเขียน การอธิบาย ภาษามีความสำคัญมาก เพราะ ภาษาทำให้คนโดดเด่นมากขึ้น รวมถึงการที่ทำให้เข้าถึงโอกาส หรืองานได้มากขึ้น
ในส่วนของกิจกรรมมองว่าสำคัญโดยจะเห็น 3 ทักษะที่สำคัญจากบุคคลที่ทำกิจกรรมคือ 1. การจัดการเวลา เป็นการเรียงลำดับความสำคัญต่างๆของเวลา และความรับผิดชอบ 2. การแก้ไขปัญกาเฉพาะหน้า 3. การมีมนุษย์สัมพันธ์กับบุคคล ผู้ประกอบการต้องการทักษะ 4 อย่าง ประการแรก นักกฎหมายที่ใช้กฎหมายเป็น ประการที่สอง คนที่สามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ดี ประการที่สาม มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เสมอ ประการที่สี่ มีศิลปะในการสื่อสาร
คุณพิทวัส พิชญ์ชานน (รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.ปะนาเระ)
คุณพิทวัสสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปาง รหัส 54 และช่วงเรียนเนติบัณฑิต ตำรวจเปิดสอบพอดี และสามารถสอบได้โดยเป็นโควตาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้เข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยปัจจุบันเป็นร้อยตำรวจโท ดำรงตำแหน่งรองสารวัตร สภ.ปะนาเระ และได้ช่วยราชการที่งานสอบสวนภูธร ปัตตานี อีกทั้งผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้ทำงานเกี่ยวกับคดียาเสพติด และการยึดทรัพย์คดียาเสพติดที่สำคัญ ๆ ของจังหวังปัตตานี
คุณพิทวัสได้กล่าวถึงลักษณะงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถแบ่งงานที่ปฏิบัติเป็น 5 งานใหญ่ ได้แก่ งานสอบสวน งานจราจร งานอำนวยการ งานป้องกันปราบปราม งานสืบสวน ในส่วนของงานสอบสวน ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ตำรวจที่เป็นร้อยเวรรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องทำสำนวนทั้งหมดที่เกี่ยวของกับคดีอาญาทั้งหมด ไม่เพียงแต่ความผิดในประมวลกฎหมายอาญา แต่รวมไปถึงพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่มีในประเทศไทยที่กำหนดโทษทางอาญาไว้ และพนักงานสอบสวนจะทำหน้าที่รงบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อทำสำนวนว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง รวมไปถึงงานอื่นๆ เช่น การสันสูตรพลิกศพ การฝากขัง เป็นต้น ส่วนงานสืบสวน คุณพิทวัสได้กล่าวถึง คดียาเสพติดที่จะต้องเข้าไปจับค้น เป็นต้น โดยแรงบันดาลใจเกิดขึ้นจากที่บ้านของคุณ พิทวัส พิชญ์ชานนที่ครอบครัวประกอบอาชีพข้าราชการ ประกอบกับเข้ามาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วชอบในเนื้องานจึงตัดสินใจทำงาน
ข้อเสียของงานสอบสวนคือการทำงานค่อนข้างเครียด เพราะต้องมีการปะทะกับประชาชน และเรื่องเวลา โดยพนักงานสอบสวนจะมีเบอร์โทรศัดพท์ส่วนตัวแสดงออกมาในที่สาธารณะ ซึ่งจะมีผู้ติดต่อมาเสมอ บางครั้งก็มีสำนักข่าวโทรมาสอบถาม หรืออาจจะชาวบ้านติดต่อมาในระหว่างพักผ่อน ในส่วนข้อดี คือ ได้รับเงินเดือน และได้รับเงินประจำตำแหน่ง รวมไปถึงค่าตอบแทนในสำนวนการสอบสวน เฉลี่ยได้รับเงินเฉพาะค่าสำนวนประมาณ 15,000-20,000 บาท และยังมีรายได้อื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ค่าชันสูตรพลิกศพ เงินค่าเสี่ยงภัย เบี้ยเลี้ยง เป็นต้น และได้ทำงานเพื่อชาวบ้าน ชาวบ้านให้ความรักและนับถือ ซึ่งถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งในการทำงาน
ด้านผลกระทบของการแพร่ระบาดของ Covid-19 ราชการไม่ค่อยจะได้รับผลกระทบ และรูปแบบการทำงานแทบจะเป็นปกติ แต่อาจมีงานเพิ่มขึ้นจากการประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาล เพราะจะมีการจับบุคคลที่ฝ่าฝืนเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและเยาวชน และจะต้องมีการตรวจสอบการจับกุมทันทีภายใน 24 ชั่วโมงทำให้เวลาในการทำสอบสวนน้อยลง และรูปแบบการทำงานอาจมีการเปลี่ยนไปในแง่การประสานงานกับศาล
การเป็นพนักงานสอบสวนจะต้องมีคุณสมบัติประการแรกจะต้องจบปริญญาตรี และในเรื่องการเตรียมตัวสอบจะเน้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายลักษณะพยาน นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาทางปกครอง พ.ร.บ.ตำรวจ รวมไปถึงวิชาความรู้ทั่วไป คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ที่จะต้องเตรียมตัวเพื่อสอบ คะแนนมีผลต่ออันดับที่ได้และมีผลต่อตำแหน่งงาน หลังจากสอบภาคทฤษฎีจะต้องมีการสอบภาคปฏิบัติประกอบไปด้วย วิ่ง ว่ายน้ำ เมื่อผ่านกระบวนการรับเข้าทำงานแล้ว จะมีต้องไปอบรมที่โรงเรียนนายร้อย 5 เดือน และไปศึกต่ออีก 1 เดือน หลังจากนั้นต้องไปฝึกงาน 1 เดือน และอบรมต่อเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตในการสอบสวน ช่วงอบรมทั้งหมดก่อนทำงานเป็นพนักงานสอบสวนประมาณ 1 ปี วิชาที่อยากให้เน้นเพื่อเตรียมตัวคือ วิชานิติเวช วิชานิติวิทยาศาสตร์
คุณสกุลพงษ์ ตรีสมพงษ์ (นักวิชาการคดีรัฐธรรมนูญปฏิบัติการ)
คุณสกุลพงษ์สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง รหัส 54 เนติบัณฑิต และปริญญาโท ด้วยอยากเป็นข้าราชการ และสอบเข้ารับราชการอยู่หลายที่ และที่แรกที่บรรจุในตำแหน่ง นิติกร อยู่ที่สำนักงานสหกรณ์ จังหวัดน่าน รับราชการอยู่ที่น่าน 8 เดือน และพอดีที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกมาบรรจุจึงได้ลาออก และมาบรรจุที่ศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันรับราชการตำแหน่ง นักวิชาการคดีรัฐธรรมนูญปฏิบัติการ อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ลักษณะของงาน ศาลรัฐธรรมนูญสามารถแบ่งเนื้องานออกได้เป็น 2 โครงสร้างใหญ่ ๆ คือ โครงสร้างที่ 1 เป็นงานเกี่ยวกับการตัดสินคดี กล่าวคือ เป็นงานที่เกี่ยวของกับตุลาการทั้ง 9 ท่าน ส่วนโครงสร้างที่ 2 เป็นงานเกี่ยวกับการบริหารซึ่งจะเกี่ยวข้องกับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยส่วนใหญ่นักวิชาการคดีรัฐธรรมนูญจะรับผิดชอบในการช่วยดูแลคดีตั้งแต่คดีเกิดขึ้นจนกระทั้งสิ้นสุดโดยคำตัดสินของศาล ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ นับแต่ยื่นคำร้องไปตนถึงศาลมีคำพิพากษา ในส่วนของคุณสกุลพงษ์ ไม่ได้ทำงานรับผิดชอบคดีโดยตรง แต่เป็นในเชิงช่วยเหลือ ทำในเรื่องสนับสนุนข้อมูล เช่น การแปลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ การจัดทำรายงานข้อมูลของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น และรับคำร้องที่มายื่น กล่าวคือ ทำหน้าที่ตรวจคำร้องและให้คำแนะนำแก่ประชาชน รวมไปถึงการตรวจสอบคำพิพากษาถึงความถูกต้องก่อนจะมีการประกาศในราชกิจจาณุเบกษา และงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย ในส่วนของแรงจูงใจที่เลือกมาทำงานนักวิชาการคดีรัฐธรรมนูญปฏิบัติการ มีเหตุมาจากสมัยเรียนได้ลองไปฝึกงานที่สำนักงานทนายความและไม่ชอบ ประกอบกับยังอยู่ในช่วงของการค้นหาตัวเอง เลยตัดสินใจเดินสายงานทางข้าราชการ และพอดีกับโอกาสที่สอบได้โดยงานด้งกล่าวเป็นงานในเชิงวิชาการที่มีความชอบส่วนตัวในอยู่แล้วจึงจูงใจให้คุณสกุลพงษ์ ตัดสินใจทำงานเป็นนักวิชาการคดีรัฐธรรมนูญปฏิบัติการ
จุดเด่นในเรื่องแรกคือ ค่าตอบแทน ซึ่งมีเงินตอบแทนพิเศษนอกจากเงินเดือน ต่อมาในงานด้านวิชาการที่มีความเฉพาะด้าน แต่โดยสภาพแท้จริงของงานมีความกว้างมาก และเหมาะกับคนที่ชอบการเมือง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางทางการเมืองของประเทศ ในส่วนของจุดด้อยคือ ประการแรก เป็นการทำงานในเชิงรับ กล่าวคือ จะต้องมีการฟ้องต่อศาลเสียก่อน ประการที่สอง ในบางครั้งอาจจะมีประชาชนเข้ามาสอบถามข้อมูล ซึ่งประชาชนโดยทั่วไปไม่ได้มีความเข้าใจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการอธิบายเขตอำนาจของศาล และหน้าที่ของศาล ประการที่สาม องค์ความรู้ด้านของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ตกผลึก เนื่องจากยังคงเป็นศาลใหม่ เช่น การที่ประชาชนสามารถฟ้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ซึ่งจะไม่ค่อยมีแนวฎีกาหรือคำพิพากษาให้เดินตาม ส่วนใหญ่จะต้องศึกษาจากต่างประเทศประกอบ
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ไม่กระทบกับตัวเนื้องานมากนัก เนื่องจากศาลเป็นการทำงานอยู่ในที่ตั้ง แต่การทำงานก็ต้องมีการผลัดกันเข้างาน และอยู่ใต้สถานการณ์พิเศษ จึงอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการติดต่อประสานงาน กล่าวคือ ประชาชนอาจจะมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่หนึ่ง แต่ในวันต่อมาที่มาติดต่ออาจจะเป็นเจ้าหน้าที่คนใหม่ ทำให้อาจมีปัญหาเล็กน้อย
การเตรียมตัวเข้าสู่นักวิชาการคดีรัฐธรรมนูญปฏิบัติการ ให้เน้นไปในวิชาเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ เช่น วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรม และการทำงานทักษะที่สำคัญคือ การบรรยาย อธิบาย ในส่วนของกิจกรรมเป็นส่วนเพิ่มในแง่บริหารจัดการเวลา หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อีกทักษะที่สำคัญคือ ทักษะการสื่อสารและมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี และทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งในการเข้ามารับราชการต้องเริ่มต้นจากการสอบภาค ก และในสายงานรัฐธรรมนูญแม้ไม่จบเนติบัณฑิต หรือปริญญาโทก็สามารถสอบเข้าทำงานได้ ในส่วนความคาดหวังของนายจ้างต้องการนักกฎหมายที่สามารถค้นคว้าข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
คุณนันทวัฒน์ ทองช่วง (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ)
คุณนันทวัฒน์สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) รหัส 48 เนติบัณฑิต และได้รับการอบรมนายอำเภอรุ่นที่ 78 สมัยเรียนปริญญาตรีได้มีการเรียนคณะรัฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชควบคู่ไปด้วย และเรียนจบก่อนคณะนิติศาสตร์ หลังจากนั้นมีรุ่นพี่ชักชวนให้มาสอบปลัดอำเภอ ปรากฏว่า สอบได้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ปี 4 คณะนิติศาสตร์ แต่เนื่องจากปลัดอำเภอจะเรียกตามกรอบอัตราที่ว่างในแต่ละรอบ ซึ่งพอดีกับที่เรียนจบคณะนิติศาสตร์ จึงไปทำงานเป็นปลัดอำเภอก่อน ที่แรกที่ไปบรรจุคือ แม่สอด จังหวัดตาก และต่อมาย้ายมาทำงานที่จังหวัดชลบุรี โดยที่งานของปลัดอำเภอมีความหลากหลายเลยได้ไปปฏิบัติงานเป็นเลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และต่อมาสามารถสอบชำนาญการพิเศษได้ และได้มีการเปลี่ยนสายงานแต่ยังมีลักษณะเดิม
ลักษณะงานว่า งานปลัดอำเภอสามารถมองได้ใน 3 มิติ คือ มิติแรก เป็นการทำงานในเชิงนโยบาย กล่าวคือ เป็นการทำงานตามนโยบาย เช่น เรื่องเงินเยียวยา 5000 บาท เป็นต้น ในส่วนนี้ปลัดอำเภอ นายอำเภอจะต้องรวมกันทุกภาคส่วนในการทำงานให้สำเร็จตามนโยบาย มิติที่สอง เป็นการทำงานในเชิงอำนาจหน้าที่ กล่าวคือ เป็นการทำงานตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เช่น สอบสวนคดีอาญา ไกล่เกลี่ยทางแพ่ง เป็นต้น มิติที่สาม เป็นการทำงานในเชิงพื้นที่ กล่าวคือ ปลัดอำเภอจะมีพื้นที่ที่จะต้องรับผิดชอบดูแล ซึ่งในแต่ละคนจะมีพื้นที่รับผิดชอบเป็นของตัวเอง และคุณ นันทวัฒน์ ทองช่วง มีแรงบันดาลใจมาจากกลักษณะของงานที่เป็นการทำงานในเชิงรุก ที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีแม้ไม่มีนโยบายก็ตาม อีกทั้งยังเป็นตำแหน่งที่มีความคาดหวังจากประชาชน และหน่วยงานข้างเคียง
จุดเด่นของฝ่ายปกครอง คือจะมีลักษณะเป็นผู้นำของหน่วยงานในการทำงานต่าง ๆ การประสานงานพื้นที่ และเป็นการรวมคนได้หลายมิติมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการทำงานเชิงรุกที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที แต่จุดด้อยในแรกคือ เรื่องของเวลา และวันหยุดเทศกาลต่าง ๆ เพราะ ต้องเฝ้าระวังเหตุการณ์ต่าง ๆ และการดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ จึงไม่มีโอกาสจะได้ใช้เวลาในช่วงวันหยุด ในเรื่องที่สอง การสะสมความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะ งานปลัดอำเภอมีหน้าที่รับผิดชอบงานหลากหลาย ทำให้มีการโยกย้ายไปทำงานได้หลายภาคส่วนทำให้เกิดความไม่เชี่ยวชาญแต่ละด้านและอาจมีปัญหาต่อประชาชนที่มารับบริการ
ด้านผลกระทบของการแพร่ระบาดของ Covid-19 อาจจะไม่ได้รับผลกระทบในเนื้องาน แต่อาจจะกระทบในรูปแบบของการทำงาน ซึ่งก่อนการแพร่ระบาด จะมีการรวมตัวของประชาชน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันไม่สามารถรวมตัวได้ ซึ่งในการรวบรวมข้อมูลมีการทำรูปแบบของแพลตฟอร์ม ซึ่งคุณนันทวัฒน์มองว่าเป็นข้อดี เนื่องจากมีการพัฒนาระบบให้มีความทันสมัยมากขึ้น มีการจัดระบบระเบียบข้อมูลง่ายต่อการนำไปใช้งาน แต่ในบางครั้งเรื่องของการทำงานจะต้องมีการลงพื้นที่ จะมีอุปกรณ์เสริม ส่วนในงานเรื่องการขอใบอนุญาตแทบจะหยุดทั้งหมด ส่วนใหญ่จะเป็นในการเชิงประสานงาน การตรวจคัดกรองบุคคล การทำข้อมูลคนเข้าออกพื้นที่ เป็นต้น
การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วิชาชีพ หลักกฎหมายที่สำคัญ คือกฎหมายปกครอง ซึ่งฝ่ายปกครองจะต้องมีการออกคำสั่งทางปกครอง การทำงานต่าง ๆ โดยจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายอยู่หลายส่วน ในส่วนทักษะที่สำคัญที่กรมมีการคาดหวังในการที่จะมาทำงานฝ่ายปกครองโดยประการแรก จะต้องเป็นนักประสานในพื้นที่ ประการที่สอง มีจิตสำนักในการบริการประชาชน ประการที่สาม มีภาวะความเป็นผู้นำ และมีคุณธรรม ประการที่สี่ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีการทำงานเป็นทีม ยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ มีศิลปะในการสื่อสารให้ได้ผลสัมฤทธิ์ ในการเข้าสู่ตำแหน่งงานนั้นจะเริ่มต้นจาก การสอบภาค ก และสอบภาค ข และภาค ค ซึ่งปลัดอำเภอใช้กฎหมายหลากหลายมาก เช่น พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ร.บ.โรงแรม พ.ร.บ.โรงรับจำนำ เป็นต้น หากสอบผ่านแล้วจะมาจัดเรียงตามลำดับ และมีการเรียกตามบัญชี
คุณวีรพจน์ ตลอดสุข (ทนายความอิสระ)
คุณวีรพจน์สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง รหัส 55 ประวัติการทำงาน ประกอบอาชีพทนายความมาตลอด มีการเปลี่ยนสำนักงานหลายที่ ปัจจุบันออกมารับว่าความด้วยตนเอง
ลักษณะงานของอาชีพทนายความ เริ่มต้นตั้งแต่ชั้นก่อนฟ้อง ชั้นพิจารณา และชั้นบังคับคดี อาจจะกล่าวได้ว่า ได้ทำทุกขั้นตอนของกระบวนการดำเนินคดี และยังทำงานเกี่ยวกับรับจดทะเบียนบริษัท จดเครื่องหมายการค้า โดยคุณวีรพจน์ มีแรงบันดาลใจตั้งแต่สมัยยังเรียนเป็นนักศึกษา ซึ่งลักษณะเป็นคนชอบพูดคุย ขณะที่เรียนอยู่ก็ได้เป็นพิธีกรของคณะนิติศาสตร์ ประกอบกับเคยฝึกงานเป็นในสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง และเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ อีกทั้งอาชีพทนายความเป็นงานที่ไม่จำเจ ได้เห็นทางปฏิบัติที่แท้จริงนอกจากตัวบทกฎหมาย
ด้านข้อเสีย ประการแรกคือ รายได้ไม่มั่นคง เพราะไม่มีเงินเดือนประจำ ไม่มีงานที่แน่นอน ประการที่สอง มีความเครียด เพราะแบกความคาดหวังจากลูกความ ประการที่สาม ใช้ระยะเวลาในการฝึกฝนตัวเอง เพราะในภาคปฏิบัติอาจจะไม่เหมือนในทฤษฎี ประการที่สี่ เรื่องการวางตัว และความเสี่ยง เพราะในบางครั้งเราอาจไปเจอคดีที่มีความยุ่งยาก หรือเป็นคดีเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพล การวางตัวเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน ประการที่ห้า เรื่องเวลาส่วนตัว อาจจะไม่มีเวลาส่วนตัวมากนัก เพราะการเป็นทนายความต้องอาศัยเวลา อาศัยประสบการณ์ และความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆที่หลากหลาย ส่วนในแง่ของข้อดี ประการแรกคือ ทนายความเป็นการใช้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่หลากหลาย และจะต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นความสนุกของงานที่จะไม่ใช่งานที่มีความจำเจ ประการที่สองคือ มีความอิสระ และหลากหลายในการรับงาน ประการที่สามคือ ความสุขทางใจที่ได้ทำงาน เพราะได้เห็นรอยยิ้มของลูกความ ประการที่สี่คือ ถ้าเป็นทนายความในระดับหนึ่ง เราอาจจะสามารถเรียกค่าทนายความได้ตามสมควร
ด้านผลกระทบของการแพร่ระบาดของ Covid-19 ไม่ได้รับผลกระทบเพราะส่วนตัวทำงานที่บ้านอยู่แล้ว แต่อาจจะมีความยุ่งยากในเชิงของการติดต่อหน่วยงานราชการ เช่น การคัดทะเบียนราช เป็นต้น และการที่ศาลมีการเลื่อนนัดออกไป ทำให้คดียังไม่แล้วเสร็จและรวมกันเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีระยะเวลาทำงานที่จำกัดขึ้น เมื่อคดีมีการเลื่อนไปทำให้รายได้ที่จะได้รับมีการเลื่อนไปด้วย ส่วนรูปแบบการทำงานก็มีข้อจำกัดในส่วนของการทำงานที่สถานที่มีการปิดทำให้จะต้องมีการประชุมคดีทางออนไลน์ และเกิดปัญหาในแง่ไม่เห็นเอกสารหรือข้อมูลจริงๆ ส่วนการรับมือก็มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน แต่ก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ส่วนการเตรียมตัวที่จะประกอบอาชีพทนายความ สิ่งที่ต้องเน้นคือ วิชากฎหมายทุกตัว และเน้นหนักที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในภาพของนายจ้างต้องการนักกฎหมายที่มีความรู้ด้านกฎหมายประมาณหนึ่ง และจากประสบการณ์ที่ได้พบมา เห็นว่า วิชากฎหมายแรงงานมีความสำคัญ เนื่องจากอาจจะเจอในชีวิตประจำวันได้เยอะ หากต้องการเป็นทนายความเริ่มต้นจะต้องได้อนุปริญญาก่อน และจะมีให้เลือกตั๋วรุ่น กับตั๋วปี โดยตั๋วรุ่นจะต้องสอบภาคทฤษฎีให้ผ่าน และต้องฝึกงานอีก 6 เดือน ในส่วนของตั๋วปีจะต้องผ่านการฝึกงานมา 1 ปี หลักการคราวๆประมาณนี้ ในส่วนของผลสอบภาษาอังกฤษมีความจำเป็นในส่วนของลอว์เฟิร์ม และกิจกรรมในความเห็นของพี่มีความจำเป็น เพราะจะทำให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี และได้รู้จักผู้คน