สรุปสาระสำคัญจากสัมมนาวิชาการออนไลน์ หัวข้อ “ปัญหาสิทธิแรงงานนอกระบบของกลุ่มรับส่งอาหาร (Rider)” ซึ่งจัดโดย โครงการเผยแพร่วิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง วันเสาร์ที่ 24 กรกฏาคม 2564 เวลา 13.30-16.30 น. ทางระบบ Facebook Live ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- รองศาสตราจารย์ ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร รองคณบดีศูนย์ลำปาง
วิทยากร
- อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน นักวิชาการด้านกฎหมายแรงงาน
- คุณพรสุดา เจียมพัฒนาตระกูล ตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
- คุณเรย์ ตัวแทนจากกลุ่มสหภาพไรเดอร์
ผู้ดำเนินรายการ
- นายนนทวัตน์ แสนหาญ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
- นางสาวชนาธินาถ มนต์พานทอง นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายศุภสิน เจียรพาณิชย์พงศ์ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- นายวิวัฒน์ กอสัมพันธ์ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผู้ดำเนินรายการ
กล่าวว่า งานเสวนานี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับปัญหาของไรเดอร์ที่เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ เพื่อระบุปัญหาและหาแนวทางแก้ไข ซึ่งเป็นการเสนอปัญหาของแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากปัญหาทางกฎหมายบางประการ อีกทั้งแรงงานกลุ่มนี้ยังมีจำนวนที่มากขึ้นเป็นนัยสำคัญ จึงเห็นสมควรที่จะจัดเสวนาในเรื่องดังกล่าวนี้ และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กล่าวเปิดงานเสวนา โดยสวัสดีผู้เข้าร่วมการเสวนาทุกคน การจัดงานในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสัมพันธ์กับประชาชนมาอย่างยาวนาน ทั้งด้านให้คำปรึกษาทางกฎหมายและมีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ รวมถึงการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ด้วย ในครั้งนี้หน่วยงานมีกลุ่มนักศึกษาเป็นตัวการสำคัญในการจัดงาน และได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ทั้งทางด้านอาจารย์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากกรมคุ้มครองแรงงาน ตัวแทนจากกลุ่นสหภาพไรเดอร์
หัวข้อในการเสวนาครั้งนี้เป็นหัวข้อที่ร่วมสมัย เป็นบริการที่มีผู้บริโภคใช้เป็นจำนวนมาก เนื้อหาในการเสวนาครั้งนี้จะเป็นการพูดคุยกันเรื่องสถานะทางกฎหมายของกลุ่มไรเดอร์ อันเป็นฐานในการพิจารณาความคุ้มครองตามกฎหมาย สิทธิ สวัสดิการต่าง ๆ หรือการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การว่างงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจและหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในครั้งนี้
ประเด็น : ปัญหาลักษณะนิติสัมพันธ์ระหว่างไรเดอร์กับบริษัทจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน นักวิชาการด้านกฎหมายแรงงาน
อาจารย์ศุภวิชเห็นว่า ตามความเห็นทั่วไปนั้นไรเดอร์เป็นผู้ใช้แรงงานอยู่แล้ว แต่ในทางกฎหมายจะต้องมีฐานมาจากสัญญาจ้างแรงงาน เพราะหากไม่มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานก็คงกล่าวได้ว่าเป็นลูกจ้างได้ลำบาก แม้บางครั้งอาจจะเป็นการใช้แรงงานเพื่อแลกค่าตอบแทนก็อาจไม่ได้ผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงาน เช่น นิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างทำของ
อาจารย์ศุภวิชกล่าวต่อมาว่า พัฒนาการของการทำงานของไรเดอร์ หรือแนวคิดเรื่องไรเดอร์เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยี กล่าวคือ การจ้างแรงงาน ในส่วนของไรเดอร์เริ่มจากการพัฒนาของ Platform Technology ที่เป็นระบบตัวกลางอันเป็นจุดนัดพบของไรเดอร์กับผู้ใช้บริการ สอดคล้องกับ Gig Economy หรือก็คือไม่ใช่ความสัมพันธ์ในลักษณะยาว แต่เป็นความสัมพันธ์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น Independent worker Freelance หรือ Partner ในช่วงแรก ๆ นั้นอาจมองได้ว่าไรเดอร์เป็นงานที่มีความเป็นอิสระ มีความเป็นนายจ้างของตัวเองแต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป จากตอนแรกที่ไรเดอร์ประกอบอาชีพในลักษณะเป็นงานชั่วคราว (part-time)กลายมาเป็นงานประจำหรือเต็มเวลา (full-time) ทำเป็นอาชีพของตัวเองจริง ๆ มุมมองจึงเริ่มเปลี่ยนไป ทำให้เกิดปัญหาว่าไรเดอร์เป็นแรงงานในระบบหรือแรงงานนอกระบบ
แรงงานในระบบ คือ มีนายจ้าง ลูกจ้าง สัญญาชัดเจน มีการกำหนดเวลางาน ไม่มุ่งถึงความสำเร็จของงานเป็นสำคัญ
แรงงานนอกระบบ คือ การทำงานแบบไม่ได้เต็มเวลา ทำเป็นรายงานไป ไม่มีสังกัดกับใครเป็นการเฉพาะ ตัวอย่างเช่น โปรแกรมเมอร์ที่รับงานเป็นชิ้น ๆ ไป
ในส่วนของความแตกต่างระหว่างแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบนั้น อาจารย์ศุภวิช อธิบายว่ากฎหมายยังให้คุ้มครองโดยเน้นไปที่แรงงานในระบบมากกว่านอกระบบ เพราะกฎหมายมองว่าในระบบมีความชัดเจน ทำให้การคุ้มครองจัดการดูแลนั้นง่ายกว่า สามารถขึ้นทะเบียนได้ มีการจ่ายภาษีที่ชัดเจน
ในทางกลับกันแรงงานนอกระบบ เวลารับงานอะไร ก็จะตรวจสอบได้ยากกว่า ปัญหาด้านภาษีเองก็จะเข้ามาปะปน ทำให้กฎหมายให้ความคุ้มครองไม่เท่ากับแรงงานในระบบ แต่ทว่าในทางปฏิบัติกลับมีปัญหา เพราะไรเดอร์บางคนทำงานแบบเต็มเวลา ยึดเป็นอาชีพหลัก มีความมุ่งมั่นในการทำงาน แต่ขาดสิทธิประโยชน์ ขาดทางเลือก ทำให้รัฐขาดความคุ้มครองไรเดอร์ และควรจะให้ความคุ้มครอง
ในส่วนของนิติสัมพันธ์ระหว่างไรเดอร์และแพลตฟอร์มนั้น อาจารย์ศุภวิช อธิบายว่า หากแพลตฟอร์มมองไรเดอร์ว่าเป็นลูกจ้าง ซึ่งโดยทั่วไปกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่กำหนดภาระหน้าที่ให้กับนายจ้างในการดำเนินการต่าง ๆ ให้แก่ลูกจ้าง สิ่งที่ตามมาคือ แพลตฟอร์มจะมีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น เช่น ค่าตอบแทนต่าง ๆ การจัดทำเอกสาร การติดต่อหน่วยงานราชการ ฯลฯ ดังนั้น แพลตฟอร์มส่วนใหญ่ที่เป็นสตาร์ทอัพมีทุนน้อย จึงตัดภาระโดยไม่ให้ไรเดอร์เข้าสู่ระบบเพื่อเป็นการลดภาระในค่าใช้จ่ายลง สังเกตได้โดยง่าย กล่าวคือ ในสัญญาที่ทำกับไรเดอร์จะเรียกไรเดอร์ว่าเป็นพาร์ทเนอร์ หรือทำให้ดูกลายเป็นการจ้างทำของไปในทางกฎหมาย อีกนัยหนึ่ง ตัวแพลตฟอร์มมีหน้าที่เป็นเพียงตัวกลาง ที่จะอำนวยความสะดวกในการจ้างงานระหว่างผู้ใช้และไรเดอร์ หน้าที่ของแพลตฟอร์มจึงไม่ใช่การจ้างแรงงาน
อาจารย์ศุภวิชได้ตั้งประเด็นว่า “ทำไมเรากำหนดให้รัฐจัดการทุกอย่างให้ไม่ได้ล่ะ” และได้ตอบว่า เพราะเป็นความสัมพันธ์ทางแพ่ง (เอกชน-เอกชน) เป็นความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และไม่ใช่สิ่งที่จะผลักภาระไปให้รัฐรับผิดชอบได้
ประเด็น : ลักษณะนิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับไรเดอร์เป็นสัญญาแจ้งแรงงานหรือไม่
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน นักวิชาการด้านกฎหมายแรงงาน
อาจารย์ศุภวิช กล่าวถึงความเห็นส่วนตัวในช่วงเริ่มแรก โดยเห็นว่า ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน ผลที่ตามมาคือ ไม่สามารถนำ พ.ร.บ. ต่าง ๆ เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานมาบังคับใช้ได้ แต่ปัจจุบัน พัฒนาการมีความเปลี่ยนแปลงไป ตัวแพลตฟอร์มเริ่มมีอำนาจบังคับบัญชาตัวไรเดอร์ เปรียบเทียบง่าย ๆ ว่า เมื่อก่อนแพลตฟอร์มไม่มีการควบคุม ไม่สามารถสั่งให้ทำนู้นนี้ได้ แต่ว่าปัจจุบันมีการประเมินไรเดอร์และแพลตฟอร์มเข้าไปพิจารณา สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ค่าตอบแทน เห็นได้ว่าเป็นการใช้อำนาจบังคับบัญชาแบบกึ่ง ๆ ไม่ใช่บังคับบัญชาออกคำสั่งโดยตรงทั้งหมด ซึ่งในส่วนของอำนาจบังคับบัญชาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการตัดสินว่านิติสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่
ดังนั้น ในปัจจุบัน อาจารย์ศุภวิช เห็นว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงานแล้วในทางกฎหมาย ซึ่งเมื่อเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ไรเดอร์ก็จะได้รับความคุ้มครองต่าง ๆ ตามกฎหมายแรงงาน ในทางกลับกันเมื่อได้รับความคุ้มครองแล้วก็มีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
คุณพรสุดา เจียมพัฒนาตระกูล ตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
คุณพรสุดา กล่าวว่า ปัจจุบันในต่างประเทศได้มีคำพิพากษาของศาลว่าผู้ที่ทำงานให้แพลตฟอร์มเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่ในประเทศไทยยังไม่มีคำตัดสินจากศาล ดังนั้นจึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป บางกรณีอาจจะเป็นจ้างแรงงาน บางกรณีอาจจะเป็นจ้างทำของขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เพราะบางคนไม่ได้ทำเป็นประจำ ยิ่งพิจารณาตามข้อสัญญาที่แพลตฟอร์มสามารถบล็อกไรเดอร์ไม่ให้รับงานได้ก็อาจจะมองได้ว่าเป็นการจ้างแรงงาน กลับกันในบางกรณีที่ไรเดอร์ทำงานเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เป็นลักษณะชั่วคราว (part-time)
ถึงมีลักษณะงานคล้ายกันแต่ก็เรียกไปว่าเป็นแรงงานประจำไม่ได้ ตัวอย่างที่คล้ายคลึงกันคือกรณีที่ศาลแรงงานวางหลักไว้ในเรื่องช่างตัดผมว่าช่างตัดผมที่มีการตอกบัตรเข้างาน แม้จะได้รับค่าตอบแทนเป็นส่วนแบ่งจากการตัดผมก็เป็นสัญญาจ้างแรงงาน แต่ในอีกคดีหนึ่ง คือ กรณีช่างตัดผมที่ไม่ได้มีการตอกบัตรเข้างาน และได้รับค่าตอบแทนเป็นส่วนแบ่งจากการตัดผม ศาลกลับตัดสินว่าเป็นสัญญาจ้างทำงาน
ประเด็น : แรงงานที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานต้องมีความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานเพียงอย่างเดียวหรือไม่
คุณพรสุดา เจียมพัฒนาตระกูล ตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
คุณพรสุดา กล่าวว่า แรงงานที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน หากเป็นกรณีพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ถ้าไม่ใช่ลูกจ้างตามกฎหมายดังกล่าวก็จะไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่ในกรณีไรเดอร์ที่เป็นแรงงานแต่ไม่ได้เป็นลูกจ้าง เป็นแรงงานก็อาจจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอื่น ๆ เช่น มาตรา 40 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่เป็นบทบัญญัติในการให้ความช่วยเหลือแรงงานอิสระนำเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อได้รับความคุ้มครอง จำนวนเงินที่แตกต่างจะได้รับความคุ้มครองที่แตกต่าง เหมือนกรณีมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม
อีกกรณีที่ไรเดอร์ได้รับความคุ้มครอง คือ สิทธิในการรวมตัว แม้จะไม่ใช่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ทำให้ไม่สามารถรวมตัวได้ตามกฎหมายดังกล่าวได้ แต่สิทธิการรวมตัวยังสามารถทำได้ตาม รัฐธรรมนูญ ดังนั้นการรวมตัวไรเดอร์แบบนี้จะเป็นการรวมตัวที่ไม่ได้เป็นไปตามแรงงานสัมพันธ์
ประเด็น : การได้รับสิทธิในการคุ้มครองแรงงานของกลุ่มไรเดอร์ กลุ่มไรเดอร์ไม่ได้รับสิทธิอะไรบ้าง
คุณเรย์ ตัวแทนจากกลุ่มสหภาพไรเดอร์
คุณเรย์ กล่าวว่า ไรเดอร์ไม่ได้รับสวัสดิการแบบตรง ๆ แต่ได้รับมาแบบน้ำใจที่แพลตฟอร์มมอบให้ ผ่านการประเมินตามจำนวนงานที่ทำสำเร็จ อย่างไรก็ตามอัตราก็เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี ตามที่ผู้บริหารอยากจะเปลี่ยน ไม่มีความเท่ากันในแต่ละแพลตฟอร์ม ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ตัวอย่างเช่น 4 ปีที่แล้วทำสำเร็จ 100 งานใน 1 เดือน จะได้รับประกันอุบัติเหตุ 1 เดือน แต่ปัจจุบันก็มีเปลี่ยนแปลงเป็นต้องทำสำเร็จจำนวน 350 งาน ซึ่งเป็นการทวีคูณความเสี่ยงในลักษณะยิ่งวิ่งงานมากเท่าไรยิ่งต้องรับความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น สมมติ ถ้าเข้าทำงานวันแรก เกิดอุบัติเหตุในขณะงานไม่ครบ ก็จะไม่ได้ จึงเป็นการขาดความยุติธรรมในสายตาของตน ซึ่งส่งผลกระทบมาก ๆ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ไรเดอร์อาจถูกแพลตฟอร์มลงโทษได้ ตัวอย่างเช่น ต้องส่งเค้กในราคาครึ่งหมื่น ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงที่จะเสียหายมาก ไรเดอร์จะมีทางเลือก 2 ทาง คือ 1. ยกเลิกงานเอง แล้วจะโดนบล็อกสัญญาณ 24 ชั่วโมง แบบไม่ต้องทำงานเลยเป็นต้น กับ 2. ยอมเสี่ยงรับงาน ถ้าเกิดความเสียหายขึ้น ตัวไรเดอร์ต้องรับผิดเองแลกกับการไม่โดนบล็อกสัญญาณ
ประเด็น : หากในอนาคตมีกฎหมายกำหนดให้ความคุ้มครองไรเดอร์ ไรเดอร์ควรจะได้รับสิทธิหรือสวัสดิการใด หรือควรมีสิทธิหรือสวัสดิการใดบ้าง
คุณเรย์ ตัวแทนจากกลุ่มสหภาพไรเดอร์
คุณเรย์ กล่าวว่า สวัสดิการที่ควรจะได้ คือ มีสวัสดิการประกันอุบัติเหตุ เพราะความเสี่ยงในงานแค่เริ่มก็เสี่ยงแล้ว มันไม่เป็นธรรมหากต้องวิ่งงาน 100 หรือ 350 งาน ต่อเดือน เพื่อแลกกับประกันอุบัติเหตุ ถ้าไม่มีสวัสดิการส่วนนี้ ก็เหมือนเป็นการเอาชีวิตไปวัดบนถนน เข้าเงื่อนไขก็ได้ประกันจากแพลตฟอร์ม ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็ตายฟรี แถมบางทีหากไม่เป็นข่าวก็ไม่ได้รับอะไรเลยจากแพลตฟอร์ม หมายความว่าไรเดอร์ไม่ได้คาดหวังจะได้สวัสดิการจากแพลตฟอร์ม แต่ต้องการกฎหมายมาบังคับให้ทุกแพลตฟอร์มมีแนวทาง การปฏิบัติที่เหมือนกัน
คุณเรย์ ยังได้กล่าวถึงประเด็นการเลือกปฏิบัติทางแรงงานอีกด้วย กล่าวคือ พนักงานเก่ากับพนักงานใหม่มีโอกาสรับงานไม่เท่ากัน พนักงานใหม่จะเห็นงานไวกว่า 4 วินาที ตรงจุดนี้ คุณเรย์ เห็นว่าเป็นการถ่ายเลือดเก่าออกเพื่อนำเลือดใหม่เข้ามาแทน เนื่องจากพนักงานเก่ารู้มาก การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการผลักดันให้ไรเดอร์ลาออกไปเอง เพราะไม่มีงานทำ
อีกทั้งยังมีประเด็นการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมย้อนหลัง ซึ่งในเรื่องดังกล่าวควรจะตรวจสอบตั้งแต่ตอนสมัครเข้าทำงาน แต่กลับตรวจสอบหลังจากการรับเข้ามาทำงาน และใช้วิธีระงับ
ในภายหลัง เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับไรเดอร์บางคนเป็นอันมาก เนื่องจากตอนเข้ามาทำงานเขาต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาซื้อชุด กล่องขนส่งเพื่อเป็นต้นทุนในการทำงาน เห็นได้ชัดว่าแพลตฟอร์มพยายามปัดความรับผิดชอบไปให้ไรเดอร์ ซึ่งขัดแย้งกับในสัญญาที่มีการเขียนไว้ว่า ตัวไรเดอร์ไม่ใช่พนักงาน (เขียนว่า เป็นพาร์ทเนอร์ เป็นพนักงานรับส่งอาหาร ไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท) แต่กลับมาลงโทษได้อย่างลูกจ้าง จึงไม่เป็นธรรมกับไรเดอร์
ประเด็น : หากในอนาคตจะมีกฎหมายมาคุ้มครอง ถ้าในกฎหมายกำหนดว่าต้องมีอำนาจบังคับบัญชาจึงจะได้รับความคุ้มครอง กลุ่มไรเดอร์มีความเห็นว่าอย่างไร
คุณเรย์ ตัวแทนจากกลุ่มสหภาพไรเดอร์
คุณเรย์ เห็นว่า ต้องพิจารณาอีกที เพราะไรเดอร์ที่เข้ามาทำงานนี้มองว่างานนี้เป็นอิสระเช่นกันบริษัทก็มองว่าเป็นงานอิสระแต่คนละความหมาย คนขับมองว่าเข้างานได้อิสระ เป็นนายตัวเอง แต่แพลตฟอร์มมองว่าเป็นอิสระที่จะออกกฎมากดขี่ไรเดอร์ได้ ดังนั้นถ้าออกมาแล้วกดขี่ไรเดอร์ก็จะไม่เป็นที่น่าพอใจเลย
ประเด็น : สิทธิที่อยากได้ มีอะไรบ้าง
คุณเรย์ ตัวแทนจากกลุ่มสหภาพไรเดอร์
คุณเรย์ เห็นว่า ไรเดอร์อยากได้ประกันอุบัติเหตุ มีกองทุนช่วยเหลือในยามเจ็บป่วย ควรมีหลักประกันบนชีวิตของไรเดอร์ เพราะไรเดอร์ไม่ได้มีกองทุนอะไรมาสนับสนุนในช่วงที่มีปัญหา ดังนั้นตนจึงเห็นว่าอยากให้มีสวัสดิการคร่าว ๆ ประมาณนี้
ประเด็น : ช่วงสถานการณ์โควิด ไรเดอร์ได้รับการเยียวยาหรือไม่
คุณเรย์ ตัวแทนจากกลุ่มสหภาพไรเดอร์
คุณเรย์ กล่าวว่า ไม่ได้รับการเยียวยาเลย เช่น วัคซีน การคุ้มครองไม่มีเลย ทั้ง ๆ ที่ไรเดอร์เป็นกลุ่มคนที่ทำงานเป็นด่านหน้าในการส่งอาหาร ซึ่งก็มีหลายคนติดเชื้อแล้วแต่ก็ไม่ได้รับการเยียวยาทุกคน ได้รับเป็นบางกรณี รัฐจึงควรจัดวัคซีนให้บ้างเพราะเป็นแรงงานด่านหน้า
ประเด็น : ผลกระทบที่ไม่ได้รับการคุ้มครองนี้ ภาครัฐจะให้การคุ้มครองหรือแก้ปัญหาอะไรบ้าง
คุณพรสุดา เจียมพัฒนาตระกูล ตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ในประเด็นนี้ กรมฯก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ตั้งคณะทำงานมาประชุมในด้านนี้โดยตรงแล้ว แต่เนื่องจากไรเดอร์มีความสัมพันธ์กับหลายหน่วยงาน เช่น หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับการขนส่ง เป็นต้น ทำให้มีความล่าช้าในบางขั้นตอน ได้ออกนโยบายเป็นระยะสั้นและยาว
นโยบายในระยะสั้น กล่าวคือ ดำเนินการเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ย ให้มีทางออกสายกลางที่บรรเทาทั้งไรเดอร์และแพลตฟอร์ม
นโยบายในระยะยาว กล่าวคือ พิจารณาออกกฎหมาย เช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ เป็นกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองผู้ที่ทำงานอิสระ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพราะมีความเกี่ยวข้องหลายฝ่ายไม่ใช่เฉพาะไรเดอร์ และเป็นทางที่ใช้ระยะเวลานาน หรือแก้ไขปัญหาโดยการแก้ไขกฎหมายหมายคุ้มครองแรงงาน ให้ไรเดอร์ถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในหมวด ๆ หนึ่งที่เพิ่มเติมเข้าไป
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ในตอนนี้ทางกรมฯกำลังดำเนินการรับคำร้องและช่วยเป็นสื่อกลางในการแก้ไขปัญหา
ประเด็น : เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้แรงงานนอกระบบเท่าเทียมกับแรงงานในระบบ และถ้าไม่สามารถทำได้ แรงงานนอกระบบจะขาดอะไรไปบ้าง
คุณพรสุดา เจียมพัฒนาตระกูล ตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ไรเดอร์จะได้รับสิทธิ 2 สิทธิแน่นอน คือ
สิทธิในการรวมตัวตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของการขาดรายละเอียดในสิทธิ สภาพบังคับ แตกต่างกับสิทธิในการรวมตัวกันตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และ
การคุ้มครองทางสังคม ตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม ไรเดอร์สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ ซึ่งอัตราเงินทดแทนขึ้นอยู่กับเงินที่ส่งเข้าสมทบกองทุน การดำเนินการในส่วนนี้เป็นการดำเนินการโดยสมัครใจ
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 กรณีที่กำลังศึกษาอยู่ คือ 1. การประกันรายได้ ซึ่งจะต้องศึกษาเพิ่มเติมในส่วนลักษณะการทำงานของไรเดอร์ เนื่องจากไรเดอร์แต่ละคนทำงานไม่เท่ากัน จึงไม่สามารถคาดการณ์เกณฑ์ที่จะใช้เป็นมาตรฐานรายได้ขั้นต่ำได้ และ 2. กำหนดสวัสดิการ ทางกรมฯมีแนวคิดว่าจะกำหนดให้นายจ้างออกประกันอุบัติเหตุให้ หรือการต่อทะเบียนรถต้องมีประกันอุบัติเหตุเพื่ออนุญาตให้ต่อแล้วไปทำงานในด้านนั้น ๆ
ประเด็น : ในอนาคต จะมีกฎหมายให้แรงงานนอกระบบสามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน หรือไม่
คุณพรสุดา เจียมพัฒนาตระกูล ตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
การจะรวมตัวได้ต้องเป็นลูกจ้างในระบบตามกฎหมายแรงงาน และปัญหาคือ ทางกรมฯไม่สามารถหาคำจำกัดความของไรเดอร์ได้ว่าเป็นลูกจ้างหรือไม่ ทำให้รวมตัวได้แต่ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์
ประเด็น : กฎหมายต่างประเทศให้ความคุ้มครองแรงงานนอกระบบอย่างไร มีตัวอย่างกฎหมาย หรือมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน นักวิชาการด้านกฎหมายแรงงาน
อาจารย์ศุภวิชอธิบายในลักษณะความสัมพันธ์สามเส้า
คือ 1. สัญญาจ้างแรงงาน ดูว่ามีการตกลงอะไรไว้ก็ใช้ตามนั้น
- ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กล่าวคือ กลุ่มลูกจ้างได้ตกลงอะไรไว้กับนายจ้าง ข้อตกลงตรงส่วนนี้ก็ใช้บังคับกับทั้งกลุ่ม ซึ่งแตกต่างกับความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาที่แตกต่างกันไปในแต่ละสัญญา
- กฎหมายแรงงาน
ทั้ง 3 ส่วนนี้ทำให้เกิดความคุ้มครองแก่ตัวไรเดอร์แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละส่วนจะให้ความคุ้มครองในจุดไหน
หากมองภาครัฐเป็นหลัก ต้องดูกฎหมายแรงงานเป็นหลัก ในส่วนที่เป็นไปได้ คือ ประกันสังคม โดยกำหนดให้ไรเดอร์เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนสิทธิอื่น ๆ ควรจะมีการรับฟังหน่วยงานเฉพาะว่าไรเดอร์ควรได้รับความคุ้มครองในด้านใดบ้าง เช่น การประกันอุบัติเหตุที่ควรจะผลักภาระไปให้แพลตฟอร์ม ทำเป็นการทำประกันอุบัติเหตุแบบกลุ่มที่ควรจะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ภาครัฐจะกำหนดออกมา
หากมองในลักษณะกลาง ๆ ก็เลื่อนขึ้นมาอีก เรื่องแรก คือ เรื่องค่าจ้าง แพลตฟอร์มควรจะแทรกการทำงานได้เพื่อบ่งรายละเอียดว่าใครทำงานเท่าไร กี่ชั่วโมง กี่วัน ทำงานอย่างไร และเอามาเทียบเคียงกับระยะเวลาทำงานตามปกติว่าเป็นลักษณะชั่วคราว (part-time) หรือลักษณะประจำ (full-time) ทว่าก็จะมีปัญหาตามมาคือ ข้อมูลนี้อยู่กับเอกชน หน่วยงานรัฐไปคุมหรือเรียกเอามาไม่ได้ เว้นแต่มีกฎหมายให้อำนาจ ทั้งเอกชนก็ไม่ได้อยากจะให้อยู่แล้วเพราะจะเป็นปัญหาในทางพัฒนา แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เอกชนจะให้ข้อมูลตรงส่วนนี้เพื่อนำไปพัฒนา ดังนั้นรัฐควรจะสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เอกชนเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้มาจากเอกชน ตรงส่วนนี้ถ้าสามารถทำได้จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน เพราะถ้ายิ่งออกกฎหมายมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะมีปัญหา ดังนั้นการออกกฎหมายควรจะออกตัวที่ง่ายและแก้ไขปัญหาได้ โดยอาจออกเป็นกฎหมายลำดับรองของฝ่ายบริหาร
อาจารย์ศุภวิช กล่าวในประเด็นการรวมตัวกันว่า ในประเทศไทยยังไม่มีลักษณะเป็นรูปธรรมมาก แต่ไรเดอร์สามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน ให้มีอำนาจต่อรองสามารถไปเรียกร้องกับแพลตฟอร์มเพื่อเอาสวัสดิการได้ อย่างไรก็ตามต้องทำให้ไรเดอร์เข้ามาอยู่ในระบบให้ได้ก่อน และรัฐต้องพยายามสนับสนุนให้เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้การใช้การรวมตัวตามรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการกำหนดไว้ชัดเจนทำให้การรวมตัวมีจุดหมายที่ไม่ชัดเจน และมีขอบเขตที่ไม่สามารถกำหนดได้
ดังนั้นอาจารย์ศุภวิชจึงยังอยากให้ทำให้ไรเดอร์เข้ามาในระบบก่อน จึงควรมีกฎหมายออกมารองรับ มีมาตรการเข้ามาเพื่อให้มีความสะดวกต่อตัวไรเดอร์เอง ให้มีกระบวนการต่าง ๆ ตามมาทีหลัง อย่างไรก็ตามตนก็ยังมองว่ามีปัญหาในทางข้อเท็จจริงที่ยากที่จะทำ
อาจารย์ศุภวิช ยังกล่าวต่อไปว่า ตรงส่วนนี้ต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะทำงานนี้ไประยะยาว หรือสั้นแค่ไหน เพราะมีส่วนในการปรับปรุงกฎหมายที่จะออกมา ตัวกฎหมายแรงงานไม่ใช่ภาระหน้าที่ของภาครัฐอย่างเดียว แต่ในส่วนมาตรฐานขั้นต่ำที่จำเป็นจริง ๆ รัฐก็ต้องให้ เช่น เบี้ยประกัน ส่วนข้อมูลไม่ว่าจะของเอกชนหรือกระทรวงก็ควรจะมีมากหน่อย ไรเดอร์เองก็ควรจะให้รายละเอียดเวลาทำงานตรงส่วนนี้ด้วย เพื่อให้รัฐสามารถกำหนดรายละเอียดของกฎหมายได้มากขึ้น ดังนั้น ตนไม่เห็นด้วยที่จะให้รัฐเข้าไปแทรกแซงทั้งหมด และรัฐควรมีอำนาจต่อรองจนสามารถเข้าไปจัดการช่วยเหลือทุกฝ่ายได้
ในส่วนกฎหมายต่างประเทศ ปรากฏแนวทางแก้ไขปัญหา 3 ทาง คือ
1. การตีความกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งทางกรมฯหรือกระทรวงก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ด้วยลักษณะการทำงาน ก็ไม่ได้เร็วหรือตอบสนองได้ทันท่วงที ทั้งนี้ก็ยังจัดว่าเร็วกว่าหลาย ๆ ประเทศอยู่ ดังนั้นจึงต้องตีความกฎหมายที่มีอยู่โดยการย้อนกลับไปในองค์ประกอบของการจ้างแรงงาน ต้องเป็นงานบริการ ไรเดอร์จึงใช่แน่ ๆ ตามนี้ และใช้อำนาจบังคับบัญชาเป็นจุดตัด เช่น การไม่รับออร์เดอร์ก็จะถูกจำกัดสิทธิ เห็นได้ชัดว่าเป็นลักษณะการใช้อำนาจบังคับบัญชา เป็นการจ้างแรงงาน แต่ว่าทางแก้นี้ก็มีข้อเสียเพราะถ้าเอาตามการตีความกฎหมายก็จะเกิดประเด็นว่าต้องขึ้นศาลบ่อยครั้ง จึงจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถาวรและเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะกรณี ๆ ไป
2. การกำหนดสถานะการทำงานให้ชัดเจนโดยกฎหมาย ตีความขอบเขตการบังคับบัญชาว่าจะเอาเท่าใด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะกำหนดแนวทางได้ และยังรวดเร็วกว่าแก้ไขโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องใช้เวลานานกว่าในการแก้ปัญหา ในด้านการตีความ ถ้ายึดตามคำตัดสินของศาล ก็สกัดเอาหลักมาแล้วทำให้เป็นกฎหมายฝ่ายบริหาร โดยให้ถือว่าเป็นกฎหมายแรงงาน ซึ่งแก้ปัญหาได้ดีกว่าการตีความตามแบบแรก เช่นนี้จึงเป็นการดึงเอามาเฉพาะในส่วนที่จะใช้ ไม่ต้องไปพิจารณาแยกตามกรณี อีกทั้งวิธีนี้ก็เป็นการทำให้ไรเดอร์ไม่ต้องรอภาครัฐ สามารถรวมกลุ่มเข้าไปร้องตามระบบระเบียบ
ตัวอย่าง การตีความกฎหมายที่มีอยู่ Uber BV v Aslam The decision was given by Lord Leggatt on Friday 19th Febuary 2021 คนขับอูเบอร์เป็นแรงงานตามกฎหมายอังกฤษหรือไม่ ศาลได้ตีความว่าคนขับทำงานเป็น Worker ให้บริษัทตลอดเวลาที่เข้าสู่ระบบแอป (login) จนกว่าจะออกจากระบบแอป (logout) ประเด็นคือ Worker ในกฎหมายอังกฤษแยกออกเป็น 3 กลุ่ม 1.Employee 2.Workers 3.Independent Contractors แล้ว Worker ก็มีการคุ้มครองน้อยกว่าลูกจ้าง แต่ Independent Contractors จะไม่ได้รับความคุ้มครองเลย
ศาลอังกฤษตีความว่า คนขับเป็นพนักงานผ่านการพิจารณาเรื่องการบังคับบัญชาของแพลตฟอร์มที่มีต่อตัวคนขับ ทั้งยังพิจารณาด้วยว่าสัญญาที่ใช้เป็นสัญญาสำเร็จรูปดังนั้นคนขับจึงเป็นพนักงาน
ตัวอย่างการกำหนดสถานะการทำงานให้ชัดเจน เช่น California Assembly Bill 5
กฎหมายนี้ให้สันนิษฐานว่าเป็นลูกจ้างไว้ก่อนจนกว่านายจ้างจะสามารถโต้แย้งได้ว่าไม่ใช่ลูกจ้าง ผ่านลักษณะกำหนด 3 ประการ ดังนี้
(1) The worker is free to perform services without the control or direction of the company.
(2) The worker is performing work task that are outside the usual course of the company’s business activities.
(3) The worker is customarily engaged in an independently established trade, occupation, or business of the same nature as the involved in the work performed.
โดยหลัก คือ ดูว่าบริษัทมีอำนาจสั่งการลูกจ้างหรือไม่ และเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีหรือธุรกิจใหม่ ๆ ก็จะมีการออกฎหมายใหม่ ๆ มาเพิ่มเติม
3. การรองรับการรวมกลุ่มของผู้ทำงานเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง เป็นตัวล่าสุดจากอเมริกาที่ออกโดยรัฐบาลกลาง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญอเมริกาสามารถออกกฎหมายได้ โดยกฎหมายตัวนี้ล้อเอากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ออกมาโดยเน้นการสนับสนุนให้มีการรวมตัวของผู้รับจ้างได้ เพื่อให้ผู้รับจ้าง (ไรเดอร์) สามารถรวมตัวมาเรียกร้องได้ เพื่อแสดงออกว่าต้องการอะไร โดยมีขั้นตอนและข้อกำหนดในการควบคุมให้รัฐเข้ามาไกล่เกลี่ยได้
ประเด็น : ในต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศ มีตัวอย่างอะไรเพิ่มเติมหรือไม่
คุณพรสุดา เจียมพัฒนาตระกูล ตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
คุณพรสุดา ได้ให้ตัวอย่างเพิ่มเติมโดยอาศัยคำตัดสินจากศาลประเทศ ในประเทศอังกฤษ นอกจาก Uber ก็มีกรณีบริษัท Deliveru ซึ่งเป็นบริษัทรับส่งอาหาร มีประเด็นขึ้นศาลและจบด้วยการตัดสินว่า Deliveru เป็น Self Employed
ไม่ได้เป็นการตัดสินไปในกรณีแบบเดียวกับ Uber ทำให้ Deliveru ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายแรงงานอังกฤษ ทำให้นักวิชาการในอังกฤษเกิดความเห็นว่านี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลง และเกิดการพัฒนาการในกฎหมายเรื่องนี้ในอนาคต
Uber Eat ก็มีการตัดสินโดย Australia’s Fair Work Commission (FWC) ซึ่งแม้จะไม่ใช่ศาลแต่มีอิทธิพลต่อกฎหมายแรงงานของประเทศออสเตรเลียมาก ได้ตัดสินให้เป็น Independent Contractor เพราะประเทศออสเตรเลียมองว่า การเข้าสู่ระบบและการออกจากระบบ (login/logout)
ได้ตามใจ เป็นการมีอำนาจเหนือผู้บังคับบัญชา หรือแม้แต่การไม่ผูกพันการรับงานจากแพลตฟอร์มเดียวสามารถรับงานได้จากหลายแพลตฟอร์ม อีกเหตุผลที่ถูกกล่าวอ้างคือ ในการรับส่งอาหาร พนักงานไม่จำเป็นต้องใส่ชุดของบริษัท (uniform)
แล้วก็ยังมีอีกหลาย ๆ ประเทศ โดยแบ่งคำพิพากษาออกเป็น 2 ประเภท 1.จ้างทำของ 2.จ้างแรงงาน และในประเทศเนเธอร์แลนด์เองก็ตัดสินออกมาเลยว่าใครทำงานให้ Food delivery เป็น Employee
คุณพรสุดา ได้กล่าวถึงความเห็นส่วนตัวว่า “โลกเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นปัจจุบันจึงไม่ควรเป็นจ้างทำของแล้ว แต่เป็นการจ้างแรงงาน”
คุณพรสุดา ให้ความเห็นเพิ่มเติม ในส่วนของ California Assembly Bill 5 ที่รัฐ Califonia ออกมา ว่า บริษัทรับส่งอาหารยังคงปฏิเสธกฎหมายดังกล่าว จนไรเดอร์รวมตัวกันมีข้อเรียกร้องขึ้นไป และฝั่งแพลตฟอร์มเองพอถูกบีบแบบนี้ก็รวมตัวกันแล้วเรียกร้องขึ้นไป ปัญหาที่เกิดขึ้นคือหากไรเดอร์เป็นลูกจ้าง บริษัทก็ต้องจ่ายสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ย้อนหลัง ซึ่งจะเป็นการสร้างภาระมากเกินไป แล้วอาจนำไปสู่การหยุดจัดกิจการในรัฐ อีกทั้งยังส่งผลกระทบอีกว่าหากบริษัทหยุดดำเนินกิจการจะมีคนตกงานมาก บริษัทจึงรวมกลุ่มกันส่งข้อเสนอที่ 22 ว่า “เราจะขอยืนยันคำเดิมว่า คนที่ทำงานให้กับเราไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เป็นจ้างทำของ แต่ทางเราจะกำหนดมาตรการในขั้นพื้นฐานให้เท่าเทียม ทั้งในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ทั้งประกันภัย ทั้งสวัสดิการให้ดีขึ้น และเราก็จะยืนยันคำเดิมว่าจะไม่นับคนขับเป็นพนักงาน” คำเสนอนี้ชนะไปด้วยคะแนน 59 เปอร์เซ็นต์
ประเด็น : ในปัจจุบันไรเดอร์โดยทั่วไปทำงานในเวลาเท่าใด สิ่งที่ต้องการจริง ๆ คืออะไร
คุณเรย์ ตัวแทนจากกลุ่มสหภาพไรเดอร์
คุณเรย์ ได้ตอบว่า ทำงานนานไหมคงตอบไม่ได้ แต่โดยส่วนตนนั้นทำงานมานาน 4 ปีแล้ว แต่ละคนไม่เหมือนกัน เราควรมองว่าควรมีกฎหมายมาคุ้มครอง ส่วนจะนานไม่นานเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะตัดสินใจกันเอง อีกทั้งตนยังอยากให้เลิกตีความแบ่งแยกแรงงานเป็นนอกระบบในระบบ อยากให้รวมกันไปเลย
ประเด็น : แนวทางในการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน นักวิชาการด้านกฎหมายแรงงาน
อาจารย์ศุภวิช ได้กล่าวสนับสนุนความเห็นของคุณเรย์ว่า ไม่อยากให้แยกเป็นแรงงานในระบบหรือแรงงานนอกระบบ เพราะทุกคนทำงานได้ค่าตอบแทนเหมือนกัน และตนเชื่อว่าไรเดอร์เองก็อยากเห็นผลที่เป็นรูปธรรม และหวังว่าคุณพรสุดาในฐานะตัวแทนของกรมฯจะแก้ไขปัญหานี้ต่อไป
ทั้งยังเห็นต่อไปว่า ไรเดอร์โดนเอาเปรียบมานานแล้ว แพลตฟอร์มในช่วงนี้กำลังถอนทุนคืนจากการลงทุนในตอนต้น โดยวิธีการออกข้อกำหนดออกมาเพื่อให้ไรเดอร์ทำตาม ดังนั้นตนจึงอยากให้ไรเดอร์สามารถรวมตัวเพื่อต่อรองได้
ในส่วนสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ไรเดอร์ควรจะได้จากบริษัทแพลตฟอร์ม รัฐก็ควรนำไปกำหนดไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อแพลตฟอร์มจะได้นำไปทำตาม ส่วนอะไรที่มากกว่าขั้นต่ำก็ต้องให้ไรเดอร์รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องจากแพลตฟอร์ม
คุณเรย์ ตัวแทนจากกลุ่มสหภาพไรเดอร์
คุณเรย์ มีแนวทางว่า ตัวของไรเดอร์อยากให้สถานะที่คลุมเครือทางกฎหมายมีความชัดเจนมากกว่านี้ และอยากให้ตัวแพลตฟอร์มหยุดเอารัดเอาเปรียบกับไรเดอร์ เพราะแพลตฟอร์มใช้ความไม่ชัดเจนนี้มากดขี่ไรเดอร์ บอกว่าไรเดอร์ไม่ใช่พนักงาน ตัวอย่างเช่น มีการเรียกเก็บหลักประกันในการทำงาน 200 บาท เมื่อต้นปี 2564 ถือได้ว่าเป็นการระดมทุนอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ แถมบังคับให้ทำตามกฎอย่างเคร่งครัด แล้วกฎที่ใช้ในตอนนี้ก็เปลี่ยนแปลงเองให้ตัวไรเดอร์เสียเปรียบกว่ามาก จากเมื่อก่อนยกเลิกงานไม่เสียอะไร ตอนนี้ยกเลิกแล้วโดนแบน 1 วันเต็ม ๆ
ไรเดอร์จึงอยากจะได้สวัสดิการที่ดีกว่านี้ เพราะตอนนี้เจอปัญหาถึง 3 ทาง ทั้งบริษัทเอาเปรียบ เปลี่ยนกฎตามใจ ลูกค้าบางรายที่แจ้งแบนไรเดอร์เอาสะใจ และกฎหมายที่ไม่คุ้มครองตัวไรเดอร์ที่ตอนนี้บาดเจ็บล้มตายในการทำงานทุกวัน
ดังนั้น คุณเรย์ จึงอยากให้มีการรับรองกฎหมายอย่างชัดเจน ไม่แบ่งแยกในระบบ นอกระบบ ให้ทุกคนที่เป็นแรงงานอยู่ภายใต้กฎหมายจริง ๆ ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย
คุณพรสุดา เจียมพัฒนาตระกูล ตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
คุณพรสุดา ตอบปัญหาคุณเรย์ว่า ในเรื่องนิยามเป็นสิ่งสำคัญ แต่อย่างที่เรียนไปเบื้องต้นว่า ประเทศไทย เวลาศาลตัดสิน ต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป
ซึ่งจะมีผลในการนำกฎหมายมาบังคับใช้ ในกรณีนี้เห็นว่าต้องการให้มีการนำกฎหมายมาคุ้มครอง กรมฯก็ได้มีการดำเนินการออกกฎหมายแรงงานนอกระบบ และเชื่อว่าไรเดอร์จะได้รับการคุ้มครองผ่าน พ.ร.บ. ฉบับนี้
คุณพรสุดายังแสดงความกังวลเรื่องประกันสุขภาพและประกันภัย ทางออกในตอนนี้คือประกันสังคม ดังนั้นตนจึงอยากให้ไรเดอร์เข้าระบบประกันสังคม ที่จะเป็นทางออกและสามารถแก้ไขปัญหาในตอนนี้ได้เร็วที่สุด
คำถามจากผู้เข้าฟังการสัมมนา
คำถาม (1) : ในกรณีถูกแบนมั่วเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าใช้อุปกรณ์ช่วยกดในการรับออร์เดอร์ ไรเดอร์จะขอเงินคืนได้ไหม
คุณเรย์ กล่าวว่า แพลตฟอร์มยังมีกฎระเบียบที่คลุมเครือ ระหว่างเครื่อง Root (เครื่องที่ผ่านการเจาะให้สามารถใช้หรือใส่ฟังก์ชันพิเศษที่ไม่มีในเครื่องปกติเข้าไป อาทิ ตัวอักษร ภาพพื้นหลัง เสียง แอปเถื่อน ทำให้ระบบปฏิบัติการเร็วขึ้น เป็นต้น) กับเครื่องปกติ และอุปกรณ์ช่วยกด (Bot Macro เป็นต้น) ของพวกนี้ คุณเรย์ มองว่าไม่ผิดเพราะไม่ได้มีผลกระทบอะไร แล้วบริษัทก็ไม่มีสิทธิมายึดเงินคนขับหรือแบนคนขับ ทั้งตอนประกาศห้ามใช้อุปกรณ์ช่วยกด ก็ประกาศคลุมเครืออีกจึงไม่เป็นธรรมกับไรเดอร์เลย
คุณพรสุดา กล่าวว่า กรมฯพยายามไกล่เกลี่ยกับบริษัทอยู่ ทั้งนี้จึงไม่อาจจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้
คำถาม (2) : ในกรณีที่ไรเดอร์ถูกยกเลิกในกรณีที่เป็นการกลั่นแกล้ง มีกฎเกณฑ์ใดในการคุ้มครองไรเดอร์
คุณเรย์ กล่าวว่า แพลตฟอร์มกำหนดกฎระเบียบมาว่า ต้องไปถึงร้าน แล้วโทรยืนยันกับลูกค้าก่อนรับอาหาร ถ้าติดต่อไม่ได้ก็ทำเรื่องเคลมไป แต่ถ้าไรเดอร์รับอาหารแล้วไม่ยืนยันกับลูกค้าก็จะหมดสิทธิเคลม คุณเรย์มองว่าไม่เป็นธรรมกับไรเดอร์ กลายมาเป็นภาระให้กับไรเดอร์โดยที่ร้องเรียนอะไรไม่ได้ ไม่สามารถเอาผิดกับลูกค้าที่กลั่นแกล้งได้ แพลตฟอร์มก็ไม่ได้จัดการลูกค้าเลยด้วย นโยบายกับกฎจึงเป็นประโยชน์กับแพลตฟอร์มมากเกินไป
คำถาม (3) : ถ้ากล่าวในด้านกฎหมายจะมีกฎหมายใดมาคุ้มครองในส่วนนี้
อาจารย์ศุภวิช กล่าวว่า ถ้าเป็นจ้างแรงงานแล้วมีออเดอร์เข้ามา แต่ลูกค้ายกเลิกความเสียหายที่เกิดขึ้นไรเดอร์ไม่ต้องรับผิด และนายจ้างต้องรับผิดเองแล้วค่อยมาดูว่าจะไล่เบี้ยทีหลังได้หรือไม่ แต่นั้นก็กรณีเป็นการจ้างแรงงานโดยตนมองว่ากรณีนี้คู่สัญญาจริง ๆ ควรจะเป็นตัวแพลตฟอร์มกับลูกค้า ไม่ใช่โยนให้ไรเดอร์มารับผิดแทน และถ้าลูกค้าจะมีการแกล้งจนเกิดความเสียหายแพลตฟอร์มก็ต้องรับไปก่อนในฐานะผู้ประกอบการ พร้อมทั้งต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนโดยถ้าจะเอาผิดกับไรเดอร์กล่าวคือต้องพิสูจน์ความผิดไรเดอร์ให้ได้
ในส่วนของสัญญาที่ได้ตกลงกันไปแล้ว แพลตฟอร์มแก้ไขได้แบบนี้มีลักษณะเป็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ต่อให้ในฉบับแรกจะมีเขียนไว้ว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตก็ไม่มีผล ไรเดอร์ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ สรุปได้ว่าสิ่งที่แพลตฟอร์มทำนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คุณพรสุดา เห็นด้วยกับอาจารย์ศุภวิช และเห็นว่าควรเอากฎหมายแพ่งมาปรับใช้ ทำให้บริษัทต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบไป แล้วจะเรียกร้องยังไงก็ไปคุยกันหลังม่านเอา และบริษัทก็ควรจะออกระเบียบให้ชัดเจนกว่านี้
คำถาม (4) : ไรเดอร์ไม่ได้อยู่ในฐานะลูกจ้าง บริษัทแพลตฟอร์มจะมาบีบบังคับให้ซื้อยูนิฟอร์ม กล่องขนส่งได้อย่างไร เป็นธรรมหรือไม่
คุณเรย์ เห็นว่า กรณีนี้ไม่เป็นธรรมในเมื่อบอกว่าพวกเขาไม่ใช่พนักงานทำไมถึงมาบังคับได้ และถ้าไม่ทำตามก็จะไม่อาจรับงานในบางงานได้ ยิ่งถ้ามีการแจ้งเรื่องด้วยการถ่ายส่งไปว่าไม่มีการใส่ชุดของบริษัท (uniform) บริษัทสามารถลงโทษไรเดอร์ได้เลย อาจเรียกได้ว่ามีอำนาจเต็มในการจัดการกับคนขับ และล่าสุดก็มีปัญหาเช่น GPS ไม่ตรง ทำให้มีการคาดเคลื่อนในการรับเงิน แม้จะสามารถอุทธรณ์ได้ก็มีน้อยมากที่ไรเดอร์ จะส่งเรื่องไป สิ่งเหล่านี้เป็นการใช้ความคลุมเครือของระบบและระเบียบมาเอาเปรียบไรเดอร์
คุณพรสุดา เห็นว่า การบังคับให้ซื้อชุดของบริษัท (uniform) ศาลทั่วโลกเห็นเป็นปัญหาว่าการใส่ชุดเป็นการแสดงออกว่าเป็นว่าลูกจ้าง และหลาย ๆ ที่ก็มองว่าเป็นการแสดงออกว่าเป็นลูกจ้าง อย่างไรก็ตามบางที่ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้เพราะว่าเป็นการทำเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบในองค์กร อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงอยู่
อาจารย์ศุภวิช เห็นว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ตัวแพลตฟอร์มก็ต้องจัดหาให้ ดังนั้นมันจะต้องฟรี แต่การให้ซื้อแบบนี้โดยอ้างไว้ไม่ใช่ลูกจ้างเลยต้องมาจัดหาเอง เป็นการบีบบังคับให้อยู่ภายใต้ระเบียบแล้วเป็นการแสดงออกว่าตัวไรเดอร์สังกัดอะไร จึงเอนเอียงไปในทางที่ว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่าไรเดอร์เป็นพนักงานบริษัทของแพลตฟอร์มนั้น ๆ
คุณเรย์ ได้กล่าวเสริมในประเด็นดังกล่าวว่า แพลตฟอร์มสามารถลงโทษ และปรับเงินในกรณีที่พนักงานไม่สวมเครื่องแบบตามบริษัท
คุณพรสุดา เห็นว่าถ้ามามองเป็นนิติสัมพันธ์ว่านี้เป็นองค์ประกอบว่าเป็นสัญญาได้ ก็ยังตอบได้ยากอยู่ดีว่าจะไปจบทางไหน อย่างไรก็ตาม ตนก็ยังมองว่านี้อาจจะเอนเอียงไปในทางจ้างทำของมากกว่าจ้างแรงงานเพราะการทำงานมีความอิสระมากพอสมควร
คำถาม (5) : กรณีข่าวคุณยายโอนผิดไปเกินกว่าที่ต้องชำระ แล้วไรเดอร์นำไปใช้จนหมด มีความผิดอะไร
คุณเรย์ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอย่างแน่นอน แพลตฟอร์มมีสิทธิลงโทษได้เต็ม เพราะไรเดอร์ไม่สามารถถือสิทธินำเงินลูกค้าไปใช้ตามใจเช่นนี้ เป็นการทุจริตกับทางลูกค้า และอาจโดนระงับบัญชีพร้อมทั้งโดนดำเนินการทางกฎหมาย
บางกรณีเมื่อก่อน ไรเดอร์โดนล่อซื้อผ่านการให้ไรเดอร์รับของผิดกฎหมายไปส่งในตอนกลางคืน พอไปส่งก็โดนตำรวจจับติดคุกก็มี ทั้งที่ไรเดอร์ไม่มีสิทธิไปแกะสินค้าดูอยู่แล้ว และแพลตฟอร์มไม่ช่วยอะไรเลย
คำถาม (6) : ทำไมแรงงานกลุ่มนี้ถึงเป็น Informal Worker ซึ่งทำให้ Informalisation ของแรงงานกลุ่มนี้มากขึ้นหรือไม่ และปัญหาการละเมิดสิทธิของแรงงานกลุ่มนี้ของแพลตฟอร์มจะไม่ได้รับการแก้ไขใช่หรือไม่
อาจารย์ศุภวิช เห็นว่าไม่ใช่ สุดท้ายก็จะแก้ไขได้อยู่ดี เชื่อได้ว่าแก้ไขได้แน่ ๆ เพราะตอนนี้มีร่างพ.ร.บ.แล้ว และตนยืนยันว่าที่เป็นร่างที่เป็นไปตามแนวทางที่จะไป สิ่งที่เป็นห่วง คือ เราต้องปล่อยให้ตัวธุรกิจพัฒนาไปด้วยโดยที่ตัวธุรกิจกล้าเข้ามาในระบบราชการเพื่อให้ดำเนินการไปได้
คุณพรสุดา กล่าวว่า ทางกรมฯไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหานี้ แต่มันเป็นการจัดการที่ต้องใช้เวลา อย่างที่เรียนไปว่ามีทั้งระยะสั้น ระยะยาวที่จะมอบประโยชน์ให้กับไรเดอร์ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการศึกษาเพราะมีผู้ได้รับผลกระทบหลายฝ่าย
คำถาม (7) : อยากทราบว่ามีการตีความสถานะอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ว่าไรเดอร์เป็นแรงงานนอกระบบ เท่าที่ทราบมายังไม่มีการตีความเช่นนั้น
อาจารย์ศุภวิช สรุปว่า มีแนวว่าต้องดูตามข้อเท็จจริงว่ามีความเป็นนายจ้างลูกจ้างมากน้อยเพียงใด และมาตรการคุ้มครองควรจะได้รับมากน้อยเพียงใด และประเทศไทยจะมีขอบเขตเท่าไหนว่านี้เป็นอำนาจบังคับบัญชา ดังนั้นเราก็ควรจะวางหลักและสร้างข้อยกเว้นขึ้นมา ทั้งนี้ยังอีกไกลและยังไม่สามารถให้คำตอบชัดเจนได้
คุณพรสุดา เห็นด้วยกับอาจารย์ศุภวิช และกล่าวว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลา และหลาย ๆ ประเทศให้คำตอบชัดเจนไม่ได้ ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อมูล หมายความว่านี้ยังไม่มีนิยามชัดเจน ทำไมถึงวางเป็นแรงงานนอกระบบ ตนก็ตอบเหมือนเดิมว่าเพราะไม่มีความชัดเจนแตกต่างกันไปตามข้อเท็จจริง บางคนเป็นลูกจ้าง บางคนไม่เป็นลูกจ้าง อย่างไรก็ดี ทำไมถึงมองไปก่อนแบบนั้นก็เพราะด้วยสภาพการทำงานของไรเดอร์ในปัจจุบัน เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าเป็นแรงงานในระบบ ทำให้ตอนนี้การเอาไปไว้ในแรงงานนอกระบบที่จะตอบโจทย์ในการพัฒนาปรับเปลี่ยนการแก้ไขปัญหาได้
คุณเรย์ เห็นว่าไรเดอร์มีความอิสระแค่การเข้าทำงานที่ไม่ต้องตอกบัตรเท่านั้น ที่เหลือไม่มีอิสระแล้ว ต้องทำตามระเบียบของแพลตฟอร์ม มันแสดงให้เห็นว่าไรเดอร์ไม่ได้อิสระ และการนำไปไว้ในแรงงานนอกระบบ ก็ทำให้แพลตฟอร์มปัดภาระได้และไม่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นหากเข้ามาในระบบ แพลตฟอร์มก็จะต้องปรับตัว แล้วปรับปรุงบริษัทให้เลือกคนเข้าทำงาน จากไม่มีต้นทุนมามีต้นทุน ทั้งยังทำให้ไรเดอร์ไม่ต้องมาแย่งงานกันจนเหมือนเป็นแมลงกินแมลงแบบนี้
คุณพรสุดา กล่าวว่า ความอิสระนี้ไม่ได้เป็นองค์ประกอบเดียวในการพิจารณานิติสัมพันธ์ว่าเป็นการจ้างแรงงานหรือจ้างทำของ แต่ต้องดูลักษณะการทำงานทั้งหมดประกอบกัน แล้วรูปแบบการทำงานของไรเดอร์เองก็ดูเป็นการทำงานของจ้างทำของมากกว่าการจ้างแรงงาน
คำถาม (8) : ถ้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดคำนิยามแล้วกินเวลามาก เช่นนี้ควรจะนำขึ้นสู่ศาลให้เป็นที่กระจ่างเลยหรือไม่
อาจารย์ศุภวิช เห็นว่า ศาลก็มีแนวมาตั้งนานแล้ว แต่ว่าทนายความเวลาจะสู้คดีก็จะตั้งรูปคดีไปในทางที่ฝ่ายตนได้เปรียบอยู่แล้ว สุดท้ายศาลก็ต้องมาพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป อีกทั้งคำพิพากษาไม่ใช่หลักกฎหมาย สุดท้ายต้องให้กรมฯและกระทรวงเป็นคนปรับกฎหมายให้เรียบร้อยแล้ววางบรรทัดฐานให้ไรเดอร์
คุณพรสุดา เห็นว่า มีคดีขึ้นสู่ศาล แต่ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด จึงไม่อาจบอกได้ว่ามีบรรทัดฐานแล้วหรือยัง