สรุปสาระสำคัญจากโครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ถอดบทเรียนทางกฎหมายจากคดีอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์” จัดโดย ศูนย์นิติศาสตร์ร่วมกับศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องศาลจำลอง มารุต บุนนาค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายวีระศักดิ์ ทัพขวา หัวหน้าสำนักงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายเสกสรร สุขแสง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม กรมบังคับคดี
ผู้ดำเนินรายการ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ / ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร / อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินการเสวนา)
- อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พิธีกร)
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายอานนท์ แก้วปัญญา นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
อาจารย์ ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา และกรรมการฝ่ายวิชาการ ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พิธีกร)
อ.ดิศรณ์ กล่าวรายงานว่า ตามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มอบหมายให้สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ เป็นคณะกรรมการกฎหมายเพื่อดูแลคดีเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่ทางด่วนโทลล์เวย์ในการดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งจากกรณีอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งปัจจุบันการดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาได้เป็นที่สิ้นสุดลงแล้วซึ่งใช้ระยะเวลามากกว่า 8 ปี โดยที่ในการดำเนินคดีดังกล่าวมีประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญและน่าสนใจหลายประการรวมถึงกระบวนการบังคับคดีตามคำพิพากษา ทั้งนี้ การจัดเสวนาดังกล่าวได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานมีความเข้ารู้ความเข้าใจในขั้นตอนการดำเนินคดีอาญากรณีที่ผู้เยาว์กระทำความผิด การกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติระหว่างรอการลงโทษ การดำเนินคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องคดีอาญา การฟ้องผู้ที่ต้องร่วมรับผิดในค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง และขอบเขตความรับผิดตามกฎหมาย อำนาจหน้าที่ของกรมบังคับคดี หลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการและระยะเวลาบังคับคดีตามคำพิพากษารวมถึงปัญหาและอุปสรรครวมถึงความล่าช้าในการดำเนินคดี ดังนั้นศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในความร่วมมือของศูนย์กฎหมายแพ่ง จึงได้จัดงานเสวนานี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและให้ความรู้แก่นักศึกษา อาจารย์ นักกฎหมาย ทนายความ และผู้ที่สนใจทั่วไป โดยที่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและเป็นการเผยแพร่กฎหมายตลอดจนก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางกฎหมายสืบไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ประธานในการกล่าวเปิดงาน)
ผศ.ดร.ต่อพงศ์ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากคณบดีให้มาเป็นตัวแทนกล่าวเปิดงาน ซึ่งตนเชื่อว่าทุกท่านทราบจากข่าวเป็นอย่างดีเกี่ยวกับคดีอุบัติเหตุบททางด่วนที่ใช้ระยะเวลายาวนานซึ่งได้ยุติลงแล้วทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีทางศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่ประสบเหตุ ในการดำเนินการตลอดระยะเวลาว่าตนเชื่อว่าทางศูนย์นิติศาสตร์และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านได้ใช้ความรู้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือผู้ที่ประสบเหตุทุกท่าน และท้ายที่สุดคดีดังกล่าวก็ยุติลงไปได้ด้วยดี ซึ่งในวันนี้กิจกรรมที่จัดขึ้นจะมีลักษณะของการถอดบทเรียนรวมถึงการเผยแพร่กฎหมายซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่งของศูนย์นิติศาสตร์ ทั้งนี้ ในนามของคณบดีและคณะนิติศาสตร์ขอบคุณวิทยากรและผู้ที่ช่วยเหลือผู้เสียหายทุกท่าน ทั้งนี้ ตนเชื่อว่ากิจกรรมวันนี้จะเป็นประโยชน์ให้แก่ทุกท่าน
(กลางในภาพ) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร และอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินการเสวนา (ผู้ดำเนินการเสวนา)
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวถึงข้อเท็จจริงของคดีนี้สรุปโดยย่อว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2553 รถตู้โดยสารที่ได้รับสัมปทานจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์ ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บ 5 ราย และเสียชีวิตทั้งหมด 9 ราย โดยที่คดีดังกล่าวได้มีการฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งในคดีอาญาได้ยุติลงแล้วโดยศาลได้พิพากษาจำคุกแต่รอลงอาญาเอาไว้ ส่วนในคดีแพ่งนั้นเดิมทีมีจำเลยทั้งสิ้น 7 ราย โดยที่ผู้ขับรถยนต์เป็นจำเลยที่ 1 บิดามารดาของผู้ขับเป็นจำเลยที่ 2-3 ผู้ให้ยืมรถยนต์เป็นจำเลยที่ 4 ผู้เช่าซื้อรถยนต์เป็นจำเลยที่ 6 ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นสามีของจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้นำรถไปฝากไว้กับจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 7 เป็นบริษัทประกันภัย แต่อย่างไรก็ดี จำเลยที่ 7 ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจำนวน 10 ล้านบาท ตามที่จำเลยที่ 5-6 ได้เอาประกันไว้ ให้แก่ผู้เสียหาย โจทก์จึงได้ถอนฟ้องจำเลยที่ 5-7 ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์จำเลยที่ 1-4 ต่อศาลอุทธรณ์ ในขณะเดียวกันฝ่ายจำเลยที่ 1-4 ก็ได้ยื่นอุทธรณ์เช่นกัน ในประเด็นเรื่องของจำนวนค่าสินไหมทดแทน ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาโดยพิพากษาแก้ให้ลดค่าสินไหมทดแทนจากที่ศาลชั้นต้นได้เคยพิพากษาเอาไว้ ต่อมาโจทก์ได้ใช้สิทธิฎีกาต่อศาลฎีกา จนกระทั่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาฎีกาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 โดยพิพากษาให้จำเลยที่ 1-4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์โดยที่จำเลยแต่ละรายนั้นจะมีวงเงินที่ไม่เท่ากันเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 25 ล้านบาท หากรวมดอกเบี้ยจะเป็นเงินประมาณ 41-42 ล้านบาท
เนื่องจากบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้มีคำสั่งให้ศูนย์นิติศาสตร์เข้ามาดูแลคดีนี้ โดยที่ภารกิจของศูนย์นิติศาสตร์นั้นมีหน้าที่ให้คำปรึกษาทางด้านข้อกฎหมายทุกช่องทางตลอดจนให้ความช่วยเหลือทางด้านอรรถคดีภายใต้เงื่อนไข เช่น ผู้ยากไร้ เป็นต้น แต่คดีนี้เป็นคดีเชิงนโยบายและมีผู้เสียหายที่เป็นบุคคลากรของมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ทางศูนย์นิติศาสตร์จึงดำเนินการให้ผู้เสียหายทั้งหมด
(ซ้ายในภาพ) นายวีระศักดิ์ ทัพขวา หัวหน้าสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
นายวีระศักดิ์ อธิบายประเด็นเรื่องหลักเกณฑ์การเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายอื่น ๆ ในกรณีละเมิด รวมทั้งขอบเขตความรับผิดทางละเมิด ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินคดีและบังคับคดี ดังนี้
1. ประเด็นเรื่องการเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายอื่น ๆ ในกรณีละเมิด และการใช้ดุลพินิจของศาลในการกำหนดค่าเสียหาย
1.1 การตั้งประเด็นว่าจะสามารถฟ้องใครได้บ้าง
กรณีที่ผู้ขับขี่รถยนต์นั้นมีอายุ 16 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นผู้เยาว์ และไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ เป็นผู้การทำละเมิด จากการรวบรวมพยานหลักฐานตามข้อเท็จจริง บุคคลที่จะต้องร่วมรับผิด เห็นว่ามี 6 คน กับ 1 บริษัท คือ บิดามารดาซึ่งเป็นจำเลยที่ 2-3 จำเลยที่ 4 เป็นผู้ที่รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกับกับเลยที่ 1 เนื่องว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ดูแลรถยนต์ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 5-6 ซึ่งจำเลยที่ 4 ได้รับฝากรถโดยที่ไม่มีค่าบำเหน็จ และจำเลยที่ 5-6 เป็นสามีภริยากัน โดยที่จำเลยที่ 6 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันที่เกิดเหตุ โดยเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 7 และจำเลย 5 สามีของจำเลยที่ 6 เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ของจำเลยที่ 6
การที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าของรถยนต์ทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับของผู้ประสบภัยจากรถ การดำเนินคดีได้คำนึงถึงการเยียวยาความเสียหายเป็นสำคัญ
ขั้นแรก ขอรับค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
ขั้นที่สอง ขอรับการเยียวยาจากหน่วยงานต้นสังกัดเนื่องจากว่าปกตินักศึกษาจะมีการทำประกันอุบัติเหตุให้
ขั้นที่สาม ขอรับค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัย ได้แก่ ผู้รับประกันภัยรถตู้และรถเก๋งคันที่ขับมาเฉี่ยวชน โดยได้มีการจ่ายเงินรอบแรกในเดือนเมษายน 2554 และได้มีการเยียวยาในช่วงหลังเป็นลำดับ
1.2 ประเด็นเรื่องของการเรียกค่าเสียหายว่าเรียกค่าเสียหายอะไรได้บ้าง
กรณีผู้เสียชีวิต ได้แก่ ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพ ค่าขาดไร้อุปการะเนื่องจากผู้เสียชีวิตทั้ง 9 นั้นมีบุคคลที่มีหน้าที่จะต้องอุปการะ โดยการคิดค่าขาดไร้อุปการะนั้นคิดจากฐานที่ว่าบิดามารดามีหน้าที่เลี้ยงดูบุตรในขณะเดียวกันบุตรย่อมมีหน้าที่เลี้ยงดูบิดามารดาดุจกัน สามีภริยามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันซึ่งเป็นฐานทางกฎหมาย ฉะนั้นเมื่อผู้เสียชีวิตไม่มีโอกาสมาทำหน้าที่ดังกล่าวแล้วผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นถือได้ว่าย่อมได้รับความเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะด้วย ตลอดจนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต
กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บ ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์จากการทำงาน เช่น ก่อนเกิดเหตุมีความสามารถในการทำมาหาได้แต่หลังจากเกิดเหตุไม่สามารถทำงานเช่นว่านั้นได้ เป็นต้น และค่าเสียหายที่ไม่เป็นตัวเงินหรือว่าค่าเสียหายที่ไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ เช่น ในช่วงที่บาดเจ็บสาหัสจะต้องเข้ารับรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลา 2-3 เดือนหรือเกินกว่านั้น จะต้องเจ็บปวดทุกขเวทนา เป็นต้น ทั้งนี้มีกฎหมายรองรับ ตลอดจนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินของผู้บาดเจ็บ
1.3 ประเด็นการฟ้องคดี
เนื่องจากมีผู้เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 5 ราย โดยที่บาดเจ็บสาหัส 4 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย รวมเป็น 14 ราย แต่ได้ดำเนินการฟ้องเป็นคดีทั้งสิ้น 13 คดี เนื่องจากผู้ที่บาดเล็กน้อย 1 รายนั้นได้รับการรักษาและบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นให้แล้ว ผู้เสียหายรายดังกล่าวไม่ติดใจที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีเพราะว่าได้รับการรักษาอาการบาดเจ็บจนหายเป็นปรกติแล้ว
1.4 ประเด็นเรื่องหลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าขาดไร้อุปการะ
ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี
- (1) กรณีที่ผู้ที่ทำงาน พิจารณาจากอายุขณะที่เกิดเหตุแล้วนับไปจนกระทั่งถึงอายุที่จะเกษียณจากการทำงานครบ 60 ปี นั้นมีระยะเวลาเท่าใด ประกอบกับรายได้ ณ ขณะเกิดเหตุโดยคิดอัตราก้าวหน้าร้อยละ 5 ต่อปีไปจนกว่าจะเกษียณอายุการทำงาน จากนั้นเมื่อได้ผลรวมแล้วนำมาคำนวณเป็นรายได้เฉลี่ยต่อเดือนและหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวกึ่งหนึ่งและอีกกึ่งหนึ่งเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาคนละครึ่ง
- (2) กรณีผู้ที่ยังไม่ได้ทำงาน พิจารณาจากการที่หากจบการศึกษาแล้วเริ่มทำงานเมื่ออายุ 23-24 ปี โดยเงินเดือนร่วมต้นตามมติคณะรัฐมนตรี คือ 15,000.- บาท โดยคิดอัตราก้าวหน้าที่จะได้รับร้อยละ 5 ต่อปี คำนวณจนถึงทำงานครบ 60 ปี เมื่อได้ผลรวมแล้วทำการเฉลี่ยต่อเดือน หักค่าใช้จ่ายส่วนตัวกึ่งหนึ่งและอีกกึ่งหนึ่งเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาคนละครึ่ง
ซึ่งการคิดคำนวณนั้นจะคิดเป็นแต่ละรายไป ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นนั้นได้มาจากการระดมความคิดของทีมงานซึ่งเป็นการใช้หลักคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์ โดยที่คดีทั้งหมดนั้นได้เรียกค่าเสียหายไปทั้งสิ้น 113 ล้านบาทเศษ เฉพาะต้นเงิน
1.5 ประเด็นการใช้ดุลพินิจของศาลในการกำหนดค่าเสียหาย
- (1) ค่าขาดไร้อุปการะ ซึ่งครอบครัวของผู้เสียหายจะเรียกค่าเสียหายราย 10-12 ล้านบาท โดยคิดจากฐานรายได้ ซึ่งศาลกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้ประมาณ 1 ใน 4 จากที่โจทก์เรียก ซึ่งแต่ละคดีใกล้เคียงกัน แต่หากผู้ตายรายใดมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูมาก ศาลก็จะให้ค่าอุปการะมากกว่ารายอื่น
- (2) ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพ ซึ่งในชั้นการสืบพยานโจทก์ได้แสดงพยานหลักฐานต่อศาลซึ่งศาลก็ได้พิพากษาตามที่จ่ายจริง แต่ว่าในคำพิพากษาของศาลระบุว่า “ในส่วนที่เป็นค่าปลงศพ ค่าจัดการงานศพ ค่าเสียหายที่ได้รับบาดเจ็บ ค่าทรัพย์สินได้รับความเสียหาย” ส่วนใหญ่จะวินิจฉัยในศาลชั้นต้น
- (3) ค่ารักษาพยาบาล ศาลพิพากษาตามที่ได้จ่ายจริง แต่ว่าส่วนหนึ่งตามที่เรียกไปนั้นก็ไม่ได้เต็มตามจำนวนเพราะว่าศาลเห็นว่าค่ารักษาพยาบาลที่ได้เสนอต่อศาลเป็นค่าเสียหายในส่วนที่ประกันภัยได้จ่าย ศาลจึงไม่พิพากษาให้เต็มตามจำนวนในส่วนนี้ ซึ่งศาลจะให้ในส่วนที่ผู้เสียหายได้จ่ายจริง
- (4) ค่าเสียหายในส่วนที่ต้องทนทุกข์ทรมาน (ค่าเสียหายอันไม่อาจจำนวนเป็นเงินได้) ศาลกำหนดให้ไม่เต็มตามคำขอท้ายฟ้องซึ่งศาลได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์โดยปกติคือ อาการบาดเจ็บที่ได้รับ ระยะเวลาพักฟื้นตัว ประกอบกับพฤติการณ์ความร้ายแรงของละเมิด
2. ประเด็นเรื่องของขอบเขตความรับผิดของจำเลยแต่ละคนในคดีว่าจะต้องรับผิดอย่างไร
- (1) จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เยาว์ แม้เป็นผู้เยาว์ตามหลักเรื่องละเมิดแล้วผู้ทำละเมิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ว่าจำเลยที่ 1 นั้นยังเป็นเยาวชนย่อมไม่มีเงินที่จะใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ รวมทั้งจำเลยที่ 2-3 บิดามารดาของจำเลยที่ 1 ซึ่งทั้งสามให้การต่อสู้คดี ทั้งนี้ ในคดีอาญาเป็นที่ยุติโดยเป็นที่สุดข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 ประมาทย่อมต้องฟังตามคดีถึงที่สุดของศาลอุทธรณ์ซึ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตและได้รับอันตรายสาหัส เพราะฉะนั้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิด
- (2) จำเลยที่ 2-3 ในฐานะบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ซึ่งสาเหตุที่จำเลยที่ 2-3 ในฐานะบิดามารดาต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 (บุตร) นั้น ในชั้นพิจารณาได้มีการต่อสู้คดีแต่ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 (มารดา) ขาดนัดยื่นคำให้การ เมื่อโจทก์ได้ขอศาลรวมการพิจารณาคดีแล้วก็ได้ยื่นคำแถลงขอคัดค้านคำร้องขอยื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 และในวันไต่สวนคำร้องศาลได้สอบถามโจทก์ซึ่งโจทก์ได้ยืนยันตามคำแถลงคัดค้านว่า “การที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การนั้นเป็นไปโดยจงใจและเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง” ซึ่งศาลได้พิจารณายกคำร้องของจำเลยทำให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิที่จะนำพยานเข้าสืบ และเมื่อชั้นสืบพยานจำเลยที่ 2 (บิดา) จะต้องสืบพยานโดยการเบิกความว่าไม่ได้ประมาทโดยการปล่อยปละละเลยจำเลยที่ 1 (บุตร) ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ขอส่งเอกสารต่อศาลแทนการสืบพยาน(ภาพถ่ายพยานวัตถุ) เมื่อได้ยื่นขอส่งเอกสารต่อศาลในวันสืบพยาน โจทก์ได้ทำการคัดค้านต่อศาลว่าเป็นการจู่โจมไม่ให้โอกาสแก่ทนายโจทก์ให้มีเวลาศึกษาเพื่อการซักค้าน การที่ทนายจำเลยที่ 3 ได้ยื่นขอส่งเอกสารและไม่นำจำเลยที่ 2 ในฐานะพยานมาสืบพยาน และแถลงประกอบคำร้องที่ขอส่งเอกสารโดยไม่ติดใจสืบพยาน เมื่อโจทก์ก็คัดค้านประกอบกับศาลรับฟังโจทก์จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยไม่อนุญาตให้ส่งพยานเอกสาร ส่งผลให้จำเลยที่ 1-3 ไม่มีสิทธิสืบพยาน ทั้งนี้ การคัดค้านดังกล่าวนี้เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาความเสียหาย
- (3) จำเลยที่ 4 เป็นคนสนิทและคุ้นเคยกับจำเลยที่ 1 แต่ไม่ใช่ผู้ครอบครองหรือเจ้าของหรือผู้เอาประกันรถยนต์คันที่เกิดเหตุ โดยข้อเท็จจริงจำเลยที่ 4 ได้คอยไปรับส่งจำเลยที่ 1 ที่บ้านโดยที่จำเลยที่ 2-3 บิดามารดาของจำเลยที่ 1 อนุญาตยินยอมให้มาด้วย โจทก์ตั้งเรื่องว่าจำเลยที่ 4 ได้ปล่อยปละละเลยจำเลยที่ 1 ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า “โดยที่ในบริเวณห้างสรรพสินค้าจำเลยที่ 4 ติดเครื่องยนต์อยู่เพื่อที่จะไปเอาของที่ท้ายรถในขณะนั้นเองจำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนมานั่งตรงที่คนขับแล้วบอกแก่จำเลยที่ 4 ว่าขอนำรถไปธุระ” ทั้งนี้ โจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงบันทึกคำให้การของพนักงานสอบสวน บันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 1 สรุปได้ว่า เยาวชนที่เอารถไปขับอายุ 16 ปีกว่าและยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่และจำเลยที่ 4 ไม่ห้ามปรามทั้งที่อยู่ในวิสัยที่ห้ามปรามได้ และขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดด้วย ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 โดยให้เหตุผลว่า “ถึงแม้จำเลยที่ 4 จะยินยอมให้จำเลยที่ 1 เอารถไปใช้จนเกิดเหตุแต่เป็นเรื่องที่คาดหมายไม่ได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 ขับขี่รถยนต์นั้นจะต้องขับไปเฉี่ยวชนเสมอไป” และที่สำคัญศาลได้ให้เหตุผลว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลจากการที่จำเลยที่ 4 ยินยอมให้ใช้รถไป”
- แต่อย่างก็ตาม โจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ 11 ได้อุทธรณ์ในประเด็นเรื่องการกำหนดค่าเสียหายและประเด็นความรับผิดของจำเลยที่ 4 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับผิดกับจำเลยที่ 1-3 ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้ว่า “การที่จำเลยที่ 4 ได้ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 เอารถไปขับโดยรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเด็กไม่มีใบอนุญาตขับขี่ต่อมาเกิดรถเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้เกิดคนตายและบาดเจ็บถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ประมาทเลินเล่อ” ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ จำเลยที่ 4 ได้ยื่นฎีกาว่า “ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายมาตราใดที่กำหนดให้จำเลยที่ 4 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับยกฟ้องจำเลยที่ 4” ปรากฏว่าศาลฎีกาวินิจฉัยว่าอย่างน่าสนใจเพราะว่าศาลไม่ได้ตัดสินไปตามมาตรา 420 ในเรื่องประมาทเลินเล่อตามที่ทนายโจทก์ได้ตั้งรูปคดีเอาไว้ แต่อย่างไรก็ตามโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดข้อเท็จจริงเอาไว้และได้ขอให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิด ซึ่งศาลฎีกาได้ปรับใช้มาตรา 430 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีสาระสำคัญว่า “ผู้รับดูแลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิจหรือชั่วคราวก็ดีต้องร่วมรับผิดกับผลแห่งละเมิด” การที่จำเลยที่ 4 ไปรับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2-3 บิดามารดายินยอมนั้นถือว่าจำเลยที่ 2-3 ยินยอมให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้ใช้อำนาจดูแลแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดเหตุละเมิดและเกิดความเสียหายจำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย
- (4) จำเลยที่ 5-7 แม้ว่ามีการต่อสู้คดีมาตั้งแต่ต้นซึ่งปกติแล้วย่อมต้องมีหน้าที่ในการสืบพยาน แต่เนื่องจากในการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2556 ตัวแทนของบริษัท นวกิจประกันภัย ในฐานะผู้รับประกันภัย จำเลยที่ 7 ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายโดยไม่ต้องรอให้คดีแพ่งถึงที่สุด โดยได้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นโดยบริษัทประกันภัยในเดือนเมษายน 2554 ภาคบังคับและภาคสมัครใจมาบางส่วนแล้ว และได้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในงวดหลังโดยได้มีการจ่ายเต็มวงเงินที่เอาประกันภัย 10 ล้านบาท ด้วยเหตุดังกล่าวนี้โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5-7 เพราะได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาประกันภัย
3. ประเด็นปัญหาอุปสรรคและความล่าช้าในการดำเนินงาน
สาเหตุที่ทำให้การดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาที่ล้าช้าถึง 9 ปี หลังเกิดเหตุ เนื่องจาก
ในคดีอาญาเมื่อพนักงานสอบสวนเสร็จส่งสำนวนให้พนักงานอัยการใช้ระยะเวลา 6 เดือนจึงยื่นฟ้องต่อศาลประมาณกลางปี 2554 และทางผู้เสียได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา คู่ความทั้งสองฝ่ายอุทธรณ์ ต่อมาในปี 2556 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษา จำเลยยังยื่นฎีกาต่อศาลชั้นต้นซึ่งได้มีคำสั่งว่าไม่รับฎีกาจำเลยจึงได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยต่อศาลฎีกาซึ่งท้ายที่สุดเดือนธันวาคม 2557 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย
ในคดีแพ่งผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องปลายปี 2554 ในส่วนของประเด็นเรื่องค่าเสียหาย แต่ว่ามีช่วงระยะเวลาหนึ่งจะต้องมีการจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลคดีอาญาที่ฟ้องไปก่อนหน้านี้ เมื่อคดีอาญาเป็นที่สิ้นสุดปลายปี 2557 ต้นปี 2558 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลยกคดีแพ่งที่ได้มีการจำหน่ายคดีชั่วคราวขึ้นพิจารณาคดีต่อ ซึ่งปลายปี 2558 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษา ซึ่งจำเลยอุทธรณ์และปลายปี 2559 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษา แต่อย่างไรก็ตาม คู่ความทั้งสองฝ่ายได้ยื่นฎีกาและศาลได้มีคำพิพากษาต้นปี 2562 แต่ว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562
ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
ศ.ณรงค์ กล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีอาญากรณีที่ผู้เยาว์กระทำความผิด ตลอดจนความรับของบิดามารดาต่อการกระทำความผิดของผู้เยาว์ในคดีอาญา รวมทั้งการขอค่าเสียหายในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา และการกำหนดเงื่อนไขในการคุมประพฤติระหว่างการรอการลงโทษซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ กล่าวคือ
1. ประเด็นเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีอาญากรณีที่ผู้เยาว์กระทำ
คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ซึ่งในคดีอาญาซึ่งผู้เยาว์เป็นจำเลยนั้นมีความแตกต่างจากการดำเนินคดอาญาของบุคคลทั่วไป กล่าวคือ คดีที่เยาวชนเป็นผู้กระทำความผิดซึ่งกฎหมายอาญานั้นไม่ได้เหมือนกฎหมายแพ่ง เนื่องจากมีจุดต่างตรงที่หลายประการ
- (1) ความเป็นผู้เยาว์ ในคดีแพ่งผู้เยาว์อายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าเป็นคดีอาญาจะต้องไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ในวันกระทำความผิด (หลักจากการแก้ไขกฎหมายครั้งล่าสุดกฎหมายกำหนดว่าจะต้องเกิน 15 ปีขึ้นไป) ซึ่งในคดีดังกล่าวนี้ยังต้องถือว่าผู้กระทำเป็นเยาวชน
- (2) การฟ้องคดีอาญานั้นมี 2 รูปแบบ กล่าวคือ แบบที่หนึ่งคือให้อัยการเป็นผู้ฟ้องคดีซึ่งจะต้องเริ่มที่การสอบสวนคดีอาญาโดยเจ้าพนักงานสอบสวนแล้วส่งเรื่องไปยังพนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้อง แบบที่สองคือผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอง
แต่อย่างไรก็ตาม ในคดีของเยาวชนนั้น พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 นั้นกำหนดว่ากรณีที่ผู้เสียหายจะฟ้องคดีจะทำไม่ได้ จะต้องมีเงื่อนไขว่าต้องมีการขออนุญาตฟ้องจากผู้อำนวยการสถานพินิจ
ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้ดำเนินการขออนุญาตดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะเห็นว่าในการฟ้องให้เป็นไปตามครรลองโดยให้อัยการเป็นผู้ยื่นฟ้อง และผู้เสียหายจะฟ้องด้วยเพื่อที่จะเป็นการเสริมในการสืบพยานคดีอาญาของคดีเดียวกัน ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลือกใช้โดยไม่ได้เลือกทางที่เป็นการฟ้องเองต่างหากโดยการขออนุญาต แต่ผู้เสียหายได้ฟ้องโดยขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการตามมาตรา 43 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) ซึ่งการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั่นเป็นการฟ้องคดีจึงต้องดำเนินการขออนุญาตฟ้องจากผู้อำนวยการสถานพินิจซึ่งก็ได้รับอนุญาต
ในการดำเนินคดีอาญาของเยาวชนซึ่งมีแนวความคิดในวิธีการดำเนินการของเยาวชนในคดีอาญาเป้าหมายสำคัญ คือ “ไม่ต้องการที่จะลงโทษ ควบคุม” ฉะนั้นในกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าวของศาลเยาวชนฯ ซึ่งผู้เสียหายมีเป้าประสงค์ในการเข้าไปเป็นโจทก์ร่วมเพื่อที่จะนำเสนอพยานหลักฐานร่วมกับพนักงานอัยการ โดยที่กลไกซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ คือ
ประการที่หนึ่ง จำเลยกระทำโดยประมาทหรือไม่
ประการที่สอง การกระทำของจำเลยที่ประมาทนั้นประมาทอย่างไร
ทั้งนี้ เนื่องจากคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญากฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 46 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีสาระสำคัญว่า “ศาลแพ่งจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญา” ฉะนั้น ถ้าข้อเท็จจริงในคดีอาญาสามารถที่จะชี้ชัดหรือศาลมีคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดว่าการกระของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาท ศาลในคดีแพ่งจะพิจารณาในเรื่องความรับผิดในคดีละเมิด
นอกจากนี้ ในกระบวนพิจารณาในคดีเยาวชนจะกำหนดขั้นตอน ดังนี้ ขั้นแรกการไม่ฟ้องโดยให้คุมประพฤติ หรือ ขั้นที่สองแม้ว่ามีการฟ้องคดีแล้วไม่ตัดสินคดีได้หรือไม่โดยให้คุมประพฤติ หรือ ขั้นที่สามแม้แต่ศาลพิพากษาแล้วว่ามีความผิดไม่จำคุกได้หรือไม่โดยให้คุมประพฤติ ทั้งสามขั้นตอนนี้ทำให้เด็กนั้นหลุดจากกระบวนพิจารณาไปได้เสมอโดยที่เป็นเป้าหมายสำคัญของกฎหมายเพราะว่ากฎหมายไม่ต้องการเอาผิดกับเด็กหากเป็นความผิดพลาดของตัวเด็กนั้นให้เป็นเรื่องของการป้องกันไม่ให้ทำซ้ำอีก โดยเน้นเรื่องการปรับพฤติกรรมซึ่งเชื่อว่าเด็กและเยาวชนจะเป็นอนาคตของชาติสืบไป ดังนั้น โดยแนวคิดกฎหมายมุ่งให้ประโยชน์สูงสุดแก่เด็กผู้กระทำความผิดและมีหลายขั้นตอนเพื่อให้เด็กนั้นหลุดจากกระบวนพิจารณาได้
แต่อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้กระบวนการเรื่องเจรจาไกล่เกลี่ยค่าเสียหายเพื่อที่จะไม่ต้องฟ้องคดีอาญาหรือไม่ต้องดำเนินคดีนั้นไม่ประสบความสำเร็จจะทำให้กระบวนพิจารณาไปจนถึงศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำโดยประมาท ทั้งนี้ การที่ศาลตัดสินดังกล่าวจะนำไปสู่การพิจารณาในคดีแพ่ง
2. ความรับของบิดามารดาต่อการกระทำความผิดของผู้เยาว์ในคดีอาญา
การที่พนักงานอัยการในคดีนี้ไม่ได้ยื่นฟ้องผู้ปกครองของเยาวชนด้วยในคดีอาญา เนื่องจากความรับผิดทางอาญานั้นกฎหมายมุ่งประสงค์จะเอาผิดต่อกับการกระทำโดยเจตนากับประมาท ซึ่งประเด็นของบิดามารดาประมาทหรือไม่ที่ให้เยาวชนขับรถโดยประมาทนั้นจะต้องเป็นกรณีของการประมาทที่ไม่ดูแลหรืองดเว้น ซึ่งในคดีอาญาจะแตกต่างจากคดีแพ่งตรงที่ว่า ในคดีอาญานั้นจะต้องได้ความชัดเจนว่ามีการละเลยจริง ๆ ทั้งนี้ ในคดีดังกล่าวนั้นปรากฏว่าข้อเท็จจริงไม่เพียงพอเพราะว่าไม่สามารถรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตร ตลอดจนผู้ที่ครอบครองทำอะไรกันบ้าง ฉะนั้นจึงเป็นข้ออ่อนในแง่ของการฟ้องคดีเนื่องจากการที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอการฟ้องคดีไปยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงศาลอาจจะยกฟ้องได้ ดังนั้นหากฟ้องบิดามารดาเป็นจำเลยร่วมกับเยาวชนในคดีอาญาซึ่งในแง่ของบิดามารดานั้นไม่แน่ใจว่าละเลยหรือไม่ ซึ่งคำพิพากษาของคดีอาญาจะผูกพันคดีแพ่ง หากคดีอาญาพิพากษาไม่มีความรับผิดฐานประมาท ไม่จงใจหรือประมาทเลินเล่อ พอไม่ผูกพันในประเด็นนี้จะทำให้คดีแพ่งบิดามารดาไม่มีความรับผิดไปด้วย ซึ่งจุดเรื่องละเลยเป็นจุดที่ไม่แน่ใจและในคดีอาญานั้นพยานหลักฐานจะต้องชัดเจนว่าประมาทจริง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นพื้นฐานสำคัญเพราะหากไม่มีหลักฐานก็ไม่ฟ้องเพราะว่าคดีอาญาต้องปราศจากข้อสงสัยต้องมีหลักฐาน
กล่าวโดยสรุป ความรับผิดของบิดามารดาตามข้อกฎหมายสามารถรับผิดร่วมได้ซึ่งไม่ใช่ในนามตัวการแต่เป็นเรื่องของประมาทร่วม คือ ต่างคนต่างประมาท ซึ่งประมาทในที่นี้คือการไม่ดูแลให้ดีโดยการปล่อยให้เยาวชนซึ่งไม่มีใบขับขี่ไปขับขี่รถยนต์ แต่ว่าข้อกฎหมายในส่วนนี้จะต้องประกอบข้อเท็จจริงด้วย
3. การขอค่าเสียหายในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา
ประเด็นเรื่องค่าเสียหายในคดีอาญานั้นเดิมทีประเทศไทยแยกฟ้อง มาตรา 44/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งแก้ไขในปี 2548 โดยเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายร้องขอค่าเสียหายมาในคดีเพื่อไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในคดีแพ่งซึ่งสามารถทำได้ แต่ในคดีนี้ไม่ได้ใช้มาตรา 44/1 เพราะว่าการฟ้องคดีไม่ได้ฟ้องเฉพาะผู้เยาว์แต่ฟ้องบิดามารดาตามมาตรา 429 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตลอดจนผู้ครอบครองรถ ซึ่งอายุความนั้น 1 ปี ทั้งนี้ คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องสามารถขยายอายุความได้ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเลือกที่จะฟ้องคดีแพ่งเพื่อป้องกันการขาดอายุความแต่อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติศาลในคดีแพ่งจะรอคำพิพากษาในคดีอาญาซึ่งใช้ระยะเวลานาน แต่อย่างไรก็ดี ศาลในคดีแพ่งก็ให้โจทก์ทำการสืบในประเด็นเรื่องค่าเสียหายไปก่อนเพื่อเป็นการสืบข้อเท็จจริงรอ
ในประเด็นเรื่องค่าเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงิน คือ ค่าเสียหายที่กระทบต่อจิตใจ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายตัวนี้ เช่น การเยียวยาจิตใจของผู้เป็นญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต เป็นต้น
ข้อเสนอแนะของศาสตราจารย์ณรงค์
- (1) กรณีผู้เสียหายในทางอาญาได้รับการดำเนินการเช่นคดีนี้ที่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาครัฐเพื่อดูแลผู้เสียหายตั้งแต่ต้นจนจบ มุมมองในเรื่องของกำลังใจของผู้ประสบเหตุควรที่จะได้รับการเยียวยาหรือดูแลจากคนในสังคม ในบางประเทศได้มีการนำญาติพี่น้องของผู้ประสบเหตุมาเป็นอาสาสมัครมาช่วยดูแล ซึ่งน่าจะมีศูนย์แบบศูนย์นิติศาสตร์นี้โดยที่กระทรวงยุติธรรมก็ได้มีโครงการโดยตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายค่ารวบรวมพยานหลักฐาน การดำเนินคดี ค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นแบบนี้ไม่มี ซึ่งประเทศไทยมักจะไปมีการช่วยเหลือเยียวยาในตอนท้าย
- (2) บริษัทประกันภัยช่วยเหลือคดีได้มาก ดังนั้น เห็นว่าควรมีการผลักดันให้ผู้ประกอบการประกันภัยนั้นจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้น
- (3) บทบาทของศาลในคดีอาญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลของประเทศเยอรมนีและประเทศฝรั่งเศสที่มีอำนาจที่จะกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งประเทศไทยนั้นมีช่องว่างอยู่ในประเด็นที่ว่ากรณีการลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์ อัยการจะขอค่าเสียหายให้แทนผู้เสียหาย แต่ว่าหากเป็นคดีที่ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ ฯ ผู้เสียหายจะต้องขอค่าเสียหายในคดีอาญาเองภายในระยะเวลาที่กำหนด คือ ก่อนศาลชั้นต้นเริ่มทำการสืบพยาน ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่สั้นมาก ดังนั้นหากเตรียมการไม่ดีอาจจะเสียสิทธิตรงนี้ได้ แต่ว่าในต่างประเทศศาลสามารถสั่งใช้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ จึงเสนอว่าเห็นควรให้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ศาลมีอำนาจสั่งให้จำเลยชดใช้ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้เสียหายที่ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในคดีแพ่งซึ่งจะเป็นการปรับปรุงกฎหมายและเป็นการเพิ่มบทบาทของศาลเพราะว่าในกรณีเช่นว่านี้ผู้ที่จะต้องชดใช้คือจำเลยไม่ใช่กองทุนเยียวยาค่าเสียหายต่างๆ
กล่าวโดยสรุป จากที่กล่าวไปข้างต้นนั้นอาจจะช่วยเหลือเยียวผู้เสียหายและพัฒนาหลักประกันการชดเชยค่าเสียหาย รวมทั้งการเยียวยาจิตใจของผู้เสียหายซึ่งน่าจะมีมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติม
(ขวาในภาพ) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
ผศ.ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงหลักการฟ้องผู้ที่จะต้องร่วมรับผิดในความเสียหายทางแพ่ง และสาเหตุที่กฎหมายแพ่งยินยอมให้ฟ้องเพื่อให้บิดามารดาร่วมรับผิดกับบุตร รวมทั้งสาเหตุที่ทำให้คดีแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญา ตลอดจนหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการและระยะเวลาบังคับคดี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ กล่าวคือ
แม้ว่าในเรื่องการยึดข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคดีอาญาแต่ว่าองค์ประกอบในคดีแพ่งและคดีอาญานั้นอาจจะมีส่วนที่ให้ผลนั้นแตกต่างกันได้ เพราะฉะนั้นไม่ได้จบอยู่ที่มาตรา 46 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น เนื่องจากกำหนดว่าศาลในคดีแพ่งจำต้องยึดถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญาที่ถึงที่สุดแล้วเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามการใช้กฎหมายนั้นต้องใช้กฎหมายถูกเรื่องและต้องใช้ให้ตรงกับเรื่องนั้นด้วย ฉะนั้นในกฎหมายแพ่งจะมีข้อยุ่งยากอยู่ตรงที่ว่าในการพิสูจน์ว่าจะเข้าองค์ประกอบในความรับผิดตามกฎหมายหรือไม่ และจะต้องรับผิดในความเสียหายอย่างไร
เนื่องจากคดีละเมิดนั้นถือว่าเป็นคดีที่มีข้อยุ่งยาก จึงใช้ระยะเวลานาน ดังนั้น การร่นระยะเวลาดังกล่าวลงจึงนิยมใช้วิธีการทำสัญญาประนีประนอมในชั้นศาล หากไม่สามารถใช้หนทางดังกล่าวได้ จึงต้องมาใช้วิธีการทางปกติซึ่งจะต้องนำสืบพยานหลักฐานต่อศาล หากพิจารณาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 424 ให้ศาลยุติแต่การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาเท่านั้น ซึ่งหากคดีอาญายุติว่ากระทำโดยประมาทในคดีแพ่งย่อมเข้าเรื่องการกระทำโดยประมาทเลินเล่อตามมาตรา 420 นอกจากนี้ มาตราดังกล่าวยังผูกหลักต่อไปอีกว่าใครจะต้องรับผิดด้วย ไม่ใช่แค่องค์ประกอบประมาทเลินเล่อเท่านั้นแต่ผลของการกระทำนั้นจะต้องทำให้เกิดผลตรงนั้นด้วยซึ่งเรียกว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล” ในเรื่อง Causation ตามหลักในทางทฤษฎี เพราะฉะนั้นจะต้องมีการตรวจสอบในประเด็นนี้ให้ถ่องแท้ว่า “เป็นไปตามหลักในมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จริงหรือไม่ ในกรณีของผู้ขับขี่รถยนต์”
ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน พบว่ามีหลักในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถ้าเกิดว่าศาลชี้แล้วว่ามีความรับผิดจึงนำไปสู่ปัญหาต่อไปว่าจะต้องรับผิดเท่าใด ซึ่งมาตรา 438 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่าต้องขึ้นอยู่กับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดนั้น ๆ ด้วย ในประเด็นนี้จะต้องค้นหาความจริงโดยอาศัยพยานหลักฐานในชั้นของการพิจารณาในส่วนของคดีแพ่ง
เพราะฉะนั้น ไม่ได้มีแต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เท่านั้น แต่จะมีต่อเนื่องมาในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 424 และมาตรา 438
1. เหตุใดจึงเกิดหลักการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46
เนื่องจากหลักความเป็นเอกภาพของกฎหมายและคำพิพากษานั้นจะต้องตัดสินตามกฎหมาย ซึ่งหากมีการปล่อยให้ดำเนินซ้ำซ้อนกันนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมควร เพราะฉะนั้นทฤษฎีดังกล่าวนอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองต้นทุนทางด้านเวลาและค่าใช้ในการดำเนินคดีแล้ว นอกจากนี้ยังมีหลักความศักดิ์สิทธิของคำพิพากษาและหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีอื่นซึ่งเป็นหลักที่มีต่างประเทศทั้งซิวิลลอว์และคอมมอนลอว์ เพราะฉะนั้น การที่เรากำหนดหลักการตามมาตรา 46 นี้ขึ้นมาเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการโต้แย้งเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดสถานการณ์ที่คำพิพากษาขัดแย้งกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่งเพราะว่าจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นของสาธารณชน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีเรื่องบางเรื่องที่จะต้องยุติไป ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลของการที่เราได้กำหนดหลักการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46
แต่ที่จริงแล้วในทางทฤษฎีนั้นมีปัญหาซึ่งมีผู้ที่ได้เสนอให้มีการแก้ไขหลักการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 ด้วย
ในมิติทางประวัติศาสตร์กฎหมาย กล่าวถึงการร่างกฎหมายลักษณะอาญาโดยนายจอร์จ ปาดู ได้มีการศึกษาและค้นหาว่าจะทำอย่างไร ซึ่งในสมัยโบราณ ศาลไทยมีแนวโน้มว่าหากมีปัญหาว่ามีการกระทำความผิดทางอาญาและได้รับความเสียหายทางแพ่งนั้นศาลไทยจะเน้นคดีอาญาเท่านั้น และหลาย ๆ กรณีศาลไทยในอดีตจะไม่ให้เรียกร้องกันในทางแพ่ง เพราะฉะนั้น หลักการดังกล่าวนี้ผู้ร่างกฎหมายเห็นว่าไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงได้กำหนดหลักการให้เหมือนกับหลักการสากลโดยไม่ควรจะเป็นแบบไทยโบราณเพราะตามหลักการควรจะต้องได้รับการเยียวยาทางแพ่งด้วย ด้วยที่กล่าวมาข้างต้น น่าจะเห็นเหตุผลของการกำหนดหลักการดังกล่าวนี้
2. หลักในการฟ้องผู้ที่ต้องร่วมรับผิดค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง
เนื่องจากมีความผูกโยงกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา 438 ในการค้นหาว่าใครจะต้องรับผิดด้วยนั้น
- 2.1 กรณีผู้เยาว์ ในคดีนี้แม้ว่าด้วยเหตุการณ์เป็นผู้เยาว์ก็ไม่พ้นความรับผิดทางแพ่งซึ่งแตกต่างจากคดีอาญาที่เป็นเยาวชน โดยที่ในมาตรา 420 นั้นแม้เป็นผู้เยาว์ก็ต้องรับผิด นอกจากนี้มาตรา 429 ก็ได้บัญญัติสำทับอีกครั้งหนึ่งด้วยเพื่อเป็นการย้ำหลักการตามมาตรา 420
- 2.2 กรณีบิดามาดาหรือผู้อนุบาลนั้นก็ต้องร่วมรับผิดด้วยเพราะว่าได้มีการกำหนดเป็นฐานตามมาตรา 429 เว้นแต่พิสูจน์ให้ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลตามหน้าที่ที่ดูแลนั้นแล้ว ดังนั้น หลักจึงต้องรับผิดไว้ก่อนถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ศาลจึงต้องพิพากษาให้รับผิดตามกฎหมาย
- 2.3 กรณีของครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่น ๆ ซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถไม่ว่าเป็นนิตย์หรือชั่วคราว ตามมาตรา 430 ต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดแต่ว่าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายนั้นแตกต่างจากกรณีของบิดามารดา คือ ภาระในการพิสูจน์ความรับผิดจะตกแก่โจทก์ โดยต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า (1) ต้องเป็นการกระทำในระหว่างที่อยู่ในการดูแลของตนเพราะว่าหากนอกเหนือจากนนี้จะอยู่ในความดูแลของบิดามารดาหรือผู้อนุบาลตามมาตรา 429 และ (2) ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
- 2.4 ผู้ที่ครอบครองรถยนต์ ตามมาตรา 437
ผศ.ดร.สมเกียรติ ได้อธิบายเสริมถึงหลักในความรับผิดกรณีละเมิดการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
- (1) กลุ่มมาตรา 420 และมาตรา 432 (กรณีหลายร่วมกันกระทำละเมิด) เรียกว่า “หลักการรับผิดจากการกระทำละเมิดของตนเอง”
- (2) กลุ่มหลักความรับผิดในการกระทำละเมิดของบุคคลอื่น หมายความว่าจะต้องมีการพิสูจน์ว่ามีใครกระทำละเมิดและบุคคลอื่นที่บกพร่องในการดูแลบางประการ ดังนั้น บุคคลดังกล่าวจะต้องรับผิดด้วย เช่น บิดามารดา นายจ้าง เป็นต้น
- (3) กลุ่มความรับผิดโดยไม่มีการจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ซึ่งเรียกว่าหลัก “Strict Liability” หรือ “ความรับผิดเด็ดขาด” แม้ไม่มีความผิดแต่ก็ต้องรับผิดตามกฎหมาย ปรากฏในมาตรา 437 มาตรา 433 มาตรา 434 และ มาตรา 436
3. ประเด็นว่าด้วยการบังคับคดี
เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วก็ต้องหาเครื่องมือเพื่อทำให้การบังคับคดีนั้นสัมฤทธิ์ผลตามคำพิพากษาได้จริง การบังคับคดีนั้นตามปกติจะต้องรวดเร็วและไม่เปิดช่องให้คู่ความประวิงคดีได้ การที่กฎหมายเปิดช่องให้ใช้สิทธิลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็จะกล่าวอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิเสมอซึ่งทำให้คดีล่าช้า ทั้งนี้ ทุก ๆ ครั้งที่มีการคัดค้านจะเสียเวลาไปหลายเดือนซึ่งเป็นปัญหามากในการแก้ไขกฎหมายของการบังคับคดี แต่อย่างไรก็ตามได้มีการแก้ไขกฎหมายบางส่วนแล้วแต่ในขั้นตอนของการการดำเนินการะบวนพิจารณาคดีนั้นยังไม่ได้แก้ไขทั้งระบบ ฉะนั้น จะต้องมีการแก้ไขกันต่อไป
- (1) ในประเด็นของการแก้ไขกฎหมายบังคับคดีนั้นในเรื่องของการออกคำบังคับกฎหมายใหม่กำหนดให้ออกคำบังคับมีผลทันทีแม้จำเลยไม่มาฟังคำพิพากษา เว้นแต่กรณีจำเลยขาดนัดเนื่องจากหากมีจำเลยบางรายขาดนัดต้องทอดระยะเวลาออกไป เนื่องจากมาตรา 272 วรรคสองแห่ง ประกอบมาตรา 199 ทวิ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลจะต้องกำหนดวิธีการที่เห็นสมควรเพื่อที่จะส่งคำบังคับโดยวิธีการส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นในกรณีที่ไม่ขาดนัดจะเริ่มนัดทันทีและกฎหมายไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาในการปฏิบัติตามคำพิพากษาดังนั้นศาลจึงสามารถกำหนดได้ตามดุลพินิจ
- (2) กรณีการที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาจะเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีลำดับต่อไป ซึ่งปัญหาที่กฎหมายไทยกำหนดเอาไว้ในการสืบเสาะหาทรัพย์ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีแต่ว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือโจทก์ที่จะต้องดำเนินการ เนื่องจากทนายความไม่มีเครื่องมือใด ๆที่จะมาใช้ในการสืบเสาะหาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้นในการดำเนินการดังกล่าวจึงถูกปฏิเสธการให้ข้อมูล โดยมีข้อเสนอแนะว่า กฎหมายปัจจุบันยังไม่เพียงในบางกรณีอาจจะใช้อำนาจศาลในการเรียกมาถามได้ตามมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงให้แก้ไขเรื่องนี้ ในต่างประเทศได้ให้เครื่องมือเพื่อไปสืบเสาะหาทรัพย์
ยกตัวอย่าง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฝรั่งเศสภาคการบังคับคดี มาตรา 47 (ฉบับเดิม) ได้ให้เครื่องมือเอาไว้ ในการสอบถามข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลทันทีโดยไม่ต้องมาร้องขอต่อศาลและในปี 1999 ศาลได้มีคำพิพากษาได้ตัดสินเอาไว้ “เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอข้อมูลมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูล จะปฏิเสธไม่ได้” แต่มาได้มีการแก้ไขกฎหมายใหม่
ทั้งนี้ กฎหมายไทยยังไม่มีเครื่องมือในส่วนนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ต้องแก้ปัญหาในจุดนี้ด้วย
(ขวาในภาพ) นายเสกสรร สุขแสง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม กรมบังคับคดี (วิทยากร)
นายเสกสรร กล่าวถึงทางปฏิบัติขั้นตอนการยึด การอายัด ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และระยะเวลาการบังคับคดี รวมทั้งอำนาจหน้าที่ในการบังคับคดี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ กล่าวคือ
1. ทางปฏิบัติขั้นตอนการยึด การอายัด ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และระยะเวลาการบังคับคดี
จะเห็นได้ว่า ในขั้นตอนของการบังคับคดีนี้จะมีความสลับซับซ้อนกันมากทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตลอดจนใช้ระยะเวลาที่นาน การที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วการจะได้รับชำระหนี้นั้นอยู่ที่กรมบังคับคดีซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่หลักในการบังคับคดีแพ่งและคดีล้มละลาย
ในคดีนี้ ในเบื้องต้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วและได้มีการนำคำบังคับแก่จำเลยแต่ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาตามคำบังคับจึงไม่สามารถที่จะขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ดังนั้น กรมบังคับคดีจึงไม่สามารถจะดำเนินการใด ๆ ได้ ฉะนั้น ในเบื้องต้นกรมบังคับคดีได้ดำเนินการ
- (1) การตรวจสอบโฉนดที่ดินของจำเลยโดยประสานงานกับ DSI เพื่อตรวจสอบว่ามีทั้งหมดกี่ชุด อยู่ตรงไหน ตลอดจนตรวจสอบความถูกต้องของโฉนด และอยู่ในข่ายถูกเพิกถอนโฉนดหรือไม่
- (2) ประสานงานกับกรมคุ้มครองสิทธิ โดยมีสำนักงานช่วยเหลือค่าเสียหายในคดีอาญาว่าจะช่วยเหลือได้แค่ไหน อย่างไรบ้าง
ในทางปฏิบัติหากปรากฏต่อมาว่าเมื่อหมายบังคับคดีมาถึงกรมบังคับคดีแล้วนั้น จะต้องดำเนินการดังนี้ กล่าวคือ
- (1) จะต้องให้ผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์มาเป็นรายเดียวกันเพื่อตั้งเรื่องทำการยึดอายัดและจะต้องการวางค่าใช้จ่าย
- (2) หากปรากฏว่าทรัพย์ที่จะทำการยึดนั้นอยู่นอกพื้นที่อำนาจของกรมบังคับคดีที่ตั้งเรื่องก็ไม่สามารถที่จะทำการยึดได้ทันทีเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องทำเรื่องเรียนศาลชั้นต้นที่ออกหมายบังคับคดีเพื่อขออนุญาตบังคับคดีข้ามเขตเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอเช่นว่านี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานบังคับคดีที่ทรัพย์นั้นตั้งอยู่เพื่อทำการยึดทรัพย์
- (3) เมื่อทำการยึดทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยก็จะทำการประเมินราคา หากมีการโต้แย้งเรื่องการประเมินราคาก็จะมีการส่งเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ผลเป็นที่ยุติ
- (4) หลังจากดำเนินการดังกล่าวแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนของการขายทอดตลาดโดยการประกาศขายทรัพย์
ทั้งนี้ หากมีการซื้อก็มักจะมีปัญหาว่าผู้ซื้อไม่มีเงินวางกรณีเข้าสู้ราคาทั้งกรณีที่ราคาทรัพย์ที่ขายลอดตลาดสูงผู้ซื้อทอดมักจะไม่มีเงินชำระเต็มตามราคาทรัพย์จะต้องขอสินเชื่อจากธนาคารก่อนซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรโดยทางปฏิบัติจะขอขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป หากวางเงินชำระครบแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะดำเนินการทำบัญชีรับจ่ายและประกาศให้ทราบ หากไม่ผู้ใดโต้แย่งบัญชีรับจ่ายและสัดส่วน
ในประเด็นเรื่องระยะเวลาบังคับคดีเมื่อศาลได้มีหมายบังคับคดีแล้วจะมีระยะเวลาในการบังคับคดีถึง 10 ปี เพื่อทำการทยอยยึดทรัพย์เพื่อชำระหนี้จนกว่าจะคุ้มหนี้ หากปรากฏว่าระยะเวลาใกล้ครบ 10 แล้วเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่สามารถสืบทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพิ่มเติมได้อีกก็จะสามารถฟ้องล้มละลายได้ ซึ่งทางปฏิบัติธนาคารมักจะฟ้องในปีที่ 8-9 โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ซึ่งกระบวนการล้มละลายก็ใช้ระยะเวลานาน
ปัญหาในทางปฏิบัติมักจะมีปัญหาการยักย้ายถ่ายเททรัพย์ของลูกหนี้ การโต้แย้งราคาประเมินทรัพย์ที่ยึด หรือการแจ้งผลการยึดซึ่งลูกหนี้ตามคำพิพากษามักจะย้ายทะเบียนบ้านทำให้ต้องมีการประกาศทางหนังสือพิมพ์ ตลอดจนการคัดค้านทุกขั้นตอนของกระบวนการบังคับคดี อันส่งผลให้การบังคับคดีนั้นใช้ระยะเวลามาก
2. อำนาจหน้าที่ในการบังคับคดี
ในคดีแพ่งอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะเริ่มขึ้นเมื่อศาลได้มีหมายตั้งเจ้าพนักงานคับคดี ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ครบกำหนดระยะเวลาตามคำบังคับที่ส่งโดยชอบแล้ว ศาลจะออกหมายบังคับคดี ในวิธีการบังคับคดีกฎหมายได้ตีกรอบอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยอำนาจมีเพียงใดนั้นจะต้องพิจารณาตามหมายตั้งเจ้าหน้าพนักงานบังคับคดีโดยทางปฏิบัติจะมีการตีความอย่างเคร่งครัด เช่น จำนวนลูกหนี้ จำนวนหนี้ที่ต้องรับผิด เป็นต้น หากปรากฏว่าเจ้าพนักงานดำเนินการผิดพลาดอาจะถูกร้องเรียนต่อหน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น ปปธ. ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก หากเปรียบเทียบกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้วจะเห็นได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักทรัพย์นั้นมีอำนาจตามกฎหมายที่สามารถเรียกให้หน่วยงานต่าง ๆ รายงานทรัพย์สินของลูกหนี้ได้
ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการประกาศราชกิจจานุเบกษาให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วภายใน 24 ชั่วโมงบัญชีของลูกหนี้จะถูกบล็อกทันทีแม้จะยังไม่มีคำสั่งอายัด เป็นต้น
โดยมีข้อเสนอแนะให้มีการเพิ่มเติมอำนาจแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีและเพิ่มอำนาจในการสืบเสาะทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน