สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ เรื่อง “กฎหมายว่าด้วยหน้าที่ของรัฐไทยกับสิทธิในความเป็นคนไทย กรณีอาชญากรรมการบังคับบุคคลให้สูญหายโดยรัฐ : ความเป็นไปได้หรือความหวังที่เลื่อนลอย” วันพุธที่ 24 มิถุนายน เวลา 13.00- 16.30 น. ทางระบบ Facebook Live ผ่าน Facebook Page คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
ผู้กล่าวเปิดงาน
- รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อาจารย์ยศสุดา หร่ายเจริญ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์ยศสุดา หร่ายเจริญ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายหัตถพงษ์ หิรัญรัตน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาคปกติ ศูนย์รังสิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์
รศ.ดร.มุนินทร์ ได้กล่าวเปิดงานด้วยการกล่าวถึงข้อสังเกตที่มาจากมุมของบุคคลภายนอกว่า งานเสวนาครั้งนี้จะเป็นการด่วนสรุปเกินไปหรือไม่ว่าเหตุการณ์ที่นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ถูกอุ้มหายไปนั้นมีเจ้าหน้าที่รัฐของไทยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมเสวนาในครั้งนี้ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากการจัดกิจกรรมทางวิชาการอื่น ๆ ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะคอยหยิบยกเอาเหตุการณ์ หรือประเด็นทางกฎหมายที่อยู่ในความสนใจของสังคมขึ้นมาพูดคุย และเชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญจากหลากหลายแห่งมาร่วมกันให้ความรู้แก่สังคมในประเด็นทางกฎหมาย และงานเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ก็มุ่งที่จะให้ความรู้ กับความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันแก่ประชาชนเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐ หรือเรื่องสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้เสียหายเป็นสำคัญ ส่วนใครจะเป็นมีความผิด หรือความถูกต้องก็คงเป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน
รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.ปกป้อง ได้กล่าวถึงประวัติ และสถานการณ์ในปัจจุบันสั้น ๆ ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ แล้วก็พาสำรวจสาระสำคัญภายในอนุสัญญาดังกล่าวที่จะประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ โดยก่อนจะกล่าวถึงรายละเอียดของแต่ละส่วน ก็ได้กล่าวถึงคำนิยามของคำว่า “การบังคับให้สูญหาย” ที่ปรากฏอยู่ในข้อ 2 ของอนุสัญญาข้างต้นที่ได้กำหนดว่า “การจับกุม คุมขัง ลักพาตัว หรือลิดรอนเสรีภาพรูปแบบหนึ่งที่กระทำโดยเจ้าพนักงานของรัฐ หรือบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่กระทำภายใต้อำนาจ การสนับสนุน การยอมรับของรัฐ รวมถึงการปฏิเสธ การไม่รับรู้การลิดรอนสิทธิเสรีภาพ หรือปกปิดชะตากรรม ทำให้ผู้เสียหายอยู่นอกการคุ้มครองของกฎหมาย” โดยคณะทำงาน (working group) ได้สรุปว่าการบังคับให้สูญหายประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ หนึ่ง จะต้องมีการพรากเสรีภาพโดยปราศจากความยินยอม สอง ต้องเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับการยอมรับจากรัฐ และสาม ต้องมีการปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำ หรือมีการปกปิดชะตากรรมของคนที่ถูกเอาตัวไป ด้วยเหตุนี้ กรณีที่เป็นการกระทำระหว่างบุคคลธรรมดากับบุคคลธรรมดา หรือกรณีที่พาไปโดยได้รับความยินยอมที่ถูกต้องจึงไม่นับเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายตามอนุสัญญาดังกล่าว
สาระสำคัญในส่วนแรกของอนุสัญญานี้ได้กล่าวถึงการกำหนดฐานความผิดของการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยข้อ 1 ก็ได้ยกระดับให้เรื่องการไม่ถูกบังคับให้สูญหายเป็นสิทธิที่ไม่อาจจะถูกพรากไปได้ ไม่ว่าจะในสถานการณ์พิเศษใด ๆ เฉกเช่นเดียวกับการทรมาน หรือการฆ่านอกกฎหมาย ข้อ 4 ก็จะเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ประเทศใด ๆ ที่เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต้องดำเนินการตามมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญาภายในรัฐของตน ทั้งนี้ ตามข้อวินิจฉัย (General Comment) ในย่อหน้าที่ 26 ก็ได้อธิบายต่อไปว่ารัฐภาคีต้องกำหนดฐานความผิดไว้ที่ใดก็ได้ เพียงแต่ต้องแยกออกจากความผิดต่อเสรีภาพ และฐานความผิดว่าด้วยการลักพาตัวทั่ว ๆ ไปอย่างชัดเจน เพราะการบังคับบุคคลให้สูญหายจะมีลักษณะที่มีความรุนแรงมากกว่า
รศ.ดร.ปกป้องกล่าวต่อไปว่าการบังคับบุคคลให้สูญหายจะเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศก็ต่อเมื่อเป็นการกระทำอย่างเป็นระบบ หรืออย่างกว้างขวางตามที่ปรากฏในข้อ 5 ของอนุสัญญาฉบับดังกล่าว นอกจากนั้น อนุสัญญาข้างต้นก็ยังได้กำหนดความผิดอีกฐานหนึ่งไว้ในข้อ 6 อันเป็นความรับผิดของผู้บังคับบัญชาที่รู้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาได้ไปกระทำ หรือจะไปกระทำให้บุคคลต้องสูญหาย หรือเพิกเฉยต่อรายงานที่เป็นทางการ อีกทั้งยังมีการกำหนดเหตุบรรเทาโทษไว้ในข้อ 7 ซึ่งได้แก่กรณีที่มีส่วนช่วยในการพบบุคคลที่สูญหายในสภาพที่มีชีวิตอยู่ หรือมีส่วนช่วยในการคลี่คลายคดี ในส่วนเรื่องของอายุความก็จะปรากฏอยู่ในข้อ 8 ที่ให้รัฐภาคีกำหนดไว้เป็นระยะเวลายาว และให้เหมาะสมกับการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เป็นความผิดรุนแรง โดยจะต้องคำนึงถึงการเป็นความผิดต่อเนื่องด้วย (หมายถึง ความผิดที่อายุความจะเริ่มนับก็ต่อเมื่อความผิดได้ยุติลง โดยกรณีนี้คือ วันปล่อยตัว หรือการทราบชะตากรรม) ส่วนข้อ 9 ก็จะกำหนดหน้าที่แก่รัฐภาคีให้กำหนดความผิดเหล่านี้เป็นความผิดภายในรัฐของตน และหากจำเป็น ก็ให้กำหนดเป็นเขตอำนาจสากลได้ (Universal Jurisdiction กล่าวคือ ความผิดที่จะเกิดขึ้นในดินแดนใด ๆ ก็สามารถรับผิดได้ภายใต้กรอบของกฎหมายในรัฐได้)
ในส่วนที่สองก็จะเป็นเรื่องการป้องกันไม่ให้มีการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งสามารถสรุปได้ว่า อนุสัญญาฉบับนี้มีความมุ่งหมายจะสร้างความโปร่งใสในการกุมขังตามกฎหมาย โดยการทำข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว ให้ญาติสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ มีการยืนยันการปล่อยตัว และมีการร้องขอต่อศาลขอให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวนั้นได้ อีกส่วนหนึ่งก็คือการฝึกอบรมเจ้าพนักงาน ในส่วนที่สามก็จะเป็นเรื่อง
การเยียวยาผู้เสียหายซึ่งจะกล่าวตั้งแต่นิยามของคำว่า “ผู้เสียหาย” ที่หมายถึง ผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย และหมายความรวมถึงบุคคลอื่นที่ทนทุกข์ทรมานโดยตรงจากการบังคับให้สูญหายด้วย รวมถึงญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดซึ่งน่าจะเทียบได้กับบุพการี ผู้สืบสันดาน และสามีภรรยา แล้วก็กล่าวไปถึงสิทธิต่าง ๆ ที่ควรจะได้รับอย่างสิทธิที่จะรู้ถึงความจริง สิทธิที่จะติดตามความคืบหน้าของผลการสอบสวน สิทธิที่จะทราบชะตากรรม สิทธิที่จะได้รับมาตรการที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมในการช่วยเหลือและคุ้มครอง
อาจารย์ยศสุดา หร่ายเจริญ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ยศสุดา เกริ่นนำเกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นในกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการได้รับความคุ้มครองของบุคคลธรรมดาตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะกล่าวถึงต่อไป โดยกล่าวถึงสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย (Peace of Westphalia) ที่วางหลักการให้แต่ละรัฐจะมีอำนาจอธิปไตยที่เสมอกันซึ่งส่งผลให้รัฐสามารถออกกฎหมาย และมีระบอบการปกครอง หรือนโยบายการต่างประเทศอย่างไรก็ได้โดยปราศจากการก้าวก่ายของรัฐอื่น สิ่งนี้ได้ทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นสิ่งที่ถูกหวงแหนที่สุดของรัฐ และก่อให้เกิดระบบกฎหมายระหว่างประเทศที่แต่ละรัฐล้วนมีสภาพบุคคลที่สุด โดยรัฐเหล่านี้ต่างมีความสามารถในทางกฎหมายระหว่างประเทศที่จะสร้างกฎหมายมาก่อหน้าที่ให้กับตนอย่างสนธิสัญญา จารีตประเพณีระหว่างประเทศ หลักทั่วไป หรือแม้กระทั่งกฎหมายบังคับเด็ดขาด (Jus Cogens) อันเป็นกฎหมายที่รัฐไม่สามารถตั้งข้อสงวนได้ เช่น การกระทำทรมาน ทาส เป็นต้น แล้วก็ยังมีสิทธิที่จะก่อตั้งบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างองค์การระหว่างประเทศตลอดจนถึงการนำข้อพิพาทระหว่างประเทศขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในทางกลับกัน ประชาชนธรรมดาจะมีสภาพบุคคลที่จำกัดมาก ๆ ในระบบกฎหมายระหว่างประเทศ นับตั้งแต่การไม่ไม่มีสิทธิที่จะสร้างกฎหมายในกฎหมายระหว่างประเทศได้ แต่จะต้องรอให้รัฐของตนมีการยินยอมเสียก่อน โดยเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมืองของรัฐทั้งสิ้น และหากเกิดข้อพิพาทกับรัฐก็ไม่สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้เลย นอกจากนี้ ด้วยธรรมชาติของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีลักษณะเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับประชาชนภายในรัฐยิ่งกว่าเรื่องระหว่างรัฐด้วยกันอันเป็นธรรมชาติทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงค่อนข้างไม่มีการกำหนดสิทธิ และหน้าที่ระหว่างรัฐด้วยกันอันส่งผลให้แต่ละรัฐไม่ต้องการก้าวก่ายอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่นในเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้รัฐอื่นแทรกแซงต่อการใช้อำนาจอธิปไตยของตนที่หวงแหนเฉกเช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้จึงสามารถนำไปสู่ข้อสรุปได้ว่าคนธรรมดาจะได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนค่อนข้างต่ำมากในทางกฎหมายระหว่างประเทศ
ประเด็นต่อมาคือ ข้อจำกัดของกลไกในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่จะประกอบด้วย 2 ประเด็น ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การที่สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศจะมีสภาพบังคับต่อรัฐภาคีนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐได้ให้ความยินยอมต่อสนธิสัญญาอีกฉบับหนึ่ง คือ พิธีสารเลือกรับอันเป็นสิ่งที่จะให้อำนาจแก่ประชาชนในการที่จะสามารถนำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการประจำสนธิสัญญาในเรื่องนั้น ๆ ได้ เมื่อกลับมาพิจารณาประเทศไทยที่ได้ให้ความยินยอมที่จะผูกพันตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นจำนวนถึง 7 ใน 9 ฉบับ (ได้แก่ 1. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม 3. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 4. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ 5. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ 6. อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และ 7. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ) ก็ได้พบว่าประเทศไทยกลับให้ความยินยอมที่จะผูกพันตามพิธีสารเลือกรับเพื่อให้สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมีสภาพบังคับเพียงแค่ 3 เรื่องเท่านั้น (ได้แก่ สนธิสัญญาที่ 3, 4 และ 7) โดยเรื่องนี้ก็มีความสำคัญกับการทำให้บุคคลสาบสูญ เพราะด้วยตัวของอาชญากรรมของมันเองก็ได้ละเมิดสิทธิเหล่านี้หลายข้อในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ประเทศไทยก็ได้ยินยอมจะผูกพันแล้ว แต่ประชาชนก็ไม่สามารถที่ร้องเรียนได้โดยตรง เพราะประเทศไทยไม่ได้ยินยอมที่จะผูกพันตามตราสารเลือกรับของสนธิสัญญาข้างต้น
ประเด็นที่สอง ด้วยธรรมชาติของระบบกฎหมายไทยที่จะนำกฎหมายระหว่างประเทศมาบังคับใช้ภายในไทยได้ก็ต่อเมื่อผ่านกระบวนการอนุวัติการมาเป็นกฎหมายภายในเสียก่อน โดยเรื่องนี้ก็จะเป็นปัญหาอย่างมากในกรณีที่มีปัญหาความล่าช้าในการตรากฎหมาย และก็เคยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในการพิจารณาคดีของศาลปกครองชั้นต้นซึ่งเคยได้วินิจฉัยว่า แม้ประเทศไทยจะให้สัตยาบันเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุเชื้อชาติทุกรูปแบบนับตั้งแต่ 2546 แต่เมื่อยังไม่มีกฎหมายอนุวัติการไว้ โจทก์จึงยังไม่สามารถอ้างการมีสิทธิตามสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวได้
คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม :
กล่าวถึงองค์กรที่มีความรับผิดชอบในเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่เป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้สังกัดของกระทรวงยุติธรรม แล้วกล่าวต่อไปถึงกระบวนการทำให้รัฐผูกพันตามสนธิสัญญาในประเทศที่ใช้ระบบทวินิยมอย่างสั้น ๆ
สำหรับสถานการณ์ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) ในประเทศไทย โดยประเทศไทยได้ผ่านกระบวนการลงนามเพื่อยอมรับหลักการของสนธิสัญญาดังกล่าวในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555 ภายหลังจากนั้นก็ได้ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการศึกษาความเหมาะสมของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีตามสนธิสัญญาดังกล่าว และได้มีการลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ยินยอมให้ฝ่ายบริหารทำการเข้าเป็นภาคีตามสนธิสัญญาข้างต้นในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560 แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศไทยจะต้องเตรียมกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศเสียก่อน โดยเรื่องนี้ก็เป็นผลจากบทเรียนของประเทศไทยกับการเข้าเป็นภาคีตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) ที่มีความพยายามปฏิบัติตามสนธิสัญญาดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยแรกเริ่มก็มีความเห็นว่าการเพิ่มฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญา และแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็คงเป็นที่เพียงพอ แต่ภายหลังจากการส่งรายงานของประเทศให้คณะกรรมการของสหประชาชาติได้พิจารณา ก็กลับถูกเสนอว่าการแก้ไขดังกล่าวอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร และควรจัดทำเป็นกฎหมายเฉพาะ ประเทศไทยจึงย้อนกลับมาพิจารณากันใหม่ในปี พ.ศ. 2557 และเมื่อ CED กับ CAT มีความเกี่ยวข้องกันในฐานะกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงทำให้มีความเห็นว่าควรนำสองเรื่องมาพิจารณาร่วมกัน และนำไปสู่การจัดทำร่างกฎหมายที่รวมสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน คือ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็ได้มีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในสนธิสัญญาข้างต้นให้กับหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนตลอดมา
ร่างกฎหมายดังกล่าวที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาจนแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบตามกระบวนการร่างกฎหมายนับตั้งแต่ร่างกฎหมายที่ถูกเสนอของหน่วยงานรัฐให้กับคณะรัฐมนตรีพิจารณา ร่างกฎหมายที่ได้รับการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และร่างกฎหมายที่ได้รับ
การพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติจนผ่านวาระรับหลักการแล้ว แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทันเวลา ภายหลังจากที่มีรัฐบาลใหม่แล้ว ก็ได้มีการยืนยันร่างกฎหมายนั้นให้รัฐสภาพิจารณา อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาการตีความทางกฎหมายว่าจะถือให้ร่างกฎหมายอยู่ในกระบวนการใดของรัฐสภา จึงต้องถอนเรื่องออกมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่ตั้งแต่ต้นในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563 และได้ผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ร่างกฎหมายข้างต้นจะประกอบด้วย5 หมวด 31 มาตรา โดยส่วนอารัมภบทก็จะกล่าวถึงคำนิยามต่าง ๆ และให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินั้น หมวด 1 จะกำหนดให้มีความผิดตามสนธิสัญญา และกำหนดขอบเขตผู้เสียหายที่สามารถฟ้องคดีได้ ในหมวด 2 ก็จะกล่าวถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่มีอำนาจหน้าที่ในเชิงนโยบายเพื่อวางแผนเกี่ยวกับการป้องกันและการเยียวยาการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ส่วนหมวด 3 จะวางมาตรการป้องกันการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายนับตั้งแต่การกำหนดให้ทุกหน่วยงานที่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพต้องจัดทำบันทึกข้อมูลของผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ โดยเฉพาะการตรวจสอบร่างกายของผู้ถูกจำกัดสิทธิทั้งก่อน และหลังการจำกัดสิทธิเสรีภาพ กำหนดเกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูลของผู้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพให้ญาติ ทนายความ และสถานทูตทราบ และกำหนดให้มีมาตรการระงับการทรมานและเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น หมวด 4 ก็ว่าด้วยเรื่องการดำเนินคดีโดยกำหนดให้คดีตามกฎหมายฉบับนี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษแห่งราชอาณาจักรไทย (Department of Special Investigation: DSI) เป็นผู้มีอำนาจสอบสวนหลัก แต่กรณีที่เป็นผู้ต้องหาเสียเองก็จะให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ดูแลการสอบสวนแทน และให้คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ หมวด 5 ซึ่งเป็นหมวดสุดท้ายก็จะว่าด้วยบทลงโทษ เหตุเพิ่มโทษ และเหตุบรรเทาโทษตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา
สุดท้าย คุณนรีลักษณ์ได้กล่าวถึงมาตรการชั่วคราวของประเทศไทยที่มีการจัดไว้ในระหว่างที่ยังไม่มีการตรากฎหมายดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งประกอบด้วยคณะอนุกรรมการ 4 คณะเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างครบวงจรไปพลางก่อน และได้อธิบายถึงกระบวนการจัดการเรื่องร้องทุกข์ในภาพรวมตั้งแต่การร้องทุกข์ การคัดกรองเรื่องทุกข์ การติดตามตรวจสอบเรื่องร้องทุกข์ กระบวนการเยียวยา ไปจนถึงกระบวนการจัดทำมาตรการป้องกัน และก็จบด้วยการกล่าวสถานการณ์การบังคับบุคคลให้สูญหายของประเทศไทยตามบัญชีของสหประชาชาติที่เคยมีอยู่ 87 กรณี แต่คณะกรรมการก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนสามารถถอนเรื่องออกไป 12 กรณี และกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสหประชาชาติ 60 กรณี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.รณกรณ์ กล่าวถึงแง่มุมที่น่าสนใจของสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่เกิดจากคณะกรรมการว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (Committee on Enforced Disappearances: CED) เริ่มต้นจากประเด็นในข้อ 1 ของอนุสัญญาที่ไม่ให้อ้างเหตุใด ๆ มาเป็นฐานทางกฎหมายที่จะอนุญาตให้มีการบังคับบุคคลให้สูญหายนั้น แต่ตามรายงานของรัฐภาคีทั้งหลายกลับไม่มีรัฐใดที่บัญญัติเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนเลย แต่เรื่องนี้ก็เป็นที่ทราบดีว่าการไม่บัญญัติให้ชัดเจนก็ไม่ได้หมายความว่าจะอ้างเรื่องใด ๆ มาเป็นฐานให้มีความชอบด้วยกฎหมายได้ โดยเฉพาะเมื่อทำการศึกษาบทเรียนในอดีตผ่านคดี Gäfgen v Germany อันเกี่ยวข้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ศาลในแฟรงเฟิร์ตก็เคยตัดสินแล้วว่าต่อให้ไม่มีการบัญญัติเรื่องนี้ให้ชัดเจน แต่การกระทำทรมานจะอ้างความจำเป็นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุให้กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเหตุยกเว้นโทษก็ตาม แต่ประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส โปรตุเกส หรือญี่ปุ่นล้วนถูกคณะกรรมการว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่ปรากฏบทบัญญัติตามกฎหมายภายในที่กล่าวอย่างชัดเจน
ทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ (CED) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ต่างไม่ได้บัญญัติเลยว่าจะต้องมีกฎหมายเฉพาะ เพียงแต่ให้มีความผิดอาญาที่มีโทษรุนแรงอย่างเหมาะสมเท่านั้น แต่ความเข้าใจดังกล่าวเกิดจากความพยายามต่อรองของคณะกรรมการประจำสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศผ่านการให้ความเห็นใน Concluding Conservation หรือ General Recommendation ซึ่งเป็นเพียงแค่คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับความยอมรับจากทั่วโลกเท่านั้น ไม่ได้มีผลผูกพันรัฐภาคีอย่างสนธิสัญญาต่าง ๆ แต่อย่างใด และการให้คำแนะนำดังกล่าวก็นำมาใช้เป็นการทั่วไปโดยปราศจากการแยกแยะสาระสำคัญที่ต่างกัน โดยเรื่องนี้ก็เกิดจากประเทศญี่ปุ่นที่กำหนดระวางโทษของความผิดการบังคับบุคคลให้สูญหายอยู่ที่ 3 เดือนจนถึงจำคุกตลอดชีวิตซึ่งคณะกรรมการว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) เห็นว่ากฎหมายยังไม่เหมาะสม ในทางกลับกัน กฎหมายของประเทศไทยนั้นได้กำหนดระวางโทษของความผิดเหล่านี้ไว้ค่อนข้างรุนแรงอยู่แล้ว และก็ยังปรากฏปัญหานี้ในเรื่องอายุความตามอนุสัญญาที่คณะกรรมการก็พยายามต่อรองให้เป็นความผิดที่ไม่มีอายุความด้วย นอกจากนี้ ปัญหาดังกล่าวก็ยังปรากฏในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child: CRC) ที่คณะกรรมการของอนุสัญญาดังกล่าวก็กำหนดให้อายุของเด็กขยับไปอยู่ที่ 12 ปี ทั้ง ๆ ที่อนุสัญญาข้างต้นก็ไม่ได้กำหนด หากจะให้ความเห็นของตนที่มีต่อกระบวนการตระเตรียมการปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ (CED) ผศ.ดร.รณกรณ์เห็นว่ากระทรวงยุติธรรมทำงานมาพอสมควรเลยเพื่อดำเนินงานดังกล่าว เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่าส่วนหนึ่งของปัญหาก็มาจากคณะกรรมการประจำอนุสัญญาที่คงไม่มีประเทศใดดีพอในสายตาของพวกเขา
ต่อมาได้กล่าวถึงแง่มุมที่ควรให้ความสนใจในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ (CED) นับตั้งแต่คำนิยามของคำว่า “อุ้มหาย” ที่ปรากฏคำว่า “รู้เห็นเป็นใจ” ซึ่งนับเป็นปัญหาในทางกฎหมายอาญา เพราะว่าเป็นคำที่มีความหมายกว้างกว่าตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน เรื่องนี้จึงทำให้เกิดความกังวลต่อร่างกฎหมายว่าจะครอบคลุมถึงคำดังกล่าวหรือไม่ แต่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายกว้างให้เหมือนกับคำในอนุสัญญา หรือหากจะขยายกว้างก็ควรให้กว้างกว่าผู้ช่วยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในแง่การใช้คำในบทบัญญัติที่ให้การบังคับบุคคลให้สูญหายจะเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติก็ต่อเมื่อเป็นการกระทำอย่างกว้างขวาง หรือเป็นระบบ (Wide Spared or Systematic) ตามข้อ 5 แต่เป็นความเข้าใจร่วมกันอยู่แล้วว่า “หรือ” แท้จริงเป็นคำว่า “และ” ต่างหาก นอกจากนี้ ผศ.ดร.รณกรณ์ยังให้ข้อสังเกตว่าความผิดว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ต้องเป็นการพาตัวไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ตามอนุสัญญานี้ได้เรียกร้องไปถึงการเอาตัวไปเพียงชั่วคราว และไม่ได้เป็นระยะเวลายาวนาน เพราะฉะนั้นจึงต้องตระหนักอยู่เสมอว่าการจัดทำกฎหมายในครั้งนี้จะต้องมีมาตรฐานที่สูงกว่าธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาที่แยกออกต่างหากจากความรับผิดของการบังคับบุคคลอื่นให้สูญหายตามอนุสัญญานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีในสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างอื่น ๆ โดยเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่รับความคิดจากธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ
ประเด็นที่ไม่ควรละทิ้งในการพิจารณาคือ ตามคำนิยามในข้อ 2 ที่ปรากฏวลีว่า “ทำให้บุคคลนั้นอยู่นอกการคุ้มครองของกฎหมาย” (which place such a person outside the protection of the law) (ที่หมายความว่าการทำให้บุคคลไม่สามารถขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการคุมขังตน (Habeas Corpus) อย่างที่กำหนดไว้ในมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้) ต้องทำความเข้าใจว่าวลีดังกล่าวไม่ใช่เจตนาพิเศษ เพราะเป็นบทเรียนจากธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศที่เคยกำหนดให้เป็นเจตนาพิเศษ และให้ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาเป็น Criminal Enterprise Liability หรือ Spill Liability ซึ่งจะก่อให้เกิดความรับผิดได้ก็ต่อเมื่อมีการพิสูจน์ได้เสียก่อนว่าผู้ใต้บังคับบัญชามีความรับผิด แต่ในความเป็นจริงก็คือ ผู้ใต้บังคับบัญชามักจะไม่ทราบถึงความประสงค์ที่แท้จริงของคำสั่งที่ให้บุคคลสูญหายไปชั่วคราว หรือน้อยครั้งมาก ๆ ที่จะพิสูจน์เจตนาพิเศษของผู้ใต้บังคับบัญชาได้ จึงทำให้ไม่สามารถเอาผิดกับผู้บังคับบัญชาที่เป็นผู้กระทำการที่แท้จริงได้เลย เพราะฉะนั้นวลีข้างต้นตามอนุสัญญานี้จึงเป็นเงื่อนไขในการลงโทษทางภาวะวิสัยเท่านั้น แต่ผศ.ดร.รณกรณ์มองว่าเป็นเรื่องที่ดีในการเอาวลีดังกล่าวออกจากร่างกฎหมายตามที่ตนได้เห็นในครั้งล่าสุด ด้วยเหตุที่จะก่อให้เกิดปัญหาการตีความนับตั้งแต่การครอบคลุมกรณีคุ้มครองพยาน และการตีความว่าเป็นเงื่อนไขในการลงโทษทางภาวะวิสัย หรือเจตนาพิเศษ
ในช่วงท้าย ผศ.ดร.รณกรณ์ได้ตั้งข้อสังเกตต่อการยุติการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้ง ๆ ที่เคยอาศัยเหตุที่ต้องพิจารณากฎหมายสำคัญซึ่งรวมถึงร่างกฎหมายนี้ด้วยเป็นฐานในการปฏิบัติงานอยู่ต่อไป นอกจากนี้ก็ยังกล่าวไปถึงประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรป โดยเฉพาะสวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน และอิตาลีที่ยังคงยืนยันว่ากฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอแล้ว และกฎหมายที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) คือกฎหมายของประเทศสโลวาเกียที่ใช้วิธีคัดลอกอนุสัญญามาเป็นกฎหมายโดยปราศจากการปรับให้เข้ากับระบบกฎหมาย และก็ได้ปิดท้ายด้วยการกล่าวถึงประเทศกัมพูชาที่นับเป็นโมเดลที่ดีว่าการเข้าร่วมกับสนธิสัญญาทั้งหลาย ไม่ได้หมายความว่าอาชญากรรมจะลดลง แต่ในทางกลับกัน ตนเห็นว่าความรับผิดชอบที่เกิดจากจิตสำนึกของเจ้าพนักงานที่มีต่อการกระทำในองค์กรของรัฐ (Accountability) เป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่มากกว่าการที่แก้ไขเพียงกฎหมายลายลักษณ์อักษรเท่านั้น โดยมองว่าการที่ศาลฎีกาตัดสินลงโทษพลตำรวจตรีรณพงษ์ ทรายแก้วที่กระทำการทรมานให้จำคุกถึง 15 ปีเป็นสัญญาณที่ดีมากต่อเรื่องนี้ และชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยจะยังยืนหยัดต่อหลักการอยู่
คำถามสำหรับผู้เข้าร่วมการเสวนา
คำถาม : แนวโน้มของร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งเห็นชอบไปจะมีโอกาสผ่านรัฐสภามากน้อยเพียงใด
คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ : มองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก และสิ่งที่เห็นได้ชัดก็คงเป็นเพียงระยะเวลาในกระบวนการตรากฎหมายที่ใช้เวลายาวนาน แต่ท้ายที่สุด กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพก็จะคอยผลักดันให้กฎหมายเหล่านี้เกิดขึ้นให้ได้
คำถาม : สมมติว่าเมื่อกฎหมายนี้ออกมาแล้ว จะมีมาตรการป้องกัน หรือการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่
คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ : เห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการบังคับใช้อย่างเต็มที่อยู่แล้วในฐานะกฎหมายที่มีโทษทางอาญา อีกทั้งยังมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายที่จะคอยดูแลการบังคับใช้ และยังมีองค์กรของรัฐอื่น ๆ อย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาร่วมกันดูแลประสิทธิภาพการบังคับใช้ของกฎหมายด้วย
คำถาม : หมายความว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งมาดูแลเป็นการเฉพาะเลยหรือไม่
คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ : มีความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นไปตามแนวความคิดในปัจจุบันที่ต้องการลดขนาดของรัฐ และใช้กลไกที่มีอยู่เดิมเพื่อประหยัดทรัพยากรภายในรัฐ
คำถาม : วิธีใดบ้างที่จะช่วยทำให้สังคมตระหนักในเรื่องการอุ้มหาย
คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ : เห็นว่าปัจจุบันก็เริ่มมีความตระหนักในเรื่องนี้อย่างแพร่หลายแล้วจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการแพร่หลายของข้อมูลในโซเชียลมีเดีย และทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพก็มีความพยายามในการประชาสัมพันธ์ในอีกทิศทางหนึ่งโดยจะเห็นได้จากแอนิเมชั่นภายในคลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่อยู่เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ง่ายขึ้น แต่ในเวลาเดียว ทางหน่วยงานก็มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายในฐานะผู้ถูกเพ่งเล็งจากร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
คำถาม : วิทยากรมีข้อมูลหรือไม่ว่าในประเทศไทยยังมีกรณีการอุ้มหายอยู่อีกบ้างหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และหากในอนาคตเกิดกรณีอุ้มหายในประเทศไทยอีก จะเป็นอุปสรรคในการเข้าร่วมในอนุสัญญาหรือไม่
คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ : เห็นว่าคงสามารถอาศัยข้อมูลจากบัญชีรายชื่อที่จัดขึ้นโดยสหประชาชาติที่ปรากฏให้เห็นถึง 87 กรณี โดยมีการถอนออกไปแล้ว 12 กรณี อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสหประชาชาติ 60 กรณี และอยู่ในระหว่างการติดตามของประเทศไทย 8 กรณี โดยไม่ได้กล่าวแต่อย่างใดว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคในการเข้าร่วมในอนุสัญญา
คำถาม : อยากให้วิทยากรมองในเรื่องของข้อดี หรือประโยชน์ของการมีกฎหมายว่าด้วยอุ้มหายว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ : ผลกระทบในแง่ดีก็จะประกอบด้วยเรื่องเชิงนโยบายที่เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนของประชาชน ในเชิงการเมืองระหว่างประเทศก็จะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย และสะท้อนความตั้งใจจริงของประเทศซึ่งอาจจะทำให้เกิดการยอมรับต่อประเทศไทยว่าเราจริงใจจะแก้ปัญหานี้ ในเชิงสังคม ประชาชนก็จะมีหลักประกันในความปลอดภัยมากขึ้น และคาดว่าประชาชนจะมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมที่มากขึ้น อีกทั้งยังมั่นใจได้ว่าเราจะไม่ถูกรังแก หรือหากเกิดขึ้น ก็จะมีช่องทางในการดำเนินคดีในเชิงกระบวนการยุติธรรม ก็จะเป็นการสร้างหลักประกันในเรื่องการยกเว้นโทษบุคคล โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในฐานะเหนือกว่าไม่ให้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอีกต่อไป และส่งเสริมให้ประชาชนมีทัศนคติที่ดีต่อกระบวนการยุติธรรม ทั้งหมดทั้งปวงก็ส่งผลต่อเรื่องเศรษฐกิจด้วยว่าคนก็จะมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นในเรื่องความปลอดภัยตลอดจนถึงการที่นักธุรกิจอาจมีความสนใจเข้ามาลงทุนอันเป็นผลประโยชน์โดยอ้อม ทั้งนี้ รศ. ดร. ปกปอง ศรีสนิท ก็มีความเห็นด้วยในเรื่องนี้
ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี : เห็นว่าในข้อเสียทั้งหลายที่ไม่ได้มีมากนัก สิ่งที่อาจนับเป็นข้อเสียคือ รัฐต้องมีความจริงจังในการสนับสนุนทรัพยากรด้านการค้นหาความจริงให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะการบังคับบุคคลให้สูญหายมีอยู่บ้างที่เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง แต่ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น และอยู่ในความกังวลของสหประชาชาติคือ การลักพาตัวบุคคล และนำไปทรมานเพื่อค้นหาข้อมูลจนอาจเกิดการเสียชีวิต และต้องทำให้สูญหายไปในที่สุด โดยเห็นว่าเมื่อจะให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแล้ว ก็จะต้องตระเตรียมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เท่าเดิมด้วย เพื่อไม่ให้ความปลอดภัยของประชาชนด้วยกันเองถูกละเลย ทั้งนี้ คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ก็ได้เสริมด้วยว่าร่างกฎหมายฉบับนี้อาจกลายเป็นช่องทางในการกลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ โดย ผศ. ดร. รณกรณ์ ก็เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว และได้ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ควรให้ความสำคัญจริง ๆ คือการป้องกันมากกว่าการลงโทษทางอาญาซึ่งจะทำให้เกิดหลักฐานในการปฏิบัติงาน และหลักประกันในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเอง โดยเฉพาะการให้เจ้าหน้าที่ติดกล้องในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ และกำลังมีเพิ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา
คำถาม : ถ้าได้ตัวผู้กระทำความผิดมาแล้ว แต่ไม่สามารถขยายผลได้ด้วยอุปสรรคต่าง ๆ จะทำให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ลดลงไปด้วยหรือไม่
ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี : กล่าวว่าการตั้งคำถามในลักษณะเช่นนี้ยังคงอยู่ในรูปแบบความคิดที่แบ่งแยกคนดีอย่างพวกเรากับคนชั่วอย่างพวกเขา เพราะเมื่อคิดในลักษณะนี้ก็ย่อมทำให้การคุ้มครองตามกฎหมายมีลักษณะเป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองคนดี ทั้งนี้ ควรพิจารณาว่าการออกกฎหมายคุ้มครองบุคคลจากการทรมาน หรือทำให้สาบสูญตั้งอยู่บนฐานคิดว่าทุกคนล้วนสามารถเป็นวัตถุใน
การกระทำความผิดนั้นทั้งสิ้น การทำให้การทรมาน และการอุ้มหายไม่ให้มีพื้นที่ยืนอยู่ในระบบกระบวนการยุติธรรมตลอดจนถึงระบบทั้งหลายของสังคมจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่า เพราะการกระทำเหล่านั้นล้วนเป็นอาชญากรรมที่เลวร้ายถึงขนาดทำลายตัวตนยิ่งกว่าการฆ่าผู้อื่น และเห็นว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วต่างก็มีมาตรการในการเข้าถึงความจริงที่ไม่ใช่การทรมาน และการบังคับให้สูญหายอย่างการติดกล้องวงจรปิดทั่วพื้นที่สาธารณะซึ่งเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ โดยแม้ว่าจะกระทบสิทธิในความเป็นส่วนตัวไปบ้าง ก็เห็นว่ามีประสิทธิภาพ และเคารพสิทธิมนุษยชนมากกว่าการทรมาน หรือการอุ้มหาย และแม้ว่าความมั่นคง หรือความปลอดภัยของสังคมจะลดน้อยลง ก็เป็นราคาที่ตนยอมจ่ายเพื่ออยู่ในสังคมที่ปราศจากสิ่งเหล่านั้น
อาจารย์ยศสุดา หร่ายเจริญ : เห็นว่าการมีกฎหมายที่คุ้มครองความปลอดภัยของบุคคลจะช่วยสร้างความมั่นใจในการทำงานของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสนอสิ่งซึ่งขัดแย้งกับกลุ่มผลประโยชน์ซึ่งรัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง และยังอาจช่วยลดความหวาดกลัวของคนในสังคมจนมีความกล้าที่จะนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผยสู่สังคมให้เกิดการสืบเสาะ และตรวจสอบข้อเท็จจริงเหล่านั้น เพราะกฎหมายนี้จะทำให้เกิดหน้าที่อย่างชัดเจนแก่รัฐที่จะต้องเคารพ และไม่สามารถปฏิเสธการเอาผิดกับผู้ที่ก่อให้เกิดการบังคับให้สูญหายได้ ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงที่กล่าวถึงไม่ได้หมายความเฉพาะเรื่องที่นำไปสู่การสาบสูญในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง และนำไปสู่การสาบสูญของบุคคลทั้งหลายอย่างพฤษภาทมิฬอีกด้วย โดยสิ่งเหล่านี้จะทำให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดลดน้อยลง ทั้งนี้ ผศ. ดร. รณกรณ์ เห็นด้วยกับอาจารย์ยศสุดาว่าความรับผิดชอบจากจิตสำนึกอันเกิดจากความมั่นคงในหลักประกันทางกฎหมายที่คอยลงโทษผู้กระทำผิดเป็นสิ่งสำคัญมาก มิฉะนั้น กรณีที่มีความผิดอย่างชัดแจ้งแล้ว แต่ยังไม่ถูกลงโทษ ก็จะนำไปสู่การส่งเสริมให้ผู้คนกล้าจะกระทำความผิดไปในที่สุด
อาจารย์ยศสุดายังกล่าวต่อไปถึงผลการพิจารณาของคณะทำงานของสหประชาชาติในปีค.ศ. 1992 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 โดยตามรายงานที่ประเทศไทยที่ได้ส่งมาชี้แจงกล่าวว่ามีผู้สูญหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวน 200 กว่าคน แต่ตามรายงานขององค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ (NGO) กลับปรากฎว่ามีจำนวนผู้สูญหายมากกว่า 700 คน ความไม่แน่นอนในข้อมูลเช่นนี้ เห็นว่าเมื่อมีการตราร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ให้มีผลบังคับใช้แล้ว ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว และเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ทั้งหลายก็คงปรากฏสู่สังคมได้บ้างว่าเคยเกิดอะไรขึ้น มิฉะนั้นประเทศไทยก็ยังคงวนไปตามวงจรอุบาทว์ และเดินไปตามวัฏจักรซึ่งจะถลำลึกลงไปเรื่อย ๆ จนสังคมจะไม่มีความมั่นคงทั้งในเรื่องทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองตามที่คณะทำงานของสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1998 ได้พิจารณาไว้ไปในที่สุด
ในช่วงท้าย อาจารย์ยศสุดาในฐานะผู้ดำเนินรายการก็ได้กล่าวขอบคุณวิทยากรที่ร่วมเสวนา และหวังว่างานเสวนานี้จะมีประโยชน์กับประชาชนทุกคน โดยอย่างน้อยที่สุด ก็ขอให้เป็นสิ่งที่ช่วยสร้าง ความตระหนักรู้ต่อความร้ายแรงของอาชญากรรมนี้ ตลอดจนถึงความเคลื่อนไหวของรัฐไทยใน การคุ้มครองประชาชนจากอาชญากรรมดังกล่าว