บทสัมภาษณ์สาริสา ชุติณบดินทร์ (เฟย์) ปวีณาจิรัสย์ นักเทศน์ (แอม) และธนาภรณ์ วัฒนานนท์ (ป่าน) ผู้ชนะเลิศการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์ ระดับประเทศ ครั้งที่ 7 ประจำปีการศึกษา 2563 จากทีมมหาวิทยาลัยรามคำแหง สัมภาษณ์โดยผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
(จากซ้ายไปขวา) สาริสา ชุติณบดินทร์ (เฟย์) ปวีณาจิรัสย์ นักเทศน์ (แอม) และธนาภรณ์ วัฒนานนท์ (ป่าน)
คำถาม (1) : เหตุผลในการสมัครเข้าแข่งขัน
สาริสา : “ปกติแล้วเฟย์ไม่ค่อยพูดและพูดไม่เก่งแต่เห็นว่าในการทำงานต่าง ๆ การสื่อสารกับคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญ เฟย์อยากพัฒนาในเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องเอกสารด้วยเพราะอาชีพที่เฟย์อยากทำต้องเจอเอกสารอีกมาก และการแข่งขัน moot court นี้ก็น่าสนุกมากค่ะ”
“อีกเหตุผลหนึ่งคือ ตอนนี้เฟย์ยังเป็นนักศึกษาอยู่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน เพราะฉะนั้น จึงไม่มีใครทราบเลยว่าเราทำงานได้จริง ๆ หรือเปล่า เฟย์ต้องการสิ่งที่มารับรองว่าเรามีความสามารถ มีศักยภาพ ทำงานร่วมกับคนอื่นได้”
ปวีณาจิรัสย์ : “สำหรับแอมคือรู้สึกว่ารายการนี้เป็นรายการที่ท้าทายมากเลยค่ะ เพราะอย่างตานปี 1 แอมก็เห็นรุ่นพี่ที่แข่งแล้วมีความรู้สึกว่าเป็นรายการที่ต้องมีครบทุก Skills จริงๆ ซึ่งตอนแรกยอมรับเลยค่ะว่ามีความกลัวและไม่กล้าที่จะแข่งเลย เพราะแอมทั้งทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ถ้ามาทำกิจกรรมนี้ก็กลัวจะบางเวลาได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่แอมโชคดีที่มีเพื่อนคอย support และคอย cheer up ว่าแอมสามารถแข่งรายกานนี้ได้ จนพอเพื่อนๆและคนรอบข้างเริ่ม cheer up เราบ่อยๆ แอมเลยเกิด challenge กับตัวเอง และก็คิดว่าอยากลองดูสักครั้ง เพราะอยากได้ประสบการณ์และอยากพัฒนาตัวเองด้วยค่ะ แอมเลยตัดสินใจเข้าคัดเลือกเพื่อเป็นตัวแทนของของมหาวิทยาลัยรามคำแหงค่ะ”
ธนาภรณ์ : “ส่วนตัวป่านเลือกที่จะมาสมัครแข่งขัน moot court เพราะอยากจะลองหาประสบการณ์ทางด้านกฏหมายที่มีการนำกฎหมายมาใช้ โดยให้มีความใกล้เคียงกับการทำงานในอนาคต และมีความเข้าใกล้กับสิ่งที่เราต้องใช้ในวิชาชีพนักกฎหมายมากที่สุด”
“ซึ่งพอมาลองนั่งพิจารณาดูแล้ว การแข่งขัน moot court นั้นเป็นการแข่งขันที่ต้องใช้ทักษะการพูด และทักษะทางด้านกฎหมายที่ต่างไปจากการเรียนกฏหมายในชั้นป.ตรีเป็นอย่างมาก เพราะตอนป่านเรียนกฎหมายนั้น จะเป็นการเรียนทฤษฎี หลักกฎหมาย ผลของทางกฎหมาย ซึ่งจะยังไม่เห็นภาพของของการประยุกต์ใช้กฎหมายในคดีที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันมากเท่าที่ควร จึงทำให้ตัดสินใจมาสมัครเข้าแข่งขัน moot court รายการนี้ค่ะ”
คำถาม (2) : รู้จักรายการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายที่จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ฯ มาก่อนไหม
สาริสา : “รู้จักจากการที่รุ่นพี่ทีมรามฯ ไปแข่งเมื่อปีที่แล้ว ๆ มาค่ะ”
ปวีณาจิรัสย์ : “รู้จักมาก่อนค่ะ เพราะเป็นรายการที่แอมเคยเห็นรุ่นพี่แข่งมาก่อน อีกทั้งก็ได้ติดตามทั้งรอบคัดตัวภายในและรอบแข่งกับทีมต่างมหาลัยด้วยค่ะ”
ธนาภรณ์ : “ป่านรู้จักมาก่อนค่ะ เพราะปกติป่านชอบติดตามรายการแข่งขันที่จัดขึ้นโดยศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้เห็นการแข่งขันอยู่เสมอ จนทำให้อยากลองมาหาประสบการณ์จากการแข่งขัน`moot court เลยล่ะค่ะ”
คำถาม (3) : มีวิธีการทำงานร่วมกันอย่างไร เนื่องจากไม่เคยแข่งร่วมกันในรอบภายในมาก่อน
สาริสา : “มีการทำความรู้จักกันก่อนทำ memo และการแข่งขันครั้งนี้ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน มีแหล่งข้อมูลไหนดี ๆ ก็มาแบ่งปันกันอ่าน เปิดใจรับฟังกัน การทำงานร่วมกันจึงไม่ใช่เรื่องยากค่ะ”
ปวีณาจิรัสย์ : คือตั้งแต่แอมรู้ผลว่าเรา 3 คนได้เป็นตัวแทนของรามคำแหงแอมก็เริ่มสร้างกรุ๊ปไลน์และพยายามคลอหากันทั้ง 3 คนตลอด เพื่อพูดคุยให้เกิดความคุ้นเคยและสนิทกันมากขึ้นก่อนค่ะ เพราะด้วยสถานการณ์โควิดเลยไม่สะดวกที่จะนัดเจอกันบ่อยได้ พอเริ่มสนิทกันมากขึ้นเราก็จะมีการคุยถึงเรื่องเป้าหมายของการแข่งครั้งนี้ค่ะ และพวกเรามีข้อตกลงที่ทำร่วมกันขึ้นมาว่า “พวกเรา 3 คนจะเต็มที่ที่สุด มีปัญหาอะไรพวกเราก็จะช่วยกันแก้ไขกันให้ดีที่สุด และจะรับฟังเหตุผลของกันและกันเสมอ โดยพวกเราสามารถพูด แนะนำ หรือตักเตือนกันได้โดยที่จะเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกันโดยไม่มีอคติ เพราะทุกอย่างที่ทำ พวกเราทุกคนจะทำเพื่อให้ทีมของเราออกมาดีที่สุด” ด้วยเหตุนี้พวกเรา 3 คน จึงสามารถ discuss กันได้อย่างเต็มที่ เพราะเราสามารถพูดกันได้อย่างตรงไปตรงมาแบบที่ให้เกียรติกันด้วย พอเรา 3 คนยอมรับและเข้าในข้อตกลงนี้มันเลยทำให้พวกเราทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นและเต็มที่ และมีความสุขไปด้วยในระหว่างทางที่ทำกิจกรรมนี้ค่ะ”
ธนาภรณ์ : “การทำงานของทีมป่านเองจะมีการแบ่งหน้าที่ทำงานชัดเจน และจะมีการพูดคุยกันอยู่เสมอ ซึ่งเวลาที่เราเริ่มทำงานเราจะมีการตกลงกัน ว่าใครจะรับหน้าที่ในการทำอะไร ยิ่งมีความชัดเจนในการทำงานมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้การทำงานมันง่าย และราบรื่นมากยิ่งขึ้น และอีกสิ่งหนึ่ง คือ การพูดคุยกันแลกเปลี่ยนแนวความคิดกัน เพื่อให้ทีมมีความเข้าใจที่ตรงกัน ไม่หลุดประเด็นที่ได้มีการคุยกันไว้มาตั้งแต่ต้น”
คำถาม (4) : การเตรียมตัวก่อนเข้าแข่งขันทำอย่างไรบ้าง
สาริสา : “ซ้อม ซ้อม และซ้อมเยอะมาก ๆ ค่ะ ต้องมีความคิดว่าเราจะต้องพัฒนาตัวเอง ในการซ้อมจะเห็นจุดที่ยังไม่ดีของเรา ชองเฟย์ก็จะเป็นเรื่องแถลงเป็นข้อกฎหมายเกินไปทำให้คนฟังไม่รู้ว่าเราจะสื่ออะไรและเนื้อเสียงที่พูดยังไม่ค่อยดี ก็ซ้อมเรื่อย ๆ จนพัฒนาขึ้น และในอนาคตก็จะต้องพัฒนาขึ้นอีกค่ะ”
ปวีณาจิรัสย์ : “ลำดับแรกเลย คือแอมเตรียมตัวโดยการศึกษาจากวีดีโอการแข่งขันของปีก่อนๆเลยค่ะว่าแต่ละทีมมีการแถลงเป็นยังไง มีการวางลำดับขั้นในการแถลงยังไง และท่านคณะกรรมการมีการแนะนำอะไรไว้บ้างในแต่ละปีเพื่อจะนำมาพัฒนาในแบบฉบับของตัวแอมเองค่ะ ต่อมาก็จะมาฝึกพูดค่ะ เพราะระหว่างรอให้ถึงวันแข่ง เราไม่สามารถรู้มาก่อนได้เลยว่าโจทย์จะออกมาในรูปแบบไหน หรือจะใช้กฎหมายอะไรบ้าง ดังนั้นสิ่งที่แอมคิดว่าเราสามารถเตรียมตัวรอได้เลยคือเรื่องของการฝึกพูดค่ะ ดูว่าน้ำเสียงเราเป็นยังไง มีน้ำหนักเสียงมากน้อยแค่ไหนและต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร และต่อมาแอมก็จะฝึกพูดกับกล้องค่ะ โดยจะอัดวีดีโอเอาไว้ดูด้วย ซึ่งในส่วนนี้เพื่อที่แอมจะได้ดูบุคลิกภาพโดยรวมของตัวเอง เช่น การใช้มือประกอบท่าทาง การยืน และที่สำคัญคือการมองกล้องหรือมองกรรมการค่ะ”
ธนาภรณ์ : “อย่างของป่านเอง จะใช้วิธีการย้อนกลับไปดูวิดีโอการแข่งขันในปีก่อนหน้า แล้วทำการศึกษาแนวทางการแข่งขัน ทั้งการแถลงการณ์ การยกข้อต่อสู้ น้ำเสียงที่ใช้ และท่าทางประกอบขณะแถลงการณ์ เพื่อจะได้นำมาซ่อมแซมจุดบกพร่องที่อาจะเกิดขึ้นในการแข่งขัน และอีกหนึ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลย นั้นคือ ความเชื่อมั่น เชื่อมั่นว่าเราทำได้ ทำให้สุดความสามารถที่เรามี แล้วสิ่งที่เราคาดหวังจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่า เพราะความคิดของคนเรานั้นมีผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กับการกระทำของเราเป็นอย่างมาก”
คำถาม (5) : วิธีการเตรียมการเขียน memo ทำอย่างไร
สาริสา : “แบ่งงานเป็นส่วน ๆ ค่ะ ในการหาข้อมูลทำ memo คนแถลงจะมีคนนึงทำของฝ่ายโจทก์เป็นหลัก อีกคนนึงทำของฝ่ายจำเลยเป็นหลัก หาทั้งจุดเด่นจุดด้อยของฝ่ายตัวเอง พยายามแก้จุดด้อยของตัวเองและเอาจุดด้อยของฝ่ายตัวเองไปใส่เป็นจุดเด่นของฝ่ายตรงข้าม ส่วนเพื่อนที่ไม่ได้แถลงจะช่วยซัพพอร์ตทั้งหมดทำทั้งสองฝ่ายเท่า ๆ กัน แล้วเอาข้อมูลมาแชร์กัน ถกเถียงกันอีกทีค่ะ”
ปวีณาจิรัสย์ : “ลำดับแรกเลยคือการอ่านโจทย์ให้เข้าใจจริงๆก่อนค่ะ อ่านซ้ำๆ อ่านหลายๆรอบ เพราะแน่นอนว่าโจทย์ค่อนข้างซับซ้อนและมีหลายตัวละครและมีการเชื่อมโยงกฎหมายเยอะค่ะ และเราจะแยกกันทำก่อนค่ะ โดยพวกเรา 3 คน จะต่างทำ chart แยกประเด็นเป็นของตัวเอง ซึ่งจะให้เวลาในการทำประมาณ 2-3 วันค่ะ พอทำเสร็จพวกเราก็จะเอา chart นั้นมาแชร์กันและดูว่าแต่ละคนได้ประเด็นอะไรมาบ้าง ซึ่งก็มีทั้งประเด็นที่ตรงกันและไม่ตรงกันบ้าง แต่การที่ได้ประเด็นที่ไม่ตรงกันนี้แหละค่ะมันทำให้เรานำไปต่อยอดกันได้เยอะมาก ซึ่งสิ่งสำคัญในการเขียน memo สำหรับแอมคือต้องเขียนให้คนอ่านเข้าใจง่าย แบ่งประเด็นให้ชัดเจน และกระชับ เพราะกติการการแข่งนั้นมีการกำหนดจำนวนตัวอักษรเอาไว้ค่ะ และที่สำคัญเลยก็คือพวกเรามีอาจารย์ดูแลทีมและได้รุ่นพี่ที่แข่งปีที่แล้วมาช่วยให้คำแนะนำเป็นแนวทางในการเขียน memo ด้วยค่ะ”
ธนาภรณ์ : “ตัวป่านเองมองว่าการทำ memo ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับการใช้ภาษาในการเขียน ป่านจึงเลือกที่จะสอบถามพี่ๆ เพื่อนๆที่มีประสบการณ์การแข่งขัน moot court และศึกษาการทำ memo จากเว็บไซต์ของทางศูนย์นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ค่ะ ซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าวจะมีนำการmemo ของผู้เข้าแข่งขันรอบภายในของทางมธ.จากปีที่ผ่านมา มาโพสไว้ แล้วจึงทำการศึกษาเพื่อที่จะหาแนวทางการเขียน และการอธิบายได้อย่างถูกต้อง แต่ยังคงต้องอาศัยการเขียนที่เป็นภาษาสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย”
คำถาม (6) : ปัญหาในการแข่งขันมีอะไรบ้าง
สาริสา : “การหาข้อมูลนอกจากในอินเตอร์เน็ตแล้วเราอยากได้จากในหนังสือด้วย ปัญหาหลักเลยเป็นเรื่องหนังสือพอเป็นช่วงโควิดแล้วห้องสมุดปิดก็จำเป็นจะต้องซื้อหนังสือกันเองทั้งหมด แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอเท่าไรนัก เฟย์คิดว่าถ้ามีหนังสือที่หลากหลายแบบห้องสมุดจะสามารถทำงานได้ดีขึ้นค่ะ”
ปวีณาจิรัสย์ : “ปัญหาที่เจอก็จะเป็นเรื่องสถานการณ์โควิดค่ะ เพราะพอเกิดสถานการณ์ขึ้นมาเลยทำให้นัดเจอกันยาก หรือนัดเจอกันแต่ละครั้งก็ต้องระวังตัวกันมากๆ เพราะการออกมาช่วงนี้ก็ค่อนข้างที่จะติดเชื้อโควิคค่ะ และอีกปัญหาที่เจอก็อาจจะเป็นเรื่องการมองข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายกันคนละมุมบ้างค่ะ”
ธนาภรณ์ : “ปัญหาที่เกิดขึ้นในการแข่งขันที่พบ คือ การหาข้อยุติทางข้อกฎหมายของภายในทีม เพราะแต่ละคนจะมีการทำประเด็น และให้เหตุผลทางกฎหมายที่แตกต่างกันแม้จะเป็นในแนวทางเดียวกันก็ตาม ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราสามารถหาข้อยุติข้อกฎหมายได้เสมอ นั้นคือ การรับฟังกัน และมองถึงคำตอบที่ดีที่สุดในการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา”
“และอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ การเลื่อนการแข่งขันที่เกิดมาจากระบาดของโควิด ซึ่งทำให้บางครั้งมีช่วงเวลาการแข่งขันที่ใกล้เคียงกับการสอบอย่างมาก จึงต้องมีการแบ่งเวลามาทำการแข่งขัน กับอ่านหนังสือสอบไปพร้อมๆกัน เหมือนเป็นการฝึกให้ตัวป่านเองเป็นคนที่มีความรับผิดชอบไปในตัวด้วยเลยล่ะค่ะ”
คำถาม (7) : คิดว่าทักษะที่จำเป็นในการแข่งขันมีอะไรบ้าง
สาริสา : “การพูด การอ่าน การตีความ การสื่อสาร การหาข้อมูลทางกฎหมาย ไหวพริบในการแก้ปัญหา”
ปวีณาจิรัสย์ : “สำหรับแอมคิดว่าคือทักษะเรื่องการวางแผน การพูด และการใช้กฎหมายค่ะ ทักษะเรื่องการพูดในการแข่งคือต้องเป็นการพูดที่คล่องไม่ติดขัด และเป็นการพูดที่มีจังหวะเพื่อให้คณะกรรมการหรือผู้รับชมการแข่งเข้าใจได้ง่ายและฟังตามทัน และรวมถึงการใช้ภาษาด้วยนะคะ ส่วนเรื่องการใช้กฎหมายนั้นเปรียบเทียบได้ชัดเลยจากตอนเรียน คือตอนเรียนเราจะเรียนเป็นรายวิชาไป สอบเป็นรายวิชาไปเลย แต่การแข่งขันนี้คือเป็นการนำกฎหมายเชื่อมโยงกันเยอะมาก โดยที่เราต้องใช้ทักษะในการแยกแยะเองค่ะว่าโจทย์ให้อะไรเรามาบ้าง โจทย์ต้องการอะไร และเชื่อมถึงกฎหมายอะไรบ้าง ต้องวิเคราะห์ให้มากที่สุดเพื่อที่จะจำกฎหมายมาปรับใช้ได้อย่างตรงจุดที่สุด ซึ่งแน่นอนค่ะว่าทั้ง 2 ทักษะนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีการวางแผนที่ดีก่อนค่ะ”
ธนาภรณ์ : “ทักษะการพูด ทักษะการค้นหาข้อมูล และทักษะการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นค่ะ เพราะนอกจากที่ต้องทำการค้นข้อมูลวิชาการทางด้านกฎหมายที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อมาสนับหนุนข้อต่อสู้แล้ว การนำเสนอต่อศาลโดยการแถลงณ์ด้วยวาจาก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน แม้เราจะมีเหตุผลที่ดี หรือน่าเชื่อถือแค่ไหนก็ตาม แต่หากไม่สามารถแถลงการณ์ให้ศาลเข้าใจถึงเหตุผลที่แท้จริงได้ ก็อาจจะทำให้ประเด็น หรือเหตุผลอันนั้นตกหล่นไปได้ และการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นถือว่าเป็นทักษะที่ควรต้องมี เพราะในเวลาการทำงานจริง เราไม่ได้ทำงานคนเดียว เราจะต้องทำงานกันเป็นทีม และต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในขณะทำงาน ป่านมองว่านอกจากทักษะทางด้านวิชาการที่เราต้องมีแล้ว เราควรต้องมีทักษะการใช้ชีวิตประกอบอยู่เสมอ”
คำถาม (8) : คิดอย่างไรกับรูปแบบการแข่งขัน โจทย์เดียวตลอดการแข่งขัน และเก็บคะแนน
สาริสา : “ชอบมาก ๆ ค่ะ เพราะในการแข่งรอบหลัง ๆ จะได้ไม่ต้องไปเริ่มทำ memo ใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม memo เดิมให้ดีขึ้น เราก็จะมีเวลาในการซ้อมพูดมากขึ้น จัดการเวลาได้ดีขึ้น ทั้งตัวผู้เข้าแข่งขันเองและผู้จัดน่าจะได้เห็นพัฒนาการตรงนี้ค่ะ”
ปวีณาจิรัสย์ : “ส่วนตัวเลยคือแอมชอบการแข่งขันแบบโจทย์เดียวแบบนี้นะคะ เพราะแอมว่ามันทำให้ผู้แข่งขันสามารถเจาะลึกและหาข้อมูลในแต่ละประเด็นของโจทย์นั้นๆได้อย่างเต็มที่จริง ๆ ค่ะ”
ธนาภรณ์ : “จริงๆป่านว่ามันมีความตื่นเต้นนะคะ คือ พอมันมีแค่โจทย์เดียวมันจะยิ่งมีความซับซ้อน และมีแนวทางคำตอบได้หลายรูปแบบ มันยิ่งทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำตอนนี้มันเป็นคำตอบที่ถูกต้องหรือยังนะ จนทำให้ต้องมีการค้นคว้าข้อมูลด้านกฎหมายที่เยอะมากเพื่อมาสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา ส่วนเรื่องของการเก็บคะแนนคัดเลือกในรอบแรก รอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ ยิ่งทำให้ตื่นเต้นขึ้นไปอีก เพราะเป็นการ คิดคะแนนรอบต่อรอบ ไม่ใช่การสะสมคะแนน ซึ่งทำให้รู้สึกลุ้น และท้าทายไปพร้อม ๆ กันเลยล่ะค่ะ”
คำถาม (9) : สิ่งที่ได้รับจากการแข่งขัน
สาริสา : “ได้ประสบการณ์ที่ดีมาก ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง กล้าแสดงออก ได้เรียนรู้วิธีการหาข้อมูลทางกฎหมายก่อนจะไปฝึกงานหรือทำงานจริงซึ่งเฟย์ต้องการสิ่งนี้มาก ทั้งยังได้คำแนะนำที่ดีจากท่านกรรมการ ได้เพื่อนร่วมทีมและเพื่อนต่างมหา’ลัยที่ดี ได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ค่ะ”
ปวีณาจิรัสย์ : “สำหรับแอมคือได้ประสบการณ์และทักษะในการพัฒนาตัวเองเยอะมากเลยค่ะ ซึ่งแอมรู้สึกเป็นเกีรติมากๆที่ครั้งนึงแอมเคยได้แถลงการณ์และได้รับคำแนะนำดีๆจากท่านผู้พิพากษา ท่านอัยการ หรือท่านทนายความที่ทั้งเก่งและเป็นแบบอย่างที่ดี และที่สำคัญเลยก็คือได้เอาชระความกลัวของตัวแอมเอง เพราะอย่างที่บอกก่อนน่านั้นว่าแอมกลัวที่จะลงแข่งรายการนี้มาก เพราะกลัวจะพูดไม่ดีหรือทำไม่ได้ จนพอได้มาร่วมแข่งกิจกรรมนี้เข้าจริงๆแล้วมันทำให้แอมเรียนรู้ที่จะเอาชนะความกลัวเหล่านั้นมาได้ค่ะ”
ธนาภรณ์ : “สิ่งที่ป่านได้รับการจากการแข่งขัน คือ ประสบการณ์จากการทำงานในขณะการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการ และต้องมีการปรับมุมมองให้เป็นของฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลยเพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกความหรือผู้เสียหาย และอีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับ คือ มิตรภาพที่ดีจากเพื่อนที่เข้าร่วมการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนในทีมเดียวกัน หรือจะเป็นคนละทีมก็ตาม”
คำถาม (10) : ฝากถึงผู้เข้าแข่งขันในปีนี้
สาริสา : “เป็นกำลังใจให้ผู้เข้าแข่งขันทุกท่านและทุกมหา’ลัย ทุกท่านมีศักยภาพขอให้ดึงมันออกมาใช้ให้เต็มที่ การแข่ง moot court สนุกมาก ทุกท่านจะต้องภูมิใจในตัวเองแน่นอนค่ะ”
ปวีณาจิรัสย์ : “ผู้เข้าแข่งขันในปีนี้ทุกท่านเก่งกันมากๆเลยค่ะ ทุกทีมมีศักยภาพมากๆ แอมดีใจที่ได้มาร่วมทำกิจกรรมกับคนเก่งๆแบบนี้ ขอขอบคุณผู้เข้าแข่งขันจากทุกทีมเลยนะคะที่ได้มาร่วมกันทำให้กิจกรรมนี้มีความสนุกและมีคุณภาพจากความสามารถของทุกคน มันเป็นประสบการณ์ที่ดีและแอมขอแสดงความยินดีกับทุกทีมด้วยนะคะ และขอฝากถึงคนที่ยังไม่เคยแข่งขันรายการนี้ด้วยค่ะว่ารายการนี้เป็นรายการที่จะทำให้ทุกคนพัฒนาตัวเองได้อย่างแท้จริง และเป็นอีกประสบการณ์ที่ดีในชีวิตมหาลัยเลยค่ะ แอมอยากให้ทุกคนเก็บเกี่ยวเอาไว้นะคะ และสิ่งสำคัญเลยก็คืออย่าไปกลัวและขีดเส้นจำกัดความสามารถของตัวเองไว้ก่อนนะคะ อย่าไปกังวลว่าเราจะทำไม่ได้ถ้ายังไม่ได้ลองทำ อย่าไปกลัวว่าเราจะยังไม่เก่งพอที่จะลงแข่งหรือเปล่า เพราะแอมก็เป็นที่กลัวจนเกือบจะไม่ได้ลงแข่งมาแล้ว แอมอยากให้ทุกคนเชื่อในตัวเองค่ะว่าทุกคนทำได้ ถ้ารู้จุดบกพร่องตรงไหนก็แก้ไขให้มากที่สุด พัฒนาตัวเองให้เหมาะสมกับสิ่งที่เราต้องการให้มากที่สุด เพราะนอกจากจะได้ประสบการณ์และทักษะต่างๆแล้วเราจะได้ความภูมิใจในตัวเองที่สามารถเอาชนะความกลัวเหล่านั้นมาได้ด้วยค่ะ และสุดท้ายนี้แอมอยากขอขอบคุณทางคณะผู้จัด คือ ศูนย์นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ท่านคณะกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา ขอขอบคุณคณะนิติศาสตร์รามคำแหง ท่านอาจารย์และพี่ๆเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่คอย support พวกหนู ทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่ได้จากการแข่งกิจกรรมนี้มันเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆสำหรับแอม และยังเป็นแรงผลักดันให้แอมอยากจะพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นเรื่อยๆอีกด้วยค่ะ ขอบคุณนะคะ”
ธนาภรณ์ : “ป่านอยากให้ทุกคนลองเข้ามาร่วมการทำกิจกรรมแข่งขัน moot court นะคะ เพราะมันจะเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ลองทำสิ่งใหม่ๆที่เราไม่เคยทำมาก่อนในขณะที่เราเรียนกฏหมายอย่างแน่นอน เราจะได้เรียนรู้ถึงการปรับใช้กฎหมายในโจทย์ของการแข่งขันที่มีลักษณะเทียบเคียงมาจากคดีที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งป่านมองว่าการที่เราได้ลองทำอะไรหลายๆอย่าง มันจะยิ่งทำให้เราสามารถค้นหาตัวตนของอาชีพสายงานกฎหมายในอนาคตได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น”
ถ่ายภาพ Pump
เรียบเรียง ผศ.ดร.กรศุทธิ์