สรุปสาระสำคัญจากสัมมนาวิชาการ ภายใต้ชุด “กฎหมายกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ครั้งที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2562 วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 เวลา 09.00-12.30 น. ณ ห้อง 1208 อาคารสิรินธรารัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
ผู้กล่าวเปิดงาน
- ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบ
ริหารศูนย์ลำปาง
วิทยากร
- รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายอานนท์ แก้วปัญญา นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ช่วงที่ 1 สัมมนาวิชาการ หัวข้อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้บริบทสังคมโลกและสังคมไทย”
ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบ
ศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวเปิดงานโดยได้ขอบคุณ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ และสำนักงานพัฒนาสังคม จังหวัดเชียงรายที่มาสังเกตการณ์ รวมทั้งนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนกฎหมายกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ตนที่เคยเป็นอาจารย์ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเกษียณแล้วมาทำหน้าที่ในฐานะรองอธิการบดี โดยที่หัวข้อวันนี้ในประเด็นกฎหมายกับการพัฒนาที่ยังยืน แนวคิดและความสำคัญในทางด้านสาขาใหม่ของกฎหมาย ซึ่งในวันนี้จะมาทำการจุดประเด็นและปักหลักสาขากฎหมายอีก 10-15 รายวิชา โดยที่ในอนาคตอาจจะเป็นวิชาบังคับ เพราะฉะนั้นในหัวข้อวันนี้จะได้พิจารณาในสามด้านคือ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีวิทยากร คือท่าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และที่สำคัญเคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการประกอบไปด้วย อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล รศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ และ ผศ.ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร โดยทั้งสามท่านนี้สำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศสซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดร่วม ซึ่งในวันนี้จะได้ทราบว่าในประเทศยุโรปนั้นมีการบรรยายการเรียนการสอนอย่างไรด้วย จึงขอเปิดการสัมมนาในหัวข้อกฎหมายกับการพัฒนาที่ยั่งยืน แนวคิดและความสำคัญของกฎหมายในฐานะสาขาใหม่ทางกฎหมาย
รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า เดิมการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ลำปางนั้นเรียนที่ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเก่า ซึ่งตนได้มีโอกาสมาสอนด้วยโดยเปิดการเรียนการสอนคณะสังคมสงเคราะห์เป็นคณะแรกและต่อมาจึงมีการเปิดศูนย์การเรียนหลังปัจจุบัน
ในหัวข้อการสัมมนานั้นจะประกอบไปด้วยความคำนำ การพัฒนาที่ยังยืน บริบทสังคมโลกและสังคมไทย และทำอย่างไรให้ยั่งยืนภายใต้บริบทสังคมโลกและสังคมไทย เพราะฉะนั้นจึงนำไปสู่ตรรกะในการคิดคือ การอธิบายความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนและบริบทของสังคมไทยและสังคมโลก
1. ว่าด้วยคำนำด้วยคำกล่าวที่ว่า “เราเปลี่ยนทิศทางลมไม่ได้ แต่เราปรับใบเรือได้” ซึ่งเปรียบได้กับการเล่นไพ่โดยที่คนหนึ่งได้ไพ่ที่ดีแต่เล่นได้ไม่ดี แต่อีกคนหนึ่งซึ่งมีไพ่ธรรมดา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนที่มีไพ่ดีจะชนะในเกมเสมอไปอยู่ที่ว่าวิธีการเล่นไพ่ต่างหาก ฉะนั้น คนที่มีไพ่ธรรมดาหากเล่นดีก็มีโอกาสชนะได้ การที่ทุกคนมีโอกาสที่จะมีอายุ 18 ปี ครั้งเดียวเพราะฉะนั้นอะไรที่ทำแล้วจงทำเพราะว่าจะไม่มีโอกาสทำมันอีกแล้ว ทั้งนี้ เราไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของลมได้แต่เราสามารถที่จะปรับใบเรือของเราได้สำคัญว่าเรามีเป้าหมายที่จะไปถึงหรือไม่ หากมีจงปรับทิศทางไปตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ ยังมีคำกล่าวที่ว่า “Life is random” หรือ “ชีวิตคือการถูกสุ่มเลือก” กล่าวคือ โดยสถิติจะต้องมีผู้เสียชีวิตด้วยมอเตอร์ไซด์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง อย่างน้อย 1 คน และจะเห็นได้ว่าในห้องสัมมนานี้มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายทั้ง ๆ ที่โดยสถิติแล้วมีอัตราการเกิดของผู้ชายร้อยละ 52 ทำให้เห็นว่ามีผู้ชายมากกว่าผู้หญิงแต่ผู้ชายในกลุ่มช่วงอายุเดียวกันกับผู้หญิงจะตายหมดก่อนช่วงอายุ 26 ปี เป็นผลทำให้ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย 1,000,000 คน ในช่วงอายุ 30-40 ปี ทั้งนี้ เนื่องจากฮอร์โมนของผู้ชายในช่วงอายุก่อน 26 ปี ทำให้ชอบความเสี่ยงมากขึ้น และชีวิตนั้นถูกสุ่มเลือกโดยที่อธิบายไม่ได้
ยกตัวอย่าง นักวิจัยผู้หนึ่งอยู่ในบ้านพักต้นปาล์มเกิดล้มทับเก้าอี้เป็นเหตุให้เก้าอี้ดังกล่าวกระดกขึ้นทำให้เสียชีวิตซึ่งเป็นข่าว โดยที่โอกาสเกิดขึ้น 1 ใน 1,000,000 เป็นต้น
เพราะฉะนั้น จึงอยากจะกล่าวแก่ทุกท่านว่าชีวิตนี้เปราะบางมาก หมวกกันน๊อคนั้นใส่เพราะเป็นสิ่งที่ควรจะใส่ไม่ใช่ใส่เพราะป้องกันตำรวจจับ เฉกเช่นเดียวกันกับการทำความดีนั้นไม่ใช่ให้ผู้อื่นมองว่าเราเป็นคนดีแต่ทำความดีเพราะความดีเป็นสิ่งที่ควรทำ จากที่กล่าวไปข้างต้นจึงต้องควรใช้ความระมัดระวัง ทั้งนี้ สถิติไม่เคยโกหกและชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งแน่นอนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสถิติ
และยังมีคำอีกคำว่า “Life is about choices” หรือ “ชีวิตคือเรื่องของการเลือก” ซึ่งสิ่งที่ทำในวันนี้จะตามมาในอนาคตเปรียบเสมือนการตอกเสาเข็ม ฉะนั้นหากนักศึกษาตั้งใจเรียนพยายามเรียนรู้ทุกอย่างจะทำให้มีเสาเข็มที่แน่นที่จะสามารสร้างตึก 3-5 ชั้น ย่อมสามารถทำได้ แต่หากว่าเรียนแบบชีวิตพอผ่านไปชีวิตก็จะเป็นแบบพอผ่านไปก็ไม่ได้เลวร้าย แต่อย่างไรก็ตามมีคนจำนวนมากที่มีการศึกษา เพราะฉะนั้นชีวิตจึงเป็นเรื่องของการเลือกเรามีสิทธิเลือกได้โดยที่ไม่มีใครมาบังคับได้ และชีวิตนี้มีหนเดียวไม่ได้มีสองครั้งบางครั้งเราก็ไม่ทราบเลยว่าจะมีชีวิตได้เท่าใด
ดังนั้น การดำเนินชีวิตของเราจะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังอย่าก่อให้เกิดปัญหา หากไปยุ่งเกี่ยวกับคนที่มีปัญหาปัญหาของผู้อื่นจะกลายมาเป็นปัญหาของคุณโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ
2. ในประเด็นต่อมาการพัฒนาที่ยังยืน คือ การทำอย่างไรให้คงอยู่หรือดำรงต่อไป โดยภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีการพยายามพื้นฟูประเทศซึ่งต่อมาได้มีการแบ่งออกเป็นโลกเสรีและโลกคอมมิวนิสต์ซึ่งทำการแข่งขันกันทางด้านเศรษฐกิจ โดยที่แต่ละประเทศได้พยายามทุ่มเทในการพัฒนาประเทศของตนเปรียบเสมือนการพัฒนาที่เดินไปอย่างช้า ๆ แล้วถูกกระตุกขึ้นมาซึ่งกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจต่าง ๆ มากมาย และกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น ประเทศพม่าที่เปรียบได้กับประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2504 ซึ่งต่อไปจะประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาจากสังคมชนบทมาเป็นสังคมเมือง เป็นต้น จึงนำไปสู่คำถามที่ว่าทำไมต้องเลือกเส้นทางนี้เพราะว่ามีหลายเส้นทางในเลือกเดิน ทั้งนี้ เส้นทางที่ได้รับการเลือกในโลกนี้จะเลือกข้างที่มีศักยภาพก่อนโดยมองว่าให้มีภาคอุตสาหกรรมก่อนเมื่อภาคอุตสาหกรรมร่ำรวยขึ้นแล้วจะฉุดให้ภาคเกษตรกรรมรำรวยขึ้นได้ แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปแต่กลับก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามไม่มีเส้นทางใดที่จะทำให้ผู้คนก้าวไปได้อย่างรวดเร็วได้เท่าเส้นทางนี้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนใช้ระยะเวลา 30-40 ปี โดยที่ปัจจุบันมีอัตรารายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีแซงหน้าประเทศไทยไปแล้วขึ้นไปเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของโลก เป็นต้น ซึ่งเกิดจากการเลือกเส้นทางนี้ จากที่กล่าวไปข้างต้นจึงนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและเกิดการตั้งคำถามว่าจะอาศัยอยู่ในโลกนี้อย่างไรในปี ค.ศ. 1972 โดยที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลท่านหนึ่งได้กล่าวว่า โลกเรานั้นเปรียบเสมือนยานอากาศลำหนึ่งล่องลองในอวกาศหากปล่อยให้สิ้นส่วนของโลกหลุดหายไป สิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า ในที่สุดยานอากาศลำนี้ก็จะต้องตกลงไป ดังนั้นเราจึงมีความรับผิดชอบที่จะทำให้โลกเราก้าวต่อไปและมีความน่าอยู่
เพราะฉะนั้น ความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนในปัจจุบันโดยไม่ไปบั่นทอนความสามารถของคนรุ่นต่อไปที่จะสนองความต้องการของคนรุ่นเขา ทั้งนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหลักการที่จะให้บรรลุซึ่งเป้าหมายของพัฒนาการของมนุษย์และในขณะเดียวกันให้ความสามารถของระบบทรัพยากรธรรมชาติยังคงดำรงอยู่ต่อไป ฉะนั้นจึงนำไปสู่วิธีการคิดและหลักการไปสู่การพัฒนาของคนและการบริหารจัดการธรรมชาติ ทั้งนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งอยู่บนสามเสาหลักอันประกอบไปด้วยสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งเมื่อ 250 ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมานี้ วิทยาศาสตร์นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ของคนในทางที่แย่ลงและก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กระจายไปทั่วโลก ทั้งนี้ เพราะมนุษย์นั้นไม่สามารถรอคอยได้จึงต้องใช้ไปก่อนแล้วค่อยมาปรับเปลี่ยนในภายหลัง กล่าวโดยสรุปแล้วจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความสมดุลซึ่งจะนำเสนอผ่านแนวคิดดังนี้
(1) ความต้องการหรือความจำเป็นของคนที่ยากจนเป็นสำคัญเพราะคนส่วนใหญ่เป็นคนจน
(2) ข้อจำกัดทางทรัพยากรแต่สามารถทำให้ทรัพยากรที่มีนั้นขยายขึ้นได้โดยเทคโนโลยี เช่น เวลาที่ใช้สัตว์ไถนาปรับเปลี่ยนให้เครื่องยนต์ทำให้ลดระยะเวลา เป็นต้น อย่างไรก็ตามจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายซึ่งสะท้อนถึงบทบาทของกฎหมายที่มีความสำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเช่นจากการพัฒนาที่ยั่งยืน
(1) Green Economy การทำอย่างไรให้ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น การจัดการป่าไม้ที่เป็นระบบสิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย เป็นต้น
(2) Circular Economy การนำกลับมาใช้ใหม่โดยทำลดภาระของการจัดการ
(3) Freegan Group คือ กลุ่มคนที่นำเอาสิ่งของต่าง ๆ กลับมาใช้ใหม่ ไม่ใช่คนเก็บของเก่าขาย เช่น อาหารหรือสินค้าหมดอายุนั้นกลับมาใช้ใหม่
(4) Smart City คือ การเดินทางให้ใช้พลังงานน้อยที่สุด
(5) หลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ ให้ผู้คนคาดหวังต่อชีวิตอย่างพอดี เนื่องจากหากปล่อยให้ผู้คนติดอยู่กับความคิดที่ว่าจะมีการเติบโตเรื่อย ๆ เช่นนี้จะต้องใช้ทรัพยากรมากกว่าที่อยู่ถึง 2 เท่า
(6) ทรัพยากรที่ไม่มีวันหมด เช่น พลังงานจากน้ำ ลม ความร้อนใต้พิภพ การเคลื่อนไหว
จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ตั้งอยู่บนสามเสาหลัก ทั้งนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายขององค์การสหประชาชาติ 17 เป้าหมาย sustainable development goals ดังนี้
(1) No Poverty
(2) Zero Hunger
(3) Good Health and Well-being
(4) Quality Education
(5) Gender Equality
(6) Clean Water and Sanitation
(7) Affordable and Clean Energy
(8) Decent Work and Economic Growth
(9) Industry, Innovation and Infrastructure
(10) Reduced Inequality
(11) Sustainable Cities and Communities
(12) Responsible Consumption and Production
(13) Climate Action
(14) Life Below Water
(15) Life on Land
(16) Peace and Justice Strong Institutions
(17) Partnerships to achieve the Goal
3. ว่าด้วยบริบทสังคมโลกและสังคมไทย
3.1 บริบทสังคมโลก
3.1.1 การปฏิวัติความรู้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 กล่าวคือ โลกมีความสำคัญเมื่อ ค.ศ. 1300 ซึ่งก่อนหน้านี้อาศัยอยู่ในถ้ำและได้เปลี่ยนมาเป็นสังคมการเพาะปลูกฉะนั้นที่ดินและน้ำที่อุดมสมบูรณ์จึงสร้างความมั่งคั่ง ในปี ค.ศ. 1800 ได้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ผู้ที่มีทุนและความรู้สามารถสร้างความมั่นคั่งได้ และในปี ค.ศ. 1965 เกิดการปฏิวัติความรู้กล่าวคือผู้ที่มีความรู้สามารถสร้างความมั่งคั่งได้ ทั้งนี้ การปฏิวัติความรู้ได้เกิดมีขึ้นเช่น ด้านคอมพิวเตอร์ที่ลดขนาดและสร้างความสามารถเพิ่มขึ้น ด้านวิศวพันธุกรรมศาสตร์ที่เป็นหัวใจของการศึกษาความเป็นมนุษย์นำไปใช้ในทางการแพทย์ ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมด้วยการใช้แสงสว่างแทนแม่เหล็กไฟฟ้า และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอันเนื่องมาจากการเชื่อมโยงระหว่างคอมพิวเตอร์และการสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงด้านวิทยาศาสตร์การย่อส่วน รวมทั้งความก้าวหน้าของความรู้ทางการแพทย์
3.1.2 โลกาภิวัตน์ ซึ่งแบ่งได้ออกเป็น 4 ลักษณะดังนี้
(1) ระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีพรมแดนซึ่งทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าบริการรวมทั้งการทำงานข้ามพรมแดน
(2) เศรษฐกิจแบบการค้าเสรี
(3) Global Village
(4) กระแสความเชื่อและความคิดที่คล้อยตามกัน
จากที่กล่าวไปข้างต้นนี้จึงก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “โลก VUCA” ซึ่งได้แก่ การฟุ้งกระจายหรือการเคลื่อนไหว ความไม่แน่นอน ความสลับซับซ้อน และความกำกวม เป็นต้น
3.1.3 Technology Disruption ตัวอย่างของการเกิดขึ้นเช่น Mobile Internet ซึ่งมีประสิทธิภาพมากมายทั้งในแง่บวกและแง่ลบ, Automation of Knowledge Work ซึ่งเกิดจากการสร้างโปรแกรมขึ้นมาเพื่อทำงานแทนหรือบล็อกเชน, ระบบ 5G, Internet of Things ซึ่งเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์จะสามารถเชื่อมต่อกันได้เองโดยอาศัยระบบ 5G, การแพทย์ที่ก้าวหน้าโดยใช้หุ่นยนต์, การเก็บข้อมูลไว้ใน Cloud, รถยนต์ไร้คนขับหรือเครื่องบินไร้คนขับ, การตัดแต่งพันธุกรรมของมนุษย์รวมทั้งการโคลนนิ่ง, ความสามารถในการจัดเก็บไฟฟ้าในที่อยู่อาศัย, การถ่ายภาพสามมิติ (3D Printing), วัสดุที่มีความก้าวหน้า
3.2 บริบทสังคมไทย กล่าวคือ สิ่งสำคัญของประเทศไทยคือคุณภาพและปริมาณของมนุษย์ ซึ่งการที่สังคมเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงโดยมุ่งเน้นคนเป็นศูนย์กลาง
4. ทำอย่างไรให้ยั่งยืนภายใต้บริบทสังคมโลกและสังคมไทย กล่าวคือ แนวคิดทางด้านการศึกษาเพื่อที่จะมาส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในด้านความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และคุณค่าของมนุษย์ ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้สังคมมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ฉะนั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะเปลี่ยนสังคมได้ดีเท่ากับการเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม
การศึกษาด้านกฎหมายมีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาที่ยั่งยืนเพราะว่าเป็นสิ่งที่กำหนดกติการูปแบบต่าง ๆ ในสังคม ฉะนั้น การศึกษาในบริบทนี้จะมีความสำคัญเพื่อที่จะสร้างกฎหมายและใช้กฎหมายสำหรับโลกในอนาคต นอกจากนี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลารวมทั้งทุก ๆ มีส่วนร่วมได้ตลอดเวลา เช่น การปิดน้ำเวลาแปรงฟัน เป็นต้น
เพราะฉะนั้น กล่าวโดยสรุปสำหรับเป้าหมายในการปาฐกถาในวันนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตที่สร้างการอยู่ร่วมกันได้และอยู่ได้อย่างมีความสุขในอนาคต เพื่อทำให้เข้าใจโลกให้ดียิ่งขึ้นและทำให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น ในฐานะนักกฎหมายจึงควรต้องใช้กฎหมายให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ฉะนั้น ตนจึงขอยกคำกล่าวของไอน์สไตน์ว่า “การศึกษา คือ สิ่งซึ่งหลงเหลืออยู่จากการลืมทุกสิ่งที่ได้เรียนในโรงเรียนไปแล้ว” กล่าวคือ การเรียนเพื่อลืมในสิ่งที่เรียนและเมื่อวันใดที่ท่านกลับมาอ่านมาศึกษาอีกครั้งท่านจะสามารถทำความเข้าใจได้ เช่น การปั่นจักรยานเป็นชีวิตนี้ก็จะปั่นจักรยานเป็น เป็นต้น ฉะนั้นการศึกษาที่ได้เล่าเรียนมาแล้วจะยังคงอยู่ในตัวเราเสมอและสิ่งเหล่านี้จะทำให้ตัวเรายื่นอยู่ในสังคมได้ตามที่เราปรารถนาจะเป็น
หมายเหตุ สรุปสาระสำคัญช่วงที่ 2 สัมมนาวิชาการหัวข้อ “กฎหมายกับการพัฒนาที่ยั่งยืน แนวคิดและความสำคัญในฐานะสาขาใหม่ทางกฎหมาย” สามารถอ่านได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/seminarsustainable-development-no-2-part2/