สรุปสาระสำคัญจากงานเสวนาโต๊ะกลม “คดี (กระทิงแดง) ชนตำรวจ : นักกฎหมายเห็น สังคมรู้สึก คำถามที่กระบวนการยุติธรรมต้องตอบ” จัดโดยศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม 2563 เวลา 13.30 -16.30 น. ณ ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และถ่ายทอดสดทางระบบ Facebook Live เพจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและการพัฒนา และผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศาสตราจารย์พิเศษ อรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการและอดีตอัยการสูงสุด
ผู้ดำเนินรายการ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและการพัฒนา และผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายศุภสิน เจียรพาณิชย์พงศ์ นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและการพัฒนา และผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ)
ผศ.ดร.รณกรณ์ ได้กล่าวเปิดงานเสวนาและขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจในวันนี้ ลำดับต่อมาได้ทำการแนะนำวิทยากรผู้ทรงเกียรติ 3 ท่านที่มาร่วมพูดคุยในวันนี้ โดยแต่ละท่านจะสะท้อนให้เห็นมุมมองที่แตกต่างกันใน 3 มิติ 1. ศ.ดร.สุรศักดิ์ ในมิติของนักกฎหมายว่านักกฎหมายมองเรื่องนี้ตลอดจนโครงสร้างของเรื่องนี้เป็นอย่างไร 2. ผศ.ดร.ปริญญา ในมิติที่ว่าสังคมส่วนใหญ่คิดเห็นอย่างไรและคดีนี้มีข้อสังเกตอย่างไรบ้าง 3. ศ.พิเศษ อรรถพล ในมิติของอัยการว่าเรื่องนี้มีกระบวนการอย่างไร จะให้คำตอบต่อสังคมไปในรูปแบบไหนและที่สำคัญที่สุดภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมจะดำเนินต่อไปในทิศทางไหน
ช่วงที่ 1
ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้เริ่มการเสวนาด้วยการกล่าวถึงโพลว่าสังคมส่วนใหญ่คิดเห็นต่อคดีนี้เป็นอย่างไร โดย 91% รู้สึกพึ่งพากระบวนการยุติธรรมไม่ได้ 86% รู้สึกหมดหวังกับกระบวนการยุติธรรม เศร้าใจ เป็นทุกข์ อับอายไปทั่วโลก เป็นอีกคดีที่มีลักษณะใกล้เคียงกับคดีเชอร์รี่แอนด์ ดันแคน
ลำดับต่อมา ได้อธิบายถึงลำดับการดำเนินคดีอาญาว่า เมื่อมีอาชญากรรมเกิดขึ้นช่องทางที่จะนำไปสู่การดำเนินคดีมีดังนี้ ผู้เสียหายร้องทุกข์ รัฐเห็นเอง หรือราษฎรมากล่าวโทษ ถัดมาเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะทำการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเสนอต่อพนักงานอัยการเห็นสมควรสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งในระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจะมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน โดยหากพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไม่เป็นการตัดสิทธิ์ผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีเอง แต่ต้องหาพยานหลักฐานนำเสนอต่อศาลเอง
ในส่วนของพยานหลักฐานนั้นสามารถแบ่งได้เป็นพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ และพยานผู้เชี่ยวชาญ เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าวนี้เปรียบเสมือนการต่อจิ๊กซอร์ให้เห็นภาพเต็มของคดี
ในขั้นตอนต่อไปเมื่อเสร็จสิ้นการสอบสวนแล้ว เป็นขั้นตอนของพนักงานอัยการ เมื่อได้รับสำนวนพร้อมความเห็นของพนักงานสอบสวนแล้ว เป็นดุลพินิจของพนักงานอัยการเห็นควรฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหา โดย ศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้ยกให้เห็นคดีตัวอย่างคือ คดีลักทรัพย์ (ซาลาเปา) เพื่อนำไปให้บุตรของตนรับประทาน แม้จะเป็นความผิดแต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า หัวใจของขั้นตอนนี้คือ ต้องพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการ ความรอบคอบในการดำเนินการ ความน่าเชื่อถือ ตลอดจนการถ่วงดุลอำนาจระหว่างพนักงานอัยการและตำรวจ ซึ่งได้มีการบัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 145/1 เป็นการกล่าวถึง กรณีที่พนักงานสอบสวนเห็นควรมีคำสั่งฟ้องคดี แต่พนักงานอัยการมีความเห็นว่าไม่ควรฟ้อง เมื่อมีการโต้แย้งโดยอธิบดีกรมตำรวจ จะทำให้เกิดกลไกการหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดย ศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้ชี้ให้เห็นปัญหาของคดีนี้ว่า เหตุใดขั้นตอนถึงยุติลงเพียงแค่มีคำสั่งไม่ฟ้อง
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้อธิบายให้เห็นถึงผลของคำสั่งไม่ฟ้องคดีว่า กฎหมายห้ามมิให้สอบสวนเรื่องนั้นต่อบุคคลนั้นอีก โดยหากมีการฟ้องศาลแล้วคดีจะระงับทันที แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นตอนนี้คดียังไม่ระงับ แต่ในการริเริ่มการสอบสวนใหม่ต้องปรากฏพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก้คดี ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในตอนนี้ว่าจะตีความอย่างไร ศ.ดร.สุรศักดิ์ เสนอความเห็นของ ดร.มุนินทร์ พงศาปาล ว่าการใช้กฎหมายจะต้องตีความไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย โดยได้ยกคดีตัวอย่างขึ้นมาคือ คดีเพชรซาอุที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ภายหลังพบพยานหลักฐานชิ้นใหม่คือ แหวนของเจ้าหน้าที่การทูตที่เสียชีวิตอยู่กับผู้ต้องหาคนหนึ่ง คดีนี้ได้มีการรื้อคดีกันใหม่ คดีนี้แสดงให้เห็นหลายประเด็น
ประเด็นแรก การมีพยานหลักฐานใหม่ หากมีเทคนิคการวัดความเร็วที่น่าเชื่อถือขึ้นใหม่ ตัวอย่างในประเทศอเมริการที่พึ่งมีเทคโนโลยีการตรวจสอบ DNA มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่มากมาย ในส่วนของเทคนิคในการวัดความเร็วใหม่ ศ.ดร.สุรศักดิ์ เห็นว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ในคดี คือพยานหลักฐานชิ้นเดิมแต่มุมมองใหม่
ประเด็นที่สอง คดีนี้เกิดขึ้นที่ศาลอาญากรุงเทพใต้อัยการสั่งฟ้องไปแล้ว จะทำการสอบพยานเพิ่มได้หรือไม่ ต้องไปรื้อข้อเท็จจริง
ประเด็นสุดท้าย คดีนี้ได้มีการตั้ง กรรมาธิการในยุค สนช. รับเรื่องเรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งในความเป็นจริงผู้ที่มีอำนาจสอบสวนคือพนักงานสอบสวนเท่านั้น กรรมาธิการที่ตั้งใหม่ไม่มีอำนาจ ดังนั้นไม่สามารถใช้พยานหลักฐานที่กรรมาธิการส่งมาสั่งฟ้องทันที ต้องสอบสวนอีกรอบก่อน
ในประเด็นดุลพินิจของพนักงานอัยการ หากพนักงานอัยการเห็นว่าสำนวนการสอบสวนยังไม่เพียงพอ มีอำนาจตาม ป.วิ.อ.มาตรา 143 วรรคสอง สั่งตามที่เห็นสมควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม โดยได้มีการเทียบกับคดีที่เกิดขึ้นนี้ว่าจะต้องมีการทำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น กล่าวคือเรียกพยาน 2 คนที่ปรากฏตัวในภายหลังมาสอบสวนเพิ่มเติม
ต่อมาได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมถึงความน่าเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากเหตุผลของคำสั่งไม่ฟ้อง ศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงเหตุผล 3 อย่างในการสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญาว่ามีอะไรบ้าง ดังนี้ 1. พยานหลักฐานไม่เพียงพอ 2. แม้พยานหลักฐานเพียงพอ แต่พยานหลักฐานได้มาโดยไม่ชอบ เช่น คดี ดร.เอกกมล ศิรีวัฒน์ 3. ดุลพินิจ เพราะบางเรื่องอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เช่นคดีแม่เฒ่าเอาตระกร้าขายไข่ไก่มาวางบนฟุตบาทถูกแจ้งข้อหากีดขวางทางสาธารณะ ก็เคยมีคำสั่งไม่ฟ้องเพราะไม่เป็นประโยชน์ โดย ศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้กล่าวถึงคดีในตอนนี้ว่าประเด็นอยู่ที่พยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่
โดยมีการกล่าวทิ้งท้ายในช่วงแรกโดยการยกตัวอย่างการทำคดีของอัยการในประเทศฝรั่งเศสว่าหากคดีเป็นที่สนใจของประชาชนต้องรายงานรัฐมนตรีที่เขาสังกัดเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ส่วนของประเทศไทยพนักงานอัยการเป็นอิสระ และเรียกร้องวิธีการที่จะทำให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
ผศ.ดร.ปริญญา ได้กล่าวถึงประเด็นที่เป็นที่จับตาในสังคมตอนนี้คือ ความไม่น่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยให้ความเห็นว่าในครั้งนี้มีความร้ายแรงเทียบเท่าคดีเชอร์รี่แอน ดันแคน และมีเพียงทางเดียวที่จะคืนความเชื่อมันนี้ได้ คือ “ทำให้คดีไปถึงศาลยุติธรรม”
ถัดมามีการตั้งคำถามถึงข้อความในหนังสือชี้แจงการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่ว่า “และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ” ถึงประเด็นปัญหายังไม่มีการชี้แจงจากผู้บัญชาการตำรวจแต่อย่างใด ทั้งที่คดีนี้เป็นที่จับตาของประชาชนมาตลอด 8 ปี พิสูจน์ในสิ่งที่ “เงินมันง้างกระบวนการยุติธรรมได้ไหม”
ลำดับต่อมา ผศ.ดร.ปริญญา ได้อธิบายถึงข้อหาความผิดของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. ขับรถขณะเมาสุรา ไม่มีการสั่งฟ้องเพราะเป็นการดื่มสุราภายหลังเกิดเหตุ
2. ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ในกรุงเทพฯห้ามขับรถเร็วเกิน 80 km/h ข้อหาดังกล่าวขาดอายุความไปแล้ว เนื่องจากอายุความ 1 ปี
3. ขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย กรณีนี้คือการทำให้มอเตอร์ไซต์ของดาบตำรวจวิเชียร เสียหาย ข้อหาดังกล่าวขาดอายุความไปแล้ว เนื่องจากอายุความ 1 ปี
4. ขับรถชนแล้วไม่ให้ความช่วยเหลือ ข้อหาดังกล่าวขาดอายุความไปแล้ว เนื่องจากอายุความ 5 ปี
5. กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นเพียงข้อหาเดียวที่เหลืออยู่ เพราะมีอายุความ 15 ปี
ผศ.ดร.ปริญญา ได้ตั้งคำถามถึงความน่าสงสัยว่าเหตุอันใดถึงมีการปล่อยให้คดีขาดอายุความถึง 3 ข้อหา ตลอดจนเรื่องที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว แต่ทำไมถึงมีคำสั่งไม่ฟ้องในภายหลัง ซึ่งเหตุที่จะสั่งไม่ฟ้องได้ต้องเป็นอย่างที่ อ.สุรศักดิ์ กล่าว
ลำดับต่อมา ผศ.ดร.ปริญญา ได้กล่าวถึงเหตุผลของคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ โดยให้ข้อคิดเห็นของตนลงไป ดังนี้
เหตุผลประการแรก มีพยานผู้เชี่ยวชาญรายใหม่ 4 ราย คือพันตำรวจโทสมยศ แอบเนียน, พันตำรวจโทสุรพล เดชรัตนวิไชย, รองศาสตราจารย์สายประสิทธิ์ เกิดนิยม และพันตำรวจโทธนสิทธิ แตงจั่น ให้ความเห็นว่านายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถในขณะเกิดอุบัติเหตุไม่เกิน 80 km/h ซึ่งไม่เกินกว่าความเร็วที่กฎหมายกำหนดในการขับรถในกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ตรงกันกับพยานผู้เชี่ยวชาญในชั้นต้นซึ่งเป็นของตำรวจเองที่ทำการพิสูจน์ได้ เกิน 100 km/h โดยมีการตั้งคำถามต่อเหตุผลดังกล่าวว่า ทำไมถึงเชื่อพยานใหม่ในทันที ทำไมพยาน 4 รายนี้ถึงพึ่งปรากฏตัวภายหลังเกิดเหตุหลายปี ทำไมถึงไม่พิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยวิธีอื่นต่อไป
เหตุผลประการที่สอง ปรากฏพยานใหม่ที่ขับรถตามมา 2 รายคือ พลอากาศโทจักกฤช ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง ให้การว่า นายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถเพียง 50-60 km/h และเห็นดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ขับมอเตอร์ไซค์เปลี่ยนเลนตัดหน้ารถของนายวรยุทธ ทำให้นายวรยุทธ “ไม่สามารถหลบหลีกและหยุดรถได้ทันท่วงที เหตุที่เกิดจึงเป็นเหตุสุดวิสัย มิใช่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวัง” และอุบัติเหตุนี้กลายเป็น “เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวัง” ของดาบตำรวจวิเชียร ผู้ถูกชนตาย และดังนั้น เมื่อนายวรยุทธไม่ประมาท “จึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” และเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ผศ.ดร.ปริญญา ได้ตั้งคำถามต่อเหตุผลดังกล่าวของพนักงานอัยการว่า ทำไมถึงเชื่อถือพยาน 2 ท่านนี้ได้โดยง่าย และในสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีการขับรถลากดาบตำรวจวิเชียร ไปถึง 200 เมตร มีการหลบหนีเข้าบ้านและให้พ่อบ้านมารับผิดแทน มีการขับรถตามมาจริงหรือไม่ เพราะหากมีการขับรถตามมาจริงเห็นเหตุการณ์ที่ครึกโครมขนาดนี้ ทำไมถึงไม่เคยเล่าให้คนใกล้ชิดฟังเลย
เหตุผลประการสุดท้าย “อนึ่ง ฝ่ายผู้ต้องหาที่ 2 (ผู้ตาย) ได้รับค่าเสียหายและสินไหมทดแทนจากผู้ต้องหาที่ 1 จนเป็นที่พอใจ และไม่ประสงค์จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ต้องหาที่ 1 อีกต่อไปแล้ว จึงมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” ผศ.ดร.ปริญญา ได้ตั้งคำถามถึงเหตุผลดังกล่าวว่า มีการทราบตอนไหนว่าผู้ตายเป็นผู้ต้องหา ทำไมคนซึ่งถูกลากไป 200 เมตร ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ เป็นการทำให้ผู้กระทำผิดหลุดพ้นจากความผิดหรือไม่ ถ้าเป็นคดีนี้มีแพะ ซึ่งก็คือดาบตำรวจวิเชียร ในส่วนของเหตุผลว่าได้รับการเยียวยาแล้วจึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง ยืนยันว่าคดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้
ถัดมา ผศ.ดร.ปริญญา ได้เสนอวิธีการที่จะทำให้คดีดังกล่าวนี้ไปถึงศาล
ทางแรก คือ ป.วิ.อ.มาตรา 147 เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามไม่ให้สอบสวนบุคคลนั้นเกี่ยวกับคดีนี้อีก เว้นแต่จะมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้ ผศ.ดร.ปริญญา เสนอว่า หากพิสูจน์ได้ว่าการสั่งคดีของพนักงานอัยการเป็นไปโดยไม่สุจริต เปรียบได้กับนักศึกษาทุจริตการสอบ คือ เสมือนไม่มีการกระทำเช่นนั้นเลย และเทียบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 27 ที่ให้อำนาจศาลเพิกถอนกระบวนการที่ผิดระเบียบได้ โดยได้มีการเสนอต่อไปว่า เหตุการณ์นี้เป็นการสั่งไม่ฟ้องของรองอัยการสูงสุด โดยใช้พยานหลักฐานที่สังคมสงสัยเป็นฐาน ขอเรียกร้องให้ท่านอัยการสูงสุดลงมาดู
ทางที่สอง คือ นายกรัฐมนตรีสั่งให้ทบทวนคำสั่งไม่คัดค้านคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ โดยอาศัย มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทางที่สาม คือ เรื่อง “พยานหลักฐานใหม่” เช่น รถเฟอรารี่ราคา 35 ล้านบาท ชนด้วยความเร็ว 80 km/h ทำไมถึงบุบได้ขนาดนี้ ในเรื่องการวัดความเร็วมีผู้เชี่ยวชาญเห็นแย้งกันเสนอให้ผู้เชี่ยวชาญมานั่งคุยกันโดยมีคนกลางอีกคน หรือ
อีกเรื่องที่เป็นพยานหลักฐานใหม่คือ คดีเสพโคเคนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ซึ่งอายุความ 10 ปี ยังไม่ขาดอายุความ หากพบว่าตำรวจตรวจพบยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ในตัวผู้ต้องหาแล้วไม่ทำการตั้งข้อหา ผิดความผิดฐานงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ และหากมีการเสพยาขณะขับรถจริงยังเป็นเหตุสุดวิสัยได้อีกหรือไม่
ท้ายที่สุด ผศ.ดร.ปริญญา ยืนยันว่าไม่ได้เอาเป็นเอาตายให้นายวรยุทธ อยู่วิทยาผิด แต่อยากให้คดีนี้ไปถึงศาลเพราะมีข้อน่าสงสัยและสังคมต้องการความกระจ่าง ไม่เพียงเฉพาะคนไทย แต่ทุกประเทศมองมา และบ้านเมืองจะไปต่อไม่ได้หากกระบวนการยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือ
ศาสตราจารย์พิเศษ อรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการและอดีตอัยการสูงสุด (วิทยากร)
ในเบื้องต้น ผศ.ดร.รณกรณ์ ในฐานะผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามที่สังคมสงสัยเพื่อให้ ศ.พิเศษ อรรถพล ชี้แจงให้ทราบด้วยกัน 3 ข้อ ดังนี้
1. ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ไม่ชัดว่าในการสั่งไม่ฟ้องเป็นคำสั่งของรองอัยการสูงสุด หรืออัยการสูงสุดเป็นผู้สั่ง เพราะในเอกสารที่แถลงระบุว่าเป็นคำสั่งของอัยการสูงสุด แต่คนที่ลงลายมือชื่อคือรองอัยการสูงสุด อีกทั้งหากเป็นคำสั่งของอัยการสูงสุดผู้บัญชาการตำรวจไม่สามารถที่จะคัดค้านคำสั่งดังกล่าวได้ แต่รายละเอียดที่มีการชี้แจงมามีการระบุว่า “และผู้บัญชาการตำรวจไม่คัดค้าน”
2. ประสิทธิภาพในการทำงานของกระบวนการยุติธรรมที่บริโภคงบประมาณของประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งเรื่องประสิทธิภาพและความโปร่งใส ทำไมเรื่องสำคัญขนาดนี้ผู้บังคับบัญชาขององค์กรไม่รู้
3. เรื่องนี้ไปไกลกว่าเรื่องของคุณวรยุทธ อยู่วิทยาแล้ว เรื่องนี้ประเทศไทยต้องการคำตอบว่าใครเป็นคนทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความอัปยศและไม่น่าเชื่อถือขนาดนี้ และใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ
ศ.พิเศษ อรรถพล ชี้แจงในเบื้องต้นก่อนว่าในคณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงเป็นเรื่องที่ยังเป็นความลับอยู่จึงสามารถพูดได้เพียงเล็กน้อย จึงจะกล่าวถึงข้อกฎหมายเป็นส่วนใหญ่
ในเรื่องแรกที่ ศ.พิเศษ อรรถพล ได้อธิบายให้เห็นข้อดีขอองระบบวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยว่าเป็นระบบที่พนักงานอัยการสามารถทำงานควบคู่ไปกับการดำเนินการของผู้เสียหายได้ แต่เท่าที่ทราบในเบื้องต้นว่า ดาบตำรวจวิเชียร ผู้ตาย ไม่มีบุพการีและผู้สืบสันดาน อีกทั้งคู่สมรสไม่ได้มีการจดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมาย ในคดีนี้จึงไม่มีผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีได้ คดีนี้จึงเหลือทางเดียวคืออัยการยืนฟ้อง
ในส่วนของการดำเนินคดีของพนักงานอัยการนั้นอัยการจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเป็นดุลพินิจโดยอิสระของพนักงานอัยการ โดยหากมีคำสั่งไม่ฟ้องจะมีการถ่วงดุลโดยฝ่ายตำรวจ
ถัดมา ศ.พิเศษ อรรถพล ได้ชี้แจงถึงระบบการดำเนินงานขององค์กรอัยการว่าการสั่งไม่ฟ้องอย่างเช่นคดีนี้มีความเกี่ยวข้องกับอัยการสูงสุดหรือไม่ สมัยก่อนปี 2540 ปรากฏมีการสั่งคดีแล้วจำเลยร้องขอความเป็นธรรม โดยอัยการสูงสุดในคดีดังกล่าวมีคำสั่งไม่ฟ้อง จึงเกิดข้อครหาว่าในกรณีอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องไม่สามารถที่จะตรวจสอบถ่วงดุลได้เลย ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 145 ดังนั้นอัยการสูงสุดเห็นว่าการสั่งไม่ฟ้องไม่ควรทำโดยอัยการสูงสุด แต่ควรลดลงมาสั่งโดยรองอัยการสูงสุด จึงมีระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีของพนักงานอัยการ ปี 2547 แก้ไขฉบับที่ 2 ปี 2548 ว่าหากมีคดีเกิดขึ้นแล้ว บุคคลที่มีอำนาจสั่งไม่ฟ้อง คืออัยการจังหวัด แต่หากคดีเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ คือ อัยการพิเศษฝ่าย แต่หากมีการร้องขอความเป็นธรรมไม่ว่าจะร้องโดยผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายจะต้องส่งเรื่องไปยังอธิบดีอัยการ ปรากฏในคดีนี้อธิบดีอัยการศาลอาญากรุงเทพใต้เห็นควรสั่งฟ้อง
ศ.พิเศษ อรรถพล ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการร้องขอความเป็นธรรมว่าแม้จะมีการสั่งฟ้องแล้วก็สามารถร้องขอความเป็นธรรมได้ และในการร้องขอความเป็นธรรมในคดีนี้ได้มีมาตลอดไม่ใช่พึ่งมีมาตอนปี 2562 และหากมีการร้องความเป็นธรรมแล้วมีการกลับคำสั่งจากสั่งฟ้องเป็นสั่งไม่ฟ้อง ระดับอธิบดีอัยการไม่สามารถทำได้ ต้องระดับผู้บริหารซึ่งในคดีดังกล่าวนี้คือรองอัยการสูงสุดโดยได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด ดังนั้นจึงเป็นการสั่งคดีของคดีร้องขอความเป็นธรรม
ในการส่งสำนวนคดีร้องขอความเป็นธรรม ผู้จะทำหน้าที่กลั่นกรองคือ สำนักงานกิจการอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาว่ามีความซ้ำซ้อนหรือไม่ เมื่อพิจาณาเสร็จแล้วจะส่งต่อไปยังอัยการพิเศษฝ่ายในคดีร้องขอความเป็นธรรม เมื่ออัยการพิเศษฝ่ายพิจารณาแล้วจะส่งเรื่องไปยังรองอธิบดีสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด และจะไปจบที่รองอัยการสูงสุด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอัยการสูงสุดสามารถไม่รู้ได้
ศ.พิเศษ อรรถพล ยังตอบคำถามที่ว่าทำไมเรื่องใหญ่ขนาดนี้สาธาณชนถึงไม่รับรู้ว่า ในเรื่องนี้จะต้องไม่มีการแบ่งแยกไม่ระหว่างเศรษฐีทำผิดหรือคนทั่วไปทำผิด และเห็นต่อไปว่าไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนระเบียบดังกล่าวเพราะดีอยู่แล้ว
ในส่วนของคำถามที่สอง ศ.พิเศษ อรรถพล ได้ชี้แจงว่า ในคดีอาญาไม่เหมือนคดีแพ่ง ในคดีอาญามีพยานหลักฐานคือ พยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ และพยานผู้เชี่ยวชาญ ในคดีแพ่งเน้นพยานเอกสาร และพยานวัตถุเป็นหลัก เพราะบุคคลโกหกได้ ส่วนคดีอาญาเน้นพยานบุคคล แต่ต้องเป็นประจักษ์พยาน แต่ต่อมามีนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง นิติวิทยาศาสตร์จึงเป็นพยานที่ดีทุดสุด ในส่วนของตำรวจจะมีกองพิสูจน์หลักฐาน ส่วนศาลยุติธรรมมีสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยมีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองแห่งมีความเห็นไม่ตรงกัน เช่น คดีห้างทอง ที่ทางกองพิสูจน์หลักฐานบอกเป็นการฆ่าตัวตาย แต่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์บอกเป็นการฆาตกรรม ผลสุดท้ายมีการฟ้องน้องชายนายห้างทอง ในการต่อสู้คดีจำเลยได้นำผู้เชี่ยวชาญอันดับหนึ่งของโลกมาพิสูจน์ว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่พนักงานอัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องนั้นหากพยานนิติวิทยาศาสตร์ขัดแย้งกันเอง จึงต้องพึ่งพยานบุคคลเข้ามาเสริม
ในส่วนของข้อครหาที่ว่าพยานบุคคลที่พนักงานอัยการเชื่อพึ่งปรากฏตัวในปี 2562 นั้น ศ.พิเศษ อรรถพล ได้กล่าวอย่างเป็นนัยว่า “ท่านต้องดูในรายละเอียด” (ภายหลังได้มีแถลงการณ์กรรมการสอบของอัยการว่าพยานดังกล่าวปรากฏตัวหลังเกิดเหตุเพียง 3 วัน – ผู้ถอดความ)
ยังได้ทำการกล่าวต่อไปในข้อครหาเรื่องความโปร่งใสว่า ในการสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ มีการถ่วงดุลโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 145 และฝากให้ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาไปดูรายงานของกองคดี ว่าในประเด็นภายหลังการกลับคำสั่งมีการใช้ระยะเวลาพิจารณาหรือไม่ รายละเอียดและความเห็นของผู้บัญชาการตำรวจสูงสุด
ถัดมา ศ.พิเศษ อรรถพล ได้กล่าวถึงคณะทำงานสำนักงานอัยการสูงสุดตั้งว่ามีเป้าหมาย 3 ข้อ 1. ตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2. ชี้แจ้งให้ประชาชนทราบเป็นระยะ และ3. แถลงการณ์ ในขณะนี้มีการตรวจสอบแล้ว
คำตอบของคำถามที่ 3 ศ.พิเศษ อรรถพล ได้กล่าวว่า ขั้นตอนแรก จะต้องดูตามกฎหมายว่า การสั่งไม่ฟ้องมีอำนาจหรือไม่ คำตอบคือ มีอำนาจ
ขั้นตอนที่สอง ต้องดูตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าได้มีการปฏิบัติตามระเบียบอย่างถูกต้องหรือไม่ คำตอบคือ ทำถูกระเบียบ
ขั้นตอนที่สาม ดุลพินิจที่ท่านสั่งไม่ฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศ.พิเศษ อรรถพล ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ในใจตนมีคำตอบอยู่แล้ว แต่ยังบอกไม่ได้ ต้องรอคณะทำงาน ซึ่งหากใช้ดุลพินิจโดยชอบก็ไม่ผิด แต่หากใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบก็ผิด กฎหมายลงโทษได้อยู่แล้ว
ในส่วนประเด็นว่าถ้าไม่มีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีแล้วจะหยิบยกเรื่องนี้มาใหม่ได้หรือไม่ ศ.พิเศษ อรรถพล ได้ให้คำตอบว่า ประเทศไทยใช้ระบบกฎหมายรายลักษณ์อักษร ดังนั้นแม้เกิดจากความบกพร่องของการสั่งคดีก็ต้องใช้พยานหลักฐานใหม่ ปรากฏว่าประธานศาลอุทธรณ์ได้เคยออกระเบียบเกี่ยวกับการอุทธรณ์คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะหลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2550 สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ โดยจะต้องมีพยานหลักฐานใหม่ ตามระเบียบได้กำหนดว่า พยานหลักฐานใหม่ต้องเข้าใจว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่จริงๆคือพิสูจน์แล้วผลใหม่ เป็นเรื่องที่จะต้องตีความต่อไป
ท้ายสุด ศ.พิเศษ อรรถพล ได้กล่าวว่า แม้คดีจะมีคำสั่งเด็ดขาดว่าไม่ฟ้อง ก็ยังสามารถหยิบขึ้นมาว่ากล่าวกันอีกครั้งได้
ช่วงที่ 2
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
ในเริ่มแรก ผศ.ดร.ปริญญา ขึ้นต้นด้วยวลีว่า “Justice is not only to be done ,but also to be seen” ความยุติธรรมไม่เพียงทำให้เกิดขึ้นมาเท่านั้น แต่ต้องทำให้คนเห็นด้วย (เป็นวลีที่ ผศ.ดร.ปริญญา ใช้สอนในวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมาย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ผศ.ดร.ปริญญา ได้กล่าวต่อไปว่า ในคดีนี้ส่วนแรกอาจจะมีหรือไม่มี แต่ส่วนหลังไม่มีแน่ๆ และยืนยันว่าส่วนหลังสำคัญกว่าส่วนแรกเสียอีก เพราะหากคนไม่เห็นแล้วแล้ว แม้จะเป็นความยุติธรรม สุดท้ายคนก็ไม่เชื่อถือ
สุดท้าย ผศ.ดร.ปริญญา ได้เสนอว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการควรร่วมมือกันส่งคดีให้ถึงศาลยุติธรรม ซึ่งช่องทางมีมากมายตามที่ได้กล่าวไปแล้ว และนี้คือวิธีการเรียกความเชื่อมั่นกลับมาสู่กระบวนการยุติธรรม
ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นส่วนใหญ่ในวันนี้ที่ทุกท่านกล่าวมาตรงกันหมด สิ่งที่สังคมต้องการคือ กระบวนการยุติธรรมที่น่าเชื่อถือ ซึ่งความจริงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่น่าเชื่อถือมีมากมายที่ยังไม่ปรากฏ ศ.ดร.สุรศักดิ์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (Justice Reform) ครั้งใหญ่ที่ถือว่าประสบความสำเร็จ คือ ปี 2540 และยืนยันจุดยืนว่าในการเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ไม่ได้มุ่งที่จะโจมตีใคร แต่โจมตีทุกองค์กรเพื่อให้เกิดความยุติธรรม ชัดเจน เน้นเป็นธรรม และเสมอภาค
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้กล่าวถึงผลสำรวจของ World Justice Project (WJP) ในเรื่อง หลักนิติธรรม (Rule of Law) ปี 2020 โดย WJP เป็นองค์กรที่ทำการสำรวจ (Survey) คนหลายหมื่นคนรวมทั้งความเห็นของนักวิชาการ และได้พูดถึงหัวข้อ “The Four Universal Principles of The Rule of Law” ของ WJP โดยแบ่งออก เป็น 4 หัวข้อดังนี้
1. Accountability ในคดีนี้ใครจะเป็นคน account ถึงผลที่เกิดขึ้น
2. Just laws กฎหมายต้องเป็นธรรม ศ.ดร.สุรศักดิ์ เห็นว่า กฎหมายไทยมีดี แต่ไม่ใช่ดีที่สุด ความคิดเห็นของผู้ใช้กฎหมายก็ต้องดีตามไปด้วย ไม่ใช่เปลี่ยนแค่กฎหมาย
3. Open Government รัฐบาลเปิดแค่ไหนที่จะให้วิจารณ์
4. Accessible and impartial Dispute Resolution กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นกลางที่สุด โดยศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้ตั้งคำถามที่ชวนสงสัยว่า “มีแต่คนจนที่ติดคุกจริงหรือไม่” และกล่าวต่อไปว่าประเทศไทยไม่ได้ติดกับดักเฉพาะฐานะทางเศรษฐกิจ แต่ติดกับทุกอย่าง
ถัดมา ศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้กล่าวถึงผลสำรวจในส่วนของประเทศไทยว่า ประเทศไทยได้อันดับที่ 71 ของผลสำรวจ หากนับในประเทศแถบนี้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 10 จาก 15
ในส่วนที่เกี่ยวกับ Criminal Justice ประเทศไทยอยู่ที่ 0.43 ซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.51 ถือได้ว่าต่ำมาก โดยตัวชี้วัดด้านนี้จะพิจารณา 7 อย่าง 1. ประสิทธิภาพในการสอบสวน(Criminal investigation system is effective) 2. การบังคับใช้กฎหมายรวดเร็วไม่ล่าช้าและมีประสิทธิภาพ (Criminal adjudication is timely and effective) 3. ประสิทธิภาพของกระบวนการบังคับโทษ (Correctional system is effective in reducing criminal behavior) 4. กระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลาง (Criminal system is impartial) 5. กระบวนการยุติธรรมปราศจากการทุจริต (Criminal system is free of corruption) 6. กระบวนการยุติธรรมปราศจากการแทรกแซงจากรัฐบาล (Criminal system is free of improper government influence) 7. หลักการคุ้มครองสิทธิ(Due process of law and rights of the accused)
อันดับของประเทศไทยแย่มาก สิ่งที่ต้องทำในตอนนี้คือทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งได้ ดังนั้นทางออกของคดีคือสิ่งที่กล่าวไปในช่วงแรก
ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวต่อไปถึงหนทางที่จะแก้ไขกระบวนการยุติธรรมที่ดูดายให้น่าเชื่อถือขึ้นคือต้องตรงไปตรงมา โปร่งใส โดยยกตัวอย่างคดีของ ส.ศิวรักษ์ (คดีนี้หมายจับไม่ถูกเพิกถอน ทำให้ ส.ศิวรักษ์ไม่สามารถออกนอกประเทศได้) เทียบกับคดีบอส อยู่วิทยา ที่รีบแถลงข่าว และพยายามจะเพิกถอนหมายจับในทันทีเพื่อให้กลับเข้าประเทศได้
ท้ายที่สุด ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่าคดีนี้ต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังเช่นคดีเชอร์รี่ แอนด์ ดันแคน ที่ต่อมาได้เปลี่ยนอำนาจการออกหมายจับ จากพนักงานสอบสวนไปเป็นศาล จุดประสงค์ในครั้งนี้คือต้องทำให้ตรงต่อหลักความยุติธรรมอย่างแท้จริง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ได้รับความน่าเชื่อถือ
ศาสตราจารย์พิเศษ อรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการและอดีตอัยการสูงสุด (วิทยากร)
ในช่วงหลังนี้ ศ.พิเศษ อรรถพล จะได้พูดถึงวิธีการแก้ไข โดยเริ่มจากกล่าวถึงลักษณะการทำงานของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการว่ามีความคล้ายคลึงกับการทำงานของศาล คือ จำเป็นจะต้องทราบ 2 อย่างคือ ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน หากพยานหลักฐานไม่เพียงพอก็ลงโทษไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 227 ในส่วนดุลพินิจในการพิจารณาพยานหลักฐานของพนักงานอัยการต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ ปี 2553 มาตรา 8 การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอัยการต้องเป็นไปตามกฎหมายและหลักนิติธรรม
ศ.พิเศษ อรรถพล ยังให้ข้อสังเกตต่อการทำงานระหว่างพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนว่า พนักงานอัยการมีหน้าที่สอบสวนเฉพาะแต่ความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร โดยในประเทศที่เจริญแล้วนั้นพนักงานอัยการทำหน้าที่สอบสวนด้วย โดยเคยมีการเสนอให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนด้วยแล้ว แต่ไม่สำเร็จ สำเร็จเฉพาะ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ 2547 ซึ่งอัยการมีอำนาจรวมมือ สอบสวน ตรวจสอบและแนะนำได้ เห็นว่าควรแก้ไขตรงจุดนี้ด้วย
ในคำถามที่ว่าพยานหลักฐานเข้ามาในสำนวนได้อย่างไร ศ.พิเศษ อรรถพล ได้อธิบายว่าไม่ว่าพยานหลักฐานจะมาจากใครที่ไม่ใช่พนักงานสอบสวน เช่น กรรมาธิการที่ตั้ง ย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานใหม่ไม่ได้ ต้องมีการนำไปสอบสวนอีกรอบ พนักงานอัยการมีเพียงแต่อำนาจตาม ป.วิ.อ.มาตรา 143 ในกรณีที่พยานหลักฐานใหม่เพียงพอสามารถสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมได้ หรือในกรณีที่สงสัยในพยานหลักฐานสามารถเรียกมาซักถามเพิ่มเติมได้
และยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การที่มีข้อเรียกร้องจะให้คดีไปถึงศาลเท่านั้น ต้องคำนึงถึงจิตใจของผู้ต้องหาด้วย โดยยกตัวอย่างคดีที่ ศ.พิเศษ อรรถพล เคยประสบพบเจอมาว่าแม้ศาลจะยกฟ้อง แต่การที่ผู้ต้องหาตกเป็นจำเลยและจะต้องขึ้นศาลนั้นสร้างปัญหาให้กับครอบครัวของเขาขนาดไหน
ท้ายที่สุด ศ.พิเศษ อรรถพล ได้ทิ้งท้ายแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่าจะต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนด้วย
ช่วงตอบคำถาม
คำถาม ในเวลานี้มีความคืบหน้าอย่างไรในการแก้ไขกฎหมายเพื่อควบคุมดุลพินิจของอัยการในการสั่งไม่ฟ้องคดี
ศ.ดร.สุรศักดิ์ : ตอนนี้กฎหมายไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเป็นระบบ แต่การทำให้กฎหมายทันสมัยขึ้นเป็นเพียงแค่การแก้ไขกฎหมาย ไม่ได้เปลี่ยนวิธีคิดของผู้ที่บังคับใช้ สิ่งที่ทำเป็นเพียงแบบพิธีเป็นการทำให้พ้นๆไป แต่ใน 4-5 ปีมานี้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้างวดมากขึ้น สิ่งที่เราทำไปถูกทิศถูกทางในการแก้ไขกฎหมาย
ศ.พิเศษ อรรถพล : กฎหมายไทยมีการแก้ไขข้อบกพร่องมากมาย ขอยืนยันว่ากฎหมายไทยดีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องแก้ไข เสียอยู่อย่างเดียวคือการบังคับใช้ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจ อ่านแล้วต้องตีความจึงเกิดปัญหาขึ้นมา
คำถาม ปัญหาดังกล่าวสะเทือนทุกวงการ เช่นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ทันแพทย์ มีผลกระทบในวงกว้างนอกเหนือกระบวนการยุติธรรม ในฐานะคนไทยที่ไม่ได้อยู่ในวงการกฎหมาย สามารถทำอะไรได้บ้างที่จะพัฒนากระบวนการยุติธรรม
ผศ.ดร.รณกรณ์ : กดดันกระบวนการให้เปิดเผยโปร่งใส กดดันคนในกระบวนการแสดงความรับผิดชอบ แก้ไขปัญหา ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงระดับที่ใหญ่ขึ้นคือการเลือกผู้แทนของตนเข้าไปแก้ไขช่องโหว่กฎหมายต่างๆ
คำถาม ในคดีอาญามีวิธีการเลือกพยานผู้เชี่ยวชาญอย่างไร รวมถึงมีวิธีการวินิจฉัยความน่าเชื่อถืออย่างไร
ศ.พิเศษ อรรถพล : ในการเลือกพยานผู้เชี่ยวชาญขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในเรื่อง แต่มีหน่วยงานหลักๆ 2 หน่วยงาน คือ กองพิสูจน์หลักฐาน และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยวิธีการหลีกเลี่ยงข้อครหาคือเลือกใช้พยานผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมาตรฐานของส่วนราชการ โดยความเห็นส่วนตัวหากตรวจสอบแล้วเกิดปัญหาขึ้นมาควรให้หน่วยงาน 2 หน่วยงานนี้เป็นผู้วิเคราะห์
คำถาม สามารถตั้งข้อหาตามมาตรา 157 กับพนักงานสอบสวนขณะนั้นได้หรือไม่ เมื่อตรวจพบสารโคเคนในตัวบอส แต่ไม่ได้แจ้งข้อหาดังกล่าว
ศ.พิเศษ อรรถพล : การตั้งข้อหาอยู่ในอำนาจของหน่วยงานที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ปปช. หากพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการทุจริตก็สามารถร้องได้ แม้กระทั่งไม่เป็นการทุจริต แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานต้นสังกัดก็หยิบยกขึ้นมาได้
คำถาม มีกรอบเวลาในการดำเนินคดีในแต่ละชั้นหรือไม่ พนักงานสอบสวนกี่ปี พนักงานอัยการกี่ปี ศาลกี่ปี
ศ.ดร.สุรศักดิ์ : ตั้งแต่ปี 40 เป็นต้นมาก็ได้มีการเรียกร้องมาโดยตลอดว่าการดำเนินคดีต้องรวดเร็ว ถูกต้องเป็นธรรม แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ
ศ.พิเศษ อรรถพล : ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 ประกาศใช้มีการกำหนดให้แต่ละหน่วยงานไปกำหนดกรอบเวลาแต่ส่วนมากยังกำหนดไม่ได้
คำถาม มีคดีไหนที่อัยการสั่งฟ้องและรองอัยการสั่งไม่ฟ้อง
ศ.พิเศษ อรรถพล : ในคดีที่เคยมีการสั่งฟ้องแล้วรองอัยการสั่งไม่ฟ้อง ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ แต่ตรวจสอบได้
คำถาม การเรียกร้องความเป็นธรรมมีระยะเวลาในการร้องหรือไม่
ศ.พิเศษ อรรถพล : ร้องขอความเป็นธรรมมาได้ตลอด ไม่มีระยะเวลา ตราบใดที่คดียังไม่ขาดอายุความ
คำถาม แม้ศาลชั้นต้นตัดสินแล้วยังสามารถร้องขอความเป็นธรรมได้อีกหรือไม่
ศ.พิเศษ อรรถพล : ร้องขอได้ตลอด แต่ผลจะเป็นอย่างไรต้องไปดูใน ป.วิ.อ.
คำถาม แม้อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งไม่ฟ้อง คดีก็ยังไม่ถือว่าจบ แต่ในกรณีที่ไม่มีบุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส แล้วใครจะฟ้องได้
ศ.พิเศษ อรรถพล : ในกรณีเช่นนี้รัฐอย่างเดียวที่ต้องลงไปดู
คำถาม เคยมีตัวอย่างคดีที่อัยการไม่ฟ้องกรณีประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่
ศ.พิเศษ อรรถพล : ในคดีที่สั่งไม่ฟ้องเพราะไม่ประมาทมีมากมาย เช่น คดีรถยนต์ฝั่งตรงข้ามชนคนกระเด็นมาตายหน้ารถของบุคคลอื่น กรณีเช่นนี้จะไม่ฟ้องบุคคลซึ่งไม่ได้ชนแต่เขามาตายเอง
คำถาม ดาบตำรวจวิเชียรตกเป็นผู้ต้องหาได้อย่างไร เขาอาจจะไม่ได้ตัดหน้า หรือตัดหน้าเพราะเหตุบางอย่างก็ได้ ใครเป็นคนชี้ว่าเขาเป็นผู้ต้องหา
ผศ.ดร.รณกรณ์ : ทั้งคู่ตกเป็นผู้ต้องหาได้ ยังไม่มีการชี้ว่าใครถูกใครผิด เพียงแต่คดีของดาบตำรวจวิเชียร ระงับไปเพราะความตายของผู้ต้องหาแล้ว ส่วนคดีของคุณบอส ก็ยังไม่มีการตัดสินว่ามีความผิด ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ประเด็นเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องดุลพินิจของพนักงานอัยการว่าได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วหรือไม่
คำถาม คำสั่งไม่ฟ้องถูกวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะถูกเพิกถอนหรือไม่ และเมื่อถูกเพิกถอนแล้วในการดำเนินกระบวนการต่อจะต้องอาศัย ป.วิ.อ.มาตรา 147 อยู่อีกหรือไม่
ศ.พิเศษ อรรถพล : ความเห็นส่วนตัว คือถ้าสั่งโดยไม่มีอำนาจ อันนี้ไม่ต้องใช้ มาตรา 147 แต่หากเป็นผู้ที่มีอำนาจแต่สั่งโดยไม่ชอบ คำวินิจฉัยว่าสั่งโดยไม่ชอบนี้คือพยานหลักฐานใหม่ตามมาตรา 147
ศ.ดร.สุรศักดิ์ : ประเด็นอยู่ที่ว่าแค่ไหนเป็นพยานหลักฐานใหม่ในคดี
คำถาม เคยปรากฏคดีที่ไม่ฟ้องบุคคลผู้ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ เพราะการฟ้องคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ศ.พิเศษ อรรถพล : มี ในต่างประเทศจะเรียกว่า “ชะลอการฟ้อง” เคยมีคดี พ่อ แม่ ลูก 2 ขับรถไปทำบุญที่ต่างจังหวัด แต่พ่อต้องรีบกลับมาทำงาน ขับรถหลับใน รถคว่ำภริยาตาย ลูกตาย 1 คน ถ้าฟ้องพ่อไปลูกจะอยู่ยังไง มาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ก็ได้กำหนดไว้
คำถาม ถ้าอัยการสูงสุดถูกวินิจฉัยว่าใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานไม่ได้ ประมาท อัยการสูงสุดจะมีความอาญาหรือวินัยอย่างไร
ศ.ดร.สุรศักดิ์ : ถ้าตั้งใจทำผิดก็มีความผิดเกี่ยวกับเจ้าพนักงานอยู่แล้ว แต่ถ้าปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมาก็ไม่มีความผิด
ศ.พิเศษ อรรถพล : ถ้ามีการสั่งไม่ฟ้องโดยมีเจตนาไม่ว่าจะเพื่ออะไรก็ตาม อันนี้เป็นความผิดวินัยร้ายแรงถึงขั้นไล่ออก และยังถูกดำเนินคดีอาญาด้วย หากเป็นการสั่งไม่ฟ้อง เพราะไม่รอบคอบ อาจถูกลงโทษทางวินัยไม่ถึงขั้นร้ายแรง แต่มีโทษสูงสุดคืองดบำเหน็จ 3 ปี