สรุปสาระสำคัญจากสัมมนาวิชาการ เรื่อง “COVID ขวิดการบิน : มุมมอง ปัญหา ความท้าทายและทางออก” วันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2563 เวลา 09.00-12.00 น. ทางระบบ Cisco Webex Events
ผู้กล่าวเปิดงาน
- ศาสตราจารย์ ดร.ไผทชิต เอกจริยกร ผู้อำนวยการสถาบันขนส่งพาณิชยนาวี/ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ดร.จุฬา สุมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
- Mr. Louis Moser Area Manager Thailand, Laos, Cambodia and Myanmar, International Air Association
- อาจารย์ ดร.ลลิล ก่อวุฒิกุลรังสี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายศุภสิน เจียรพาณิชย์พงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาคปกติ ศูนย์รังสิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ศาสตราจารย์ ดร.ไผทชิต เอกจริยกร ผู้อำนวยการสถาบันขนส่งพาณิชยนาวี/ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร.ไผทชิต ได้กล่าวเปิดงานเสวนาในนามของสถาบันกฎหมายขนส่งและพาณิชยนาวี อ้างถึงปัญหาที่ประสบพบเจอมาจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในปัจจุบัน โดยประเด็นสำคัญที่จะได้ถกเถียงกันอยู่ในเรื่องมาตรการที่ทางการได้ดำเนินการ ความคิดเห็นของทางหน่วยงานเอกชน และภาควิชาการอันเกี่ยวกับผลกระทบและสิทธิของผู้โดยสาร ลำดับต่อมาได้ทำการแนะนำวิทยากรทั้ง 3 ท่านที่ได้มาในวันนี้ และยืนยันจุดยืนของงานจัดเสวนาในครั้งนี้ว่าเป็นการถกเถียงทางวิชาการด้วยความเป็นกลาง
ดร.จุฬา สุมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (วิทยากร)
ดร.จุฬา กล่าวเริ่มเสวนาด้วยประเด็นสถานภาพทางเศรษฐกิจของธุรกิจการบินซึ่งทำท่าไม่ดีตั้งแต่ปี 2019 แต่ผลกระทบของ Covid-19 นั้นร้ายแรงถึงขนาดระดับความต้องการทางการบินของผู้บริโภคนั้นขาดหายไป โดยการบินส่วนใหญ่ของคนโดยสารนั้นเป็นไปเพื่อการท่องเที่ยว แม้ที่ผ่านมาในอดีตจะประสบวิกฤติต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ 911 การระบาดของโรคซาร์ ภูเขาไประเบิด แต่ไม่ร้ายแรงขนาด Covid-19 เนื่องจากได้ส่งผลกระทบออกไปทั่วโลก การบินหยุดชะงัก หรือกล่าวอีกนัยคือทุกวันนี้ไม่มีการบินขนส่งผู้โดยสาร
หน้าที่หลักของสถาบันการบินพลเรือน แยกออกเป็น 2 หน้าที่หลัก ๆ คือ หน้าที่ในการกำกับดูแลในเรื่องความปลอดภัย การบิน เรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัย และเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง อีกหน้าที่คือการกำกับดูแลในเรื่องเศรษฐกิจ อัตราค่าโดยสาร การคุ้มครองผู้บริโภค แม้จะมีบทบาทดังกล่าว แต่สถาบันการบินพลเรือนนั้นเป็นผู้ที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งความเป็นจริงมีตัวละครในการกำกับดูแลด้วยกัน 3 ฝ่าย คือ Operator, Policy Maker และ User
ในส่วนเกี่ยวกับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 สถาบันการบินพลเรือนได้มีบทบาททางด้านสาธารณสุขเพิ่มเข้ามา เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับ WHO
ถัดมาดร.จุฬาได้กล่าวถึงมาตรการหลัก ๆ ที่ได้ดำเนินการไป โดยโจทย์ใหญ่ที่ได้รับคือการทำอย่างไรไม่ให้โรคระบาดเกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากโรค Covid-19 เป็นโรคต่างถิ่นหรือก็คือเป็นโรคที่มาจากต่างประเทศติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือการจำกัดการเดินทางเข้ามาในประเทศ โดยดร.จุฬา ได้กล่าวถึงมาตรการที่ดำเนินการไปตั้งแต่ระยะแรกจนถึงปัจจุบันดังนี้ ในช่วงเดือนมีนาคมได้ใช้วิธีการตรวจคัดกรองผู้โดยสารตั้งแต่ต้นทางคือสนามบินจนกระทั่งขึ้นเครื่อง ปัญหาหลักของวิธีการดังกล่าวคือเขตอำนาจของรัฐไทยนั้นไม่ครอบคลุมถึงดินแดนของต่างประเทศตามหลักอำนาจอธิปไตย ดังนั้นทางออกที่ทำได้คือการร่วมมือกับสายการบินที่จะเข้ามาในประเทศไทย โดยหากสายการบินฝ่าฝืนภาระย่อมตกแก่สายการบิน เพื่อให้สายการบินมีข้อมูลอย่างเพียงพอจึงต้องมีการแจ้งล่วงหน้าถึงสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขกังวลมากที่สุด เช่นต้องมีใบรับรองการตรวจโรค ประกันภัย ฯลฯ ก่อนขึ้นเครื่อง และเพื่อให้อำนาจต่อสายการบินที่จะมีสิทธิปฏิเสธคนโดยสารได้จึงต้องเขียนลงในกฎหมาย ในช่วงแรกมีการใช้มาตรการดังกล่าวในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงก่อน แต่ในระยะต่อมา Covid-19 ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกทำให้มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการถัดไปคือการปิดน่านฟ้า
ดร.จุฬา ยังได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับมาตรการปิดน่านฟ้าว่า ในความเป็นจริงน่านฟ้าไม่ได้ปิด แต่เป็นการปิดกั้นคนโดยสารไม่ให้เข้ามาในประเทศได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือหากเครื่องบินลำนั้นไม่มีคนโดยสารหรือเป็นเพียงเครื่องบินสินค้าย่อมเข้ามาในประเทศได้ และในทางกลับกันหากผู้ใดต้องการที่จะออกนอกประเทศก็ไม่มีการห้ามแต่อย่างใด การออกมาตรการดังกล่าวมีผลแม้กระทั่งคนไทยเพราะเชื้อเดินทางโดยมนุษย์เป็นพาหะไม่ว่าจะมีสัญชาติใดทำให้มีความจำเป็นต้องมีการห้ามคนไทยเข้ามาในประเทศด้วย แต่มีข้อยกเว้นในลักษณะพิจารณาเป็นรายกรณีคือการที่คนไทยขอเดินทางกลับประเทศ และดร.จุฬายังกล่าวเสริมอีกว่าเหตุผลของการห้ามบินคือเหตุผลของการป้องกันโรค และยืนยันว่าประเทศไทยกำลังจะแง้มประเทศโดยการออกประกาศประเทศที่สายการบินสามารถนำคนเข้ามาได้ในเดือนหน้า
ในประเด็นต่อมา ดร.จุฬา ได้กล่าวถึงมุมมองทางวิชาการในความขัดแย้งกันของปัญหาทางสาธารณสุขกับปัญหาทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีการผ่อนปรนมาตรการที่บังคับอยู่ โดยมีการทำข้อมูลสำรวจว่าในแต่ละวันจะมีคนเข้าประเทศจำนวนเท่าใด ต้องมีสถานที่กักตัว 14 วัน และในอีกมุมหนึ่งสายการบินต้องรับรู้มาตรฐานสากล ซึ่งหน่วยงานได้มีการศึกษาข้อมูลจากหลายประเทศเพื่อจัดทำมาตรฐานทางสาธารณสุขกระจายแก่สายการบินทั่วไป
ดร.จุฬา ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับมาตรการ Social Distancing ว่ามาตรการดังกล่าวนี้เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำในทุกสนามบิน และในระยะแรกได้มีการดำเนินมาตรการดังกล่าวนี้บนเครื่องบิน แต่ในปัจจุบันสาเหตุที่ไม่มีการใช้มาตรการนี้บนเครื่องบินเนื่องจากได้มีงานวิจัยออกมารับรองว่าระบบหมุนเวียนอากาศภายในเครื่องมีศักยภาพเพียงพอที่จะคัดกรองเชื้อได้ และได้กล่าวปิดท้ายว่าสิ่งที่กล่าวมาในวันนี้เป็นเรื่องสาเหตุว่าทำไมต้องออกมาตรการดังกล่าวมากกว่าออกทำไมเพราะมาตรการมีอยู่มากยากที่จะกล่าวได้หมด และยืนยันว่า Covid-19 เป็นปัญหาใหม่ หน้าที่ที่เพิ่มเข้ามาคือด้านสาธารณสุข แต่โดยหลักก็เพื่อให้ประเทศไทยยืนต่อไปได้
Mr. Louis Moser Area Manager Thailand, Laos, Cambodia and Myanmar, International Air Association (วิทยากร)
Mr. Louis เริ่มจากการพูดถึงปัญหา Covid-19 ตามหัวข้อการจัดเสวนาครั้งนี้ว่า เป็นปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อน เป็นความท้าทายมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา สถานการณ์ครั้งนี้ไม่เหมือนอดีตที่ผ่านมา ในอดีตผลกระทบคือสายการบินยังเดินต่อไปได้ แต่ครั้งนี้เป็นศูนย์
ในการบรรยาย Mr. Louis ได้แบ่งหัวข้อการบรรยายออกเป็น 5 หัวข้อด้วยกัน มีรายละเอียดดังนี้
1. What happened? Our perspective on the crisis.
เริ่มต้นจากการกล่าวถึงคำพูดของ CEO ของ IATA ว่า “ในครั้งนี้คือจุดต่ำที่สุดในธุรกิจเท่าที่เคยเกิดวิกฤติมา” และได้แสดงให้เห็นถึงกราฟแสดงผลกระทบของ Covid-19 ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิด Total loss สูงถึง 84.3 ฺBillion และ Demand ในการบินตกลงไป 54 % Total Revenue Loss หายไป 419 billion หรือ 50 % และได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในธุรกิจการบินได้รับผลกระทบมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2019 แต่พอมาถึงตอนนี้เรียกได้ว่า “Covid-19 มาปิดฝาโรงทีเดียว”
Mr. Louis ได้แสดงให้เห็นกราฟแสดงเหตุการณ์ที่กระทบต่อความต้องการในการท่องเที่ยว เช่นเหตุการณ์ซาร์ระบาด ไข้หวัดนก และชี้ให้เห็นว่าในระยะเวลาเพียง 4 เดือนที่เกิด Covid-19 เรียกได้ว่า “Covid ดึงทุกอย่างมาถึงจุดต่ำสุด” (20 %)
ต่อมา Mr. Louis ได้แสดงเห็นถึงความคล่องตัว(Liquidity) ของแต่ละสายการบิน และกล่าวเพิ่มเติมว่าสายการบินโดยเฉลี่ยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เพียง 3 เดือนหลังเกิดเหตุ เพราะโดยลักษณะของดำเนินธุรกิจสายการบินเป็นลักษณะของการขายตั๋วล่วงหน้า ซึ่งได้มีการขายล่วงหน้าไปแล้วถึง 4 เดือน เมื่อเกิดเหตุการณ์ Covid-19 ขึ้นจึงคงสภาพธุรกิจได้เพียงระยะเวลาดังกล่าวเท่านั้น
2. What if? How the Crisis may Unfold.
เริ่มต้นจากการแสดงให้เห็นกราฟอัตราการระบาดของโรค Covid-19 ทั่วทั้งโลก ว่าส่วนใหญ่โรคดังกล่าวได้ระบาดมากในโซนอเมริกา แต่ในโซนเอเชียแปซิฟิกนั้นอัตราการระบาดนั้นเรียกได้ว่าควบคุมได้ดี
ถัดมาได้มีการพูดถึงประเด็นการกลับมาเปิดเขตแดน (Reopening Boarder) อีกครั้ง ว่า ณ วันนี้การบินของประเทศไทยต้องหยุดชะงัก แต่ถึงอย่างไรในอนาคตก็จำเป็นจะต้องเปิด ดังเช่นจีนเป็นประเทศที่เกิดโรคระบาดที่แรกแต่ ณ วันนี้ได้มีการบินอีกครั้ง แม้เพียงแค่ประเทศในกลุ่มก็ตาม ส่วนประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้นอยู่ในขั้นดำเนินการ ในส่วนของประเทศไทยต้องหยุดชะงักไปก่อน ทั้งนี้ หนี้ที่เกิดขึ้นของแต่ละสายการบินที่ได้มีการสะสมมาตลอด และให้ความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า สายการบินหลายสายเริ่มที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปไม่ได้แล้ว
และสิ่งที่สำคัญมากที่สุดของหัวนี้คือ ความมั่นใจของนักท่องเที่ยวและสิ่งที่นักท่องเที่ยวกังวลมากที่สุด โดยกราฟที่คุณหลุยได้แสดงนั้นแสดงให้เห็นความพร้อมที่จะกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยสิ่งที่นักท่องเที่ยวกังวลมากที่สุดคือ “การที่จะต้องนั่งโดยสารใกล้ชิดกับคนที่ติดโรค” เป็นสิ่งที่กังวลมากที่สุดถึง 90 % และคำถามต่อมาที่ได้ทำการสำรวจคือ คำถามว่าหากมีการเดินทางไปต่างประเทศคนโดยสารมักจะกังวลกับการต้องถูกกักตัวที่ปลายทาง จะมีวิธีการใดบ้างที่จะผ่อนปรนมาตรการเหล่านี้ได้
3. Now what? What the restarts look like.
ในหัวข้อนี้เป็นการคาดการณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อทุกอย่างกลับมาดำเนินการอีกครั้ง โดยหัวข้อนี้เป็นผลจากการสังเกต 3 กลุ่มประเทศที่แตกต่างกัน โดยจะเห็นได้จากตัวอย่างของประเทศจีนเมื่อมีการเปิดการบินภายในประเทศความมั่นใจของผู้โดยสารมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของประเทศไทยยังจำกัดการเดินทางอยู่ และยืนยันว่าการที่เข้าควบคุม Covid-19 ไม่ได้ทำให้อัตราการเดินทางเพิ่มขึ้นทันทีเพราะการดำเนินมาตรการเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
Mr. Louis ได้แสดงให้เห็นคือกราฟแสดงความมั่นใจในการเดินทางของคนในแต่ละประเทศว่าเมื่อมีการพบผู้ติดเชื้อขึ้นใหม่ความมั่นใจในการเดินทางย่อมลดต่ำลงทันที
4. What next? When will we recover ?
เป็นการพูดถึงว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ฟื้นตัวแล้ว Mr. Louis คาดการณ์ว่า Global RPKs จะเริ่มเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ปี 2019 นั้นได้ต่ำลงมา และปี 2020 นั้นต่ำถึงที่สุด หลังจากการเปิดเที่ยวบินกราฟจะเพิ่มขึ้นต่อไปอย่างเป็นลำดับ
5. So what ? Implications for the new normal.
ในหัวข้อนี้จะเป็นการกล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต Mr. Louis ได้ยืนยันว่าเมื่อรัฐบาลเปิดน่านฟ้าอีกครั้งต้องมีการเตรียมความพร้อมให้สามารถออกบินได้ทันที โดยได้กล่าวถึงมาตรการรองรับต่าง ๆ เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ การทำความสะอาดผิวสัมผัสบนเครื่องบิน อีกทั้งการรวบรวมข้อมูลของนโยบายต่างประเทศ เอกสารสำคัญต่าง ๆ ของต่างประเทศไว้ในเว็บไซต์เดียวกันเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ
Mr. Louis ได้เปิดวิดีโอแนะนำการเตรียมตัวของผู้โดยสาร (ดูได้ที่ http://www.facebook.com/iata.org/videos/286970212450971 ) และได้กล่าวเกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในวิดีโอ โดยหลักการสำคัญ ๆ คือ Self-Services ,Touchless, Biomatic ซึ่งจะได้นำหลักการดังกล่าวนี้มาปรับใช้ในทุก ๆ ขั้นตอนจนกระทั่งถึงสนามบินต่างประเทศ
ท้ายที่สุด Mr. Louis ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “Covid นี้จะอยู่ต่อไปอีกนาน”
อาจารย์ ดร.ลลิล ก่อวุฒิกุลรังสี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
อ.ดร.ลลิล กล่าวในประเด็นที่เกี่ยวกับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 นั้นสร้างปัญหาให้แก่ผู้โดยสารหรือผู้บริโภคอย่างไร และสิทธิของผู้โดยสารนั้นมีอย่างใดบ้าง และในตอนท้ายได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับมุมมองของสิ่งแวดล้อมและภาษี
อ.ดร.ลลิล ได้เริ่มต้นจากหัวข้อเรื่องสิทธิของผู้โดยสาร โดยได้ทำการแบ่งกฎหมายของไทยที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะเป็น 2 หัวข้อใหญ่ ๆ คือ หนึ่งกฎหมายเกี่ยวกับการรับขนทางอากาศ ได้แก่ อนุสัญญา Montreal (Montreal Convention 1999) ซึ่งประเทศไทยได้เป็นภาคีของอนุสัญญาดังกล่าวนี้ด้วย และ พ.ร.บ.รับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายอนุวัติการ ส่วนหัวข้อที่ 2 คือกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ได้แก่ประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มี EU Regulation 261/2004 เป็นต้นแบบ และกฎหมายอันเกี่ยวกับธุรกิจนำเที่ยวคือ ประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราจ่ายเงิน ค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ.2563 แต่ในการดำเนินการเสวนาครั้งนี้ อ.ดร.ลลิล จะไม่กล่าวถึงโดยมุ่งที่จะกล่าวเฉพาะการซื้อตั๋วเครื่องบินโดยไม่ผ่านทัวร์ (Travel Agent)
ถัดมาได้กล่าวถึงหลักการสำคัญของ พ.ร.บ.รับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ.2558 ซึ่งได้รับหลักการจาก อนุสัญญา Montreal โดยหลักของกฎหมายดังกล่าวคือ มุ่งที่จะคุ้มครองผู้โดยสารจากการที่เที่ยวบินล่าช้า ท่านอาจารย์ลลิลตั้งประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ Covid-19 ว่าในช่วงก่อนที่จะเกิดการจำกัดการเดินทางของผู้โดยสารได้ปรากฏผู้โดยสารกลุ่มหนึ่งมีการพักเปลี่ยนเที่ยวบินที่ญี่ปุ่น เมื่อรัฐมีมาตรการออกมาทำให้ผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เกิดประเด็นการตีความว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นกรณีเที่ยวบินถูกยกเลิกหรือกรณีเที่ยวบินเกิดการล่าช้า เพราะหากเป็นกรณีเที่ยวบินถูกยกเลิกผู้โดยสารจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นกรณีเที่ยวบินล่าช้าซึ่งสายการบินต้องรับผิด แต่ถึงอย่างไรกฎหมายก็ได้บัญญัติข้อยกเว้นว่าสายการบินไม่ต้องรับผิดในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัย หรือเหตุการณ์เหนือความคาดหมาย ซึ่งแนวคำพิพากษาที่ตัดสินมาโดยตลอดว่าเหตุขัดข้องเพราะการออกประกาศของรัฐนั้นเป็นเหตุสุดวิสัย ปัญหาที่เกิดขึ้นคือผู้โดยสารจะได้รับการคุ้มครองอย่างไร โดยได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญดังกล่าวว่าจำเป็นที่จะต้องไปพึ่งกฎหมายมหาชนแทน
อีกปัญหาที่น่าสนใจซี่งทาง อ.ดร.ลลิลได้ยกขึ้นมาคือ อนุสัญญา Montreal ได้มีการแก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2019 เพื่อแก้ไขเพดานความรับผิดของผู้ขนส่งจากเดิมที่ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดอย่างมากที่สุดคือ 4694 SDR เป็น 5346 SDR (1 SDR มีค่าประมาณ 42.5 บาท)
ในประเด็นของการที่เที่ยวบินถูกยกเลิก ซี่ง พ.ร.บ.รับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 ไม่ให้ความคุ้มครองนั้น สมาคมส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมหารือกับสายการบินต่าง ๆ ว่าจะหาทางออกปัญหาดังกล่าวอย่างไร โดยได้ใช้ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเป็นต้นแบบ ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศใช้กฎหมายที่มี EU เป็นแม่แบบ ได้มีการกล่าวถึงสิทธิของผู้โดยสารในกรณีเที่ยวบินถูกยกเลิก เที่ยวบินล่าช้า การปฏิเสธผู้โดยสาร โดยสิทธิที่ผู้โดยสารจะได้รับมีดังต่อไปนี้ สิทธิที่จะได้รับการดูแล (Right to Care) คือสิทธิที่จะรับค่าที่พัก อาหาร น้ำดื่ม สิทธิที่จะได้รับการคืนค่าตั๋วโดยสารหรือขอเปลี่ยนวันเดินทาง (Right to Reimbursement or Reroute) และสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหาย (Right to Compensation)
ในประเด็นการปรับใช้กับสถานการณ์ Covid-19 อ.ดร.ลลิลได้ยกกรณีตัวอย่างที่น่าจะปรับใช้กับกรณีดังกล่าวนี้ได้คือ คดี Denise McDonagh V. Ryanair Ltd. เป็นกรณีเที่ยวบินที่คุณ McDonagh จะต้องเดินทางกลับจากการท่องเที่ยวได้ถูกยกเลิกเพราะเหตุสุดวิสัย ซี่งตามกฎหมายสายการบินไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยแต่ยังมีหน้าที่จะต้องจ่ายค่าดูแลคุณ McDonagh แม้ว่าทางสายการบินจะพยายามสู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดในระดับทั่วไปส่งผลต่อทุกสายการบิน ผู้โดยสารทุกคนได้รับผลกระทบ หากยังให้สายการบินรับภาระดังกล่าวต่อไปธุรกิจอาจเสียหายหนัก แต่ดูเหมือนศาลสูงจะไม่เห็นด้วย สุดท้ายสายการบินต้องจ่ายค่าที่พัก ค่าอาหารและน้ำดื่มให้แก่คุณ McDonagh
ทางสหภาพยุโรปได้ร่างคู่มือการตีความสำหรับกรณี Covid-19 ขึ้น คือ Interpretative Guideline on EU Passenger rights regulations in the context of the developing situation with Covid-19 เพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยเป็นการยืนยันหลักการดังกล่าวในคดี Denise McDonagh V. Ryanair Ltd. ส่วนสหรัฐอเมริกามีกฎหมายคล้าย ๆ กัน กล่าวคือหากเที่ยวบินถูกยกเลิกโดยไม่มีความผิดของผู้โดยสารเข้าไปเกี่ยวข้องสายการบินต้องคืนเป็นเงินห้ามคืนเป็นบัตรสมนาคุณ แต่ในสถานการณ์ Covid-19 ได้มีการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ดังกล่าวลงโดยอนุญาตให้สามารถคืนเป็นบัตรสมนาคุณได้โดยทำตามระเบียบที่กำหนด
ส่วนกรณีของประเทศไทยซึ่งมีประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย พ.ศ.2553 โดยใช้กฎหมายของ EU เป็นแม่แบบในการร่างทำให้มีการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป แต่จำกัดเฉพาะเที่ยวบินภายในประเทศเพียงเท่านั้น เพราะหากเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศจะติดหลักเขตอำนาจเหนือดินแดนของประเทศอื่น ซึ่งในส่วนหน้าที่ให้ความดูแล (Right to Care) นั้นมีปัญหาเรื่องความชัดเจนว่ากรณีดังกล่าวสายการบินยังมีหน้าที่อยู่อีกหรือไม่ อ.ดร.ลลิลจึงได้เสนอให้มีการจัดทำคู่มือในการตีความเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป
ในประเด็นต่อมาได้กล่าวถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมว่าแม้จะเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ก็ยังมีความพยายามผลักดันให้รักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยถือโอกาสที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ทำการผลักดันไปในตัว
ท้ายที่สุด อ.ดร.ลลิลยังฝากประเด็นให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้คิด เช่น ในอนาคตขนาดของเครื่องบิน ความจุผู้โดยสาร หรือเส้นทางการบินจะเปลี่ยนไปหรือไม่ จะส่งผลต่ออัตราค่าโดยสารอย่างไร ภาษีน้ำมันส่งผลต่ออัตราค่าโดยสารโดยตรงดังนั้นจึงอยากเสนอให้มีการขยายระยะเวลาลดภาษีน้ำมันไปก่อน
คำถามจากการสัมมนา : สถานการณ์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร
ดร.จุฬา : ต่อจากนี้มาตรการจะยังคงดำเนินการต่อไป ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ อาจมีการออกประกาศฉบับใหม่มามากกว่า 20 ฉบับ เพราะแม้จะมีการออกมาตรการมาก็มีปัญหาเกิดขึ้นจากใช้มาตรการเสมอจึงจำเป็นจะต้องค่อย ๆ ไข
Mr. Louis : เป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก สถานการณ์ในทุกวันนี้ตัวแทนนำเที่ยวต่าง ๆ ที่เปิดมานาน 30 – 40 ปีก็ได้ปิดตัวไป มีบริษัทหน้าใหม่มาซื้อกิจการอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจการในอนาคต ส่วนธุรกิจสายการบินอาจจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่าย มีการลดขนาดกิจการลง มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เป็นรูปแบบธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งหลาย ๆ ภาคส่วนนั้นต้องปรับตามด้วย
อ.ดร.ลลิล : เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ การออกมาตรการต่าง ๆ อยากให้มีการรับฟังอย่างรอบด้าน มองในทุกแง่มุม เช่นการคุ้มครองผู้บริโภคมีข้อจำกัดคือความหลากหลายทางอายุ ข้อจำกัดทางเทคโนโลยี กลุ่มคนพิการ ความเท่าเทียมของสิทธิในการเดินทางต่าง ๆ จึงอยากฝากให้ผู้ที่รับฟังการเสวนาครั้งนี้ได้คิดต่อไป