สรุปสาระสำคัญจากสัมมนาวิชาการ เรื่อง “มาตรการรับมือ Active Shooter กับความปลอดภัยของสังคมไทย” จัดโดยโครงการเผยแพร่วิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.00-16.30 น. ทางระบบ Facebook Live ผ่าน Facebook Page ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- พันตำรวจโท สุรชัย ท่างาม รองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธร ภาค 5
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คุณสุพรรณี ศิริอาภาวิวัฒน์ นักจิตวิทยาคลินิก กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลลำปาง
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นางสาวณฐมน ไพเมือง นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 3 (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.ต่อพงศ์ ได้กล่าวเปิดการสัมมนา โดยกล่าวถึงเหตุผลในการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า เนื่องจากประชาชนให้ความสนใจและมีประเด็นในทางวิชาการหลากหลายประเด็นที่ต้องอภิปรายเพื่อให้ได้รับมุมมองของการแก้ไข การเยียวยา รวมทั้งให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดสัมมนาในครั้งนี้คือการได้ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว
อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ)
อ.ดิศรณ์ ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์นี้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ณ จังหวัดนครราชสีมา โดยขอเรียกชื่อผู้ก่อเหตุว่า จ่าคลั่ง ซึ่งมูลเหตุเกิดจากการที่จ่าคลั่งได้กู้เงินจากสวัสดิการเงินของทหารเพื่อซื้อบ้านและที่ดินจากเอกชนเจ้าของโครงการจัดสรรที่ดิน ซึ่งโดยหลักจากการซื้อบ้านต้องได้เงินทอนจากเอกชนฯ หากแต่ไม่ได้รับเงินดังกล่าวคืน นอกจากนี้ต้องได้รับเงินค่านายหน้าจากการติดต่อซื้อบ้านและที่ดินดังกล่าว หากแต่ไม่ได้รับเช่นกันจึงนำมาสู่การลงมือกระทำความผิดโดยเริ่มจากการยิงเอกชนเจ้าของโครงการจัดสรรที่ดินและนายทหารผู้บังคับบัญชาจนเสียชีวิต ทั้งได้ยิงนายหน้าผู้ประสานงานแต่ไม่เสียชีวิต แต่เรื่องไม่จบเท่านี้จ่าคลั่งยังได้เดินทางต่อไปยังคลังเก็บอาวุธของรัฐและยิงเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลได้รับบาดเจ็บและนำอาวุธร้ายแรง อาทิ ปืนเจาะเกราะมาใช้ในการก่อเหตุในครั้งนี้ที่ Terminal 21 โคราช ก่อให้เกิดผู้เสียชีวิตประมาณ 30 ศพจึงนำมาสู่ประเด็นการอภิปราย ดังนี้
ประเด็นแรก การเกิดขึ้นของ Active Shooter ทั้งในมุมมองด้านวิชาการและมุมมองทางด้านจิตวิทยา
ประเด็นที่สอง วิธีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีกระบวนการระงับเหตุอย่างไรบ้าง ในกรณีเมื่อเกิด Active Shooter
ประเด็นที่สาม แนวทางป้องกันมิให้ Active Shooter เกิดขึ้น หรือให้เกิดขึ้นน้อยลง หรือป้องกันได้อย่างไร
ประเด็นสุดท้าย เมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วสิทธิที่ผู้เสียหายมีสิทธิรับคืออะไรบ้าง กฎหมายไทยหรือภาครัฐมีแนวทางอย่างไร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.สาวตรี กล่าวในประเด็นการเกิดขึ้นของ Active หรือการกราดยิง มีที่มาที่ไปและมีความแตกต่างจากการทำสงครามหรือการก่อการร้าย สงครามเป็นเรื่องของการสู้รบของกองกำลังทหารจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐตามหลักสากลตามกฎหมายระหว่างประเทศให้ไม่อาจใช้กำลังใด ๆ กับพลเรือนได้ จะทำได้ต่อเมื่ออ้างการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น พลเรือนแฝงตัวมาเป็นทหารฝ่ายตรงข้ามเพื่อช่วยรัฐของตนจึงยิงทหารฝ่ายตรงข้าม ทหารอีกฝ่ายสามารถยิงพลเรือนได้ แต่ในส่วนของ Active Shooter และการก่อการร้ายเป็นการพุ่งเป้าไปที่พลเรือนโดยตรงจึงแตกต่างจากสงครามที่มิใช่การมุ่งไปที่พลเรือนแต่เป็นการสู้รบระหว่างรัฐซึ่ง Active Shooter ไม่ใช่การก่อการร้ายทุกกรณีไปเพราะการก่อการร้ายมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่าแต่ Active Shooter ที่มีสาเหตุในการเกิดที่หลากหลายมากกว่า โดยคำว่าก่อการร้ายในนิยามของนานาประเทศไม่ตรงกันมากนักเพราะเป็นคำที่มีนัยทางการเมืองซึ่งนักวิชาการด้านก่อการร้ายศึกษา ได้กล่าวว่าเมื่อเป็นคำที่มีนัยทางการเมืองผู้ใดที่ให้นิยามได้ก่อนย่อมเป็นการแปะป้ายฝ่ายตรงข้าม เช่น รัฐแปะป้ายกับประชาชนว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ก่อการร้ายซึ่งก่อให้ประชาชนถูกเร้าความรู้สึกเพื่อหาความชอบธรรมเพื่อใช้ความรุนแรงกับกลุ่มนั้นซึ่งก็ไม่แน่นอนว่ากลุ่มนั้นใช่ผู้ก่อการร้ายหรือไม่ อย่างไรก็ดีมีนักวิชาการด้านก่อการร้ายศึกษาชื่อศาสตราจารย์โบแอค การ์ดเนอร์ผู้ศึกษาด้านต่อต้านก่อการร้ายที่เป็นทั้งผู้เขียนหนังสือ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสถาบันต่อต้านการก่อการร้ายสากลประเทศอิสราเอลได้ให้คำนิยามของการก่อการร้ายที่ตรงไปตรงมาว่าการเจตนาใช้หรือคุกคามว่าจะทำต่อพลเรือนหรือเป้าหมายที่เป็นพลเรือนเพื่อบรรลุวัตถุทางด้านการเมืองคือการก่อการร้ายโดยสามารถแบ่งย่อยออกเป็น 4 องค์ประกอบ ดังนี้
- ประการแรก ผู้กระทำใช้หรือขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง
- ประการที่สอง เป้าหมายคือพลเรือน มิใช่การโต้ตอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ
- ประการที่สาม กระทำการเป็นวงกว้างและสร้างบรรยากาศให้เกิดความหวาดกลัวในสังคม
- ประการที่สี่ เป้าหมายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางด้านการเมือง เช่น เพื่อลัทธิความเชื่อของตน
นอกจากนี้ผู้ที่เป็นต้นเหตุของการก่อการร้ายแบ่งได้สามกลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มแรก คือกลุ่มคนที่มีความเชื่อต่าง ๆ
- กลุ่มที่สอง คือรัฐ ซึ่งหากรัฐกระทำต่อพลเรือนของตนหรือประเทศอื่นย่อมเป็นผู้ก่อการร้ายได้เช่นกัน
- กลุ่มที่สาม การปฏิบัติการก่อการร้ายแบบทำคนเดียว (Lone Wolf หรือ Lone Active Terrorist) ซึ่งมีความเหลื่อมกับคำว่า Active Shooter ที่โดยส่วนใหญ่มิได้เป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้าย แต่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มก่อการร้าย เช่น เคยเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายหรือได้รับอิทธิพลจากกลุ่มก่อการร้าย เช่น ISIS หรือเหตุการณ์ก่อเหตุยิ่งนักเรียนและวางระเบิดที่เคยเกิดขึ้นที่ประเทศนอร์เวย์ในวันที่ 22 กรกฎาคม ปี 2011 ที่ผู้กระทำความผิดทำไปเพื่อเรียกร้องรัฐบาลของตนให้ทำตามที่ตนต้องการซึ่งชัดเจนว่าเป็นเหตุผลด้านการเมืองหรือที่ประเทศสหรัฐฯโดยโอมาซาดิส ตาซิน ได้ลงมือกราดยิงกลุ่มรักร่วมเพศเสียชีวิตหลายราย
หรือประเทศอังกฤษที่ผู้กระทำความผิดได้ขับรถชนคนบนสะพานและลงมือฆ่าเจ้าหน้าที่อีกสองคน เป็นต้น
ในส่วนของ Active Shooter มูลเหตุของการลงมือกระทำสามารถเกิดจากหลากหลายสาเหตุ โดยส่วนใหญ่ไม่มีเหตุผลทางด้านการเมืองซึ่งสามารถแยกบุคคลผู้เป็น Active Shooter ได้ 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
- กลุ่มแรก เรียกว่า Lone Wolf
- กลุ่มที่สอง มาจากความโกรธแค้นต่าง ๆ เช่น การถูก Bully จากเพื่อนนักเรียนโดยเฉพาะในประเทศอเมริกาที่เกิดเหตุการณ์กราดยิงมากที่สุดในโลก
- กลุ่มที่สาม กลุ่มบุคคลผู้มีอาการทางจิตซึ่งมาจากหลากหลายสาเหตุหนึ่งในนั้นคือการถูก Bully เช่นกัน
- กลุ่มที่สี่ เกิดจากการเลียนแบบโดยเฉพาะการได้รับอิทธิพลมาจากสื่อสารมวลชน เนื่องจากสื่อพยายามใส่ประวัติของผู้กระทำผิดจนผู้เสพสื่อสนใจติดตามชีวิตของผู้กระทำผิด รวมถึงอยากเอาเยี่ยงอย่างเพราะอยากเป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี ได้วิเคราะห์ว่า Active Shooter ไม่น่าจะใช่ Lone Wolf แต่เป็นการผสมระหว่างกลุ่มที่สองและสามกล่าวคือ จากข้อเท็จจริงที่ว่าจ่าคลั่งถูกโกงสะสมหรือจากการเป็นทหารชั้นผู้น้อยจึงอาจถูก Bully รวมทั้งถูกเอาเปรียบจนนำมาสู่การแก้แค้น แต่การแก้แค้นอาจไม่ใช่คำตอบเดียวของกรณีนี้เพราะการแก้แค้นเมื่อลงมือน่าจะจบ แต่ยังมีการไปกราดยิงต่อประชาชนดังนั้น อาจมีประเด็นอาการทางจิต ทั้งนี้ก็น่าสงสัยว่าอาจมีการกระทำเพื่อเรียกร้องให้สังคมแก้ไขเรื่องกระบวนการยุติธรรมว่าให้มีการแก้ไขระบบภายในกองทัพ อย่างไรก็ดีไม่แน่ใจว่าจะไปถึงมูลเหตุนี้ได้หรือไม่
นอกจากนี้อาจมีมูลเหตุชักจูงใจบางประการที่นักกฎหมายอาจมองไม่เห็น
สำหรับประเด็น แนวทางป้องกันมิให้ Active Shooter เกิดขึ้น หรือให้เกิดขึ้นน้อยลง หรือป้องกันได้อย่างไร ในทางกฎหมายการป้องกันเหตุ Active Shooter สามารถแยกพิจารณาออกเป็นสองช่วง ดังนี้
ช่วงแรก การป้องกันมิให้เกิดเหตุในอนาคต และช่วงที่สอง การป้องกันมิให้เกิดความสูญเสียมากเมื่อเกิดเหตุแล้ว ในส่วนของช่วงแรกนั้นจากทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม (Crime Triangle Theory) ซึ่งหากสามเหลี่ยมมาบรรจบกันย่อมเกิดการกระทำความผิดในอนาคตได้ โดยสามเหลี่ยมอาชญากรรมประกอบไปด้วย บุคคลผู้มีแนวโน้มกระทำความผิด (Means) มูลเหตุจูงใจ (Motive) โอกาสในการกระทำความผิด เช่น โอกาสในการเข้าถึงอาวุธหรือการกระทำความผิด (Opportunity) ซึ่งหากสามสิ่งนี้มาบรรจบกันจะก่อให้เกิดการกระทำความผิด ในส่วนของบุคคลผู้มีแนวโน้มกระทำความผิดนั้นพิจารณาได้ยากมาก เพราะผู้ที่มีแนวโน้มกระทำความผิดมักไม่ไปพบแพทย์ หรือพบได้ยากว่ามีแนวโน้มว่าจะเป็นเมื่อใด ทั้งนี้ หากสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อาจสามารถป้องกันเหตุ Active Shooter ได้ ส่วนมูลเหตุจูงใจแก้ไขได้ยากเช่นกันเพราะเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างมิใช่ตัวกฎหมาย ซึ่งการระบุโทษให้มีความรุนแรงนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะบุคคลผู้ทำผิดร้ายแรงมักไม่ชั่งน้ำหนักว่าจะกระทำความผิดหรือไม่ บุคคลที่ชั่งน้ำหนักในการกระทำความผิดมักเป็นบุคคลผู้ที่ได้วางแผนในการกระทำความผิดมาแล้วจึงชั่งผลได้เสียระหว่างประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดกับโทษที่จะได้รับมาแล้ว แต่ความผิดร้ายแรงจำนวนมากมักไม่วางแผนมาก่อนเพราะผู้กระทำผิดตัดสินใจแล้วว่าหากถูกตำรวจจับจะยิงตนเองตายหรือสู้ เปรียบเทียบได้กับกรณีถ้าให้การข่มขืนเท่ากับประหาร เช่นนี้ผู้กระทำความผิดมีแนวโน้มในการฆ่าเหยื่อมากกว่าเดิมเพราะไม่ว่าข่มขืนแล้วไม่ฆ่าหรือฆ่า โทษคือการประหารเหมือนกัน ดังนั้นการออกกฎหมายให้มีโทษแรง ๆ ไม่ใช้ทางแก้ เช่นนี้ในการแก้ปัญหาจึงควรออกกฎหมายเป็นสองมาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐานรวมทั้งปัญหาการกดขี่ทางชนชั้นหรือทางสังคมก็ควรที่ต้องถูกแก้ไขด้วย
ส่วนโอกาสในการกระทำความผิด เช่น โอกาสในการเข้าถึงอาวุธหรือการกระทำความผิด ตัวผู้กระทำมักเลือกสถานที่ที่เป็นสาธารณะ ซึ่งการแก้ไขปัญหาโดยการปิดสถานที่สาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาย่อมทำได้ยาก แต่หากแก้ไขในกรณีการควบคุมการใช้อาวุธปืนซึ่งตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ นั้นค่อนข้างล้าสมัยแล้วเพราะมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 แต่ในส่วนของข้อห้ามของประเทศไทยนั้นมีความเข้มงวด หากแต่การบังคับใช้ขาดความเข้มงวดจึงยังคงมีการเกิดปัญหาการเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายจนนำมาสู่การใช้อาวุธปืน จึงสามารถสรุปได้ว่าการแก้ไขปัญหาช่วงแรกในการป้องกันมิให้เกิดเหตุในอนาคตจึงสามารถทำได้ยาก
ประการที่สอง การป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียมากเมื่อเกิดเหตุแล้วซึ่งตามที่วิทยากรท่านแรกและท่านที่สองกล่าวไปแล้วในส่วนของการให้ประชาชนได้มีการเตรียมตัวทำตามหลัก Run Hide Fight หรือในส่วนของการเจ้าพนักงานที่มีการอบรมเพื่อเตรียมพร้อมระงับรับเหตุในอนาคตแล้ว โดยในประเทศสหรัฐฯมีการทำวิจัยว่าผู้กระทำความผิดมักไปในสถานที่สาธารณะ จึงมีการออกแบบอาคารอัจฉริยะที่อาคารมีตัวตรวจจับ (Sensor) และ AI ประกอบกัน เช่น หากมีเสียงโกลาหลจะมีการส่งเสียงเตือนหรือหากมีเหตุเกิดขึ้นจะมีการเปลี่ยนกระจกใสเป็นขุ่น หรือการบอกป้ายนำทาง การสับเปลี่ยนกำแพง เป็นต้น และในกรณีประเทศฝรั่งเศสมีการทำแอพเพื่อแจ้งเตือนโดยบอกว่าคนร้ายอยู่ตรงไหนและมีการแจ้งเตือนแบบเงียบ ดังนั้นเทคโนโลยีบางประการรัฐสามารถทำได้ หากเป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้เพื่อลดปัญหาข้างต้น
ในส่วนของสื่อกฎหมายลายลักษณ์อักษรอาจยังไม่ชัดเจนมากพอเพราะในการเอาผิดกับสื่อได้ต้องมีการนำสืบพิสูจน์ให้ถึงขนาด แต่อาจจะมาพิจารณาในกรณีของจรรยาบันสื่อหรือการไม่ให้น้ำหนักในข่าวมากเกินไปจนทำให้เป็นการให้ผู้กระทำความผิดเป็นที่น่าสนใจมากไป แต่ไปลงน้ำหนักในการนำเสนอข่าวในภาพรวมมากขึ้นจะดีกว่า
lสำหรับกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการเยียวยาผู้เสียหาย ประการแรกเรียกว่า พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ซึ่งประกอบไปด้วยสองส่วน ได้แก่ การทดแทนเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำอาชญากรรมหรือการกระทำความผิดของบุคคลอื่นและการเยียวบุคคลที่ไม่ได้กระทำความผิดจริงแต่ถูกฟ้องคดีหรือดำเนินคดีไปแล้ว (แพะ) แต่มาพบภายหลังว่าบริสุทธ์ซึ่งเหยื่อที่ได้รับความเสีหายจากเหตุการณ์ Active Shooter อยู่ในส่วนแรก ซึ่งผู้เสียหายคือบุคคลที่ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตร่างกาย หรือจิตใจอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นหรือตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เช่น กรณีแม่ยายเก็บเงินทอนไปจะไม่มีส่วนได้รับค่าทดแทนนี้เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด แต่ถ้าเป็นประชาชนทั่วย่อมมีสิทธิได้รับ ส่วนค่าตอบแทนคือ เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเพื่อตอบแทน ซึ่งควรใช้คำว่าทดแทนมากกว่า โดยค่าตอบแทนได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจากการรักษาพยาบาลรวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายหรือจิตใจซึ่งเกี่ยวกับทางจิตวิทยาไม่ว่าประกันสังคมจะให้หรือไม่ก็ตามแต่สามารถมาขอรัฐได้เพราะเป็นกรณีที่สามารถได้รับการเยียวยาได้หากได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยา และค่าตอบแทนผู้เสียหายที่ถึงแก่ความตายต้องไม่เกินกำหนดในกฎกระทรวง นอกจากนี้รวมทั้งค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างไม่สามารถประกอบการต่าง ๆ ได้ตามปกติ เช่น ขาดไร้เงินเดือน ไม่มีงาน ฉะนั้นรัฐต้องเยียวยาค่าทดแทนตามประการข้างต้นซึ่งค่าเยียวยาตามกฎหมายนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเรียกร้องตามกฎหมายอื่น เช่น แม้ผู้เสียหายได้รับค่าทดแทนไปแล้ว ย่อมยังสามารถฟ้องทางแพ่งได้อยู่ เพราะเป็นการที่รัฐมีหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุและสิทธิการเรียกร้องดังกล่าวตกสู่ทายาทด้วยโดยมีระยะเวลาการใช้สิทธิหนึ่งปีนับแต่ผู้เสียหายรู้แก่การกระทำความผิด โดยแจ้งต่อหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมที่ตั้งไว้ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งในกรณีของ Active Shooter จากที่คณะกรรมการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนได้ดำเนินการ และมติคณะรัฐมนตรีในการใช้เงินชดเชยเร่งด่วนแล้วจึงมีเงินชดเชยนอกเหนือจากกฎหมายทั่วไปด้วย เพราะการใช้เงินตามพ.ร.บ.ข้างต้น ต้องใช้ระยะเวลาจึงเห็นว่ามาตรการนี้ถือว่าครอบคลุมถึงปัญหาดังกล่าวพอสมควรแล้ว
คุณสุพรรณี ศิริอาภาวิวัฒน์ นักจิตวิทยาคลินิก กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลลำปาง
คุณสุพรรณี กล่าวว่า Active Shooter มีการเหลื่อมกันกับการก่อการร้าย ทั้งนี้มีความต่างกันทางเรื่องของเจตนาโดยมาจากสองสาเหตุดังนี้
ประการแรก จากการเลียนแบบในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือไขว้เขวว่าจะกระทำความผิดหรือไม่ แต่เมื่อมีการนำเสนอข่าวโดยการมุ่งเน้นไปที่ตัวผู้กระทำผิด จึงนำมาสู่การที่ผู้ก่อเหตุถูกได้รับความสนใจซึ่งการถูกได้รับความสนใจทางจิตวิทยาเปรียบเสมือนการได้รับรางวัลอย่างหนึ่ง เพราะเป็นที่จดจำ เนื่องจากผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่มักมีความรู้สึกว่าตนไร้ค่ามาก่อน หรือสิ้นหวังในชีวิตหรือภาวะวิกฤต
และประการที่สอง เหตุการณ์หรือวิกฤตในชีวิตมากระตุ้นนำมาสู่การคับแค้นใจจนเกิดการก่อเหตุ ซึ่งจากข้อเท็จจริงในเหตุการณ์นี้ที่ปรากฏว่ามาจากการคับแค้นใจจากการถูกโกงเงิน หรือเหตุการณ์ในวัยเด็กที่สะสมมาตลอดเมื่อประกอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเกิดการผสมกันจนนำมาสู่ความคับแค้นใจมากขึ้น รวมทั้งความสิ้นหวังไร้ที่พึ่งช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ไร้พลังอำนาจ ไม่มีทางออกจนสุดท้ายเกิดความโกรธจนไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบโอกาสในการก่อเหตุที่มีมากทั้งในการเข้าถึงอาวุธ รถก่อเหตุ หรือการเดินทางได้สะดวก เป็นต้น นอกจากนี้อาวุธเเป็นสัญลักษณ์ของการมีอำนาจประกอบกับขณะนั้นผู้ก่อเหตุเองรู้สึกช่วยเหลือตนเองไม่ได้ไร้พลังอำนาจ อาวุธจึงเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกมีอำนาจได้
ในส่วนของความเหมือนระหว่าง Active Shooter กับการก่อการร้ายกับสงคราม คือมีการบาดเจ็บเสียชีวิตตามมา ผู้ประสบเหตุหรือผู้รอดชีวิตรวมทั้งผู้ที่เห็นเหตุการณ์จริง ๆ หรือทางสื่อต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือเหตุการณ์นี้ที่ย่อมได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจซึ่งสงครามหรือการก่อการร้ายมักจะมีเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัวมากกว่าแม้เหตุการณ์จบความหวาดกลัวยังอยู่เห็นได้จากงานวิจัยของผู้อยู่ในเหตุการณ์ 9-11 มีความเครียดจากเหตุการณ์วิกฤตนั้นหรือเป็นโรคซึมเศร้า (PDHD) นอกจากนี้จากงานวิจัยผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์หรือผู้ที่ได้ผลกระทบกับเหตุการณ์มากเท่าไหร่อาจได้รับผลกระทบในระยะยาวมากกว่าคนที่อยู่ห่างจากเหตุการณ์มากกว่าอันนำมาสู่ผลกระทบในระยะยาว
สำหรับประเด็น แนวทางป้องกันมิให้ Active Shooter เกิดขึ้น หรือให้เกิดขึ้นน้อยลงในส่วนที่สองคือแนวทางจิตวิทยาพิจารณาได้สองประเด็นว่าหากมี Active Shooter เกิดขึ้นแล้วย่อมจะมีเกิดขึ้นอีกได้เรื่อย ๆ เพราะเป็นพฤติกรรมเลียนแบบอย่างหนึ่งซึ่งในส่วนของการป้องกันหรือ การบาดเจ็บทางจิตใจ (Psychological Trauma) ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด Active Shooter โดยการป้องกันวิธีแรกคือการฝึกตนเองเพื่อรับสถานการณ์
ประเด็นแรก คือช่วงก่อนเกิดเหตุปัจจุบัน บุคคลผู้ก่อเหตุที่เป็นโรคทางสุขภาพจิตมีเพียง 5-25% ที่ถูกพบในยุโรปดังนั้นอีก 75% ผู้ก่อเหตุคือคนทั่วไป ดังนั้นเมื่อบทเรียนของเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วประชาชนสามารถเรียนรู้โดยการฝึกการเอาตัวรอดจาก Active Shooter ได้ โดยทำซ้ำ ๆ ฝึกซ้ำ ๆ ว่า Run Hide Fight ต้องทำอย่างไร
และประเด็นสอง ต้องมีการฝึกสติ เช่น มีการหายใจเข้าออกยาว ๆ ฝึกถามตัวเองเสมอว่าเราทำอะไรอยู่ หรืออยู่ที่ไหนเพราะหากเรามีสติแล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์ใด ๆ เราย่อมสามารถแก้ไขปัญหาหานั้น ๆ ได้ ส่วนประเด็นสุดท้าย หากมีการเดินทางไปที่ใดต้องมีการฝึกคิดเสมอว่าหากมีการกราดยิงจริง ๆ จะมีวิธีการหนีอย่างไรบ้าง เช่น มองหาทางออกที่ใกล้ที่สุด เป็นต้น ทั้งนี้ หากมีการฝึกฝนสามประเด็นนี้ในกรณีของเด็กผู้ใหญ่ไม่ควรกลัว เพราะความกลัวอาจจะถ่ายทอดไปยังเด็กได้
แนวการป้องกันเหตุการณ์กราดยิงในอนาคตที่อาจลดความรุนแรงในอนาคตได้ผ่านลักษณะที่สามารถพบในผู้ก่อเหตุนั้นสามารถแบ่งได้สี่กรณี โดยกรณีแรก การมีบาดแผลทางจิตใจในวัยเด็กหรือถูกกระทำความรุนแรงตั้งแต่วัยรุ่น เช่น การถูกข่มขืน การถูกลวนลามทางเพศทางร่างกาย ซึ่งการใช้ความรุนแรงทางด้านร่างกายมีผลเสียมากกว่าผลดีเพราะเด็กมีพฤติกรรมที่ซับซ้อนกว่าเดิมในการรับมือกับเหตุการณ์ความรุนแรงจนนำมาสู่ปัญหาในอนาคต และกรณีสอง เรื่องที่คับข้องใจที่มากระตุ้นก่อนเกิดเหตุ เช่น เรื่องเงินหรือวิกฤติในชีวิต ส่วนกรณีสาม มีความย้ำทวนเหตุการณ์ในชีวิตตน ความคับแค้นใจในชีวิตตน เช่น ฆ่าได้หยามไม่ได้ เป็นต้น ย่อมมีการแสดงพฤติกรรมเพื่อระบายสิ่งเหล่านั้นออกไปหรือบุคคลผู้ที่ศึกษาเหตุการณ์กราดยิง วิธีต่าง ๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจในการก่อเหตุก็ได้ ในต่างประเทศมีการทำงานวิจัยว่าบุคคลลักษณะใดที่อาจเป็น Active Shooter ซึ่งได้มีการระบุว่าพฤติกรรมที่มีแนวโน้มที่จะก่อเหตุ ทั้งยังมีการกำหนดช่องทางการแจ้งเหตุอีกด้วยในทางจิตวิทยาที่ป้องกันบาดแผลทางใจ ป้องกันความรุนแรงก็คือ การเลี้ยงดูในครอบครัว ฝึกให้เด็กควบคุมตนเองได้ มีวิธีการเหมาะสมในการเลี้ยงดู เพราะหากมีการใช้ความรุนแรง เช่น หากผู้ใหญ่โมโหต้องตี ย่อมทำให้เด็กเข้าใจว่าถ้าตนโมโหย่อมต้องไปตีหรือทำร้ายคนอื่น เพราะมีผลต่อการรับมือกับความรุนแรงของเด็ก ในการจัดการกับอารมณ์ต้องมีการหาวิธีการจัดการอารมณ์ เช่น ฝึกให้เด็กทำงานบ้านเพื่อระงับอารมณ์ของตนได้ อันเป็นการฝึกวินัยให้บังคับตนเองได้ฝึกให้เข้าอกเข้าใจคนอื่น ไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น Bully รวมทั้งให้มีการเปิดโอกาสให้มีการระบายรับฟังปัญหาภายในโรงเรียน หากมีปัญหาพาไปพบจิตแพทย์ และไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา
สำหรับประเด็นเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วสิทธิที่ผู้เสียหายมีสิทธิรับอะไรบ้าง กฎหมายไทยหรือภาครัฐมีแนวทางอย่างไรบ้าง คุณสุพรรณีกล่าวว่า ประเด็นแรกคือการเยี่ยวยาด้านจิตใจ อาการทางจิตของบุคคลที่เกี่ยวข้องจากเหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็นผู้เสพสื่อหรือผู้อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นั้นสองถึงสามวันอาจมีอาการใจสั่น ฝันร้าย คิดถึงเรื่องนั้นซ้ำ ๆ เป็นอาการที่ไม่ปกติจากเหตุการณ์ บางคนอาจหายในสองถึงสามวันแต่บางคนอาจไม่หาย ดังนี้สามารถมีสิทธิเข้ารับบริการตามสถานบริการพยาบาลได้ ซึ่งระบบประกันสุขภาพให้การรับรอง รวมถึงการดูแลตนเองของบุคคลผู้ประสบเหตุ ผู้รับรู้ข้อมูล ซึ่งการดูแลคือการกลับไปใช้ชีวิตประจำวันให้เร็วที่สุดเพราะมีผลให้เรารู้สึกถึงความมั่นคง เสมือนชีวิตประจำวันอย่างที่เราเป็นเหมือนเดิมรวมทั้งการดูแลคนใกล้ชิดหรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายเพื่อลดความเครียดและหมั่นตรวจดูการเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกของตนเอง ซึ่งในส่วนของภาครัฐ ทุกโรงพยาบาลมีงานดูแลจิตใจจากผู้ประสบภัยโดยเฉพาะ (Mental Crisis Assessment and Treatment Team หรือ MCAT) ซึ่งที่โรงพยาบาลนครราชสีมาได้จัดให้มีการไปตั้งจุดที่ห้าง Terminal 21 เพื่อเยียวยาทางจิตใจให้กับผู้ประสบเหตุซึ่งเป็นการเยียวยาในเชิงรุกและในส่วนของผู้เห็นเหตุการณ์ก็มีการติดตามประเมินและดูแลสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเด็นสอง องค์กรณ์ที่ดูแล (Sociological Drama Disaster) กรณีมีเหตุการต่าง ๆ ที่กระทบต่อประชาชนร้ายแรงหรือผู้ประสบเหตุ โดยประเทศไทยมีสมาคมที่ทำหน้าที่พัฒนาคนและดูแลจิตใจให้บุคคลให้ได้รับการดูแลทางจิตใจ หรือจัดกิจกรรมให้ผู้ประสบเหตุให้สามารถเข้าใจ ดูแลจิตใจของบุคคลเหล่านี้รวมถึงคนรอบข้างได้ และประเด็นที่สาม กรณีคนไข้มีความเครียด ควรได้รับการบำบัดจากนักจิตวิทยา แต่ปัจจุบันมักมีความเชื่อผิด ๆว่าการมาพบนักจิตวิทยาเป็นเรื่องที่แปลก เพราะบางคนคิดว่าบุคคลเหล่านี้ไปพบจิตแพทย์เท่ากับเป็นคนบ้าหรือโรคจิต แต่ปัจจุบันความเชื่อเหล่าดีขึ้นมาบ้างจึงขอให้ช่วยกันรณรงค์ให้เข้ามารับคำปรึกษาเพื่อเป็นการดูแลตนเองและให้ตราบาปในเรื่องนี้ลดลงไป
พันตำรวจโท สุรชัย ท่างาม รองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธร ภาค 5
พ.ต.ท.สุรชัย กล่าวว่า สำหรับประเด็นวิธีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีกระบวนการระงับเหตุอย่างไรบ้าง ในกรณีเมื่อเกิด Active Shooter พันตำรวจโท สุรชัย ได้กล่าวว่า แนวทางของเจ้าพนักงานรัฐ เมื่อเจ้าหน้าที่เป็นบุคคลผู้ประสบเหตุครั้งแรก เช่น ตำรวจจราจร สายสืบฯโดยวิทยากรเป็นผู้ทำงานในด้านหน่วยปฏิบัติการพิเศษของภาค 5 หรือหน่วย SWAT ซึ่งมีศักยภาพทางอาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่าตำรวจในโรงพักโดยความรุนแรงของ Active Shooter สามารถแบ่งออก โดยเริ่มจากจากอาวุธที่ใช้ จากจำนวนกระสุนที่มี และจากขีดความสามารถของคนที่ทำ เช่น หาก Active Shooter ถืออาวุธที่ยิงได้ 7 นัด หรือหากเป็นปืนลูกโม่ตำรวจไปประมาณ 3 คนก็น่าจะระงับเหตุได้ หากแต่กรณีของ Active Shooter มีทั้งกระสุนเจาะเกราะ ปืนหลายนัดในการระงับเหตุจึงต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยอันดับแรกต้องระงับเหตุให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งจากเหตุการณ์ข้างต้นหากสามารถระงับเหตุได้ตั้งแต่ ณ ที่คลังเก็บอาวุธเหตุการณ์ย่อมไม่เกิดที่ Terminal 21 นอกจากนี้การที่ผู้ก่อเหตุเป็นนักแม่นปืนและมีอาวุธร้ายแรงการระงับเหตุย่อมยากกว่า กรณีของคนร้ายก่อเหตุปล้นที่ห้างสรรพสินค้าที่อำเภอห้างฉัตรโดยใช้อาวุธปืน 9 ม.ม.หรือปืนลูกโม่ที่การปฏิบัติการย่อมสามารถนำเข้าระงับเหตุได้เลยและหากเป็นกรณีการก่อการร้าย เช่น ปล้นร้านทองที่อำเภอห้างฉัตรต่อมาผู้ก่อเหตุหลบหนี การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่จะเริ่มจากทีมปฏิบัติการของส.ภ.ห้างฉัตร หากไม่สามารถระงับเหตุได้จะส่งต่อไปยังหน่วยปฏิบัติการพิเศษจังหวัดลำปาง หากยังไม่สามารถระงับเหตุได้อีกเพราะเกินขีดความสามารถต้องส่งเรื่องไปยังภาคต่อไปหน่วยปฏิบัติการพิเศษของภาคต่อไป ดังนั้นในการปฏิบัติการต้องมีการกระทำอย่างมีขั้นตอนและเป็นลำดับซึ่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเป็นหน่วยที่พร้อมระงับเหตุเสมอซึ่งหากมีการสื่อสารไปยังหน่วยดังกล่าว หากเหตุเกิดที่จังหวัดลำปางหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่จังหวัดเชียงใหม่ย่อมสามารถไปย่อมสามารถเดินทางมายังจังหวัดลำปางได้ทันที ตัวอย่าง Active Shooter ในเหตุกราดยิงมัสยิดในไครสต์เชิร์ชซึ่งไม่สามารถระงับเหตุได้เนื่องจากเหตุการณ์ก่อเหตุเกิดขึ้นไวและคนร้ายเตรียมปืนมาเป็นแมกกาซีนจึงเข้าไประงับเหตุไม่ทัน คนร้ายเข้าไปและกราดยิงทุกคนในมัสยิสดังกล่าว
(คำถามจากอาจารย์ดิศรณ์ : เทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นการใช้โดรนหรือการติดตามผ่านสื่อโซเชียลของผู้ก่อเหตุสามารถช่วยเหลือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างไร)
พันตำรวจโท สุรชัย : ในส่วนของโดรนตรวจจับความร้อนหรือเกราะกันกระสุนต่าง ๆ ทางหน่วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการเตรียมสั่งซื้อเพื่อเตรียมใช้ในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว และวิธีการประเมินสถานการณ์ว่าอย่างไรให้การนำตัวบุคคลผู้บริสุทธิ์ออกมาโดยไม่ทำให้ผู้ก่อเหตุโมโหและลงมืออีกนั้น ในส่วนของระบบการปฏิบัติการ หากเปรียบเทียบว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่เซ็นทรัลลำปาง เจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไประงับเหตุคือ ส.ภ.เมืองลำปางหรือเขลางค์นครและหลังจากนั้นหากไม่สามารถระงับเหตุได้ หน่วยปฏิบัติการพิเศษของจังหวัดลำปางจะเข้ามาปฏิบัติการ และกำลังไม่พอหรือไม่สามารถระงับเหตุได้ หน่วยปฏิบัติการพิเศษของภาค5จะเข้ามา และหากกำลังไม่พอหรือไม่สามารถระงับเหตุได้อีกเป็นหน่วยอรินทราช 26 หรือ หน่วยนเรศวร 261 หรือหน่วยหนุมานฯ จะเป็นผู้เข้ามาระงับเหตุต่อไป
นอกจากนี้การปฏิบัติตัวของผู้ประสบเหตุประกอบไปด้วยสามสิ่งที่ต้องทำ Run Hide Fight หากเกิดเหตุให้ออกจากจุดเกิดเหตุให้ไวที่สุด เช่น หากเกิดเหตุที่ชั้น 1 ให้วิ่งออกจากประตูชั้น1ให้ไวที่สุด ผู้ก่อเหตุอยู่ทางไหนให้หนีไปทิศทางตรงข้ามและวิ่งอย่างเดียว และหากวิ่งไปเจอทางตันหรือเจอคนร้ายให้หลบซ่อนให้ไวที่สุดอยู่แบบเงียบ ๆ ปิดไฟและเสียง หากหลบแล้วยังพบคนร้ายให้ สู้กับผู้ก่อเหตุนั้นต่อไป
สำหรับประเด็น มาตรการความเหมาะสมในการดูแลอาวุธปืนของรัฐไทยมีความเหมาะสมอย่างไรหรือมีข้อบกพร่องมากแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับในต่างประเทศ พันตำรวจโท สุรชัย ได้กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมีเพียงทหารยามหนึ่งคนเฝ้าอยู่ซึ่งเหตุการณ์ Active Shooter ไม่ค่อยเกิดขึ้นและการยิงเป็นการจู่โจมยิงดังนั้นผู้ถูกยิงจึงไม่มีทางพร้อมป้องกันหรือต่อสู้ เพราะเหตุเกิดโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นในการแก้ไขควรเป็นการที่สถานที่มีเกราะป้องกันให้แน่นหนามากกว่านี้เพี่อให้ผู้ลงมือเข้าถึงนั้นยากขึ้นและมีเวรยามมากขึ้นมีความแน่นหนามากขึ้น รวมทั้งสร้างระบบของทีมปฏิบัติการ เช่น การสร้างระบบการทำงานของเจ้าพนักงานให้มีความสุขหรือมีความเป็นพี่เป็นน้องกันมากขึ้น และในส่วนของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ติดอาวุธเพื่อป้องกันการระงับเหตุนั้น มีปัญหาในเรื่องของงบประมาณดังนั้นจึงควรสร้างระบบในการปฏิบัติงานในระหว่างทีมของเจ้าพนักงานหรือมาตรการอื่น ๆ เช่น มีกล้องวงจรปิด หรือเวรยามมากกว่าเดิมเพราะนำเทคโนโลยีเช่นนั้นมาใช้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี ได้เสริมในประเด็นนี้ในส่วนแรกว่าทางกองทัพได้ออกมาชี้แจงแล้วว่ามีมาตรการที่แน่นหนาอยู่แล้วเพราะอาวุธกับกระสุนหรือกำลังพลถูกเก็บอยู่คนละที่ตามหลักสากลรวมทั้งมีกล้องวงจรปิด แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดผู้ก่อเหตุได้อาศัยความสนิทสนมและเหตุที่เคยทำเวรยามในที่เกิดเหตุมาก่อน ดังนั้นในการวางแผนจึงรู้วิธีการเข้าถึงอาวุธและนำอาวุธมาใช้ได้ ดังนั้นปัญหาอาจเกิดจากการแจ้งข่าวหรือการติดตามตัวผู้ก่อเหตุที่ช้ามากเกินไปเพราะเหตุเกิดในเวลาที่ไม่มีเวรยามนั่นเองและในส่วนที่สองได้ยกตัวอย่างของมาตรการของประเทศเยอรมนีว่าทหารมีการเก็บอาวุธกับกระสุนหรือกำลังพลต่างกันคนละที่ โดยเฉพาะคลังอาวุธอยู่ในป่าดังนั้นบุคคลที่เข้าไปในพื้นที่นั้นย่อมไม่มีวัตถุประสงค์ในการเข้าไปทำกิจกรรมอื่นนอกจากอาวุธแน่นอน ทำให้บุคคลที่เข้าไปในบริเวณนั้นจะถูกสกัดกั้นออกมา และบุคคลที่รักษาความปลอดภัยต้องแยกหรือต่างจากบุคคลผู้มีอำนาจ กล่าวคือไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของบุคคลในหน่วยนั้นอำนาจต้องมาตามหน้าที่ไม่ใช้ตามยศ ดังนั้นแม้บุคคลจะมียศใหญ่กว่ามาสั่งแต่ถ้าไม่ใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้น ผู้มีหน้าที่ในเรื่องนั้นย่อมมีอำนาจมากกว่า เพราะเมื่อเป็นบุคคลผู้ได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนั้นย่อมเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดจึงมีอำนาจในการปฏิเสธไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับบุคคลที่มียศสูงกว่าแต่ไม่มีหน้าที่
พันตำรวจโท สุรชัย ได้แลกเปลี่ยนความเห็นว่าหน่วยปฏิบัติการพิเศษต้องปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากใช้วิธีแบบประเทศเยอรมนีจะไม่สามารถระงับเหตุได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นวิธีนี้อาจไม่สามารถนำมาใช้บังคับกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษได้ฉะนั้นจึงมีข้อดีข้อเสียต่างกันแต่ไม่สอดคล้องกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษของไทย
คำถามจากผู้เข้าร่วมสัมมนา
(1) ทำไมเหตุที่นครราชสีมาทำไมต้องใช้หน่อยอรินทราช 26 หรือหน่วยหนุมานจากกรุงเทพเพื่อระงับเหตุแล้วที่นครราชสีมาไม่มีหน่วยดังกล่าว
พันตำรวจโท สุรชัย : โครงสร้างของตำรวจในจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย ส.ภ.เมืองนครราชสีมา มีสายสืบ สายตรวจ จราจร ธุรการต่าง ๆ ถ้าไม่สามารถระงับเหตุได้จะมีการขอกำลังไปยังหน่วยปฏิบัติการพิเศษจังหวัด เรียกว่ากองบังคับการสอบสวน ถ้าไม่สามารถระงับเหตุได้อีกต้องไปขอกำลังจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษภาค 3 ต่อไป จากเหตุการณ์นี้ไม่สามารถระงับเหตุได้ จึงมีการประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้หน่วยอรินทราช 26 หน่วยหนุมานฯ รวมทั้งหน่วยนเรศว ร61 หน่วยฉก.ทม.รอ. 904 หรือกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 เพื่อมาระงับเหตุการณ์ในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ถูกฝึกมาให้ทำงานเป็นทีมและมีศักยภาพที่สามารถระงับเหตุเช่นข้างต้นได้ เช่น เหตุการณ์เกิดในช่วงกลางคืนต้องใช้ Night Vision ซึ่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษได้ผ่านการฝึกฝนในการใช้อุปกรณ์นี้มาแล้ว
(2) จากที่กล่าวมาว่า การก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาจากเหตุการณ์ในวัยเด็กหรือเหตุการณ์อื่น ๆ เช่น การ Bully การถูกสอนสั่งมาจากผู้ปกครอง ทางนักจิตวิทยามีมาตรการอะไรในการเข้าถึงคนเหล่านี้บ้าง เช่น โรงเรียน
คุณสุพรรณี : ในกรณีโรงเรียนงานสุขภาพจิตโรงเรียนจะถูกสอดแทรกอยู่เสมอ เช่น คุณครูแนะแนว นักจิตวิทยาคลินิกที่จังหวัดลำปางจะมีการให้คำปรึกษาแก่ครูแนะแนวที่ลำปางซึ่งพบว่าคนที่ Bully คนอื่นคือคนที่เคยถูก Bully มาก่อน ดังนั้นเราจะมุ่งเสริมสร้างให้นักเรียน หรือคุณครูรู้ในการที่จะให้คำปรึกษา หรือการที่ให้รู้จักว่าการ Bully คืออะไร ทั้งมีการสร้างเครือข่ายเพื่อทำงานร่วมกันได้
(3) การวิสามัญคนร้ายมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไรบ้าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี : หลักเกณฑ์ตามกฎหมายคือ ในระหว่างเกิดเหตุมีความจำเป็นต้องกระทำไปเพื่อระงับเหตุ ซึ่งเมื่อมีการวิสามัญการดำเนินคดีย่อมเข้าสู่กระบวนการสั่งฟ้องเช่นกัน แต่ว่าผู้กระทำสามารถอ้างการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้เพราะเป็นเหตุการณ์อันเป็นภยันตรายอันใกล้จะถึงและยังไม่ยุติยังเกิดอยู่ต่อไป เป็นต้นแต่หลักเกณฑ์ว่าอย่างไรแล้วสามารถลงมือได้ต้องไปถามเจ้าหน้าที่รัฐ
พันตำรวจโท สุรชัย : ตำรวจใช้มาตรา 68 เรื่องการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จากข้อเท็จจริงคนร้ายได้ยิงโต้ตอบตลอด จนกระทั้งเจ้าพนักงานเสียชีวิต ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานเข้าไประงับเหตุโดยการวิสามัญฯ จึงไม่น่าจะเกินกว่าเหตุมิฉะนั้นจะก่อให้เกิดการตายของเจ้าพนักงานมากขึ้นหากไม่รีบระงับเหตุด้วยการวิสามัญฯ
(4) เป็นไปได้หรือไม่ว่า Active Shooter สามารถเกิดขึ้นจากการเลียนแบบชาวต่างชาติแต่มีวัตถุประสงค์ต่างกัน เช่น มีผู้ก่อเหตุที่สหรัฐอเมริกาก่อเหตุโดยอ้างว่าความขัดแย้งทางศาสนา เป็นไปได้หรือไม่ว่าคนไทยไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันแต่อ้างเหตุเพื่อความสนุก สามารถเป็นพฤติกรรมเลียนแบบได้หรือไม่เพราะเหตุที่ใช้อ้างต่างกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี : เป็นพฤติกรรมเลียนแบบเพราะจากการได้รับข่าวสารย่อมทำให้บุคคลสามารถเสพข่าวแล้วมาปฏิบัติตามได้เพราะความประสงค์ที่อาจต้องการเป็นที่จดจำ อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วซึ่งในสหรัฐมีเหตุการณ์พฤติกรรมเลียนแบบ โดย 87% อยากเป็นที่จดจำ อยากดังและงานวิจัยอีกงานหนึ่งกล่าวว่าแรงจูงใจคือ ผู้ก่อเหตุรายก่อนหน้าซึ่งมีการยกเป็นไอดอลที่ตนต้องการปฏิบัติตาม เช่น ผู้ทำความผิดรายก่อนหน้าตาดีจึงก่อให้บุคคลอยากกระทำบ้าง อยากเลียนแบบมากขึ้น
คุณสุพรรณี : พฤติกรรมเลียนแบบเป็นเรื่องทางธรรมชาติ มีงานวิจัยนักวิจัยให้เด็กอยู่นอกห้อง One Way Mirror ซึ่งในรอบแรกในห้องมีตุ๊กตาและให้ผู้ใหญ่เข้าไปชกต่อยตุ๊กตา หลังจากนั้นเด็กเข้ามาและในขณะเดียวกันมีผู้ใหญ่เฝ้ามองอยู่ โดยมีแนวโน้มว่าเด็กจะกระทำตามผู้ใหญ่ ก็คือการชกต่อยตุ๊กตา ด่าทอ ส่วนในรอบสองเปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่เข้าไปโอบกอดตุ๊กตาซึ่งเด็กที่เข้าไปก็ปฏิบัติตามผู้ใหญ่เช่นกัน ดังนั้นพฤติกรรมเลียนแบบมีได้ทั้งทางบวกและลบซึ่งจากเหตุการณ์ Active Shooter เป็นพฤติการณ์ด้านลบ สุดท้ายแล้วเรื่องเกี่ยวกับสื่อในการเสนอข่าวที่ควรทำโดยระมัดระวังเพราะอาจส่งผลเสียต่อเด็กและเยาวชนที่ยังไม่สามารถแยกเรื่องจริงออกจากเรื่องไม่จริง
ประเด็นที่วิทยากรได้ทิ้งท้ายเอาไว้ก่อนจบการสัมมนา
พันตำรวจโท สุรชัย : หลักการ Run Hide Fight ควรที่จะมีการซักซ้อมหรือเตรียมตัวให้ถูกต้องและเป็นไปตามลำดับ แต่หากมีเหตุการณ์ใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นก่อนเช่น คนร้ายเข้ามาทันทีจึงเป็นการ Fight ก่อนแล้วค่อย Run มิใช่ว่าเป็นไปตามลำดับเสมอ ให้ดูเป็นกรณีไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี : WHO กับผู้ทำการวิจัยเสนอแนะการรายงานข่าวเรื่องการกระทำของคนร้ายว่าควรเป็นในแนวในทางลบมากกว่าแนวทางบวกไม่ใช่ไปเสนอข่าวในแนวทางบวก และไม่ควรนำเสนอในลายละเอียดของการกระทำความผิดของคนร้ายหรือเหตุจูงใจ เพราะมีความเป็นไปได้ที่บุคคลจะไปเลียนแบบหากผู้ทำความผิดตกอยู่ในสถานการณ์คล้าย ๆ กัน เช่น คิดว่าผู้กระทำความผิดก็เจอมาแบบเรา และสื่อลดเวลาในการนำเสนอข่าวหลังจากการกราดยิงเพราะการรายงานข่าวอย่าวต่อเนื่องเสมือนเป็นการให้รางวัลแก่ผู้ก่อเหตุ นอกจากนี้สื่อต้องจำกัดการนำเสนอในรูปแบบไลฟ์สด ตอนเกิดเหตุการณ์แม้ต้องการข้อมูลข่าวสารมากแค่ไหนก็ตาม แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ต้องเสนอเลย แต่นำเสนอภายหลังแทนเพราะเป็นการลดการกระตือรือร้นในการเลียนแบบมากกว่า