สรุปสาระสำคัญจากสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางลิเล็กทรอนิกส์ (VAT on E-Service)” จัดโดยศูนย์กฎหมายภาษี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2564 เวลา 9.00-12.00 น. ผ่านระบบ Facebook Live ทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- อาจารย์ ดร.ภัทรวัณย์ จงจิตต์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายภาษีอากร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ศิริคุณโชติ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายภาษี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อาจารย์กำธร สิริชูติวงศ์ อดีตนิติกรชำนาญการ สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร
- คุณจิตรา ณีศะนันท์ ผู้อำนวยการกองสำรวจและติดตามธุรกิจนอกระบบ กรมสรรพากร
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์ธนภูมิ จันทร์สว่าง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายภาษี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายณัฏฐ์ สิงหศิริ นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
อาจารย์ ดร.ภัทรวัณย์ จงจิตต์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายภาษี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ :
กล่าวเปิดการสัมมนาว่า การจัดงานเสวนาวิชาการในวันนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มุ่งศึกษาค้นคว้าและทำการวิจัย ทั้งยังมีภารกิจในการให้บริการแก่สังคมอีกด้วย โดยกฎหมายภาษีอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องใหม่ที่อาจส่งผลต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ ศูนย์กฎหมายภาษีจึงได้จัดโครงการเสวนานี้ขึ้น
กฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญแต่เศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก มิใช่มีแต่วัตถุประสงค์เพื่อการสร้างรายได้ให้แก่รัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีบทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย นอกจากนี้ ลักษณะสำคัญของกฎหมายภาษีอรกรคือมีความเป็นพลวัตร (dynamic) กล่าวคือกฎหมายภาษีสามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาได้ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “ยุคเศรษฐกิจแบบดิจิทัล” (Digital Economy) ดังนั้น ในการทำความเข้าใจกฎหมายภาษีอากรและอัพเดตกฎหมายภาษีอากรให้ทันสมัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
ระบบการจัดเก็บภาษีอากรของประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีอากรหลายประเภท โดยเฉพาะ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” (Value Added Tax – VAT) ก็ถือว่าเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐ ทั้งยังมีความเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น การซื้อสินค้าหรือบริการก็จะภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ เป็นต้น
ด้วยเหตุที่ในยุคปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจแบบดิจิทัล (Digital Economy) แล้ว โดยข้อมูลสารสนเทศ (Information Technology) ได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว และประชาชนอาจได้รับบริการจากผู้ให้บริการที่ไม่มีสถานประกอบการอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ซอฟต์แวร์หรือสื่อบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ นั่นเอง
กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันนั่นคือ “ประมวลรัษฎากร” เดิมไม่ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) ต้องดำเนินการจดทะเบียนหรือชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งอาจมีข้อสังเกตว่าอาจไม่เป็นธรรมในการแข่งขันหรือเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศกับต่างประเทศหรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรตาม “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564” เรื่องการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 ซึ่งการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลต่อผู้ใช้บริการภายในประเทศ
ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้อำนวยการเองคือ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จํากัด ได้ส่งอีเมลมาแจ้งว่า “เพื่อให้ทางบริษัทปฏิบัติตามกฎหมายภาษีฉบับใหม่ที่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 นี้ บริษัทฯจะขอคิดภาษีร้อยละ 7 จากการใช้บริการต่าง ๆ (e-Service) ของทางบริษัทฯ และขอให้แจ้งหมายเลขผู้เสียภาษี (VAT registration number) แก่ทางบริษัทด้วย” ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเด็นการเสวนาในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ทันสมัยและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างมาก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกับกฎหมายภาษีอิเล็กทรอนิกส์ฉบับใหม่นี้นั่นเอง
ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ศิริคุณโชติ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายภาษี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
ในปีหน้านี้จะครบ 30 ปีในการใช้ “กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม” ในฐานะที่เป็นภาษีที่เก็บจากการบริโภคทั่วไป โดยเปลี่ยนจากระบบภาษีการค้าที่ล้าสมัยมาสู่ระบบภาษีมูลค่าที่ทันสมัย ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บในปัจจุบันมีหลักการสำคัญอยู่ 6 ประการซึ่งปรับปรุงมาจากระบบภาษีการค้าที่ประเทศไทยเคยใช้มานาน ได้แก่
ประการแรก “การเก็บภาษีแบบทุกทอด” กล่าวคือแทนที่จะมีการเก็บภาษีทอดเดียวอย่างในระบบภาษีการค้า การประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการสินค้าชนิดในหรือทอดใดก็จะอยู่ข่ายเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค้าเพิ่มรวมถึงผู้ที่นำเข้าด้วย ในกรณีเช่นว่านี้มีข้อสงสัยว่าจะเกิดการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกันหรือไม่ มีมาตรการขจัดภาษีซ้ำซ้อนอยู่ในตัวอยู่แล้ว เก็บจากการขายหรือการให้บริการทุกชนิดในการประกอบทางธุรกิจหรือวิชาชีพ แต่หากประกอบกิจการนอกราชอาณาจักรหรือไม่ได้ประกอบกิจการธุรกิจหรือมีวิชาชีพก็ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งกิจการในบังคับภาษีธุรกิจเฉพาะจะอยู่นอกข่ายบังคับของกฎหมายว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น กิจการธนาคาร โรงรับจำนำ หรือการค้าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ประการที่สอง “ข้อยกเว้น” กล่าวคือสำหรับกิจการที่เคยรับยกเว้นจากระบบภาษีการค้ามาก่อนหรือกิจการขนาดย่อม เช่น การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือการขนส่งในราชอาณาจักรที่เคยได้รับยกเว้นจากระบบภาษีการค้าก็ได้รับการยกเว้นในภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ มรการขยายข้อยกเว้นในเรื่องขนาดกิจการจากเดิมที่เคยยกเว้นกิจการที่เคยมีรายรับต่อเดือนไม่เกิน 4,000 บาทเปลี่ยนมาเป็นมีรายรับต่อเดือนไม่เกิน 1.8 ล้านต่อปี โดยเป็นข้อยกเว้นที่มีขอบข่ายกว้างขวางทำให้กิจการรายเล็กไม่ต้องอยู่ข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามอันช่วยบรรเทาภาระลงได้อย่างมาก อย่างไรก็ดี การที่มีข้อยกเว้นมากขนาดนี้ก็ไม่ได้ทำให้รายรับในภาษีมูลค่าเพิ่มของรัฐบาลลดลงแต่อย่างใด เพราะรัฐยังคงสามารถจัดเก็บภาษีได้มากอยู่
ประการที่สาม “ฐานภาษี” เป็นฐานใลค่าของสินค้าหรือบริการที่มีการขายหรือการให้บริการ โดยไม่รวมตัวภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นฐานภาษีด้วยซึ่งจะมีความแตกต่างกับภาษีการค้าและภาษีการบริโภคอื่นๆในปัจจุบันที่รวมภาษีเป็นฐานภาษีอยู่ในตัวภาษีชนิดนั้นทำให้เกิดการเก็บภาษีซ้ำซ้อนไปในตัว อันเป็นระบบใหม่ที่เข้ามาแก้ไขเรื่องความซ้ำซ้อนของการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและเป็นการช่วยลดภาระทางภาษีของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนนั่นเอง
ประการที่สี่ “อัตราภาษี” ในปัจจุบันใช้อัตราเดียว โดยเมื่อรวมภาษีท้องถิ่นแล้วเป็น 7% ซึ่งทำให้ง่ายต่อการบริการจัดการ เนื่องจากระบบภาษีการค้าในสมัยก่อนมีอัตราภาษีถึง 22 อัตรา ตั้งแต่ 0.5 – 55% จึงมีการวางแผนเลี่ยงภาษีและกระทบการบริหารจัดการเพราะจะต้องเสียเวลากับการวินิจฉัยเกี่ยวกับอัตราภาษีเดิมดังกล่าว ส่วนอัตรา 0% คือการไม่เก็บภาษีหรือคืนภาษีที่เสียไปในทอดก่อนหน้าให้แก่ผู้เสียภาษี จึงเป็นเพียงมาตรการในการคืนภาษีที่แฝงอยู่ในทอดก่อนหน้านั่นเอง
อย่างไรก็ดี บางประเทศอาจมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่หลายอัตรา เช่น ในประเทศยุโรปแม้จะมีหลายอัตราภาษี แต่ก็เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราที่สูงมากถึงประมาณ 20% จึงต้องมีการกำหนดการลดอัตราภาษีให้แก่สินค้าบางอย่างที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องรับภาระอัตราภาษีมากเกินไป ส่วนในประเทศไทยเก็บในอัตราที่ไม่สูงและยังมีการยกเว้นให้แก่ผลเกษตร เนื้อสัตว์ หรือรายการต่างๆอยู่แล้ว จึงไม่ต้องการมีการกำหนดหลายอัตราให้เกิดความยุ่งยาก
ประการที่ห้า “การขจัดภาษีซ้ำซ้อน” กล่าวคือการให้นำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขาย โดยภาษีขาย ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะเรียกเก็บจากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ ส่วนภาษีซื้อ ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนรายอื่นเรียกเก็บไป
ประการที่หก “การส่งเสริมการส่งออก” กล่าวคือการให้กิจการส่งออกเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% การขายสินค้าหรือบริการแก่ลูกค่าต่างประเทศเพื่อใช้บริการในต่างประเทศก็จะไม่เสียและนำภาษีซื้อมาหักออกได้ จึงเป็นกิจการที่ปลอดภาษีโดยสิ้นเชิงทั้งการขายสินค้าและบริการ
นอกจากนี้ ถ้ามีการนำเข้าบริการจากต่างประเทศก็อยู่ข่ายที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะถือว่าเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรตามมาตร 77/1 แห่งประมวลรัษฎากรนั่นเอง
ในกรณีที่ต่างชาติที่เข้ามาประกอบกิจการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยหลักการแล้วอยู่ในข่ายให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้จะไม่จดทะเบียนก็มีความรับผิดชอบ ส่วนกรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรกฎหมายไทยมีวิธีการจัดเก็บพิเศษคือให้ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเป็นผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นความจำเป็นทางกฎหมาย
กฎหมายใหม่นี้ก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการธุรกิจ e-Serviceกล่าวคือการนำเข้าและการซื้อสินค้าหรือบริการภายในประเทศ ก็ควรมีภาระภาษีที่เท่าเทียมกัน มิเช่นนั้น ผู้บริโภคก็จะซื้อหรือรับบริการจากต่างประเทศแทนถ้าการซื้อหรือรับบริการจากต่างประเทศได้เปรียบทางภาษีอากร
ผู้ประกอบการหรือประชาชนที่นำเข้าบริการจากต่างประเทศซึ่งไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก่อนวันที่ 1 กันยายน 2564 จะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากรด้วยตนเอง
อาจารย์กำธร สิริชูติวงศ์ อดีตนิติกรชำนาญการ สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร (วิทยากร) :
ระบบการเก็บภาษีของประเทศไทยมีหลายประเภท โดยเฉพาะภาษีตามประมวลรัษฎากร ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ การแก้ไขกฎหมายในช่วงปี พ.ศ. 2535 ช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีระบบอินเทอร์เน็ต โดยการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าที่นำเข้าจะดำเนินการผ่านกรมศุลกากร แต่หลังจากมีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็เกิดธุรกิจประเภทที่เกี่ยวข้องกับ e-Service ได้แก่ การดาวน์โหลดเกม เพลง ภาพยนตร์ออนไลน์ หรือการดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์ใน Chat application การสตรีมมิ่ง หรือการใช้พื้นที่โฆษณาบนเว็บไซต์หรือ Application ก็มีปัญหาในการตีความว่าเป็นบริการหรือการขาย
เมื่อพิจารณาตามกฎหมายภาษีของประเทศไทย การที่จะทำให้ e-Service เสียภาษีให้แก่ประเทศไทยได้อาจแบ่งได้หลายกรณี ได้แก่ กรณีเงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศไทยทำในนามบุคคลธรรมดาจะเก็บภาษีได้ก็ต้องอยู่ประเทศไทย 180 วันและต้องนำเงินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีที่ได้รับเงิน ตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร โดยในบางกรณีธุรกิจ e-Service อาจจะทำในนามบุคคลธรรมดาซึ่งมีโอกาสอยู่ประเทศไทยเกิน 180 วันย่อมเป็นไปไม่ได้ อีกกรณีคือกรณีบริษัทต่างประเทศที่ไม่ได้ประกอบกิจการในไทยและเป็นการจ่ายเงินได้ประเภท 2 – 6 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ธุรกิจ e-Service ใช้ได้กับกรณีเงินได้ประเภทที่ 8 แต่การที่จะแก้ไขเฉพาะมาตรา 70 ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น ปัญหาในการตีความกฎหมายในเรื่องค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับ e-Service นอกจากนี้บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้ที่ชำระเงินในประเทศต้องหักเงินส่ง และยังอยู่ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับบางประเทศและรายได้ที่ประเทศถิ่นที่อยู่ต้องนำเก็บก็มีเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย ค่าสิทธิ และเงินปันผลเท่านั้น
ดังนั้น เมื่อไม่สามารถดำเนินการเก็บภาษี e-Service ผ่านทั้งสองกรณีได้ ก็ต้องใช้กรณีของภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยก่อนที่กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กันยายน 2564 นี้ ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจ e-Service นั้น ปกติแล้วผู้ประกอบการจะไม่ได้ประกอบกิจการในราชอาณาจักรจึงเก็บจากผู้ประกอบกิจการจากต่างประเทศเหล่านี้ไม่ได้ ทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับนิยามคำว่า “สินค้า” ในเรื่องทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างว่ารวมถึงธุรกิจ e-Service หรือไม่ ซึ่งโดยสภาพแล้วไม่สามารถผ่านกระบวนการทางศุลกากรได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขนิยามคำว่า “บริการ” ให้กว้างขึ้นโดยรวมธุรกิจ e-Service ไปด้วย ดังนั้น หากยังคงให้ e-Service เป็นสินค้าอยู่ตามกฎหมายเดิมจะไม่สามารถเก็บภาษีได้นั่นเอง
ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่ให้บริการแก่ “ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม” ในประเทศไทย จะต้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาท โดยในกรณีนิติบุคคลคือรอบระยะเวลาบัญชีหรือในกรณีบุคคลธรรมดาคือหนึ่งปีปฏิทิน (มาตรา 85/20) และต้องมีหน้าที่ใมนการนำส่งภาษีขายเอง โดยให้คำนวณภาษีขายอย่างเดียวไม่ให้หักด้วยภาษีซื้อ (มาตรา 82/13 วรรค 2 และ 3) และไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี (มาตรา 86/1(1/1)) ส่วนผู้รับภาระในภาษีขายขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกรรมระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการว่าจะตกลงให้ฝ่ายใดเป็นผู้ที่จะรับภาระภาษีดังกล่าว
ส่วนการจัดทำรายงานภาษีขายตามแบบที่กรมสรรพากรกำหนด (ไม่ต้องนำส่งกรมสรรรพากร) การลงรายในรายงานภาษีขายให้ลงภายใน 3 วัน ทำการนับแต่วันที่ได้ให้บริการและเก็บและรักษารายงานภาษีขายพร้อมทั้งเอกสารประกอบการลงรายงานไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้ทำรายงาน (มาตรา 87/1 ประกอบประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239))
คุณจิตรา ณีศะนันท์ ผู้อำนวยการกองสำรวจและติดตามธุรกิจนอกระบบ กรมสรรพากร (วิทยากร) :
ที่มาของกฎหมายแก้ไขกฎหมาย เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจ e-Service ของประเทศไทยยังไม่เติบโตและไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศได้ เพราะปัญหาทางภาษี โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มก็เป็นอุปสรรคประการหนึ่งที่ รวมถึงค่าต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ประกอบการไทยอีกด้วย จึงมีความจำเป็นต้องทบทวนระบบกฎหมายภาษีไทยเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการแข่งขันทางการค้าของประกอบการไทย
นอกจากนี้ ถ้าพิจารณาจากมุมของกรมสรรพากร สามารถจัดเก็บภาษีได้สะดวกและมีประสิทธิภาพขึ้นโดยแทนที่จะตามเก็บภาษีจากผู้ใช้บริการ ก็มาเก็บจากผู้ประกอบการแทน
การจัดเก็บภาษี e-Service ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมากกว่า 60 ประเทศที่มีการเก็บภาษีดังกล่าว แต่จากการศึกษาพบว่าหัวใจสำคัญของการจัดเก็บภาษี e-Service คือระบบการปฏิบัติตามกฎหมายต้องสะดวกและง่ายต่อการเข้าถึงในระยะทางไกล โดยกรมสรรพากรมีระบบ VAT for Electronic Service (VES) ซึ่งเป็นระบบงานสำหรับผู้ประกอบการ e-Service ต่างประเทศที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์กับลูกค้ารายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยให้เข้ามาจดทะเบียนทางออนไลน์กับกรมสรรพากร รวมทั้งการยื่นแบบและการชำระภาษีทำผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ได้อยู่ในประเทศไทย
การบังคับใช้กฎหมายใหม่ เนื่องจากการทำธุรกรรมส่วนใหญ่ทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จึงสามารถตรวจสอบร่องรอบธรุกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนั้น กรมสรรพากรจึงไม่กังวลในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ e-Service รายใหญ่ส่วนมากให้ความสำคัญกับ “ความน่าเชื่อถือขององค์กร” กล่าวคือหากปรากฏว่าองค์กรไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายก็อาจเสียชื่อเสียงอันจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจได้ อีกนัยคือผู้ประกอบการมีความประสงค์ที่จะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว ขอแต่เพียงระบบการปฏิบัติตามกฎหมายสะดวกและเข้าถึงได้ ส่วนในกรณีที่พบว่าผู้ให้บริการต่างประเทศไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากประเทศไทยเป็นภาคีกับ The Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters โดยมีความตกลงกันว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และการให้ความช่วยเหลือในการบริหารจัดการภาษีระหว่างกัน โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษี โดยสามารถให้ต่างประเทศช่วยให้ติดตามภาษีในกรณีดังกล่าวได้นั่นเอง
อาจารย์ธนภูมิ จันทร์สว่าง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายภาษี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
ในช่วงท้ายได้กล่าวถึงประเด็นทางภาษีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นั่นคือเรื่อง “Digital Service Tax” ซึ่งจะมีความแตกต่างกับ e-Service Tax โดยอาจต้องรอดูกันต่อไปว่าประชาคมโลกจะมีความเห็นต่อภาษีประเภทใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้อย่างไร และศูนย์กฎหมายภาษี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจจะได้มีการจัดงานเสวนาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหา Digital Service Tax กันต่อไปในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ศิริคุณโชติ (อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายภาษี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
การตรากฎหมายใหม่ควรที่จะทำการสื่อสารให้มีความชัดเจนแก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าว หน่วยงานรัฐก็ควรที่จะทำคำชี้แจงประกอบกับการตรากฎหมายนั้น เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียได้เข้าใจกฎหมายใหม่ในเบื้องต้น และจะได้เตรียมตัวสำหรับผลกระทบที่จะตามมา อันเป็นการเสริมสร้างความสมัครใจในการเสียภาษีได้ดีกว่าการให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องทำผิดกฎหมายและมาปราบปรามหรือประเมินภาษีย้อนหลังทั้งที่บางส่วนรัฐบาลก็มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบเนื่องจากไม่ได้ดำเนินการชี้แจงกฎหมายให้สาธารณะได้เข้าใจนั่นเอง
คำถามจากผู้เข้าร่วมการสัมมนา
คำถาม (1) : ผู้ประกอบการต่างประเทศที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทางกรมสรรพกรจะมีการตรวจที่ตั้งสถานประกอบการเช่นเดียวกับมาตรา 77/1 (20) หรือไม่
คุณจิตรา ณีศะนันท์ : กลุ่มเป้าหมายตามกฎหมายฉบับใหม่ผู้ให้บริการ e-Service ที่เป็นผู้ประกอบการต่างประเทศ จึงให้มีการยืนยันตัวตนด้วยหนังสือจัดตั้งบริษัทเป็นหลัก
คำถาม (2) : เดิมทีผู้ประกอบการมีหน้าที่นำส่ง VAT (ภพ.36) อยู่แล้ว ยังจะต้องนำส่งตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่หรือไม่
คุณจิตรา ณีศะนันท์ : ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มยังคงมีหน้าที่ตามกฎหมายเหมือนเดิม
คำถาม (3) : การกำหนดหน้าที่ให้ผู้ใช้บริการมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (การนำเข้าบริการจากต่างประเทศ) เป็นการเพิ่มภาระหรือไม่
คุณจิตรา ณีศะนันท์ : เนื่องสภาพการประกอบกิจการเปลี่ยนแปลงไปและมีการพึ่งพาระบบดิจิทัลมากขึ้น ตามกฎหมายเดิม ผู้ที่รู้ถึงหน้าที่การนำภาษีมูลค่าเพิ่มส่งแก่กรมสรรพากรส่วนใหญ่คือผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ผู้บริโภคโดยทั่วไปไม่รู้ว่าตนเองมีหน้าที่แม้กฎหมายจะได้กำหนดหน้าที่ไว้ก็ตาม ต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายจึงสูงกว่าหน้าที่ทางภาษี วิธีการจัดเก็บและชำระภาษีแบบเดิมจึงไม่เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี กฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้จึงมีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดเก็บและชำระภาษี ทั้งยังไม่เป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ให้แก่ประชาชนเนื่องจากกฎหมายได้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศเป็นผู้มีหน้าที่นี้แทน
คำถาม (4) : ผู้ให้บริการจากต่างประเทศจะทราบหรือไม่ว่าผู้ประกอบการรายใดที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
คุณจิตรา ณีศะนันท์ : ในส่วนแรก เป็นกรณีเกี่ยวกับการยืนยันตัวจนของลูกค่าว่าเป็นผู้ประกอบการที่จดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ โดยการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์จะมีความรับผิดทางอาญาได้ และเว็บไซต์กรมสรรพากรสามารถเข้าตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการได้ แต่ในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ได้แจ้งว่าตนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ให้บริการต่างประเทศก็ตามขอติดตามสอบถามจากกรมสรรพากรได้ นอกจากนี้ กรมสรรพากรใช้วิธีการแจ้งรายชื่อต่อสาธารณชน (White Lists) ว่าผู้ให้บริการต่างประเทศรายใดได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร
คำถาม (5) : ถ้าผู้ใช้บริการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน แต่ไม่ได้แจ้งให้ผู้ให้บริการต่างประเทศทราบจึงถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไป ผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องยื่นนำส่ง VAT (ภพ.36) อีกรอบหรือไม่
คุณจิตรา ณีศะนันท์ : เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดหน้าที่ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น ควรแสดงข้อมูลของตนเองให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อไม่ให้ถูกเก็บภาษีซ้ำนั่นเอง
คำถาม (6) : การแบ่งประเภท “สินค้า” ในกรณีทรัพย์สินดิจิทัลที่ไม่มีรูปร่าง (intangible digital product) ตามมาตรา 77/1 (9) ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 ไม่ได้รวมถึงสินค้าที่ส่งผ่านอินเทอร์เน็ต (Digital product) ที่เป็นธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Transaction) (เช่น Bitcoin หรือ Cryptocurrency) ใช่หรือไม่
คุณจิตรา ณีศะนันท์ : ในกรณีของ สินค้าที่ส่งผ่านอินเทอร์เน็ต (Digital Product) เช่น Bitcoin กรมสรรพกากรกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ โดยในอีกสักระยะขอให้ผู้ที่สนใจติดตามเรื่องดังกล่าวได้ที่ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
อาจารย์กำธร สิริชูติวงศ์ : เห็นว่า กรณีตามมาตรา 77/1 (9) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่รวมถึงตัวสินค้าที่ส่งผ่านทางอินเทอร์เน็ตแต่อย่างใด
อาจารย์ ดร.ภัทรวัณย์ จงจิตต์ : เสริมว่า กรณีนี้ควรแยกระหว่าง “แพลตฟอร์มที่ให้บริการ” กับ “ตัวสินค้า” กล่าวคือ “ตัวสินค้าหรือหลักทรัพย์ดิจิทัล” อาจต้องรอฟังความเห็นจากกรมสรรพากร ส่วนแพลตฟอร์มที่ให้บริการจะอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่นี้