สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตด้วยสิทธิตามกฎหมาย” วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องศาลจำลอง มารุต บุนนาค (ห้อง 211) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และถ่ายทอดสดทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสวนาวิชาการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนวิชา น.461 หลักวิชาชีพนักกฎหมาย จัดโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากรโดย
- ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รศ.สมยศ เชื้อไทย กรรมการกฤษฎีกา / อาจารย์พิเศษและอดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พ.ต.อ.สมพัฒน์ ลีลาพจนาพร รองผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร
- คุณอุษา จั่นพลอย บุญเปี่ยม ผู้อำนวยการกองนโยบายและประสานแผนกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจกาจยุติธรรม
- คุณปวีณา จันทร์เอียด นิติกรชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ดำเนินรายการโดย อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สรุปความโดย นายวัฒนกร อุทัยวิวัฒน์กุล นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณกมลชนก ต่อมแก้ว (ตัวแทนนักศึกษา) : สืบเนื่องจากระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำหนดให้นำรายชื่อกับประวัติของผู้ต้องหาทุกรายบันทึกลงในทะเบียนประวัติอาชญากร แต่เมื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสอง ที่วางหลักว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” จึงเกิดการตั้งคำถาม เช่น เหตุใดผู้ต้องหาต้องถูกบันทึกชื่อลงในทะเบียนประวัติอาชญากร หรือเหตุใดที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผู้ต้องหาต้องถูกบันทึกชื่อลงในทะเบียนประวัติอาชญากร หรือเหตุใดที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ผู้ต้องหายังคงมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นต้น โดยประเทศไทยมีประชาชนมากกว่า 10 ล้านคนที่ถูกบันทึกชื่อและได้รับผลกระทบจากการมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร แม้ว่าระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะกำหนดให้สถานีตำรวจรายงานผลคดีแก่กองทะเบียนประวัติอาชญากรไม่เกินวันที่ 5 หรือ 6 ของทุก ๆ เดือน เพื่อให้ข้อมูลในทะเบียนทันสมัยอยู่เสมอ แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เพราะปริมาณงานของพนักงานสอบสวนแต่ละสถานีตำรวจมีจำนวนมากไม่สอดคล้องกับจำนวนบุคลากรที่มีอยู่ ทำให้การติดตามและส่งผลคดีแก่กองทะเบียนประวัติอาชญากรเกิดความล่าช้า นอกจากนี้บุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการคัดกรองข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรมีจำนวนไม่มากพอกับปริมาณคดีในแต่ละเดือน ทำให้ผลของคดีเกิดการค้างสะสมเป็นจำนวนมาก
สาเหตุของปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การขาดการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ หรือศาล ทำให้ภาระตกอยู่กับประชาชนที่ต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอคัดแยกข้อมูลในทะเบียนประวัติอาชญากรด้วยตนเอง ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมและไม่สร้างภาระให้แก่ประชาชน จึงควรผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบบทะเบียนประวัติอาชญากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยแยกทะเบียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ทะเบียนผู้ต้องหากับทะเบียนอาชญากร และจัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
กล่าวว่า เมื่อบุคคลใดถูกพิมพ์ลายนิ้วมือ ชื่อของบุคคลนั้นจะถูกบันทึกลงในทะเบียนประวัติอาชญากรโดยที่บุคคลดังกล่าวอาจไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังจะเป็นอาชญากร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในบรรดาปัญหาความไม่เป็นธรรมทั้งหลาย ซึ่งต้นเหตุของปัญหา คือ การที่ระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดให้เอารายชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาทุกคนบันทึกลงในทะเบียนประวัติอาชญากร ส่งผลให้ผู้ต้องหาบางคนที่ศาลยกฟ้องหรืออัยการสั่งไม่ฟ้องไม่สามารถสมัครเข้าทำงานได้ เพราะสถานประกอบการหรือนายจ้างตรวจพบว่าผู้สมัครงานมีประวัติอาชญากรทั้ง ๆ ที่บุคคลนั้นไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุจึงควรแยกทะเบียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ทะเบียนผู้ต้องหาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ดูแล และทะเบียนประวัติอาชญากรให้กระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบ
อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : จากการที่รศ.ดร.ปกป้อง ได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิธีการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากรในต่างประเทศแล้ว ระบบทะเบียนประวัติอาชญากรของต่างประเทศเหมือนหรือแตกต่างกับระเบียบของสำนักตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมืออย่างไร และควรนำแนวคิดของต่างประเทศมาประยุกต์ใช้กับระบบทะเบียนประวัติอาชญากรไทยหรือไม่
รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
กล่าวถึง ระบบทะเบียนประวัติอาชญากร 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมัน และประเทศสิงคโปร์ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้ให้ความสำคัญกับระบบทะเบียนประวัติอาชญากรเพราะมองว่าเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิของประชาชนและเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับหลาย ๆ หน่วยงานรัฐ กฎหมายที่ใช้บังคับกับเรื่องประวัติอาชญากรจึงเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติทั้งสิ้น โดยอาจอยู่ในรูปของพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องทะเบียนประวัติอาชญากรโดยเฉพาะหรือประมวลวิธีพิจารณาความอาญาก็ได้ แตกต่างกับประเทศไทยที่ระดับของกฎหมายเป็นเพียงระเบียบ ซึ่งเป็นระเบียบภายในของสำนักงานตำรวจ ทำให้การประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ทำได้ยาก
วัตถุประสงค์หลัก ๆ ของระบบทะเบียนประวัติอาชญากรทั้งสามประเทศมีอยู่ 2 ด้าน คือ (1) การบันทึกประวัติของคนที่เคยกระทำความผิด เพื่อเตือนให้สังคมรู้ว่าบุคคลใดบ้างที่เป็นภัยต่อสังคมและเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งระบบทะเบียนประวัติอาชญากรของประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ในด้านนี้ เพราะมีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ขั้นการเป็นผู้ต้องหาโดยเก็บตลอดไปไม่มีการลบ แต่สามารถขอคัดแยกข้อมูลไปเก็บไว้ในฐานระบบอื่นได้ หรือกรณีที่เคยถูกศาลตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิด ก็จะไม่มีทางลบข้อมูลประวัติอาชญากรของคน ๆ นั้นเลยจนกว่าจะตาย (2) การฟื้นฟูโอกาสให้ผู้กระทำความผิดให้สามารถกลับเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อีกครั้ง ซึ่งระบบทะเบียนประวัติอาชญากรของประเทศไทยยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในด้านนี้
ตัวอย่างแนวคิดทะเบียนประวัติอาชญากรของต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศสมีบทบัญญัติเรื่องทะเบียนประวัติอาชญากรอยู่ในหมวด ๆ หนึ่งของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยกำหนดให้มีทะเบียนประวัติอาชญากร 3 หมายเลข ได้แก่ (1) ทะเบียนหมายเลข 1 เป็นทะเบียนสำหรับเก็บข้อมูลลับ ซึ่งหน่วยงานที่สามารถเข้าถึงข้อมูลลับนี้ได้มีเฉพาะหน่วยงานด้านยุติธรรมเท่านั้น เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล เป็นต้น โดยหน่วยงานภาคเอกชนจะขอตรวจสอบข้อมูลในทะเบียนนี้ไม่ได้ (2) ทะเบียนหมายเลข 2 ผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ คือ หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชนที่ต้องการจ้างลูกจ้างให้ทำงานเกี่ยวกับเด็ก เช่น ครู พี่เลี้ยงเด็ก (3) ทะเบียนหมายเลข 3 คนทั่ว ๆ ไปสามารถเข้าถึงข้อมูลประวัติอาชญากรได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนผู้เคยกระทำความผิดและมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรหมายเลข 3 หากประสงค์ให้ชื่อของตนเองถูกลบ ต้องรอให้พ้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง เช่น หลังพ้นโทษภายใน 5 ปี ถ้าไม่ได้กระทำความผิดซ้ำ สามารถยื่นเรื่องขอลบประวัติอาชญากรได้ เพื่อรับโอกาสในการกลับเข้าสู่สังคมและมีสิทธิได้งานใหม่อีกครั้ง หรือประเทศเยอรมัน จะบันทึกข้อมูลของอาชญากรต่อเมื่อศาลพิพากษาลงโทษแล้วเท่านั้น และบางคดีที่ฐานความผิดไม่ได้ร้ายแรง หากไม่ได้กระทำความผิดซ้ำภายหลังจากการพ้นโทษ 3 ปี ก็สามารถขอลบประวัติอาชญากรออกจากระบบได้ หรือประเทศสิงคโปร์ ภายหลังจากการพ้นโทษเป็นเวลา 5 ปี และไม่ได้กระทำความผิดซ้ำอีก ผู้มีประวัติอาชญากรสามารถทำเรื่องขอลบชื่อของตนเองออกจากระบบได้ ซึ่งเมื่อชื่อถูกลบแล้ว หน่วยงานรัฐไม่สามารถขอตรวจสอบได้อีก และหากมีใครถามว่าเคยมีประวัติอาชญากรหรือไม่ สามารถตอบได้ว่าไม่เคยมีประวัติอาชญากรหรือไม่เคยติดคุกมาก่อน ซึ่งการตอบเช่นนี้ไม่ทำให้มีความผิดฐานแจ้งความเท็จแต่อย่างใด
ระบบทะเบียนประวัติอาชญากรของประเทศไทยแตกต่างกับแนวคิดของ 3 ประเทศอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติวางเงื่อนไขในการขอคัดแยกข้อมูลออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรไว้เพียง 19 กรณี เช่น กรณีศาลตัดสินว่าไม่ใช่ผู้กระทำความผิด หรือกรณีได้รับการบำบัดฟื้นฟูจากยาเสพติดแล้ว เป็นต้น แต่ทั้ง 19 กรณีไม่มีกรณีของผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ดังนั้น บุคคลใดที่เคยรับโทษจำคุกแม้เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย ก็ไม่สามารถขอคัดแยกข้อมูลออกจากฐานระบบได้ ทำให้บุคคลนั้นต้องมีข้อมูลประวัติอาชญากรติดตัวไปตลอดชีวิตจนกว่าจะตาย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ปัญหาต่อไป
อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : ปัจจุบันระบบทะเบียนประวัติของประเทศไทย มีอุปสรรคหรือข้อขัดข้องในการดำเนินการตามระเบียบของสำนักตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือหรือไม่ อย่างไร
พ.ต.อ.สมพัฒน์ ลีลาพจนาพร รองผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร (วิทยากร) :
กล่าวว่า หน้าที่หลักของกองทะเบียนประวัติอาชญากร คือ สนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม กองทะเบียนประวัติอาชญากรจึงต้องมีข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาคดีอาญา หากผู้ใดถูกพนักงานสอบสวนกล่าวหาและถูกให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกเก็บไว้ในทะเบียนอาชญากรเพื่อดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป เมื่อศาลมีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดแล้ว หัวหน้าประจำสถานีตำรวจแต่ละที่ต้องนำผลคดีมาให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อตรวจสอบและคัดแยกข้อมูลออกจากฐานระบบทะเบียนประวัติอาชญากรหลักตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป
ส่วนประเด็นเรื่องบุคคลที่จะขอเข้ามาตรวจสอบประวัติอาชญากร สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ (1) บุคคลของหน่วยงานราชการที่ต้องใช้ข้อมูลเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติการเข้ารับราชการ หรือการขอข้อมูลเพื่อออกใบอนุญาตต่าง ๆ เช่น ใบขับขี่ ใบขอเปิดโรงรับจำนำ เป็นต้น สามารถขอข้อมูลได้ เมื่อหน่วยงานราชการมีอำนาจขอตรวจสอบตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ กองทะเบียนประวัติอาชญากรก็ต้องแจ้งข้อมูลทุกอย่างให้แก่หน่วยงานราชการ เว้นแต่ ข้อมูลของเด็กและเยาวชนที่มีกฎหมายพิเศษคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะ (2) ประชาชนผู้เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนตัว สามารถขอตรวจสอบได้ ซึ่งเมื่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาตรวจสอบ สถานประกอบการหรือนายจ้างมักให้ผู้สมัครงานเซ็นยินยอมขอตรวจประวัติอาชญากร ปัญหา คือ หลาย ๆ คดีที่เข้าเงื่อนไขในการคัดแยกข้อมูลออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร ยังไม่ถูกคัดแยกออกจากฐานข้อมูลหลัก เพราะกระบวนการส่งผลคดีของแต่ละสถานีตำรวจมีความล่าช้า เมื่อสถานีตำรวจไม่ส่งผลคดีให้แก่กองทะเบียนประวัติอาชญกร ๆ จึงดำเนินการคัดแยกข้อมูลไม่ได้ ส่งผลให้ผู้สมัครงานถูกตรวจพบว่ามีประวัติอาชญากร อันกระทบต่อสิทธิในการเข้าทำงานของผู้สมัครงานนั้น
อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : ร่างพ.ร.บ.ประวัติอาชญากรรม มีแนวคิดมาจากไหน และเมื่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว จะเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่เดิมอย่างไร
คุณอุษา จั่นพลอย บุญเปี่ยม ผู้อำนวยการกองนโยบายและประสานแผนกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจกาจยุติธรรม (วิทยากร) :
กล่าวว่า ในปัจจุบันกระทรวงยุติธรรมเผชิญกับปัญหานักโทษจำนวนมากในเรือนจำ ซึ่งมีราว ๆ 360,000 – 370,000 คน อันเป็นจำนวนที่มากเกินกว่ากรมราชทัณฑ์จะแบกรับได้ และมีปัญหาเรื่องนักโทษที่ออกจากไปจากเรือนจำกระทำความผิดซ้ำ ทำให้ต้องกลับมาเรือนจำใหม่อีกครั้ง โดยจำนวนผู้ที่กระทำความผิดซ้ำและถูกจำคุกในเรือนจำใหม่ พบว่า ในปีแรกมีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 14 ถึง 15 หรือในปีที่สองมีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 9 หรือในปีที่สามมีประมาณ 35 คน สาเหตุที่ทำให้นักโทษที่ถูกปล่อยตัวไปกระทำความผิดซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากนักโทษที่ถูกปล่อยตัวไม่สามารถหาอาชีพหรือหางานในสังคมได้ จึงต้องกระทำความผิดโดยไม่มีทางเลือกเพื่อให้ตนเองสามารถอยู่รอดในสังคม กระทรวงยุติธรรมจึงพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรไม่ให้นักโทษที่ถูกปล่อยตัวไปกระทำความผิดซ้ำอีก ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องทะเบียนประวัติอาชญากร
จากการตรวจสอบพบว่าประเทศไทยมีเพียงกฎหมายที่เป็นระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เข้ามาจัดการเรื่องทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะข้อมูลของผู้ต้องหาที่ศาลยังไม่ตัดสินว่ามีความผิดถูกทำให้สามารถตรวจสอบและเปิดเผยได้ กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลก่อนหรือหลังจากศาลพิพากษาก็ถูกตรวจสอบและเปิดเผยได้ทั้งหมด โดยข้อมูลที่เปิดเผยออกไปหลาย ๆ ข้อมูลเป็นข้อมูลเก่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับผลคดีปัจจุบัน ทำให้เจ้าของข้อมูลยังคงถูกตรวจพบว่าเป็นผู้มีประวัติอาชญากรรม
กระทรวงยุติธรรมได้ทำการศึกษาระบบทะเบียนประวัติอาชญากรของต่างประเทศ เพื่อจัดทำร่างพ.ร.บ.ประวัติอาชญากร โดยจากการศึกษา พบว่า (1) ข้อมูลประวัติอาชญากรสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ข้อมูลก่อนที่ศาลมีคำพิพากษา และส่วนที่สอง ข้อมูลที่ศาลพิพากษาแล้ว ซึ่งประเทศไทยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานในการจัดเก็บข้อมูลทั้งสองส่วนไว้ทั้งหมด จึงเกิดคำถามว่าการเก็บข้อมูลของผู้ต้องหาที่ศาลยังไม่พิพากษาไว้ในทะเบียนประวัติอาชญากรขัดต่อหลัก Presumption of Innocence หรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักกับประโยชน์ของรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันอาชญากรรม (2) ในทางสากลการเปิดเผยข้อมูลทำได้เฉพาะเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วเท่านั้น กล่าวคือ โดยหลักต้องปกปิดข้อมูล แต่อาจเปิดเผยแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ เช่น เจ้าของข้อมูล หรือเปิดเผยให้กับบางหน่วยงานรัฐที่มีกฎหมายให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่การแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น กฎหมายการขนส่งทางบกบอกว่าผู้ขอใบขับขี่ต้องไม่มีประวัติอาชญากรมาก่อน เช่นนี้กรมขนส่งทางบกสามารถขอสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบทะเบียนประวัติอาชญากรได้เพราะมีกฎหมายให้อำนาจกรมขนส่งทางบกไว้ อย่างไรก็ดี การเปิดเผยข้อมูลต้องพิจารณาถึงระยะเวลาด้วย เช่น หากพ้นระยะเวลา 5 ปีนับจากการถูกปล่อยตัวและไม่เคยกระทำความผิดอีก การเปิดเผยข้อมูลก็ทำไม่ได้ หรือหากมีพ.ร.บ.ล้างมลทินออกมาบังคับใช้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพ.ร.บ.ล้างมลทิน ก็ได้รับความคุ้มครองในการไม่ถูกเปิดเผยข้อมูลด้วย ทั้งนี้ ต้องไม่ใช่คดีที่กระทบต่อความเชื่อมั่นหรือกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน หากเป็นคดีที่มีความร้ายแรง เช่น ฆ่าคนตายโดยเจตนา ข่มขืนเด็กอายุน้อย เป็นต้น คดีเหล่านี้ต้องถูกเปิดเผย
ส่วนประเด็นว่าเมื่อร่างพ.ร.บ.ประวัติอาชญากรรมมีผลใช้บังคับแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น การเก็บข้อมูลประวัติอาชญากรของประเทศไทยจะเปลี่ยนมาใช้ระบบนายทะเบียน ซึ่งนายทะเบียนคือศาลยุติธรรมมีหน้าที่จัดเก็บข้อมูลทั้งหมดภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว การขอหรือเปลี่ยนแปลงหรือเปิดเผยข้อมูลจึงขึ้นอยู่กับนายทะเบียนว่าจะอนุญาตหรือไม่ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของร่างพ.ร.บ.ประวัติอาชญากรรมหรือของกฎหมายลำดับรอง ดังนั้น การตรวจสอบข้อมูลประวัติอาชญากรจึงไปที่ศาลยุติธรรม ไม่ต้องไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกต่อไป
อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : ระเบียบของสำนักตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือไม่มีการกำหนดนิยามคำว่า “อาชญากร” ซึ่งหากพิจารณาภาพรวมของทะเบียนแล้ว อาชญากรในที่นี้รวมถึงผู้ต้องหาด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร เรื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่
คุณปวีณา จันทร์เอียด นิติกรชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (วิทยากร) :
กล่าวว่า หลังจากงานเสวนาในหัวข้อนี้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2561 ได้นำเรื่องทะเบียนประวัติอาชญากรไปรายงานต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นควรให้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับคำร้องเรียนจากผู้เสียหายหลายกรณี เช่น
กรณีแรก เมื่อปลายปี พ.ศ.2562 มีการพิจารณาคำร้องหลาย ๆ คำร้องร่วมกันเพราะต่างเป็นคำร้องที่ได้รับผลกระทบจากการถูกปฏิเสธเข้าทำงาน โดยผู้ร้องทั้ง 4 คนกระทำความผิดฐานขับรถขณะเมาสุรา สามในสี่ของผู้ร้องถูกศาลพิพากษาลงโทษปรับและจำคุกแต่รอการลงโทษไว้ ทำให้ผู้ร้องทั้งสามมีประวัติอาชญากรติดตัวไม่สามารถสมัครเข้าทำงานบริษัทเอกชนได้ เรื่องนี้มีประเด็นว่าการถูกศาลตัดสินให้รอการลงโทษ ผู้ร้องจะไม่ได้รับประโยชน์ในการขอคัดแยกข้อมูลประวัติอาชญากรออกจากฐานข้อมูลทะเบียนหลัก เพราะไม่เข้าเงื่อนไข 19 กรณีตามที่ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด ต่างกับกรณีศาลรอการกำหนดโทษที่สามารถขอคัดแยกข้อมูลได้ ทั้ง ๆ ที่การรอการลงโทษกับรอการกำหนดโทษมีเจตนารมณ์เดียวกัน คือ ให้โอกาสผู้กระทำความผิดกลับตัวกลับใจประพฤติตนในทางที่ดี ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีข้อเสนอแนะในประเด็นนี้ต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรแล้ว เพื่อให้มีการแก้ไขระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป
กรณีที่สอง เรื่องความยินยอม คือ การสมัครงานแต่ละครั้งจะมีการขอตรวจประวัติอาชญากรของผู้สมัครงาน ผู้สมัครงานจึงต้องให้ความยินยอมโดยปริยายหรือให้ความยินยอมโดยขาดอิสระในการตัดสินใจ เพราะหากผู้สมัครงานไม่เซ็นยินยอมให้ตรวจประวัติ แสดงว่าผู้สมัครต้องการปกปิดประวัติอาชญากรรมของตนเอง ปัญหาของการถูกตรวจสอบประวัติอาชญากร คือ (1) ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน ซึ่งมีคำร้องจำนวนมากที่ร้องเรียนเรื่องนี้มายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สาเหตุเพราะการส่งผลคดีของสถานีตำรวจมีความล่าช้า ทำให้ประชาชนต้องนำผลคดีมายื่นต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรด้วยตนเอง อันเป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชน (2) การสมัครงานเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐโดยหลักต้องไม่เคยเป็นผู้มีประวัติอาชญากร แต่หากมีประวัติอาชญากร หน่วยงานภาครัฐเปิดโอกาสให้ผู้ที่ขาดคุณสมบัติยื่นคำร้องขอยกเว้นแก่สำนักงาน ก.พ. ได้ตามระเบียบก.พ.ว่าด้วยการขอยกเว้นรับราชการในกรณีมีลักษณะต้องห้ามเป็นข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2552 ต่างกับการสมัครงานเข้าหน่วยงานเอกชนที่ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใด ๆ มายกเว้นไว้ เพราะการรับเข้าทำงานขึ้นอยู่กับอำนาจของนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว (3) ผู้ที่ต้องโทษจำคุก แต่ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน ไม่สามารถขอคัดแยกข้อมูลประวัติอาชญากรออกจากฐานข้อมูลทะเบียนหลักได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์การขอคัดแยก 19 กรณี ดังนั้น บุคคลที่ได้รับการล้างมลทินจึงสมัครเข้าทำงานไม่ได้ เพราะเป็นกลุ่มคนที่ยังตรวจพบข้อมูลอาชญากรในระบบทะเบียนอยู่
อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : ในฐานะที่รศ.สมยศ เป็นหัวหน้าคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างไรบ้าง และในฐานะเยาวชนผู้ได้รับผลกระทบควรทำอย่างไรบ้าง
รศ.สมยศ เชื้อไทย กรรมการกฤษฎีกา / อาจารย์พิเศษและอดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
กล่าวว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ให้อำนาจคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารสามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ถูกต้องได้ ซึ่งมีหลักเกณฑ์บัญญัติไว้ในมาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 โดยเรื่องพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการกับเรื่องทะเบียนประวัติอาชญากรมีประเด็นหลัก ๆ อยู่ 2 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นแรก เรื่องเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดทางอาญา แต่ศาลเปลี่ยนจากการลงโทษเป็นการอบรมเด็กและเยาวชนที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ซึ่งแม้ศาลจะเปลี่ยนการลงโทษแล้ว แต่ข้อมูลต่าง ๆ ยังปรากฏอยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร ส่งผลให้เด็กและเยาวชนสมัครงานตามสถานประกอบการไม่ได้ หรือบางกรณีเด็กสามารถสอบโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้ แต่เข้าไปเป็นนักเรียนนายร้อยไม่ได้เพราะเคยมีความประพฤติเสื่อมเสีย เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารตรวจสอบข้อมูลหลาย ๆ ด้าน พบว่า ข้อมูลประวัติอาชญากรเป็นทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเฉพาะตัวและข้อมูลของทางราชการ การเก็บข้อมูลต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ มาตรา 23 คือ ต้องเก็บเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีความจำเป็นเพื่อใช้ในการดำเนินการตามขอบวัตถุประสงค์ของกฎหมายเท่านั้น จึงวินิจฉัยว่าข้อมูลในทะเบียนประวัติอาชญากรของเด็กและเยาวชนต้องถูกลบทิ้งออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อพิทักษ์ปกป้องข้อมูลของเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ อาจนำข้อมูลการกระทำความผิดไปเก็บที่สถานพินิจคุ้มครองเด็กแทน อย่างไรก็ดี แม้จะมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสาร แต่กองทะเบียนประวัติอาชญากรไม่ได้ทำการลบให้ เพราะระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการลบข้อมูล เจ้าหน้าที่จึงลบข้อมูลให้ไม่ได้ ทั้งนี้ ในภายหลังมีการแก้ไขระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำให้ข้อมูลประวัติอาชญากรของเด็กและเยาวชนสามารถขอคัดแยกออกจากข้อมูลทะเบียนหลักได้ตามระเบียบบทที่ 4 ข้อ 1.11 แต่ก็ไม่ใช่การลบข้อมูลแต่อย่างใด
ประเด็นที่สอง เป็นคดีอาญาที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว แต่รอการลงโทษไว้ ซึ่งการรอการลงโทษไม่ใช่กรณีที่จะขอแยกข้อมูลออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร ดังนั้น หากตรวจสอบข้อมูล ก็ยังพบประวัติการเป็นอาชญากรอยู่ คณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารจึงวินิจฉัยให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรลบข้อมูลออกจากระบบ แต่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติโต้แย้งว่าลบข้อมูลให้ไม่ได้เพราะ (1) ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ลบข้อมูล และ (2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่เก็บข้อมูลเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลให้แก่หน่วยงานรัฐอื่น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารไม่เห็นด้วยกับเหตุผลดังกล่าวเพราะการเก็บข้อมูลต้องเก็บเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีความจำเป็นเพื่อใช้ในการดำเนินการตามขอบวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ซึ่งการเก็บข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย ประกอบกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการเก็บข้อมูลเป็นไปเพื่อการป้องกันอาชญากรรมแต่อย่างใด ดังนั้น จึงควรแก้ไขระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการมากยิ่งขึ้น
อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : ร่างพ.ร.บ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรมมีโอกาสออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายมากน้อยเพียงใด และมีความเป็นไปได้และความรวดเร็วเพียงใดที่จะนำมาใช้บังคับ
คุณอุษา จั่นพลอย บุญเปี่ยม ผู้อำนวยการกองนโยบายและประสานแผนกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจกาจยุติธรรม (วิทยากร) :
กล่าวว่า ไม่ว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับใดของประเทศกว่าจะได้ออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน จากสถิติพบว่าการออกกฎหมายหนึ่ง ๆ อาจใช้เวลาถึง 10 ปี กฎหมายนั้นถึงจะมีสภาพบังคับใช้ ซึ่งสำหรับร่างพ.ร.บ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรม ไม่สามารถตอบได้แน่ชัดว่าต้องใช้เวลาอีกกี่ปีหรืออีกนานเท่าไหร่ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ร่างพ.ร.บ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรมยังไม่ออกมาเป็นกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมมีความสนใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องการสมัครงาน กล่าวคือ โดยหลักข้อมูลประวัติอาชญากร ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลเท่านั้นที่จะตรวจสอบได้เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเจ้าของข้อมูล การรับสมัครงานนายจ้างจึงมักให้ผู้สมัครเซ็นยินยอม แล้วนายจ้างจะเป็นผู้ไปตรวจสอบเอง ซึ่งหากพบว่าผู้สมัครงานมีประวัติอาชญากร นายจ้างก็จะไม่รับเข้าทำงาน การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ อาจอาศัยแนวความคิดของประเทศอเมริกาที่มีกฎหมายห้ามให้นายจ้างมีเอกสารขอความยินยอมผู้สมัครงานในการตรวจประวัติอาชญากร เพื่อให้การจ้างงานไม่เกี่ยวกับประวัติอาชญากรรม อันเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : จำเป็นหรือไม่ที่ต้องแก้ไขระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือควรบัญญัติเรื่องทะเบียนอาชญากรรมไว้ในพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือควรออกพ.ร.บ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรมตามที่กระทรวงยุติธรรมกำลังจัดทำ ทางใดจะเป็นทางที่ดีที่สุด อย่างไร และเพราะอะไร
รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ :
มีความเห็นว่า เรื่องทะเบียนประวัติอาชญากรเป็นเรื่องที่สำคัญที่เกี่ยวกับสิทธิของประชาชน การแก้ไขปัญหาต้องใช้กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งหลักกฎหมายทะเบียนประวัติอาชญากรควรอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยมีหมวด ๆ หนึ่งไว้เป็นการเฉพาะ แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ชอบออกพระราชบัญญัติและไม่ค่อยแก้ไขประมวลกฎหมาย การบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงอาจเกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ดี การบัญญัติหลักกฎหมายในรูปแบบใดไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญคือหลักการที่ใช้แก้ปัญหาทั้งในทางวิชาการและในทางปฏิบัติ ซึ่งหลัก ๆ มีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่
เรื่องที่หนึ่ง ในปัจจุบันแม้ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิด ผู้ต้องหาก็ถูกบันทึกชื่อลงในทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งทำให้สามารถตรวจพบประวัติอาชญากรได้ ทางแก้ไขปัญหา คือ เมื่อผู้ต้องหาอันเป็นผู้บริสุทธิ์ถูกพิมพ์ลายนิ้วมือ กองทะเบียนประวัติอาชญากรควรนำข้อมูลเหล่านั้นมาเก็บไว้เป็นความลับและต้องไม่เปิดเผยให้ตรวจสอบ โดยใช้การปกปิดเป็นหลักและการเปิดเผยเป็นข้อยกเว้น เช่น หากต้องการใช้ข้อมูลเพื่อการสืบสวนสอบสวนแสวงหาพยานหลักฐาน ก็สามารถเปิดเผยข้อมูลได้เพราะเป็นการใช้ข้อมูลในองค์กรตำรวจด้วยกันเอง หรืออาจเปิดเผยเฉพาะผู้สมัครอาชีพที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น และเมื่อศาลมีคำพิพากษาคดีใด ๆ แล้ว พบว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดจริง ค่อยทำการเปิดเผยข้อมูลของผู้เป็นอาชญากร หลักการนี้ควรถูกบัญญัติไว้เป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ หรือหากการออกกฎหมายใหม่ยาก ก็ควรแก้ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อนโดยใช้หลักการตรงข้ามกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
เรื่องที่สอง ควรเปิดโอกาสให้ผู้ที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิดสามารถอยู่ในสังคมได้ กล่าวคือ ภายหลังจากการพ้นโทษ หากผู้กระทำความผิดไม่ได้กระทำความผิดซ้ำอีกเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็ควรปกปิดประวัติอาชญากรให้ผู้กระทำความผิดนั้น เพื่อให้ผู้กระทำความผิดมีโอกาสสมัครงานได้อันเป็นการสร้างความหวังไม่ให้ผู้กรทำความผิดกระความผิดซ้ำอีก โดยร่างพ.ร.บ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรม กำหนดระยะเวลาไว้ 5 ปี แต่รศ.ดร.ปกป้อง มีความเห็นว่าช่วงปีแรก ๆ ที่กฎหมายบังคับใช้อาจกำหนดเป็น 7 ปีก็ได้เพื่อสร้างความสบายใจให้แก่สังคมและประชาชนว่าผู้กระทำความผิดกลับตัวกลับใจพร้อมที่จะอยู่ในสังคมแล้วจริง ๆ และในปีหลัง ๆ อาจมีการกำหนดระยะเวลาตามประเภทของคดี เช่น คดีอุกฉกรรจ์อาจกำหนดไว้ 10 ปี หรือคดีที่เป็นความผิดเล็กน้อยอาจกำหนด 3 ปี หรือ5 ปี ตามแต่ละกรณี เป็นต้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะเป็นการฟื้นฟูและเยียวยาผู้กระทำความผิดให้กลับเข้าสู่สังคมได้
อ.ดิศรณ์ (วิทยากร) : แนวคิดของการเปลี่ยนแปลงชื่อ “ทะเบียนประวัติอาชญากร” เป็น “ทะเบียนประวัติผู้ถูกกล่าวหา” ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความเห็นต่อแนวความคิดนี้อย่างไร
คุณปวีณา จันทร์เอียด นิติกรชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ :
กล่าวว่า อาชญากร คือ ผู้ที่ถูกสังคมตีตราว่าเป็นคนกระทำความผิดร้ายแรงและเป็นถ้อยคำในเชิงลบ ซึ่งผู้กระทำความผิดบางคดีที่เป็นความผิดฐานประมาทหรือความผิดลหุโทษอันเป็นโทษที่ไม่ร้ายแรง ก็ต้องถูกบันทึกชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติบัญญัตินิยามของคำว่า “อาชญากร” ให้ชัดเจนว่าหมายถึงบุคคลใด และต้องแยกทะเบียนประวัติอาชญากรกับทะเบียนประวัติผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาออกจากกัน อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ต้องอาศัยร่างพ.ร.บ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรมเพื่อให้การแก้ไขปัญหาสามารถเกิดขึ้นได้จริง และเมื่อมีการแยกทะเบียนประวัติออกเป็น 2 ทะเบียน จะทำให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นไปตามหลัก Presumption of Innocence คือ ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลประวัติของผู้ถูกกล่าวหาที่กำลังอยู่ในขั้นของการพิจารณาคดี
ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นปัญหา เช่น ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพ.ร.บ.ล้างมลทิน แต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์การขอคัดแยกข้อมูลออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ทำการรวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งต้องติดตามผลต่อไป
อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : ภายหลังจากที่คณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารมีคำวินิจฉัยให้ลบข้อมูลของผู้มีประวัติอาชญากรตามที่กล่าวไปแล้วนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารได้ติดตามผลการดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อหรือไม่
รศ.สมยศ เชื้อไทย กรรมการกฤษฎีกา / อาจารย์พิเศษและอดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
กล่าวว่า คณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารได้ติดตามผลการดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ทางกองทะเบียนประวัติอาชญากรลบข้อมูลให้ไม่ได้เพราะไม่มีระเบียบให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการลบข้อมูล ดังนั้น จึงควรแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติและทัศนคติของเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับกฎหมายอื่น ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ทางปฏิบัติสอดรับกับทางทฤษฎีและสภาพสังคมในปัจจุบัน นอกจากนี้ ควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพราะเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและควรทราบไว้ ซึ่งที่ผ่านมามีคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารเพียง 2-3 กรณี อันแสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่ค่อยรู้สิทธิที่ตนเองมีอยู่
ส่วนเรื่องที่อยากฝากไว้ คือ การเก็บข้อมูลของทางราชการ ต้องเก็บตามหลักการในพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยเก็บเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีความจำเป็นเพื่อใช้ในการดำเนินการตามขอบวัตถุประสงค์ของกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาในคดีใดแล้ว จึงควรดำเนินการปรับข้อมูลให้สอดคล้องกับปัจจุบันโดยเร็ว อย่าปล่อยให้ข้อมูลมีความล้าหลังเพราะจะส่งผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูล และหากจะเก็บข้อมูลประวัติอาชญากรภายหลังที่ศาลพิพากษา ต้องเป็นไปเพื่อการปราบปรามและป้องกันภัยต่อสังคมเท่านั้น
อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : จากการลงพื้นที่ของนักศึกษา พบว่า ข้อมูลทางทะเบียนประวัติไม่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งสถานีตำรวจแต่ละแห่งไม่ได้ส่งผลคดีให้แก่กองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้ภาระตกแก่ประชาชนที่ต้องดำเนินการติดตามผลคดีด้วยตนเอง ดังนั้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ควรแก้ไขระบบทะเบียนด้านใดบ้าง และจะแก้ไขอย่างไร
พ.ต.อ.สมพัฒน์ ลีลาพจนาพร รองผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร (วิทยากร) :
กล่าวว่า ในอดีตคดีอาชญากรรมมีไม่เยอะ แต่ในปัจจุบันเกิดคดีจำนวนมากทำให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรมีปัญหาการติดตามผลของคดี ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังดำเนินการติดตั้งฐานระบบเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ คาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2565 เมื่อมีการเชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างหน่วยงาน จะทำให้ข้อมูลผลคดีสอดคล้องกับปัจจุบันมากขึ้น ส่วนรายละเอียดของการแยกฐานข้อมูลต้องพิจารณาระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไปว่าจะให้อำนาจมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ระบบราชการแตกต่างกับระบบเอกชน การดำเนินการต่าง ๆ จึงต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก แต่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่ได้เพิกเฉยต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) : ในปัจจุบันมีร่างพ.ร.บ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรม ซึ่งมีการวางหลักการต่าง ๆ เช่น การจัดเก็บข้อมูล การลบข้อมูล หรือการเปิดเผยข้อมูล เป็นต้น ดังนั้น หากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จะสามารถแก้ไขปัญหาทะเบียนประวัติอาชญากรที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
กล่าวว่า ทุกปัญหาควรแก้ไขที่ต้นเหตุ ซึ่งการลบข้อมูลประวัติอาชญากรและการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผลของคดีระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะต้นเหตุของปัญหาคือการทำให้ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหากลายเป็นอาชญากร อันเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยระบบทะเบียนประวัติอาชญากรของประเทศไทยมีการเก็บข้อมูลที่ปะปนกันระหว่างผู้เป็นอาชญากรกับผู้ไม่เป็นอาชญากร ทำให้การใช้งานข้อมูลเพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสังคมขาดประสิทธิภาพ เพราะข้อมูลจำนวนมากถูกเก็บอยู่ในที่เดียวกัน ดังนั้น จึงเสนอว่าควรแก้ไขระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อคืนสิทธิให้แก่ผู้ต้องหา เพราะผู้ต้องหาคือบุคคลที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาจะตัดสินว่าผู้ต้องหาเป็นอาชญากรไม่ได้ ซึ่งหากแก้ไขที่ระเบียบได้ การออกพ.ร.บ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรมก็ไม่มีความจำเป็น ทั้งนี้ มีทางแก้ไขปัญหาอีกวิธี คือ นำคดีไปฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ศาลตัดสินว่าระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเรื่องการพิมพ์ลายนิ้วมือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
คำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนา
คำถาม (1) : ภายหลังจะที่พ้นโทษ ผู้เคยกระทำความผิดต้องรอเวลาถึง 5 ปี จึงจะได้รับประโยชน์ตามร่างพ.ร.บ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรม ในระหว่างการรอเวลาให้ครบ 5 ปีนี้ รัฐมีกระบวนการช่วยผู้พ้นโทษให้สามารถประคับประคองตนเองในสังคมเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำหรือไม่ อย่างไร
รศ.ดร.ปกป้อง : ในช่วงปีแรกภายหลังจากพ้นโทษ นักโทษมีโอกาสกระทำความผิดซ้ำอีกเพราะยังปรับตัวเข้าสู่สังคมไม่ได้ หรือสังคมไม่ให้โอกาสจึงต้องกระทำความผิดเพื่อเอาตัวรอด ระบบราชทัณฑ์ของต่างประเทศจึงมีการเตรียมความพร้อมให้นักโทษก่อนถูกปล่อยตัวออกไปด้วยมาตราการหลาย ๆ มาตราการ เช่น ให้ฝึกงานก่อนพ้นโทษตามสถานประกอบการเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี โดยตอนกลางวันปล่อยนักโทษให้ออกไปทำงาน และตอนเย็นให้นักโทษกลับเข้ามานอนที่เรือนจำ มาตราการเช่นนี้ทำให้นายจ้างกับนักโทษผู้เป็นลูกจ้างเกิดความไว้ใจซึ่งกันและกัน เมื่อนักโทษได้รับการปล่อยตัวออกไปจริง ๆ จะได้มีงานทำและอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้โดยไม่ต้องกระทำความผิดซ้ำอีก
คำถาม (2) : เมื่อตำรวจส่งสำนวนคดีให้แก่พนักงานอัยการไปแล้วและอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ผู้ต้องหาจึงอยากขอคัดแยกข้อมูลประวัติอาชญากรออกจากทะเบียนหลัก แต่ปัญหาคืออัยการบอกว่าทำสำนวนคดีหาย ทำให้ผู้ต้องหาดำเนินการขอคัดแยกข้อมูลไม่ได้ เรื่องนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร
รศ.สมยศ : ในความเป็นจริงสำนวนคดีจะหายไปไม่ได้ แต่ถ้าอัยการบอกว่าหายจริง ต้องให้อัยการทำคำรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรมาเพื่อใช้ยืนยันกับกองทะเบียนประวัติอาชญกร และหากเจ้าหน้าที่กองทะเบียนประวัติอาชญากรไม่อนุญาตให้คัดแยกข้อมูลอีก ก็ใช้สิทธิร้องเรียนต่อไป
ผศ.ดร.ปริญญา : เหตุการณ์ตามคำถามเป็นกรณีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าระบบทะเบียนประวัติอาชญกรของประเทศไทยมีปัญหา กล่าวคือ หากเก็บข้อมูลของผู้ต้องหาแยกออกมาเป็นอีกระบบหนึ่ง การขอคัดแยกข้อมูลจะไม่เกิดความยุ่งยากและซับซ้อนอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ การเก็บลายพิมพ์นิ้วมือ ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองกำลังถูกบันทึกข้อมูลว่าเป็นอาชญากร ซึ่งเรื่องดังกล่าวตำรวจมักไม่แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบเพราะเกรงว่าผู้ต้องหาจะไม่ให้ความร่วมมือในการพิมพ์ลายนิ้วมือ ดังนั้น จึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ต้องหาหรือประชาชนทราบข้อมูลลักษณะนี้ด้วย