สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ “ห้องเวรชี้: ลดปริมาณคดีหรือลดทอนสิทธิ?” จัดโดยศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันศุกร์ ที่ 20 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.00-16.30 น. ทางระบบ Cisco Webex Meetings เสวนาวิชาการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของวิชา น.725 กฎหมายการบริหารงานยุติธรรม หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต
ผู้กล่าวเปิดการเสวนา
ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้บรรยายประจำวิชา กฎหมายการบริหารงานยุติธรรม / ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- คุณมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา
- คุณปรเมศวร์ อิทรชุมนุม ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด
- รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
- คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและกฎหมายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ผู้ดำเนินรายการ
- คุณชวัลณวิทย์ อารยะนรากูล นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คุณวริษฐา บูชาพันธ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- ชุติญา ศุภกิจศิลป์ และ รลิตตาภา ศรเสณี นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
กล่าวเปิดการเสวนา
ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล :
กล่าวเปิดงานเสวนา ในหัวข้อ “ห้องเวรชี้: ลดปริมาณคดีหรือทอนสิทธิ?” โดยการจัดงานเสวนาวิชาการนี้ได้จัดให้มีขึ้นติดต่อกันมาเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว ด้วยความร่วมมือของนักศึกษาประจำวิชาในการเลือกหัวข้อที่อยู่ในความสนใจ ตนจึงขอขอบคุณวิทยากรทุกท่าน นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ทุกท่านที่ร่วมกันจัดให้มีการเสวนาในวันนี้
คุณชวัลณวิทย์ อารยะนรากูล (ผู้ดำเนินรายการ) :
กล่าวถึงที่มาที่ไปของการจัดเสวนาให้หัวข้อนี้ สืบเนื่องจากนักศึกษาได้มีโอกาสอ่านบทความที่เกี่ยวกับเรื่อง ห้องเวรชี้จากเว็บไซต์ ILAW เห็นปัญหาเกี่ยวกับการกรณีที่ไม่ได้มีการให้สิทธิจำเลยอย่างเต็มที่หรือไม่ และห้องเวรชี้เป็นกระบวนการเกี่ยวกับการสอบคำให้การจำเลยของศาล ซึ่งเป็นกระบวนการก่อนเข้าสู่การพิจารณาคดีเต็มรูปแบบ อีกทั้งเป็นกรณีที่พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้อง จึงเกิดเป็นคำถามว่าในกระบวนนี้หากจำเลยให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ศาลสามารถพิพากษาคดีและตัดสินลงโทษจำเลยได้เลย เกิดเป็นคำกล่าวว่าระบบนี้เป็นสายพานอุตสาหกรรมในการที่จะตัดคดีเพื่อลดปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาลหรือไม่ โดยที่ไม่ได้ให้น้ำหนักสิทธิของจำเลยอย่างเต็มที่หรือไม่ จึงเป็นที่มาที่ไปของหัวข้อการเสวนาในวันนี้ และสำหรับในช่วงแรกจะเป็นการให้ข้อมูลในภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในห้องเวรชี้เพื่อความเข้าใจเบื้องต้นว่ามีวัตถุประสงค์เพื่ออะไรและเป็นขั้นตอนใดในกระบวนการยุติธรรม
คุณมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา (วิทยากร) :
กล่าวว่า ลักษณะปกติของกระบวนการในห้องเวรชี้นั้น คดีปกติทั้งหลาย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งความหรือพบเห็นการกระทำความผิดก็ดี เชื่อและตัดสินใจได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการจับ รวบรวมพยานหลักฐาน และในระหว่างนั้นก็จะนำผู้ต้องหามาฝากขังหรือให้ประกันตัวแล้วแต่ขั้นตอน และนำตัวไปส่งพนักงานอัยการเพื่อกลั่นกรองคดีต่อ ถ้าพนักงานอัยการเชื่อว่าน่าจะกระทำความผิดจริงก็จะสั่งฟ้องเป็นจำเลย และเมื่อถึงวันฟ้องที่พาตัวจำเลยมาศาลในวันนั้นเองก็คือวันชี้ ทุกคนจะมารวมกันที่ห้องเวรชี้และเป็นการพบศาลครั้งแรก ศาลจะดำเนินการถามคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 172 กับ 173 สองมาตรานี้คือฐานของการปฏิบัติของศาลในวันชี้ และในทางปฏิบัติเพื่อความสะดวกจะให้เจ้าหน้าที่มาถามจำเลยว่ารับสารภาพหรือปฏิเสธอย่างไร และเจ้าหน้าที่จะเตรียมเอกสารให้ผู้พิพากษาและผู้พิพากษาจะรู้ตั้งแต่ต้นว่าจำเลยรับสารภาพ ปฏิเสธ หรืออย่างไร โดยในคดีที่มีอัตราโทษประการชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตต้องมีทนายความ เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการเตรียมทนายขอแรงไว้ให้ จากนั้นเมื่อถึงเวลาศาลจะลงมาต่อหน้าจะเลย ถามคำให้การจำเลย ต้องการทนายความหรือไม่ อธิบายฟ้อง และจำเลยจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ ในกรณีนี้จำเลยมีทางเลือกด้วยกัน 3 แบบ คือ
- ยังไม่ให้การใด ๆ แต่ขอทนายความ ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อยในข้อเท็จจริง
- ให้การปฏิเสธ ศาลจะทำการเลื่อนนัดเพื่อตรวจพยานหลักฐาน จำเลยจะถูกนัดหมายต่อไป
- ให้การรับสารภาพ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเยอะในทางปฏิบัติ ศาลก็จะพิพากษาคดีไป
แต่หากเป็นคดีที่ต้องสืบพยานต่อเพื่อประกอบการรับสารภาพ ศาลจะนัดสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ หรือหากศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีไม่เพียงพอ ศาลก็จะสั่งให้มีการสืบเสาะและพินิจ และนัดฟังคำพิพากษาหลังจากนั้น ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจคือ ห้องเวรชี้มิใช่นวัตกรรมใหม่ที่ทำมาเพื่อลดปริมาณคดี และเนื่องจากศาลต้องตัดสินคดีทันที จึงมีเครื่องมือหนึ่งของศาลที่เรียกว่า “ยี่ต๊อก” หรือบัญชีอัตราโทษ ความสำคัญอย่างแรกคือสร้างความสม่ำเสมอและความแน่นอนในระบบการลงโทษ โดยบัญชีอัตราโทษนี้ไม่ได้นำมาใช้แค่กับการรับสารภาพในห้องเวรชี้เท่านั้น แต่นำมาใช้กับทุกคดี การตัดสินก็ใช้เช่นกัน
ในส่วนพัฒนาการอีกอย่างคือ การให้ข้อมูลเพิ่มขึ้น สมัยก่อนการสืบเสาะยังเป็นของใหม่ พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ศาลใช้ในการสืบเสาะเพิ่มเติมในเวรชี้ เพื่อจะได้ใช้พิจารณาตัดสิน
และอีกอย่างที่เป็นพัฒนาการที่สำคัญก็คือกระบวนการคุ้มครองสิทธิ โดยกระบวนการนี้อธิบายได้ว่า
จะมีจำเลยประเภทหนึ่งที่ในห้องเวรชี้จะปฏิเสธไว้ก่อน คดีพวกนี้ก็จะเข้าสู่การนัดสืบพยานต่อ แต่เมื่อถึงวันนัดสืบปรากฎว่ารับสารภาพก็เป็นเหตุผลที่ทำให้มีคดีค้างพิจารณาจำนวนมาก ในปัจจุบันมีศูนย์คุ้มครองสิทธิ
คือกระบวนการคุ้มครองสิทธิโดยการเอาผู้ต้องหาที่ปฏิเสธมาพูคุยกับศาลอีกครั้ง จะดีกว่าไหมถ้าหากจำเลยกระทำความผิดจริงแล้วคู่ความสามารถผ่อนปรนต่อกันได้ทำการรับสารภาพตั้งแต่ในห้องชี้เลยจะ
เป็นประโยชน์ดีกว่าการสู้คดีหรือไม่ เป็นอีกหนึ่งกระบวนการกลั่นกรองคดีเช่นกัน ทั้งหมดนี้
เป็นการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความมั่นคงแน่นอนยิ่งขึ้น และปลอดภัยยิ่งขึ้น
คุณชวัลณวิทย์ อารยะนรากูล (ผู้ดำเนินรายการ) :
สอบถามตัวแทนของฝั่งทนายความ เคยมีประสบการณ์เข้าไปในห้องเวรชี้หรือมีประสบการณ์อย่างไรที่อาจจะมีปัญหาบ้างหรือไม่
คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและกฎหมายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (วิทยากร) :
ในประเด็นแรก ห้องเวรชี้โดยส่วนใหญ่แล้วทนายความจะไม่มีโอกาสได้เข้าไป หากจะได้เข้าไปก็จะเป็นกรณีที่มีข้อยกเว้นมาก ๆ ปัญหาเริ่มแรกของมุมทนายความเห็นตรงกันว่าห้องเวรชี้เข้าถึงยาก ต้องเป็นทนายความที่มีใบแต่งทนายเท่านั้น ต้องยื่นคำร้องไปเท่านั้นถึงจะสามารถเข้าได้และไม่ใช่ใครก็สามารถเข้าได้ จึงตั้งคำถามในประเด็นแรกว่าในเมื่อกระบวนการพิจารณาในห้องเวรชี้ก็เป็นหนึ่งในขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมในการพิจารณา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ว่า การพิจารณาต้องทำโดยเปิดเผย ถึงแม้ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 จะไม่รองรับสิทธิการพิจารณาโดยเปิดเผยก็ตาม ห้องเวรชี้กลับกลายเป็นข้อยกเว้นที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ ปัญหาคือ ประชาชนทุกคนไม่ได้มีความรู้ว่าตัวเองสามารถต่อสู้คดีในมิติใดได้บ้างหรือข้อเท็จจริงที่มีอยู่อาจจะเป็นข้อยกเว้นที่ทำให้ไม่ต้องรับโทษหรือไม่เป็นความผิดได้ แค่รับตามการกระทำนี่เป็นปัญหาเช่นเดียวกันในทางปฏิบัติ ต่อให้ศาลอ่านฟ้องให้จำเลยฟังแต่ในทางกฎหมายต้องมีการพูดคุยและอธิบายที่มากกว่าปกติเพื่อให้จำเลยเข้าใจครบถ้วน จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ประเด็นถัดมา กรณีของการฝากขัง ซึ่งการฝากขังจะมีการดำเนินการในชั้นของห้องเวรชี้เช่นกัน ตำรวจต้องยื่นคำร้องขอฝากขังก่อน ทนายความถึงจะยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขังได้ แต่ปรากฏว่าทนายความยื่นรอไว้ก่อน เจ้าหน้าศาลก็แจ้งว่ายังไม่สามารถทำได้ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมายื่นก่อน
ซึ่งปรากฎว่ามีคำสั่งในลักษณะของการประทับตรายางว่าได้สอบจำเลยแล้วจำเลยไม่คัดค้าน และอนุญาต
ให้ฝากขังตั้งแต่ในห้องเวรชี้ เมื่อกฎหมายกำหนดให้มีการฝากขัง และเมื่อคดีเข้าไปจำนวนมากคำสั่งประทับตรายางอาจจะช่วยให้เร็วขึ้นแต่มีข้อกังวลว่าบางกรณีได้มีการพิจารณากลั่นกรองก่อนที่จะมีการประทับตรายางหรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้วการขังบุคคลคนหนึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่และกระทบกับเสรีภาพต้องทำด้วยความระมัดระวัง ควรต้องไต่สวนและมีคำสั่งใหม่
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) :
ประเด็นหลักสำคัญที่ยังกังวลและเป็นห่วงมากยังคงเหมือนเดิม แปดปีที่แล้วมีลูกความท่านหนึ่งอยู่
ในเรือนจำเขาป่วยทางจิต เจอในเรือนจำจึงได้ทำหนังสือขอให้เรือนจำส่งตัวไปตรวจรักษาอาการทางจิต จนในที่สุดเอกสารเรียบร้อยว่าเขาป่วยทางจิต แต่สุดท้ายโดนพาไปศาล และลูกความรับสารภาพไปแล้ว เจ้าหน้าที่ จึงเดินไปที่ห้องเวรชี้ ตนจึงได้ทราบว่าในห้องเวรชี้ไม่สามารถให้บุคคลภายนอกเข้าได้เลย เป็นเขตหวงห้ามเฉพาะ จนสุดท้ายเจ้าหน้าที่ศาลเดินมาหาและได้มีการเจรจากัน ตนจึงต้องไปเขียนคำร้องเป็นทนายเพื่อขอเข้าไป เมื่อศาลมาถึงเรียกชื่อจำเลยสุดท้าย ทนายจึงไปแถลงแทนจำเลย กระบวนการไม่ได้มีปัญหาอะไรแต่ปัญหาคือก่อนจะเข้าสู่กระบวนการ แต่ถ้าวันนั้นจำเลยไม่แจ้งก็คงจะถูกดำเนินการไปแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่ควรจะถามแค่รับหรือปฏิเสธ จำเลยไม่รู้ว่านั่นเป็นโอกาสเดียวที่จะขอต่อสู้คดีเพราะนั่นเป็นการไปศาลครั้งแรก ทั้งนี้ ตนไม่ได้คิดว่าการมีอยู่ของห้องเวรชี้เป็นเรื่องเลวร้ายแต่อย่างใด แต่อาจจะมีข้อยกเว้นหรือมีข้อบกพร่องบ้างสัก 2-3% แต่เป็นเรื่องน่าดีใจที่วันนี้ได้มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา
คุณชวัลณวิทย์ อารยะนรากูล (ผู้ดำเนินรายการ) :
สอบถามฝั่งอาจารย์ว่า มีโอกาสหรือไม่ที่จำเลยจะมีโอกาสไม่ได้รับสิทธิของตน และกระบวนการในห้องเวรชี้มีความสอดคล้องและเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่เพียงใด
รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ :
ประเด็นที่ได้ตั้งไว้ยังเป็นประเด็นที่น่าจะเป็นปัญหาของหลักการดำเนินคดีอาญาในหลักสากล ซึ่งหลักสากลก็คือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
ที่ 173 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้เข้าร่วม พูดถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไว้ หลาย ๆสิทธิปรากฎอยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยและเป็นประเด็นในห้องเวรชี้ของไทย
ประสิทธิภาพกับความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่แย้งกันเสมอ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมล้วนแล้วแต่ต้องการประสิทธิภาพในการทำคดีที่มีปริมาณมากให้จบอย่างรวดเร็ว ทั้งในการหา
ความจริงและคุ้มครองสิทธิไปด้วยอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเน้นประสิทธิภาพความรวดเร็วบางทีอาจจะเดินห่างออกจากความเป็นธรรมรวมทั้งการคุ้มครองสิทธิที่ควรจะเป็น ตรงกันข้ามถ้าเราเน้นความเป็นธรรมอย่างชัดเจนคุ้มครองสิทธิตามมาตรฐานสูงสุดหาความจริงให้ได้ คนบริสุทธิ์ปล่อยตัว คนผิดลงโทษไปเลย แบบนี้แน่นอนประสิทธิภาพในเรื่องของความรวดเร็วก็อาจจะลดลง เพราะประเทศไทยใช้กระบวนการยุติธรรมในศาลอยู่เยอะมาก ก่อนช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 สถิติคดีอาญาที่ฟ้องในศาลชั้นต้นประเทศไทยปีละ 600,000 คดี เพราะฉะนั้นผู้พิพากษา อัยการ พนักงานสอบสวน ทุกคนในกระบวนการยุติธรรมกำลังประสบกับปัญหาคดีล้นระบบที่ไม่สามารถจะจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลก็คือต้องรักษาสมดุลทำคดีให้เสร็จโดยมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นหลาย ๆ เรื่องจึงไม่อาจเดินไปตามหลักกฎหมายได้ซักทีเดียว และเป็นปัญหาที่เกิดตามประเด็นที่ได้ตั้งขึ้นมา
ประเด็นที่จะหยิบยกมาก่อนเบื้องต้น คือ ทางออกของเรื่องนี้ที่จะทำให้เกิดสมดุลอาจจะอยู่ที่เรื่องของการลดปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาล ด้วยคดีที่มันมากมายหรือเปล่าที่ทำให้ระบบกระบวนการยุติธรรมต้องไปเน้นที่ประสิทธิภาพของการทำให้คดีมันเสร็จออกไปอย่างรวดเร็ว ตรงกันข้ามหากคดีน้อย ศาลก็สามารถที่จะลงรายละเอียดในการคุ้มครองสิทธิได้อย่างมากขึ้น หากลดปริมาณคดีได้จะส่งผลโดยตรงกับปัญหาในห้องเวรชี้ได้ ปัญหาต่าง ๆ จะลดลงอย่างเป็นรูปธรรม
ในหลาย ๆ ประเทศมีการลดปริมาณคดีผ่านวิธีการต่าง ๆ แต่ประเทศไทยยังไม่มี อย่างแรกคือเรื่อง การชะลอฟ้อง ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ใช้การชะลอฟ้องออกไปในคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งหลาย ในขณะที่ไทยไม่มี ทำให้ทุกคดีต้องไปศาลและไปอัดกันในห้องเวรชี้ นี่คือประเด็นปัญหา ประเด็นที่สอง เรื่องการต่อรองคำรับสารภาพ ประเทศไทยเราไม่มี ในขณะที่ต่างประเทศมีระบบการต่อรองคำรับสารภาพ ลดปริมาณคดีได้ด้วยการที่อัยการเข้ามามีบทบาทในเรื่องการดำเนินคดีอาญาโดยที่จำเลยไม่เสียสิทธิใด ๆ เลย ระบบต่อรองในต่างประเทศนี้ ให้อัยการและผู้ต้องหามาคุยกัน ต่อรองว่าจะสู้คดีหรือไม่ ถ้าสู้จะดำเนินคดีเต็มรูปแบบ แต่ถ้ารับสารภาพอัยการจะเสนอโทษไปที่ศาลและบอกให้จำเลยสารภาพไป เช่น ระวางโทษจำคุก 5 ปี แต่อัยการเสนอแค่ครึ่งหนึ่ง กระบวนการจะไปศาลอยู่ดีแต่จะรวดเร็วและไม่เหมือนห้องเวรชี้ และมีการคุ้มครองสิทธิของจำเลยโดยพนักงานอัยการจะต่อรองได้จำเลยต้องมีทนายความเท่านั้น นี่เป็นระบบที่น่าสนใจมากที่ประเทศไทยยังไม่มี
ฉะนั้น จากคำถามของผู้ดำเนินรายการ ตนจึงขอตั้งประเด็นสิทธิที่ห้องเวรชี้น่าจะคำนึงถึง และอาจจะเป็นปัญหา ดังนี้
- สิทธิที่จำเลยจะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยต่อหน้าศาลที่เป็นธรรม ที่แม้จะไม่อยู่รัฐธรรมนูญแล้วแต่ยังคงอยู่ใน ICCPR ข้อ 14 ที่ประเทศไทยยังคงเป็นภาคีที่ต้องผูกพัน เพราะฉะนั้นสิทธิในเรื่องนี้จึงเป็นสิทธิที่ใช้กับจำเลยในคดีทุกคน ซึ่งห้องเวรชี้ก็เป็นการพิจารณาคดี
- สิทธิในการมีทนายความ ยังคงอยู่ใน ICCPR ข้อ 14.3 (D) ถ้าผู้พิพากษาถามคำให้การก่อนถามเรื่องการมีทนายความ จะเป็นการขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและขัดกับหลักใน ICCPR อีกด้วย
- สิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตัวเองตาม ICCPR ข้อ 14.3 (G) จำเลยต้องได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ มีสิทธิที่จะไม่พูดไม่ปรักปรำตนเอง ประเด็นการรับสารภาพในห้องเวรชี้จึงน่าสนใจ จำเลยรับสารภาพได้ถ้าได้รับการคุ้มครองสิทธิได้อย่างเหมาะสม แต่หากมีประเด็นไม่สอดคล้อง เช่น เป็นการรับสารภาพที่ไม่บริสุทธิ์ ตรงนี้จะเป็นปัญหากับสิทธิข้อนี้นั่นเอง
คุณชวัลณวิทย์ อารยะนรากูล (ผู้ดำเนินรายการ) :
ในช่วงที่สองจะเป็นช่วงการถกปัญหาห้องเวรชี้ กล่าวคือ คดีที่จะมาถึงห้องเวรชี้ได้นั้น ต้นกระบวนการก็จะต้องมาจากพนักงานอัยการ โดยการพิจารณาว่าคดีมีมูล หลักฐานต่าง ๆ น่าเชื่อได้ว่าจำเลยกระทำความผิด เมื่อไปผนวกกับกระบวนการให้ห้องเวรชี้ เท่ากับว่าโอกาสที่จำเลยจะถูกตัดสินพิพากษาในวันดังกล่าวนั้นเลยมีโอกาสมากขึ้น มุมมองของพนักงานอัยการกับกระบวนการในห้องเวรชี้เป็นอย่างไร
คุณปรเมศวร์ อิทรชุมนุม ผู้ตรวจการอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด (วิทยากร) :
ห้องเวรชี้ในสมัยปัจจุบัน พนักงานอัยการไม่ได้ไปเวรชี้เป็นกระบวนการของศาลที่ดำเนินการ กระบวนการในวิธีพิจารณามีการเปลี่ยนแปลงไปตรงที่ก่อนจะสืบพยานถ้านัดชี้แล้ว จะมีนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐาน กระบวนการห้องชี้นี้น่าจะยังไม่ตรงกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยตรง ตนเห็นด้วยว่าก่อนจะถามว่าจำเลยรับสารภาพหรือไม่ ควรถามประโยคแรกก่อนว่ามีทนายความหรือเปล่า นี่คือหลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามการสอบสวนมาตรา 134 อัยการก็ต้องแจ้งสิทธิเรื่องทนาย แต่คำว่าพิจารณาโดยเปิดเผยโดยหลักการของการสอบสวนไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อหน้า แต่เข้าใจว่าน่าจะเปิดเผยต่อหน้าจำเลยอย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันจำเลยต้องมีที่ปรึกษาหรือทนาย ซึ่งก็เช่นเดียวกับกฎหมายปกครองก็ต้องมีที่ปรึกษาเช่นกัน ทั้งในส่วนเรื่องเวรชี้ ตนมองว่าไม่ใช่เรื่องของตุลาการโดยตรง อีกปัญหาหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมบางคนไม่ได้รักในการให้บริการแก่ประชาชน ส่วนมากปัญหาควรดำเนินการปรับแก้โดยบุคคลในกระบวนการยุติธรรม
ในส่วนของกระบวนการหันเห ความคิดเก่ามองว่าการจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง จะลงโทษบุคคลใดนั้นเป็นอำนาจของตุลาการไม่ใช่อำนาจของฝ่ายบริหาร ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2540 กฎหมายชะลอการฟ้องจึงไม่เกิด มีเพียงประเภทเดียวคือคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นอำนาจของพนักงานอัยการสูงสุด
จึงต้องยอมรับว่าการชะลอการฟ้องโอกาสเกิดยังยากมาก
ประเด็นหลักอีกอย่างคือ ยังขาดการเคารพสิทธิและเสรีภาพของกันและกันเท่าที่ควร กระบวนการชี้เปลี่ยนไป จนผู้ต้องหาเสียสิทธิ ให้เขามีที่ปรึกษาก่อนจะตอบคำถาม มีญาติพี่น้อง มีทนายเป็นเพื่อน
ไม่ควรเสียสิทธิในการดำเนินคดีอาญา ฉะนั้น เรื่องของการมีทนายเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมาก ส่วนเรื่อง
การใช้ตรายางประทับ ตนก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวไม่ใช่ทั้งระบบ คนในกระบวนการยุติธรรมต้องเข้าใจในหลักการและกฎหมายให้มันมากกว่านี้
คุณชวัลณวิทย์ อารยะนรากูล (ผู้ดำเนินรายการ) :
ห้องเวรชี้ในปัจจุบัน คำถามที่ศาลถามกับจำเลย ศาลถามอะไรบ้าง อย่างไร และส่วนของศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพคดีอาญา ตั้งขึ้นมาแล้วมีส่วนในการช่วยคุ้มครองสิทธิให้จำเลยมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
คุณมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา (วิทยากร) :
ประเด็นการสอบคำให้การของเจ้าหน้าที่นั้น ไม่ได้ยุติที่เจ้าหน้าที่เพราะการที่เจ้าหน้าที่สอบคำให้การก่อนถือเป็นการเตรียมข้อมูล เพราะมีแต่ผู้พิพากษาเท่านั้นที่จะรับฟังคำให้การของจำเลยแล้วไม่ต้องมีพยานหลักฐานใดมายืนยันว่าจำเลยรับสารภาพหรือไม่ ฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้ฟังต่อหน้าผู้พิพากษา คำให้การดังกล่าวไม่ถือว่าใช้ได้ ในทางปฏิบัติมีบ่อยครั้งที่จำเลยบอกว่ารับสารภาพเพราะผู้พิพากษาจะรอการลงโทษ หากไม่รอการลงโทษจะไม่รับสารภาพ หากศาลไม่รับฟังคำรับสารภาพจะทำการนัดสืบพยานต่อไป
ในส่วนประเด็นคำถามของศาล เจ้าหน้าที่มีการยืนยันว่าศาลจะถามทนายความก่อนเสมอ ปัจจุบันมีกล้องวงจรปิดเพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และจากการตรวจสอบและสอบถามจากเจ้าหน้าที่เวรชี้ว่าผู้พิพากษามีการเกลี้ยกล่อมให้จำเลยรับสารภาพหรือไม่ คำตอบคือน้อยมากที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีกล้องวงจรปิด แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกรณีการเกลี้ยกล่อมเกิดขึ้นเลย แต่โดยหลักการการเกลี้ยกล่อมคงไม่มีเพราะไม่ใช่มาตรฐานที่ปฏิบัติกัน
ประเด็นเขตหวงห้ามเฉพาะ เป็นวิธีการจัดการของระบบรักษาความปลอดภัยศาล ซึ่งช่วงหลัง
มีการพยายามวางระบบในส่วนของห้องพิจารณามีการติดป้ายเขตหวงห้ามเฉพาะ คนที่จะเข้าห้องพิจารณาได้คือ ผู้มีส่วนได้เสียในคดีนั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะต้องการป้องกันปัญหาคนหลอกลวงผู้อื่น แต่คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าได้หรือไม่นั้น มีโครงการหนึ่งที่หน้าศาลเชียงใหม่เรียกว่า Court Watch ซึ่งเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์จะมีการตรวจพิจารณาคนที่จะเข้าห้องพิจารณาว่าเป็นใคร ในส่วนนี้เองที่ถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิเพราะการตรวจพิจารณาก่อนเช่นนี้ ไม่เป็นการเปิดเผยจริง ๆ ในความเป็นจริงแล้วเหตุผลที่ต้องพิจารณาผู้เข้าห้องก่อน เนื่องจากคนที่เข้าบัลลังก์ส่วนใหญ่เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับคดี เคยมีกรณีที่ศาลสืบพยานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทนายความแจ้งศาลว่ามีพยานไม่มาคนหนึ่ง ซึ่งความเป็นจริงแล้วพยานคนนั้นนั่งอยู่ในห้องตลอดการพิจารณาคดีด้วย หากจะให้พยานคนดังกล่าวเบิกความก็จะเป็นการเสียเปรียบต่อจำเลยได้ เพราะพยานคนดังกล่าวได้รู้เห็นถึงการพิจารณาคดีทั้งหมดแล้ว ก่อให้เกิดเป็นปัญหาในการทำกระบวนการพิจารณาต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องถามทุกคนที่เข้าห้องพิจารณาว่าเป็นใครเพื่อจะได้ทราบบทบาทของบุคคลนั้นและการดำเนินการต่อไปได้อย่างถูกต้อง ในกระบวนการของห้องเวรชี้ เป็นกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 172 ซึ่งเป็นการถามคำให้การ ซึ่งปัญหาจริง ๆ คือการจัดการระบบนั้นควรดำเนินการอย่างไรมากกว่า
ประเด็นคำถามว่าศาลถามคำให้การอย่างไร ต้องมีทนายความหรือไม่นั้น การมีทนายเป็นเรื่องที่ดี แต่หากทุกคดีใช้ทนายความทั้งหมดจะเป็นการลงทุนที่สูงมาก ศาลจะต้องจ่ายเงินงบประมาณจำนวนขั้นต่ำสำหรับทนายขอแรง 2,000 – 4,000 บาท ซึ่งบางครั้งอาจต้องพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าแล้วหรือไม่ในการทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดมาใช้กับทุกคดีซึ่งมีปีละประมาณ 600,000 – 700,000 คดี ส่วนใหญ่แล้วทนายความไม่ได้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงแห่งผลคดีมากเท่าใด แต่ทนายความโดยเฉพาะทนายขอแรง จะมีบทบาทสำคัญในการทำให้จำเลยเข้าใจระบบช่องทางของคดี
ห้องเวรชี้เป็นระบบของศาล ไม่ใช่นวัตกรรมเพื่อการลดทอนคดี เป้าหมายของการทำคดีให้เสร็จจริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นประโยชน์ของศาลเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นสิทธิของจำเลยที่จะได้รับการพิจารณาโดยเร็วและทำให้คดีจบไป ในแง่ประสิทธิภาพและในแง่ความเป็นธรรมเห็นว่าไม่ได้ตรงข้ามกันทั้งหมด แต่ว่าเป็นประโยชน์แก่กัน คือจะต้องใช้ทั้งสองด้าน
ประเด็นกระบวนการสมานฉันท์โดยสันติวิธี จากเดิมคำปฏิเสธที่ไม่จำเป็น พบว่าจำเลยบางส่วนได้รับคำแนะนำจากทนายความก็ดีหรือไม่ได้รับก็ดี จะปฏิเสธไว้ก่อน ส่วนใหญ่จะมีทนายความ พอจำเลยปฏิเสธก็ทำให้ศาลนัดสืบพยาน ตอนนี้ระบบพิจารณาคดีต่อเนื่องของศาลทำให้ศาลมีประสิทธิภาพขึ้นมาก คือศาลได้ใช้วิธีจองวันนัดล่วงหน้า ประเด็นก็คือมีจำเลยจำนวนมากในระบบปฏิเสธ คดีพิจารณาที่ควรจะจบภายในวันสองวัน ก็ไปจบไปอีกหกเดือนเป็นปัญหา ศาลจึงใช้กระบวนการที่เรียกมาคุย ให้ผู้พิพากษา คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งถ้ามีผู้เสียหาย มาพูดคุยกันด้วย คล้ายกับการต่อรองคำรับสารภาพในแง่หนึ่ง เพื่อจะให้มันเกิดผลที่สอดคล้องกับความเป็นจริงและความประสงค์ของคู่ความมากที่สุด นั่นคือกระบวนการคุ้มครองสิทธิ ปัจจุบันหลังจากระมัดระวังแล้ว ไม่ค่อยจะมีเรื่องร้องเรียนใด ๆ หลังจากการยุติคดีในระบบนี้ ก็เป็นพัฒนาการอันหนึ่งที่ทำให้สิทธิของคู่ความได้รับการคุ้มครองตามสำนวน
คุณชวัลณวิทย์ อารยะนรากูล (ผู้ดำเนินรายการ) :
จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ หากนำกระบวนการให้คำแนะนำของศูนย์คุ้มครองสิทธิเข้ามาก่อนที่จะเข้าไปสู่ห้องเวรชี้ การที่จำเลยมีทนายความน่าจะดีกว่าการที่ไม่มีหรือไม่ และคิดว่ากระบวนการในห้องเวรชี้จะต้องปรับปรุงอย่างไรบ้างหรือไม่
คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและกฎหมายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (วิทยากร) :
ในกระบวนการห้องเวรชี้ คือกระบวนการหนึ่งในการพิจารณา การจะคาดหมายว่าจำเลยฟังคำฟ้องแล้วเข้าใจภาษาทางกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่ถูกกล่าวหาทั้งหมดนั้นอาจเป็นไปได้ยาก เข้าใจว่าศาลมีปริมาณคดีที่มากจึงต้องมีการจัดการในลักษณะที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นวิธีการในทางปฏิบัติ แต่ตนยังคงเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า กระบวนการยุติธรรมไทยแพงและไม่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ไม่ควรมีการมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเกิดแค่กับผู้พิพากษาเพียงบางท่านหรือเกิดปัญหาเฉพาะดังกล่าวแค่เพียงบางกรณีเท่านั้น แต่ควรจะมองว่าถ้าหากมีระบบที่ดีในการกลั่นกรอง จะไม่มีใครที่จะหลุดออกไปจนเกิดปัญหานี้ได้
นอกจากนี้ คดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความและสิทธิมนุษยชนไม่ใช่คดีเล็กน้อย
แต่เป็นคดีที่ร้ายแรงและเป็นคดีที่ส่วนใหญ่รัฐมองว่าเป็นคดีความมั่นคง ตนเห็นด้วยที่ต้องมีการศึกษาว่าปัญหาอยู่ที่จุดไหน เป็นที่ห้องชี้ด้วยหรือไม่ แต่ความเห็นส่วนตัวมีความเห็นและข้อเสนอว่าทนายความหรือประชาชนควรจะสามารถเข้าถึงได้แม้กระทั่งในห้องเวรชี้ คดีส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยมีใครเข้าไปหากไม่เกี่ยวข้องในคดี แต่คนที่เข้าไปส่วนใหญ่จะเป็นญาติ เป็นเพื่อน แม้จะไม่มีทนายความ ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในห้องและสามารถช่วยในการสื่อสารได้ ดังนั้น แม้ว่า 90% จะได้รับความยุติธรรม แต่หากอีก 10% หรือแม้กระทั่ง 1% ไม่ได้รับความยุติธรรม หรือคลาดเคลื่อนไปเพราะระบบที่มีทำให้คดีบางประเภทหลุดลอดไปได้ จึงเห็นว่าในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขระบบใด ๆ เห็นว่าการให้ประชาชนหรือทนายความเข้าถึงได้ก็จะช่วยลดช่องว่างหรือปัญหาในส่วนนี้ได้
นอกจากนี้ มีกรณีที่เป็นข่าวที่สหรัฐอเมริกา โดยมีปัญหาเกิดขึ้นในเรื่องของการเข้าถึงในศาลชั้นต้น
ซึ่งจำเลยได้ทำการอุทธรณ์ขึ้นไป และศาลอุทธรณ์ได้ยกกลับมาโดยให้เหตุผลว่าการ blocking public from visual access ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการพิจารณาโดยเปิดเผย จึงย้อนกลับมาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ ซึ่งอยากให้เป็นกรณีตัวอย่าง กล่าวคือ หากมีการละเมิดสิทธิแล้ว จะมีการคุ้มครองโดยศาลที่สูงขึ้นไป
ซึ่ง ณ ตอนนี้ จะทำอย่างไรให้เกิดความได้สัดส่วนกันระหว่างสิทธิเสรีภาพและประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องจำเป็น และแม้ว่าจะเป็นเพียงไม่กี่กรณี แต่ถ้าเกิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรมก็ถือว่าเป็นจุดบกพร่องในกระบวนการยุติธรรม
คุณชวัลณวิทย์ อารยะนรากูล (ผู้ดำเนินรายการ) :
ในช่วงต้น ที่วิทยากรได้กล่าวถึงเกี่ยวกับประสบการณ์ตรงของตนเองและลูกความ อยากให้ขยายความว่ากรณีที่จำเลยเข้าสู่กระบวนการในห้องเวรชี้ รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ได้รับสิทธิเท่าที่ควร จึงเกิดการร้องเรียนนั้น มีมากน้อยเพียงใด
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) (วิทยากร) :
คดีที่ทำส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง จำเลยเป็นคนที่ไม่ได้มีสถานะธรรมดาทั่วไป กล่าวคือ หากรู้สึกว่ามีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นกับจำเลย จะแสดงออกถึงความไม่พอใจ ณ ที่นั้นเลย และอีกกรณีที่เกิดขึ้นที่ได้กล่าวไปเป็นเรื่องที่น่าตกใจแต่ท้ายที่สุดก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ ตนยังไม่เคยเห็นคดีที่มีการผ่านการตัดสินที่ห้องเวรชี้แล้วเกิดการแสดงความไม่พอใจในภายหลัง ในเมื่อห้องเวรชี้เป็นสายอุตสาหกรรมอาจจะมีสินค้าที่ไม่เป็นไปตามระบบ
อย่างไรก็ตาม ตนไม่มีข้อเสนอให้ต้องยกเลิกห้องเวรชี้ เพราะเห็นว่าห้องเวรชี้สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ โดยที่ทราบว่าห้องเวรชี้นั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดความรวดเร็วซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายทั้งศาล เจ้าหน้าที่ ทนาย อัยการ และผู้ต้องหา แต่ความรวดเร็วนี้ก็สามารถดำเนินการไปด้วยความใจเย็นได้
ในปัจจุบันบรรยากาศของการดำเนินการตามกระบวนการจะมีความตึงเครียด เช่น การถูกเข้าไปในห้องขังทำให้ถูกตัดขาดจากญาติมิตร การเห็นผู้ต้องขังรายอื่นที่ถูกใส่โซ่ตรวน เป็นต้น หลังจากนั้น จะมีเจ้าหน้าที่มาถามโดยที่ผู้ถูกดำเนินการไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ถามเพื่อจะเตรียมรายงานส่งต่อศาลต่อไป ทำให้การตอบอาจจะเป็นการตอบไปให้เสร็จโดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งใดมากนัก ซึ่งความจริงแล้ว กระบวนการสมานฉันท์หรือกระบวนการคุ้มครองสิทธิควรจะเกิดขึ้นหากเกิดกระบวนการดังกล่าวนี้ก่อน น่าจะเป็นการดีกว่า แต่กระบวนการนี้อาจมีการลงทุนที่สูงเพราะต้องพาทุกคนมาคุยกัน จากประสบการณ์การไปศาล ความเครียดของเจ้าหน้าที่ศาลอย่างเดียวคือกลัวการถูกผู้พิพากษาดุ เช่น มีการดำเนินการช้า หรือจำเลยแต่งตัวไม่เรียบร้อย เป็นต้น ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ศาลมาเร่งกระบวนการบางอย่างกับจำเลยแทน เช่น ให้จำเลยรีบกรอกข้อมูล ซึ่งเหล่านี้เป็นการทำให้บรรยากาศมีความตึงเครียด หากปรับปรุงแก้ไขโดยลดความตึงเครียดส่วนนี้ได้จะเป็นเรื่องที่ดี
คุณชวัลณวิทย์ อารยะนรากูล (ผู้ดำเนินรายการ) :
ประเทศไทยในการพิจารณาคดีจะใช้ระบบกล่าวหา การที่ให้จำเลยเข้าไปในห้องเวรชี้และ
ผู้พิพากษาทำการสอบคำให้การจำเลย หากเป็นระบบกล่าวหาควรจะต้องเป็นฝ่ายโจทก์หรือไม่ที่มีภาระการพิสูจน์ แต่การที่ให้ผู้พิพากษาสอบคำให้การจำเลยและหากจำเลยรับสารภาพจะมีการพิพากษาเลย มีความถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือไม่ สิทธิที่ถูกละเลยน่าจะเกิดจากการปฏิบัติของแต่ละศาลหรือไม่
รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ :
ไม่ว่าใช้ระบบใดก็ตามก็เป็นแบบเดียวกัน กล่าวคือ สิ่งแรกที่ศาลจะทำคือการอธิบายฟ้องให้จำเลยทราบว่าถูกฟ้องในเรื่องใด ซึ่งเป็นสิทธิของจำเลยที่จะต้องทราบ ดังนั้น การที่ศาลอธิบายฟ้องอย่างละเอียดจะเป็นการเคารพสิทธิมนุษยชนของคนที่เป็นจำเลยอันหนึ่ง ส่วนจำเลยจะปฏิเสธหรือสารภาพอย่างไรหรือไม่นั้น เป็นสิทธิในการต่อสู้ของจำเลย ฉะนั้น ไม่ว่าระบบใดก็ตามจะมีพื้นฐานอันเดียวกันที่ศาลจะอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และศาลจะมีการถามเรื่องทนายความ
การถามเรื่องทนายความเป็นสิทธิพื้นฐานที่จำเลยควรทราบ และเฉพาะบางคดีเท่านั้นที่ศาลจำเป็นต้องตั้งทนายความ เช่น คดีต้องโทษประหารชีวิต คดีเด็ก คดีจำคุกตลอดชีวิต เป็นต้น แต่หากเป็นคดีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คดีเหล่านี้ การที่ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ เป็นหน้าที่ตามกฎหมายและเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในส่วนที่จำเลยบอกว่ามีทนายความแล้วคือกรณีหนึ่ง แต่ในส่วนที่จำเลยบอกว่าจำเลยไม่มีและไม่ต้องการทนายความ และเป็นคดีที่กฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องมีทนายความ ก็สามารถต่อสู้คดีด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีการจัดหาทนายความให้ เพราะสิทธิในการมีทนายความในบางประเภทจำเลยปฏิเสธได้ ดังนั้น หากแยกตรงนี้ออกจากกัน จะได้คำตอบว่าจำเลยไม่จำเป็นต้องมีทนายความทุกคดี แต่ศาลต้องถามเรื่องทนายความทุกคดีเพราะเป็นเรื่องจำเป็นตามกฎหมายและสิทธิมนุษยชน
กระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะเป็นสายพานหรือไม่นั้น ไม่เป็นไร เพียงแต่การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีต่างหากที่ต้องให้ความสนใจ หากการคุ้มครองสิทธิมีอย่างเป็นมาตรฐานแล้วประเด็นเรื่องประสิทธิภาพนั้นเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันทำต่อไป
การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและต่อหน้าจำเลยไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เป็นคนละสิทธิ การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยหมายถึงการเปิดเผยให้สาธารณชนเข้าฟังการพิจารณาได้ใช่แค่เปิดเผยต่อหน้าจำเลยเท่านั้น (ICCPR : General comment 32) เหตุที่ต้องเปิดเผยเพราะการพิจารณาเปิดเผยเป็นการคุ้มครองประโยชน์คู่ความและสังคมโดยภาพรวม โดยเฉพาะเป็นพื้นฐานของกระบวนการในระบบกล่าวหา แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นในเชิงกระบวนพิจารณา หมายถึง จะไม่ใช้กับการพิจารณาก่อนฟ้อง (ชั้นตำรวจ อัยการนั่นเอง) หรือการพิจารณาลับ และไม่ใช้ในการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์ที่มีฐานจากการพิจารณาคดีที่ตรวจสอบจากหลักฐานเป็นหลัก ส่วนข้อยกเว้นในทางเนื้อหา หมายถึง การพิจารณาคดีลับทำได้ 3 อย่าง คือ เฉพาะกรณีการเปิดเผยกระทบความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติในสังคมประชาธิปไตย กระทบสิทธิความเป็นส่วนตัวของคู่ความ และกระทบกระเทือนประโยชน์ของความยุติธรรม ฉะนั้น ในชั้นเวรชี้โดยหลักควรใช้กระบวนการที่เปิดเผยแต่ให้มีข้อยกเว้นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยลับ
ส่วนประเด็นคำรับสารภาพ เป็นสิทธิของจำเลย หากจะรับหรือปฏิเสธ ไม่สามารถมีใครชักจูงหรือบังคับได้ มี 3 ข้อตามหลักการ ได้แก่
- ศาลต้องทำให้มั่นใจว่าจำเลยรับสารภาพด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ถูกข่มขู่ บังคับหรือชักจูง
- ศาลต้องทำให้มั่นใจว่าจำเลยเข้าใจสาระสำคัญและผลของคำรับสารภาพของคดีอาญาต่อไปหรือไม่
- มีหลักฐานอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งอาจไม่ใช่หลักฐานการสืบประกอบเท่านั้น ศาลสามารถลงโทษในวันชี้ได้เลยโดยไม่ต้องไปสืบพยานประกอบตามมาตรา 176 อีก
คำถามจากการเสวนา
คำถาม (1) : จากช่วงแรกที่ รศ.ดร.ปกป้อง กล่าวว่าการที่ปริมาณคดีลดลง แม้จะยังมีห้องเวรชี้อยู่ จำเลยก็ได้รับการคุ้มครองสิทธิที่มากขึ้น ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร และจำเลยได้รับการคุ้มครองสิทธิที่มากขึ้นหรือไม่
คำตอบ (คุณมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์) : ตนไม่แน่ใจว่าปัญหาเกิดขึ้นจากปริมาณคดีหรือไม่ แต่เห็นว่าประเด็นการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเป็นปัญหาเพราะเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยที่ทำให้ห้องเวรชี้เข้าถึงได้ยากมากกว่า การออกแบบระบบรักษาความปลอดภัยทำให้ห้องเวรชี้ไม่มีความเปิดเผย จึงอาจจะต้องไปแก้ไขที่ระบบนั้นมากกว่า ซึ่งในศาลต่างจังหวัดที่มีคดีไม่มาก จำเลยก็มีโอกาสที่จะได้รับความคุ้มครองที่มากขึ้นได้จริง แต่การพิจารณาก็ขึ้นอยู่กับผู้พิพากษาแต่ละท่านด้วย
คำถาม (2) : ในการเข้าห้องชี้ การที่ทนายความจะขออนุญาตเข้านั้น ต้องทำเป็นคำร้องหรือคำแถลง
คำตอบ (คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ): คดีอาญาเป็นคำร้อง ทนายความถ้าหากแต่งทนายและยื่นคำร้องไปแล้วจะสามารถเข้าได้ แต่หากเป็นการพิจารณาโดยเปิดเผยต่อให้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีก็ควรที่จะเข้าไปมีส่วนในการรับฟังการพิจารณาคดีได้
คำถาม (3) : การสอบคำให้การของเจ้าหน้าที่เพื่อเตรียมข้อมูลให้ศาล ข้อมูลนั้นจะมีผลต่อดุลพินิจของศาลหรือไม่
คำตอบ (คุณมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์) : ไม่มีผล เพราะบ่อยครั้งเจ้าหน้าที่สอบมาแล้วแต่เมื่อถึงเวลาศาลถาม จำเลยเปลี่ยนคำตอบ ศาลจะฟังตามที่จำเลยตอบให้ศาลฟังในขณะนั้น ไม่ใช่ฟังที่เจ้าหน้าที่สอบมา
คุณมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา (วิทยากร) :
เวรชี้เป็นระบบงานที่วางอยู่บนนิติเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะมีประสิทธิภาพและมีข้อจำกัดที่ผู้ใช้ต้องระมัดระวังอยู่บ้างบางส่วน และต้องการที่จะพัฒนาให้ระบบเวรชี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีทางเลือกอย่างอื่นทางสถาปัตยกรรมของศาลหรือไม่ที่ทำให้สิทธิของจำเลยได้รับการเชิดชูกว่านี้หรือไม่ และระบบ IT ระบบความปลอดภัยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ความเป็นมนุษย์ของจำเลยเป็นอีกอย่างที่ศาลควรจะคำนึงถึงด้วย และเรื่องการสื่อสารผู้พิพากษาพูดอธิบายฟ้อง ประชาชนเข้าใจหรือไม่ และจะสื่อสารอย่างไร ชาวบ้านถึงจะเชื่อจริง และในแง่จิตวิทยาชาวบ้านมีมุมมองแบบไหน คิดแบบไหนกับกระบวนการยุติธรรม และศาลสามารถรับสำนวนจากพนักงานอัยการได้หรือไม่ โดยไม่ต้องสืบเสาะข้อมูลเพิ่ม และสุดท้าย ยี่ต๊อกที่ดีควรจะเป็นแบบไหน เปรียบเทียบกับต่างประเทศ มีอะไรที่ดีกว่านี้หรือไม่ ที่จะนำไปสู่การแก้ไข ศาลยุติธรรมยังคงพัฒนาปรับปรุงอยู่เสมอ และท่านทั้งหลายเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนากระบวนการยุติธรรม
กล่าวปิดการเสวนา
ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล :
มิติที่ได้รับฟังเป็นมิติเดียวกันเพียงแต่คนละด้าน การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ควรจะเน้นที่เนื้อหามากกว่ารูปแบบที่เป็นพิธีกรรม ตนจึงคิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมนั้นทำงานเป็นท่อน ๆ พิธีกรรมต่าง ๆ อย่างเช่นห้องชี้นั้น คิดว่าความจำเป็นในเรื่องคดีที่มีปริมาณมากควรจะหันเหด้วยวิธีอื่นด้วย ตอนนี้เป็นการแก้เพียงปลายเหตุ สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่มากจากที่ดูสถิติคดีอาญาที่เข้าสู่ศาลชั้นต้นราวหกแสนคดี ในจำนวนนี้มีประมาณร้อยละ 60 เป็นกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องคดี คดีกระจุกกัน แม้ว่าห้องชี้จะเป็นกรณีที่อัยการฟ้องเท่านั้นแต่ต้องไปรวมกับคดีอื่นที่ต้องจัดการเช่นกัน ถึงเวลาที่จะแก้ไขเรื่องนี้ ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีมาตรา 161/1 เกี่ยวกับเรื่องการแกล้งฟ้องร้อง เพราะฉะนั้น ตนคิดว่าในหลาย ๆ เรื่องทั้งในฝั่งของอัยการ บางเรื่องก็เป็นการลองฟ้องคดี เนื่องจากคำพิพากษาจำนวนมากตามโครงสร้างความรับผิดอาญาจะไม่เข้า เช่น อัยการฟ้องเรื่องเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนบริษัทของทนายความท่านหนึ่ง แต่อัยการกลับฟ้องเป็นลักทรัพย์ ซึ่งถ้าหากอัยการได้กลั่นกรองแล้วคดีนี้ไม่ควรไปถึงศาล ในที่สุดเมื่อไปถึงศาลก็ถูกยกฟ้อง แต่ในบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ศาลเคยตัดสินไปแล้ว ถ้าไม่ฟ้องจะเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ขาดความไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรม ตนจึงหวังว่างานนี้จะสร้างมิติใหม่ หัวข้อในวันนี้อย่างน้อยจะกระตุ้นให้คิดว่าสิ่งที่ทำมานั้นถูกหรือเปล่า แม้กระทั่งวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น การตั้ง กพยช. ขึ้นมาคิดว่าควรทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมสามารถทำงานด้วยกันได้และเป็นปัญหาใหญ่ ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่คดีจบเท่านั้น จากที่ได้เรียนเรื่องการรับสารภาพของจำเลย ซึ่งศาลวางหลักอย่างถูกต้องคือหากศาลไม่เชื่อว่าจำเลยกระทำผิด จะไม่ลงโทษแม้จำเลยรับสารภาพเป็นเรื่องที่ถูกต้องอย่างมาก
ตนคิดว่าเราทุกคนคงอยากให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องหารือกันเกี่ยวกับระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไป และขอขอบคุณวิทยากรและนักศึกษาทุกท่านอีกครั้ง