สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการเรื่อง “ทนายชายขอบกับการต่อสู้เพื่อนิติรัฐ” จัดโดย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันเสาร์ที่ 18 กันยายน 2564 เวลา 13.30-15.30 น. ผ่านระบบ Facebook Live ทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw
- คุณศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
- คุณนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายณัฏฐ์ สิงหศิริ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
งานเสวนาหัวข้อ “ทนายชายขอบกับการต่อสู้เพื่อนิติรัฐ” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวันนี้ได้รับเกียรติจากทนายที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู่เพื่อสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด ซึ่งวันนี้จะพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นปัญหาความท้าทาย และการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสทธิมนุษยชน
เหตุการณ์ในสังคมในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีปัญหาประเด็นทางกฎหมายและสิทธิเสรีภาพมาโดยตลอด คณะนิติศาสตร์ พยายามที่จะนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นที่สนใจในสังคม เพื่อทำความเข้าใจในแง่มุมทางวิชาการ เชิงทฤษฎีและในทางปฏิบัติ เพื่อชักชวนให้คนในสังคมครุ่นคิดเกี่ยวกับประเด็นเหล่านั้น ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติที่ชัดต่อกระบวนการที่ชอบธรรมตามกฎหมาย (due process) มีจำนวนมากในช่วงนี้ โดยเราจะเห็นทนายรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องถูกกล่าวหา และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเป็นกระบอกเสียงรณรงค์ให้สังคมเกิดความตระหนักรู้ถึงหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่จำเป็นต่อการคุ้มครองสิทธิเสรนีภาพของประชาชน ซึ่งประชาชนและนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ก็มีความสนใจในประเด็นนี้อย่างมากเช่นเดียวกัน
ประเด็นในเสวนาวันนี้ ประเด็นแรก คือ ปัญหาเกี่ยวกับลักษณะของคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีลักษณะใดบ้าง เช่น การตั้งรับหรือการถูกฟ้อง การฟ้องกลับหรือการฟ้องเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ให้รับผิด หรือการพิจารณาดำเนินโดยศาลใด เป็นต้น ส่วนประเด็นที่สอง คือ แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา จากที่เคยสัมภาษณ์นักเรียนที่สมัครสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ ในชั้นปริญญาตรีพบว่าทุกคนเข้ามาด้วยอุดมการณ์ว่าจะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม คณะนิติศาสตร์จะทำอย่างไรให้นักศึกษาสามารถช่วยเหลือสังคมและคนรอบตัวเขาได้บ้าง จากที่คุณศิริกาญจน์ เจริญศิริ ได้กล่าวไป คณะนิติศาสตร์อาจต้องหาวิธีการที่จะทำให้นักศึกษาได้เชื่อมโยงกับปัญหาทางสังคมได้ และเช่นเดียวกับที่คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ได้กล่าวไปว่าควรช่วยให้นักศึกษามีเครื่องมือที่จะต่อสู้และเรียนรู้ว่ากฎหมายไม่ใช่เพียงตัวบทอย่างเดียว หากแต่ต้องคำนึงถึงบริบทและการใช้กฎหมายต่อไปด้วย
ในเรื่องของศาลและผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เห็นด้วยกับคุณศิริกาญจน์ เจริญศิริ ว่า “ศาลและหน่วยงานรัฐไม่สามารถดำรงอยู่โดยตัดขาดจากสังคมได้ จำเป็นอย่างมากที่จะต้องเชื่อมโยงและเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม” โดยเชื่อว่ามีผู้ที่เข้าใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเราจะต้องร่วมกันผลักดันและสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้
คุณศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (วิทยากร) :
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก่อตั้งภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ เช่น การใช้อำนาจที่ไม่ชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกและเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณะชนอีกด้วย
ประเภทของสิทธิที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความสำคัญ เช่น สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง (สิทธิในการแสดงออกหรือแสดงความเห็น) สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมทั้งกระบวนการ เป็นต้น
ในช่วงแรกภายหลังการยึดอำนาจของ คสช. การพิจารณาคดีในบางประเภทถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลทหาร เช่น คดีการฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัว คดีฝ่าฝืนการห้ามชุมชนุมกว่า 5 คน คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือมาตรา 116 เป็นต้น การกระทำของรัฐเป็นการนำกฎหมายมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง (judicial harassment) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงเข้ามาให้ความช่วยเหลือในกรณีนี้
เมื่อคดีกลับมาที่ศาลยุติธรรมตามปกติ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทำหน้าที่เข้ามาช่วยผู้ที่ถูกกล่าวหา (defense lawyer) จากการออกมาใช้สิทธิทางการเมืองและถูกรัฐบาลใช้มาตรการทางกฎหมาย
ปัญหาการจับกุมควบคุมตัวโดยไม่ชอบ เป็นหน้าที่ของทนายความที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพราะเป็นสิทธิที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญรับรองอยู่แล้ว จึงเราจึงเข้ามายืนยันเพื่อให้สิทธิดังกล่าวมีความหนักแน่นมากขึ้น
สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงปัจจุบันนี้ คดีทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการที่นักศึกษาและเยาวชนได้ออกมาใช้สิทธิทางการเมือง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ชุมชนทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองประมาณ 1,300 คน โดยเป็นคดีอยู่ประมาณ 1,061 คน (ข้อมูลยังไม่อัพเดท ณ วันที่จัดงานเสวนา) ซึ่งมาจากความพยายามของรัฐที่จะตั้งข้อหาจากทุกกฎหมายเท่าที่จะหาได้ เช่น การตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือมาตรา 116 หรือการตั้งข้อหาตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (โดยมีผู้ถูกตั้งข้อหาประมาณ 1,000 คน) หรือตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560 เป็นต้น โดยเฉพาะคดีที่เป็นการกล่าวหาเด็กหรือเยาวชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาในศาลเยาวชนและครอบครัวประมาณ 170 คน โดยมีข้อสังเกตว่ากรณีนี้เมื่อปีก่อน จะยังไม่มีการจับกุม จะมีแต่การออกหมายเรียก ในปัจจุบันจึงเห็นระดับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นมาจากการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงมีการใช้กำลังจุบกุมและสลายการชุมนุมที่ปฏิบัติต่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ดังนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงได้ขยายบทบาทจากการให้ความผู้ถูกกล่าวหาจากศาลทหาร ศาลยุติธรรม (คดีแพ่ง-อาญา) มาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวด้วย
ในการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นเยาวชนในศาลเยาวชนและครอบครัวนั้น เนื่องจากกระบวนการทางกฎหมายในคดีเยาวชนและครอบครัวจะมีหลักการและเจตนารมณ์ที่แยกออกมาต่างหากจากการดำเนินคดีอาญาผู้ใหญ่ ทั้งยังมีการรับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) เข้ามาด้วย การพิจารณาคดีจึงต้องมีความพยายามหาวิธีการที่สมดุล (balance) เพื่อเบี่ยงเบนคดีไม่ให้เด็กหรือเยาวชนต้องมาตรการทางอาญาหรือมีประวัติอาชกรให้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อจิตใจและอนาคตของเด็กหรือเยาวชน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก ส่วนผู้ที่จะเข้าไปช่วยผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหรือเยาวชนไม่ใช่ทนายความแบบปกติ แต่จะต้องผ่านการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของคดีเด็กและได้รับอนุญาตจากศาลซึ่งเรียกว่า “ที่ปรึกษากฎหมาย” ของผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอีกด้วย ในช่วงแรก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อจำกัดเพราะปกติจะทำคดีช่วยเหลือผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากมาก่อน จึงยังไม่ค่อยมีทนายความที่ได้รับอนุญาตให้เป็นที่ปรึกษากฎหมายของเด็กนั่นเอง
นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเด็กของประเทศไทย อาจจะยังไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะรองรับเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ออกมาแสดงความคิดเห็นหรือมาชุมนุมทางการเมืองด้วยความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าสิ่งที่กระทำไปนั้นทำได้โดยชอบ เพราะคดีอาญาเด็กหรือเยาวชนที่ศาลเยาวชนและครอบครัวเชี่ยวชาญหรือคุ้นเคยจะเป็นคดีอาญาทั่วไป เช่น คดียาเสพติด หรือลักทรัพย์ เป็นต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมองเด็กอย่างเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และก็ต้องเคารพในเสรีภาพที่จะเข้าร่วมหรือมีส่วนร่วมในสังคมไม่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ มิติด้านนี้เหมือนเพิ่งปรากฏขึ้นมาในทางปฏิบัติซึ่งจะเป็นการทดสอบกระบวนการยุติธรรมในคดีเด็กและเยาวชนของไทย ทั้งองค์กรศาล พนักงานอัยการ ตำรวจ ทนายความและสหวิชาชีพ จะต้องมีความระมัดระวังและให้ความสำคัญกับการปฏิบัติต่อเด็กอย่างมากเพราะมีมิติที่ละเอียดและซับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องจิตใจและความรู้สึกของเด็กและเยาวชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาในชั้นตำรวจ โดยเฉพาะการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ เพราะเป็นประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ปวิอ.) มาตรา 90 ก็มีหลักการตรวจสอบการควบคุมตัวโดยมิชอบ (หลัก habeas corpus) การถูกจับกุมหรือควบคุมที่ผู้ผู้ถูกควบคุมไม่สามารถติดต่อญาติได้ หรือไม่ทราบว่ามีควบคุมตัวอยู่ที่ใด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะใช้คำร้องต่อศาลให้ตรวจสอบการควบคุมตัวโดยมิชอบ ดังนั้น ในทุกขั้นตอนกระบวนการสามารถที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ เช่น ในกรณีที่พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลเพื่อให้ออกหมายขัง ส่วนใหญ่ศาลมักจะอนุญาตตามคำขอของพนักงานสอบสวน ทั้งที่กฎหมายให้สิทธิคัดค้านแก่ผู้ต้องหาในการตั้งทนายความเพื่อไต่สวนถึงเหตุจำเป็นในการฝากขังของพนักงานสอบสวน เนื่องจากการฝากขังเป็นการลิดรอนเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยตอนแรก ผู้พิพากษายังไม่เข้าใจว่า “เหตุใดทนายความจะต้องมาคัดค้านด้วย รอช่วงการประกันตัวก็ได้” กรณีนี้จะพอเข้าใจได้ถ้าเป็นความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป แต่ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมควรรู้ว่าเป็นสิทธิที่สามารทำได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว การร้องคัดค้านจึงไม่เรื่องหยุมหยิมหรือชวนวุ่นวาย เป็นต้น ทนายความจึงต้องเป็นผู้ที่ชงเรื่องขึ้นไปตามสิทธิที่ลูกความพึงมีและยังเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย ข้อสังเกตคือในช่วง 1-2 ปีที่แล้วศาลมักจะยกคำร้องการขอฝากขังเพราะพนักงานสอบสวนมีข้อมูลหรือพยานหลักฐานพอสมควรแล้ว อาทิ รูปภาพหรือคลิป เป็นต้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องขอฝากขังแต่อย่างใด แต่ในช่วงปัจจุบันอาจจะแตกต่างออกไปในแง่ผล ซึ่งคุณนรเศรษฐ์ นาหนองตูมจะกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป
ในคดีที่ขึ้นสู่ศาลปกครองก็มี โดยเฉพาะการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม เช่น กลุ่ม we walk ที่จัดการชุมนุมเมื่อปี 2561 โดยจะเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปที่จังหวัดขอนแก่น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 200 นาย ขัดขวางการทำกิจกรรมดังกล่าว ทั้งที่ควรอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยผู้จัดกิจกรรมได้ดำเนินการแจ้งการชุมนุมตามกฎหมายแล้ว จึงมีการร้องต่อศาลปกครองกลางและขอคุ้มครองชั่วคราวอันเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางเสรีภาพในการทำกิจกรรมดังกล่าว โดยศาลปกครองกลางให้คุ้มครองชั่วคราว (เมื่อมีการอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง) นอกจากนี้ ก็ยังมีคดีในศาลรัฐธรรมนูญ คดีของคุณรังสิมันต์ โรม ที่ปฏิเสธที่จะไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา (ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549) ที่กำหนดให้ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญามีหน้าที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้า ตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (ดูคำวินิจฉัยที่ 2/2562)
ปัญหาการที่ศาลใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลต่อผู้ที่มาชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหา การที่ศาลใช้อำนาจนี้จะกลายเป็นเรื่องของศาลเองที่จะไต่สวนหรือไม่ก็ได้ และอาจจะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งมากกว่า แต่ก็มีผู้พิพากษาบางคนที่เข้าใจว่ากรณีดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ปกติของสังคม ไม่ได้เป็นเรื่องละเมิดอำนาจศาลแต่อย่างใด ในกรณีนี้จึงเห็นว่าผู้พิพากษาไม่ได้ตัดขาดจากสังคมแต่อย่างใด ควรมองปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างเข้าใจ และขอความกล้าหาญอย่างตรงไปตรงมาต่อวิชาชีพและกฎหมาย
ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหา “การเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์” นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก หลักสูตรการเรียนควรเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่นอกห้องเรียน ในช่วงต้นการเรียนจะดีมากโดยเฉพาะในทางปฏิบัติ เพื่อให้นักกฎหมายได้สนใจความเป็นไปของสังคมมากกว่าท่องจำตัวบทอย่างเดียว นอกจากนี้ สนับสนุนให้คณะนิติศาสตร์ทุกแห่งร่วมมือกันให้นักศึกษาได้เห็น “ความสำคัญของสิทธิมนุษยชน” เพื่อเป็นธรรมนูญในการทำหน้าที่ทนายความต่อไป
คุณนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (วิทยากร) :
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนอกจากการให้ความเหลือประชาชนจากการถูกรัฐปิดปากในทางการเมืองแล้ว สิ่งที่ทำควบคู่กันคือการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน เพราะวิธีการที่รัฐใช้บางครั้งเป็นวิธีการนอกกฎหมายที่ไม่ใช่การดำเนินคดี เช่น การอ้างว่ามาเยี่ยมบ้าน การอ้างว่าเชิญตัวไปโดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา การเข้าไปตรวจค้นหรือบุกเข้าไปในบ้าน เป็นต้น การติดตั้งอาวุธทางความคิดนี้จะช่วยให้ประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมรู้ว่าตนเองมีสิทธิอย่างไรบ้าง เช่น เมื่อถูกจับกุมตนจะไม่กระทำการใด ๆ จนกว่าทนายความของตนจะมาถึง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ทางกฎหมายต่อสิ่งที่รัฐทำให้เกิดความกลัวว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความจริงและผิดกฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญรับรองต่างหาก ดังนั้น สิ่งที่รัฐทำให้ประชาชนกลัว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะทำให้ประชาชนกล้าเพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญนั่งเอง
ปัญหาการจับกุมหรือควบคุมตัว เมื่อมีการจับกุมหรือควบคุมตัว ปัจจุบันพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม ปวิอ. มาตรา 83 และมาตรา 84 ที่เมื่อจับกุมแล้วต้อง “สั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมด้วยผู้จับ เว้นแต่สามารถนำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ในขณะนั้น ให้นำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดังกล่าว…” เพื่อให้ญาติได้ทราบว่าจะถูกนำไปตัวไปที่ใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ถูกจับกุมในเขตพื้นที่ สน.หนึ่ง จะถูกนำตัวไปที่ใดไม่อาจทราบได้ บางครั้งอาจไปที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) หรือกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ซึ่งในระหว่างทางนี้สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิขึ้นได้ กล่าวคืออาจจะถูกซ้อมทรมาน หายสาบสูญ หรือข่มขู่บังคับโดยไม่มีทนายความอยู่ด้วยหรือไม่ ทนายความจึงไม่อาจไปพบได้ บางกรณีคือเมื่อทนายความทราบแล้วว่าถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด แต่พบว่าผู้ถูกควบคุมตัวได้เซ็นรับสารภาพข้อกล่าวหาไปเรียบร้อยแล้ว โดยเขาไม่ทราบและเจ้าหน้าที่ตำรวจแนะนำว่าเป็นขั้นตอนที่ปฏิบัติกันตามปกติ ทั้งตำรวจยังมีการพยายามจัดหาทนายความของตนไว้ให้ซึ่งไม่ใช่ทนายความที่ผู้ต้องหาประสงค์ที่จะให้เป็นทนายความของตน ดังนั้น ปัญหาในการจับกุม และสิทธิในการเข้าถึงทนายความจึงเป็นปัญหาอย่างมาก
ปัญหาเกี่ยวกับการตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับคดีการชุมนุมทางการเมือง มีการตั้งข้อกล่าวหาที่สูงเกินความเป็นจริง เช่น กรณีป้าเป้าที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธ เป็นต้น เหตุผลที่ตั้งข้อกล่าวหาสูงคือ หากโทษจำคุกเกินกว่า 3 ปี เจ้าพนักงานมีอำนาจออกหมายจับได้เลย ไม่ต้องออกหมายเรียก หรือการตั้งข้อกล่าวที่สูงและร้ายแรงอาจจะมีผลต่อการที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว และการตั้งข้อกล่าวหาที่มีโทษสูง บ่อยครั้งศาลมักจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกันตัวอีกด้วย
ปัญหาการพยายามที่จะควบคุมตัวในชั้นเจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับการออกหมายเรียกเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยหลักตาม ปวิอ. มาตรา 134 พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจจับกุม แต่หากมีเหตุที่จะฝากกักขังต้องขออำนาจศาล ปัญหาในปัจจุบันคือไม่ว่าจะมีการออกหมายเรียกหรือไม่ก็ตาม เจ้าพนักงานสอบสวนจะพาผู้ต้องหาไปศาลเพื่อฝากขัง เมื่อทนายความเห็นว่าไม่มีเหตุที่จะฝากในกรณีเช่าว่านี้ จึงมีการยื่นคำร้องคัดค้านยการขอฝากขัง โดยในทางวิชาการ (อ้างอิงตำราของอาจารย์ธานิศ เกศวพิทักษ์ และอาจารย์เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์) เหตุในการขอออกหมายขัง ต้องใช้มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 ตาม ปวิอ. กล่าวคือ 1. มีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลนั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี และ 2. มีพฤติการณ์จะหลบหนี หรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร โดยให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี ซึ่งกฎหมายให้พิจารณาเหตุเหล่านี้ ในช่วงปี 2561 ศาลได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของพนักงานสอบสวนได้อย่างดีมาก เพราะศาลยกคำร้องเกือบทุกคดีที่เจ้าพนักงานสอบสวนขอออกหมายขัง แต่ปัจจุบัน แนวในการวินิจฉัยของศาลเปลี่ยนไป โดยศาลไม่วินิจฉัยเหตุการขอฝากขังตามมาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 ส่วนใหญ่ศาลพิจารณาเพียงว่าพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จหรือไม่ มีเหตุจำเป็นที่ต้องขังต่อหรือไม่ ณ ตอนนี้ไปจนถึงขั้นที่ว่าพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้วโดยสำนวนอยู่กับผู้บังคับบัญชาแล้ว ศาลก็ออกหมายขังต่อแล้ว จึงเป็นปัญหาในทางวิชาการว่าเหตุที่จะต้องขอหมายขังจะพิจารณาจากอะไรกันแน่ระหว่างพิจารณาจากการสอบสวนที่ยังไม่เสร็จ หรือพิจารณาจากมีเหตุตามมาตรา 71 และมาตรา 66
ปัญหาการประกันตัว เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งกับคดีกลุ่มผู้ที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง พนักงานสอบสวนจะตั้งข้อหาที่มีโทษหนัก จึงผลต่อเรื่องการขอประกันตัวว่าเหตุขอประกันตัวตามมาตรา 108/1 ควรเป็นภาะหน้าที่การพิสูจน์ของพนักงานสอบสวนหรือไม่ว่ามีเหตุที่จะไม่อนุญาตให้ประกันตัว หรือเป็นเรื่องที่ศาลใช้ดุลพินิจ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อพนักงานสอบสวนนำผู้ต้องหาไปฝากขัง จะเขียนในคำร้องว่าคัดค้านการประกันตัวด้วยเหตุผลประมาณ 5-6 บรรทัดอย่างลอย ๆ และคลุมเครือ โดยไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุนเหตุผลนั้นแต่อย่างใดว่าจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น แต่ศาลในหลาย ๆ คดีพิจารณาจากคำร้องที่เขียนมาแล้วไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
ปัญหาการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกันตัว เงื่อนไขในการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจากที่ผ่านมาจะเห็นเงื่อนไขที่ว่า “ไม่ให้ไปกระทำการตามที่ถูกกล่าวหาอีก” ทำให้สามารถตีความได้ว่าศาลได้พิจารณาแล้วหรือยังว่าการกระทำตามที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นความผิดแล้ว จึงได้ห้ามกระทำการตามท่ถูกกล่าวหาอีก การกำหนดเงื่อนไขลักาณะนี้ก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง เช่น การออกมาชุมนุมเรียกร้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 ของรัฐบาล เมื่อถูกตั้งข้อหาที่สูงโดยพนักงานสอบสวนและศาลได้กำหนดเงื่อนไขว่าห้ามกระทำการตามที่ถูกกล่าวหาอีก เท่ากับว่าต่อไปนี้ประชาชนจะไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือเรียกร้องต่อรัฐบาลได้เลย ทั้งที่การกระทำของเขาจะผิดหรือไม่ ไม่เกี่ยวข้อง เพราะตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาเป็นความผิด ย่อมต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ และการกำหนดเงื่อนไขนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลปรารถนาอย่างมาก เพราะเงื่อนไขที่ศาลกำหนดก็เพียงพอที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ในการขัดขวางการชุมนุมแล้ว โดยไม่ต้องรอคำพิพากษาแต่อย่างใด
ปัญหาการกำหนดหลักเกณฑ์โดยศาล (บางศาล) ว่าผู้ที่จะมาขอประกันตัวจะต้องมีความเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับผู้ถูกกล่าวหา เช่น ถ้าไม่ใช่ญาติหรือทนายความ ไม่สามารถขอประกันตัวได้ เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้ไม่มีกำหนดในกฎหมายแต่อย่างใด เพราะโดยปกติแล้ว ถ้าผิดสัญญาประกันก็บังคับเอากับเงินประกันนั้นเลยไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผู้มาประกันแต่อย่างใด อีกตัวอย่างคือ ส.ส. ที่มาขอประกันตัว เงื่อนไขของศาลบางศาลกำหนดว่าถ้าไม่ใช่ ส.ส. ในเขตนั้นก็ไม่ให้ใช้ตำแหน่งในการประกันตัว เป็นต้น
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสื่อสารโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ หรือศาลผ่านคำร้อง คำขอ คำแถลง มาโดยตลอดและพยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และองค์กรตุลาการควรหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาของรัฐ ในสภาวะที่มีการปราปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง องค์กรตุลาการต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากอำนาจอำเภอใจในการจับกุมของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังใช้ศาลเป็นเวทีในการเปิดโปงรัฐบาลด้วยการให้ศาลออกหมายเรียกและพิสูจน์ว่าสิ่งที่ถูกกล่าวนั้นไม่เป็นความผิด โดยเป็นสิ่งที่ถูกต้องและทำได้
ขอเรียนต่อบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทั้งตำรวจ พนักงานอัยการและศาลว่าทนายความสิทธิมนุษยชนและทนายความอื่น ๆ ไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อองค์กรใดองค์กรหนึ่ง สิ่งที่เราทำ รณรงค์ หรือเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ ก็เพื่อต้องการให้กระบวนการยุติธรรมประเทศไทยนั้นดีขึ้นและได้รับความน่าเชื่อถือทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหา ในกรณี “การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล” ควรมีการบันทึกวิดีโอในกระบวนพิจารณาและนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาคดีได้แล้ว เพราะบางประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาศาลได้บันทึกไว้จึงเกิดการโต้แย้งระหว่างทนายความ พนักงานอัยการ และผู้พิพากษาว่าควรบันทึกเรื่องดังกล่าวไว้หรือไม่ เพราะแม้ศาลไม่จดบันทึก แต่วิดีโอดังกล่าวคู่ความอาจใช้ในการอุทธรณ์ต่อไปได้ จึงจะทำให้กระบวนการพิจารณาโปร่งใส รวดเร็วและเป็นธรรมมากขึ้น
นอกจากนี้ “การส่งเสียงของสถาบันการศึกษา นักศึกษากฎหมาย และนักกฎหมาย” นั้นมีความสำคัญ เพื่อให้ผู้บังคับใช้กฎหมายได้ตระหนักคิดว่าการใช้และตีความกฎหมายของตนนั้นไม่ต้องตามกฎหมายอย่างไร อีกแง่คือผู้บังคับใช้กฎหมายจะมีความกล้าหาญมากขึ้นที่จะยืนยันตามหลักกฎหมาย
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw (วิทยากร) :
เห็นว่าการต่อสู้คดีในศาล เราอยู่ในเกมที่ค่อนข้างเสียเปรียบเพราะว่าตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจมาได้ยึดครองระบบกฎหมายและนิติบัญญัติไว้เรียบร้อยแล้ว กฎหมายที่นำมาสู้กันก็เป็นกฎหมายของ คสช. เช่น ยุคที่ขึ้นศาลทหาร ก็มาจากคำสั่งของ คสช. หรือพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ หรือพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หรือพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ล้วนแล้วแต่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นต้น แม้ประทั่งองค์ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เช่น องค์กรอิสระต่าง ๆ ส่วนมากก็ถูกแต่งตั้งจาก คสช. จึงเกิดความยากลำบากในการทำงานอย่างมาก จึงเป็นการสู้บนสังเวียนที่ไม่ยุติธรม อย่างไรก็ดี พอมีช่องทางตามกฎหมายที่อาจใช้ได้บ้าง เช่น การไต่สวนการขอฝากขัง (ปวิอ. มาตรา 90) หรือการไต่สวนการตาย เป็นต้น แต่ศาลไม่คุ้นเคยเพราะไม่ค่อยใช้กัน
หนข้างหน้าไม่ง่ายเลย จึงจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐ สถาบันทางกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย ในเบื้องต้นยอมรับว่าผู้ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมและรู้ว่าสิ่งใดถูกต้องตามหลักการทางกฎหมายและพยายามที่จะทำให้ถูกต้องนั้นมีอยู่ไม่น้อย แต่กระบวนการเหล่านี้ก็อาจถูกกลับได้ เช่น ผู้พิพากษาศาลสั่งไม่ให้ฝากขัง หรือสั่งให้ประกันตัว แต่ผู้พิพากษาคนใหม่ก็อาจสั่งในทางตรงกันข้าม หรือพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่พนักงานอัยการสูงสุดก็สั่งฟ้องได้ เป็นต้น ดังนั้น โดยตัวโครงสร้างเองไม่สามารถให้ความคุ้มครองแก่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม (ที่ปฏิบัติโดยชอบตามกฎหมาย) จากผลร้ายที่อาจเกิดได้แต่อย่างใด จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้กำลังใจและในอนาคตจะมีบุคลากรลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้นและอาจจะกล้าหาญขึ้นเมื่อถึงจุดที่เหมาะสม
ส่วนแนวทางในการแก้ไขนั้น เริ่มต้นที่ “สถาบันการศึกษา” โดยเฉพาะคณะนิติศาสตร์ทุกแห่งอาจจะช่วยให้เกิดการปรับตัวได้ โดยอาจจะผ่อนปรนและมีช่องว่างบ้าง โดยเฉพาะการศึกษากฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐประหารและสภาของคณะรัฐประการว่าควรให้นักศึกษาตั้งคำถามว่ากฎหมายเหล่านี้สอดคล้องกับหลักการและคุณค่าตามรัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพหรือไม่ ไม่ใช่เพียงแต่ท่องและจำตัวบทเท่านั้น
ต่อมาคือ “นักกฎหมาย” การที่นักกฎหมายหรือทนายความไม่ช่วยกันตั้งคำถามและพิจารณาคุณค่าของกฎหมายต่อการใช้และตีความกฎหมาย ทนายชายขอบอาจจะตกขอบในอีกไม่นาน เพราะกฎหมายตราอย่างไรก็ปรับใช้ตามนั้นโดยไม่คำนึงถึงหลักการสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แม้เป็นสิ่งที่นักกฎหมายเรียนมาซึ่งไม่ขอตำหนิว่าผิด แต่เราควรสร้างคุณค่าและบรรทัดฐานที่ดีต่อกฎหมายในประเทศให้ดีขึ้น เช่น การประกันในคดีอาญา หากผู้ถูกกล่าวหาไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี ก็ไม่ควรเรียกเงินประกันจากประชาชน หรือทนายความไม่ควรแนะนำว่าการวางเงินประกันเป็นทางปฏิบัติตามปกติ นักกฎหมายหรือผู้บังคับใช้กฎหมายจึงไม่ควรคุ้นชินกับสิ่งที่ผิดปกตินี้ เป็นต้น
คำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนา
คำถาม (1) : การนำคลิปวิดีในห้องพิจารณาคดีไปใช้ในการอุทธรณ์อาจจะเป็นการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปิดโปงและด้อยค่าศาลหรือไม่
คุณนรเศรษฐ์ นาหนองตูม : เห็นว่า การบันทึกกระบวนวิธีพิจารณาความไว้แล้วนำไปด้อยค่าศาลนั้น ไม่อาจทำได้ หากว่าเราทำสิ่งที่ถูกต้อง กล่าวคือถ้าทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว ก็ยินที่จะนำไปเปิดเผยได้ และถ้าตนเป็นบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่รับเงินภาษีจากประชาชนก็ยินดีที่จะเปิดเผยเช่นเดียวกันถ้าตนทำถูกต้อง เพราะเมื่อทำสิ่งที่ถูกต้อง ผู้ที่นำไปด้อยค่าต่างหากที่อาจจะได้รับผิดร้าย โดยสังคมจะเป็นผู้ตัดสินเอง หรือหากเกรงว่าการเผยแพร่นั้นจะกระทบต่อรูปคดี ก็อาจออกแบบกฎหมายหรือข้อกำหนดที่นำไปใช้ในรูปคดีเท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้สามารถถกเถียงกันเพื่อหาวิธีการที่เป็นไปได้ นอกจากนี้ การบันทึกภาพวิดีโอและเสียงในศาลก็มีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาคดีเท่านั้น
อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล : เห็นว่า ความไม่โปร่งใสเป็นปัญหาสำคัญอย่างมาก การบันทึกวิธีโอก็เป็นที่ถกเถียงกันได้ว่าควรทำได้หรือไม่เพียงใด ซึ่งเราอาจจะเห็นได้จากกล้องวิธีโอที่เจ้าหน้าที่ติดไว้ที่หมวกจราจร แน่นอนว่าเทคโนโลยีนั้นก็เป็นดาบสองคมได้ แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักว่าเรื่องใดบ้างที่จะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและการคุ้มครองคนทำงาน แต่หากกลัวว่าจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดก็อาจออกแบบมาตรการป้องกันได้
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : เห็นว่า ในเรื่องการบันทึกวิดีโอในห้องพิจารณา มีการบันทึกไว้เพื่อมาเอาผิดประชาชนว่าทำไม่ถูก แต่เมื่อประชาชนจะโต้แย้งกลับด้วยหลักฐานวิดีโอที่ศาลอ้าง กลับไม่มีเสียอย่างนั้น แม้กระทั่งแต่เดิม เจ้าพนักงานตำรวจก็มีการบันทึกเช่นกัน แต่พอประชาชนจะบันทึกกลับไป ก็อ้างว่าไม่ให้เกียรติเจ้าพนักงาน แต่ปัจจุบันมีระเบียบที่อนุญาตให้บันทึกได้แล้ว
คำถาม (2) : วิทยากรเคยคิดที่จะหยุดต่อสู้หรือท้อแท้ที่จะทำหน้าที่นี้ต่อไปหรือไม่ ถ้ามี สิ่งใดคือกำลังใจที่ทำให้ต่อสู้ต่อไปได้บ้าง
คุณศิริกาญจน์ เจริญศิริ : เห็นว่า การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเหมือนกับการเรียกร้องและผลักดันประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้ชนะและจบอย่างเด็ดขาด หากแต่ต้องพยายามทำให้ดีขึ้นและดีกว่าอย่างต่อเนื่องซึ่งต้องใช้เวลา ต้องให้กำลังใจกันและกัน และให้ความกล้าหาญแก่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมด้วยกันอีกด้วย ในช่วง 1-2 ปีนี้ เห็นว่ามีความหวังมากขึ้นและมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และขอฝากถึงประชาชนว่าทุกคนมีอำนาจ มีสิทธิมีเสียงเป็นของตนเอง เพราะผู้ที่มีอำนาจก็ได้ฐานอำนาจนี้มาจากเรานั่นเอง
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : เห็นว่า เราไม่ได้ทำหน้าที่อย่างหนักเพื่อให้สิ่งที่ต้องการให้เป็นไปเกิดขึ้นสำเร็จในวันนั้น ไม่ใช่ว่าทนายความจะไปช่วยผู้ถูกกล่าวเพื่อให้วันรุ่งขึ้นเขาไม่ถูกจับกุม ไม่ใช่ว่าวันนี้ iLaw เขียนบทความออกมาชี้ให้เห็นว่าตำรวจปฏิบัติผิดแล้วจะปฏิบัติถูกในทันที และเราไม่ได้มาร่วมงานเสวนาในวันนี้เพียงเพื่อเราพูดจบแล้วคุณวิษณุฯจะไปปรับปรุงกฎหมายให้เป็นนิติรัฐมากขึ้น เพราะว่าหากเราคิดแบบนี้เราก็จะท้อ เราไป สน. เพื่อยืนยันสิทธิในการมีทนายของผู้ถูกกล่าวหา เรามาเสวนากันวันนี้เพื่อให้เกิดการตั้งคำถามในสังคม เพียงเท่านี้เราก็พอใจแล้ว เราจะค่อย ๆ ทำงานต่อไปในระยะยาวเพื่อค่อย ๆ ตอกหมุดสิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราอยากจะเห็นและสิ่งที่ควรจะเป็นในสังคมนี้ลงไป โดยเราเชื่อว่าอย่างไรเสียเมื่อทำไปเรื่อย ๆ มันจะมีวันหนึ่งที่เห็นผล ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อวันและเวลาของมันมาถึง แต่หากไม่ทำเลยวันและเวลานั้นก็จะไม่เกิดขึ้น