สรุปสาระสำคัญจากเสวนาทางกฎหมาย เรื่อง “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”
ผู้กล่าวเปิดงาน
- คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒน
ธรรม (CRCF)
วิทยากร
- คุณณัฐาศิริ เบิร์กแมน ผู้อำนวยการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
- คุณอับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความจำเลยคดีหมายเลขดำที่ 3428/2561 ศาลจังหวัดยะลา
- คุณอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
- อาจารย์สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คุณสัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนิติศาสตร์สาก
ล (ICJ) - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและการพัฒนา / อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายหัตถพงษ์ หิรัญรัตน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาคปกติ ศูนย์รังสิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ (พิธีกร)
คุณยิ่งชีพ กล่าวนำด้วยการชี้ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามชายแดนภาคใต้จากการติดตามมาเป็นระยะหลายปี แต่หลายต่อหลายครั้งที่พยายามจะสื่อสารออกมาสู่สังคมภายนอก ก็มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นการก่อกระแสให้เกิดความขัดแย้ง และไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ อย่างไรก็ตาม ด้วยแถลงการณ์ของคุณคณากรซึ่งเปรียบเสมือนแสงที่สะท้อนให้เห็นถึงความมีอยู่จริงของปัญหาเหล่านั้นนี้เอง จึงสมควรที่จะนำปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง
คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒน
คุณพรเพ็ญ กล่าวเปิดงานโดยกล่าวถึงปัญหาการถูกบังคับให้สาบสูญของทนายความทั้งหลายที่แบกรับภาระของการสื่อสารด้านความยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอดช่วงชีวิตซึ่งก็คงเปรียบเทียบได้กับการที่ผู้พิพากษาคณากรคงเผชิญกับเรื่องราวต่าง ๆ จนต้องนำความอัดอั้นเหล่านั้นลงมาเขียนในคำแถลงการณ์ซึ่งก็คงกล่าวได้ว่ามันเป็นแถลงการณ์ที่เป็นเสียงจากประชาชน พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงความนิ่งเฉยของสังคมไทยที่มีต่อเหตุการณ์ที่รุนแรงเช่นนี้ และก็ได้ขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้มองเห็นปัญหา และได้ร่วมให้ความช่วยเหลือมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551-2552
คุณณัฐาศิริ เบิร์กแมน ผู้อำนวยการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
คุณณัฐาศิริ กล่าวว่า ตนในฐานะตัวแทนของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ขอนำเสนอข้อเรียกร้องจากองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งได้แก่ สมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความสิทธิชุมชน ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูท้องถิ่น ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน ศูนย์เพื่อสิทธิชุมชนภาคอีสาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ดังต่อไปนี้
- ขอเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำแถลงการณ์ของคุณคณากร และมีการดำเนินการทั้งในทางวินัย และคดีอาญากับผู้ที่ถูกกล่าวอ้างในกรณีที่พบการกระทำความผิด
- ขอเรียกร้องให้ดำเนินการเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของนายคณากรและครอบครัวในระหว่างที่มีการสอบสวน
- ขอเรียกร้องให้ประธานศาลฎีกาได้ทบทวนระเบียบของของฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาและรายงานคดีการตรวจ ในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษา พ.ศ. 2562
- ขอเรียกร้องให้สร้างกลไกอย่างเป็นทางการเพื่อไม่ให้มีการแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และให้ผู้พิพากษาที่ถูกแทรกแซงสามารถที่จะช่องทางร้องเรียนของความเป็นธรรมได้อย่างปลอดภัย
- ขอเรียกร้องให้ผู้พิพากษาทุกท่านมีความกล้าหาญทางจริยธรรมและไม่ยอมจำนนต่ออำนาจอิทธิพลนอกกฎหมายรวมทั้งอคติของผู้ใดอันจะทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไป
- ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทั้งหลายในการเสนอข่าวขอให้เคารพจรรยาบรรณและเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เป็นช่องทางในการก่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างสร้างสรรค์ต่อไป
ช่วงที่ 1 เสวนาเรื่อง “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา
คุณอับดุลเลาะห์ หะยีอาบู (ซ้ายในภาพ) ทนายความจำเลยคดีหมายเลขดำที่ 3428/2561 ศาลจังหวัดยะลา
คุณอับดุลเลาะห์ กล่าวถึงรายละเอียดของคดีที่คุณคณากรพิจารณาในฐานะทนายความของจำเลยนับตั้งแต่การตั้งข้อสังเกตว่าหนึ่งในจำเลยที่ถูกฟ้องนั้นเคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง และได้รับการยกฟ้อง จึงอาจจะเป็นหนึ่งในเหตุที่ทำให้คดีนี้ถูกดำเนินกระบวนการตามกฎหมายพิเศษที่ได้แก่พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน และถูกดูแลเป็นพิเศษจากรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยอ้างว่าเป็นคดีอุกฉกรรจ์ และยังกล่าวต่อไปถึงความประหลาดในการกันตัวผู้ต้องสงสัยบางคนออกจากการฟ้องคดี “ทั้ง ๆ ที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใด ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความร้ายแรงของการกระทำผิดที่น้อยไปกว่ากัน” และขอให้สอบพยานแบบลับหลัง แต่ระหว่างการนำสืบในการชักค้านก็พบว่าพยานดังกล่าวยังมีพิรุธซึ่งก็เป็นสิ่งที่คุณคณากรได้สังเกตเห็นด้วยตัวของท่านเอง หลังจากนั้นก็กล่าวถึงข้อสังเกตที่มีการเลื่อนการพิพากษาคดีเป็นเวลานานถึง 2 เดือนซึ่งเชื่อได้ว่ามีเหตุจากการส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีศาลภาค 9 ตรวจ แล้วกล่าวต่อไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณานับตั้งแต่การอ่านแถลงการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน. รวมนั่งสังเกตการณ์ ไปจนกระทั่งการยิงตนเอง ก่อนจะจบด้วยทิศทางของคดีที่ถึงจะยกฟ้อง แต่ก็ยังคงมีการขังระหว่างอุทธรณ์ซึ่งก็เป็นเรื่องทางปรกติในทางปฏิบัติของคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิต หรือมีอัตราโทษสูง โดยปรากฏว่าจำนวนเงินที่จะใช้ประกันตัวก็เกินกำลังของจำเลย
คุณอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ (กลางในภาพ) ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
คุณอับดุลกอฮาร์ กล่าวถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในช่วงปี พ.ศ. 2550 ซึ่งก่อปัญหาทางปฏิบัติที่เอื้อต่อการรวมรวบ และการฟังพยานหลักฐานตามกระบวนการในกฎหมายพิเศษที่สร้างช่วงเวลา 37 วันให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมผู้ต้องสงสัยโดยถือว่าเป็นช่วงเวลาก่อนเข้าสู่กระบวนการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาที่เปิดช่องให้มีการควบคุมตัวในศูนย์ซักถามที่ค่ายอิงคยุทร และกระบวนการซักถามตามกฎหมายพิเศษของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยมีพนักงานสอบสวนมาสอบสวนผู้ถูกคุมขังในฐานะพยานลงรายละเอียดในแบบของคำให้การ ทั้ง ๆ ที่กระบวนการทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนที่เกิดขึ้นก่อนกระบวนการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาซึ่งก็มีความไม่เป็นธรรม เพราะถึงแม้จะกล่าวกันว่าเป็นกระบวนการที่อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร แต่ก็คงเสมือนว่าอยู่ภายใต้อำนาจของทหารโดยเบ็ดเสร็จ และไม่เป็นที่แปลกใจที่ผู้ต้องหาก็จะให้การปฏิเสธหลังจากที่เข้าสู่กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา
สิ่งที่เป็นปัญหายิ่งกว่าคือ การใช้กฎหมายพิเศษไม่มีหลักเกณฑ์ว่ากรณีใดที่ใช้ หรือไม่ใช้ เพราะความผิดที่ถูกกล่าวหาบางอย่าง เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่เป็นกรณีต้องใช้กฎหมายทั่วไป ก็มีลักษณะแรกเริ่มที่เข้าใจได้ว่าเป็นกระบวนการก่อความไม่สงบทุกประการซึ่งก็ย่อมทำให้ต้องเผชิญกับกระบวนการตามกฎหมายพิเศษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ถูกดำเนินการล้วนเป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว อีกทั้งพนักงานสอบสวนก็เป็นพนักงานสอบสวนชุดความมั่นคงต่างหากซึ่งอาจจะไม่ใช่พนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุ และความพิเศษของคดีความมั่นคงที่ให้ผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ ภาค 9 เข้ามาร่วมเป็นองค์คณะรวมองค์คณะ และได้ทิ้งท้ายด้วยเรื่องประสบการณ์ในการดำเนินคดีที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งยังไม่เคยชนะ และคดีหนึ่งที่คุณคณากรได้กล่าวในคำแถลงการณ์เกี่ยวกับอธิบดีภาค 9 ที่แสดงความเห็นให้ลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐน้อยลงซึ่งก็น่าสนใจว่าจะเป็นเหตุให้ไม่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่
อาจารย์สมลักษณ์ จัดกระบวนพล (กลางในภาพ) อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.สมลักษณ์ บรรยายถึงประวัติศาสตร์ในการรายงานคำพิพากษาแก่อธิบดีศาลที่มีมาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2515 โดยเป็นไปตามระเบียบที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และยังกล่าวถึงอำนาจของอธิบดีศาลที่สามารถลงพิจารณาในศาลชั้นต้นตามมาตรา 11 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม และหากไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาก็สามารถทำความเห็นแย้งได้ ซึ่งก็เคยปรากฏในคดี นปช. 99 ศพ พ.ศ. 2553 แล้วกล่าวต่อไปว่าแม้ระบบดังกล่าวจะมีข้อเสียที่อาจทำให้เรื่องที่อยู่นอกสำนวนมีอิทธิพลต่การพิพากษาคดีของศาลอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้ยกเลิกการให้อธิบดีศาลมาตรวจสอบคำพิพากษา เพราะเห็นว่ายังมีความจำเป็นและยังมีทางแก้ไขอื่น ๆ รวมถึงมองว่าอธิบดีศาลภาค 9 น่าจะมีความรู้ความเข้าใจถึงความเหมาะสมในการตรวจสอบรายงานร่างคำพิพากษา”คดี” “แล้ว”ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่าทำไมศาลถึงไม่ใช้ทางแก้ที่มีอยู่นับตั้งแต่การขอโอนสำนวนโดยเหตุงานมีจำนวนมาก การนำคดีเข้าหารือในที่ประชุมใหญ่ หรือการร่วมปรึกษาหารือ ในส่วนของการสอบสวนในค่ายทหาร ก็มีความเห็นจากประสบการณ์ส่วนตัวว่าตนจะรับฟังเฉพาะที่สอดคล้องกับพยานหลักฐานอื่นที่เป็นประจักษ์พยานแน่หนามาก โดยจะระบุในคำพิพากษาว่าการที่พนักงานสอบสวนระบุคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนนั้นเป็นคำให้การบอกเล่าไม่ควรรับฟัง
คุณสัณหวรรณ ศรีสด (กลางในภาพ) จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สาก
คุณสัณหวรรณ กล่าวถึงมาตรฐานสากลของผู้พิพากษาที่ได้มีการกำหนดอย่างชัดเจน โดยในภาพรวมของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักการ Bangalore ของสหประชาชาติว่าด้วยหลักการความเป็นกลางของผู้พิพากษา ข้อ 1.4 ที่ได้เขียนข้อแนะนำในบรรทัดที่ 39-40 ปฏิญญาของผู้พิพากษาในข้อ 3 ซึ่งจัดทำโดย International Association of Justice อาจจะตีความได้ว่าไม่ควรมีการทบทวนแต่สามาระทำการอุดช่องว่างในเรื่องคุณภาพมาตรฐานหรือวิธีการอื่นได้ แล้วก็ยังกล่าวถึงเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการในการสอบสวนวินัยผู้พิพากษาควรเป็นผู้พิพากษาที่ทำงาน ผู้พิพากษาที่เกษียณอายุไปแล้วเพื่อความเป็นกลาง และควรจะมีบุคคลภายนอกเพื่อความโปรงใสตาม “Declaration of Istanbul” หรือ “ปฏิญาอิสตันบูล” วรรคที่ 15 ซึ่งคณะคณะอนุกรรมการตุลาการของไทยอาจจะยังไม่อยู่ในระดับการสอบสวนวินัยโดยการแสวงหาข้อเท็จจริงได้ และก็จบประเด็นสุดท้ายด้วยเรื่องการรับฟังพยานบอกเล่าซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ได้เคยมีความกังวลมาเป็นระยะเวลาถึง 10 ปีแล้ว เกี่ยวกับบทบัญญัติกฎหมายในลักษณะทำนองเดียวกับมาตรา 226/3 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่จะนำไปสู่การรับฟังพยานหลักฐานจากกฎหมายพิเศษ โดยถึงแม้ว่าจะมองเป็นข้อยกเว้นในกรณีที่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบ แต่การใช้มาตราดังกล่าวในพื้นที่สามชายแดนภาคใต้ที่มีลักษณะในการรวบรวมพยานหลักฐานที่จะเอาผิดผู้ต้องสงสัยก็สะท้อนให้เห็นว่า มีความพยายามที่จะทำให้ข้อยกเว้นดังกล่าวกลายเป็นเรื่องทั่วไปซึ่งก็ต้องตรงกับความกังวลที่มีขึ้นมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี (กลางในภาพ) รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและการพัฒนา / อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก่อนเข้าสู่ประเด็น ผศ.ดร.รณกรณ์ ก็ได้กล่าวเกี่ยวกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจสำนวนว่าไม่ได้มีเพียงแค่อธิบดีศาลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงหัวหน้าองค์คณะ และรองอธิบดีผู้พิพากษา และการจัดทำเป็นเอกสารลับเป็นสิ่งที่มีอยู่ในองค์กรของรัฐอยู่แล้ว ต่อมาจึงกล่าวถึงสองประเด็นที่ต้องพิจารณา
ประเด็นแรกเป็นเรื่องระบบการทบทวนคำพิพากษา โดยกล่าวว่าปัญหาความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่เกิดจากระบบทบทวนการพิจารณาคดีในประเทศไทยซึ่งไม่ได้มีลักษณะที่ให้อำนาจแก่ผู้พิพากษาที่สั่งการในลักษณะให้คุณให้โทษแก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามอันเป็นความบกพร่องโดยตัวของระบบกฎหมายเองอันเป็นมาตรฐานในการพิจารณาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป เป็นปัญหาที่มีลักษณะเป็นการเปิดช่อง
ต่อมาผศ.ดร.รณณกรณ์กล่าวถึงจุดอ่อนที่ถูกสะท้อนจากการมีอยู่ของระบบดังกล่าวซึ่งได้แก่ ประการแรก ความเสี่ยงของคู่ความที่จะถูกพิจารณาจากคนที่ไร้ซึ่งความสามารถ และคุณสมบัติที่จะได้รับความเชื่อใจว่าสามารถพิพากษาคดีได้อย่างเหมาะสม อีกประการหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงรากฐานอำนาจของศาลสูงที่ไม่ได้เห็นอากัปกิริยาของคู่ความ เห็นเพียงเอกสารในชั้นการพิจารณา แต่กลับสามารถทบทวนคำพิพากษาได้ทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่ระบบต่างประเทศที่บันทึกเสียงและภาพก็ยังไม่ให้ศาลสูงกลับข้อเท็จจริงในคดี โดยเรื่องนี้ก็ยังมีปัญหาที่น่ากังวลเกี่ยวกับความอิสระของศาลในเชิงภาวะวิสัย ก่อนจะจบประเด็นแรกด้วยการเสนอให้ยกเลิกระบบทบทวนคำพิพากษาที่แม้ว่าจะไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ก็นำไปสู่ความไม่โปร่งใสในเชิงภาวะวิสัย และควรใช้ระบบการทำความเห็นแย้งซึ่งก็ได้กล่าวถึงประเทศอังกฤษที่ให้ความเห็นแย้งเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา แต่หากยกเลิกไม่ได้ ก็ขอให้ทำตามข้อจำกัดผมขอ 2 ประการ คือ การไม่ทบทวนข้อเท็จจริง และการให้ความเห็นแย้งให้เป็นลายลักษณ์อักษร และแสดงความกังวลถึงที่ประเทศไทยเราปล่อยให้ศาลสูงเปลี่ยนเจ้าของสำนวนหรือเปลี่ยนองค์คณะได้
ประเด็นที่สองเกี่ยวข้องกับกระบวนการตามกฎหมายพิเศษ โดยกล่าวถึงการถูกปฏิบัติของผู้ต้องสงสัยในพื้นที่สามชายแดนภาคใต้ที่ไม่ได้รับสิทธิใด ๆ ตามหลักการของสิทธิที่จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยกล่าวว่าแม้เจ้าหน้าที่รัฐจะถูกพิจารณาว่าได้ใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายก็ไม่ได้หมายความรัฐไทยจะใช้อำนาจโดยชอบ และยังกล่าวถึงไปถึงสิทธิที่จะได้เจอผู้พิพากษาโดยเร็วที่สุดซึ่งด้วยผลของกฎอัยการศึกที่กำหนดระยะเวลาไว้ถึง 7 วันนี้เองจึงทำให้ประเทศไทยดูจะห่างเหินกับมาตรฐานโลกที่ถูกกำหนดไว้เพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น ตาม ICCPR โดยผศ.ดร.รณกรณ์ได้ทิ้งท้ายถึงเรื่องการพิจารณาถึงความคุ้มของราคาที่ต้องจ่ายระหว่างความมั่นคงกับเสรีภาพไว้ว่า “นี่คือราคาที่เราต้องจ่ายเพราะคนจ่ายไม่ใช่เราที่นั่งหล่อ ๆ สวย ๆ ในกรุงเทพฯ แต่คือคนที่อยู่ในพื้นที่”
คุณสัณหวรรณ ยังได้แสดงถึงความกังวลในเรื่องของการรวมศูนย์ของคำวินิจฉัยของประเทศไทยที่ใช้ระบบผสมจากระบบภาคพื้นยุโรปและจากอังกฤษที่อาจจะก่อให้เกิดการขาดความก้าวหน้าของคำพิพากษาไปในจุดอื่น ๆ โดยผศ.ดร.รณกรณ์ ยังได้เสนอทางแนวแก้ปัญหาอีกแบบหนึ่งคือการมีผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์ยาวนานไปเลย หรืออาจจะให้ผู้พิพากษาศาลสูงลงมาร่วมพิจารณาในศาลล่างโดยที่ผู้พิพากษาอังกฤษมานั่งซึ่งก็ทำให้เกิดทั้งการเรียนรู้และการตรวจสอบมาตรฐาน แต่อาจารย์สมลักษณ์ ก็ได้กล่าวว่ามันมีการนำผู้พิพากษาอาวุโสมานั่งพิจารณามาก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้ว
ช่วงที่ 2 การแสดงข้อคิดเห็นและคำถามโดยผู้เข้าร่วมเสวนา
- คำถาม (1) : คุณกฤษฎา ทับจักร (สำนักข่าวประชาไท) ประเด็นแรกคือการเป็นอิสระนั้นจะเป็นอิสระจากประชาชนมากน้อยเพียงใด ประเด็นที่สองคือทำไมต้องรักษาแนวคำพิพากษาศาลฎีกาและยี่ต๊อก (การกำหนดโทษ) ประเด็นที่สามคือ ประเทศไทยควรมีระบบทบทวนเหมือนศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรปหรือไม่
อาจารย์สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ได้ตอบเฉพาะประเด็นที่สองโดยมองว่าเรื่องแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกาเป็นสิ่งที่ยึดถือมานานแล้ว แต่โดยส่วนตัวอาจารย์นั้นไม่เห็นด้วยที่จะต้องยึดถือ โดยเฉพาะเรื่องการรัฐประหาร และเห็นว่าเป็นสิ่งที่สามารถกลับได้ผ่านที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา
คุณสัณหวรรณ ศรีสด ตอบประเด็นด้วยการยึดโยงหลักการใน Declaration of Istanbul ว่าความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเป็นสิ่งที่จำเป็นมากจริง แต่การทำให้เรื่องงานบริหารบุคลากรในองค์กรให้โปร่งใสได้ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยรักษาความเป็นอิสระเช่นกัน เพราะฉะนั้นการมีบุคคลภายนอกเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ที่จะส่งเสริมเรื่องความโปร่งใสด้วยก็จะเป็นสิ่งที่ดี ในส่วนประเด็นที่สามก็มองว่าการตั้งศาลสิทธิมนุษยชนอาเซียนยังคงเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวแค่ในเชิงวิชาการเท่านั้น เพราะไม่ได้รับการผลักดันภายในประเทศของรัฐสมาชิกเท่าใดนัก
ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี ได้ตอบประเด็นแรกด้วยการตั้งข้อสังเกตผ่านวิทยานิพนธ์ว่าคดีที่กระบวนการทบทวนคำพิพากษามีลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุโรปล้วนเป็นอดีตประเทศที่อยู่ในระบบคอมมิวนิสต์ ส่วนประเทศอื่นจะไม่เป็นแบบนี้เนื่องด้วยเหตุผลข้อเดียวคือ ศาลเป็นอิสระจากนิติบัญญัติและบริหารนั้น ซึ่งตนเห็นว่ามันมีปัญหาหรือแนวโน้มบางอย่างที่ควรต้องระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ก็ได้กล่าวถึงข้อเสียของการยึดโยงกับประชาชนที่ผู้พิพากษาจะต้องเอาใจ ส่วนประเด็นที่สองก็มองว่าสิ่งดังกล่าวก็มีในต่างประเทศเช่นเดียวกัน เพียงแต่ประเทศไทยยังคงมีปัญหาที่ไม่เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าว และไม่ทราบถึงความเข้มข้นในการจะต้องกระทำตาม และในประเด็นที่สาม ก็ได้กล่าวว่าเห็นเช่นเดียวกับที่อาจารย์ปกป้องกล่าวไว้ว่าศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ก่อให้เกิดปัญหาบางประการจนเห็นได้จากการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษที่มาจากข้อกังวลเกี่ยวความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และอำนาจอธิปไตยทางศาล เพราะฉะนั้นการจะมีศาลเช่นเดียวกับยุโรปจึงมีทั้งข้อดี และข้อเสีย
- คำถาม (2) : คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ถามว่าตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะของการที่ทหารนำตุลาการหรือไม่ โดย
คุณอับดุลกอฮาร์ แอเวบูเต๊ะ กล่าวว่าจริง ๆ แล้วในประเด็นนี้มีความผิดเพี้ยนตั้งแต่การออกแบบกระบวนการสอบสวนแล้ว โดยตามกฎหมายทั่วไปก็จะเริ่มจากการสืบเสาะแสวงหาพยานหลักฐานแล้วจึงนำไปสู่ผู้กระทำ แต่ตามกฎหมายพิเศษกลับมีลักษณะที่จะมุ่งผู้ต้องสงสัยก่อนแล้วจึงหาพยานหลักฐานซึ่งก็มีความอันตรายอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีกลุ่มเป้าหมายของตนอยู่แล้ว และด้วยกฎหมายพิเศษนี้เองจึงได้ทำให้การแสวงหาพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนตามกฎหมายทั่วไปจะเปรียบเสมือนถูกกำหนดไว้ก่อนแล้วโดยเจ้าหน้าที่พิเศษตามกฎหมายพิเศษ เพราะฉะนั้นมันจึงมีเรื่องความเป็นอิสระในการแสวงหาพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนด้วย นอกจากนี้ จากประสบการณ์ที่ได้ทำคดีนี้ และได้พบเห็นการที่เจ้าหน้าที่ได้กันตัวบุคคลซึ่งทำหน้าที่วางระเบิดไว้เป็นพยานแล้วทำการฟ้องผู้เฝ้าทาง สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีหลักเกณฑ์ใด หรือมาตรฐานใด ๆ แต่เป็นการถูกเลือกโดยคนที่มีอำนาจว่าจะให้ใครไปอยู่ในส่วนใดและจะเลือกดำเนินคดีกับใคร
คุณอับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ได้แสดงความกังวลถึงเรื่องเดียวกันกับคุณอับดุลกอฮาร์ แอเวบูเต๊ะในประเด็นเกี่ยวกับทหารนำตุลาการหรือไม่ โดยมองว่าเป็นการนำพนักงานสอบสวนมารับรองการใช้อำนาจของตนในภายหลัง และยังมีความกังวลต่อไปถึงการสร้างตัวละครในคดีที่นำผู้ที่ร่วมกระทำความผิดมาเป็นพยานโดยไม่สนใจหน้าที่ในการกระทำความผิดแลกกับการไม่ดำเนินคดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการที่รัฐไม่ตามหาผู้ร้ายตัวจริงเพื่อมาลงโทษ
อาจารย์สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ได้ตอบประเด็นดังกล่าวว่า ประเด็นนี้ก็คงมาจากการมองว่าศาลคือตัวการใหญ่ในการที่สนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหาร โดยหากศาลปฏิบัติไปตามกฎหมายย่อมไม่มีผู้ใดกล้ากระทำการรัฐประหาร ประกอบกับศาลมีการกระทำหลายอย่างที่ทำให้สังคมสงสัยทั้ง ๆ ที่อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งสองสิ่งนี้จึงทำให้ไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไรในกรณีสังคมจะตั้งข้อสงสัยว่าทหารจะนำตุลาการหรือไม่ และเห็นว่าจะหลุดพ้นได้ก็ต่อเมื่อประธานศาลฎีกามีความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงผ่านที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
- คำถาม (3) : คุณนวลน้อย ธรรมเสถียร ถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้พิพากษาจะแสดงบทบาทมากกว่านี้โดยเฉพาะการไต่สวนการตายที่มีการกล่าวหาว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่ และในกรณีที่มีการพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐานตามกฎหมายพิเศษ ประเด็นที่สองเรื่องในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลในคดีที่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องขอให้ทนายจำเลยหรือฐานไปคัดถ่ายเอกสารในสำนวนควรจะเป็นสมบัติของสาธารณหรือไม่ รวมไปถึงประเด็นที่ศาลมีดุลพินิจที่จะจดรายงานที่อาจจะเผยแพร่ต่อสาธารณะชนหรือไม่ก็ได้ ประเด็นที่สาม ในการพิจารณาคดีผู้พิพากษาบางท่านกรณีที่นักข่าวเข้าร่วมฟังการพิจารณานั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของท่านมากซึ่งการพิจารณาคดี เช่นนี้เป็นประเด็นเรื่องความโปรงใสหรือไม่ และจะทำอย่างไร และประเด็นสุดท้ายคือกฎหมายพิเศษที่ใช้ในพื้นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีปกติใช่หรือไม่ แล้วจะมีเกณฑ์อะไรในการพิจารณาบ้าง โดย
คุณสัณหวรรณ ศรีสด ได้กล่าวว่าปัญหาเรื่องการอมความของผู้พิพากษาซึ่งอาจจะมีการตกหล่นหรือขาดเนื้อหนัง เคยได้รับการตอบกลับว่าเป็นสิ่งที่ทำไปเพื่อป้องกันการบันทึกเนื้อหาไปบอกแก่พยานที่จะต้องสืบในปากต่อไป โดยตนมองว่าเป็นการแก้ไขปลายเหตุ และสะท้อนถึงปัญหาเรื่องของความโปร่งใส ทั้งนี้ มองว่าเรื่องนี้ก็สามารถถูกแก้ปัญหาได้โดยการบันทึกภาพและเสียงเพื่อให้ศาลสูงเห็นได้ซึ่งกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นเพื่อเป็นการทบทวนพยานหลักฐาน
อาจารย์สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กล่าวว่าอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบการไต่สวนการตายนั้นเป็นสิ่งที่กฎหมายให้อำนาจแก่ศาลอยู่แล้ว แต่ผู้พิพากษาไม่ใช้อำนาจดังกล่าวเองโดยที่ไม่มีใครตรวจสอบ ส่วนประเด็นเกี่ยวกับปัญหาการอมความของผู้พิพากษา ท่านก็ได้อธิบายผ่านการประสบการณ์ว่า มักจะเกิดจากการยึดติดกับสิ่งที่ถูกสั่งสอนมาในช่วงที่ยังเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ทั้งนี้ ตนไม่เคยห้ามการบันทึกของผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาโดยมองว่ามันเป็นสิทธิของผู้เข้าร่วมพิจารณา แต่ก็อาจจะมีข้อยกเว้น เช่น คดีข่มขืน เป็นต้น และตนก็เห็นด้วยกับการบันทึกเสียงและภาพในการพิจารณาโดยกล่าวว่าวิธีดังกล่าวได้มีการใช้ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศแล้ว
ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี ตอบในประเด็นการเสียชีวิตในระหว่างควบคุมตัวไว้ว่าเป็นเรื่องที่ตนกังวล โดยเฉพาะขณะที่ตนได้รับมอบหมายให้ทำร่างรายงานให้คณะกรรมการ CAT Committee ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสนใจและเป็นปัญหาจริง ๆ ส่วนประเด็นเรื่องของการคัดถ่ายเอกสารนั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับข้องกับการยึดโยงประชาชนนั้น เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้ประชาชนทราบ และตรวจสอบได้ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ศาลใช้ดุลพินิจที่นำไปสู่การพิพากษาคดี โดยศาลปกครองได้ออกแบบระบบให้ค้นหาคำวินิจฉัยได้ดี แตกต่างจากศาลยุติธรรมที่ทำไม่ได้ในบางกรณีซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าเกิดจากเหตุอันใด และก็เป็นปัญหาที่เกิดแม้กระทั่งอาจารย์ผู้สอนกฎหมาย แล้วก็ได้วิจารณ์ระบบประเมินการสอบเนติบัณฑิตที่วัดกันเพียงแค่คำพิพากษาซึ่งก็ส่งผลต่อมาตรฐานการศึกษากฎหมายของไทย
- คำถาม (4) : คุณอัครชัย ถามว่าในกรณีที่ศาลสูงพิพากษาคดีในลักษณะที่ให้จำเลยบริสุทธ์จากเดิมที่ศาลล่างพิจารณาว่ามีความผิด ความรับผิดของตุลาการมีหรือไม่
ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี มองว่าประเด็นนี้ได้มีการกล่าวถึงมานานแล้ว หากผู้พิพากษาทำผิด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามแห่งชาติ (ปปช.) โดยเฉพาะเรื่องการกระทำผิดในแง่ของการรับสินบนซึ่งเป็นหน้าที่ของ ปปช. โดยจะต้องจำกัดเฉพาะกรณีทุจริตเท่านั้น ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดจากการทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว ก็ควรมองว่าเป็นการให้พื้นที่ในการทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความกดดันในการทำงานอันจะก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ อีก
- คำถาม (5) : คดีความมั่นคงแตกต่างจากคดีทั่วไปอย่างไร และคดีความมั่นคงที่ขึ้นศาลทหาร กับศาลยุติธรรมแตกต่างอย่างไร
คุณอับดุลกอฮาร์ แอเวบูเต๊ะ กล่าวว่าคดีความมั่นคงนั้นไม่ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา แต่จะปรากฏในมาตรา 135/1 ประมวลกฎหมายอาญาแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องก่อการร้าย โดยการดำเนินคดีจะแตกต่างจากกฎหมายอื่นคือจะต้องใช้กฎหมายพิเศษก่อน
- คำถาม (6) : คุณรุ่งโรจน์ ถามความเห็นประเด็นการอาศัยหลักความเป็นอิสระของตุลาการเพื่อสนองความต้องการของตัวเองโดยไม่สุจริต
คุณสัณหวรรณ ศรีสด มองว่านอกจากระบบการทบทวนโดยศาลสูงแล้ว การที่ผู้พิพากษาทำงานเป็นองค์คณะไม่ได้ทำงานคนเดียวซึ่งเป็นรูปแบบของการทำงานที่ออกแบบให้ทบทวนแล้ว รวมทั้งเรื่องของความรับผิดของผู้พิพากษามีทั้งเรื่องของการสอบทางวินัยรวมทั้งเรื่องของการทุจริตซึ่งควรจะมีหน่วยงานที่คนทำเรื่องนี้โดยเป็นคนกลางและเชื่อมโยงประชาชนด้วย
ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี ตอบประเด็นดังกล่าวว่า กรณีที่มีการแทรกแซงในลักษณะการติดสินบนผู้พิพากษา มันก็มีระบบป้องกันอยู่ผ่านทำงานเป็นองค์คณะและการอุทธรณ์ฎีกานอกจากนี้ ก็ยังมีวิธีการขึ้นเงินเดือนซึ่งหากขึ้นเงินเดือน โดยประเทศอังกฤษก็ได้ขยายขอบเขตการขึ้นเงินเดือนแก่พนักงานตำรวจให้ใกล้เคียงกับผู้พิพากษาอีกด้วย
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ (พิธีกร)
คุณยิ่งชีพ กล่าวปิดงานเสวนาว่า ตนเชื่อว่าคำพิพากษานั้นสามารถกลับหลักได้และยังเชื่อว่ามีผู้พิพากษาดี ๆ ที่มีหลักการและกล้าที่จะเขียนคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เป็นประโยชน์ต่อคู่ความในคดี และสังคมในระยะยาวอยู่ไม่น้อย เพียงแต่จะมากกว่าหรือไม่ก็ไม่ทราบ โดยคำแถลงการณ์ของท่านคณากรนั้นเป็นหลักฐานที่ดีที่กล้ายึดหลักการบางอย่างและกล้าที่จะต่อสู้ เพื่อจะเขียนคำพิพากษาให้ได้ผลแตกต่างไปจากนโยบายที่ผู้ใหญ่สั่งมา และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าว่ากว่าจะสังคมจะรับรู้ ท่านก็ยิงตัวเองไปแล้ว ทั้งนี้ ก็ยังคงมีผู้พิพากษาหลาย ๆ ท่านที่ทำหน้าที่ทำประโยชน์อยู่โดยที่ท่านไม่ยิงตัวเอง และก็ต้องเป็นกำลังใจให้ผู้พิพากษาทุกท่านที่ทำหน้าที่อยู่