สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ หัวข้อ “โควิด 19 กับความเหลื่อมล้ำทางสังคม” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง วันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 เวลา 13.30-16.30 น. ผ่านระบบ Facebook Live ทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
วิทยากร
- อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อาจารย์พงศยา ภูมิพัฒน์โยธิน อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คุณสิทธิพล ชูประจง ทีมผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายณัฏฐ์ สิงหศิริ นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
กล่าวรายงาน
สืบเนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยประสบกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา เศรษฐกิจและปัญหาในด้านอื่น ๆ ประกอบกับโครงสร้างทางสังคมของประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างมาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มผู้ไร้บ้าน หรือในด้านสถานะทางกฎหมาย เช่น กลุ่มผู้ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หรือชาวต่างชาติ ที่อาจก่อให้เกิดข้อจำกัดหลายประการในการเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐ เช่น การได้รับบริการทางสาธารณสุข การได้รับการตรวจหาเชื้อ หรือการได้รับวัคซีน เป็นต้น หรือการเข้าถึงสิทธิตามมาตรการเยียวยาของรัฐที่เกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน เช่น การเยียวยารายได้ เป็นต้น หากรัฐไม่ดำเนินการให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้เข้าถึงบริการสาธารณะหรือสวัสดิการดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบในภาพรวมของสังคมที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคระบาดได้นั่นเอง
คุณสิทธิพล ชูประจง ทีมผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา
หัวข้อ : สภาพปัญหาและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดต่อกลุ่มคนเปราะบางในสังคมที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19
สภาพปัญหาและข้อเท็จจริงในกรณีคนไร้บ้าน พบว่ามี สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ระลอกแรก คนจำนวนหนึ่งที่กลายเป็นคนไร้บ้านในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เนื่องจากตกงานหรือไม่สามารถหางานทำได้ โดยเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัย 50 ปี อาจเพราะไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน มูลนิธิกระจกเงาได้จัดทำโครงการ “จ้างวานข้า” (จ้างงานคนไร้บ้านโดยมูลนิธิกระจกเงา) เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้คนไร้บ้านได้เข้าสู่ระบบการจ้างงาน มีรายได้และเปลี่ยนผ่านตัวเองให้สามารถพึ่งพาตัวเองและมีที่พักได้ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนจนในเมืองซึ่งไม่ใช่คนไร้บ้านแต่ไม่มีรายได้ เนื่องจากต้องเดินทางออกหางานและรับจ้างตลอดเวลา จึงไม่มีสถานะที่คล้ายคลึงกับคนไร้บ้านอยู่บ้าง ดังนั้น สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ระลอกแรกจึงเป็นการช่วยเหลือกันของคนในสังคมเป็นหลักนั่นเอง
ส่วนสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ระลอกปัจจุบัน พบว่า คนไร้บ้านที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจนน่าเป็นกังวล คนไร้บ้านจำนวนใหม่นี้บางส่วนได้รับสวัสดิการจากรัฐ เช่น เงินเยียวยา หรือบัตรสวัสดิการคนจน เป็นต้น แต่สวัสดิการดังกล่าวก็ไม่สามารถรักษาสถานะทางเศรษฐกิจของเขาให้มั่นคงปลอดภัยได้
ปัญหาสำคัญในกรณีของคนไร้บ้าน ในสถานการณ์ปกติ เช่น การเข้าไม่ถึงสวัสดิการพื้นฐาน โดยเฉพาะอาหาร กล่าวคือภาคประชาชนช่วยกันแจกจ่ายอาหารหรือข้าวกล่องให้แก่กลุ่มบุคคลไร้บ้าน แต่ก็ไม่สามารถกระจายให้ทั่วถึง และในบางกรณีพบว่าอาหารไม่ได้คุณภาพหรือไม่ถูกสุขอนามัยโดยอาจมีบูดเสียหรือหมดอายุแล้ว หรือการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการรักษาก็มักจะเกิดปัญหาเนื่องจากไม่ญาติหรือไม่มีบัตรประชาชน โดยเฉพาะปัญหาการไม่มีบัตรประชาชนและการถูกจัดให้อยู่ในระบบทะเบียนบ้านกลาง ซึ่งกระทบต่อการได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่พึงได้ตามกฎหมายอย่างมาก และเมื่อเข้ามาสู่ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ปัญหาดังกล่าวก็ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
รัฐควรเข้ามาดำเนินการให้กลุ่มคนไร้บ้านได้รับการดูแลและได้ใช้ชีวิตที่ดีตามปกติโดยเร็ว แม้ภาครัฐจะเข้ามาแก้ไขปัญหาดั่งที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ชักชวนให้กลุ่มคนไร้บ้านเข้ามาพักอาศัยในพื้นที่ที่รัฐจัดไว้ให้ (สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง) แต่คนไร้บ้านปฏิเสธที่พักของรัฐอยู่แล้วเพราะที่พักอาศัยดังกล่าวบางที่จัดให้คนไร้บ้านพักอาศัยร่วมกับผู้ป่วยจิตเวท ประกอบกับการเข้ามาของภาครัฐยังดำเนินการช้าซึ่งส่งผลให้คนไร้บ้านจำนวนใหม่ปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตแบบเป็นคนไร้บ้านไปแล้ว
นอกจากนี้ การตรวจคัดกรองคนไร้บ้านที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ไม่ได้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการตรวจคดกรอกควรดำเนินการตรวจในช่วงเวลากลางคืนไม่ใช่ในช่วงเวลาวัน แต่นับว่าโชคดีที่กลุ่มคนไร้บ้านส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงในการแพร่โรคระบาด ส่วนการเข้าถึงวัคซีน รัฐยังคงใช้ระบบเดียวกันกับที่ใช้กับประชาชนทั้งประเทศ ทั้งที่ยังมีกลุ่มคนที่มีเงื่อนไขพิเศษซึ่งต้องมีวิธีการจัดการให้เข้าถึงวัคซีนในอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น คนไร้บ้านไม่ได้อยู่เป็นหลักแหล่ง การที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว ก็ไม่อาจมั่นใจว่าจะสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่สองได้เพราะต้องรอให้ครบกำหนดอีกหลายเดือน เป็นต้น ตัวอย่างประเทศที่แก้ไขปัญหาดังกล่าวจะให้วัคซีนที่สามารถฉีดเข็มเดียวได้ เช่น Johnson & Johnson เป็นต้น อีกทั้งในกรณีที่คนไร้บ้านติดเชื้อโควิด-19 ก็มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการของภาครัฐเพื่อให้ได้เข้าถึงการรักษา ดังนั้น ระบบหรือมาตรการต่าง ๆ ของรัฐจะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของกลุ่มคนต่าง ๆ ด้วยนั่นเอง
การทำงานของภาครัฐ ส่วนมากเห็นว่าไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ โดยส่วนมากเป็นการออกอีเว้นท์ของหน่วยงานรัฐมากกว่าจะเข้ามาจัดการปัญหากลุ่มคนเปราะบางในสังคมอย่างจริงจังและมีแบบแผนไม่ใช่การทำหน้าที่ในลักษณะอย่างขอไปที
ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายที่มีอยู่และการจัดการของภาครัฐ แม้มีจะพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 ก็ไม่ได้ช่วยปรับปรุงโครงสร้างเชิงระบบที่จะช่วยให้คนไร้บ้านได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นเท่าที่ควร โดยมีความเห็นว่ากฎหมายหลายฉบับที่รัฐตราออกมานั้น แม้จะมีหลักการและเนื้อหาที่ดี แต่เมื่อนำมาปรับใช้ในทางปฏิบัติแล้วมักจะเกิดปัญหาขึ้นตามมามากมายจากการปรับใช้ เนื่องจากยังไม่เห็นการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานรัฐและบุคลากรในการรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาอีกประการคือการยึดติดกับข้อความคิดแบบระบบราชการก็อาจส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการจัดการสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันได้เช่นเดียวกัน
อาจารย์พงศยา ภูมิพัฒน์โยธิน อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หัวข้อ : มุมมองนักสังคมสงเคราะห์ต่อปัญหาและการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ของกลุ่มเปราะบางในประเทศไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19)
ในมุมมองนักสังคมสงเคราะห์ต่อปัญหาและการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ของกลุ่มเปราะบางในประเทศไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้ง 4 ระลอกที่ผ่านมา ในเบื้องต้นต้องพิจารณาเกี่ยวกับคำจำกัดความเกี่ยวกับ “กลุ่มเปราะบาง” เนื่องจากหากตีความแล้วไม่ครอบคลุมให้เพียงพอก็อาจมีกลุ่มคนบางส่วนไม่ได้รับการช่วยเหลือนั่นเอง ความหมายโดยทั่วไปหมายถึง กลุ่มประชากรที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกชักจูง ครอบงำและคุกคามจากปัจจัยเสี่ยงด้านต่าง ๆ เช่น วงจรชีวิต สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ๆ รวมถึงขาดศักยภาพหรือขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพในการจัดการกับปัจจัยเสี่ยงที่เผชิญอยู่และผลกระทบที่ตามมา ตัวอย่างเช่น กลุ่มประชากรที่ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ คนไร้บ้าน/คนเร่ร่อน/คนไร้ที่พึ่ง ผู้ไม่มีหลักประกันสุขภาพ เด็กเยาวชนในครอบครัวยากจน ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังรวมถึงการเจ็บป่วยทางจิต เป็นต้น โดยกลุ่มเปราะบางทั่วไปมีความเสี่ยงหรือมีโอกาสที่จะติดเชื่อโควิด-19 ได้อย่างมาก
ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กลุ่มเปาะบางทั้งในต่างจังหวัดและในกรุงเทพมหานครมีประมาณ 13 ล้านคนโดยคิดเป็นร้อยละ 17 ของประชาชน จากการศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญคือการขาดโอกาสและการเข้าถึงทรัพยากร
ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อกลุ่มเปราะบาง ในเชิงเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการตกงาน การขาดรายได้ และการมีหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ส่วนในเชิงสังคม เช่น กรณีเด็กอาจจะส่งผลต่อพัฒนาการและสุขอนามัยของเด็กเพราะผู้ปกครองอาจต้องทำงานหนักขึ้น หรือขาดรายได้ อันส่งผลต่อการเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว กล่าวคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีโอกาสเกิดความรุ่นแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการอยู่บ้านกับผู้กระทำความรุนแรงมากขึ้น หรือความเครียดในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
ในกรณีของคนไร้บ้าน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 อันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐ และคนไร้บ้านจะได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่มีรายได้หรือการงาน นอกจากนี้ แม้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะมีการจัดสถานที่พักให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน ก็ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง อีกทั้งคนไร้บ้านเองชอบความเป็นอิสระ มาตรการดังกล่าวจึงอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการแก้ไขปัญหากลุ่มคนไร้บ้าน อย่างไรก็ดี กลุ่มคนไร้บ้านยินดีที่จะรับบริการหรือสวัสดิการอื่น ๆ จากรัฐ แต่รัฐควรจัดให้มีการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสิทธิดังกล่าว เช่น การลงทะเบียนควรให้มีบุคลากรในการช่วยลงทะเบียนให้ เป็นต้น
ในกรณีมาตรการเยียวยากลุ่มเปราะบางของรัฐ แม้รัฐจะมีมาตรการเยียวยาในหลายรอบ แต่ก็มีปัญหาสำคัญ ได้แก่ ความเสี่ยงที่จะเข้าถึงมาตรการเยียวยา, ความไม่เพียงพอของเงินเยียวยาที่จะให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ, ความเสี่ยงที่ไม่สามารเข้าถึงการรักษา การตรวจเชื้อและวัคซีนที่มีคุณภาพ เนื่องจากแม้ได้รับสิทธิ แต่คุณภาพและความเป็นธรรมในการให้บริการไม่ดีอย่างเพียงพอจึงไม่ชักจูงใจให้คนกลุ่มเปราะบางเข้าสู่ระบบสาธารณสุข, การเข้าไม่ถึงมาตรการและสวัสดิการต่าง ๆ เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องอุปกรณ์ดิจิทัลและทักษะในการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งรูปแบบการให้บริการของรัฐทำแบบออนไลน์ อีกกรณีคือปัญหาเกี่ยวกับฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบางของรัฐที่ไม่ได้สะท้อนกับความเป็นจริง และฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการให้บริการทางสังคมที่กระจัดกระจายและไม่เชื่อมโยงถึงกัน และยังเกิดความซ้ำซ้อนของข้อมูลอันกระทบต่อการนำฐานข้อมูลดังกล่าวมาใช้นั่นเอง
นักสังคมสงเคราะห์หรือจิตอาสาที่เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้เข้าถึงสิทธิหรือสวัสดิการที่พึงได้รับ อาจต้องคำนึงถึงสภาพสังคมที่เข้ามารับบริการว่ามีความซับซ้อนและมีความต้องการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น จึงต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อปัญหาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยฉับพลัน ทั้งยังต้องคำนึงถึงปัญหาสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ที่หนักขึ้น
ข้อจำกัดในการให้บริการกลุ่มเปราะบางในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สำคัญคือทักษะในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีของผู้ปฏิบัติงานในฐานะผู้ให้บริการรวมไปถึงกลุ่มเปราะบางในฐานะผู้รับบริการ และข้อจำกัดในเรื่องระบบฐานข้อมูลของรัฐที่ไม่เชื่อมต่อกัน รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้จากผู้รับบริการ นอกจากนี้ยังเกิดภาวะเปราะบางของผู้ปฏิบัติงานเอง โดยเฉพาะในเรื่องจิตใจของผู้ปฏิบัติงานอันเนื่องมาจากการสะสมความเหนื่อยล้าในการปฏิบัติงาน และการลดเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่ไม่จำเป็นในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานนั่นเอง
แนวทางการให้ความช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบางที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อมสำหรับปัญหาสังคมอื่น ๆ ที่จะตามมา นอกจากการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าและการสนับสนุนกลุ่มเปราะบาง ยังรวมถึงแนวทางช่วยเหลือในระยะยาว เช่น การศึกษา สุขภาพจิต และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ข้อเสนอมาตรการเพิ่มเติม 1. การอาศัยกลไกท้องถิ่นและนอกภาครัฐ เช่น อสม. ในชุมชน ซึ่งมีความใกล้ชิดกลุ่มเปราะบางบางกลุ่มมากที่สุดในการค้นหา ให้ข้อมูลและดูแลกลุ่มเปราะบาง เพื่อบรรเทาและให้ได้รับการเยียวยาด้วยการให้เกิดการตกหล่นน้อยที่สุดนั่นเอง 2. การส่งเสริมการมีงานทำเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงชีพ และ 3. การเตรียมความพร้อมในการวางระบบคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมกลุ่มประชากรเปราะบางทุกกลุ่มและทุกคน
ส่วนข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้แก่ 1. การเร่งศึกษาผลกระทบทางสังคมต่อกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดระลอกใหม่ 2. การมีมาตรการเยียวยาเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่เสี่ยงจะเกิดแผลเป็น 3. การมีมาตรการเฝ้าระวังการเกิดกลุ่มที่เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจและสังคม 4. การพิจารณาให้วัคซีนกับกลุ่มเปราะบางที่รวดเร็วกว่ากลุ่มอื่น และ 5. ในระยะยาวจะต้องทำการปรับปรุงระบบความคุ้มครองทางสังคม (Social Protection)
อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ม หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หัวข้อ : มุมมองนักกฎหมายระหว่างประเทศต่อการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ ของคนต่างด้าวในประเทศไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสิ่งที่มากกว่าสถานการณ์โรคระบาด แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิกฤติสุขภาพของหนึ่งคน หนึ่งครอบครัว หนึ่งชุมชน และก็หนึ่งสังคม เมื่อเกิดวิกฤติดังกล่าว วิกฤตอีกประการที่ตามมาคือวิกฤตในระบบสาธารณสุขของรัฐไทย จึงเป็นสถานการณที่รัฐต้องออกมาใช้มาตรการต่าง ๆ ต่อการจัดการวิกฤตนี้ มาตรการดังกล่าวอาจกระทบสิทธิของประชาชน โดยอาจกระทบต่อสิทธิในสุขภาพและการเข้าถึงสาธารณสุข และกระทบสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยทั้งสองกรณีต่างอยู่ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การสหประชาชาติ โดยกฎหมายระหว่างประเทศได้วางหลักการทั่วไปหรือกรอบในการคุ้มครองสิทธิของมนุษย์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ตกอยู่ในความเหลื่อมล้ำอยู่แล้วให้เหลื่อมล้ำน้อยลงหรือไม่ขยายความเหลื่อมล้ำออกไปให้มากขึ้น และความเหลื่อมล้ำนี้ไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำตามที่กฎหมายกำหนด แต่เป็นผลกระทบเนื่องจากความต่างทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมหรือภาษา มนุษย์หรือคนต่างด้าวแต่ละคนก็จะตกอยู่ในวิกฤติหรือสถานการณ์ดังกล่าวในรูปแบบที่แตกต่างกัน
กรณีกฎหมาย ข้อเสนอ ข้อกังวลในทางระหว่างประเทศต่อการคุ้มครอง “คนต่างด้าว” ในวิกฤติโควิด-19
ในกรณีคนต่างด้าว ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คนต่างด้าวเผชิญกับสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการถูกเลือกปฏิบัติอยู่แล้วจากสถานะทางกฎหมายระหว่างคนชาติกับคนต่างด้าว ในขณะระหว่างคนต่างด้านด้วยกันเองก็เสี่ยงเช่นเดียวกันโดยเฉพาะคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายกับผิดกฎหมาย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คนต่างด้าวเสี่ยงที่จะถูกเลือกปฏิบัติมากขึ้น แม้มาตรการต่าง ๆ ของรัฐอาจจะไม่ได้เลือกปฏิบัติเวลาที่เขียนบนหน้ากระดาษ แต่คนต่างด้าวแต่ละคนก็มีข้อมีข้อจำกัดในการรับมือกับมาตราการนั้นแตกต่างกัน เช่น ภาษา หรือการหางานในกรณีถูกเลิกจ้าง นั่นหมายความว่าคนต่างด้าวอาจจะอยู่สถานการณ์ที่ได้รับความเหลื่อมล้ำมากกว่าคนชาติหรือได้รับมาตรการเยียวยาที่อาจต่ำกว่าคนชาตินั่นเอง
ความเหลื่อมล้ำของคนต่างด้าวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจพิจารณาได้ 2 มิติ ได้แก่ มิติแรกคือ การเข้าถึงบริการสาธารณสุข ส่วนมิติที่สองคือ การเข้าถึงสวัสดิการและการเยียวยาจากรัฐ เช่น การทำงานหรือการศึกษา เป็นต้น
ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ได้คำนึงและมองเห็นความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่แล้ว เช่น กติการะหว่างประเทศว่าสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights : ICESCR) Article 12 ที่วางหลักการให้รัฐภาคีมีหน้าที่ในการป้องกัน รักษาและควบคุมโรคระบาด ประกอบกับแถลงการณ์ของ Economis and Sococial Council กรรมการชุดนี้ออกแถลงการณ์ว่ามาตรการการจัดการโรคระบาดเป็นสิ่งที่รัฐภาคีต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้มาตราการและการจัดการโรคระบาดจะต้องครอบคลุมถึงกลุ่มเปราะบาง (vulnerable groups) ด้วย ในทางระหว่างประเทศกลุ่มเปราะบางยังรวมถึงมนุษย์ที่เสี่ยงต่อการถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกลดคุณค่า (groups subject to structural discrimination and disavantge) และมาตรการต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละกลุ่มด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มแรงงานต่างด้าว หรือกรณีตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Committee on the Elimination of Racial Discrimination (CERD) – OHCHR) Article 2 ที่วางหลักการว่ารัฐภาคีจะต้องไม่เปลือกปฏิบัติ และมีหน้าที่ระวังป้องกันไม่เกิดการเลือกปฏิบัติโดยเฉพาะปัญหาการเลือกปฏิบัติในทางปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ ทั้งยังต้องทบทวนมาตรการดังกล่าวเสมอ ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสองกรณีจะเห็นว่าได้ให้ความสำคัญกับหลักการไม่เลือกปฏิบัตินั่นเอง
นอกจากนี้ ข้อแถลงการณ์ของคณะกรรมการตามกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) เห็นว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและระบบสาธารณสุขของรัฐ แต่ประชาชนจะต้องได้รับการเยียวยาเนื่องจากมาตรการของรัฐที่ออกมอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนไปในระดับที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม การเยียวจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั่นเอง
ดังนั้น การรับมือความเหลื่อมล้ำต่อคนต่างด้าวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในมิติกฎหมายระหว่างประเทศ คือรัฐต้องไม่เลือกปฏิบัติและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ (non-discrimination) ได้แก่ การเข้าถึงบริการสาธารณสุข (right to health for all) เช่น ข้อมูลสุขภาพ การเฝ้าระวังตรวจเชื้อและการรักษา การป้องกันโรค เป็นต้น และการเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยคำนึงถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจสังคมของบุคคลบาลกลุ่ม (right to obtain effective remedies) จะเข้ามาช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนต่างด้าวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั่นเอง
กรณีสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่คนต่างด้าวในสังคมไทยเผชิญในวิกฤตโควิด-19 (คนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ แรงงานต่างด้าว ผู้ลี้ภัย และคนไทยในต่างประเทศ)
ในกรณีคนไร้รัฐ ซึ่งอาจซ่อนอยู่ในรูปแบบคนไร้บ้านหรือไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนก็ได้ ความพยายามของภาครัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขในการให้คนไร้รัฐได้เข้าถึงมาตรการการฉีดวัคซีนได้ ด้วยการออกเลขประจำตัว 13 หลักสำหรับการเข้าสู่ระบบการฉีดวัคซีนของรัฐบาล แต่ยังไม่ปรากฏข้อมูลว่าวิธีการดังกล่าวดำเนินการไปแล้วและเกิดผลอย่างไรขึ้นบ้าง
ในกรณีคนไร้สัญชาติ แม้มีบัตรประจำตัวซึ่งไม่มีเลขหลังบัตร จึงเป็นอุปสรรคต่อการสมัครลงทะเบียนเพื่อได้รับการฉีดวัคซีนในระบบหมอพร้อม ดังนั้น แม้รัฐจะพยายามให้มีการเข้าถึงระบบสาธารณสุขแต่ก็อาจเกิดกรณีดังกล่าวได้ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะข้อจำกัดในทางเทคโนโลยีของกลุ่มคนไร้รัฐ ไร้สัญชาตินั่นเอง
ในกรณีแรงงานต่างด้าว ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ 1. ปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงสถานะบุคคลถูกกฎหมายหรือแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย เพราะสถานการณ์โควิด-19 อาจทำให้แรงงานต้องกลายเป็นผู้ตกงานจึงไม่อาจขอใบอนุญาตทำงานได้ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมถึงนโยบายของฝ่ายบริหารที่กำหนดให้การขอใบอนุญาตที่ต้องมีผลตรวจโรคโควิด-19 และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่แรงงานต่างด้าวต้องแบบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวเอง 2. ปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้ 3. ปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิการและการได้รับการเยียวยาจากรัฐช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยขาดความชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่เพียงพอ เนื่องจากมีการกำหนดจำกัดสิทธิอย่างชัดเจน แต่ไม่มีความชัดเจนในมาตรการเยียวยาแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีกรณีแรงงานที่อยู่นอกระบบ ปัญหาจึงมีว่าแรงงานกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิในสาธารณสุขและการเยียวยามากน้อยเพียงใด
ในกรณีผู้ลี้ภัย แม้เป็นคนต่างด้าวและอาจซ้ำซ้อนกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่ก็มีปัญหาว่าผู้ลี้ภัยที่อยู่ในห้องกักที่ ต.ม. เป็นผู้จัดการดูแล จะได้รับสิทธิในบริการสาธารณสุขและการเยียวยามากน้อยเพียงใดเช่นเดียวกัน
ในกรณีคนเสมือนคนต่างด้าวหรือคนไทยในต่างแดนช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาคือการที่รัฐออกมาตรการจำกัดการเดินทางกลับประเทศไทยที่เรียกร้องเอกสารบางอย่างเพิ่มเติม ซึ่งก่อให้เกิดภาระต้นทุนแก่กลุ่มคนดังกล่าวอย่างมากนั่นเอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หัวข้อ : มุมมองนักกฎหมายมหาชนต่อการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ ในประเทศไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19
ในด้านกฎหมายมหาชน แม้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการดำเนินการของภาครัฐนั้นเป็นไปอย่างล่าช้า แต่ก็เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่รัฐเผชิญในยามปกติและเป็นวิกฤตระดับโลกในฐานะที่เป็นโรคอุบัติใหม่ แม้ภาครัฐจะมีการตราพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 และมีการเตรียมแผนงานรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์และกฎหมายดังกล่าวอาจพอที่จะช่วยให้แก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ไปได้บ้าง ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นการดำเนินการที่ยังช้าอยู่
ในปัญหาด้านการจัดการของรัฐผ่านกฎหมายที่มีอยู่ เช่น พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ความเข้าใจต่อกฎหมายดังกล่าวคือมุ่งที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเหตุจลาจลมากกว่าการจัดการสถานการณ์โรคระบาด รวมไปถึงพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่กฎหมายดังกล่าวไม่อาจใช้ในการป้องกันโรคติดต่อในระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีการใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินมาเสริมโดยเฉพาะในเรื่องที่กฎหมายดังกล่าวไม่มีกำหนดไว้เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี มีความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้ คล้ายกับประมวลกฎหมายสาธารณสุขของประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอีกฉบับคือพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ที่ใช้ร่วมกับกฎหมายอื่น ๆ ในการแก้ไขสถานการณ์นี้ แต่กฎหมายเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับประเทศมากกว่าจะเป็นวิกฤตโรคระบาดในระดับโลก
ส่วนเหตุผลที่ทำให้รัฐดำเนินการได้ช้าเนื่องจากรัฐจำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎหมาย ประกอบกับมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับและโครงสร้างการบริหารของภาครัฐเอง จึงมีการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการให้นายกรัฐมนตรีรวมอำนาจการสั่งการและบริหาร เพื่อให้การจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี มาตรการของรัฐอาจไม่ได้ออกแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มคนต่าง ๆ จึงอาจส่งผลให้กลุ่มคนเปราะบางถูกละเลยไปและมาตรการต่าง ๆ ก็ไม่สามารถใช้แก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง
นโยบายที่รัฐจะต้องทำต่อไปคือการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมกับโรคระบาด เช่น การควบคุมการแพร่ระบาด และการให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อด้านสังคมและความยั่งยืนซึ่งรวมไปถึงปัญหาด้านจิตใจของประชาชน เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รัฐเองก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้อย่างสิ้นเชิงเพราะตัวรัฐก็มีข้อจำกัดโดยตัวมันเอง จึงเห็นว่าความร่วมมือระหว่างรัฐกับสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการจัดการวิกฤติการณ์นี้
คำถามจากการเสวนา
คำถาม (1) : คนไร้บ้านถ้าติดโรคโควิด-19 มีเคสที่จะได้รับการรักษาจากหน่วยงานรัฐบ้างหรือไม่
คุณสิทธิพล ชูประจง : ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาดำเนินการได้อย่างยากโดยเฉพาะการติดต่อให้มารับตัวผู้ป่วยก็เป็นไปได้ยาก และการเรียกร้องผลตรวจ RT-PCR (Polymerase chain reaction) ก่อน ซึ่งก็เป็นไปได้ยากเช่นเดียวกันเพราะต้องมีการเคลื่อนที่ผู้ป่วย แต่ในช่วงหลัง เนื่องจากมีเตียงว่างที่พอจะรองรับได้และสามารถดำเนินการติดต่อได้สะดวกขึ้น
คำถาม (2) : ในการทำงานภาคเอกชน เช่น มูลนิธิต่าง ๆ มีงบประมาณสนับสนุนจากแหล่งใดและเพียงพอต่อการดำเนินการหรือไม่
คุณสิทธิพล ชูประจง : มูลนิธิกระจกเงามีการทำ Social Enterprise ด้วยการรับของบริจาคแล้วมาบริหารจัดการเพื่อจำหน่าย เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น อีกส่วนมาจากการรับเปิดรับบริจาคจากสังคม
คำถาม (3) : หน่วยงานรัฐใดบ้างที่จะเข้ามาช่วยในการจัดการปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศจะนำเข้าวัคซีนด้วยตัวเองสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องหรือไม่อย่างไร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ : มีความจำเป็นที่จะต้องระดมทุกภาคส่วนของหน่วยงานรัฐ โดยมีศูนย์กลางบริหารอยู่ที่ ศบค. ส่วนในกรณีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกประกาศที่จะนำเข้าวัคซีนนั้นเป็นการทำเพื่อสังคมเป็นสำคัญ โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2558 เป็นฐานในการออกประกาศดังกล่าว นอกจากนี้มีข้อกังวลตามที่วิทยากรผู้บรรยายได้ให้ความเห็นคือ กฎหมายที่มีอยู่และมาตรการที่ออกมาในช่วงเวลานี้มุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ขาดการกำหนดมาตรการเยียวยาที่เป็นกิจจะลักษณะ จึงควรที่จะมีกฎหมายและมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีฐานแห่งการจ่ายเงินหรือเยียวยาโดยชอบตามกฎหมาย ตัวอย่างกรณีตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แม้กฎหมายจะกำหนดให้หน่วยงานรัฐชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีระบบการเยียวยาความเสียหายที่มีความชัดเจนแน่นอนและเป็นรูปธรรมเพียงพอนั่นเอง