สรุปสาระสำคัญจากเสวนาทางวิชาการเรื่อง “ฮาว ทู ทิ้ง ทิ้ง ไง ไม่ ให้ ติด !” จัดโดยศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2563 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และถ่ายทอดสดทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กล่าวรายงานโดย ผศ.ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กล่าวเปิดการเสวนาโดย ศ.ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
วิทยากรโดย
- คุณสิริวรรณ จันทนจุลกะ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
- คุณสุธิศา พรเพิ่มพูน ผู้แทนกรุงเทพมหานคร
- คุณเบญจมาศ โชติทอง ผู้แทนมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
- คุณมารีญา ลินน์ เอียเรียน Co-Founder SOS Earth
สรุปความโดย นายอธิป ปิตกาญจนกุล นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตัวแทนนักศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : กล่าวว่า งานเสวนานี้ จัดขึ้นเพื่อส่วนหนึ่งจากการศึกษาวิชาปัญหาการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม ในสาขาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เราทุกคนต้องอยู่กับ Covid-19 เป็นเวลา 1 ปีกว่าแล้ว มาตรการต่าง ๆ เป็นมาตรการใหม่ที่เราได้เผชิญกันในปี 2020 นี้ ตั้งแต่การปิดเมือง การประกาศใช้มาตรการ Social Distancing การเว้นระยะห่าง ตลอดจนวิถีชีวิต New Normal การออกจากบ้านโดยต้องสวมหน้ากากอนามัย ทำให้ปี 2020 นี้ขยะหน้ากากอนามัยเพิ่มปริมาณสูงขึ้นมาก ความกังวลใจในส่วนนี้เป็นเหตุผลหลักสำคัญที่ทำให้เรามีงานวันนี้ขึ้น
ผศ.ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : กล่าวรายงานว่า วิชาปัญหาการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม เป็นวิชาที่เราพยายามที่จะศึกษาในภาคปฏิบัติ ในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว หรือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างหัวข้อในวันนี้ เราคิดว่าการที่มีโรคระบาด Covid-19 อาจจะนำมาซึ่งปัญหาที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดเป็นมลพิษ และอาจนำมาซึ่งข้อพิพาทในภายหลัง ซึ่งวันนี้เราได้รับความกรุณาจากท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ได้มาแนะนำ ให้ความรู้วิธีการจัดการเกี่ยวกับหน้ากากอนามัย
ศ.ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : กล่าวเปิดงานเสวนาว่า ตนมีความยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาเปิดงานในวันนี้ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มีการระบาดของ Covid-19 ปัจจุบันมีคนติดเชื้อประมาณ 60 ล้านคน แต่ก็น่ายินดีที่ตัวเลขในไทยยังคงต่ำกว่า ปัญหาดังกล่าวกระทบการดำเนินชีวิตของเราพอสมควร ในมหาวิทยาลัยเองก็ต้องมีการเรียนการสอนออนไลน์มาตั้งแต่เดือนมีนาคม และมีการใช้หน้ากากกันมากมาย เช่น ประเทศไทย มีคน 70 ล้านคน 10% ก็ 7 ล้านคน เดือนหนึ่ง 210 ล้านชิ้น ถ้าไม่มีวิธีการจัดการ ก็น่าจะมีปัญหาตามมา ที่ผ่านมาเราเน้น Social Distancing และสวมหน้ากากอนามัย แต่เราไม่เคยคุยกันว่า ใช้เสร็จแล้วทิ้งอย่างไร เช่น ผู้ใหญ่ข้างบ้านของตน ไปโรงพยาบาลกลับมาบ้านก็ใช้ต่อ เพราะเสียดาย ตนจึงคิดว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ศูนย์กฎหมายทรัพยากรทางด้านสิ่งแวดล้อมและนักศึกษาปริญญาโทของเราได้จัดเรื่องนี้ เพื่อจะกระตุ้นสังคม ว่านอกจากจะใส่หน้ากากแล้ว จะจัดการกับมันอย่างไรเมื่อใช้เสร็จแล้ว และตนในฐานะนักกฎหมาย ก็อยากจะฝากคนที่เป็นนักกฎหมายด้วยกัน ว่าหน้ากากเหล่านี้ เมื่อใช้เสร็จแล้ว เป็นขยะติดเชื้อหรือไม่ เพราะถ้าเป็น เราจะไม่สามารถทิ้งถังขยะ ปล่อยในรถเข็นได้ตามใจชอบ เพราะจะอันตราย เพราะฉะนั้น ตนจึงคิดว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ และคงจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
คุณสิริวรรณ จันทนจุลกะ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (วิทยากร) :
ตามประกาศฯ มีมาตรการหลักที่ทุกคนต้องปฏิบัติ 5 ข้อสำคัญ หนึ่ง การทำความสะอาด และการจัดการขยะ สอง ให้มีการใช้หน้ากาก สาม ให้มีจุดสำหรับการล้างมือ สี่ การเว้นระยะห่าง ห้า จำกัดจำนวนคน
เหตุที่เราเราถึงกำหนด 5 เรื่องนี้ เพราะลักษณะของการติดเชื้อและการแพร่ระบาด ถ้ามีคนหนึ่งติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะมีอาการทางทางเดินหายใจ ไอ จาม มีโอกาสแพร่ต่อไปได้ เชื้อไวรัสจะทำปฏิกิริยาผ่านทางเดินหายใจ ซึ่งถ้ารับเชื้อไปผ่านทางนี้ โอกาสเกิดโรคมีมาก นอกจากนี้การจามใส่มือ แตะสิ่งต่าง ๆ ละอองฝอยก็แพร่ไปได้ ซึ่งเป็นการแพร่ทางอ้อม จึงต้องมีการทำความสะอาดสถานที่ โดยเฉพาะพื้นผิวที่มีการสัมผัสเยอะ ๆ และต้องจัดการขยะให้ดีด้วย สอง หน้ากากจะช่วยป้องกันทั้งการรับเชื้อ และแพร่เชื้อ สาม การล้างมือ โดยหลัก น้ำกับสบู่ก็เพียงพอ ถ้าใช้ได้ ไม่เช่นนั้นก็สามารถใช้เจลแทนได้ ส่วนสุดท้าย คือ จำนวนคน เพราะมีข้อมูลเรื่องของการระบาด ถ้าอยู่ในพื้นที่แอร์อัด ระบบระบายอากาศไม่ดี คนอยู่กันอย่างใกล้ชิด เป็นเวลานาน ๆ ก็ควรมีการป้องกันตัวเอง
เมื่อเรามีการใช้มาตรการทางกฎหมายที่จะมาควบคุมการระบาดของโรค ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่พบผู้ป่วยที่มาจากจีน ตอนนั้นเรายังไม่รู้วิธีป้องกัน และปิดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกัน ที่สำคัญคือปิดกิจการ คนส่วนหนึ่งออกต่างจังหวัด ส่วนนี้จึงเป็นจุดหลักในการแพร่ระบาด เมื่อเรารู้ จำนวนที่เพิ่มขึ้นก็ลดลง มีการติดเชื้อภายในประเทศบ้าง แต่น้อยถ้าเทียบกับสถานการณ์โลก แต่เมื่อมีการตรวจ กลับพบภูมิคุ้มกัน แสดงว่าติดเชื้อมาแล้ว แต่ไม่แสดงอาการ เนื่องจากเป็นไวรัส มาตรการต่าง ๆ จึงต้องดำเนินอยู่ และเศรษฐกิจก็ต้องขับเคลื่อนต่อไป เราจึงต้องป้องกันตนเอง
สำหรับเรื่องหน้ากากมีการถกเถียงกันว่าใช้หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ช่วงแรกมีคนบอกว่าแม้หน้ากากอนามัยก็กันไม่ได้ WHO เองก็ไม่แนะนำ ต้องป่วยเท่านั้นจึงใช้หน้ากาก ซึ่งทางกรมอนามัยบอกว่าให้ใช้หน้ากากผ้า เพราะหน้ากากอนามัยขาดแคลน และใช้ใหม่ได้ ไม่เป็นขยะ ไม่เช่นนั้นทางการแพทย์ก็จะยิ่งขาดแคลนหน้ากากอนามัย
พ.ร.บ. การสาธารณสุข พูดเรื่องของกฎหมายว่าด้วยการจัดการมูลฝอย มี 3 ประเด็น คือ ขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อ และขยะอันตราย ภายใต้ภาวะโควิด มีขยะทั้งที่บ้าน ที่กักกันต่าง ๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ถูกควบคุมโดยกฎกระทรวง แต่มีการปฏิบัติตามมาตรฐาน ความเข้มข้นเทียบเท่าถือเป็นขยะติดเชื้อทั้งหมด คนส่วนใหญ่ไม่ทิ้งในถังที่จัดไว้ให้ เพราะใช้หน้ากากผ้า หรือทิ้งที่บ้านง่ายกว่า ไม่ว่าโควิดหรือไม่ เรามีระบบกำจัดทั้งของเอกชน ท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และบางโรงพยาบาล ช่วงที่ระบาดหนัก ขยะติดเชื้อลดลงเยอะมาก เพราะโรงพยาบาลบางส่วนปิดให้บริการสำหรับโรคไม่จำเป็น จำนวนผู้ป่วยที่ไปโรงพยาบาลก็ลดลง หลังจากที่เราใช้มาตรการต่าง ๆ ช่วยลดอัตราป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหารได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ ป้องกันโรคอื่นได้ด้วย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของ WHO อย่างไรดี WHO เป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศด้วย บางประเทศอาจจะจัดการขยะด้วยการฝัง หรือเผาก็ได้ ประเทศเรามีการจัดการทุกอย่าง ยกเว้นส่วนที่เป็นของประชาชน ถ้าเราเข้าภาวะแบบอู่ฮั่น อาจต้องย้อนมาดูกระบวนการจัดการอีกที นอกจากพ.ร.บ ก็จะมีคำแนะนำให้กับประชาชนทั่วไป เพื่อให้เข้าใจง่าย
สถานการณ์การระบาด การรักษาการแพร่เชื้อโรค หน้ากากเป็นแค่ส่วนน้อยของระบบที่เราจะใช้ และจะมีการจัดการอย่างไร ถ้าเรามีกฎหมายที่ชัดเจน
คุณสุธิศา พรเพิ่มพูน ผู้แทนกรุงเทพมหานคร :
ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ช่วงที่ผ่านมา ก่อนที่จะเกิดปัญหาเรื่องของโรคโควิด หน้ากากอนามัยเราไม่ค่อยได้ใช้ แต่จะมีปัญหาเรื่องของ PM2.5 ซึ่งช่วงนั้นเราจะใช้เพื่อป้องกันฝุ่น ซึ่งถือเป็นความโชคดี ทำให้เราติดเชื้อไม่มากนัก เพราะเราคุ้นชินกับการใช้หน้ากากอนามัย ซึ่งช่วงนั้น หน้ากากอนามัยไม่ถือว่าเป็นขยะติดเชื้อ ก่อนที่โควิดจะระบาด เราก็มีการทิ้งปกติ แต่ถ้าหน้ากากอนามัยที่ใช้ในสถานพยาบาล โรงพยาบาล ถือเป็นขยะติดเชื้อ แต่ถ้าประชาชนทั่วไปใช้ ก็เป็นเพียงขยะทั่วไป แต่ช่วงที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น ประชาชนได้รับเชื้อเพิ่มขึ้น ทางกรุงเทพมหานครได้รับประกาศจากกรมอนามัย ที่มีมาตรการออกมาว่าจะต้องมีการใช้หน้ากากอนามัย เราจึงถือว่าเป็นขยะติดเชื้อเพื่อเป็นการป้องกัน ทั้ง ๆ ที่กฎหมายยังไม่ได้กำหนดว่าเป็นขยะติดเชื้อ แต่ก็ป้องกันไว้ก่อน ซึ่งช่วยให้ประชาชนติดเชื้อน้อยลง ซึ่งทางกรุงเทพมหานครมีเตาเผาขยะติดเชื้อ ที่อ่อนนุช หนองแขม ในสภาวะปกติ จะว่าจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม ในการจัดเก็บขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาลต่าง ๆ ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ซึ่งจะมีสถานพยาบาลของคน ของสัตว์ และห้องปฏิบัติการที่มีเชื้อร้ายแรง จัดการโดยเข้าเตาเผาของกรุงเทพมหานครในสภาวะปกติ ในช่วงโรคระบาด ทางกรุงเทพมหานครก็ทำเช่นกัน และนอกจากนี้ ยังมีขยะติดเชื้อจากการกักตัว State Quarantine ที่เดินทางมาทางเครื่องบิน ซึ่งภาครัฐจะรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด ทำให้เราต้องมีการไปกู้เงิน แต่ก็ทำให้ประชาชนติดเชื้อน้อยลง ไทยจึงมีภาพลักษณ์ที่ดี สำหรับการเดินทางทางบก และทางน้ำ ก็จะเป็น Local Quarantine และ Home Quarantine คือกลุ่มประชาชนที่กักตัวเสร็จแล้ว ก็ต้องกักตัวที่บ้านต่อ ขยะจากการกักตัวเหล่านี้ ก็เป็นขยะติดเชื้อเช่นกัน เป็นภารกิจพิเศษที่ต้องมีการแยกขยะ และนำมาสู่เตาเผาของกรุงเทพฯ ถ้าเป็น State Quarantine, Local Quarantine และ Alternative Quarantine โรงแรมจะต้องแยกขยะเพื่อให้กรุงเทพฯ ไปจัดเก็บ ทั่วไปก็ฝังกลบ แต่ขยะติดเชื้อ ต้องมีการจัดเก็บที่มีการป้องกันอย่างดี และนำมาที่เตาเผาขยะ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ปริมาณขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นลดลง จากสถานพยาบาลก็ลดลง คนเที่ยวลดลง แต่ช่วงเดือนมีนาคม เมษายน ขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะการกักตัวทั้งหลาย ส่วนกรุงเทพมหานครเอง เมื่อมีการระบาดของโรคมากขึ้น จึงมีการจัดจุด drop-off ให้ทิ้งขยะติดเชื้อต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุขทั่วกรุงเทพมหานคร มี 69 ศูนย์ 50 สำนักงานเขต นอกจากนี้เรายังมีสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครเอง 38 แห่ง ก็มีการวางถังทิ้งหน้ากากอนามัย ซึ่งตนอยากจะขอความร่วมมือ ให้แยกทิ้งให้ถูกต้องด้วย แล้วถ้าไม่สะดวก ก็สามารถเก็บรวบรวมให้เรียบร้อย ถ้าเป็นถุงใสก็ไม่ต้องติดฉลาก แต่ถ้าเป็นถุงทึบก็ควรติดฉลากให้ทราบ ถ้ามีการแยกชัดเจน เขาก็จะแยกเก็บให้ เพราะรถขยะจะมีช่องแยกขยะทั่วไป กับขยะอันตรายอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ใส่ถุงให้เรียบร้อยก็จะมีความเสี่ยงต่อคนเก็บขยะ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมูลฝอยติดเชื้อ เรามีข้อบังคับกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2545 ซึ่งจะเกี่ยวกับการจัดการขยะติดเชื้อ นอกจากนี้เรายังมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ที่ว่าเกี่ยวกับเรื่องของค่าธรรมเนียมการเก็บและขนสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เพราะมูลฝอยติดเชื้อตามสถานพยาบาลต่าง ๆ ในภาคเอกชน เราจะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม และปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องค่าธรรมเนียมฉบับใหม่แล้ว ที่จะเพิ่มค่าธรรมเนียม ไม่ว่าจะเป็นจากบ้านเรือน หรือจากสถานพยาบาลต่าง ๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะของเพิ่มขึ้น กรุงเทพมหานครเองจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ค่าดำเนินการในการกำจัด เก็บขนขยะ และกำจัด มีต้นทุนถึง 7,000 ล้านบาทต่อปี จึงเป็นที่มาว่าทำไมจึงต้องออกระเบียบเพิ่มค่าธรรมเนียมในการกำจัดขยะ การที่เราเพิ่มค่าธรรมเนียม จะทำให้ระบบการกำจัดขยะของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น
คุณเบญจมาศ โชติทอง ผู้แทนมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย :
ทำไมต้องทิ้ง why to ทิ้ง ถ้าเรามีทางเลือกที่จะไม่ใช้ single use เราก็ไม่ต้องทิ้ง ตนไม่อยากให้คิดว่า recycle ได้ก็จบ หรือเป็นทางออก เพราะใช้พลังงานเช่นเดียวกับการผลิตทั่ว ๆ ไป
สำหรับหน้ากากอนามัย ทางมูลนิธิสนับสนุนการทำงานของกรุงเทพมหานคร ให้ช่วยกันแยก และให้ทิ้งในสถานที่ที่กรุงเทพมหานครได้จัดไว้ให้ ในท้องถิ่นอื่นก็หาที่ทิ้งค่อนข้างยาก แต่สถานที่เหล่านั้น ในช่วงดังกล่าวเราก็ไม่ค่อยได้ออกไปในสถานที่เหล่านั้น ถือว่าการรองรับต่าง ๆ ก็ยังไม่ดีพอ หากมีครั้งต่อไปก็อาจจะต้องมีแนวทางอื่นที่รวดเร็วมากขึ้น
ในมุมมองขององค์กรเอกชน เห็นว่าการสื่อสารเรื่องนี้ช้า น้อย และไม่ชัดเจน หน้ากากอนามัย single use ปกติแล้วก็จะมีการใช้อยู่ในวงการแพทย์ ซึ่งเป็นมูลฝอยอันราย และโรงงานอุตสาหกรรมในการป้องกันฝุ่น ซึ่งมักจะเป็นมูลฝอยทั่วไป และแม้เราจะมีถังขยะที่ให้ทิ้งหน้ากากอนามัยเท่านั้น เราก็ทิ้งขยะทั่วไปอยู่ดี เพราะพฤติกรรมการทิ้งของคนทั่วไปไม่มีการแยกขยะเลย แม้ภาวะวิกฤตก็กระตุ้นพวกเขาไม่ได้ ซึ่งไม่ว่าเราจะจัดการขยะอย่างไร ถ้าไม่มีการแยกขยะแต่แรก ก็ยากที่จะทำให้ขยะต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการจัดการขยะได้อย่างถูกต้อง การจัดการหน้ากากอนามัย เราถือว่าเป็นมูลฝอยติดเชื้อ แต่คนทั่วไปรับรู้ข้อมูลนี้น้อยมาก และในประเทศไทย เป็นการขอความร่วมมือ มากกว่าการบังคับใช้กฎหมายที่มีสภาพบังคับใช้เหมือนกับหน้ากากที่มาจากสถานพยาบาล ซึ่งน่าจะเป็นจุดอ่อนหนึ่งที่เรายังไม่ค่อยที่จะมีการบังคับใช้กันเท่าไหร่
สิ่งที่วงการสิ่งแวดล้อมกังวลมาก คือขยะต่าง ๆ รวมถึงหน้ากากอนามัย ที่หลุดไปจากจุดรวบรวม และลงสู่แหล่งน้ำ ไปสู่ทะเล ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรค หรือของอันตรายต่าง ๆ สามารถกระจายไปกับน้ำ ไปสู่สัตว์น้ำ และกลับมาสู่พวกเรา เพราะฉะนั้น การที่เราจะช่วยกันป้องกันไม่ให้ขยะ หรือหน้ากากอนามัยลงสู่แหล่งน้ำ เป็นหน้าที่ของพวกเรา คือการป้องกันตัวเอง
สำหรับหน้ากากที่ไม่ค่อยอยากให้ใช้ คือหน้ากากที่ทำจากพลาสติก เพราะเมื่อติดเชื้อแล้ว การกำจัดที่ถูกต้องทางเดียว คือการเผา ซึ่งเป็นการเผาที่ไม่ควรทำ แม้เตาเผาจะมีระบบบำบัดมลพิษแล้วก็ตาม แม้หน่วยงานรัฐจะบอกว่าอยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ตนเหนว่าถ้าเราเผาบ่อย ๆ ก็ไม่น่าจะปลอดภัยสำหรับสิ่งมีชีวิต และพวกเรา เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรใช้หน้ากากอนามัยแบบ single use ยิ่งถ้าเราไม่ได้ป่วย ก็ใช้หน้ากากทั่ว ๆ ไปที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้น่าจะดีกว่า แต่ถ้าคิดว่าตัวเองอยู่ในภาวะเสี่ยง ก็อาจจะใช้หน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ตนจึงอยากเชิญชวน ว่าเราต้องไม่มาคิดเรื่องแยกขยะ ในเมื่อเราไม่จำเป็นต้องทิ้งขยะเลย
สำหรับเรื่องกฎระเบียบ การจัดการขยะที่เป็นหน้ากากอนามัย และขยะทั่วไป น่าจะมีแหล่งที่มาจาก ชุมชน ซึ่งปกติน่าจะเป็นขยะทั่วไป ขยะมูลฝอยอันตรายจากชุมชน เช่น ถ่านไฟฉาย ตลอดจนหน้ากากอนามัย จากสถานพยาบาล มีพ.ร.บ. จัดการอยู่แล้ว จากโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีการใช้หน้ากากอนามัยในการป้องกันฝุ่นละอองกันอยู่ และอาจจะต้องเพิ่มทางด้านสถานกักตัวต่าง ๆ เพราะฉะนั้น จึงอยากเสนอว่า กฎระเบียบต่าง ๆ น่าจะครอบคลุมทั้งหมด หรือแม้แต่อาจจะครอบคลุมเฉพาะ เป็นประกาศเฉพาะที่มีช่วงของการแพร่ระบาดโรคให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ปฏิบัติตาม สำหรับเรื่องของการจัดการขยะ ตนอยากให้มองตั้งแต่ภารกิจ ว่าหน่วยงานไหนจะเป็นหน่วยจัดการ ครอบคลุมถึงการรวบรวมเก็บขนด้วย ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบอาจจะดำเนินการเอง หรือไปว่าจ้างบริษัทเอกชนมาดำเนินการ สุดท้ายแล้วในเรื่องของการกำจัดขยะ ที่มีทั้งดำเนินการเอง และให้เอกชนดำเนินการ ก็ต้องดูกฎหมายให้ครอบคลุมทั้งกระบวนการ
สำหรับทางออก คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในภาวะเสี่ยง ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้หน้ากากอนามัยที่เป็น single use เพื่อช่วยลดขยะที่เราจะทิ้งลง และอยากจะเสนอให้หน่วยงานภาครัฐกำหนดให้ชัดว่า หน้ากากอนามัยแบบใด จากแหล่งไหน อันไหนจะเป็นมูลฝอยติดเชื้อตามพ.ร.บ. การสาธารณสุข อันไหนจะเป็นขยะอันตรายชุมชน ซึ่งต้องแยกไปจัดการอย่างถูกวิธี ซึ่งมีกพ.ร.บ. รักษาความสะอาดดูแลอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะคลุมเฉพาะช่วงภาวะเสี่ยง หรือทั้งหมดก็อยากฝาก และค่อยมากำหนด ออกกฎระเบียบกำกับว่าควรกำจัดอย่างไร เพราะที่ผ่านมายังไม่ชัดเจน เป็นระบบสมัครใจ ถ้าวิกฤตกว่านี้เราจะทำอย่างไร สุดท้ายข้อเสนอไม่ได้อยู่ที่ภาครัฐอย่างเดียว อยากจะฝากไปถึงคนที่ผลิตหน้ากากอนามัยด้วยว่า แทนที่เราจะต้องทิ้งหน้ากากทั้งชิ้น เราสามารถทิ้งได้แค่บางส่วนได้หรือไม่ เช่น แผ่นกรอง เพื่อลดขยะลง และการออกแบบหน้ากากอนามัยก็อาจจะช่วยลดขยะได้เช่นกัน และประชาชนก็ต้องมีความรู้ในการเลือกใช้ด้วย และมาตรการการจัดการขยะที่ผ่านมา นักกฎหมายอาจจะต้องมีส่วนในการนำมาตรการทางกฎหมายมาใช้ร่วมด้วย
คุณมารีญา ลินน์ เอียเรียน Co-Founder SOS Earth (วิทยากร) :
ปัญหาหน้ากากอนามัย มาจากโควิด แล้วโควิดเกิดจากอะไร มันเกิดจากการที่เราเอาเปรียบธรรมชาติ เราเข้าไปตัดต้นไม้ ล่าสัตว์ กินสัตว์ เรามี mass production กับการผลิตอาหารของเราที่ผิดธรรมชาติมาก ๆ ที่กลายเป็นปัญหาในตอนนี้ เราบริโภคเนื้อสัตว์ ก็มีการฉีดยาเยอะมาก การแพร่เชื้อก็เยอะมาก และแพร่กลับมายังคนด้วย คิดว่าการที่เรามีโควิดเป็นสัญญาณให้เราเห็นว่า เราไม่สามารถมีธุรกิจแบบนี้ได้แล้ว ถ้าเรากลับไปทำธุรกิจแบบเดิม ก็จะมีสิ่งนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะงั้นเราต้องแก้ธุรกิจ รวมถึงการบริโภคของเราด้วย ปัญหาที่เราได้เจอ คือ ขยะในคลอง และคนไม่แยกขยะ คิดว่ามาจากการสื่อสาร คนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องแยกขยะ ไม่รู้ผลกระทบของการไม่แยก ไม่รู้ว่ามีกฎหมายบังคับ และไม่ได้รับผลโดยตรงจากการกระทำของเขา และการนำเสนอ มีถังขยะที่แยกไว้ให้ แต่มันอาจจะไม่ชัดเจนพอ หรือไม่สะอาดอยู่แล้ว คนจึงไม่ตระหนักถึงการรักษาความสะอาดของที่นั้น ๆ จึงคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ตนจึงคิดว่าถ้าเรามีการทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าเราแยกทำไม มีการนำเสนอให้ชัดเจนว่าสถานที่นี้คือที่ที่ต้องสะอาด ก็น่าจะช่วยได้ระดับนึง และอีกอย่างคือ การมีส่วนร่วม การที่หลายคนคิดว่าทิ้งขยะแล้วจบ ไม่ใช่ปัญหาของเรา จริง ๆ เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะขยะที่เราทิ้งมันควรที่จะเป็นความรับผิดชอบของเรา เพราะเป็นขยะที่เราสร้างขึ้นมา
สำหรับทางออก กรณีที่เราทำเองได้ที่บ้าน เรื่องของหน้ากากอนามัย ถ้าเราจำเป็นต้องใช้แบบ single use ตนอยากจะแนะนำให้ตัดสายห่วงของหน้ากากอนามัยด้วย จะช่วยถึงระดับหนึ่ง ถ้าทิ้งไม่ถูกต้อง การแยกขยะต้องเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน เพราะว่ามันส่งผลกับการแยกขยะตอนท้าย ตนได้ไปดูการแยกขยะเช่นกัน ขยะทุกอย่างรวมกันที่นั่น คนเหล่านี้บางครั้งแยกไม่ทัน หลายคนอาจจะรู้สึกท้อว่า เราแยกไปเขาก็รวมกันอยู่ดีในถังอันเดียวกัน แต่การที่เราแยกมันช่วยจริง ๆ เพราะเขาสามารถเห็นการแยกขยะได้ การสื่อสารในส่วนนี้อาจจะต้องเพิ่มเติมในสังคมของเรา และเราก็ควรใช้หน้ากากที่ใช้ซ้ำได้ ถ้าเราไม่ได้ติดเชื้อ จะลดขยะได้เยอะมาก อย่างน้อย 1.5-2 ล้านชิ้นต่อวัน
มาตรการหรือกฎหมายต่าง ๆ ตนไม่ได้เชี่ยวชาญ แต่คิดว่ามีหลายที่บนโลกนี้ที่เราอาจจะเรียนรู้จากเขาได้เหมือนกัน เช่น ที่เยอรมนี มี rate สูงที่สุดของการ recycle ในโลกนี้ เพราะ หนึ่ง มีกฎหมาย ถ้าไม่ทำก็ถูกปรับ สอง หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ที่นั่น ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบสูงมาก เขาก็จะผลิตสิ่งของออกมาที่จะ recycle ง่ายขึ้นด้วย ปัญหาที่ตนได้ประสบตอนทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบริโภคของตัวเอง ตนชอบกินขนมมากเมื่อก่อน ตอนนี้ลดลงเยอะมาก เพราะรู้ว่ามันสร้างขยะเยอะขนาดไหน ขนม 1 ห่อ ทำจากวัสดุเยอะมาก recycle ไม่ได้ ทำได้แค่เผาเป็นพลังงาน การที่ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นจึงช่วยได้เยอะมาก ที่ San Francisco น้อยสุดในทั้งประเทศ เพราะมีถัง 3 อัน ขยะทั่วไปที่ recycle ไม่ได้ ใครทิ้งต้องจ่าย สอง คือขยะที่ย่อยสลายได้ ก็นำกลับสู่ธรรมชาติได้ สาม ขยะ recycle ก็ต้องจ่าย แต่ไม่เยอะเท่าถังแรก คนจึงให้ความร่วมมือ เพราะไม่อยากจะจ่าย ดังนั้น มีหลายที่มากที่เรานำมาเป็นต้นแบบในการจัดการขยะได้
คำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนา
คำถาม (1) : มีความสงสัยในฐานะคนทิ้งว่าหน้ากากอนามัยสำหรับบ้านเรือนทั่วไป ตกลงว่าเป็นขยะติดเชื้อหรือไม่ และควรจัดการอย่างไร
คุณสิริวรรณ จันทนจุลกะ : เราต้องเข้าใจในธรรมชาติของเชื้อโรคด้วย ไวรัสต้องอยู่กับอะไรบางอย่าง เช่น น้ำลาย และน้ำลายก็จะแห้ง ก็อยู่ได้อีกไม่นาน นี่คือธรรมชาติของมัน ดังนั้น สิ่งที่ทาง WHO แนะนำไว้คือ ทิ้งไว้ 3 วัน ก็เป็นขยะทั่วไปได้ สิ่งที่ประเทศต่าง ๆ แนะนำ คือถ้าไม่มีระบบจัดการขยะติดเชื้อได้เต็มรูปแบบ ก็แค่เก็บรวบรวมแยกไว้ และสามวันขึ้นไป ก็จัดการเป็นขยะทั่วไป แต่สำหรับประเทศไทย ทำเกินกว่ามาตรฐานไปอีกนิดนึง และอีกประเด็นหนึ่ง ถ้าอยู่บ้าน ท้องถิ่นไม่มีความพร้อม ต่างกับกรุงเทพมหานคร ตนจึงให้คำแนะนำว่าให้แยกกระดาษทิชชู่ หน้ากากที่ใช้ช่วงกักตัว 14 วันให้ใส่ในถุง และราดด้วยน้ำยาที่มีส่วนประกอบของคลอรีน ซึ่ง WHO แนะนำสามตัว สารที่ค่าเชื้อได้ใน 1 นาที คือ sodium hypochlorite 1000 ppm, alcohol 70% ขึ้นไป มีสามตัวที่จัดการได้ในเวลาอันสั้น ถ้าหาไม่ได้ สามารถใช้ไฮเตอร์ที่บ้านได้ หรือไม่ก็เก็บสักสามวัน แต่ทางกรุงเทพมหานครกังวลคนเก็บขยะ เขากลัว จึงทำแบบเต็มที่ สำหรับตน ตนคิดว่า ถ้าเราไม่ได้ป่วย ก็ต้องจัดการให้ดีที่สุดในสภาวะของเรา ก็คือเก็บรวบรวม ตัดให้เรียบร้อยแล้วแยกออกมา ส่วนกรุงเทพมหานครจะไปจัดการแบบไหน ก็แล้วแต่เขา แต่แยกเพื่อให้เกิดความสบายใจของคนที่ต้องรับจากเราต่อไป แต่ถ้าอยู่ที่ห่างไกล บริการไม่ดี ก็เก็บไว้สักสามวันก่อน
(แสดงว่าแยกก็ดี แต่ไม่ได้อันตรายอย่างที่เราคิดใช่หรือไม่ สำหรับสารคัดหลั่งจากคนปกติที่ไม่ได้อยู่ในสถานพยาบาล หรือสถานกักกัน)
คุณสิริวรรณ จันทนจุลกะ : กล่าวว่า ใช่ แต่แนะนำให้ใช้หน้ากากผ้า เพราะใช้ซ้ำได้ แต่ถ้ามันชื้นเราควรเปลี่ยน วันหนึ่งมีสักสองอัน ใช้เช้า บ่าย เพราะการที่ชื้นจะลดความสามารถในการกรองอากาศที่เข้าไป
(แสดงว่าทั้ง WHO และกรมอนามัย ต้องการป้องกันไว้ก่อนใช่หรือไม่)
คุณสิริวรรณ จันทนจุลกะ : ภาครัฐจัดการให้สูงกว่ามาตรฐาน กรุงเทพมหานครจึงจัดเป็นขยะติดเชื้อทั้งหมดเพื่อความสบายใจ
คำถาม (2) : หลังจากโควิด ในส่วน PM2.5 ต้องแยกหรือไม่ หรือทิ้งทั่วไปได้หรือไม่ และกระดาษทิชชู่เป็นขยะติดเชื้อหรือไม่ แล้วจะจัดการอย่างไรดี
คุณสุธิศา พรเพิ่มพูน : ถ้าเราใช้หน้ากากอนามัยในช่วงป้องกัน PM2.5 อยากให้มองว่าในระหว่างที่เรายังไม่มีวัคซีน อยากจะให้ถือว่าหน้ากากอนามัยที่เราใช้ ทั้งป้องกัน PM ไปด้วย เพราะ PM เริ่มมาแล้ว ก็ป้องกันทั้งสองอย่างเลย ในส่วนของกรุงเทพมหานคร เรามีศักยภาพในการจัดการ เรามีเตาเผาขยะ เราจึงอยากถือว่าเป็นขยะติดเชื้อไปก่อน เนื่องจากว่าเรายังไม่มีวัคซีน แต่ถ้าในอนาคตมาแล้ว เราก็อาจจะจัดการอย่างมูลฝอยทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม ต้องแยก แยกให้เรียบร้อย ใส่ถุงให้เรียบร้อยมิดชิด 3 วันเชื้อก็ตายแล้ว ถ้าเราไม่ไปยุ่งกับมัน สุดท้ายก็อาจจะฝังกลบได้ แต่ยังอยากให้แยกอยู่ เพื่อเป็นการป้องกัน ส่วนตัว ตอนนี้มองว่า ควรใส่กันทั้งสองอย่าง และถ้าแยกมาชัดเจน กรุงเทพมหานครก็ยังคงจะจัดการแบบขยะติดเชื้อ
คำถาม (3) : เส้นอโศก-ดินแดง ในฐานะผู้ทิ้ง ไม่มีจุดทิ้งขยะที่เป็นถังขยะ แต่เป็นกล่องพลาสติดสี่เหลี่ยม และทุกคนจะเอาขยะมาทิ้งที่หน้าปากซอย ตรงฟุตบาท ซึ่งไม่สะดวก หน้าร้านสะดวกซื้อก็มีถังเดียวไม่ได้แยกด้วย จึงคิดว่าถ้ากรุงเทพมหานครจะเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการขยะเพิ่มก็เห็นด้วย แต่อยากจะให้เพิ่มจุดในการทิ้งเป็นหลักหน่อย เพราะในกรุงเทพฯ แต่ละซอย บ้านติด ๆ กัน ไม่ต่ำกว่า 20 หลัง เราไม่มีจุดทิ้งเลย ก็ต้องเอาไปทิ้งหน้าปากซอย ซึ่งสกปรก และไม่สะดวก และอาจจะไม่ปลอดภัยกับคนเก็บด้วย
คุณสุธิศา พรเพิ่มพูน : นโยบายของผู้บริหารเอง ถนนสายหลัก และสายรองในกรุงเทพฯ เอง เราจะไม่มีถังขยะ เพราะเราไม่ตั้ง เราจะนัดเวลาทิ้งเวลาเก็บกับประชาชน ซึ่งถ้าประชาชนในพื้นที่ จะทราบเลยว่ารถขยะจะมาช่วงไหน ซึ่งจริง ๆ จะมาตั้งแต่หลัง 6 โมงเย็น – ตีสามครึ่ง โดยเฉลี่ย จะต้องจัดเก็บให้หมด ขึ้นอยู่กับบริบทในแต่ละพื้นที่ เช่น เรื่องของการขราจร ซึ่งรถขยะจะจัดเก็บทุกวัน สำหรับคอกกั้นขยะ เราผลิตยังไม่ได้เยอะ ที่เราจะตั้งตามจุดต่าง ๆ ที่สำนักงานเขตกำหนดขึ้นมา แต่เราจะมีการกำหนดเวลา รวมถึงป้าย ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ และเวลาในการเก็บขยะ แต่เป็นเรื่องปกติที่คนไม่ทราบ จึงเป็นหน้าที่ของเขตที่ต้องประชาสัมพันธ์ แต่ด้วยบริบทที่ร้านค้าแผงลอย อาจจะนำขยะมาตั้งก่อนถึงเวลาเก็บ เพราะอยากกลับบ้านเร็ว มันก็จะดูสกปรก วางไม่เรียบร้อย จึงเป็นปัญหา ปัญหาขยะเป็นปัญหาเมือง แต่ถ้ากรุงเทพฯ มีประชากรน้อยเหมือนต่างจังหวัด น่าจะง่าย 300-500 ตันต่อวัน แต่ตอนนี้เรามี 15,000 ตันต่อวัน สูงเท่าตึก 4-5 ชั้น กรุงเทพมหานครต้องจัดการให้เร็วที่สุด
คำถาม (4) : เป็นไปได้หรือไม่ เมื่อใกล้ถึงเวลาให้รถนำถังขยะมาลง คนก็ออกมาทิ้ง ปิดให้มิดชิด กันแมวหนูต่าง ๆ พอถึงรอบกรุงเทพมหานครก็มาเก็บ ก็จะช่วยเรื่องความสะอาด หรือคอก ก็น่าจะมีที่กันหรือช่วยเรื่องความสะอาดเรียบร้อยหน่อย จะได้ป้องกันเวลาฝนตกด้วย ไม่ใช่เก็บขยะ และต้องทำความสะอาดพื้นอีก
คุณสุธิศา พรเพิ่มพูน : จะรับข้อเสนอไป
คุณสิริวรรณ จันทนจุลกะ : การจัดการทิชชู่ในห้องน้ำ โดยหลักการเราควรจะต้องทิ้งลงไปในโถให้เรียบร้อย ทิชชู่ที่เช็ดเรียบร้อยควรทิ้งลงโถ แต่ถ้าถามว่าถ้าทิ้งอยู่ข้างนอก เขากำจัดอย่างไร ก็คงรวบรวมเป็นขยะทั่วไป
คุณสุธิศา พรเพิ่มพูน : กรุงเทพมหานครมีระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล บ้านเรือนทุกบ้านจะจ้างกรุงเทพมหานครไปสูบส้วม สูบแล้วไปไหน ทางกรุงเทพมหานครมีโรงบำบัดสิ่งประติกูล สองแห่ง ที่อ่อนนุช และหนองแขมเช่นกัน ใช้ระบบจุลินทรีย์ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ เรื่องของทิชชู่ เช่น ทิชชู่เปียก ถ้าเข้าระบบเรา ระบบพังแน่นอน รวมถึงทิชชู่อื่น ๆ ที่ไม่ได้ย่อยสลายได้เหมือนญี่ปุ่น จึงต้องดูต้นทางด้วย ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขเองพยายามออกกฎหมายฉบับที่ให้ทิชชู่ทิ้งลงไปเลย แต่ทางกรุงเทพมหานครให้ข้อเสนอขัดแย้งว่าไม่ได้ เพราะระบบปลายทาง ถ้าเราบังคับว่าปลายทางเป็นทิชชู่เปียก ระบบเสียหายแน่นอน จริง ๆ ควรทิ้งลงไปเลย แต่ระบบปลายทางเราไม่สามารถทำได้ จึงต้องพูดถึงผู้ผลิต อาจจะต้องมาทำอะไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทิชชู่อาจจะต้องย่อยสลายได้ ทิชชู่เปียกไม่ผลิตได้หรือไม่ ผู้บริโภคก็ซื้อไม่ได้ ต้องคุยกันอีกเยอะ