สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปี พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) หัวข้อ “มรดกของพระยามานวราชเสวีในระบบกฎหมายไทย” จัดโดย ศูนย์นิติศึกษาทางสังคม ประวัติศาสตร์ และปรัชญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2563 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้อง 413 อาคารบรรยายรวมสังคมศาสตร์ 3 (SC3) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ผู้กล่าวเปิดงาน
- ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพทูรย์ ผู้อำนวยการศูนย์นิติศึกษาทางสังคม ประวัติศาสตร์ และปรัชญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำศูนย์นิติศึกษาทางสังคม ประวัติศาสตร์ และปรัชญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ดร.ณัฐญาดา ณ สงขลา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท มานะพันธุ์ จำกัด
- นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
- รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ / อาจารย์ประจำศูนย์นิติศึกษาทางสังคม ประวัติศาสตร์ และปรัชญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายวิวัฒน์ กอสัมพันธ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขากฎหมายเอกชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพทูรย์ ผู้อำนวยการศูนย์นิติศึกษาทางสังคม ประวัติศาสตร์ และปรัชญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร.สมคิด กล่าวเปิดการเสวนาว่า ในโอกาสที่ครบรอบ 130 ปีของพระยามานวราชวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) จึงจัดงานเสวนาเพื่อเชิดชูเกียรติ โดยนำคุณูปการของพระยามานวราชเสวีมาพูดคุย อภิปรายให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งพระยามานวราชเสวีมีผลงานที่มากมาย ไม่ว่าในแง่ของผลงานทางวิชาการ หรือในแง่ของการดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทสำคัญในการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับที่เราใช้ในปัจจุบัน นอกจากนี้แล้ว พระยามานวราชเสวียังมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรปี พ.ศ. 2475 และประธานร่างรัฐธรรมนูญในปีพ.ศ. 2489 อีกด้วย ผลงานต่าง ๆ ของพระยามานวราชเสวีที่ตกทอดมาถึงทุกวันนี้จึงเป็นสิ่งที่เราควรยกย่องและเชิดชู
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำศูนย์นิติศึกษาทางสังคม ประวัติศาสตร์ และปรัชญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวเบื้องต้นถึงประวัติของพระยามานวราชวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) ที่เป็นทั้งนักเรียนกฎหมาย อาจารย์กฎหมายที่สำคัญคนหนึ่ง มีบทบาทสำคัญตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) และเป็นอาจารย์ฝ่ายปกครองในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย
สมัยที่พระยามานวราชวีอายุ 18 ปี ศึกษาจบชั้นมัธยมก็ได้รับมอบหมายให้ไปทำงานรับใช้เสด็จในกรมราชบุรี (พระองค์เจ้ารพี) ทำงานได้ 2 ปี พระองค์เจ้ารพีก็ให้ไปช่วยงานการแปลเอกสารหนังสือต่าง ๆ ปรากฏว่าพระยามานวราชเสวีทำงานได้เป็นที่น่าพอใจ พระองค์เจ้ารพีจึงขึ้นเงินเดือนให้ แต่พระยามานวราชวีเห็นว่าหากทำงานแค่เป็นนักแปลก็จะเป็นแค่เสมียนไปตลอด จึงขอลาไปเรียนกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมาย เมื่อศึกษาจบชั้นเนติบัณฑิต (เนติบัณฑิตในสมัยนั้นต่ำกว่านิติศาสตรบัณฑิต) ก็สอบชิงทุนได้ไปเรียนที่อังกฤษ ซึ่งพระองค์เจ้ารพีได้มอบหมายว่าเมื่อศึกษาจบจากอังกฤษ ให้ไปศึกษาต่อที่เยอรมนีด้วย แต่เมื่อจบที่อังกฤษก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น พระยามานวราชเสวีจึงต้องกลับมายังประเทศไทย เมื่อกลับมาถึง พระยามานวราชวีก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สำคัญต่าง ๆ มากมาย ซึ่งหน้าที่หนึ่งที่สำคัญคือการเป็นเลขานุการคณะกรรมการร่างกฎหมาย ทำให้เกิดมรดกสำคัญที่คนรุ่นหลังไม่อาจลืมได้เลยก็คือ ในช่วงปี พ.ศ. 2466-2468 พระยามานวราชเสวีมีส่วนสำคัญในการชำระสะสางและจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับปี พ.ศ. 2468 (ป.พ.พ.) ฉบับที่เราใช้ในปัจจุบัน
ในโอกาสที่ ป.พ.พ. จะมีอายุครบ 100 ปีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รศ.ดร.กิตติศักดิ์เห็นว่าเหล่านักกฎหมายทั้งหลายและผู้ที่สนใจจะได้พูดคุย ศึกษา วิจัยถึงพัฒนาการของกฎหมายไทยที่ผ่านมา เหมือนกับประเทศต่าง ๆ ที่ฉลองครบรอบ 100 ปีของประมวลกฎหมายแพ่งของเขามาแล้ว เช่น เยอรมัน ญี่ปุ่น ส่วนฝรั่งเศสฉลองครบ 200 ปีไปแล้ว ซึ่งในโอกาสที่ฉลองนี้ ทั้งสามประเทศก็สร้างงานวิชาการศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของประมวลกฎหมายแพ่งของตนไว้อย่างน่าสนใจ
รศ.ดร.กิตติศักดิ์มีโอกาสพบกับพระยามานวราชเสวีเมื่อประมาณปี 2523-2524 เมื่อเริ่มต้นเป็นอาจารย์ใหม่ ๆ ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ และได้รับความรู้ในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระยามานวราชวีได้แนะนำว่า หากจะไปศึกษาต่อกฎหมายให้ไปศึกษาที่เยอรมนีซึ่งพระยามานวราชวีอยากไปเรียนแต่ก็ไม่ได้ไป จึงทำให้รศ.ดร.กิตติศักดิ์ได้ไปศึกษาต่อที่เยอรมนีตามที่พระยามานวราชเสวีได้ให้คำแนะนำ โดยพระยามานวราชเสวีให้คำแนะนำด้านการศึกษาดีมากและกล่าวว่าไปเรียนเยอรมนีนั้นดี แต่ว่าอาจจะต้องใช้เวลานาน ให้เรียนทั้งด้านวิชาการให้สูงสุดและเรียนวิชาทำเงินสามารถหากินได้ด้วย
ตอนที่รศ.ดร.กิตติศักดิ์ไปพบพระยามานวราชเสวีครั้งหนึ่ง ก็เจอนายทหารยศพลเอกคนหนึ่งกำลังกราบ รศ.ดร.กิตติศักดิ์และอาจารย์อีกหลายท่านก็กำลังจะทำตาม แต่พระยามานวราชเสวีก็ห้ามไว้และบอกว่าทหารนั้นเป็นคนในครอบครัวจึงกราบได้ ส่วนอาจารย์เป็นแขกห้ามกราบ รัชกาลที่ 5 ได้ยกเลิกการมอบกราบไปแล้ว หากทำไปจะผิดกฎหมาย นับว่าพระยามานวราชเสวีได้แยกแยะเรื่องส่วนตัวกับเรื่องสาธารณะได้อย่างชัดเจน
รศ.ดร.กิตติศักดิ์เคยไปที่บ้านของพระยามานวราชเสวี ห้องรับแขกของพระยามานวราชเสวีมีห้องโถงเป็นห้องสมุดเต็มไปด้วยหนังสือมากมาย พระยามานวราชเสวีก็จะแนะนำหนังสือต่าง ๆ อีกทั้งยังบอกว่ามีห้องสมุดอยู่ชั้นบนอีกห้องหนึ่ง พระยามานวราชเสวีกล่าวว่า แม้ตนมีลูกศิษย์มากมาย แต่ว่าลูกศิษย์ที่อ่านหนังสือได้มากพอ ๆ กับตนมีเพียงคนเดียว คือ ศาสตราจารย์(พิเศษ)จิตติ ติงศภัทิย์ ซึ่งจะขออนุญาตมาอ่านหนังสือที่บ้าน และอยู่อ่านหนังสือตลอดทั้งวัน
ดร.ณัฐญาดา ณ สงขลา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท มานะพันธุ์ จำกัด
ดร.ณัฐญาดา กล่าวถึงชีวิตส่วนตัวของพระยามานวราชเสวี ซึ่งตนเป็นหลาน โดยดร.ณัฐญาดาเติบโตที่ต่างประเทศ การพบพระยามานวราชเสวี จึงเป็นช่วงพักร้อน เมื่อดร.ณัฐญาดามีอายุ 17 ปี ก็กลับมาอยู่ไทยเพื่อเรียนภาษาไทยโดยอาศัยอยู่กับพระยามานวราชเสวี 1 ปี โดยส่วนตัวแล้ว พระยามานวราชเสวี เป็นคนที่น่ารักและถ่ายทอดอะไรให้มากมาย ในช่วงที่เรียนภาษาไทยอยู่ ก็หาบทความภาษาไทยที่พระยามานวราชเสวีเขียนเองมาให้อ่านเพื่อให้ได้รู้จักท่านได้ดีขึ้น ซึ่งพระยามานวราชเสวีกับดร.ณัฐญาดาอยู่กันโดยมีการแลกเปลี่ยนทางความคิด เปิดกว้างทางความคิด ไม่ได้บังคับว่าต้องคิดแบบไหน ไม่ได้บอกว่าความคิดไหนดีหรือไม่ดี โดยให้ดร.ณัฐญาดาศึกษาหาข้อมูลและมาพูดคุยกันตอนเช้า และไม่ทำให้ตนรู้สึกว่าตัวเองคิดไม่ถูกหรือคิดโง่ ๆ นับเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจในความเป็นเด็กหรือผู้อื่น
ต้นตระกูล ณ สงขลา ของดร.ณัฐญาดามาจากฮกเกี้ยน ประเทศจีน และได้เข้ามาติตต่อค้าขายรังนก ส่วนภรรยาของพระยามานวราชเสวี เป็นหลานสาวคนจีนที่อพยพมาทำธุรกิจอยู่เมืองไทย และทวดของภรรยาของพระยามานวราชเสวีเสียชีวิตตั้งแต่ภรรยาของพระยามานวราชเสวีเป็นเด็ก มารดาของภรรยาของพระยามานวราชเสวีต้องเข้าวังไปทำงานเป็นข้าหลวง จึงเลี้ยงภรรยาของพระยามานวราชเสวีมาแบบผู้ดี เมื่อภรรยาของพระยามานวราชเสวีอายุ 20 กว่าปีก็ได้เป็นท่านผู้หญิงแล้ว เพราะว่าสามีมีความสามารถ ภรรยาของพระยามานวราชเสวีจึงรู้สึกว่าสามีมีบุญคุณต่อตนมาก และดร.ณัฐญาดาเห็นว่าที่คุณย่าคิดเช่นนั้น เพราะคุณปู่มีธรรม คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก อะไรคือสิ่งที่ผิด สิ่งที่คุณปู่ปฏิบัติกับคุณย่า ท่านก็ปฏิบัติกับตนเช่นเดียวกัน พระยามานวราชเสวีจะท้าทายทางความคิด ให้ตนแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ และพระยามานวราชเสวีก็แสดงความคิดเห็นของตัวเอง สุดท้ายพระยามานวราชเสวีก็ไม่ได้บอกว่าดร.ณัฐญาดาต้องคิดแบบท่าน นี่จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ท่านเป็นอาจารย์ที่ดี
พระยามานวราชเสวี มีภรรยาคนเดียวและมีลูกคนเดียว ในสมัยก่อนเป็นเรื่องที่แปลกมากเพราะว่าการมีลูกและภรรยาเยอะ ๆ เป็นสิ่งที่ปกติ หลังจากคลอดบิดาของดร.ณัฐญาดา หมอได้แจ้งว่าหากพยายามที่จะมีลูกอีก อาจจะเสียชีวิต พระยามานวราชเสวีจึงพูดว่ามีลูกชายอยู่แล้ว เราเลี้ยงเขาให้ดีก็พอ มีภรรยาคนเดียวก็พอ ไม่ต้องมีอะไรเพิ่มแล้ว ภรรยาของพระยามานวราชเสวีร้องไห้เพราะไม่เคยคิดว่าจะมีใครรักตนขนาดนั้น เพราะว่าการแต่งงานของทั้งสองเกิดแบบไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ได้คุยกันครั้งแรกคือวันหมั้น เมื่อผู้ใหญ่เห็นชอบจึงได้แต่งงานกัน
หลายคนกล่าวว่า พระยามานวราชเสวี เป็นคนดุและน่ากลัว แต่สำหรับตนแล้ว เป็นคนเจ้าระเบียบ และชี้แจงหรืออธิบายว่าโลกแห่งความเป็นจริงคืออะไร มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ถูก เรื่องใดควรทำ เรื่องใดไม่ควรทำ แต่ไม่ได้บังคับให้ดร.ณัฐญาดาต้องทำตามที่พระยามานวราชเสวีคิด ความคิดต่าง ๆ ของพระยามานวราชเสวีอาจจะเป็นเพราะเมื่อขึ้นมากรุงเทพจากสงขลา พระยามานวราชเสวีลำบากมาก ไม่มีเงินเลย จึงต้องประหยัด ในช่วงบั้นปลายของพระยามานวราชเสวี จะกินเพียงปลากะพงทอด ผักและข้าว ไม่ได้กินอะไรมากกว่านี้ ในทุกวันตอนเช้าพระยามานวราชเสวีจะเดินรอบบ้านประมาณ 20 รอบ จนเมื่ออายุได้ประมาณ 94-95 ปีก็หกล้มในห้องน้ำเพราะไม่ยอมให้ใครมาช่วยพยุง เดินและเสียชีวิตเพราะสาเหตุนี้ ซึ่งปกติเวลาพระยามานวราชเสวีไปโรงพยาบาลก็จะเดินเข้าโรงพยาบาลเอง ดร.ณัฐญาดาคิดว่าที่พระยามานวราชเสวีมีความคิดแบบนี้เป็นเพราะท่านมีประสบการณ์ จึงปล่อยให้ดร.ณัฐญาดาเรียนรู้เอง ให้รู้จักเข็ดหลาบเอง
การศึกษาสำหรับพระยามานวราชเสวี ป็นสิ่งที่สำคัญมาก พระยามานวราชเสวีเก็บเงินให้ลูกและหลานเรียนโดยไม่ต้องสอบชิงทุน อีกทั้งพระยามานวราชเสวีก็ไม่ได้บังคับให้ต้องเรียนกฎหมาย ให้เลือกได้ตามที่ชอบ แค่กล่าวว่าอยากเรียนอะไรก็เรียนให้จบและเมื่อเรียนจบมาก็ต้องหางานทำมาหากินเลี้ยง ดร.ณัฐญาดาจึงไปเรียนพระพุทธศาสนาแต่พอทำงานก็ทำงานที่ไม่ได้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเลย
อย่างไรก็ดี พระยามานวราชเสวี จะไม่ค่อยเล่าชีวิตการทำงานหรือการศึกษาให้ฟัง แต่จะเล่าถึงแค่การเดินทางไปศึกษาต่อว่าลำบาก ไม่ได้สบายเหมือนในสมัยนี้ เมื่อดร.ณัฐญาดาจะไปศึกษาต่อต่างประเทศ พระยามานวราชเสวีก็แนะนำเรื่องการปรับตัวและกล่าวว่าถ้าจะทำอะไรก็ตั้งใจทำให้ดีที่สุด จากที่กล่าวมา พระยามานวราชเสวีจึงเป็นคนที่น่ารักมากและดร.ณัฐญาดาก็ยังคิดถึงพระยามานวราชเสวีอยู่ทุกวัน
รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ / อาจารย์ประจำศูนย์นิติศึกษาทางสังคม ประวัติศาสตร์ และปรัชญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวว่า พระยามานวราชเสวีเป็นบุคคลสำคัญ เป็นศาสตราจารย์วิสามัญของ มธก. ด้วย โดยส่วนตัวแล้วพระยามานวราชเสวีมีพระคุณต่อตนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านชีวิตการงาน หากไม่มีพระยามานวราชเสวี ตนก็อาจจะไม่มีงานทำ รศ.ดร.มุนินทร์เคยได้ยินชื่อพระยามานวราชเสวีตอนเป็นนักเรียนที่โรงเรียนประจำในนครปฐม ในโรงเรียนจะมีรูปถ่ายพระยามานวราชเสวีในฐานะผู้ที่รื้อฟื้นโรงเรียนให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง แต่ว่ารศ.ดร.มุนินทร์ไม่ทราบว่าพระยามานวราชเสวีมีผลงานทางวิชาการหรือกฎหมายอย่างไร
การที่ รศ.ดร.มุนินทร์ รู้จักพระยามานวราชเสวีอย่างดีนั้นเกิดขึ้นในช่วงการเรียนปริญญาเอก ในช่วงเวลาของความสับสน จมอยู่ในทะเลแห่งข้อมูล ต้องหาทางในการวางแผนจัดทำวิทยานิพนธ์ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ใช้เวลาไปประมาณสองปีกว่าในการค้นหาหนทาง จนกระทั่งเมื่อศึกษางานประวัติศาสตร์ไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะงานของพระยามานวราชเสวี ศึกษาวิธีคิด ทัศนคติ ประวัติ จนมองเห็นปัญหาอะไรบางอย่าง จึงตั้งต้นจากจุดตรงนั้น และค้นพบความเข้าใจผิดขั้นพื้นฐานในการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ขึ้น ซึ่งความคิดนี้ของพระยามานวราชเสวีมีส่วนในการออกแบบให้ ป.พ.พ. เดินหน้าไปในทิศทางไหน และมีผลต่อการใช้การตีความในเวลาต่อมา รศ.ดร.มุนินทร์จึงนับถือในฐานะที่พระยามานวราชเสวีเป็นผู้ที่ทำให้สำเร็จการศึกษาและสามารถทำงานวิชาการได้ในปัจจุบัน ในการสอนของรศ.ดร.มุนินทร์ เมื่อดูจากสถิติข้อสอบย้อนหลังก็ต้องมีชื่อของพระยามานวราชเสวีเพราะรศ.ดร.มุนินทร์อยากให้นักศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญของพระยามานวราชเสวีที่ทำให้เรามี ป.พ.พ. ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งระบบซีวิลลอว์ในไทยเกิดขึ้นเมื่อเรามี ป.พ.พ. แม้ว่าพระยามานวราชเสวีจะเป็นเพียงหนึ่งในกรรมการร่างกฎหมายและเลขานุการ แต่ว่าเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังของวิธีการในการร่าง จึงเรียกได้ว่า พระยามานวราชเสวีเป็นบิดาของระบบกฎหมายซีวิลลอว์ของไทย
นอกจากพระยามานวราชเสวีจะเป็นที่นับถือของศาสตราจารย์(พิเศษ)จิตติ ติงศภัทิย์แล้ว ศาสตราจารย์ปรีดี พนมยงค์ก็ยังให้ความนับถือพระยามานวราชเสวีด้วย จากบทบาทของพระยามานวราชเสวีที่เป็นเสนาบดีอยู่ตั้งแต่ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยามานวราชเสวีก็ได้รับมอบหมายจากคณะราษฎรให้เป็นผู้ประสานงานกับขุนนาง เชื้อพระวงศ์และสถาบันกษัตริย์ และพระยามานวราชเสวียังดำรงตำแหน่งในระดับสูง เช่น รัฐมนตรี ประธานการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น การที่พระยามานวราชเสวีสามารถดำรงตำแหน่งได้ทั้งสองช่วงเวลาแสดงให้เห็นถึงความนับถือ คุณความดี ความประพฤติและความสามารถของพระยามานวราชเสวีนั่นเอง
การทำ ป.พ.พ. เริ่มต้นเมื่อไทยทำกฎหมายลักษณะอาญาเสร็จสิ้น ในปี พ.ศ. 2451 รัชกาลที่ 5 ก็มอบหมายให้นายยอร์ช ปาดูซ์ (Georges Padoux) จัดทำ ป.พ.พ. ต่อไป คณะกรรมการที่แต่งตั้งนี้เป็นชาวฝรั่งเศสทั้งหมด โดยนายยอร์ช ปาดูซ์ มีเจตนาดีที่ต้องการทำ ป.พ.พ. ให้มีเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์เฉพาะของไทย ไม่อยากให้เกิดจากการลอกจากของต่างประเทศมาอย่างเดียว จึงมีการนำกฎหมายเก่าของไทย คำพิพากษาที่ตัดสินภายใต้กฎหมายเก่ามาศึกษาเพื่อผสมผสานและร่างเป็นกฎหมาย ซึ่งวิธีการนี้ถูกใช้และประสบความสำเร็จกับกฎหมายลักษณะอาญา แต่ปรากฏว่า เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 5 ปี การร่าง ป.พ.พ. ก็ยังไม่มีท่าที่ว่าจะสำเร็จ และเข้าสู่ช่วงเวลาที่กำลังจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น นายยอร์ช ปาดูซ์ ได้ลาออกและเดินทางกลับฝรั่งเศส โดยได้มอบหมายให้ชาวฝรั่งเศสอีกคนมาเป็นหัวหน้าแทนตน ซึ่งในช่วงเวลานี้ การร่างป.พ.พ. แทบไม่มีความคืบหน้าเลย อาจจะเพราะว่าคนนี้ไม่มีความสามารถเท่านายยอร์ช ปาดูซ์ หรือวิธีการในการร่างอาจจะไม่เหมาะกับการร่าง ป.พ.พ. เพราะการทำให้ผลผลิตของกฎหมายโรมันและนักนิติศาสตร์โลกตะวันตกเข้ากับกฎหมายไทยในโลกตะวันออกเป็นสิ่งที่ยากในการจัดทำ
ในช่วงเวลาก่อนที่นายยอร์ช ปาดูซ์ จะกลับไปฝรั่งเศส พระยามานวราชเสวีก็กำลังเรียนในโรงเรียนกฎหมายและได้รับมอบหมายให้มาช่วยงานที่คณะกรรมการร่างกฎหมาย เป็นเหมือนเสมียนผู้ช่วยทำหน้าที่คอยเป็นล่ามแปลเอกสารเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการร่างที่ส่วนมากเป็นชาวต่างประเทศ ฉะนั้น พระยามานวราชเสวีจึงมีความคุ้ยเคยกับการจัดทำ ป.พ.พ. มาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ
เมื่อพระยามานวราชเสวีได้สำเร็จการศึกษาโรงเรียนกฎหมาย (จบเนติบัณฑิต) และได้ไปศึกษาต่อที่อังกฤษในปี พ.ศ. 2456 ซึ่งการเดินทางสมัยนั้นเป็นทางเรือและใช้เวลาเป็นเดือน ๆ พระยามานวราชเสวีก็นำสำเนาต้นร่างภาษาอังกฤษของ ป.พ.พ. ที่ร่างโดยชาวฝรั่งเศสติดตัวไปด้วย ด้วยเหตุว่าพระยามานวราชเสวีติดใจหรือสงสัยว่า เหตุใดการร่าง ป.พ.พ. ใช้เวลานานมาก แม้ผ่านไป 5 ปี ก็ยังร่างไม่เสร็จ ประกอบกับเมื่อพระยามานวราชเสวีอ่านหรือแปลก็ไม่เข้าใจ เมื่อไปถึงอังกฤษ พระยามานวราชเสวีได้ไปพักอยู่บ้านของจอห์น ไซมอน นักการเมืองที่มีชื่อเสียงของอังกฤษและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นสหายของพระองค์เจ้ารพี ในช่วงเวลาที่ศึกษากฎหมายที่อังกฤษ พระยามานวราชเสวีก็นำสำเนาต้นร่างนั้นไปสอบถามความเห็นของนักกฎหมายอังกฤษ โดยขอให้นักกฎหมายอังกฤษให้ความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นอย่างไร จุดนี้เองทำให้พระยามานวราชเสวีได้ความคิด วิธีการในการร่าง ป.พ.พ. ขึ้นมา กล่าวคือ นักกฎหมายอังกฤษต่างก็เห็นตรงกันว่า ชาวฝรั่งเศสที่ร่างมีเจตนาดีที่จะร่างให้มีลักษณะเฉพาะ แต่ว่าฝีมือไม่ถึง (ฝีมือไม่ถึงเป็นคำจากบันทึกคำสัมภาษณ์) และบอกต่อว่า หากต้องการจะให้การร่างเสร็จเร็ว ให้ไปดูวิธีการของญี่ปุ่นที่เพิ่งประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งไปซึ่งทำโดยการลอกประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันมา
จากคำแนะนำนี้จึงทำให้พระยามานวราชเสวีไปศึกษาประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น และประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศอื่น ๆ ในฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ปรากฏว่า เมื่อพระยามานวราชเสวีอ่านคำแปลของประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสก็อ่านไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ แต่เมื่ออ่านประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน กลับรู้สึกชอบมาก มีความเป็นเหตุเป็นผล มีความเป็นระบบ ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นก็รู้สึกชอบไม่ต่างกัน พระยามานวราชเสวีจึงตัดสินใจว่า เมื่อกลับไปไทยจะหาวิธีการที่ทำให้ไทยใช้ในแนวทางของเยอรมันและญี่ปุ่นเป็นต้นแบบแทนฝรั่งเศส
ในร่างเดิมนั้น กรรมการฝรั่งเศสตั้งหลักจากประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสและผสมหลักกฎหมายไทยกับหลักกฎหมายประเทศอื่น ๆ แต่ว่ายังคงกลิ่นอายของประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสเยอะ พระยามานวราชเสวีจึงตั้งใจที่จะใช้ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันกับประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ โดยที่พระยามานวราชเสวีเข้าใจว่าญี่ปุ่นเท่ากับเยอรมนี นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนในการจัดทำ ป.พ.พ. ของไทย
เมื่อพระยามานวราชเสวีกลับมาไทยในปี พ.ศ. 2459 ก็ได้รับราชการอยู่หลายที่ เป็นผู้พิพากษาศาลระหว่างประเทศ (ศาลที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ศาลนี้จะเชี่ยวชาญในกฎหมายของต่างประเทศ องค์คณะผู้พิพากษาจะมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ) และเป็นผู้ช่วยสมุหพระนิติศาสตร์ในช่วงปี พ.ศ. 2461 จนกระทั่งรัชกาลที่ 6 ก็รับสั่งให้พระยามานวราชเสวีไปช่วยแก้ไขปัญหาการร่าง ป.พ.พ. ที่คณะกรรมการร่างกฎหมาย เพราะการร่างใช้เวลายาวนานมาก ตั้งแต่พ.ศ. 2451-2461 ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะเสร็จ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งประเด็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขตก็ต้องการประมวลแพ่งสมัยใหม่เพื่อขอเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา พระยามานวราชเสวีอจึงเข้ามามีบทบาทในคณะกรรมการร่างกฎหมาย ในตำแหน่งแรกคือ เลขานุการคณะกรรมการร่างกฎหมาย (ตอนนั้นยังไม่มีความชัดเจนในสถานะทางกฎหมายเท่าไรนัก แต่เป็นคณะกรรมการชุดหนึ่งในกระทรวงยุติธรรมที่เพิ่งก่อตั้งมาไม่นานจากการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 5) ถ้าเทียบตำแหน่งในปัจจุบันก็คือ หัวหน้าของเจ้าหน้าที่ประจำทั้งหมดที่คอยช่วยเหลืองานของคณะกรรมการร่างกฎหมาย
ในคณะกรรมการร่างกฎหมายนั้นมีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ที่เป็นพี่ชายของพระยามานวราชเสวีเข้าไปเป็นกรรมการร่างกฎหมายก่อนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2459 แต่ว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องของพี่ชาย และกรรมการชาวไทยท่านอื่น ๆ ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการร่าง ป.พ.พ. มากนัก เพราะว่ากรรมการชาวฝรั่งเศสยังเป็นฝ่ายที่กำหนดทิศทางในการร่าง ป.พ.พ.
ใน พ.ศ. 2462 พระยามานวราชเสวีก็พยายามหาวิธีการที่จะทำให้แนวทางการร่างเปลี่ยนไปจากแนวทางเดิม จึงไปศึกษาประวัติศาสตร์การร่างประมวลกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่นแล้วก็พบว่า ญี่ปุ่นเริ่มร่างโดยอาศัยแนวฝรั่งเศส ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จทำให้ต้องมาร่างเป็นแนวเยอรมันแทน แต่ญี่ปุ่นก็ไม่อาจหักหาญน้ำใจฝรั่งเศสและคนญี่ปุ่นจำนวนมากที่เรียนตามแนวของฝรั่งเศสได้ กล่าวคือ ในขณะนั้น โรงเรียนกฎหมายไทยเริ่มต้นจากอิทธิพลของอังกฤษสำนักเดียว แต่ญี่ปุ่นมีโรงเรียนกฎหมายหลายสำนักเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน เป็นสำนักอังกฤษ สำนักฝรั่งเศส และสำนักเหล่านี้ก็แข่งขันกันและมีอิทธิพลพอ ๆ กัน ญี่ปุ่นจึงทำการประกาศใช้ประมวลแพ่งแต่ว่ายังไม่ให้มีผลใช้บังคับทันที และในช่วงที่ยังไม่มีผลใช้บังคับก็ส่งประมวลแพ่งไปให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ความเห็นว่าดีหรือไม่อย่างไร พระยามานวราชเสวีจึงเลือกใช้วิธีการนี้เพราะว่าคุ้นเคยกับร่างเดิมที่อ่านไม่เข้าใจ จึงคาดการณ์ว่าเมื่อประกาศร่าง ป.พ.พ. ที่ร่างโดยชาวฝรั่งเศสเป็นกฎหมายโดยยังไม่มีผลใช้บังคับทันทีและส่งไปให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องศึกษาย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างแน่นอน
ในช่วงนั้น นอกจากปัญหาวิธีการในการร่าง ยังมีปัญหาการใช้คำไทยด้วย กล่าวคือ เราต้องคิดค้นคำศัพท์ใหม่ ๆ ตามระบบกฎหมายสมัยใหม่ คำศัพท์เดิมๆที่มีจะยึดโยงอยู่กับกฎหมายไทยเดิม ข้อความคิดของกฎหมายสมัยใหม่จึงไม่ได้มีอยู่ในคำเดิม ๆ ที่เราใช้กัน ทำให้พระยามานวราชเสวีเชื่อมั่นว่าหากใช้วิธีแบบญี่ปุ่นเพื่อปฏิเสธร่างแนวฝรั่งเศส คนย่อมไม่คัดค้านแน่นอน เพราะว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ
ในปี พ.ศ. 2466 จึงมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ. ฉบับปี 2466) จากบันทึกคำสัมภาษณ์ พระยามานวราชเสวีบอกว่าเมื่อร่างมามั่ว ๆ อ่านไม่เข้าใจ ก็แปลตามนั้น เมื่อคนอื่นที่เกี่ยวข้องอ่านก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน จึงทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายตามที่พระยามานวราชเสวีคาดการณ์ไว้
ในปี พ.ศ. 2466 เป็นปีที่สำคัญของกฎหมายสมัยใหม่ของไทยนอกจากจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแนวทางการร่างประมวลกฎหมายแพ่งแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกรมร่างกฎหมาย มีการปฏิรูประบบการศึกษาแต่เดิมที่อยู่ใต้อิทธิพลของกฎหมายอังกฤษมานาน เป็นการมาสอนในแนวภาคพื้นยุโรปที่เกิดจากการเรียกร้องของฝรั่งเศส ให้ไทยนำระบบการสอนแบบภาคพื้นยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศสไปสอนเคียงคู่กับระบบอังกฤษ มิฉะนั้น จะไม่ยอมให้มีการแก้ไขสนธิสัญญาและข้อพิพาทเรื่องดินแดนที่เกิดในช่วงนั้น นับเป็นการกรุยทางที่สร้างสภาพแวดล้อมต่อระบบซีวิลลอว์ในไทยด้วย ในการสอนที่โรงเรียนกฎหมายจึงเป็นแบบที่เรียนวิชากฎหมายที่เรียนทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเคียงคู่กันไป
ผลของการวิพากษ์วิจารณ์ ป.พ.พ. ฉบับปี 2466 ไปในทางลบกันเยอะมาก กลายมาเป็นเหตุผลหรือความชอบธรรมที่ทำให้คณะกรรมการร่างกฎหมายเปลี่ยนกรรมการร่างที่เดิมฝ่ายฝรั่งเศสครองเสียงข้างมากมาเป็นกรรมการฝ่ายไทยที่ครองเสียงข้างมากแทน และปรับเปลี่ยนวิธีการร่าง และพระยามานวราชเสวีก็ทำง่าย ๆ เลยคือ ให้ลอกประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันและประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นมา แม้ว่ารศ.ดร.กิตติศักดิ์จะเห็นว่าไม่ได้ลอกแบบนั้นหรอก แต่รศ.ดร.มุนินทร์ก็ยืนยันว่า จากรายงานการประชุมเป็นการลอกตัวอักษรจริง ๆ และใช้เวลา 7 เดือนที่ประชุมกัน 100 กว่าครั้ง ก็ร่าง ป.พ.พ. บรรพแรกกับบรรพที่ 2 ได้สำเร็จ
ในความสำเร็จของการร่าง ป.พ.พ. รศ.ดร.มุนินทร์ขอยกย่องบุคคลอยู่ 2 คน โดยคนแรกคือ พระยามานวราชเสวีที่เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด อาจเรียกได้ว่าเป็นสถาปนิกผู้กำหนดทิศทางการร่างทำให้เกิดความราบรื่นและประสบความสำเร็จ กับคนที่สองคือ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตผู้ที่เป็นประธานคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง ที่ทำหน้าที่คอยตรวจการร่างและแปลต้นร่างภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย อาจารย์เชื่อว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การร่างประมวลแพ่งแบบเยอรมันได้รับการยอมรับ นอกจากรัชกาลที่ 6 ทรงเห็นด้วยแล้ว ก็เป็นอิทธิพลทางการเมืองของเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ที่มีสูงในขณะนั้นด้วยเพราะจบการศึกษาจากเยอรมนี จึงย่อมสนับสนุนในแนวทางการร่างประมวลกฎหมายแพ่งแบบเยอรมนีและญี่ปุ่น
จากที่รศ.ดร.มุนินทร์ศึกษาบันทึกรายงานการประชุมที่ประชุมกันทั้งหมด ก็พบว่าใช้วิธีการลอกตัวบทภาษาต่างประเทศจริง ๆ แต่ยตนก็เห็นด้วยกับรศ.ดร.กิตติศักดิ์เพราะว่ามีสิ่งที่อยู่เบื้องหลังคอยกำกับการร่างที่ลอกตัวบทนี้ โดยการกำกับหรือวางแผนไม่ได้ทำเฉพาะในช่วงที่ประชุมกัน แต่ต้องไปวางแผนคิดกันมาก่อนถึงเวลาประชุมในแต่ละครั้งเยอะมาก พระยามานวราชเสวีไปวางโครงสร้างจนมีพิมพ์เขียวที่ชัดเจน เมื่อมาประชุมกันก็เพียงแต่คุยกันว่า เปรียบเทียบตัวบทและลอกตัวบทภาษาอังกฤษจากที่ไหน เมื่อประชุมตกลงได้ก็นำตัวบทนั้นมาใส่ตามพิมพ์เขียวที่วางไว้ ซึ่งผู้ที่คิดโครงสร้างนี้เมื่อพิจารณาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์แล้ว น่าจะเป็นท่านเป็นหลักและท่านอื่น เช่น เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ พระยาเทพวิทุรฯ ก็มีบทบาทที่ช่วยทำให้วิธีการร่างนี้สำเร็จลุล่วง
ความเชื่อที่ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นลอกมาจากประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันนั้น ในที่สุดแล้วเราค้นพบว่า มันไม่เป็นความจริง เพราะว่าญี่ปุ่นต้องการสร้างประมวลกฎหมายแพ่งที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ตัวบทจึงเป็นการผสมผสานจากหลากหลายประเทศ ซึ่งญี่ปุ่นเชี่ยวชาญกฎหมายเปรียบเทียบมาก การวางแนวทาง การจัดตัวบทจึงมีแนวทางของตัวเอง เวลาที่เราจะไปหาอิทธิพลของกฎหมายต่างประเทศในตัวบทของญี่ปุ่น มีความยากมากที่จะบอกว่าตัวบทนั้นมาจากกฎหมายอังกฤษ กฎหมายฝรั่งเศส กฎหมายเยอรมันหรือกฎหมายใด ต้องใช้กฎหมายเปรียบเทียบและระยะเวลาในพินิจพิเคราะห์มากพอสมควรถึงจะรู้ได้ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนตรงนี้เองมีผลต่อการที่พระยามานวราชเสวีไปลอกตัวบทมาจัดวางใน ป.พ.พ. และการใช้การตีความของไทยในเวลาต่อมา
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รศ.ดร.มุนินทร์ก็ได้เสวนาประเด็นเหล่านี้ 2-3 เรื่องที่เป็นผลมาจากข้อความคิดที่คลาดเคลื่อนของคณะกรรมการร่างประมวลกฎหมาย มีการโต้แย้งและอภิปรายกับรศ.ดร.กิตติศักดิ์และอาจารย์ท่านอื่น ๆ นับเป็นช่วงเวลาที่มีความคึกคักทางกฎหมายเอกชนและประวัติศาสตร์กฎหมาย เช่น กรณีลูกหนี้ผิดนัดกับสิทธิเรียกค่าเสียหายตามมาตรา 205 กับมาตรา 215 เป็นผลมาจากมาตรา 205 เราลอกมาจากเยอรมัน ส่วนมาตรา 215 เราลอกมาจากญี่ปุ่น ซึ่งควรจะไปด้วยกันแต่ตัวบทบัญญัติอาจจะไม่ได้เขียนสอดรับกันไว้ จึงต้องมีการตีความและค้นหาเจตนารมณ์ต่าง ๆ หรือเรื่องสิทธิยึดหน่วง เราลอกจากญี่ปุ่นและนำมาใส่ไว้ในบรรพหนี้ ซึ่งในประมวลแพ่งญี่ปุ่นกำหนดไว้ชัดว่าเป็นทรัพยสิทธิ เป็นต้น
แม้ว่างานของรศ.ดร.มุนินทร์จะดูจุดที่เป็นปัญหาหรือข้อบกพร่องของวิธีการของพระยามานวราชเสวี แต่สิ่งที่รศ.ดร.มุนินทร์ชื่นชมพระยามานวราชเสวีคือ ในภาพรวมแล้ว หากไม่มีพระยามานวราชเสวี เราจะไม่มี ป.พ.พ. ฉบับที่ใช้ในปัจจุบันอย่างแน่นอน และ ป.พ.พ. นี้ก็ยังใช้บังคับในปัจจุบันนี้ บรรพที่ 1 เคยมีการแก้ไขไปแล้ว แต่ก็เป็นเพียงแก้ไขเล็กน้อย ไม่ใช่จุดที่กระทบต่อสาระสำคัญในบรรพที่ 1 ส่วนบรรพที่ 2 นั้นไม่เคยถูกแก้ไขแม้แต่มาตราเดียว นับว่าพระยามานวราชเสวีได้วางโครงสร้างไว้ดีมาก ไม่ว่าจะร่างด้วยวิธีการแบบไหนก็นับได้ว่าประสบความสำเร็จเพราะไม่เกิดปัญหาที่สังคมต้องเรียกร้องให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย
คุณูปการอีกประการหนึ่ง คือ การบัญญัติศัพท์กฎหมายใหม่ ๆ ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นในช่วงการร่าง ป.พ.พ. ซึ่งพระยามานวราชเสวีมีส่วนสำคัญมาก จะเห็นตัวอย่างได้จากที่มีจดหมายโต้ตอบระหว่างพระยามานวราชเสวีกับเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรณีคำว่านิติกรรม ที่เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ได้สอบถามว่าในการแปลมีข้อขัดข้องอยู่บ้าง ด้วยไม่รู้ภาษาศาล ในคำว่า Juristic Act แทน Contract เดิม เข้าใจว่ามีความประสงค์จะให้เป็นคำที่กว้างขึ้น แต่คิดไม่ออกว่าคำไทยควรจะใช้คำว่าอะไร อยากทราบว่าทางโรงเรียนกฎหมายมีคำใช้ว่าอย่างไร พระยามานวราชเสวีจึงอธิบายถึงความหมายของ Juristic Act และไปเจอประมวลกฎหมายแพ่งอาร์เจนตินาที่เดียวที่ให้คำนิยามไว้ ซึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันที่เป็นต้นตำรับเรื่องนี้ก็ไม่ได้นิยามไว้ นี่จึงน่าจะเป็นเหตุผลให้มีมาตรา 149 เพื่อให้รู้ว่า นิติกรรมคืออะไร ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ เราจะพบการโต้ตอบระหว่างบุคคลสองนี้ค่อนข้างมากในกระบวนการร่าง ป.พ.พ.
ประเด็นสุดท้าย ในโอกาสที่จะครบรอบ 100 ปี มรดกของพระยามานวราชเสวีในฐานะที่ท่านเป็นบิดา ป.พ.พ. เราจะทำอย่างไรกับมรดกของพระยามานวราชเสวีบ้าง ตนคิดเร็ว ๆ แล้วเห็นว่า ช่วงนี้เราเจอเหตุการณ์ COVID-19 เป็นสถานการณ์ที่มากระทบต่อความสัมพันธ์ทางสัญญาที่ฉับพลันทันใดและผลกระทบที่เกิดขึ้นก็มากมายมหาศาล จนกระทั่งบทบัญญัติที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอ แม้เราจะมีมาตรา 5 ที่รศ.ดร.กิตติศักดิ์เป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ก็มีลักษณะกว้างมาก ซึ่งศาลค่อนข้างจะกังวลหากหยิบยกมาใช้ เพราะมันกว้างเกินไปและไม่ค่อยมีคำอธิบายถึงที่มาที่ไป กลัวว่าจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนว่าศาลใช้อำนาจตามอำเภอใจ ควรจะมีหลักการอะไรที่มีไว้เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของหลักการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์อย่างฉับพลันทันใด (Change of Circumstances) หลักความรับผิดก่อนสัญญา (Pre-contractual Liability) หลัก Exploitation ที่ตอนนี้เรารับรองเฉพาะการข่มขู่ แต่ไม่ได้รับรองในตัวอย่างที่อาจารย์ซื้อของจากลูกศิษย์ในที่ปรึกษา แม้สัญญาจะเกิดจากความสมัครใจ แต่ความสมัครใจดังกล่าวตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาจารย์ ลูกศิษย์จำยอมเพราะเห็นว่าเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา หากไม่ขายให้กลัวว่าอาจารย์จะไม่ให้สอบผ่าน นิติกรรมแบบนี้ควรจะมีปัญหาหรือไม่ ในกฎหมายอื่น ๆ ทั่วโลกถือว่ามีปัญหาหรือใช้ไม่ได้เพราะเกิดมาจากการตกอยู่ใต้อิทธิพลของอาจารย์ เรื่องเหล่านี้ยังไม่มีอยู่ใน ป.พ.พ.บรรพ 1-2 ที่พระยามานวราชเสวีทำขึ้น จึงเห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่เราต้องมาทบทวนกันอีกครั้งและหาทางในการพัฒนาต่อยอดมรดกของพระยามานวราชเสวีต่อไป
จากการที่ได้พูดคุยกับรศ.ดร.กิตติศักดิ์และอาจารย์ในศูนย์กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็คิดกันว่า ในโอกาสที่จะครบรอบ 100 ปี (พ.ศ. 2568) เราควรจะต้องทำการศึกษากันอย่างจริงจังและใหญ่มาก ในทุกแง่มุมของ ป.พ.พ. ในหมู่ของนักวิชาการ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนออะไรบางอย่างและก็อยากให้ข้อเสนอเหล่านั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ในทางปฏิบัติ ซึ่งนักวิชาการทำฝ่ายเดียวไม่ได้ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมาย ในตอนนี้เรามีเวลา 4-5 ปีในการเตรียมการซึ่งอาจจะน้อยกว่าญี่ปุ่น เยอรมนี หรือฝรั่งเศสที่ใช้เวลาในการเตรียมการเพื่อแก้ไขประมาณ 10 ปี โดยทั้ง 3 โดยทั้งสามประเทศนี้ก็แก้ไขในส่วนหลักเลยคือเรื่องหนี้ที่นับเป็นกระดูกสันหลังของกฎหมายเอกชนเคียงคู่กับกฎหมายทรัพย์แต่เรื่องทรัพย์จะค่อนข้างนิ่งกว่า แต่ว่าระยะเวลา 5 ปีนี้ก็เพียงพอที่เราจะเตรียมการระหว่างนักวิชาการและหน่วยงานที่รับผิดชอบในทางปฏิบัติได้
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (วิทยากร)
นายปกรณ์กล่าวใน 2 ประเด็น คือ ความสำคัญในการการทำ ป.พ.พ. และการต่อยอดมรดกของพระยามานวราชเสวี
กล่าวเริ่มต้นว่า ในสมัยเรียน ตนไม่ได้สนใจวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายมากเท่าไร เพราะเรียนกฎหมายเก่า ๆ ที่เหมือนย้อนเวลาไปในช่วงที่เกิดไม่ทันในยุคสมัยนั้น แต่สิ่งที่ทำให้สนใจขึ้นมาก็คือ ราชทินนามของผู้พิพากษาที่ชื่อว่า ขุนหลวงพระยาไกรสี คำว่า ไกรสี แปลว่า สิงโต ตนก็ไม่เข้าใจว่า ผู้พิพากษาจะไปเหมือนสิงโตที่ดูดุร้าย ก้าวร้าวได้อย่างไร จึงเริ่มสนใจประวัติศาสตร์กฎหมาย เมื่อศึกษามาตลอดชีวิตราชการ ก็พบในหลักอินทภาษของกฎหมายตราสามดวงที่กำหนดให้ผู้พิพากษาต้องห้าวหาญ มั่นคงดุจสิงโตคำรามและตะครุบเหยื่อ จึงทำให้เข้าใจในราชทินนามที่เคยสงสัยมา
ในอดีตเราใช้กฎหมายตราสามดวงมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ที่รวมกฎหมายลักษณะต่าง ๆ ไว้ เช่น การสืบพยานอาจเป็นการดำน้ำลุยเพลิงเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ การลงโทษก็มีการตอกเล็บ บีบขยับ การฟันคอ เป็นต้น ซึ่งในอดีตของยุโรป ก็มีระบบแบบนี้คล้าย ๆ กัน แต่เมื่อมีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิรูประบบกฎหมาย สิ่งเหล่านี้จึงเลิกใช้ในยุโรป เมื่อชาวยุโรปมาค้าขายกับไทย หากเกิดข้อพาทจะต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายไทย เมื่อพบกฎหมายไทยเหล่านี้ก็ยอมรับไม่ได้ จึงมีการทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เพื่อให้คนในบังคับของต่างประเทศเมื่อทำผิดกฎหมายไทย ศาลต่างประเทศจะมีอำนาจวินิจฉัย ไทยมีการทำสนธิสัญญาแบบนี้มากมายกับหลายประเทศทำให้สูญเสียเอกราชทางศาลไป ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนมากขึ้น จึงมีการปฏิรูปขึ้นในด้านต่าง ๆ รวมถึงกฎหมาย และพยายามปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ให้ทันสมัยเหมือนตะวันตก การทำประมวลกฎหมายจึงเป็นหนึ่งในการปฏิรูปกฎหมายโดยจ้างชาวต่างชาติ ซึ่งในการร่าง ป.พ.พ. ครั้งแรกก็ไม่ประสบความสำเร็จตามที่รศ.ดร.มุนินทร์กล่าว จึงมีการตั้งคณะกรรมการอีกชุดขึ้นมา โดยมีพระยามานวราชเสวีเป็นเลขานุการและก็ทำได้สำเร็จ เราก็นำไปเรื่องประมวลกฎหมายสมัยใหม่นี้ไปเจรจายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับแต่ละประเทศ ฉบับสุดท้ายที่ยกเลิกน่าจะประมาณช่วงปี พ.ศ. 2480-2490
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจ และพบเหตุผลของการทำประมวลกฎหมายในระยะเวลาที่เร่งด่วนจากบริบทแวดล้อมที่ปรากฏ การทำแบบคัดลอกของพระยามานวราชเสวีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ในการร่าง ป.พ.พ. พระยามานวราชเสวีก็มีเอกสารที่บันทึกที่มาของต้นร่างกฎหมาย โดยระบุถึงกฎหมายเดิม กฎหมายต่างประเทศที่อ้างนำมาจากมาตราใด หลักกฎหมายเรื่องใดที่เข้าใจยากก็ตัดทิ้งไปก่อน หลายเรื่องที่มีอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งหรือพาณิชย์ของเยอรมัน แต่ก็ไม่มีใน ป.พ.พ. เช่น ไทยมีเรื่องจำนอง แต่ในเรื่องหลักประกันอื่นที่ดูซับซ้อน ท่านก็ไม่นำมาบัญญัติไว้ จึงมีการทำกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจขึ้นในปัจจุบันเพื่ออุดช่องว่างนี้
เอกสารที่บันทึกที่มาของต้นร่างกฎหมายจึงเป็นมรดกที่สำคัญที่พระยามานวราชเสวีทิ้งไว้ ทำให้เห็นถึงความพยายามในการค้นหาหลักกฎหมายหลากหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ อียิปต์ อาร์เจนตินา เป็นต้น เพื่อให้รู้ถึงที่มาที่ไปของแต่มาตรา การเปรียบเทียบกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่พระยามานวราชเสวีทิ้งไว้ให้เราและกฎหมายเปรียบเทียบก็เป็นสิ่งสำคัญในการร่างกฎหมาย
คณะกรรมการร่างกฎหมายชุดแรก ๆ เหล่านี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสถาบันกฎหมายเปรียบเทียบชุดแรกของไทย เมื่อตอนที่ตนเข้าทำงานที่กฤษฎีกาก็ถูกตั้งคำถามว่ากฎหมายเอามาจากประเทศไหน ก็ต้องมาค้นคว้าในแต่ละประเทศ และไม่ได้นำแค่ตัวบทมาเปรียบเทียบ ต้องศึกษาในบริบทแต่ละประเทศอันเป็นที่มาของกฎหมายนั้นประกอบ ด้วย เช่น กฎหมายเลือกตั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันมีรูปแบบที่แตกต่างกัน เหตุใดจึงใช้แตกต่างกันแสดงว่าบริบทแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ในการร่างกฎหมายจึงต้องศึกษาบริบทในแต่ละประเทศอันเป็นที่มาของกฎหมายแต่ละฉบับเพื่อทำความเข้าใจว่ากฎหมายนั้น ๆ สามารถใช้กับประเทศไทยได้หรือไม่ได้เพราะเหตุใด
มรดกด้านการทำงานของพระยามานวราชเสวียังคงอยู่ กล่าวคือ การทำงานของคณะกรรมการร่างกฎหมายของพระยามานวราชเสวี มีลักษณะคณะกรรมการที่มาแล้วไป (Committee) พระยามานวราชเสวีเป็นเลขานุการและมีการทำงานกันเป็นทีม ลักษณะนี้ยังสืบทอดในปัจจุบันของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ยังคงทำงานทีมเลขานุการ การถ่ายทอดเป็นแบบการสอนงานขณะปฏิบัติงาน (on the job training) มีการอบรมอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก รวมถึงการถ่ายทอดวิธิการใช้ชีวิตด้วยที่สอนกันมาว่า ห้ามทิ้งตำราเพื่อจะตามโลกได้ทัน การโยกย้ายกลุ่มการทำงานทำให้เรารู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีศิลปะในการโน้มน้าวผู้คน ความละเอียดรอบคอบที่ส่งต่อมาอาจจะเห็นได้จากจากเอกสารก่อนส่งออกจะมีการแก้ไขมากมาย เมื่อเอกสารส่งออกก็ต้องมีการสรุปความ การใช้ภาษาที่ต้อง และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ท่านทิ้งไว้คือ เราจะต้องติดตามสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคม
ในปัจจุบัน ในส่วนของการปรับปรุงแก้ไข ป.พ.พ. นายปกรณ์ยกตัวอย่างกรณีดอกเบี้ยผิดนัด เหตุใดต้องกำหนดไว้ที่ 7.5% เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยต่ำมาก การกำหนดไว้ที่ 7.5% ทำให้เกิดการค้าความเพราะยิ่งเวลาผ่านไปนานก็ยิ่งได้ดอกเบี้ยเยอะ หรือกรณีการเลิกสัญญา ต้นร่าง ป.พ.พ. ใช้คำว่า “Terminate” กับ “Rescind” แต่เราแปลเป็นภาษาไทยแค่คำเดียวว่า “บอกเลิกสัญญา” จึงอธิบายว่าต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม อันที่จริงต้องอธิบายว่า “Terminate” มีผลไปข้างหน้า แต่ถ้า “Rescind” จะมีผลย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น ปัญหาจากการใช้ไทยคำเดียวเหมือนกัน จึงเกิดปัญหากรณีที่หน่วยงานรัฐบอกเลิกสัญญา จึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ทำให้รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนมากในหลายกรณี เป็นต้น
ความท้าทายที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น (Key Challenges) กล่าวคือ
1. กรณีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การซื้อขายที่มีใน ป.พ.พ. ก็อาจจะไม่เพียงพอแล้ว การละเมิดก็มีรูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่ทางกายภาพเท่านั้น เช่น การ bully เป็นละเมิดไหม เราต้องปรับปรุงกฎหมายอย่างไร
2. กรณีสังคมผู้สูงอายุ ต้องปฏิรูประบบภาษี ระบบบำเหน็จบำนาญหรือไม่ อย่างไร
3. การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ที่มีผลกระทบเยอะมาก เช่น พลาสติก
4. Geopolitics ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีใครคิดว่า TikTok จะกลายเป็นประเด็นในทางการเมืองขึ้นมาได้
5. ความซับซ้อนที่เกิดขึ้นของ international obligation ที่เราไปทำกับต่างประเทศไว้ ซึ่งปัจจุบัน เรื่องเหล่านี้ต้องเข้า ครม. ทุกสัปดาห์และเราต้องให้ความเห็นว่า ถ้าเราไปผูกพันแล้วมีพันธะที่ต้องทำอะไรบ้าง
6. การระบาดใหญ่ (Pandemic)
7. ปัจเจกนิยม (Individualism) ที่สร้างพฤติกรรมแบบหนึ่งขึ้นมา ที่เคยมีบริษัทใช้ข้อมูลพฤติกรรมเหล่านี้ในการเปลี่ยนแปลงผลทางการเมืองหรือทางการตลาด
ในยุคนั้น พระยามานวราชเสวีสร้าง ป.พ.พ. เพื่อให้เราหลุดพ้นจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและสร้างระบบกฎหมายที่ดีให้แก่เราขึ้นมา ส่วนสิ่งที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะทำต่อไป คือ การทำกฎหมายให้ดีขึ้นเพื่อความเป็นอยู่ของประชาชน (Better Regulation for Better Life) เป้าหมายอยู่ที่ปี พ.ศ. 2568 ที่จะครบรอบ 100 ปีของ ป.พ.พ. ซึ่งในการปรับปรุง ป.พ.พ. และประมวลกฎหมายอื่น ๆ นั้น เรามีคณะกรรมการทางบริหารที่จะติดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วก็เสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย แต่ว่าเป็นคณะกรรมการที่จะมาเป็นช่วง ๆ การทำงานจึงไม่ค่อยต่อเนื่องเท่าไรนัก
พัฒนาการทางการของประเทศทั่วโลกนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน ในทางการเมืองระหว่างประเทศนั้นเปลี่ยนแปลงไปในหลายแบบ ระบบการค้าก็เปลี่ยนแปลงจากแบบคุ้มกันเป็นแบบเสรี และก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเมื่อมีการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ระบบกฎหมายไทยยังใช้ระบบอนุมัติอนุญาตอยู่ ในขณะที่ต่างประเทศนำความคิดที่ว่าประชาชนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไรมาใส่ไว้ในการร่างกฎหมาย กฎหมายจึงไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่าใครสั่งมาว่าจะต้องเขียนว่าอย่างไร แต่ต้องการความมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Engagement) ด้วย ดังนั้น ในปัจจุบัน นักกฎหมายจึงต้องเน้นที่ความมีส่วนร่วมของประชาชนมาก ๆ เพื่อจะได้ร่างกฎหมายจะได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการตีความสิ่งที่พระยามานวราชเสวีฝากไว้และเราก็นำไปพัฒนาต่อไป
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำศูนย์นิติศึกษาทางสังคม ประวัติศาสตร์ และปรัชญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
(ช่วงที่สอง)
เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผลงานของคณะกรรมการร่างกฎหมายในแง่ของสำนักงานที่ทำหน้าที่ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายเพื่อที่จะหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศมากที่สุด ในการที่จะเอามาใช้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ปัญหาบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 6 คือ การยกเลิกสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้เร็วที่สุด การเรียกคืนสิทธิดังกล่าวได้ก็คือ การจัดทำประมวลกฎหมาย ซึ่งในการจัดทำประมวลกฎหมายนี้ต้องได้รับการยอมรับนับถือจากชาติต่าง ๆ จึงต้องเปรียบเทียบกฎหมายของชาติต่างแล้วทำให้เขาเชื่อว่ากฎหมายไทยนั้นอยู่ในมาตรฐานเดียวกันหรือในระดับก้าวหน้าของโลก ผลงานของพระยามานวราชเสวีก็เป็นสิ่งที่ยืนยันในสิ่งเหล่านี้ และสิ่งนี้เองเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบันที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไทยให้ทันสมัยอยู่เสมอในระดับนานาอารยประเทศ นักวิชาการทั่วโลกที่มาศึกษากฎหมายไทยอย่างน้อยในช่วงของสมัยสมเด็จพระนารายณ์จนถึงรัชกาลที่ 3 ก็ยอมรับว่ากฎหมายตราสามดวงมีเนื้อหาเป็นระบบระเบียบก้าวหน้าอย่างยิ่ง กรุงสยามนั้นมีกฎหมายที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เสียแต่ว่าชาวสยามและเจ้าหน้าที่ของชาวสยามมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นเลย ปัญหาการหลีกเลี่ยงที่จะปฏิบัติดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งอาจจะทำให้ระบบล้มเหลวไปในที่สุด
นอกจากนี้แล้วสิ่งที่พระยามานวราชเสวีทำไว้คือ ใช้การมีส่วนร่วมของประชาชนเหมือนกัน โดยพระยามานวราชเสวีแปลร่าง ป.พ.พ. ส่งให้กับทนายความ ศาล อ่านและให้บุคคลเหล่านั้นเขียนจดหมายแสดงความเห็นมา ในปัจจุบันนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ทำแบบนี้โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมาย ดังนั้น สิ่งที่เคยทำมาก็ยังทำอยู่ในทุกวันนี้ นักศึกษาและผู้ที่สนใจในกฎหมายและปรารถนาจะให้กฎหมายมีผลปฏิบัติไปในทางที่ดี ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมายให้มีผลในทางปฏิบัติ และแน่นอนว่าการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีระบบกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติทางกฎหมายที่ไม่ถูกต้องก็ยังคงเป็นสิ่งที่ได้รับการต้อนรับจากผู้รู้ที่อยากจะปรับปรุงกฎหมายอยู่เสมอ ในเรื่องเหล่านี้เราจะพูดคุยกันอีกเยอะนับแต่นี้ไปอย่างที่วิทยากรท่านอื่น ผรศ.ดร.มุนินทร์และนายปกรณ์) ได้กล่าวไป พร้อมจะต้อนรับทุกความคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อที่จะผลักดันให้ระบบกฎหมายของเราพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆที่เข้ามาอย่างซับซ้อนและถาโถมเข้าหาเราในเวลานี้
ช่วงตอบคำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนา
คำถาม (1) ในเวลาที่พระยามานราชเสวีส่ง ป.พ.พ. ฉบับปี 2466 ไปให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอ่านนั้นแตกต่างจากวิธีที่ญี่ปุ่นทำหรือไม่ เพราะเท่าที่ผู้ถามอ่านมา สาธารณชนของญี่ปุ่นค่อนข้างมีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์มากกว่า จึงอยากทราบว่าของไทย นอกจากผู้ที่มีอาชีพประกอบวิชาชีพทางกฎหมายแล้ว นักเรียนกฎหมายหรือประชาชนอื่น ๆ ได้มีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ : ป.พ.พ. ฉบับปี 2466 มีการประกาศเป็นกฎหมายแล้ว จึงมีการพิมพ์เผยแพร่ ทุกคนที่สนใจรู้ก็สามารถไปหาซื้อหรือส่วนราชการได้รับแจกมาอ่าน (ปัจจุบันสามารถดาวน์โหลดได้จากฐานข้อมูลของหอสมุด มธ.) จะเห็นว่ามีการใช้คำที่แปลต่าง ๆ ปรากฏ เช่น หนี้ใช้คำว่าพันธะธรรม จนฉบับใหม่จึงใช้เป็นคำว่าหนี้ ซึ่งพระยามานวราชเสวีก็แปลตามความเข้าใจในขณะนั้น ต่อมามีการแก้ไขการแปลโดยคณะกรรมการชั้นสูงที่มีความรู้ความสามารถด้านการใช้คำ จึงนึกถ้อยคำที่เข้ากับความรู้สึกในสมัยนั้น แต่ว่าถ้อยคำนั้นก็ไม่ได้เป็นที่เข้าใจได้ง่ายในสมัยนั้น เช่น นิติกรรม ลาภมิควรได้ จัดการงานนอกสั่ง เมื่อมีการตีพิมพ์ นักกฎหมายที่ประกอบวิชาชีพก็จบจากโรงเรียนกฎหมายทเมื่อได้อ่านตัวบทที่ถูกจัดวางโครงสร้างแบบผสมระหว่างฝรั่งเศสกับสวิส เริ่มต้นด้วย หนี้ ทรัพย์ บุคคล ครอบครัว มรดก จึงอ่านไม่เข้าใจกัน (ตอนประกาศใช้หนี้กับบุคคลก่อน) พระยามานวราชเสวีจึงเรียงใหม่โดยมีหลักทั่วไป บุคคล ทรัพย์ นิติกรรมและหนี้ จึงเข้าใจว่ามีประธานแห่งสิทธิ วัตถุแห่งสิทธิและการกระทำที่เกี่ยวข้องกับวัตถุแห่งสิทธิ จึงทำให้เข้าใจได้มากขึ้น แต่ว่าเราไม่มีหลักฐานว่ามีจดหมายแสดงความเห็นมากน้อยเพียงใด อาจารย์เห็นว่า น่าจะมีมากและบรรดานักกกฎหมายคงสะท้อนผลมามากพอสมควร เพราะ ป.พ.พ. เป็นเอกสารที่ตีพิมพ์ต่อสาธารณะ
นายปกรณ์ : เราต้องเข้าใจบริบทเวลานั้น ญี่ปุ่นเปิดรับฟังมากกว่าเพราะว่ามีการปฏิรูประบบต่าง ๆ ระบบการศึกษาไปไกลกว่าไทยมาก วัฒนธรรมทันสมัยพอ ๆ กับโลกตะวันตก จึงมีความแตกต่างกับไทยมาก ประชาชนของไทยจึงมีส่วนร่วมน้อยกว่าของญี่ปุ่น ทั้งนี้ นายปกรณ์กล่าวว่าอย่าเชื่อที่พูด แต่แนะนำให้ผู้ฟังไปเปิด Youtube ดูสภาพบ้านเมืองของญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น จะได้เห็นถึงสภาพบ้านเมืองของญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นว่าเป็นอย่างไร
รศ.ดร.มุนินทร์ : ในช่วงที่ญี่ปุ่นจัดทำประมวลแพ่งนั้นเป็นผลมาจากการปฏิรูปเมจิของญี่ปุ่น ที่เริ่มต้นในปีเดียวกับการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 สิ่งที่แตกต่างคือ ญี่ปุ่นเริ่มต้นปฏิรูปกฎหมายมหาชนก่อน เปลี่ยนโครงสร้างการปกครอง มีสภาผู้แทนขึ้นมาที่มีความใกล้เคียงกับระบบประชาธิปไตยมาก แต่ของไทยไม่ได้เริ่มที่กฎหมายมหาชน เมื่อมองทางประวัติศาสตร์แล้ว อาจารย์เชื่อว่าหากญี่ปุ่นมีสภาพการเมืองในบริบทแบบไทย การปฏิรูปกฎหมายก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวกับไทย ซึ่งไทยช่วงนั้นปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เข้มแข็ง ขณะที่ญี่ปุ่นอำนาจอยู่ที่โชกุน จักรพรรดิไม่ได้กุมอำนาจทางการเมือง ในภาพรวมจึงเป็นแบบศักดินาสวามิภักดิ์ เมื่อโชกุนพ่ายแพ้ จึงมีสุญญากาศทางการเมืองที่ทำให้แนวคิดทางมหาชนของตะวันตกเข้ามาได้ง่าย ดังนั้น การจัดทำกฎหมายของญี่ปุ่นนับจากนั้น จึงไม่ใช่แค่รับฟังประชาชน แต่จะต้องเข้าสู่สภาที่มีตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ผู้ร่างกฎหมายของญี่ปุ่นจึงทำด้วยความยากลำบากกว่าไทย ต้องประสานผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ตัวบทที่ออกมาจึงมีลักษณะของญี่ปุ่นเองที่ผสมผสานหลายหลักกฎหมายจากหลาย ๆ ประเทศให้กลมกลืนเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ
ในขณะที่ไทยช่วงนั้น มีระบอบการปกครองที่รวมศูนย์มีประสิทธิภาพ ในหลวงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา และคณะกรรมการก็สามารถทำงานได้เต็มที่ สะดวกรวดเร็ว การรับฟังจึงเพียงส่งไปให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและสถานทูตแต่ละประเทศ ไม่จำต้องเข้าสู่สภาแบบญี่ปุ่น เพียงแค่ให้คณะกรรมการอีกชุดที่ตรวจแก้ร่างและถวายในหลวงได้เลย การร่าง ป.พ.พ. ของไทยจึงราบรื่นและรวดเร็วมาก
คำถาม (2) ส่วนที่ว่า “พระยามานวราชเสวีที่เข้าใจว่าประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นคัดลอกมาจากประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน” ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ.1898 ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. 1900 จึงสงสัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งฉบับที่ลอกมาจะเสร็จก่อนประมวลกฎหมายแพ่งต้นฉบับ มีความเป็นไปได้ใช่หรือไม่
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ : ความจริงแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ส่วนที่สำคัญรับแนวคิดมาจากร่างแรกของประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันที่เสร็จตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. 1890 กว่า ๆ แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันเมื่อร่างเสร็จ ก็รอให้มีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. 1900 เพื่อให้ประชาชนได้มีการศึกษาก่อน ญี่ปุ่นได้มีโอกาสศึกษาจากร่างครั้งแรกนี้และใช้แนวคิดจากร่างแรกมาทำประมวลกฎหมายแพ่งของตนค่อนข้างมาก ในสมัยนั้นที่อังกฤษก็ได้มีการศึกษาร่างและประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นค่านิยมของนักกฎหมายอังกฤษในเวลานั้นที่ต้องสนใจกฎหมายเยอรมัน ด้วยเหตุนี้ เซอร์ จอห์น ไซม่อน สหายของพระองค์เจ้ารพีก็ได้ศึกษาในร่างและประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันนี้ด้วย พระยามานวราชเสวีจึงได้รับอิทธิพลการศึกษากฎหมายเยอรมันในประเทศอังกฤษ นักกฎหมายญี่ปุ่นที่ไปศึกษากฎหมายในหลาย ๆ ประเทศก็อยู่ในบรรยากาศที่โลกกำลังตื่นเต้นกับร่างและประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน คนร่างประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นมีทั้งผู้ที่จบทั้งเยอรมันและอังกฤษ ผู้ที่จบฝรั่งเศส ผู้ที่จบอังกฤษมาร่วมมือกัน ฉะนั้น อิทธิพลของเยอรมันในขณะนั้นจึงไม่ได้มีอิทธิพลเฉพาะประมวลกฎหมาย แต่มีอิทธิพลในแง่ของตำรากฎหมายหรือการเคลื่อนไหวในทางกฎหมาย (movement) ที่แพร่หลายไปทั่วโลก จึงกล่าวได้ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน แต่ถ้าจะกล่าวว่า ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นลอกประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันนั้นอาจจะพูดได้ยาก
ช่วงท้ายการเสวนา
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวสรุปว่า วันนี้เราก็ได้มาพูดคุยเพื่อรำลึกถึงผู้มีบุญคุณในทางนิติศาสตร์และได้ข้อสรุปว่า พระยามานวราชเสวีน่าจะเป็นบิดาของ ป.พ.พ. ตามที่รศ.ดร.มุนินทร์กล่าวและข้อคิดเห็นจากนายปกรณ์ว่าพระยามานวราชเสวีน่าจะเป็นคนที่ผลักดันให้มีสถาบันกฎหมายเปรียบเทียบออกมาในรูปของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้วางรากฐานกระบวนการทำงานแก่เจ้าหน้าที่ในคณะกรรมการกฤษฎีกาในแง่การศึกษาเปรียบเทียบกฎหมาย และได้รู้จักชีวิตส่วนตัวตามที่คุณณัฐญาดาทายาทของท่านกล่าว ในการใช้ชีวิตของท่านเป็นไปอย่างเรียบง่ายธรรมดา มีวินัย หมั่นศึกษา ออกกำลังกายและมีสุขภาพดีจนถึงบั้นปลายชีวิต
รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวว่า คำพูดที่ว่าพระยามานวราชเสวีเป็นบิดาของ ป.พ.พ. ก็ไม่เกินเลยนัก หรืออาจกล่าวว่าพระยามานวราชเสวีเป็นบิดาแห่งกฎหมายเอกชนไทยก็ได้เพราะว่า ป.พ.พ. เป็นบ่อเกิดของกฎหมายเอกชนที่สำคัญที่สุด เมื่อพิจารณาจากคุณูปการต่าง ๆ ของท่านที่ได้สร้างไว้ให้กับวงการนิติศาสตร์ไทย อาจารย์รู้สึกยินดีที่ได้ฟังนโยบายของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เน้นไปที่การทำให้กฎหมายส่งผลดีต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในบริบทของเรื่องทางเศรษฐกิจ การเมือง โรคระบาด ซึ่งต่างจากบริบทในสมัยของท่านที่อยู่ในเรื่องการยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่าง ๆ และหากท่านยังมีชีวิตอยู่ก็เชื่อว่าท่านก็คงอยากรู้ว่าพวกเราจะทำอย่างไรกับมรดกที่ท่านฝากไว้กับสังคมไทย และกล่าวขอบคุณวิทยากรและนักศึกษาที่มาร่วมงานเสวนา