สรุปสาระสำคัญจากโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย” ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ ปาฐกถาหัวข้อ “กฎหมายหลักประกันสมัยใหม่: ปัญหาการใช้กรรมสิทธิ์เป็นประกัน” จัดโดยศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เวลา 08.00-12.30 น. ณ ห้องปรีดี เกษมทรัพย์ (LT.2) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเชิดชูครูกฎหมาย
- รองศาสตราจารย์ สมยศ เชื้อไทย อาจารย์พิเศษและอดีตอาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รองศาสตราจารย์สุดา วิศรุตพิชญ์ อาจารย์พิเศษและอดีตอาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายธรรมนูญ พิทยาภรณ์ รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง
- นายคณิต ลิมปิพิชัย นายกสมาคมลีสซิ่งไทย
- อาจารย์ ดร.ภารวีร์ กษิตินนท์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์ ดร.ภารวีร์ กษิตินนท์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ)
- อาจารย์สุประวีณ์ อาสนศักดิ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พิธีกร)
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
ช่วงที่ 1 (กล่าวเปิดงานและกล่าวเชิดชูครูกฎหมาย)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง)
ช่วงที่ 2 (ปาฐกถา)
- นายอานนท์ แก้วปัญญา นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
อาจารย์สุประวีณ์ อาสนศักดิ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พิธีกร)
อ.สุประวีณ์ กล่าวนำถึงกำหนดการงานในวันนี้ว่าจะแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกจะเป็นการเปิดโครงการ โดยผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายแพ่ง และกล่าวเปิดงานโดยคณบดีคณะนิติศาสตร์ และมอบเงินแก่มูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ โดยครอบครัวเกษมทรัพย์ และจากนั้นจะเป็นการกล่าวเชิดชูครูกฎหมายโดยรองศาสตราจารย์ สมยศ เชื้อไทย
และในช่วงที่สองจะเป็นการปาฐกถาหัวข้อ “กฎหมายหลักประกันสมัยใหม่: ปัญหาการใช้กรรมสิทธิ์เป็นประกัน” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากคณะนิติศาสตร์ และนอกคณะนิติศาสตร์
งานในวันนี้ได้จัดขึ้นโดยศูนย์กฎหมายแพ่ง เพื่อรำลึกถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ ซึ่งมีต่อคณะนิติศาสตร์ รวมถึงต่อวงการนิติศาสตร์ของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสานต่อผลงานทางวิชาการและองค์ความรู้ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี ซึ่งเป็นปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแพ่ง เป็นผู้บุกเบิกวิชานิติศาสตร์ วิชานิติปรัชญา และนิติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศไทย โดยสัมมนาวิชาการในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจะดำเนินการทางวิชาการไปในทิศทางที่ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี ได้คาดหวังและวางรากฐานไว้
รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การจัดปากฐาวิชาการเชิดชูครูกฎหมาย ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ได้ริเริ่มมาแล้วหลายปี ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 7 โดยศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์นั้นได้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการพัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาวิชาการต่าง ๆ ในสังคมไทย และอีกด้านหนึ่งได้แก่การพัฒนาอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ จึงเป็นโอกาสอันดีที่อาจารย์ ดร.ภารวี กษิตินนท์ ซึ่งได้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania สหรัฐอเมริกา ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จะได้นำเสนอปาฐกถา และมีผู้ทรงคุณวุฒิมาให้คำแนะนำเพิ่มเติมถึงพัฒนาการในสังคมไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวว่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานในครั้งนี้เพื่อเชิดปูชนียบุคคลที่มีคุณูปการต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้จัดต่อเนื่องทุก ๆ ปี ทั้งนี้ ท่านศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ ถือได้ว่ามีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อวงการนิติศาสตร์ไทย โดยมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปหลักสูตรนิติศาสตร์และการสร้างอาจารย์ที่เข้มแข็งจนอาจจะกล่าวได้ว่าอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศไทยส่วนใหญ่ต้องเป็นลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีได้เป็นแรงบันดาลในให้อาจารย์และนักวิชาการทางด้านกฎหมายให้สร้างสรรค์องค์ความรู้ในทางกฎหมายและกระตุ้นให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวิชานิติศาสตร์ เพราะฉะนั้นในงานวันนี้นอกจากการมารำลึกถึงคุณูปการของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี ยังเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีในการพัฒนาองค์ความรู้ในทางนิติศาสตร์ และขอขอบคุณครอบครัวเกษมทรัพย์ที่ได้ให้ความกรุณาและให้ความช่วยเหลือในการจัดงานในครั้งนี้ และทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา และขอบคุณศูนย์กฎหมายแพ่งรวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน โดยเฉพาะอาจารย์ ดร.ภารีวี ซึ่งเป็นผู้จุดประกายหัวข้อจัดงานในครั้งนี้ และหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้จะให้ประโยชน์ให้สาระ และหวังว่าทุกท่านจะได้ขบคิดและต่อยอดปัญหาหรือหัวข้อในวันนี้ต่อไปเพื่อหาทางในการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เกิดความยุติธรรมต่อไป ให้สมกับเจตนารมณ์ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์
รองศาสตราจารย์ สมยศ เชื้อไทย อาจารย์พิเศษและอดีตอาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้กล่าวเชิดชูครูกฎหมาย)
รศ.สมยศ กล่าวว่า กิจกรรมนี้ได้ทำติดต่อมาหลายปี โดยทุกครั้งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีในแง่ที่ได้นำกิจกรรมนี้ไปเชื่อมต่อกับอาจารย์เก่าแก่ผู้มีคุณูปการ เป็นผู้เริ่มต้น เป็นผู้วางความคิดและสร้างสรรค์มาในอดีตแ ละช่วยนำพาพวกเรามาถึงปัจจุบัน ซึ่งตนคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญและน่าชื่อชมและเป็นธรรมเนียมของคนไทย ตนรู้สึกอยู่เสมอว่าผู้ที่รู้สำนึกในบุญคุณของครูบาอาจารย์ บิดามารดา ย่อมมีความเจริญเสมอ ซึ่งงานการและกิจกรรมทางวิชาการทั้งหลายนี้ได้เชื่อมโยงกับสิ่งที่เป็นมงคลในชีวิต เชื่อว่างานวิชาการนี้ยังออกดอกออกผลต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน รวมทั้งลูกศิษย์ทั้งหลายที่มีคติสิ่งนี้อยู่ก็นำพาความเจริญในชีวิตเช่นกัน ท่านศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ นั้นตนก็ได้กล่าวถึงท่านบ่อย แม้ท่านจะจากไปแต่ก็อยู่ในจิตใจของพวกเราทุกคน แต่สิ่งที่รำลึกถึงท่านดีที่สุดนั้นไม่ใช่เพียงแค่ในแง่ตัวบุคคลแล้ว แต่ยังรวมถึงคุณงามความดี งาน และปณิธานของท่านที่ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังสืบต่อและขยายความเจริญงอกงามต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เป็นนักปราชญ์ คือมีความรอบรู้ศาสตร์หลายแขนง ทั้งประวัติศาสตร์ ปรัชญา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ไม่เพียงแค่รอบรู้ แต่ลุ่มลึก ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่แต่เพียงลูกศิษย์เท่านั้น แต่ศาสตราจารย์ ชาวเยอรมันได้กล่าวถึงท่านในแง่นี้เสมอ
อาจารย์ ดร.ภารวีร์ กษิตินนท์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กลางในภาพ) (วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ)
อ.ดร.ภารวีร์ กล่าวว่า การพิจารณาปัจจัยที่สำคัญของเศรษฐกิจคือการเข้าถึงสินเชื่อซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักประกัน ทั้งนี้ ประเทศไทยสามารถทำคะแนนได้ 7 จาก 10 คะแนน ตัวชี้วัดที่สำคัญของไทยที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของธนาคารโลกก็คือตัวชีวัดที่หนึ่ง กล่าวคือ ประเทศไทยไม่มีระบบหลักประกันที่เป็นระบบเดียวทั้งการก่อให้เกิดสิทธิในหลักประกันเอง การจดทะเบียน และการบังคับประกัน ซึ่งหลักเช่นว่านี้สอดคล้องกับหลักประกันสมัยใหม่คือ นิติสัมพันธ์ใด ๆ ก็ตามที่มีวัตถุประสงค์ในการก่อให้เกิดสิทธิหลักประกันหรือก่อให้เกิดทรัพยสิทธิในหลักประกันแก่เจ้าหนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระนี้ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไรก็ตามซึ่งควรจะอยู่ภายใต้หลักกฎหมายหลักประกันเดียวกัน ซึ่งกฎหมายหลักประกันของไทยนั้นไม่สอดคล้องกับหลักดังกล่าว
ในกรณีของกฎหมายที่บังคับใช้แก่เจ้าหนี้มีประกันคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องจำนำ จำนอง และพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ ส่วนหลักประกันที่เกิดขึ้นจากการให้สินเชื่อในทางปฏิบัติที่เรียกว่า “สัญญาลีสซิ่ง” โดยการจัดให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์และดำเนินการหน่วงกรรมสิทธิ์เอาไว้จนกว่าจะชำระครบถ้วน จะเห็นได้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหนี้อีกส่วนหนึ่งเป็นเจ้าของนั้นทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความแตกต่างกันทั้ง ๆ ที่สองกลุ่มนั้นมีวัตถุประสงค์ในการชำระหนี้ ผลที่เกิดขึ้นกรณีของเช่าซื้อหรือลีสซิ่งนั้นแม้ว่าลูกหนี้จะผ่อนค่างวดเพียงใดก็ยังไม่สามารถนำทรัพย์สินไปดำเนินการใด ๆ ได้เพราะกรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของเจ้าหนี้ หากให้เจ้าหนี้รายอื่นมารับทรัพย์สินดังกล่าวเปรียบเสมือนได้กับเจ้าหนี้จำนองลำดับที่สองเพราะลูกหนี้ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งต่างจากการที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่นำไปประกันหนี้กับเจ้าหนี้หลายรายโดยที่จำหนี้มีลำดับในการชำระหนี้ที่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่ากฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมาตรา 9 จะเปิดช่องว่าลูกหนี้สามารถนำทรัพย์สินในอนาคตไปเป็นหลักประกันได้แต่สิทธิในหลักประกันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อลูกหนี้ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นมาแล้ว ดังนั้น หากลูกหนี้ผิดนัดในสัญญาเช่าซื้อหรือลีสซิ่งลูกหนี้ที่รับทรัพย์สินที่จะได้รับทรัพย์มาในอนาคตจะมีความเสียงที่จะไม่ได้หลักประกันและเจ้าหนี้ก็อาจจะไม่รับหลักประกัน การหน่วงกรรมสิทธิ์นั้นลูกหนี้ไม่ได้จะใช้ประโยชน์ในมูลค่าของทรัพย์สินในอันที่จะนำไปใช้เป็นหลักประกันในการรับสินเชื่อของเจ้าหนี้รายอื่น
ปัญหาประการที่สอง การที่เจ้าหนี้ผู้หน่วงกรรมสิทธิ์เป็นประกันลูกหนี้ไม่ใช่เจ้าของ หากลูกหนี้ผิดนัดเจ้าหนี้ก็สามารถรับเงินที่ชำระมาก่อนและเข้าครอบครองทรัพย์สินโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าจะต้องนำทรัพย์สินไปขายและนำเงินมาชำระหนี้และคืนส่วนที่เกินให้แก่ลูกหนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับหลักประกันทั่วไปเมื่อลูกหนี้ผิดทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันจะต้องถูกนำไปบังคับขายโดยนำส่วนที่ได้มาหักชำระหนี้และคืนส่วนที่เกินไป แม้ว่าจะมีประกาศเกี่ยวกับการให้เช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ออกตามพระราบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้กรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดสัญญาและผู้ให้เช่าซื้อเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าซื้อจะต้องดำเนินการขายทอดตลอดซึ่งใช้บังคับแก่ผู้เช่าซื้อเป็นผู้บริโภคและเป็นทรัพย์สินประเภทที่มีการกำหนดเท่านั้น แต่การที่จะให้เจ้าหนี้ดังกล่าวมาอยู่ในระบบประกันจะเป็นไปได้หรือไม่ในระบบกฎหมายไทย ที่ความเป็นเจ้าหนี้และความเป็นเจ้าของมีความแตกต่างกัน ในกรณีเจ้าหนี้หน่วงกรรมสิทธิ์ที่ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ครบลูกหนี้จะมีสิทธิอะไรในการนำทรัพย์สินไปเป็นหลักประกันต่อ จึงนำมาสู่ประเด็นในการเสวนาในวันนี้ กล่าวคือ กฎหมายหลักประกันสมัยใหม่ในการใช้กรรมสิทธิ์เป็นหลักประกัน
นายคณิต ลิมปิพิชัย นายกสมาคมลีสซิ่งไทย (ขวาในภาพ) (วิทยากร)
นายคณิต กล่าวว่า ในฐานะนายกสมาคมลีสซิ่ง ตนอยากอธิบายเรื่องการประกอบธุรกิจลีสซิ่งให้ทุกท่านเกิดความเข้าใจเล็กน้อย กล่าวคือ การหน่วงกรรมสิทธิ์นั้นมีหลายแบบโดยมีทั้งเช่าซื้อและลีสซิ่ง โดยข้อเท็จจริงแล้วอาจจะไม่เข้าใจถึงความแตกต่าง การที่บริษัทจำกัดไปจดทะเบียนโดยใช้ชื่อว่า “ลีสซิ่ง” ซึ่งมีหลายรูปแบบแต่โดยหลัก ๆ มี 3 แบบ คือ
- เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ลีสซิ่งซึ่งประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สัญญาเช่าทางการเงิน และสัญญาเช่าแบบดำเนินงาน ซึ่งเป็นการให้สินเชื่อโดยที่ลูกค้าต้องการใช้ทรัพย์สินโดยต้องการให้บริษัทลีสซิ่งไปจัดหาทรัพย์สินตามที่ลูกค้าต้องการและมีการพิจารณาสินเชื่อเหมือนธนาคารทุกประการ เมื่อมีการอนุมัติจึงมีการทำสัญญาเช่า แต่มีข้อแตกต่างกันคือ
2.1 สัญญาเช่าทางการเงิน คือ เช่าทรัพย์เมื่อครบกำหนดแล้วต้องการใช้ทรัพย์นั้นต่อไปหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกค้า เช่น เครื่องจักรโรงงาน เป็นต้น โดยจะให้สิทธิในการซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ซึ่งจะราคาเท่าใดนั้นอยู่ที่ตกลงกันเพื่อให้การสัญญาซื้อขายเกิดขึ้น
2.2 สัญญาเช่าแบบดำเนินงาน คือ ต้องการใช้ทรัพย์สินโดยที่เมื่อระยะเวลาเช่าสิ้นสุดจะไม่ต้องการทรัพย์สินดังกล่าวต่อไป เช่น รถยนต์ประจำตำแหน่ง เป็นต้น
ตนเห็นว่า ธุรกิจดังกล่าวนี้เป็นกรณีของการให้สินเชื่อโดยที่ต้องการเงินต้นของการลงทุนคืน การที่หนี้มีสภาพปัญหาคล่องทางการเงินแต่ประสงค์จะใช้ทรัพย์ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายมากเพราะจะต้องมีการฟ้องร้องบังคับคดีและโอกาสที่จะได้กำไรมีน้อยเพราะทรัพย์มีค่าเสื่อม ทั้งนี้ ไม่มีการคิดถึงกำไรส่วนเกินจากการขายทรัพย์ ในทางปฏิบัตินั้นให้ลูกหนี้คืนทรัพย์ได้และเปิดโอกาสให้เข้าร่วมการขายทอดตลาดทรัพย์สินภายใต้กติกาที่กำหนด ฉะนั้น จึงเข้าใจตรงกันว่ากฎหมายหลักประกันของธนาคารโลกนั้นน่าจะตรงกันกับสภาพปัญหาโดยมองว่าสภาพธุรกิจเป็นสินเชื่อ ทั้งนี้ กฎหมายหลักประกันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้โดยที่ลีสซิ่งนั้นจะไม่ได้ใช้หลักเรื่องกรรมสิทธิ์แต่จะใช้เรื่องหลักประกันบังคับแทน เพราะว่าหลักกรรมสิทธิ์นั้นบังคับได้ยาก
กฎหมายฉบับใหม่นั้นจะมี 3 องค์ประกอบหลักคือ
- การจดแจ้ง กล่าวคือ การให้สินเชื่อจะต้องจดแจ้งซึ่งคล้าย ๆ เครดิตบูโรเพื่อให้ทุกคนเห็น
- ลำดับสิทธิโดยที่ถือว่าใครจดก่อนได้ก่อนยกเว้นลีสซิ่งที่เป็นผู้เช่าซื้อทรัพย์สินโดยกฎหมายเคารพกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้ออยู่ หากเหลือส่วนต่างจากการขายจะต้องคืนแก่ลูกหนี้
- การบังคับหลักประกันซึ่งกฎหมายไทยในปัจจุบันนั้นเป็นการบังคับกิจการแต่ไม่ใช่บังคับทรัพย์สิน
ในประเด็นที่กล่าวไปข้างต้น กรณีที่ทรัพย์ไม่ได้กรรมสิทธิ์จะสามารถจดเป็นหลักประกันได้หรือไม่นั้น กล่าวคือ ทรัพย์หนึ่งชิ้นนั้นจะนำไปกู้เงิน 2 แหล่ง คือธนาคารและบริษัทลีสซิ่ง จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้นแน่นอนว่าเกิดขึ้นน้อยเพราะว่ามีความเสี่ยงเว้นแต่ทำข้อตกลงลูกหนี้ แต่อย่างไรก็ตามจะเกิดกรณีในการซื้อวัตถุดิบมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์แล้วนำทรัพย์ไปประกันเช่นนี้ทำได้ ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้ให้ประโยชน์ของการเข้าถึงสินเชื่อได้ดีและง่ายมากขึ้น
ทำไมการบังคับกับกรรมสิทธิ์ทำได้ยากนั้น ต้องพิจารณาว่าจะต้องบังคับกับทรัพย์สินใด โดยที่กรรมสิทธิ์นั้นพิสูจน์ที่หลักฐานหากเป็นการจดทะเบียนจะสามารถบังคับได้ง่าย แต่ทรัพย์สินบางประการที่อยู่ในสถานที่ของลูกหนี้ไม่สามาระเข้าไปบังคับได้ทันทีจะต้องรอคำสั่งศาลจึงเป็นที่มาของการที่กล่าวว่ายากเพราะต้องใช้ระยะเวลา 2-3 ปี
รองศาสตราจารย์สุดา วิศรุตพิชญ์ อาจารย์พิเศษและอดีตอาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ซ้ายในภาพ) (วิทยากร)
รศ.สุดา กล่าวว่า การที่ประเทศไทยเป็นระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้กฎหมายตรงตัวแต่จะต้องพิจารณาถึงบริบทของสังคมด้วย การที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลักประกันก็เป็นเช่นกัน ทั้งนี้ อาจารย์รองพล เจริญพันธุ์ ได้อธิบายว่ากฎหมายลักประกันนั้นมีอยู่ 4 ลำดับชั้น หมายความว่าลักษณะจะเกิดขึ้นจากเหตุผลของเรื่องและมีความแตกต่างกัน
- ระบบกรรมสิทธิ์เพื่อประกันหนี้ เพราะแต่เดิมการบังคับหนี้นั้นยุ่งยากฉะนั้นสิ่งใดที่สามารถกำหนดกรรมสิทธิ์ได้จึงก่อให้เกิดความมั่นใจแก่เจ้าหนี้ในอันที่จะได้รับชำระหนี้และจะต้องได้รับการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ด้วยเหตุนี้จึงสร้างระบบกรรมสิทธิ์ขึ้นมาโดยที่ผู้มีกรรมสิทธิ์ย่อมสามารถติดตามเอาทรัพย์มาได้ไม่ต้องเพิ่งอำนาจศาล ดังนั้น พัฒนาการแรกจึงเป็นขายฝาก และเช่าซื้อ ลีสซิ่ง โดยที่ทั้งสองนี้เกิดจากข้อจำกัดเรื่องหลักประกันของกฎหมายไทย
- ระบบสัญญาประธานและสัญญาอุปกรณ์ โดยที่เกาะติดกับทรัพย์ที่จะเอาไปชำระหนี้ได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น เช่น ระบบเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายล้มละลาย เป็นต้น ทั้งนี้ระบบจำนอง จำนำ นั้นมีปัญหาเพราะว่าเป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เหนือตัวทรัพย์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิทธิที่มีเหมือนตัวทรัพย์ฉะนั้นต้องมีตัวทรัพย์อยู่ดังนั้นระบบเช่นว่านี้จึงไม่มีทางนำทรัพย์ในอนาคตมาเป็นหลักประกันได้เพราะจะไม่มีตัวทรัพย์ให้ไปเกาะ
- ระบบหลักประกันที่ลอยเหนือทรัพย์สิน เมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาสิทธิของเจ้าหนี้เหนือทรัพย์สินของลูกหนี้จึงลงไปเกาะติดเปรียบเสมือนเจ้าหนี้เป็นเหยี่ยวโดยที่เป็นหลักของการร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ
- ระบบสัญญา โดยการร่างสัญญาเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น เช่น ทรัสต์รีซีท เป็นต้น เนื่องจากเป็นการยึดเอากรรมสิทธิ์เป็นหลักประกัน โดยที่บางกรณีอาจจะปรับใช้ในเรื่องจำนำได้แต่อย่างไรก็ตามจำนำนั้นมีอุปสรรคคือการที่ทรัพย์จำนำกลับคืนสู่ผู้จำนำการจำนำเป็นอันระงับแต่โดยสภาพไม่ได้จำนำได้เพราสินค้านั้นจะต้องนำไปซื้อขายจึงก่อให้เกิดทรัสต์รีซีทคือความไว้วางใจระหว่างกัน โดยที่ตัวผู้ซื้อทรัพย์นั้นยอมให้กรรมสิทธิ์เป็นของสถาบันทางการเงินและสถาบันทางการเงินให้สัญญาแก่ผู้ซื้อว่าสามารถนำทรัพย์สินนั้นไปขายได้ หากขายได้เงินที่ได้มาจากการขายต้องนำมาชำระหนี้ ซึ่งศาลไทยก็ยอมรับทรัสต์รีซีทมาโดยตลอดว่าเป็นสัญญาประการหนึ่งซึ่งบังคับได้เพราะไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย
เพราะฉะนั้น ในความเห็นของตนหลักประกันประการแรกคือ ขายฝาก ประการที่สองคือเช่าซื้อ และประการที่สามคือลีสซิ่ง ส่วนทรัสต์รีซีทจัดว่าเป็นระบบที่เอากรรมสิทธิ์เป็นหลักประกันเช่นกัน โดยแยกเรื่องหน่วงกรรมสิทธิ์ออกไปเพราะยึดโยงกับสัญญาซื้อขาย ทั้งนี้ การขายฝาก เช่าซื้อ ลีสซิ่ง จะมีสัญญาเดียวตรงกันข้ามกับสัญญาหลักประกันอื่น ๆ จะมีสัญญาประธานและสัญญาอุปกรณ์
จุดหนึ่งที่เป็นปัญหามากก็คือเรื่องของจำนำตามมาตรา 769 ที่กำหนดว่าจำนำเป็นอันระงับหาผู้รับจำนำยอมให้ทรัพย์สินไปอยู่ในความครอบครองของผู้จำนำ ทั้งนี้ ศาลเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นการคืนในลักษณะใดก็ตามหากมีเจตนาที่จะคืนจำนำเป็นอันระงับ เช่น เช่าทรัพย์ที่จำนำกลับคืนจำนำเป็นอันระงับ เป็นต้น
ทั้งนี้ เราน่าจะมองเป็น 2 มุม กล่าวคือ สาระของกฎหมายหลักประกันของไทยมีปัญหาหรือไม่ อยู่ตรงไหน เพื่อที่จะได้แก้ไขให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย และส่วนของรูปแบบกฎหมายหลักประกันระบบเดียวตามที่ธนาคารโลก ซึ่งตนเองเห็นว่าแต่ละประเทศมีประวัติศาสตร์และรากเหง้าที่แตกต่างกันจึงต้องอธิบายและควรให้นักกฎหมายอธิบายเพราะหากว่ากฎหมายนั้นเป็นหลักสากลแล้วรูปแบบจะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง เช่น กฎหมายของสหรัฐอเมริกายังให้อำนาจแก่มลรัฐในการตรากฎหมายที่สอดคล้องกับสังคม เป็นต้น ซึ่งหากเป็นไปในแนวทางนี้ตนเห็นด้วย
การที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไม่ได้ใช้กรณีสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทำการประกอบธุรกิจกับคนที่มาใช้บริการ เช่น เช่าซื้อแบบดั่งเดิมเจ้าของทรัพย์เอาทรัพย์ออกเช่า ไม่มีคนกลาง เป็นต้น แต่การที่มีปัญหาจำนำจึงนำไปสู่การพัฒนาการโดยเริ่มต้นจากการขอสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ซึ่งการแก้ไขปัญหาโดยการเช่าซื้อ การที่ผู้เช่าซื้อไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์เมื่อเกิดการบังคับคดีจึงรู้สึกว่าเสียเปรียบ
ส่วนการซื้อขายแบบหน่วงกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นระบบของสัญญาซื้อขายโดยศาลฎีกาจะบังคับให้เท่าที่หนี้ของสินค้าที่เหลืออยู่เท่านั้นไม่รวมหนี้อื่น ๆ ตนมองว่าระบบนี้ดีกว่าระบบเจ้าหนี้มีประกัน เช่น คดีล้มละลายผู้ร้องที่มาร้องเพราะตนเองเป็นเจ้าของทรัพย์หากพิสูจน์ได้ศาลก็จะคืนทรัพย์ให้ไม่เข้ามาอยู่ในกองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย อย่างไรก็ตาม หากเป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ที่ทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าทรัพย์สินของลูกหนี้เช่นว่านี้จะถือว่าเป็นกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 109 (3) กฎหมายล้มละลาย
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กลางในภาพ) (วิทยากร)
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวถึงประเด็นในการใช้กรรมสิทธิ์ในการชำระหนี้โดยตั้งประเด็นว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้นให้ความคุ้มครองครอบคลุมหรือไม่ และจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในสมมติฐานเบื้องต้นของตนคือว่าถ้าหากว่าเข้าใจระบบกฎหมายของไทยสอดคล้องต้องกันแล้วตนยังไม่เห็นซึ่งปัญหาเช่นว่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามว่าการฟ้องเรียกทรัพย์ตามหลักกรรมสิทธิ์นั้นเกิดปัญหาอะไร ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติอาจจะมีปัญหาแต่ในทางทฤษฎีน่าจะเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดโดยที่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของระบบกรรมสิทธิ์ คือ การพิสูจน์กรรมสิทธิ์อย่างไร โดยทั่วไปการใช้กรรมสิทธิ์เป็นหลักประกันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการบังคับชำระหนี้ ซึ่งแยกได้ 2 ประการ
ประการที่หนึ่ง โดยที่ให้ลูกหนี้ในฐานะผู้ให้ประกันโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนเป็นหลักประกัน เช่น สัญญาขายฝาก และสัญญาทรัสต์รีซีท ซึ่งผู้รับหลักประกันจะมีกรรมสิทธิ์และหากมีการชำระหนี้แล้วกรรมสิทธิ์จะโอนหลับ
ประการที่สอง การขายทรัพย์แบบผ่อนส่ง โดยที่เจ้าหนี้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อโดยที่มีเงื่อนไขว่ากรรมสิทธิ์จะโอนไปยังผู้ซื้อได้ก็ต่อเมื่อลูกหนี้ชำหนี้ครบถ้วนแล้ว เช่น สัญญาขายทรัพย์ผ่อนส่ง หรือสัญญาเช่าซื้อที่ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่มีเงื่อนไขล่วงหน้า ทั้งนี้ เป็นสัญญาขายเสร็จเด็ดขาดแล้วเพียงแต่มีเงื่อนไขเท่านั้น การทำข้อตกลงสงวนกรรมสิทธิ์โดยจะต้องมีการตกลง 2 ระดับ คือ มีการทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และมีการตกลงหน่วงกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ การโอนกรรมสิทธิ์กับการทำข้อตกลงนั้นอาจจะไม่ได้เกิดในเวลาเดียวกันสะท้อนว่ากรรมสิทธิ์จะโอนเมื่อใดแล้วแต่จะตกลงกัน
การได้กรรมสิทธิ์โดยมีเงื่อนไขนั้นสิทธิเหนือทรัพย์ย่อมเปลี่ยนไปภายใต้เงื่อนไขโดยที่ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยมีเงื่อนไขแต่ผู้ซื้อยังไม่ได้กรรมสิทธิ์จนกว่าเงื่อนไขจะสำเร็จ กล่าวคือ มีสิทธิได้กรรมสิทธิ์ภายใต้เงื่อนไข ดังนั้น ทันทีที่ผู้ซื้อชำระเงินครบถ้วนกรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปทันทีโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้ขายเพราะว่าตกลงโอนและรับโอนโดยมีเงื่อนไข ฉะนั้นหากมีการเปลี่ยนใจโอนกรรมสิทธิ์จึงเป็นการผิดสัญญาอันนี้จะนำไปสู่ปัญหาที่ว่าผู้เป็นเจ้าของแบบมีเงื่อนไขนั้นเป็นเจ้าของเด็ดขาดหรือไม่ซึ่งเป็นปัญหาในวิชานิติกรรมสัญญาในมาตรา 184-186 กล่าวคือ ผู้มีสิทธิในเงือนไขจะกระทำการใดให้กระทบประโยชน์ของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ หากว่าสิทธิมีเงื่อนไขจะโอนไปโดยติดเงื่อนไขตามมาตรา 185 หรือหากทำการโดยไม่สุจริตเงื่อนไขให้ถือตามมาตรา 186 ซึ่งเป็นประเด็นที่ตนเห็นว่า ลักษณะของกรรมสิทธิ์ที่มีเงื่อนไขเป็นสิทธิที่กฎหมายรับรองว่าเกิดขึ้นแล้วเพียงแต่ว่าอยู่ภายใต้เงื่อนไขและสิทธิที่อาจจำหน่ายได้ตามมาตรา 184-186 ซึ่งอาจจะขาย จำนำ ประกันการชำหนี้ก็ได้แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข
ตัวอย่าง ก. ตกลงซื้อเครื่องจักรจาก ข. โดยตกลงหน่วงกรรมสิทธิ์จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ต่อมา ข. นำเครื่องจักรดังกล่าวไปขายให้แก่ ค. โดยไม่มีเงื่อนไข โดยให้สิทธิเรียกคืนตามหลักกรรมสิทธิ์จาก ก. ฉะนั้น โดยหลัก ค ย่อมได้กรรมสิทธิ์ ส่วน ก. เป็นเพียงคู่กรณีทางหนี้ยัน ข. ได้เท่านั้นจะไม่อาจยัน ค. ได้ การที่ ค. รับโอนสิทธิจาก ข. จึงต้องรับโอนสิทธิไปจากสิทธิที่ ข มีอยู่ ซึ่งในกรณีเช่นนี้หากว่า ก. มาชำระครบถ้วนกรรมสิทธิ์ที่ ค. ได้ไปเป็นกรรมสิทธิ์ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขเมื่อเงื่อนไขสำเร็จกรรมสิทธิ์จะตกเป็นของ ก. และ ค. เสียสิทธิไป เนื่องจากจาก ก. มีสิทธิดีกว่าเพราะชำหระนี้ครบถ้วน อย่างไรก็ตามยังเป็นข้อถกเถียงว่ากรณีนี้ ก. ไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะกรรมสิทธิ์ตกไปยัง ค. โดยสมบูรณ์แต่เป็นเรื่องที่ ก. ถูกรอนสิทธิเท่านั้น
ในกฎหมายเยอรมันนั้นไม่มีมาตรา 185 ของประเทศไทย เพราะนำมาจากญี่ปุ่น ทำให้กฎหมายเยอรมันโดยศาลตีความว่าหากผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ไปโดยมีเงื่อนไขก็แต่โดยสิทธิทางหนี้ เพราฉะนั้น ผู้ซื้อที่ได้กรรมสิทธิ์โดยมีเงื่อนไขโอนกรรมสิทธิ์ของตนไปยังบุคคลภายนอกแล้วบุคคลภายนอกย่อมได้กรรมสิทธิ์ไปโดยมีเงื่อนไขจนกระทั้งผู้ขายหรือผู้ให้เช่าซื้อจะยินยอมด้วย ซึ่งมาจากหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1956 ศาลเปลี่ยนแนวซึ่งผู้ซ้อได้รับกรรมสิทธิ์โดยมีเงื่อนไขแล้วย่อมได้สิทธิไปโดยเด็ดขาดที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขและสิทธิเช่นว่านี้เป็นสิทธิเหนือทรัพย์ไม่ใช่สิทธิทางหนี้ ดังนั้นผู้รับโอนย่อมได้สิทธิดังกล่าว สะท้อนว่าเป็นการยอมรับสิทธิโดยมีเงื่อนไขนั้นมีได้ทั้งเป็นสิทธิบุคคลสิทธิและทรัพย์สิทธิ์ที่มีเงื่อนไข ในกรณีการโอนกรรมสิทธิ์แบบต่าง ๆ ซึ่งตนเห็นว่าสามารถนำมาใช้ได้หลายอย่างหลายประการ
ต่อมาว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิ์เป็นหลักประกันการชำระหนี้หรือทรัสต์รีซีส ซึ่งลูกหนี้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนเป็นหลักประกันการชำหระหนี้เป็นรูปแบบที่สำคัญโดยพัฒนามาและศาลไทยยอมรับ หากพิจารณากฎหมายหลักประกันทางธุรกิจในแง่ของสิทธิของผู้ซื้อ การที่ผู้ให้เช่าซื้อหรือผู้ขายผ่อนส่งให้แก่บุคคลที่ล้มละลายไปนั้นย่อมจะเสียสิทธิในทรัพย์ไปเพราจะตกเป็นกองทรัพย์สินในคดีล้มละลายและบุคคลดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้สามัญเท่านั้นตามมาตรา 109 (3) อาจจะได้รับการแก้ไขตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจโดยที่เอาสิทธิโดยมีเงื่อนไขของผู้ซื้อเอามาเป็นหลักประกันแก่ผู้ขายอีกชั้นหนึ่ง กล่าวคือ ผู้ให้เช่าซื้อหรือผู้ขายแต่เดิมไม่มีหลักประกันจะกลายเป็นเจ้าหนี้มีหลักประกันและจะได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับผู้รับจำนำ การที่นำสิทธิเช่นว่านี้มาเป็นหลักประกันได้นั้นหากนำไปให้แก่สถาบันการเงินย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาความเสี่ยงว่าจะยอมรับได้หรือไม่เท่านั้นและบุคคลที่อยู่ในระบบเข้าใจหลักกฎหมายหรือไม่
อาจารย์ ดร.ภารวีร์ กษิตินนท์
อ.ดร.ภารวีร์ กล่าวว่า ระบบหลักประกันที่เป็นระบบเดียวที่ธนาคารโลกต้องการนั้นหมายถึงอะไร ประการแรกต้องต้องบอกว่าไม่ขัดแย้งต่อระบบการคุ้มครองผู้บริโภค และการที่มีเจ้าหนี้หลายรูปแบบเป็นปัญหาในเชิงรูปแบบหรือไม่ เพราะว่าเป็นการต้องการให้เจ้าหนี้สามารถแข่งขันกันได้ การปฏิบัติต่อผู้ให้สินเชื่อต่างกันย่อมส่งผลให้ไม่มีการแข่งขัน การที่เจ้าหนี้หน่วงกรรมสิทธิ์ไว้แล้วลูกหนี้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากกรรมสิทธิ์นั้นได้โดยให้สิทธิในหลักประกันแก่เจ้าหนี้อื่นเป็นลำดับรองจึงทำให้ลูกหนี้ต้องไปหาเจ้าหนี้เดิมเพื่อของเพิ่มวงเงินสินเชื่อเนื่องจากไม่มีทรัพย์สินอื่นแล้วทำบุคคลอื่นไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขอาจจะไม่ดีมาก แม้ว่ามีการรีไฟแนนซ์ได้แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีเสมอไปจึงเป็นเหตุผลของการมีจำนองลำดับที่สอง การที่มีเจ้าหนี้หลายกลุ่มทั้งเจ้าหนี้มีกรรมสิทธิ์และเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายไทยนั้นทำให้ไม่มีการแข่งขันและทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในทางทรัพย์สินได้อย่างเต็มจำนวนในการขอสินเชื่อรายอื่น จึงเป็นข้อกังวลในการคงรูปแบบของเจ้าหนี้เอาไว้ผลจะเป็นอย่างไร
ประเด็นต่อมาการที่กฎหมายไทยอาจจะมองว่าไม่มีหนี้ประธานหรือไม่ เหตุใดทางธนาคารโดจึงมองว่านิติสัมพันธ์ในลักษณะเช่นว่านี้สามารถนำเข้ามาสู่ระบบได้ โดยมองว่าในเรื่องเช่าซื้อเป็นหนี้ราคาทรัพย์สินและใช้ตัวทรัพย์สินนั้นเป็นประกัน หรือการขายฝากที่ผู้ขายต้องการเงินสดโดยการโอนทรัพย์สินให้ไปก่อนอันมีลักษณะของการเป็นประกัน ทั้งนี้ เป็นการเอาทรัพย์เป็นประกันแต่เรียกไม่เหมือนกัน จึงมีการเสนอว่าอาจจะจัดเข้ามาสู่ระบบเดียวกันได้เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันระหว่างเจ้าหนี้ทุก ๆ คน
ปัญหาที่ว่าลูกหนี้ที่เจ้าหนี้หน่วงกรรมสิทธิ์ลูกหนี้ควรที่จะมีสิทธิได้ระเงินคืนหรือไม่ในกรณีที่ขายทรัพย์สินแล้วได้เงินเกินกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ ตนเห็นว่าจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ควรได้รับควรจะเป็นจำนวนหนี้และค่าเสียหายกรณีที่ลูกหนี้ใช้ทรัพย์ไม่ชอบหรือค่าเสียประโยชน์ โดยแนวศาลฎีกานั้นไม่ยอมรับการฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหากตกลงกันให้เรียกได้นั้นจะมองว่าเป็นเบี้ยปรับ เว้นแต่ค่าเสียหายอื่น ๆ ทั้งนี้ จากการสืบค้นตำราต่างประเทศพบว่าการหน่วงกรรมสิทธิ์นั้นจะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อกฎหมายหลักประกันนั้นมีข้อจำกัด โดยที่ข้อทิ้งประเด็นไว้ว่ายังมีความจำเป็นหรือไม่ในการหน่วงกรรมสิทธิ์ในการประกันชำระหนี้
ปัญหาที่ว่าเจ้าหนี้หน่วงกรรมสิทธิ์เอาไว้และลูกหนี้ผ่อนชำระไม่ครบจะมีสิทธิอะไรในการนำทรัพย์สินไปประกันต่อ ซึ่งประเด็นของการตีความกฎหมายนั้นมีความซับซ้อนอยู่โดยที่นำไปสู่ว่าเราใช้กฎหมายเป็นหรือไม่ การบัญญัติสิทธิของเจ้าหนี้ให้ชัดเจนนั้นตนเห็นว่ามีความสำคัญยิ่ง การที่ตนเห็นว่าลูกหนี้มีสิทธิที่จะได้รับส่วนที่เกินคืนจากเจ้าหนี้และเมื่อมีสิทธิเช่นว่านี้แล้วลุกหนี้ย่อมสามารถนำสิทธิเช่นว่านี้ไปเป็นประกันสิทธิต่อไปกับเจ้าหนี้รายอื่น ซึ่งจะทำให้เจ้าหนี้รายลำดับต่อไปมีความมั่นใจมากขึ้นและทำให้ลูกหนี้สามารถใช้ประโยชน์มูลค่าของทรัพย์สินนั้นในอันขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้
ในประเด็นของการที่ไม่มีการให้สินเชื่อดังกล่าวนี้จะนำไปสู่การแก้กฎหมายหรือไม่นั้นตนเห็นว่า การที่ไม่เคยมีการให้สินเชื่อในลักษณะใดลักษณะหนึ่งอันจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายแม้ว่าจะเคยเกิดแต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นหากไปกำเนินการจำกัดจะเป็นวิธีการที่ดีหรือไม่ ทั้งนี้ แม้ว่าการแก้ไขกฎหมายของไทยยังไปไม่ถึงจุดที่ธนาคารโลกได้คาดหวังเอาไว้นั้นตนเห็นว่าไม่ได้เป็นข้อเสียหายแต่ประการใด เพราะว่าน่าจะทำให้เจ้าหนี้ลูกหนี้ได้เรียนรู้และมองเห็นจุดอ่อนจะแข็งของกฎหมายอย่างค่อยเป็นค่อยไป การที่จะนำกฎหมายใหม่มาใช้โดยที่รู้อาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีดังที่กล่าวว่า “ไม่รู้จักจึงไม่มีผู้ใช้” ฉะนั้นกฎหมายของไทยยังมีประโยชน์และการที่กล่าวว่ายังไม่มีการให้สินเชื่อในรูปแบบนั้นตนยังคิดว่ามีประโยชน์อยู่เช่นกัน
ดร.ธรรมนูญ พิทยาภรณ์ รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง (กลางในภาพ) (วิทยากร)
ดร.ธรรมนูญ กล่าวว่า ตนได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจในฐานะเลขาของคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ของประทรวงยุติธรรม ราวปี 2542-2543 ซึ่งศาลยังอยู่กับกระทรวงยุติธรรม ตนเห็นว่ามีความจำเป็นต้องรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ โดยที่ราวปี 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นจึงมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของชาติในปี 2541 โดยคณะกรรมการดังกล่าวได้ตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณากฎหมายหลักประกัน พ.ศ. 2541 ซึ่งช่วงนั้นธนาคารโลกได้มาทำข้อตกลงในช่วงปี 2541 ซึ่งตนได้ร่วมเจรจาด้วยโดยที่ข้อเสนอของธนาคารโลกได้เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งมีความสัมพันธ์กับที่องค์ปาถกได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
ในกระบวนการตรากฎหมายนั้นได้มีการสอบถามในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นมุมมองให้กว้างขึ้นโดยเพิ่มมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ด้วย รวมทั้งได้มีการจัดทำงานการวิจัดโดยการเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศและองค์กรระว่างประเทศ ทั้งนี้หลักการประกันทางธุรกิจของไทยเสร็จก่อนหลักการของธนาคารโลก ทั้งนี้ ในประเทศอังกฤษได้มีการพยายามแก้ไขเรื่องหลักประกันโดยคำพิพากษาของศาลซึ่งได้มีการตัดสินราวปี ค.ศ. 1862 เนื่องจากเกิดปัญหาจากการประกอบธุรกิจจึงได้หาทางแก้โดยการร่างสัญญาและศาลได้รับรองสัญญาเช่นว่านี้และได้มีพัฒนาการเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร ในส่วนของสหรัฐอเมริกาซึ่งได้รับเอาจากอังกฤษโดยได้มีคำพิพากษาซึ่งแตกกระจายจนทั้งมีการรวบรวมมาไว้เป็นกฎหมายฉบับเดียวกันซึ่งหลาย ๆ ประมวลกฎหมายพาณิชย์ ต่อมาในยุโรปได้มีการออกกฎหมายแม่แบบมาในช่วงปี ค.ศ. 1994 เพื่อช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อนำหลักกฎหมายคอมมอนลอว์ไปใช้ในประเทศในยุโรป และในปี ค.ศ. 2008 จึงได้มี UNCITRAL Legislative Guide
กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจของอังกฤษ จะพบว่า กฎหมายดังกล่าวครอบทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ โดยที่ไม่นำเรื่องจำนำเขามาในกฎหมายฉบับนี้และเน้นกับการใช้นิติบุคคลไม่ได้ใช้กับบุคคลธรรมดาเนื่องจากพยายามจะคุ้มครองภาคธุรกิจซึ่งเป็นเทคนิคในการจำกัดผู้บริโภคออกไปซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายในการสร้างขอบเขตแต่มีจุดด้อยคือบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจ
การพิจารณาเรื่องของจำนำและจำนองนั้นสามารถแยกได้ว่าโดยมองในแง่เนื้อหาก็สามารถนารวมกันได้ แต่หากเป็นการมองในแง่รูปแบบนั้นจะไม่สามารถรวบกันได้เพราะมีความต่างในเรื่องของการส่งมอบการครอบครอง โดยที่อเมริกาได้รวมเรื่องการจำนำและหลักประกันรูปแบบอื่นมารวมกันโดยแยกจากจำนอง อย่างไรก็ตาม การนำจำนองและจำนำมารวมกันจะเกิดความลักลั่นของระบบซึ่งของไทยจะเป็นระบบแยก ทั้งนี้ ในการยันบุคคลภายนอกเช่นการจดแจ้งหรือการส่งมอบการครอบครองหรือทั้งสองแต่จะก่อให้เกิดการกระจายตัวมาก การที่ประเทศในภาคพื้นยุโรปจะนำหลักการเกี่ยวกับประกันในสมัยใหม่มาใช้จึงเกิดเรื่องของ Model Law ขึ้นเพื่อความสะดวกโดยที่จะมีลักษณะกว้างกว่าอเมริกาและไปในทิศทางของอังกฤษโดยมีขอบเขตสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ซึ่งยึดหลักกรรมสิทธิ์เพื่อสามารถให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเข้าถึงสินเชื่อได้
แนวทางของ UNCITRAL Legislative Guide ได้รับอิทธิผลของอเมริกาค่อนข้างมากเนื่องจากเป็นการส่งออกฎหมายของอเมริกาโดยการผลักดันอย่างมาก ซึ่งตนได้เสนอให้มีการนำเอากิจการทั้งหมดสามารถนำไปเป็นหลักประกันได้เนื่องจากการแยกทรัพย์สินของกิจการจะทำให้มูลค่าลดน้อยถอยลงหรือไม่มีมูลค่า แต่ย่างไรก็ตาม UNCITRAL ไม่รับรองเรื่องของการนำกิจการทั้งหมดไปเป็นหลักประกัน
นายคณิต ลิมปิพิชัย : 1. ประเด็นของกฎหมายฉบับนี้จุดตั้งต้นไม่ใช่ว่ากฎหมายเดิมไม่ดีแต่ว่าการทำธุรกิจมีแนวคิดใหม่ขึ้นมา กล่าวคือ กติกาที่เป็นสากลที่ทำให้นักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทย โดยที่รัฐบาลต้องการปฏิรูปซึ่งให้ธนาคารโลกเข้ามาพิจารณา ในแง่ของการให้สินเชื่อนั้นสามารถทำให้ดีขึ้นโดยการทำให้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ การนำเรื่องกรรมสิทธิ์มาใช้ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากเพราะว้าใช้ระยะเวลานานและมีการเสื่อมของทรัพย์ซึ่งตนเห็นว่าไม่ใช่ปัญหากฎหมายแต่เป็นปัญหาทางปฏิบัติเพื่อการบังคับคดีเสียมากกว่าเนื่องจากการขาดเครื่องมือ
2. ประเด็นเรื่องล้มละลายนั้นกฎหมายตัวใหม่จะสามารถช่วยให้ลูกหนี้ที่มีจำนวนหนี้น้อยไม่ถูกตัดออกไปเพราะแนวคิดที่ว่าหากเจ้าหนี้ที่ลงทุนซื้อทรัพย์สินยังมีสิทธิรับชำระหนี้ในลำดับที่หนึ่ง
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ : มีข้อเสนอว่าปัญหาของไทยนับตั้งแต่ปรับระบบกฎหมายทั้งหมด โดยที่ระบบหลักประกันนั้นได้มีการสร้างกฎหมายพิเศษมากขึ้นทั้งนี้ยังตอบคำถามแรกไม่ได้ว่าระบบที่มีอยู่นั้นตอบโจทย์ไม่ได้หรือจริงหรือไม่ หากว่ารับที่อยู่ไม่เพียงพอนั้นการแก้ในระบบกับการไปออกเป็นกฎหมายพิเศษสิ่งใดง่ายกว่ากัน หากว่าพิจารณาจากระบบกฎหมายเปรียบเทียบจะพบว่าเยอรมนีนั้นไม่มีกฎหมายพิเศษแบบไทยโดยใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งมีรายละเอียดในการบังคับคดีต่าง ๆ
ตัวอย่างเช่น การบังคับคดีโดยการเรียกทรัพย์คืนหรือการยัดทรัพย์โดยให้มี Notary เพื่อรับรองสิทธิ ข้อเท็จจริง และมีอำนาจบังคับคดีที่คู่กรณีตกลงล่วงหน้าได้ทันทีซึ่งทำหน้าที่เสมือนผู้พิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีจะสามารถดำเนินการบังคับคดีได้ทันทีภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องมีการตกลงในสัญญาให้ใช้ Notary และ Notary ตกลงว่าจะเป็นธรรม ทั้งนี้ จะมีการประกันเพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจ
ผู้ให้เช่าซื้อนั้นอาจจะตกเป็นเบี้ยล่างเนื่องจากในคดีล้มละลายจะเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญ หากว่าเอาทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อไปอยู่ในความครอบครองของผู้เช่าซื้อที่ละลายซึ่งไทยรับเอามาจากอังกฤษ โดยทางแก้ซึ่งผู้เช่าซื้อจะมีสิทธิตามมาตรา 574 คือ มีความเสียที่จะเสียสิทธิของตนตามกฎหมายล้มละลายและในขณะที่สามารถริบค่าเช่าซื้อทั้งหมดได้ การที่ผู้เช่าซื้อนำสิทธิของการเช่าไปซื้อไปจดประกันแก่ผู้ให้เช่าซื้อเพื่อให้เป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งทำให้ผู้ให้เช่าซื้อเสียสิทธิตามมาตรา 574 เพราะจะถูกบังคับตามกฎหมายหลักประกันหากว่าขายทรัพย์แล้วส่วนเกินจะต้องคืน ซึ่งตนเห็นว่าไม่ใช่ปัญหากฎหมาย
รองศาสตราจารย์สุดา วิศรุตพิชญ์ : สัญญาเช่าซื้อในแง่สิทธินั้นมี 2 มุม กล่าวคือ
1) หากจะยึดถือตามสัญญาเช่าซื้อจะมีสิทธิในการยึดถือค่าเช่าซื้อไม่ใช่การเรียกเอาทรัพย์เพราะว่าต้องการให้สัญญามีอยู่
2) หากมีการเลิกสัญญาเพราะลูกหนี้ผิดสัญญาผู้ให้เช่าซื้อจึงมีสิทธิเรียกเอาทรัพย์คืน ดังนั้น ในคดีล้มละลายหากผู้เช่าซื้อละลายนั้นผู้เช่าซื้อมีสถานะอะไรโดยที่ศาลก็สามารถกันทรัพย์ที่เช่าซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจากกองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาว่าคดีนั้นว่าผู้ให้เช่านั้นมีสถานะอย่างไรเพราะหากยังยึดถือสัญญาเช่าซื้อผู้ให้เช่าซื้อยังเป็นเจ้าหนี้สามัญหากใช่เจ้าหนี้ผู้ทรงบุริมสิทธิ
อาจารย์ ดร.ภารวีร์ กษิตินนท์ : การที่ไทยมีระบบของเราอยู่แล้วทำไมต้องแก้ไขตามธนาคารโลก แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าหลักการที่ธนาคารโลกเสนอมานั้นเราเห็นด้วยหรือไม่กับการเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสมอภาคหรือการที่ให้ลูกหนี้สามารถใช้ทรัพย์สินได้อย่างเต็มจำนวน ทั้งนี้ การออกแบบกฎหมายย่อมเป็นสิทธิของแต่ละประเทศที่จะออกแบบให้สอดคล้องกับระบบกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ได้อยู่เสมอ เพราะว่าไม่ใช่การคัดลอก UNCITRAL แต่เป็นการพิจารณาให้สมเหตุสมผล