สรุปสาระสำคัญจากงานเปิดตัวตำราเรื่อง “ระบบกฎหมายซีวิลลอว์: จากกฎหมายสิบสองโต๊ะสู่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน ซึ่งจัดโดยศูนย์นิติศึกษาทางสังคม ประวัติศาสตร์ และปรัชญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันอังคาร ที่ 25 มิถุนายน 2562 เวลา 09.30-12.30 น. ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายอานนท์ แก้วปัญญา นักศึกษาระดับปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 สาขากฎหมายธุรกิจ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง และศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ (ผู้เรียบเรียง)
ตามที่ได้มีการเปิดตัวตำรา “ระบบกฎหมายซีวิลลอว์: จากกฎหมายสิบสองโต๊ะสู่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของ ผศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน เมื่อวันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมานั้น ผศ.ดร.มุนินทร์ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเขียนตำราเล่มดังกล่าว ว่าเกิดจากความตั้งใจส่วนตัวซึ่งเกิดจากความไม่รู้ (ignorance) ของผู้เขียนในอดีตซึ่งไม่รู้ที่มาอันเป็นรากฐานอันแท้จริงของระบบกฎหมายไทย และได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของตำราว่า เป็นความพยายามเพื่อแก้ไขความเข้าใจที่ยังคลาดเคลื่อนในการความหมายและองค์ประกอบของซีวิลลอว์ อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวิชาการประวัติศาสตร์กฎหมายไทย ซึ่งยังมีความขาดแคลนของตำราประวัติศาสตร์กฎหมาย และอาจช่วยส่งเสริมให้มีการศึกษาค้นคว้าความสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์กฎหมายตะวันตกและประวัติศาสตร์กฎหมายสมัยใหม่ของไทย ผ่านมุมมองทฤษฎี legal transplants และวิเคราะห์และประเมินผลกระบวนรับกฎหมายสมัยใหม่ (reception of law, legal transplants)
ผู้เขียนได้นำเสนอตำราเล่มนี้ โดยมีโครงสร้างของวรรณกรรมแบ่งเป็นบทย่อยจำนวน 11 บท โดยไม่นับบทนำและบทส่งท้าย ซึ่งจะพบว่ามีบทที่เป็น Substantial Chapter อันเป็นบทที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาจำนวน 9 บท โดยที่ได้มีการแบ่งออกเป็น 3 ภาค ซึ่งแต่ละภาคมีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกันในทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาตั้งแต่กฎหมายโรมัน ไปจนถึงความเป็นมาของระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทย โดยภาคหนึ่งว่าด้วยกฎหมายโรมัน ภาคสองว่าด้วย Ius Commune และภาคสามว่าด้วยการสร้างระบบกฎหมายซีวิลลอว์ในประเทศไทย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ภาคแรก กฎหมายโรมัน ได้แบ่งออกเป็น 2 บท คือ
1.1 บทที่ 2 ว่าด้วยบ่อเกิดกฎหมายโรมัน ได้อธิบายถึงความหมายของกฎหมายคือและบ่อเกิดของกฎหมายที่นักกฎหมายโรมันได้ให้การยอมรับ
1.2 บทที่ 3 ว่าด้วยหลักกฎหมายสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติโรมัน โดยผู้เขียนได้อธิบายในลักษณะคร่าว ๆ
1.2.1 กฎหมายสารบัญญัติ โดยกล่าวถึงเฉพาะบางเรื่องซึ่งมีความสำคัญ เช่น กฎหมายลักษณะหนี้ ทรัพย์ กรรมสิทธิ์ โดยชาวโรมันได้สะท้อนความสามารถในเชิงนามธรรมที่สูงมากในการจำแนกวิธีคิดและวิธีคิดดังกล่าวสามารถดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน
1.2.2 กฎหมายวิธีสบัญญัติของโรมัน ผู้เขียนอธิบายถึงการพัฒนาระบบการพิจารณาพิพากษาโดยผู้พิพากษา การเรียกพยานมาสืบ ระบบวิธีการบังคับคดีซึ่งแต่เดิมบังคับเอาแก่เนื้อตัวร่างกายไปจนถึงการบังคับเอาจากกองทรัพย์สินและไม่ยอมให้มีการบังคับเอาแก่เนื้อตัวร่างการอีกต่อไป
1.3 บทที่ 4 ว่าด้วยประมวลกฎหมายจัสติเนียน โดยที่ผู้เขียนได้เปรียบเทียบจัสติเนียนกับรัชกาลที่ 1 ในการตรากฎหมายตราสามดวง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ลักษณะเหมือนกัน คือ การรวบรวมและชำระกฎหมายที่มีอยู่แต่เดิม โดยที่หลักการและเนื้อหาได้มากจากรวบรวมกฎหมายเก่าและนำมาชำระสะสาง จัดหมวดหมู่เพื่อให้ใช้งานได้ง่าย ซึ่งกฎหมายจัสติเนียนนำไปสู่ระบบกฎหมายซีวิลลอว์และประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสรวมทั้งประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน
2. ภาค 2 Ius Commune ซึ่งผู้เขียนได้เปรียบเทียบกฎหมายโรมันเป็นว่าอัญมณี และได้กล่าวถึงช่วงเวลาของ Ius Commune คือ ช่วงระยะเวลาที่ยุโรปมีกฎหมายร่วมกันคือ กฎหมายโรมันซึ่งเป็นแกนกลางซึ่งมีผลต่อการเกิดระบบกฎหมายซีวิลลอว์ โดยที่กฎหมายในยุคนั้นเป็นการเขียนทำนองเล่าเรื่องบรรยายเกิดข้อเท็จจริงและตัดสินอย่างไร รวมทั้งการจัดโครงสร้างของบทบัญญัติไม่ได้อยู่ในรูปแบบสมัยใหม่ ซึ่งนักกฎหมายยุโรปในช่วงเวลาที่เรียกว่า “Ius Commune” โดยที่ได้ช่วยกันทำให้กฎหมายโรมันที่กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้แบ่งเป็น 3 บท ได้แก่
2.1 บทที่ 5 ว่าด้วยการฟื้นคืนชีพของกฎหมายโรมันและสำนักกฎหมายโรมันในอิตาลี โดยที่ผู้เขียนถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาสมัยใหม่และอาจจะถือว่าเป็นการเริ่มต้นในการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ซึ่งมหาวิทยาลัยในยุโรปนั้นมีต้นกำเนิดมาจากโบโลญญ่าทั้งสิ้นซึ่งเป็นต้นแบบ และสำนักศึกษากฎหมายโรมันสำนักต่อ ๆ มา
2.2 บทที่ 6 ว่าด้วยกฎหมายโรมันในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 18
2.3 บทที่ 7 ว่าด้วยการจัดทำประมวลกฎหมายสมัยใหม่ในยุโรปในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ผู้เขียนได้กล่าวถึงการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสและประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน โดยให้ความเห็นว่ากฎหมายทั้งสองเป็นร่างอวตารสุดท้ายของกฎหมายโรมัน และเมื่อประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันได้มีการประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1900 กฎหมายโรมันก็ได้กลายเป็นกฎหมายโบราณอย่างเป็นทางการ หากจะศึกษาก็จะต้องศึกษาในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์กฎหมายหรือกฎหมายโบราณไม่ใช่ Positive Law หรือไม่ใช่กฎหมายที่บังคับในสังคมต่อไป แม้ว่าบางส่วนในพื้นที่เล็ก ๆ ในยุโรปยังใช้กฎหมายโรมันดั้งเดิมอยู่ในฐานะที่เป็นกฎหมายบ้านเมือง แต่ว่านับแต่นั้นมาคนส่วนใหญ่ในยุโรปก็จะใช้กฎหมายแพ่งฝรั่งเศสและกฎหมายแพ่งเยอรมัน ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายโรมันผ่านกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสและกฎหมายแพ่งเยอรมัน ในขณะที่กฎหมายโรมันแท้ ๆ ที่อยู่ Juris Corpus Civilis ของจัสติเนียน กลายเป็นของเก่าของโบราณไป
3. ภาคที่ 3 ว่าด้วยการสร้างระบบกฎหมายซีวิลลอว์ในประเทศไทย ซึ่งแบ่งเป็น 3 บท ดังนี้
3.1 บทที่ 8 ว่าด้วยการปฏิรูปกฎหมายไทยภายใต้อิทธิพลตะวันตก โดยที่ผู้เขียนพยายามนำเสนอว่าประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสและประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันนั้นถูกส่งต่อมาที่ประเทศไทยได้อย่างไร รวมทั้งการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งซึ่งเป็นกฎหมายสมัยใหม่ของไทย โดยมุ่งไปที่การจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บนฐานหรือทฤษฎีหรือความเชื่อที่ว่า “ความเป็นซีวิลลอว์ในเชิงเนื้อหาที่จะแสดงออกผ่านทางกฎหมายเอกชน” เพราะฉะนั้น จึงเป็นการมุ่งหมายไปที่การจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในประเทศไทยเป็นสำคัญ ซึ่งบทนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเนื้อหามากเกินไปกว่าตำราของ ศ.ดร.แสวง บุญเฉลิมวิภาค และตำราของ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ
3.2 บทที่ 9 ว่าด้วยพระยามานวชราเสวีกับการสร้างระบบกฎหมายซีวิลลอว์ในประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนถือว่าบทนี้เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ โดยที่กล่าวถึงการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของพระยามานวราชเสวีที่ได้นำเอาวิธีการ “ลอก” หรือ “Copy” ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นมาใช้จนประสบความสำเร็จ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดและให้ข้อสังเกตว่า แม้จะเกิดความเข้าใจผิดในการร่างประมวลกฎหมายของไทย แต่บรรพ 2 ก็ไม่เคยมีการแก้ไขมาเป็นระยะเวลาเกือบ 100 ปี อันเป็นเครื่องยืนยันว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ร่างขึ้นนั้นยังคงใช้ได้ดีและประสบความสำเร็จ ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวแบบกว้าง ๆ ว่าสิ่งที่พระยามานวราชเสวีทำในความเป็นจริงนั้นถือว่าประสบความสำเร็จ อย่างน้อยคือทำให้ไทยมีประมวลกฎหมายใช้และระงับข้อพิพาทได้เป็นส่วนใหญ่และเป็นอย่างดี
3.3 บทที่ 10 ว่าด้วยความเข้าใจผิดขั้นพื้นฐานในการร่างประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวถึงการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศญี่ปุ่นอันเป็นที่มาแห่งความเข้าใจที่ผิดพลาดของพระยามานวราชเสวีและเป็นความเข้าใจผิดทั่วโลก ซึ่งความเข้าใจผิดดังกล่าวมีความสำคัญต่อนิติวิธีในการปรับใช้และการตีความกฎหมาย เพราะว่าจะส่งผลถึงเวลาที่นักกฎหมายไทยปรับใช้และตีความกฎหมาย หากมีการอ้างอิงถึงความเข้าใจที่ผิดพลาดนี้จะทำให้เข้าใจถึงเจตนารมณ์และที่มาของหลักกฎหมายไทยคลาดเคลื่อนออกไป แต่หากมีความเข้าใจถึงความเข้าใจผิดของพระยานาวราชเสวีนี้และเข้าใจถึงรากเหง้าของกฎหมายสมัยใหม่ของไทยก็อาจจะทำให้นักกฎหมายไทยเลือกใช้วิธีการตีความกฎหมายที่เหมาะสมได้
ทั้งนี้ การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ซีวิลลอว์ vs คอมมอนลอว์: การแบ่งแยกที่ไม่จำเป็น?” โดย ผศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน และข้อคิดเห็นของ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้วิพากษ์ (Commentator) ต่อตำราและการบรรยายพิเศษดังกล่าว จะได้มีการนำเสนอในโอกาสต่อไป