สรุปสาระสำคัญจากการประชุมวิชาการระดับชาติ ธรรมศาสตร์-นิติพัฒน์ ครั้งที่ 6 “เสรีภาพ เสมอภาค สุขภาพ : ถอดบทเรียนประเทศไทยและมาตรการฝ่าวิกฤติโควิด-19” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม 2564 เวลา 9.00 -12.00 น.ทางระบบ Facebook Live ทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎากร ว่องวุฒิกุล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
วิทยากร
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อาจารย์ ดร.อัญธิกา ณ พิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
- คุณปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีดอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
- อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานคณะกรรมการ Amnesty International Thailand
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์กรกนก บัววิเชียร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายศุภสิน เจียรพาณิชย์พงศ์ นิติศาสตรบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- นายวิวัฒน์ กอสัมพันธ์ นิติศาสตรบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผศ.ดร.กฤษฎากร ว่องวุฒิกุล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
กล่าวเปิดงาน :
กล่าวสวัสดีทุกท่านที่เข้าร่วมและเปิดการประชุมระดับชาติ ธรรมศาสตร์–นิติพัฒน์ ซึ่งเป็นเวทีสาธารณะในการแลกเปลี่ยนความรู้วิชาการที่ทั้งสองสถาบันได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แล้ว โดยหัวข้อในปีนี้เป็นหัวข้อที่กำลังได้รับความสนใจ ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบทุกภาคส่วน ในการนี้คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนิติพัฒน์ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้จัดเสวนาในวันนี้ขึ้น ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์เพื่อให้เกิดการบูรณการองค์ความรู้ เพื่อสะท้อนแนวทางการแก้ไขปัญหา
อาจารย์กรกนก บัววิเชียร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แนะนำวิทยากรและชี้แจงเกี่ยวกับการเสวนาในเบื้องต้น :
กล่าวแนะนำวิทยากร โดยลักษณะของการพูดคุยในวันนี้ว่า เป็นการพูดคุยเพื่อแบ่งปันความรู้และกระตุกต่อมคิดผลกระทบต่อชีวิตของแต่ละคนในสถานการณ์โควิด -19 คำถามของสังคมในเรื่องมาตรการการจัดการที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน และชี้แจงลำดับเนื้อหาการเสวนาเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก ให้วิทยากรแต่ละท่านขยายประเด็นแต่ละมุมมองและพูดถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในช่วงต่อมาจะเป็นการพูดถึงข้อเสนอแนะ ข้อพิพาท และให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม และช่วงสุดท้ายจะเป็นช่วงการตอบคำถามและสรุป
ผศ.ดร.นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประเด็น : สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด
ผศ.ดร.นพดลได้กล่าวถึงภาพรวมเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยแบ่งเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก มาตรการที่ใช้ในการคุ้มครองสิทธิที่ถูกกระทบในช่วงสถานการณ์โควิด โดยสามารถแบ่งมาตรการออกเป็น 2 ชนิด กล่าวคือ มาตรการชนิดแรกเป็นการทำให้สิทธิบางอย่างเกิดขึ้นจริง เช่น บุคคลมีสิทธิในเนื้อตัว ร่างกาย สุขภาพ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีหน้าที่ทำให้สิทธิตรงนี้เกิดขึ้นจริง และมาตรการชนิดที่สองที่มีผลเป็นการคุ้มครองสิทธิเหมือนกันแต่เป็นการจำกัดสิทธิ เช่น การห้ามรวมกลุ่มกัน ซึ่งจะต้องมีเงื่อนไขเพิ่มเติมในการจำกัดสิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่สอง เมื่อออกมาตรการที่เป็นการจำกัดสิทธิประชาชนไปแล้ว จะต้องมีการเยียวยา
ประเด็นที่สาม มาตรการที่ออกมาโดยไม่มีความจำเป็น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้เกิดความไม่ไว้ใจในรัฐบาล
ประเด็นที่สี่ ปัญหาในเชิงภาพรวมและระบบ
ผศ.ดร.นพดลกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างสูง คือ สิทธิในชีวิตและร่างกาย ซึ่งปรากฏตามมาตรา 28 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (รธน.) “ บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ” ซึ่งรวมถึงสุขอนามัย แม้จะมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำแต่มีอัตราการแพร่ระบาดที่สูง และสิทธิในการได้รับการบริการสาธารณสุข กล่าวคือ รัฐมีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา ป้องกันโรคระบาด และเมื่อมีความเจ็บป่วยต้องมีบริการสาธารณสุขเข้าไปดูแล ตาม รธน. มาตรา 47
“ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ
บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ”
นอกจากนี้แล้ว ยังปรากฏอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ตาม รธน.มาตรา 55
“ รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
บริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม และป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย
รัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ”
มาตรการในการทำให้สิทธิพวกนี้เกิดขึ้นจะต้องมีการดำเนินการของรัฐ
ในประเด็นดังกล่าวนี้ ผศ.ดร.นพดลได้อธิบายและแสดงให้เห็นโดยอ้างอิงข้อมูลทางสถิติ (จาก Facebook page: ไทยรู้สู้โควิด) ว่า ถ้าจะต่อสู้กับโควิด-19 ประเด็นแรก ต้องป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด กล่าวคือ ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันของประชาชนมากพอสมควร คือ 70% แต่ในขณะนี้ การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เกิดประเด็นว่าฉีดโดยวัคซีนแบบ mRNA หรือวัคซีนแบบเชื้อตาย และตอนนี้ได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 4 ล้าน 4 แสนคน ซึ่งยังไม่ถึง 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
ยิ่งไปกว่านั้น ผศ.ดร.นพดลได้ย้ำอีกว่ามาตรการที่จะก่อให้เกิดสิทธิดังกล่าวต้องมีประสิทธิภาพ คือ ต้องฉีดให้ได้พอจำนวนให้ก่อภูมิคุ้มกันหมู่ และวัคซีนต้องมีประสิทธิภาพมากพอป้องกันโรค มีความต่อเนื่องคือ ต้องไม่มีประเด็นของเรื่องวัคซีนไม่พอ (ปัจจุบันมีประเด็นที่ไม่สามารถฉีดได้ในวันที่จอง เนื่องจากวัคซีนไม่พอ) และการเข้าถึงอย่างเสมอภาค ซึ่งมีประเด็นว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้อย่างไร ประชาชนจะได้สิทธินี้เมื่อไร มีข้อจำกัดหรือไม่ ทำไมให้วัคซีนเฉพาะบางกลุ่ม ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องความเสมอภาค แต่ถ้าให้บุคลกรด้านหน้าก็ไม่ใช่เรื่องขัดต่อความเสมอภาค
ในเรื่องของการเข้าสู่การรักษาพยาบาล ก็มีประเด็นเรื่องเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ อาจต้องใช้โรงพยาบาลสนามก่อน ถ้าหากโรงพยาบาลสนามไม่เพียงพอก็ต้องใช้วิธีการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)
อีกประเด็นที่ผศ.ดร.นพดลให้ข้อสังเกตไว้คือ แม้ว่าโควิด-19 โดยหลักจะกระทบต่อชีวิต ร่างกายโดยตรง แต่ก็ส่งผลกระทบสิทธิอื่นต่อไปเหมือนกัน เช่น เมื่อเราไม่สบาย ก็กระทบการงาน กระทบการศึกษา เป็นต้น
สำหรับมาตรการที่ออกมาโดยอาศัยพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ผศ.ดร.นพดล กล่าวในเบื้องต้นว่า มาตรการบางประการที่ออกโดยอาศัยอำนาจพระราชกำหนดก็ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการจำกัดสิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และยังมีหลักการทั่วไปที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพอยู่ อีกทั้งยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการออกพระราชกำหนดด้วย ดังนั้น การออกข้อกำหนดเหล่านี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขด้วย
ตัวอย่างปัญหา เช่น กรณีมาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน (curfew) เป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง ดังนั้นจะต้องเป็นไปตาม รธน. มาตรา 38
“ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือการผังเมือง หรือเพื่อรักษาสถานภาพของครอบครัว หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์ ”
กรณีอาชีพบางอย่างที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข รธน. มาตรา 40
“ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
การตรากฎหมายเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพตามวรรคสอง ต้องไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา ”
ข้อกำหนดฉบับที่ 28 ที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีประเด็นที่น่าสนใจคือเนื้อหาที่ว่าร้านอาหารที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้าสามารถขายแบบบริการขนส่ง (delivery) ได้ แต่ในห้างสรรพสินค้ากลับขายไม่ได้เลย จึงมีประเด็นเรื่องความเสมอภาค จนท้ายที่สุดมีการแก้ไขตาม ข้อกำหนดฉบับที่ 30
ข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำหนดไว้ด้วย โดยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการใช้ ซึ่งมีประเด็นตรงข้อ 2 ที่ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจระงับการใช้อินเตอร์เน็ตตามหมายเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ได้ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว มีใจความว่า อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ให้อำนาจในการระงับที่อยู่ไอพี (IP Address) ด้วย จึงไม่มีฐานอำนาจ
ในประเด็นการไม่ได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง เช่น ในตอนแรกการที่จะได้รับสิทธิของรัฐต้องใช้แอปพลิเคชั่นในการรับการเยียวยา จึงเป็นประเด็นข้อจำกัดการเข้าถึงของบุคคลที่ไม่ได้มีสมาร์ทโฟน
ประเด็นมาตรการที่ไม่จำเป็นและขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น กรณีหน่วยงานของรัฐบาลพยายามจะดำเนินคดีต่อบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ตนเห็นว่า การที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การฟ้องเพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชน (lawsuit against public participation) ทำให้ประชาชนไม่กล้าใช้เสรีภาพของตนเองแม้กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ก็ตาม ซึ่งการจำกัดตรงนี้ไม่ทำให้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 มีมากขึ้น
ตัวอย่างมาตรการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น ข้อกำหนดฉบับที่ 29 เป็นประเด็นว่า “ข้อความที่อาจ” คือเป็นไปได้ว่าอาจจะกลัวก็ได้ และคำว่า “หวาดกลัว” คืออะไร เพราะมีความอัตวิสัย (subjective) สูงและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคนใช้ดุลพินิจไม่ใช่ศาล อีกทั้งศาลยังมองว่าอาจเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนสูง และถ้าการจำกัดสิทธิเสรีภาพมีความไม่แน่นอนจะทำให้เกิดการละเมิดได้ง่าย อีกทั้งยังไม่ได้ใช้เฉพาะในเรื่องโควิด-19 จึงไม่ต้องด้วยเงื่อนไขการออก
ประการสุดท้ายที่ ผศ.ดร.นพดล ได้กล่าวถึงคือ ความผิดพลาดของรัฐบาล อาจไม่ใช่เฉพาะเรื่องโควิด-19 แต่เป็นปัญหาระดับรากฐานรัฐธรรมนูญ โดยปัจจุบันมีข้อความบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย คือ วุฒิสภาชุดแรกที่มีที่มาจาก คสช. มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้ อีกทั้ง วุฒิสภาชุดนี้ยังมีส่วนในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย ดังนั้น วุฒิสภาจาก คสช. มีแนวโน้มที่จะเลือกคนที่ตั้งตนเข้ามา ทำให้ตัวรัฐบาลรู้สึกว่าความรับผิดชอบทางการเมืองมีไม่ค่อยมาก
อาจารย์ ดร.อัญธิกา ณ พิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ประเด็น : การจัดการข้อมูลส่วนบุคคล ความอ่อนไหวเรื่องข้อมูลสุขภาพ
อ.ดร.อัญธิกา กล่าวถึงผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว สิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลว่า สิทธิความเป็นส่วนตัว (rights to privacy) มีความเชื่อมโยงกับสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งข้อมูลทั้ง 2 อย่างเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองโดยกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น สิทธิต่าง ๆ ประชาชนทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกัน โดยให้ข้อสังเกตว่า ในสถานการณ์นี้มีการเคลื่อนไหวของข้อมูลค่อนข้างมาก ซึ่งตัวประชาชนได้มอบการครอบครองข้อมูลทางสุขภาพให้แก่ภาครัฐ ซึ่งหากรัฐมีมาตรการจัดการที่ไม่ดี อาจเป็นปัญหาการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน อีกทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นการซ้ำเติมประชาชน เช่น หากมีข้อมูลรั่วไหลอาจเกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูล
กล่าวต่อมาในประเด็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลว่า ทฤษฎีสิทธิในการได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในแต่ละประเทศจะมีการรับรองสิทธินี้ในรูปแบบกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกฎหมายที่ออกมาจะการกำหนดแนวทางในการเก็บ รวบรวม ใช้ ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของเจ้าของข้อมูล และให้เจ้าของข้อมูลมีอำนาจในการควบคุม ดูแล ตัดสินใจว่าใครจะดำเนินการมากที่สุด แม้จะมอบข้อมูลตรงนี้ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน อื่น ๆ แล้วก็ตาม
ในส่วนของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะมีการกำหนดภาระหน้าที่ ความรับผิด ของบุคคลไว้ 2 สถานะ กล่าวคือ ในสถานะแรกเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจในการใช้ข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งปกติจะเป็นผู้ที่ติดต่อโดยตรงกับเจ้าของข้อมูล โดยภาระหน้าที่ผู้ควบคุมค่อนข้างมากกว่าผู้ประมวลผล ในสถานะที่สองเป็นผู้ประมวลผล จะมีหน้าที่ในการดำเนินการตามคำสั่งของผู้ควบคุมเท่านั้น
ข้อมูลส่วนบุคคลที่กฎหมายให้ความสำคัญมี 2 ประเภท คือ 1. ข้อมูลส่วนบุคคลทั่ว ๆ ไป 2. ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความสำคัญ (Special category of data) เช่น ข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ข้อมูลสุขภาพ ซึ่งกฎหมายให้ความสำคัญสูงกว่าข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป จึงมีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยที่สูงกว่า จุดนี้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการมอบข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว เช่น โรคประจำตัว แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” “ไทยชนะ” ก่อให้เกิดประเด็นปัญหาว่ามาตรการที่ทางภาครัฐจะเข้ามาดูแลความปลอดภัยของข้อมูลมีมาตรฐานมากน้อยเพียงใด อย่างที่ทราบว่าสถานการณ์โควิด-19 มีผลต่อการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) เหมือนกัน โดยมีการเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ส่งผลต่อหน่วยงานที่เก็บข้อมูลประเภทนี้หลากหลายหน่วยงาน สิ่งที่เกิดขึ้น คือ บทบัญญัติของกฎหมายบางมาตราไม่สามารถเข้าใจได้ ต้องมีการตีความ และทำให้เกิดความเสี่ยงทันทีหากมีการปรับใช้ไม่ตรงกับความเห็นที่ตีความ ดังนั้น จึงเกิดความไม่แน่นอนว่าผู้ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ครบถ้วนตามกฎหมายแล้วหรือยัง ทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อผู้ประกอบการบางส่วนด้วย
หากสังเกตดูบทบัญญัติของกฎหมาย จะพบว่าต้องมีกฎหมายลำดับรองต่าง ๆ มากมาย หรือถ้าหากเทียบกับกฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูล (GDPR) โดยในตอนนี้หน่วยงานต่าง ๆ หากจะปรับกฎหมายก็จะไปดูหรืออ้างอิงกับกฎหมายของสหภาพยุโรป ซึ่งเมื่อพิจารณาเนื้อหากับทฤษฎีกฎหมายจะมีความแตกต่างอยู่พอสมควร สหภาพยุโรปมีกฎหมายเดิม (DPD) อยู่แล้ว แต่ก็อยากทำให้ทันสมัย (modernize) ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ นาย Snowden (อดีตเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกาผู้เปิดเผยว่าพนักงานที่ดูแลเรื่องคุ้มครองข้อมูลหรือหน่วยงานที่ต่อต้านก่อการร้ายต่าง ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ทั่วโลก โดยสาเหตุที่เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ คือ ผู้ให้บริการออนไลน์ต่างๆของสหรัฐอเมริกา (US online service provider) มีที่ตั้ง (main establishment) อยู่ที่สหรัฐอเมริกาทั้งหมด จึงสามารถเข้าถึงข้อมูลตรงส่วนนี้ได้) ทำให้สหภาพยุโรปค่อนข้างกังวลจึงออก GDPR
ประเด็นที่สอง ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นการผลักให้ทุกคนเข้าสู่ฐานข้อมูลออนไลน์ (online platform) ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภค การเรียนการสอน การได้รับการเยียวยาจากทางภาครัฐ ดังนั้น สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ข้อมูลต่าง ๆ มีการไหล (flow) เข้าสู่ระบบออนไลน์ ตัวอย่างปัญหาเช่น การนำเอาข้อมูลเข้าสู่ออนไลน์ แพลตฟอร์มที่เป็นโซเซียลมีเดีย ซึ่งไม่ใช่แพลตฟอร์มที่เหมาะสมนัก โดยเฉพาะข้อมูลที่มีความอ่อนไหว เพราะเขาไม่มีวัตถุประสงค์ในการให้ความปลอดภัยต่อข้อมูลที่เพียงพอขนาดนั้น จุดนี้ต้องมีการระมัดระวังมากขึ้น อีกทั้ง อ.ดร.อัญธิกา ยังเห็นว่าวัตถุประสงค์หลักของรัฐตอนนี้คือรักษาประโยชน์สาธารณะ ก็เป็นความชอบธรรมที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุประสงค์หลักได้ แต่ประเด็นเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก็ไม่ควรเพิกเฉย เช่น หากข้อมูลนี้ถูกนำไปใช้การกระทำความผิด ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและยังเป็นการซ้ำเติมประชาชนอีกด้วย
ในประเด็นสุดท้าย กรณีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ทำให้เห็นประเด็นต่าง ๆ มากมาย ในการที่เราจะเก็บข้อมูลมาใช้ เปิดเผย ประมวลผล นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องระมัดระวัง ซึ่งบางบริบทไทยก็มีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ต้นทางต่างประเทศ ซึ่งอาจอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายของประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งทางไทยไม่มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนของรัฐ จะมีมาตรการอะไรมาทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ ซึ่งตรงนี้จะเป็นเรื่องหลักประกันการช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังภาวะวิกฤติครั้งนี้
คุณปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีดอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
ประเด็น : มุมมองของกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการเข้าไปดูแลสิทธิมนุษยชนในทุกมิติ มีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับโควิดที่กระทบสิทธิของคนกลุ่มต่าง ๆ
กล่าวเกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ในเบื้องต้นว่า เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่เสนอแนะแนวทางการแก้ไขการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามสิทธิมนุษยชนสากล ส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน ภายใต้กรอบของกฎหมาย ขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนให้เข้มแข็ง
ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ตนได้ไปเยี่ยมกรมราชทัณฑ์เพื่อดูแนวทางการปฏิบัติว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รัฐธรรมนูญ และแนวทางการปฏิบัติในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติว่ารัฐควรมีมาตรการพิเศษสำหรับการสูญเสียอิสรภาพที่ต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมและการเข้าสู่ข้อมูลข่าวสาร มีมาตรการทางเลือกในการปล่อยตัว มาตรการทางเลือกในการคุมขัง โดยตนเรียนว่า กลุ่มผู้คุมขังเป็นกลุ่มบุคคลในสถานที่ปิดซึ่งไม่สามารถกระทำตามมาตรการหลาย ๆ อย่างได้ เช่น มาตรการกักตัว
ดังนั้น การดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของผู้ต้องขังเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะเป็นเรื่องที่ดูแลยาก เช่น ไม่สามารถนำออกมารักษาจำนวนมากได้ ต้องมีมาตรการที่พิเศษกว่านั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นความสำคัญของผู้ต้องขังที่ถูกควบคุมตัวอยู่ ปัจจุบันนี้ กรมราชทัณฑ์มีการบริหารจัดการภายใต้ข้อจำกัดมากมายที่ได้มาตรฐานขั้นต่ำที่ควรได้รับ โดยสถิติในภาพรวมตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบันสิงหาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อในเรือนจำไม่ถึง 50,000 คน แพร่ระบาดใน 36 เรือนจำ โดยมีเรือนจำสีขาว 106 เรือนจำ และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 70 ราย
กล่าวต่อไปว่า กรมราชทัณฑ์มีเครื่องมืออุปกรณ์ในการดูแลผู้ต้องขังพอสมควร แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ของกรมราชทัณฑ์ไม่มีการหมุนเวียน ทำให้เกิดภาระต่อบุคคลกลุ่มนี้หนักพอสมควร เช่น เหตุการณ์การแพร่ระบาดครั้งแรก คือ เรือนจำนราธิวาสเป็นสายพันธุ์เบต้า กรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ใช้ต้นแบบ (model) ของสมุทรสาครที่มีการแพร่ระบาดในโรงงาน ใช้มาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble & Seal) คือ แยกผู้ที่ป่วยกับผู้ที่ไม่ป่วย และมีโรงพยาบาลสนามในเรือนจำ และกรณีที่ป่วยหนักก็นำมารักษาภายนอก จนกระทั่งการแพร่ระบาดเสร็จสิ้นลง เมื่อทำการตรวจเลือดปรากฏว่าทุกคนมีภูมิคุ้มกันหมดเลย และเหตุการณ์แพร่ระบาดในเรือนจำอื่น ๆ ก็ได้ใช้มาตรการเดียวกัน ส่วนที่เชียงใหม่มีความพิเศษคือ มีการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาควบคู่กับยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ด้วย
ในการแพร่ระบาดในปัจจุบันมีต้นแบบ (model) ประมาณนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ มีโรงพยาบาลของเรือนจำเอง คือ ทัณฑสถานโรงพยาบาลที่จะรับผู้ป่วยไปดูแลพิเศษ เนื่องจากการที่นำผู้ต้องขังไปดูแลที่โรงพยาบาล และเมื่อมีการแพร่ระบาด ทางเรือนจำบางขวางก็ได้มีการจัดทำโรงพยาบาลสนามขึ้นมา ก็จะกระทบเรื่องการเยี่ยม การติดต่อญาติ เพราะว่ามีหลักการคือการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble & Seal) ที่จะต้องไม่มีการติดต่อ (contact) อะไรเลย
ในช่วงแรก ๆ ก็มีปัญหา กล่าวคือ ผู้ต้องขังจะมีประเภทระหว่างพิจารณาคดีที่ต้องไปศาล เมื่อเดินทางไปศาลกลับมาแล้วก็จะมีการกักตัว 14 วัน ซึ่งต่อมาเมื่อมีการแพร่ระบาดที่รุนแรงมากขึ้น ก็มีการใช้วิธีพิจารณาทางจอภาพ ผู้ต้องการเยี่ยมญาติก็ดำเนินการผ่านทางออนไลน์ เขายังมีโอกาสได้พบได้เจอหรือได้ติดต่อญาติอยู่ แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนผู้ต้องขัง
กสม. ก็ได้รับการร้องเรียนเรื่องปัญหาที่ผู้ต้องขังไม่สามารถติดต่อญาติได้ ทาง กสม. ก็พยายามเป็นคนกลางพยายามดูว่าผู้ต้องขังไม่สามารถพบญาติได้เนื่องจากเรือนจำกีดกันหรือไม่ หรือว่าเป็นปัญหาทางเทคนิค โดยตอนนี้เจ้าหน้าที่เรือนจำที่ต้องสัมผัสกับผู้ต้องขังโดยตรงก็ได้รับวัคซีนครบแล้ว และตอนนี้เรือนจำกำลังติดต่อขอรับวัคซีนเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดในเรือนจำสีขาว
อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานคณะกรรมการ Amnesty International Thailand
ประเด็น : การมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่น เช่น กลุ่ม NGOs หรือภาคประชาชน มีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง
อ.ฐิติรัตน์ กล่าวในประเด็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก โดยสถานการณ์โควิด-19 ได้แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของการได้รับความคุ้มครองอย่างมาก ตลอดจนการใช้มาตรการจำกัดสิทธิต่างๆของรัฐ และการกล่าวให้เสียสละเสรีภาพส่วนตัวเพื่อส่วนรวม ซึ่งตนเห็นว่า ในสภาวะเช่นนี้ ไม่จำเป็นว่ามาตรการของรัฐต้องตรงข้ามกับเสรีภาพเสมอไป
ในรายงานสรุปประเด็น (Issue Briefs–World Trends Report) ของ UNESCO ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการรายงานข่าว เสรีภาพของสื่อในสถานการณ์โควิด-19 (journalism, press freedom and Covid-19) ซึ่งยังมีองค์กรที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลาย ๆ องค์กรพยายามออกคำแนะนำ (Guildline) ในการทำให้มาตรการมีประสิทธิภาพมากที่สุดและจำกัดสิทธิน้อยที่สุด รายงานฉบับนี้กล่าวว่า ในสถานการณ์โรคระบาดจะมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความสับสน (disinfodemic) ด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องจงใจและไม่จงใจ ดังนั้น สื่อสารมวลชนและการส่งต่อข้อมูลที่ครบถ้วนจะเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ จึงเน้นความสำคัญของสื่อ (media) และสื่อที่มีความเป็นอิสระ (independent media) ซึ่งตัวสำนักข่าวต่าง ๆ จะมีข้อจำกัดในการทำงาน เพราะมีความเสี่ยงในการติดโรค ดังนั้น สื่อที่มีความเป็นอิสระ (independent media) ในพื้นที่ต่าง ๆ จะเป็นผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่รัฐอาจเข้าไม่ถึง
อีกส่วนหนึ่ง คือ เรื่องบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (twitter) มักจะมีป๊อปอัพ (pop-up) ที่ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคโควิด องค์กรอนามัยโลก (WHO) ก็ได้มีการประสานงานกับบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อทำให้ข้อมูลถูกแจ้งขึ้นมา ทำการคัดกรองข้อมูลต่างๆให้มีความถูกต้อง ไม่ได้ใช้วิธีปิดกั้น (banned) ข้อมูล แต่ใช้วิธีการแจ้งความจริง (fact) คือ บอกว่าเป็นข้อมูลเก่า ขัดกับมาตรฐานของ WHO เพื่อเป็นการเอาข้อมูลสู้กับข้อมูล เป็นการเพิ่มเสรีภาพในการส่งข้อมูล แทนการดึงข้อมูลออกซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพ
อีกประเด็นหนึ่ง ที่ UNESCO เองก็กังวลคือ เรื่องมาตรการต่าง ๆ ในช่วงโควิดทำให้เกิดการจำกัดสิทธิมนุษยชนในมุมมองใหม่ ๆ ทั้งในเรื่องการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล การห้ามการเดินทาง เรื่องการกระทบสิทธิในการประกอบอาชีพ ถ้าเป็นเด็กก็เป็นเรื่องสิทธิในการพัฒนาตามช่วงวัย บทบาทของสื่อ (journalist) ก็จะทำให้ทุกคนเห็นผลกระทบของการจัดการโควิด-19
ประเด็นสาธารณสุข (public health) เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ (priority) แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ามีเรื่องอื่น ๆ ตามมา สื่อที่มีความเป็นอิสระจะทำให้เห็นภาพเหล่านี้ และรวมไปถึงการเสนอกลไกต่อรัฐบาลเพื่อให้เกิดการพัฒนา
ประเด็นปัญหาความสับสนวุ่นวายของข้อมูล ที่จะมีข่าวหลาย ๆ อย่างออกมาทำให้คนสับสน สงสัยว่าจริงหรือปลอม ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงในระดับประเทศว่าการแปะป้ายว่าปลอมมันช่วยได้มากแค่ไหน แต่ก็มีฝ่ายที่รณรงค์ให้ใช้ข้อมูลสู้ออกไปมากกว่าแปะป้าย ทาง UNESCO ทำการสำรวจว่าคนวัยรุ่นต้องการข้อมูลสถิติทางวิทยาศาสตร์มากที่สุดในยุคนี้ และมีการตอบสนองข้อมูลสถิติวิทยาศาสตร์ที่รัฐนำเสนอออกมา และมีการตั้งคำถามสะท้อนความกังวล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในยุคเสรีภาพทางโซเซียลมีเดีย ซึ่งการมีผลตอบรับ (feedback) ออกมาทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับความกังวลมากขึ้น เช่น มีการประท้วง มีการแสดงข้อสงสัย และนำมาสู่การวิจารณ์ภาครัฐ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่ยังต้องดำรงอยู่ เพราะเป็นเรื่องที่ช่วยภาครัฐ และการห้ามไม่ให้วิจารณ์ไม่ได้ช่วยอะไรในการแก้ไขวิกฤติโรคระบาดได้
ในยุคนี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องการข้อมูลเป็นอย่างมากไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่รวมต่างประเทศด้วยเพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบ เช่น การเข้าถึงวัคซีน ตรงจุดนี้เกิดจากการไหลเวียนของข้อมูล และข้อมูลที่มาจากภาครัฐนั้นไม่เพียงพอ ทำให้ประชาชนเกิดการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น ไปจนถึงการเรียกร้องให้เปิดข้อมูลในทางสัญญาเพราะในตลาดวัคซีนเป็นตลาดที่ผู้ผลิตมีอำนาจต่อรองมากกว่าผู้ซื้อ จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ และรัฐต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน
อ.ฐิติรัตน์ กล่าวถึงบทความ The Right to Information in Times of Crisis ของ UNESCO ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ในยุคของวิกฤติโรคระบาด โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน Health, Financial, Organization law and Harmonization
ในเรื่องของสุขภาพ (Health) ข้อมูลที่ประชาชนควรจะได้รับทราบ เป็นเรื่องของจำนวนผู้ตาย (cases) จำนวนการทดสอบ (test) เนื่องจากถ้ามีการทดสอบน้อย จำนวนผู้ตายก็จะน้อย เป็นเหตุให้ไม่เห็นภาพใหญ่ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการระบาดไม่สูง หรือบางคนอาจจินตนาการไปเองว่าตัวเลขที่แท้จริงเป็นขนาดที่มากกว่าตัวเลขที่ปรากฏหลายเท่า ทำให้เกิดความวิตกกังวล อันเป็นผลเสียทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ไปจนถึงปัญหาการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพ (health care facility supply) ต่าง ๆ เช่น จำนวนยา จำนวนเตียง จำนวนเครื่องช่วยหายใจ ไปจนถึงตัวแบบ (model) ข้อสันนิษฐานว่าถ้ามีการระบาดมากขึ้นจะเป็นอย่างไร
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในกรณีข้อมูลไม่นิ่งจนกระทั่งมีการถกเถียงกันทำให้ประชาชนเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลรักษาตนเอง เรียนรู้ที่จะกลั่นกรองว่าข้อมูลไหนดี ไม่ดี หรือแม้กระทั่งในเรื่องการใช้งบประมาณของรัฐว่างบประมาณถูกใช้ไปในทางที่ถูกหรือไม่ การทำสัญญา การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐถูกต้องหรือไม่ เรื่องของการใช้งบประมาณ กลายเป็นว่าประชาชนเข้าใจเรื่องกฎหมายงบประมาณมากขึ้น นำไปสู่การทำอะไรที่สร้างสรรค์ขึ้นได้ในอนาคตเหมือนกัน
ในส่วนกฎหมายต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ก็ควรจะต้องมีความชัดเจนว่าผลกระทบของกฎหมายและนโยบายเหล่านี้เป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าหลักการที่เปลี่ยนไปเป็นอย่างไร เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็มีคนตั้งประเด็นว่าอ่านยาก ออกข้อกำหนดซ้อนกันจนไม่รู้ว่าฉบับไหนยกเลิกฉบับไหน หรือข้อกำหนดใดถูกยกเลิกไปแล้วบ้าง มีข้อกำหนดถึงฉบับไหนแล้ว เนื้อหาจะตรงตามที่คนอ่านเข้าใจหรือไม่
ช่วงที่สอง : ข้อเสนอและทางออกของปัญหา
ผศ.ดร.นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประเด็น : ในมุมมองทางวิชาการ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีความจำเป็นต่อการควบคุมโควิดเพียงใด ปัจจุบันกฎหมายควบคุมโรคไม่เพียงพอหรือ
สำหรับผลของการดำเนินการต่างของรัฐ ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า ต้องดูว่ารัฐมีสิ่งที่เรียกว่าอำนาจอยู่ในมือ มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย ในเรื่องการบริการสาธารณะต้องมีความต่อเนื่อง เข้าถึงได้โดยเสมอภาค การจำกัดสิทธิต้องได้สัดส่วน และได้ประโยชน์มากกว่าผลเสียของการกำจัดสิทธิ อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจว่ารัฐมีข้อจำกัดในบางประการ ซึ่งในกรณีปัญหาของโควิด-19 นั้นไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขได้โดยง่าย และรัฐอาจจะมีข้อผิดพลาดได้ในบางประการ เช่น การตัดสินใจทางนโยบายซึ่งอาจจะเป็นเรื่องการกระทำของรัฐบาล เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐจะอ้างเรื่องเหล่านี้เพื่อไม่ต้องรับผิด กล่าวคือ ถ้ามีข้อเท็จจริงตลอดจนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่รัฐกลับดำเนินการล่าช้าหรือไม่มีประสิทธิภาพ ในจุดนี้รัฐก็ต้องมีความรับผิดเกิดขึ้น รัฐไม่สามารถหลบได้หลังคำว่า การกระทำทางรัฐบาล ดุลพินิจ นโยบาย แล้วปฏิเสธความรับผิดได้
เรื่องสิทธิ สังคม วัฒนธรรม ถ้ารัฐจะจัดการให้ได้ต้องมีงบประมาณมาเกี่ยวข้อง ซึ่งในสถานการณ์ที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องโรคระบาด การจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยแก้ไขปัญหานี้ เช่น อุปกรณ์การแพทย์ เตียง โรงพยาบาล เป็นต้น มีปัญหาเพราะต้องจัดสรรงบประมาณไปใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่ และมีความเหมาะสมหรือไม่
ประเด็นที่น่าสนใจ นอกจากการสร้างมาตรการจำกัดสิทธิ คือ ต้องสร้างมาตรการที่มีประสิทธิภาพและประชาชนอยากจะทำตาม กล่าวคือ มาตรการควรจะใช้ได้ในทางปฏิบัติ เช่น ห้ามนั่งที่ติดกันในรถเมล์ ทำให้ที่นั่งในรถไม่เพียงพอจนทำให้คนยืนติดกันแทน เป็นเหตุให้มาตรการไม่มีประสิทธิภาพเอง หรือถ้าอยากให้ประชาชนทำตาม มาตรการต้องเข้าใจได้ คือ เขียนให้เข้าใจและอย่าเปลี่ยนบ่อย ประชาชนก็จะอยากช่วยและทำให้มาตรการของรัฐไปได้ ตรงนี้ตัวรัฐต้องร่างกฎหมายและทำมาตรการให้ชัดเจน
เรื่องของความโปร่งใส คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดถึงขั้นตอนไหนแล้ว การจัดสรรวัคซีนเป็นเช่นไร มาตรการที่ออกมาสอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่ามาตรการมีประสิทธิภาพ เป็นการปฏิบัติตามเพราะประสิทธิภาพไม่ใช้กลัวการถูกลงโทษ เป็นเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายผ่านการเปิดเผยข้อมูล ตัวรัฐบาลเองเมื่อมีปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณก็ควรแก้ไข งบประมาณที่ไม่จำเป็นควรเว้นไว้ก่อน ทำให้เห็นว่ารัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา ประชาชนก็จะเข้าใจและยอมทำตาม
ผศ.ดร.นพดล ยังกล่าวต่อไปว่า เวลาร่างกฎหมายอย่าคิดในแง่คนกำหนด แต่คิดในแง่คนปฏิบัติว่าสามารถปฏิบัติตามได้หรือไม่ ทำให้กฎหมายมีประสิทธิภาพเอง มิฉะนั้น ก็จะไม่อยากทำตาม คือ ทำให้กฎหมายมีผลเพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องคุ้มครองตัวเองไม่ใช่เรื่องความกลัวในการถูกลงโทษ
ในเรื่องประเด็นว่าควรใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 (พ.ร.บ.โรคติดต่อ) ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ถูกร่างมาเพื่อควบคุมวิกฤติการณ์โรคติดต่อ แต่ว่าเป็นเรื่องความมั่นคงมากกว่า และมีเรื่องที่เป็นปัญหาหลายอย่าง เช่น การตัดอำนาจศาลปกครอง ความคุ้มกันของเจ้าหน้าที่บางอย่าง แต่ก็มีข้อสนับสนุน เช่น มีมาตรการบางอย่างที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่มี เช่น การให้อำนาจในการออกข้อห้ามออกนอกเคหสถาน (curfew) เป็นต้น ซึ่ง ผศ.ดร.นพดล เสนอว่าให้พยายามปรับปรุง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้มีมาตรการที่จำเป็น
สุดท้ายนี้ ผศ.ดร.นพดล ได้กล่าวเตือนใจว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจจะอยู่ในดุลพินิจของผู้มีอำนาจอยู่บ้าง แต่ก็อยากให้เข้าใจว่ามาตรการต่าง ๆ ก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่ดี อาจถูกตรวจสอบได้ในอำนาจของศาลแพ่ง ซึ่งจุดนี้อาจต้องปรับปรุง
คุณปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
ประเด็น : ในเรื่องกลุ่มคนเปราะบาง
คุณปิติกาญจน์ ได้เล่าถึงปัญหาต่าง ๆ ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับการร้องเรียนหรือพบเจอเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่การเริ่มระบาดของโควิด-19 เปิดให้เห็นความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ซึ่งเป็นความท้าทายของทุกคนว่าจะฝ่าฟันไปอย่างไร เพราะหลาย ๆ เรื่องเป็นเรื่องเชิงระบบจริง ๆ ต้องแก้ตรงนั้น เช่น ภาวะโรคระบาด จะบอกว่าจะรักษาเฉพาะโรคระบาด เฉพาะประชาชนชาวไทย ประเด็นนี้ก็มีปัญหาเพราะคนอื่นเขาก็เป็นมนุษย์ และเขาอาจนำไปแพร่เชื้อต่อได้
ในต่างประเทศ ไม่ได้ดูที่สถานะบุคลากร การป้องกันโรคระบาดต้องควบคุมให้ได้เพื่อไม่ให้มีการระบาด ป้องกันไม่ให้คนเจ็บป่วย เสียชีวิต ตรงนี้เป็นข้อสังเกตเพราะปัจจุบัน มีปัญหาเรื่องข้อมูล ข่าวสาร การเคลื่อนไหวของประชากรโรค ในสภาวะวิกฤติต้องมีชุดของการปฏิบัติอีกรูปแบบที่แก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว จะใช้ระบบอย่างเดิม ๆ ไม่ได้ โลกใบใหม่ที่เจอการแพร่ระบาดของโรคซึ่งเกิดทั่วโลก เราจะต้องเรียนรู้จากที่อื่นเหมือนกันว่าเขามีข้อจำกัดอะไรและมีทางออกอย่างไรบ้าง
เรื่องนี้จะเชื่อมโยงกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าแคมป์คนงาน แรงงานนอกระบบ ในเรื่องการเข้าระบบสาธารณะสุข การรักษาพยาบาล การศึกษา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าพอสมควร กสม. พบปัญหาหลายอย่างเหมือนกัน ไม่ใช่แค่แรงงาน ตีรวมถึงครอบครัวของแรงงาน ลูกของแรงงาน การเข้าถึงอะไรต่าง ๆ เช่น การเรียนออนไลน์ ไม่ใช่ทุกคนสามารถทำได้เพราะมีต้นทุนที่สูงพอสมควร
การเข้าสู่ยุค New Normal ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนอะไรใหม่ ๆ กฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่ทำให้สามารถผ่านวิกฤติไปได้ แรงงานนอกระบบเป็นเรื่องที่เป็นพลวัฒน์ ก่อนโควิด-19 หลายคนอาจเป็นแรงงานในระบบ แต่พอโควิด-19 มาก็ต้องกลายเป็นแรงงานนอกระบบ คือไม่สามารถหางานทำได้ เช่น ฟู๊ดแพนด้า (Food Panda) ไลน์แมน (Line Man) คนกลุ่มนี้ไม่มีหลักประกันใดๆเลย ไม่ว่ารายได้ การเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ยิ่งการแพร่ระบาดโควิด-19 ยาวนานเท่าไร ผลกระทบยิ่งมากขึ้น ในตอนนี้มีประมาณ 20 กว่าล้านคน ซึ่งเป็น 53% ของแรงงานในระบบ สะท้อนให้เห็นว่า ณ ตอนนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการใช้ชีวิต แต่ต้องขับเคลื่อนทุกระบบของสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
อีกปัญหาที่ตนเห็นคือ ข้อมูลของภาครัฐกับภาคประชาสังคมไม่ตรงกัน จะต้องทำอย่างไรที่จะมีข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงกันที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา การกำหนดนโยบายที่เหมาะสมและจำเป็น ถ้าเรามองเห็นตรงนี้ร่วมกันไม่ใช่แค่เรื่องคนใดคนหนึ่ง กสม. เองก็พยายามออกแถลงการณ์ ซึ่งบางคนอาจสงสัยว่าจะได้ผลหรือไม่ แต่เราก็ต้องทำต่อไป
อีกบทบาทคือ เสนอมาตรการต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเผยแพร่ต่อประชาชนซึ่งเป็นเรื่องของทุก ๆคน เราคิดว่าเราควรร่วมมือกัน รัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องบริหารอย่างเหมาะสมและทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อให้ผ่านไปได้
คำถาม : ในกรณีที่เป็นกลุ่มคนเปราะบาง เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน แต่มีมาตรการในการกักตัว สำหรับคนกลุ่มนี้มีมาตรการรองรับสำหรับเขาหรือไม่
คำตอบ : ในความเห็นส่วนตัว จะต้องจำแนกประเภทของผู้คนว่ามีกลุ่มไหนบ้าง ก็มีข้อเสนอว่าจริง ๆ แล้วหน้าที่ในเรื่องของคนไร้บ้าน จะมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่จะมีสถานที่รองรับคนกลุ่มนี้ เรียกว่า คนไร้ที่พึ่ง แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เมื่อพวกเขาติดเชื้อ ก็ควรตรวจโรคให้เร็ว ให้เข้าถึงวัคซีนให้เร็ว โดยไม่มีเงื่อนไขมากมาย ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขที่มากจะนำไปสู่การทุจริต ดังนั้น ตนคิดว่าควรตรวจให้เร็ว แยกกลุ่มให้ออกว่าถ้าไม่มีที่พักพิงควรไปอยู่ที่ไหน อย่างไร
อาจารย์ ดร.อัญธิกา ณ พิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ประเด็น : สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ในประเด็นสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทย อ.ดร.อัญธิกา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐไม่มีมาตรการที่คุ้มครองข้อมูลเพียงพอที่จะให้เอกชนใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ แนวทางที่จะเยียวยาเรื่องของการจัดการโควิด-19 การใช้เหตุผลในเรื่องสาธารณสุข (public health) เป็นข้ออ้างในการจัดการต่าง ๆ ของภาครัฐ แต่ประเด็นปัญหา คือ การคุ้มครองข้อมูล เป็นสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐควรให้สนับสนุน มีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจน อย่างประเด็นแรก ๆ คือการแชร์ข้อมูล ทามไลน์ เป็นประเด็นที่น่ากังวล ซึ่งต้องรายงานให้กรมควบคุมโรคทราบ ข้อมูลที่ควรเผยแพร่ แนวทางการเผยแพร่ควรเป็นไปในแนวทางไหน และมีนโยบายอย่างไรที่จะคุ้มครองข้อมูลส่วนนี้ได้ ทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจ ซึ่งตรงนี้เราไม่ได้ดูว่าผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลต้องการเปิดเผยหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว
อีกประเด็นคือ เรื่องของการบังคับใช้กฎหมายพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทำให้กฎหมายลำดับรองไม่มี แนวทางที่จะให้ภาครัฐ ภาคเอกชนใช้เป็นแนวทางในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ชัดเจน เกิดความกังวลต่อประชาชนที่จะให้ข้อมูล และเรื่องการแชร์ การจัดเก็บ การลบ ทำลายข้อมูล ก็ไม่อยู่ในความรับรู้ของประชาชน อย่างที่ทราบว่าทางภาครัฐก็มีการใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ ก็มีการนำข้อมูลไปให้บุคคลที่สาม (third party) ตรงจุดนี้ก็มีความกังวลค่อนข้างมาก นิติสัมพันธ์ของแต่ละคนกับตัวผู้ให้บริการออนไลน์ (online service provider) ค่อนข้างมีข้อจำกัด ดังนั้น หากมีข้อมูลรั่วไหลเพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ ภาครัฐต้องมาร่วมรับผิดชอบ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่อยู่ในความรับรู้ของประชาชนว่ามีแนวทางอย่างไร มากน้อยเพียงใด
กล่าวโดยสรุป นโยบายในการจัดการข้อมูลของภาครัฐ อาจจะเห็นได้ว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ ไม่มีความชัดเจนในเรื่องแนวทางที่ชัดเจน การจัดสรร การดูแลของข้อมูล ทำให้ประชาชนเกิดความกังวล สำหรับแนวทางที่ตนแนะนำในตอนนี้ คือ ปรับรูปแบบแนวทางให้เห็นการถือครองข้อมูลของประชาชน ถ้ามีความเสียหายประชาชนจะมีการดำเนินการไปในแนวทางใด ซึ่งสหภาพยุโรป (EU) จะมีแนวทางในการใช้ข้อมูลสุขภาพเหล่านี้ว่าควรมีมาตรการที่จะดำเนินการอย่างไรเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิในข้อมูลของประชาชน
อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานคณะกรรมการ Amnesty International Thailand
ประเด็น : การมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่น เช่น กลุ่ม NGOs หรือภาคประชาชน มีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง (เพิ่มเติม)
อ.ฐิติรัตน์ได้กล่าวเพิ่มเติมจากช่วงแรกอีก 3 ประเด็นใหญ่ ๆ ดังนี้
ประเด็นแรก ตนเห็นด้วยกับทั้ง ผศ.ดร.นพดลและคุณปิติกาญจน์ กล่าวคือ สถานการณ์โควิด-19 บีบบังคับให้รัฐปลดล็อคอะไรที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบาย ในด้านเทคโนโลยีที่พูดกันมานานว่าจะพยายามทำทุกอย่างให้เป็นออนไลน์ เป็นสิ่งที่ทุกคนพยายามทำมานาน 10 ปี ตอนนี้เมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้โดยสภาพจึงต้องทำให้ได้ เช่น เรื่องสำเนาบัตรประชาชน ที่มีมติ ครม. มานานมากแล้ว ตอนนี้ก็มีหลายหน่วยงานทำได้แล้ว (สถานการณ์เช่นนี้ทำให้มีการปรับตัว) เป็นต้น
ประเด็นที่สอง การปรับตัวกฎหมายให้สอดคล้องกับพฤติกรรมคนใช้งาน การร่างกฎหมายเป็นเรื่องการดำเนินนโยบายแบบปรับตามผลตอบรับ (feedback) หรือว่าคิดตั้งแต่ต้นว่ามุมมองผู้ใช้งานเป็นอย่างไร โดยไม่ได้มองมุมคนทำงาน สถานการณ์โรคระบาดทำให้เกิดการใช้ประสิทธิภาพของทรัพยากร ดังนั้น การเอาผู้ใช้เป็นศูนย์กลางจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
ประเด็นที่สาม เรื่องของโรคระบาดกับความเหลื่อมล้ำ สถานการณ์นี้ทำให้เราเห็นสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (dilemma) คือ โรคระบาดติดทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ รวยหรือจน ดังนั้น หากเราไม่ดูแลทุกคน ทุกคนจะไม่สามารถหลุดพ้นได้ ขณะเดียวกันมาตรการที่จัดการโรคกลับต้องพึ่งพิงทรัพยากรทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง แม้จะมีกิจการบางประเภทที่ไปด้วยดี แต่ก็มีกลุ่มชายขอบที่ถูกกดทับเพิ่มไปอีก ซึ่งประเด็นความเหลื่อมล้ำนี้ไม่ใช่แค่ระดับภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องระดับโลกด้วย สังเกตได้จากเรื่องวัคซีน หรือล่าสุดก็มีบทความว่าสายพันธุ์เดลต้าแทบไม่ใช่โรคเดิมแล้ว แต่เป็นโรคใหม่ในเรื่องความรวดเร็วในการแพร่ แต่ผลกระทบของประเทศที่มีการกระจายตัวของวัคซีนไม่ค่อยมีผลกระทบ แต่ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีนจะเกิดผลกระทบมาก
แต่ว่าก็มีแง่ดีอยู่บ้าง คือ การเรียนรู้จากวิกฤติการณ์ ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ทำให้ทุกคนฝ่าฟันวิกฤตินี้ไปด้วยกัน เช่น ความพยายามที่ภาคประชาสังคมช่วยภาครัฐ หรือหลาย ๆ หน่วยงานพยายามปรับตัวได้รวดเร็วมากขึ้น มีเอกชนต่าง ๆ พยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่รู้สึกว่าหากทุกคนไม่ก้าวข้ามผ่านสิ่งนี้ไปด้วยกัน ทุกคนก็ไม่มีทางรอด
ยังกรณีของการเข้าถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ (เช่น สิทธิบัตรยา สิทธิบัตรวัคซีน เป็นต้น) ทำให้การต่อสู้กับโรคระบาดไม่เท่ากัน จึงมีโครงการโคแวกซ์ (COVAX) เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี การที่ประเทศไทยไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีปัญหามาก ถ้ามองในเชิงภาพรวม ก็ควรเป็นบทเรียนที่ประเทศไทยนำมาเรียนรู้ต่อไป
ในสภาวะที่มีมาตรการที่ต้องจำกัดเสรีภาพ แต่มีเสรีภาพที่ทำให้เกิดการทำงานได้มากขึ้น เช่น การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในการจัดการโรคระบาด กุญแจสำคัญนี้เรื่องนี้คือ ความเชื่อมั่น ซึ่งความเชื่อมั่นต้องมีอยู่ดังเดิมจะสร้างโดยทันทีไม่ได้ ประเทศไทยโชคดีที่เราเป็นสังคมแบบเชื่อฟัง (obedience society) ทำตามผู้นำรัฐ แต่ประเด็นนี้ไม่ได้เกิดจากความเชื่อใจ (trust) แต่เป็นเกิดจากความกลัว (fear) ซึ่งสิ่งที่ยั่งยืนกว่าคือความเชื่อใจ
กฎหมายจะช่วยส่งเสริม (facilitate) ความเชื่อได้มี 4 อย่าง
1. เปลี่ยนความคิด (mindset) ว่าเสรีภาพไม่ได้ขัดขวางการทำงานของรัฐ เมื่อปัจเจกชนมีสิทธิใช้ทางเลือก ปัจเจกชนก็จะเริ่มเข้าใจเรื่องต่าง ๆ มีแรงจูงใจของตัวเอง
2. ต้องแยกแยะระหว่างความจำเป็นกับความสะดวกในการดำเนินมาตรการ ควรต้องแยกระหว่างเร็ว (rushing) กับเร็วที่สุด (Doing fast) การที่รีบทำจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ แต่การค่อย ๆ ทำ ใช้วิจารณญาณอย่างเหมาะสมจะทำให้เกิดประสิทธิผลดีกว่า
3. มาตรการต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้คน สิ่งที่ควบคุมพฤติกรรมของคนไม่ใช่แค่กฎหมาย แต่รวมถึงประเพณี (norm) สถาปัตยกรรม (architecture) เทคโนโลยี (technology) โครงสร้างตลาด (market) ด้วย ต้องดูว่าอะไรที่ชักนำพฤติกรรมผู้คนได้ดีในสถานการณ์เช่นนี้ ควรทำอย่างไรเพื่อที่จะรู้ว่าคนในสังคมคิดเห็นอย่างไร
WHO ใช้วิธีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (social listening) โดยการใช้เครื่องมือไปค้นหาบทสนทนาสาธารณะบนโลกออนไลน์ว่าคุยอะไรกัน ในแต่ละประเทศเรื่องที่คุยไม่เหมือนกัน บางประเทศสนใจว่าโรคระบาดอย่างไร บางประเทศสนใจว่าคนที่ติดโรคถูกปฏิบัติอย่างไรในสังคม บางประเทศสนใจวัคซีน บางประเทศสนใจมายาคติมากกว่า ซึ่งแสดงให้เห็นข้อจำกัดบางอย่างของแต่ละสังคม การดำเนินการของภาครัฐควรดูว่าในประเทศไทยมองเรื่องนี้อย่างไร
4. ความโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อนโยบายรัฐต้องอธิบายให้ได้ ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงาน ช่วยแก้ไขปัญหาได้
ช่วงตอบคำถาม
คำถาม (1) : เรื่องของกรณีการกำหนดให้มีการกักตัวในบ้าน หากเกิดความรุนแรงในครอบครัวขึ้น รัฐมีมาตรการรับรองอย่างไรบ้าง มีการแก้ไขปัญหาอย่างไร มีองค์กรใดเข้าไปดูแลหรือไม่
คุณปิติกาญจน์ : ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นช่วงโควิด-19 ระบาด เพราะต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น อีกทั้งพื้นที่ที่อยู่อาศัยค่อนข้างจำกัด (แสดงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ) ตนจึงไม่รู้ว่าคำตอบที่ควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้นั้นเบื้องต้นมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้โดยตรง สามารถติดต่อไปที่สายด่วน 1300 และในกรณีที่มีการติดโควิด-19 แล้วต้องกักตัว ก็มีภาคประชาสังคมมาช่วยเติมเต็มทำให้การช่วยเหลือ ประชาชนดีขึ้น อย่างที่ตนบอกว่าคงไม่มีคำตอบในตอนนี้ แต่หลังจากพ้นภาวะวิกฤติต้องมีการพูดคุยเพื่อร่วมมือกันให้มากขึ้นทั้งในส่วนของรัฐบาลและภาคประชาสังคมที่จะเข้าไปดูแลในแต่ละจุด ในแต่ละมิติ ให้ได้มากที่สุด
อาจารย์ฐิติรัตน์ : ในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) เป็นปัญหากันทั่วโลก ตนเห็นด้วยกับคุณปิติกาญจน์ว่า ระบบเดิมที่มีต้องพยายามใช้ให้ได้ อีกเรื่องคือสถิติ ถ้ามีการเก็บรวบรวมข้อมูลก็จะเห็นรูปแบบ และจะนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาได้
ผศ.ดร.นพดล: ในเรื่องการทำแยกกักตัว (Isolation) น่าจะมีการแยกกักตัวที่ไม่ใช่บ้าน (Home Isolation) ไม่ใช่ที่โรงพยาบาลสนาม ไม่ใช่ที่โรงแรม ซึ่งอาจจะใช้พื้นที่ที่ทางราชการที่ไม่ได้ใช้ และอาจทำได้ระดับหนึ่งซึ่งตรงนี้ประชาสังคมสามารถเข้าไปทำได้ รัฐก็น่าจะทำได้เหมือนกัน
คุณปิติกาญจน์ : ความจริงแล้วต้องมีการกักตัวแบบชุมชน ซึ่งหลาย ๆ ชุนชนได้พยายามทำอยู่ ซึ่งถ้าภาครัฐทำไม่ไหวก็ควรสนับสนุนสิ่งที่จำเป็นให้กับชุมชน สิ่งใดที่ทำไม่ได้ก็ให้ประชาชนช่วยทำ ต้องร่วมมือกันจริง ๆ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
คำถาม (2) : การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นปัญหาที่ว่าท้องถิ่นต้องการจัดการสถานการณ์เองหรือจัดการได้ดีกว่าเนื่องจากทราบสถานการณ์ในท้องที่ มีความเห็นอย่างไรในประเด็นเกี่ยวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มากกว่าที่เป็นอยู่
คุณปิติกาญจน์ : ตนมีความเชื่อว่าการกระจายอำนาจทำให้การบริหารจัดการได้ดีและใกล้ชิดประชาชน จริง ๆ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ต่างจังหวัดก็บอกว่าพร้อมให้พี่น้องที่ประสบปัญหาโรคระบาดกลับมาในชุมชน เนื่องจากมีทรัพยากรและพื้นที่ที่เพียงพอ แต่ติดปัญหาตรงระบบราชการไทยที่ยังไม่ได้ปฏิรูป ซึ่งตนก็ยืนยันว่านี่เป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในเรื่องของท้องถิ่นด้วย ครั้งนี้ท้องถิ่นต้องตระหนักเรื่องสาธารณสุขมากขึ้น และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นข้อจำกัดต้องปรับปรุงด้วยเพื่อให้ส่วนท้องถิ่นเข้าไปดูแลประชาชนในพื้นที่ได้ เนื่องจากเขาใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าส่วนกลาง
อ.ดร.อัญธิกา : ตนเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจของท้องถิ่น แต่ประเด็นหลักที่สุดตอนนี้คือ อาจจะต้องมีนโยบายกลางของรัฐที่ต้องมีความชัดเจนและแน่นอนก่อนที่จะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม แต่เนื่องจากตอนนี้นโยบายของรัฐบาลส่วนกลางยังไม่ชัดเจน ทำให้ไม่เอื้อต่อการกระจายอำนาจ แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้จะเป็นไปไม่ได้ในอนาคต
อาจารย์ฐิติรัตน์ : กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่าในเรื่องท้องถิ่น ประเทศไทยมีโครงสร้างการกระจายอำนาจอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เครื่องมือทางกฎหมายค่อนข้างเป็นอุปสรรคที่ส่วนท้องถิ่นจะใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ก็มาจากเจตนาดี เช่น ป้องกันการทุจริต การตรวจสอบงบประมาณ ซึ่งหลายครั้งค่อนข้างเป็นเรื่องทางเทคนิค แต่ไม่ใช่เรื่องการขัดกันทางแนวคิด เป็นเรื่องทางเทคนิคที่คนในท้องถิ่นก็ไม่เข้าใจว่าจริง ๆ กฎหมายก็มีช่องทางให้ใช้งานได้ แต่ก็กลัวถูกฟ้องดำเนินคดี ในระบบข้าราชการของไทยจึงไม่สามารถขยับตัว และการที่ข้าราชการระดับสูงไม่ได้ถูกตรวจสอบมากนักทำให้ความสนใจค่อนข้างน้อย แต่การที่ข้าราชการระดับปฏิบัติการมีการตรวจสอบย้อนหลังเยอะและบ่อยจนกระทั่งคนในระบบไม่อยากทำงาน จึงเลือกอยู่เฉย ๆ ดีกว่า ดังนั้น จึงควรจะต้องปลดล็อคให้กฎหมายไปเรียกร้องจากคนระดับสูงและสร้างความยืดหยุ่นให้คนระดับปฏิบัติการให้ได้
กล่าวสรุปปิดท้าย
ผศ.ดร.นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตนเห็นด้วยกับที่หลายท่านได้สรุปว่าวิกฤติครั้งนี้ทุกคนต้องช่วยกัน อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องมอง คือ บทบาทบางอย่างที่ภาคประชาสังคมที่เข้าไปช่วย แต่ถ้ารัฐไม่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เช่น การสั่งวัคซีน แม้มีภูมิหลังทางการเมืองก็ต้องร่วมมือกันก่อน ถ้ารัฐไม่ทำหน้าที่ของตัวเองก็ไม่สามารถผ่านสถานการณ์นี้ได้ ดังนั้น การใช้มาตรการที่ไม่เป็นมิตรก็จะทำให้เกิดผลกระทบที่แย่ หรือในเรื่องของการชุมนุมเข้าใจว่ามีความเสี่ยงแต่ก็ต้องมีข้อยกเว้นที่ไม่ส่งผลให้เกิดการระบาด เช่น การขออนุญาต หรือกรณี car mob อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุด ตนอยากให้ร่วมมือกันเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกันในช่วงภาววะวิกฤตินี้ และมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าผลกระทบของโควิด-19 นั้นมีผลกระทบต่อทุกคน ซึ่งบางคนอาจจะได้รับผลกระทบน้อยเพราะมีปัจจัยเรื่องทุนที่มากกว่าคนอื่นๆ อย่างไรก็ดี น่าสนใจที่บุคคลที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่านี้ก็เริ่มรู้สึกว่าทุนที่เขามีอยู่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว ปัญหาในตอนนี้เกินกว่าความสามารถของบุคคลที่จะแก้ไขได้แล้ว ต้องไปแก้ไขที่ระบบที่อาจจะสะท้อนในรูปแบบของกฎหมายและวัฒนธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว
คุณปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีดอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
ตนคิดว่าทุกวิกฤติมันเป็นโอกาส โควิด-19 มาทำให้พวกเราได้ท้าทายว่าทุกคนจะฝ่าฟันวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร ซึ่งจะต้องมีการทบทวนทั้งมาตรการกฎหมายแนวทางการดำเนินงานในทุกภาคส่วน
ปัจจุบันในสังคมไทย ต้องใช้มิติสิทธิมนุษยชนมาบริหารจัดการด้านโควิด-19 เพราะต้องคำนึงความเป็นมนุษย์เพื่อป้องกันโรคมากกว่าเอากฎหมายมาเป็นข้อกีดกั้น เพราะโรคไม่ได้เลือกว่าจะติดคนนั้นคนนี้ ไม่ว่าเป็นใครอย่างในเรือนจำก็ต้องบริการจัดการให้การแพร่ระบาดยุติได้โดยเร็วสำหรับทุกคน ในความเป็นมนุษย์ไม่ได้เอาข้อกีดกั้นเรื่องสถานะบุคคลมาเป็นตัวตั้ง แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเรื่องทรัพยากร ก็ต้องแก้ปัญหาโดยเร็ว
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ทุกอย่างต้องเปิดเผย แม้ปัจจุบัน รัฐไม่เปิดเผย แต่การเคลื่อนไหวในโซเซียลมีเดียเร็วมาก รัฐย่อมไม่สามารถปิดกั้นข้อมูลได้
อาจารย์ ดร.อัญธิกา ณ พิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ตนคิดว่าการที่เราจะฝ่าวิกฤตินี้ได้ไม่ใช่เพียงภาคส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น ทางภาคเอกชนก็ต้องการช่วยเหลือภาครัฐในทุกอย่าง ถ้าภาครัฐมีการออกนโยบายที่ชัดเจน โปร่งใส ทุกคนก็พร้อมจะให้ความร่วมมือกับภาครัฐอยู่แล้ว
อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานคณะกรรมการ Amnesty International Thailand
ตนอยากจะเน้นย้ำเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งน่าจะช่วยได้ทั้งระยะสั้น คือ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และในระยะยาว คือ ผลตอบรับของประชาชนจะช่วยให้เรียนรู้ได้ว่าอะไรที่สำคัญที่สุด โดยหวังว่าจะมีการพัฒนา พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อวิกฤติครั้งหน้าไม่จำต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งการจะสำเร็จได้นั้นรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล เปิดเผยให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และอยู่ภายใต้การตรวจสอบของประชาชน