สรุปสาระสำคัญจากการนำเสนอวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก หัวข้อ “A Legal Proposal for the Creation of Conservation Agreements in Thailand: A Comparative Study” โดยผศ.ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2563 เวลา 14.00-17.00 น. ณ ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ การนำเสนอดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เริ่มต้นนับหนึ่งเพิ่มมุมคิดในการเขียนวิทยานิพนธ์สาขากฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” จัดโดยศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สรุปความโดย นายวัฒนกร อุทัยวิวัฒน์กุล นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้นำเสนอ) :
กล่าวแนะนำตัวว่าตนเองสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก PhD in Law สาขา Nature Conservation Law ที่ University of Dundee สกอตแลนด์แห่งสหราชอาณาจักร โดยมีประเด็นที่อยากจะพูดคุยอยู่ 3 ประเด็น ดังนี้
(1) ความแตกต่างของการเรียนกฎหมายระดับปริญญาเอกที่สหราชอาณาจักรกับประเทศไทยว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
การเรียนกฎหมายที่สหราชอาณาจักร เป็นการเรียนแบบ Research-Based มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยที่ทุกคนจะต้องทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) ซึ่งในสหราชอาณาจักรนักศึกษาจะต้องทำวิทยานิพนธ์กับอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างน้อย 2 ท่าน และมีเกณฑ์ว่าต้องมีจำนวนคำประมาณ 100,000 คำขึ้นไป โดยในปีแรกนักศึกษาจะเป็นเพียง Research Student และถ้าสอบกับกรรมการผ่านจะถูกเลื่อนไปในระดับ PhD Candidate เพื่อทำวิทยานิพนธ์ต่อไป
สำหรับระยะเวลาในการศึกษานั้น นักศึกษาต้องลงทะเบียนอย่างน้อย 2 ปีการศึกษา ทำให้ระยะเวลาเรียนจะอยู่ที่ประมาณ 2-4 ปี แต่ในทางปฏิบัติอาจมีการขยายระยะเวลาให้ถึง 4 ปีครึ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาแต่ละคน
ข้อแตกต่างอีกอย่างหนึ่งคือ ประเทศไทยมีระเบียบกำหนดว่านักศึกษาจะต้องตีพิมพ์บทความของวิทยานิพนธ์ลงในวารสาร แต่ในสหราชอาณาจักรไม่มีระเบียบแบบประเทศไทย เพราะฉะนั้นนักศึกษาสามารถเลือกที่จะตีพิมพ์หรือไม่ก็ได้ เว้นแต่อาจารย์ที่ปรึกษาจะบอกว่าต้องตีพิมพ์ นักศึกษาก็ต้องตีพิมพ์ มิเช่นนั้นอาจส่งผลต่อการสอบจบเล่มวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาเอง
(2) ความเป็นมาของหัวข้อวิทยานิพนธ์ว่าด้วยเรื่อง “Conservation Agreements”
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์นี้ไว้ 3 ข้อ คือ
เหตุผลแรก เพราะเป็นงานที่ต้องการต่อยอด โดยพัฒนามาจากงานวิจัยที่เคยทำในสมัยปี พ.ศ. 2557
เหตุผลที่สอง เพราะเป็นงานวิจัยที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากงานวรรณกรรมของตะวันตก โดยมีหนังสือ 2 เล่มที่เป็นตัวจุดประกายความคิด คือ
ประการแรก หนังสือ A Sand County Almanac ที่แต่งโดย Aldo Leopold ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวิชาการด้านนิเวศน์วิทยาและปรัชญานิเวศน์ ในหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่สะท้อนว่าคนส่วนใหญ่คิดว่าตนเองเป็นเจ้าของที่ดิน จึงสามารถแสวงหาประโยชน์ในที่ดินได้ เช่น การใช้สารเคมีกับพืช โดยไม่คำนึงว่าตนเองมีส่วนทำลายธรรมชาติและสร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศน์ทางอ้อม ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นเปลี่ยนวิธีคิด ให้ตระหนักถึงการทำประโยชน์แก่ธรรมชาติและไม่ก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
ประการที่สอง หนังสือ The Privatisation of Biodiversity? ที่แต่งโดย Colin T. Reid มีเนื้อหาที่สำคัญ คือ ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ควรมีมาตรการทางกฎหมายหลาย ๆ มาตรการ โดยเฉพาะมาตรการเชิงสมัครใจที่ให้เอกชนเข้ามาร่วมมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ในหนังสือยังกล่าวถึงมาตรการ Conservation Agreement ซึ่งเป็นมาตรการที่ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้เลือกเอามาพัฒนาในงานวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ “ข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์”
และเหตุผลประการที่สาม เพราะมีความสนใจและอยากทำงานวิจัยที่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่ได้ กล่าวคือ ในต่างจังหวัดที่ดินต่าง ๆ มักพบปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีเกินขนาดทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ การตัดไม้ทำลายป่าที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรอันเป็นสาเหตุของมลพิษทางอากาศ ดังนั้น จึงอยากศึกษามาตรการการใช้กฎหมายใหม่ ๆ ของต่างประเทศ เพื่อที่จะเอามาแก้ไขปัญหาในที่ดินบางพื้นที่ของประเทศไทย
(3) เนื้อหาของวิทยานิพนธ์ หัวข้อ A Legal Proposal for the Creation of Conservation Agreements in Thailand: A Comparative Study
เนื้อหาของวิทยานิพนธ์เล่มนี้ เกิดจากการตั้งคำถามว่า หากจะมีการนำ Conservation Agreement มาใช้ในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหรือเจ้าของที่ดินเข้าร่วมโครงการการดูแลและอนุรักษ์ที่ดิน ควรจะต้องออกแบบกฎหมายอย่างไร
เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้เลือกใช้วิธีการศึกษาวิจัยแบบ Documentary Analysis หรือการเขียนวิจัยเชิงเอกสาร โดยศึกษาจากกฎหมายของต่างประเทศว่ามีการรับรองและกล่าวถึงเรื่อง Conservation Agreement ไว้ว่าอย่างไร และนำกฎหมายของต่างประเทศเหล่านั้นมาเปรียบเทียบ วิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อย ตลอดจนเอามาพัฒนาเป็นข้อเสนอของกฎหมายไทย ซึ่งประเทศที่เลือกทำการศึกษามีอยู่ด้วยกัน 3 ประเทศ คือ ประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ได้ตั้งคำถามถึงเหตุผลในการเลือกศึกษาในประเทศทั้ง 3 ดังที่กล่าวไปนั้น 2 ข้อ คือ
คำถามที่หนึ่ง ประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ต่างเป็นประเทศในระบบกฎหมาย Common Law แตกต่างกับประเทศไทยที่ใช้ระบบกฎหมาย Civil Law ทำให้ถูกตั้งคำถามว่าการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายต่างกันเพื่อพัฒนากฎหมายรองรับข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์ (หัวข้อวิทยานิพนธ์) จะเป็นปัญหาหรือไม่ และจะสามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้อย่างไร
ในเรื่องนี้ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้ให้คำตอบว่า ทั้ง 3 ประเทศที่เลือกมาศึกษามีความเหมาะสมเพราะพัฒนาและใช้ข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์มาเป็นเวลานาน จึงสามารถนำบทเรียนมาศึกษาต่อยอดได้ ในขณะที่ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมาย Civil Law โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส เพิ่งจะมี Conservation Agreement (obligation réelles environnementales) ในปี ค.ศ. 2016 ทำให้ยังขาดตัวอย่างกรณีศึกษา และในประเทศเยอรมนี กฎหมายในเรื่อง Conservation Agreement ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนากฎหมาย
นอกจากนี้ การเปรียบเทียบกฎหมายสิ่งแวดล้อมมีความแตกต่างกับการเปรียบเทียบกฎหมายแพ่งหรือกฎหมายอาญาพื้นฐาน เพราะกฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นกฎหมายที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ราว ๆ ประมาณปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา ทำให้กฎหมายสิ่งแวดล้อมมีที่มาหลักจากกฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งสามารถนำมาศึกษาเปรียบเทียบได้ นอกจากนี้การศึกษานี้ยังเน้นไปที่การเปรียบเทียบ Model ของกฎหมายมากกว่าการเปรียบเทียบวิธีการใช้และการตีความของศาล ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบกฎหมาย Common Law หรือ Civil Law ก็ไม่มีผลต่อการเปรียบเทียบกฎหมายสิ่งแวดล้อม
คำถามที่สอง กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ท่านหนึ่งตั้งคำถามว่าประเทศหนึ่งที่น่าจะมี Model ของเรื่อง Conservation Agreement ที่ดีที่สุด น่าจะเป็นประเทศคอสตาริกา เหตุใดวิทยานิพนธ์เล่มนี้ถึงไม่เลือกศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศคอสตาริกา
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ให้เหตุผลว่า ประเทศคอสตาริกาเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ตกเป็นอาณานิคมของประเทศสเปน ดังนั้น กฎหมายของประเทศเหล่านี้มักเขียนด้วยภาษาสเปน ทำให้อาจเกิดความเสี่ยงในการแปลกฎหมายผิดพลาดและอาจส่งผลต่อการเปรียบเทียบกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้นำข้อสังเกตนี้ไปใส่ในส่วนที่ว่าด้วยข้อจำกัดของการศึกษา (Research Limitation) เพื่อที่จะได้ใช้ต่อยอดเป็นงานวิจัยในอนาคต
ในส่วนของความหมาย Conservation Agreement ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบแล้ว จะพบว่า Conservation Agreement มีความคล้ายคลึงกับข้อสัญญาในทางแพ่ง แต่ Conservation Agreement จะมีลักษณะเฉพาะมากกว่า โดยคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งอาจเป็นเจ้าของที่ดินหรือผู้ถือครองที่ดินที่สามารถเข้าไปเป็นลูกหนี้หรือผู้ที่จะต้องถูกผูกพันในการปฏิบัติหน้าที่บางอย่าง กับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้ถือสิทธิ (Holder) ซึ่งมักเป็นหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ สามารถสรุปสาระสำคัญของ Conservation Agreement ให้เข้าใจได้ง่ายว่า
(1) Conservation Agreement มีผลผูกพันคู่สัญญาในระยะยาวหรือตลอดไป กล่าวคือ แม้เจ้าของที่ดินจะขายที่ดินให้กับเจ้าของที่ดินรายใหม่แล้ว หนี้หรือหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาก็จะถูกโอนไปยังเจ้าของที่ดินรายใหม่ด้วย หรือกรณีเจ้าของที่ดินตาย สิทธิและหน้าที่ในข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์ ก็จะตกทอดไปยังทายาทด้วย
(2) Conservation Agreement จะต้องมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์สิ่งบางอย่าง เช่น การอนุรักษ์สภาพธรรมชาติในที่ดิน
(3) Conservation Agreement จะต้องมีกฎหมายพิเศษรับรอง
จากลักษณะของ Conservation Agreement ดังกล่าว มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าเหตุใดประเทศไทยจะต้องมีการออกกฎหมายพิเศษเพื่อมารับรอง Conservation Agreement ประเทศไทยสามารถใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องภารจำยอมได้หรือไม่
ในประเด็นนี้ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ให้คำตอบว่า ไม่สามารถนำหลักการเรื่องภารจำยอมมาใช้กับข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์ได้ เพราะการก่อตั้งภารจำยอมโดยข้อตกลงต้องมีคู่สัญญา 2 ฝ่าย โดยแต่ละฝ่ายต้องเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งแตกต่างจาก Conservation Agreement ที่ผู้ถือสิทธิ (Holder) ในข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของที่ดินก็ได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้วยว่าข้อตกลงก่อตั้งภารจำยอมนั้นก่อตั้งในที่ดินเอกชนได้ แต่อาจจะไม่สามารถก่อตั้งในที่ดินของรัฐได้
เมื่อได้ทราบความหมายของ Conservation Agreement แล้ว ก่อนที่จะกล่าวถึงข้อเสนอแนะ อันเป็นหนึ่งในเนื้อหาที่สำคัญของวิทยานิพนธ์ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ อยากให้ทำความเข้าใจถึงสาเหตุและข้อดีของการมีข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์ก่อน คือ ในปัจจุบันที่ดิน ส.ป.ก. รัฐเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และให้เอกชนมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะทำการเกษตรลดลง ทำให้ต้องการขายที่ดินไปให้คนอื่น หรือนำที่ดิน ส.ป.ก. ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ประเทศไทยจึงควรมีกฎหมายรองรับการก่อตั้งข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์ โดยอาจออกกฎหมายกำหนดอำนาจให้หน่วยงานรัฐใดหน่วยงานรัฐหนึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลการดำเนินการเรื่องนี้ด้วย
ส่วนข้อดีของการมีกฎหมายรองรับการก่อตั้ง Conservation Agreement อาจได้แก่
(1) ในปัจจุบันประเทศไทย มีแต่กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบ Direct Regulation หรือ Command and Control อันเป็นรูปแบบการควบคุมโดยกฎหมายที่รัฐกำหนดหน้าที่ว่าสิ่งใดห้ามทำ เช่น ห้ามล่าสัตว์ป่าสงวน ห้ามเผ่าป่า ซึ่งกฎหมายลักษณะนี้ ไม่สามารถจูงใจให้คนเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์หรือดูแลสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงควรมีการใช้ Conservation Agreement ที่เป็นเครื่องมือทางกฎหมายแบบสมัครใจหรือเป็นมาตรการเสริมให้คนที่สนใจอนุรักษ์สภาพธรรมชาติในที่ดินมาร่วมทำข้อตกลง โดยผู้ที่เข้าร่วมจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่ตกลงในขณะเดียวกันรัฐก็อาจกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนการเข้าผูกพันในข้อตกลง
(2) Conservation Agreement อาจนำมาใช้เป็นมาตรการเสริมของการควบคุมการใช้ที่ดิน โดยกฎหมายผังเมืองทำหน้าที่กำหนดรายละเอียดว่า ที่ดินในพื้นที่ใดเป็นที่ดินที่ห้ามเพาะปลูกหรือห้ามทำพาณิชยกรรม ซึ่งมาตรการตามกฎหมายผังเมืองอาจมีข้อจำกัดในการนำมาใช้อนุรักษ์สภาพธรรมชาติในที่ดินบางแปลงที่อาจต้องการมาตรการอนุรักษ์ที่มีมาตรฐานสูงกว่าที่ดินแปลงอื่นในบริเวณโดยรอบ ซึ่งในกรณีนี้ อาจนำ Conservation Agreement มาเป็นเครื่องมือเสริมใช้ควบคู่ไปกับกฎหมายผังเมืองเพื่อกำหนดมาตรการอนุรักษ์ในที่ดินเฉพาะแปลงให้สูงกว่ามาตรการที่กำหนดโดยกฎหมายผังเมือง ซึ่งจะทำให้สามารถอนุรักษ์และใช้ที่ดินได้ตรงกับวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้น
(3) เพิ่มบทบาทขององค์กรภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามหลัก Ecosystem Approach และเพิ่มการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการทรัพย์สินและทรัพยากรให้กับคนที่อยู่ระดับล่างให้ได้รับประโยชน์มากขึ้น
ต่อมา ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะในวิทยานิพนธ์ โดยการนำ Conservation Agreement มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย โดยนำเสนอตัวอย่างข้อเสนอทางกฎหมายบางข้อ ดังนี้
ตัวอย่างข้อเสนอแนะประการแรก คือ Conservation Agreement เป็นข้อตกลงที่ก่อตั้งเพื่ออนุรักษ์องค์ประกอบทางธรรมชาติในที่ดินและเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ซึ่งในประเทศอเมริกาสามารถใช้ข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์กับโบราณสถานหรือพื้นที่ที่เป็น Common Space ของสาธารณชนก็ได้ แต่สำหรับประเทศไทยที่เรื่องข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์เป็นเรื่องใหม่ การสร้างข้อตกลงจึงไม่ควรมีลักษณะซับซ้อน ดังนั้น ผศ.ดร.สุรศักดิ์ จึงเสนอว่า ในระยะแรกที่ประเทศไทยเริ่มใช้ข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์ควรใช้เฉพาะกับองค์ประกอบทางธรรมชาติในที่ดินก่อน
ตัวอย่างข้อเสนอแนะประการที่สอง คือ ควรมีบทบัญญัติกำหนดนิยาม คำว่า “การอนุรักษ์” ว่าหมายความว่าอย่างไร ตัวอย่างเช่น คำว่า “การอนุรักษ์” สามารถสื่อความหมายได้ 3 แนว ได้แก่ (1) การสงวนหรือการรักษาพื้นที่ (2) การคุ้มครององค์ประกอบทางธรรมชาติ และ (3) การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจโดยชัดเจนสำหรับผู้ที่จะเข้ามาทำข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์ จึงควรมีบทกำหนดนิยามไว้
ตัวอย่างข้อเสนอแนะประการที่สาม คือ แม้ว่ากฎหมายต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีสิทธิเป็นคู่สัญญากับเจ้าของที่ดิน (ผู้ถือสิทธิ) และ NGOs มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ที่ดินในสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยนั้น เห็นว่าองค์กรเอกชน โดยเฉพาะ NGOs ที่จดทะเบียนตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มักทำหน้าที่เกี่ยวกับการรณรงค์และคุ้มครองสิทธิในเรื่องมลพิษและการอนุรักษ์แต่แทบไม่ปรากฏองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในการดูแลอนุรักษ์ที่ดินดังเช่น land trust ในต่างประเทศจึงเห็นว่า NGOs ที่มีความพร้อมในเรื่องการอนุรักษ์ที่ดินที่จะเขามาทำหน้าที่เป็นผู้ถือสิทธิอาจยังไม่มี จึงเสนอว่าในระยะแรกของการใช้ข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์ กฎหมายควรให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ดูแลข้อตกลงหรือเป็นผู้เข้ามาทำสัญญากับเจ้าของที่ดินก่อน เพราะจะทำให้สามารถบริหารจัดการเรื่องการอนุรักษ์ได้ง่ายกว่า และถ้าหากภาคเอกชนเริ่มมีความพร้อม ในระยะต่อ ๆ ไปจึงค่อยเพิ่มบทบาทให้ภาคเอกชนหรือ NGOs ดูแล
และ ตัวอย่างข้อเสนอแนะประการที่สี่ คือ ที่ดินที่สามารถเข้าร่วมข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์ได้นั้น ไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะที่ดินที่มีโฉนด แต่ควรรวมถึงที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง ที่ดินของส.ป.ก. และป่าสงวนเสื่อมโทรมด้วย
หลังจากที่กล่าวถึงข้อเสนอแนะแล้ว ต่อมา ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้วิเคราะห์ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไว้ ดังนี้
จุดแข็งของข้อเสนอแนะ คือ
(1) หากเทียบกับกฎหมายเรื่องเดียวกันของต่างประเทศ ข้อเสนอแนะดังที่กล่าวไปไม่มีรายละเอียดทางกฎหมายมากนัก ซึ่งอาจเป็นข้อดีในแง่การนำมาใช้พัฒนาและกำหนดรายละเอียดในแผนดำเนินการของแต่ละโครงการอนุรักษ์ (conservation scheme) โดยเรื่องใดที่ไม่มีการกำหนดรายละเอียดไว้ก็ให้ใช้หลักการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเห็นว่าข้อตกลงที่มีความซับซ้อนน้อยเหมาะสมกับการประยุกต์ใช้ในประเทศไทย
(2) การนำข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์มาใช้ในประเทศไทย จะทำให้ประเทศไทยมีมาตรการหรือเครื่องมือต่าง ๆ ในการดูแลที่ดินและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
จุดอ่อนของข้อเสนอแนะ คือ
(1) แม้ว่าโดยหลักข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์ควรกระจายอำนาจให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ข้อเสนอแนะที่ที่เสนอให้ในระยะแรกควรให้หน่วยงานรัฐเข้ามามีบทบาทมากกว่าภาคเอกชน (NGOs) เป็นข้อเสนอแนะที่ไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว อย่างไรก็ตามการให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่หลักจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบความโปร่งใสภายใต้หลักกฎหมายปกครองของไทย
(2) เป็นข้อเสนอแนะที่พัฒนามาจากการศึกษาค้นคว้าทางเอกสารและอ้างอิงทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่และยังต้องมีการพัฒนากำหนดรายละเอียดและความเหมาะสมในการใช้โดยการศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์ ในขณะเดียวกันในทางปฏิบัติหากมีการนำข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์มาใช้กับประเทศไทยจริง ๆ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะยังขาดปัจจัยด้านความร่วมมือของเจ้าของที่ดินและภาคเอกชนที่จะเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้อยู่
นอกจากนี้ ในส่วนของข้อจำกัดของงานวิทยานิพนธ์ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้กล่าวว่ามีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการ ได้แก่
ประการแรก เป็นงานวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาเฉพาะกฎหมายต้นแบบของประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น เพราะประเทศที่กำลังพัฒนาเหมือนกับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับและยังขาดกรณีตัวอย่างที่จะใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบ
ประการที่สอง งานวิทยานิพนธ์เล่มนี้ยังไม่สามารถหาคำตอบเกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมายที่ไม่ชัดเจนหลายประเด็น เช่น งานศึกษานี้ไม่ได้วิเคราะห์อย่างละเอียดว่าว่าข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์เป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ เพราะการระบุเช่นนั้นจะทำให้งานวิทยานิพนธ์มีเนื้อหาที่มากเกินไปและอาจไม่ตรงกับหัวข้อของวิทยานิพนธ์ ดังนั้น หากจะศึกษาในเรื่องดังกล่าว ควรทำเป็นงานวิจัยอีกหัวข้อหนึ่งมากกว่า อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มีความเห็นว่าข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์นี้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามแนวคำพิพากษาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพราะเป็นข้อตกลงที่รัฐมีอำนาจเหนือเอกชน
สุดท้ายนี้ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการทำวิทยานิพนธ์และสิ่งที่อยากจะแนะนำว่า
การทำวิทยานิพนธ์ ไม่มีวิทยานิพนธ์ไหนที่สมบูรณ์ไปทั้งหมด เพราะอาจจะเนื่องด้วยปัจจัยด้านเวลา ปัจจัยด้านภาษา หรือปัจจัยการจำกัดจำนวนคำในงานวิทยานิพนธ์ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การทำให้เต็มที่เต็มความสามารถกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่จะใช้ในการศึกษาให้ได้มากที่สุด
ควรเตรียมคำถามเพื่อตอบคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ไว้ล่วงหน้า เพราะจะได้ลดความเสี่ยงที่จะถูกให้กลับมาแก้งานวิทยานิพนธ์ เช่น หากเรามาเรียนปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่ต่างประเทศ คณะกรรมการมักถามว่าหัวข้อวิทยานิพนธ์จะสามารถประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้อย่างไร เป็นต้น
ควรมีวินัยและแบ่งเวลาให้เป็น กล่าวคือ นอกจากการทำวิทยานิพนธ์แล้ว ควรมีเวลาผ่อนคลายหรือดูแลตัวเองด้วย เช่น อาจจะให้กำลังใจตัวเองโดยการกินอาหารที่ชอบ ออกไปเที่ยวเปลี่ยนบรรยากาศ เป็นต้น มิเช่นนั้นนักศึกษาหลาย ๆ คนจะเครียดและท้อกับการทำวิทยานิพนธ์
ควรสร้างความสัมพันธ์อันดีกับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ไม่ใช่แค่คุยกับอาจารย์เฉพาะเรื่องงานวิจัย แต่ควรคุยในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เพราะตอนทำวิทยานิพนธ์จะได้ไม่ตึงเครียดจนเกินไป และจะได้ปรึกษางานกับอาจารย์ได้ง่ายและราบรื่นขึ้น
คำถามจากผู้เข้าร่วมการนำเสนอ : เนื่องจากผศ.ดร.สุรศักดิ์ เรียนปริญญาโททั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จึงอยากให้เล่าถึงประสบการณ์ความแตกต่างระหว่างการเรียนปริญญาโทของทั้งที่
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง : หากเปรียบเทียบเรื่องภาระการเรียน ประเทศไทยจะเรียนค่อนข้างหนักกว่าและมีข้อบังคับที่ค่อนข้างมากกว่า เช่น ในประเทศไทย นักศึกษาต้องเรียนและทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทควบคู่ไปพร้อมกัน แต่ในต่างประเทศ บางครั้งไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ จึงทำให้สามารถเรียนจบได้ไวกว่า หรือหากเปรียบเทียบเรื่องภาษา งานที่เขียนด้วยภาษาอังกฤษอาจถูกแสดงความหมายออกมาได้ไม่ดีเท่ากับงานเขียนภาษาไทย การสื่อความหมายจึงอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ เว้นแต่นักศึกษาจะมีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาจริง ๆ