สรุปสาระสำคัญจากสัมมนาวิชาการ เรื่อง “การพิจารณาคดีแบบระบบไต่สวน : หลักการและทางปฏิบัติที่เป็นอยู่” ซึ่งจัดโดยศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาลัยวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันจันทร์ ที่ 16 มีนาคม 2563 เวลา 08.30-12.30 น. ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาลัยวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
วิทยากร
- ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาลัยวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วรรณชัย บุญบำรุง กรรมการกฤษฎีกา
- ดร.ประสาท พงษ์สุวรรณ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
- นายธวัช ดำสอาด Partner สำนักงานกฎหมาย Tilleke & Gibbins
ผู้ดำเนินรายการ
- รองศาสตราจารย์ อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายวัฒนกร อุทัยวิวัฒน์กุล นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
รองศาตราจารย์ อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาลัยวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
กล่าวเปิดงานว่า ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ระบบกฎหมายไทยได้มีการพูดถึงระบบไต่สวนและนำแนวคิดนี้มาใช้ในทางปฏิบัติมากขึ้น โดยระบบไต่สวนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีแรก ระบบไต่สวนที่ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งพบว่ามี 8 ประเภท ได้แก่ (1) คดีในทางปกครองตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ และระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ ข้อ 5 (2) คดีในศาลรัฐธรรมนูญตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (3) คดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (4) คดีเรื่องการฝ่าฝืนมาตราฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง (5) คดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (6) คดีค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ (7) คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และ (8) คดีคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนกรณีที่สอง ระบบไต่สวนที่เกิดจากคำอธิบาย หมายความว่า ในวิธีพิจารณาความตามกฎหมายนั้น ๆ ใช้ระบบการไต่สวนที่เป็นที่รู้จักกันในทางทฤษฎี เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้กล่าวว่าต้องใช้ระบบไต่สวนโดยตรง แต่มีคำอธิบายว่าเป็นระบบไต่สวน
ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาลัยวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
กล่าวถึงระบบวิธีพิจารณา 4 ประเด็น คือ
ประเด็นแรก เรื่องที่มาของวิธีพิจารณาคดีแบบระบบไต่สวน ในอดีตมีการใช้ระบบวิธีพิจารณาความแบบทั่วไป คือ การหาคนกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียในคดีหรือบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือมาทำหน้าที่ตัดสินข้อพิพาท เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้งสามฝ่าย ได้แก่ คู่กรณีฝ่ายหนึ่ง คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง และคนกลางที่ตัดสินข้อพิพาท ต่อมาเกิดการพัฒนาเป็นระบบกล่าวหาแบบดั้งเดิมที่คู่กรณีจะเป็นผู้หาข้อมูลมาดำเนินการในศาล คู่กรณีฝ่ายใดที่ทำตามกติกาและโน้มน้าวให้ศาลเข้าใจข้อเท็จจริงได้มาก คู่กรณีฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ชนะคดี อย่างไรก็ดีเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป สังคมต้องการการตัดสินที่เน้นความจริงแท้โดยเฉพาะการตัดสินในคดีอาญาที่เป็นการลงโทษผู้กระทำความผิดและไม่ปล่อยให้ผู้กระทำความผิดลอยนวลอยู่ในสังคม ระบบวิธีพิจารณาความจึงถูกพัฒนามาให้ใช้วิธีพิจารณาความแบบระบบไต่สวน ซึ่งในปัจจุบันระบบไต่สวนจะต้องเปิดโอกาสให้สาธาณชนเห็นถึงพยานหลักฐานต่าง ๆ และต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีทราบถึงประเด็นที่จะใช้พิจารณาอย่างละเอียด เพื่อให้คู่กรณีแต่ละฝ่ายสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ระบบไต่สวนจึงไม่ใช่ระบบที่ตัดสินตามความต้องการของศาล เพราะหากศาลเป็นผู้ตัดสินอยู่ฝ่ายเดียว โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ทราบรายละเอียดหรือข้อมูลใด ๆ เลย ก็จะเป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม
ประเด็นที่สอง เรื่องสาระสำคัญของการพิจารณาคดีแบบระบบไต่สวน มี 3 หัวข้อ คือ
หัวข้อที่หนึ่ง วิธีพิจารณาความเป็นเรื่องการจัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่อยู่ในคดี โดยเฉพาะศาลกับคู่กรณีที่ต้องทราบว่าตนมีอำนาจและหน้าที่อะไรบ้าง ซึ่งในระบบไต่สวน ศาลเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการใช้ดุลพินิจเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง และการใช้ดุลพินิจของศาลต้องใช้อย่างเป็นธรรมไม่ลำเอียงเพื่อประโยชน์ของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนคู่กรณีนั้นมีหน้าที่เสมือนเป็นผู้ช่วยให้ศาลสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงได้ เช่น คู่กรณีต้องนำเสนอเฉพาะพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดี หรือการเขียนคำฟ้องต้องเขียนให้ชัดเจนเพราะคำฟ้องนี้จะเป็นกรอบในการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาล เป็นต้น
หัวข้อที่สอง ศาลต้องมีดุลพินิจอย่างกว้างขวางและใช้ดุลพินิจเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ เช่น การสืบพยานเพิ่มเติม การร้องขอในกรณีที่ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลอาจใช้ดุลพินิจพิจารณาหลักฐานตามคำร้องขอเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ของสาธารณะ เป็นต้น
หัวข้อที่สาม สมัยก่อนระบบไต่สวนแบบดั้งเดิมจะมีลักษณะ คือ (1) ใช้การพิจารณาแบบลายลักษณ์อักษรเป็นหลัก ส่วนการพิจารณาแบบวาจาจะมีหรือไม่ก็ได้ ไม่ใช่สาระสำคัญ (2) ศาลต้องปิดรับไม่ให้คู่กรณีทราบขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาล เพื่อให้ศาลสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงได้ง่ายขึ้น และ (3) ระบบพิจารณาที่ไม่ต้องการการเผชิญหน้า ซึ่งระบบไต่สวนในปัจจุบันจะพบลักษณะดังกล่าวเพียงแค่ข้อ (1) เท่านั้น ส่วนข้อ (2) และ (3) จะไม่พบอีกแล้วเพราะระบบไต่สวนในปัจจุบันศาลต้องพิจารณาแบบเปิดเผย
ประเด็นที่สาม เรื่องการส่งผลกระทบของระบบไต่สวน มี 2 กรณีใหญ่ ๆ ได้แก่ กรณีแรก คดีที่ต้องใช้ระบบไต่สวน สะท้อนให้เห็นว่าเป็นคดีที่สังคมต้องการความจริงแท้ โดยไม่สนใจผลประโยชน์ของคู่ความที่เป็นเอกชนแต่ละฝ่าย และกรณีที่สอง การที่ระบบไต่สวนให้ผู้พิพากษามีดุลพินิจในการแสวงหาข้อเท็จจริงอาจส่งผลเสียต่อการพิจารณาคดีได้ หากผู้พิพากษามีอคติหรือไม่มีคุณธรรม ขาดความสามารถในการแสวงหาพยานหลักฐาน ก็จะทำให้คดีถูกตัดสินอย่างไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมได้ เรื่องนี้กล่าวได้ว่าเป็นจุดอ่อนของวิธีพิจารณาความแบบระบบไต่สวน
และสุดท้าย ประเด็นที่สี่ เรื่องข้อเสนอแนะ (กล่าวในช่วงต่อไป)
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วรรณชัย บุญบำรุง กรรมการกฤษฎีกา (วิทยากร) :
กล่าวว่า การจะหาคำจำกัดความของระบบกล่าวหากับระบบไต่สวน จะต้องพิจารณาถึงบทบาทของศาลและบทบาทของคู่ความว่าฝ่ายใดมีบทบาทมากน้อยอย่างไรในการดำเนินกระบวนพิจารณา กล่าวคือ หากศาลมีบทบาทเชิงรุกมากกว่าคู่ความ ก็จะเป็นระบบไต่สวน และในทางตรงกันข้ามหากศาลมีบทบาทเชิงรับให้คู่ความมีบทบาทมากกว่า ก็จะเป็นระบบกล่าวหา โดยระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนมีแนวความคิดและทฤษฎีที่ความเกี่ยวข้อง คือ (1) เรื่องนิติปรัชญาที่ผู้พิพากษาหรือตุลาการต้องใช้ดุลพินิจหรืออำนาจอย่างเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของคู่ความแต่ละฝ่าย (2) เรื่องนิติธรรมที่รัฐต้องใช้อำนาจภายใต้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ซึ่งต้องพิจารณาว่าคดีแบบใดควรใช้ระบบแบบไหนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณีแต่ละฝ่ายมากที่สุด (3) เรื่องธรรมมาภิบาลที่รัฐต้องพิจารณาว่าระบบกล่าวหาหรือระบบไต่สวน ระบบใดจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าและความมีประสิทธิภาพในการพิจารณาคดีมากที่สุด และ (4) เรื่องสิทธิมนุษยชนที่รัฐจะต้องให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของรัฐได้ง่าย เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาค
ต่อมา ศ.(พิเศษ) ดร.วรรณชัย ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการของระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนในกลุ่มประเทศ Common Law และกลุ่มของประเทศ Civil Law ซึ่งแต่ละระบบก็แปรเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองตามแต่ละยุคสมัย ดังนี้
ในช่วงศตวรรษที่ 18 – 19 เป็นยุคที่ประชาชนเริ่มเข้าใจถึงการมีสิทธิและเสรีภาพของตนเองและประชาชนตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนมากกว่าในอดีต ทำให้ในยุคนี้ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศ Common Law หรือ Civil Law ระบบกล่าวหาจะมีอิทธิพลมาก คู่ความจะมีบทบาทในการพิจารณาคดีมากกว่าศาลเพราะเมื่อประชาชนมีอำนาจ มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น อำนาจของรัฐย่อมต้องลดลง อย่างไรก็ดีในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กลุ่มของประเทศ Civil Law ได้เห็นถึงปัญหาของระบบกล่าวหา จากการที่ทนายความมีบทบาทในศาลมากจนทำให้เกิดการใช้สิทธิในกระบวนพิจารณาโดยไม่สุจริต เช่น การประวิงคดีที่ส่งผลให้การพิจารณาคดีเกิดความล่าช้า ด้วยเหตุนี้กลุ่มประเทศ Civil Law จึงเพิ่มบทบาทของศาลในเรื่องการควบคุมกระบวนการพิจารณาให้มีมากขึ้น ส่วนเรื่องอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลไม่ได้ถูกเพิ่มบทบาทแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากคู่ความทั้งสองฝ่ายมีความสามารถในการเข้าถึงข้อเท็จจริงอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ศาลก็จะไม่เข้ามาแทรกแซงเพราะศาลต้องคำนึงถึงความเป็นกลางและความจำเป็นของการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดีด้วย
ส่วนกลุ่มประเทศ Common Law ก็พบปัญหาในลักษณะเดียวกับกลุ่มประเทศ Civil Law ที่คู่ความหรือทนายความใช้สิทธิในกระบวนพิจารณาโดยไม่สุจริต แต่กลุ่มประเทศ Common Law ยังคงยึดติดกับหลักการที่ต้องให้คู่ความต่อสู้คดีกันเองเพราะเป็นเรื่องประโยชน์ของเอกชน และหากศาลเข้ามามีบทบาทช่วยคู่ความ กลุ่มประเทศ Common Law มองว่าศาลจะมองภาพรวมของคดีไม่ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้ตัดสินคดีผิดพลาดหรือตัดสินคดีโดยไม่สุจริตได้ จนกระทั่งช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ประเทศอังกฤษพบว่าการดำเนินคดีในศาลมีความล่าช้า ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าสาเหตุมาจากศาลมีบทบาทในการควบคุมกระบวนพิจารณาคดีน้อย จึงทำให้ประเทศอังกฤษเพิ่มบทบาทของศาลให้เข้ามาช่วยควบคุมกระบวนการพิจารณาคดีเพิ่มขึ้น ทำให้กลุ่มประเทศ Common Law เริ่มปรับเปลี่ยนเพิ่มบทบาทของศาลตามมา
ดร.ประสาท พงษ์สุวรรณ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด (วิทยากร) :
กล่าวถึงเฉพาะกรณีของศาลปกครองเท่านั้น โดยระบบวิธีพิจารณาของศาลปกครองจะใช้ระบบแบบไต่สวน สังเกตได้จากมาตรา 55 วรรคสามแห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ที่วางหลักว่า “ในการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลปกครองอาจตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม ในการนี้ ศาลปกครองจะรับฟังพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานผู้เชี่ยวชาญ หรือพยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากพยานหลักฐานของคู่กรณีได้ตามที่เห็นสมควร” และข้อ 5 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง ที่วางหลักว่า “วิธีพิจารณาคดีปกครองเป็นวิธีพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน” จากลักษณะพิเศษดังกล่าว เพื่อไม่ให้ตุลาการศาลปกครองใช้ดุลพินิจเกินขอบเขต กฎหมายจึงมีการกำหนดกลไกในการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจไว้ เช่น ก่อนวันนั่งพิจารณาคดี ตุลาการเจ้าของสำนวนต้องส่งมอบสำนวนคดีให้ผู้แถลงคดีปกครองพิจารณาก่อนตามหลักการในมาตรา 58 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง
เมื่อกล่าวถึงระบบไต่สวนแล้ว ดร.ประสาท กล่าวว่า หลาย ๆ คนยังเข้าใจความหมายของระบบไต่สวนผิดอยู่ เพราะหลายคนเข้าใจว่าระบบกล่าวหาคือ “ระบบที่ผู้ใดกล่าวหา ผู้นั้นต้องนำสืบ” ดังนั้นระบบไต่สวนก็คือ “ระบบที่ผู้ใดกล่าวหา ผู้นั้นไม่ต้องนำสืบ” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะในระบบไต่สวนผู้ใดกล่าวอ้าง ผู้นั้นก็ยังคงมีหน้าที่นำสืบอยู่ สังเกตได้จาก ข้อ 64 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง ที่วางหลักว่า “คู่กรณีฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ๆ เพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนมีหน้าที่เสนอพยานหลักฐานต่อศาลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง”
สำหรับเรื่ององค์ประกอบทางวัตถุของระบบไต่สวนในศาลปกครอง สามารถแยกพิจารณาได้เป็น 2 ประการ คือ
ประการแรก วิธีพิจารณาระบบไต่สวนเป็นระบบวิธีพิจารณาที่ตุลาการมีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงทั้งปวงที่เกี่ยวกับคดี โดยไม่จำกัดเฉพาะหลักฐานที่คู่กรณีเสนอต่อศาลตามหลักกฎหมายในพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง มาตรา 55 วรรคสาม ส่งผลให้ศาลต้องแสวงหาข้อเท็จจริงจนกว่าจะฟังได้ว่าเป็นที่ยุติและสามารถนำข้อเท็จจริงนั้นมาปรับเข้ากับข้อกฎหมายและวินิจฉัยคดีต่อได้ เพราะฉะนั้นระบบวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครองจึงไม่มีการยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยหรือคู่กรณีฝ่ายอื่นใด นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้ตุลาการศาลปกครองมีอำนาจอย่างกว้างขวางในการแสวงหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 61 วรรคหนึ่งแห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง เช่น ตุลาการมีอำนาจสั่งเรียกให้หน่วยงานทางปกครองชี้แจงข้อเท็จจริง หรือสั่งให้หน่วยงานทางปกครองส่งพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพิ่ม หรือสั่งเรียกให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีมาให้ถ้อยคำ เป็นต้น
ประการที่สอง วิธีพิจารณาระบบไต่สวนเป็นวิธีพิจารณาที่ตุลาการมีอำนาจควบคุมกระบวนพิจารณาและมีบทบาทเชิงรุก แตกต่างกับวิธีพิจารณาในระบบกล่าวหาที่ผู้พิพากษามีบทบาทเชิงรับ ลักษณะพิเศษของการพิจารณาคดีศาลปกครองเช่นนี้ มาจากฐานคิดที่ว่าคู่พิพาทในคดีปกครองที่เป็นคู่กรณี 2 ฝ่ายมีฐานะที่ไม่เท่าเทียมกัน การนำระบบไต่สวนมาใช้จะทำให้ฝ่ายประชาชนที่เป็นฝ่ายด้อยกว่าสามารถสู้คดีกับรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองได้อย่างมีความเสมอภาคกัน
นายธวัช ดำสอาด Partner สำนักงานกฎหมาย Tilleke & Gibbins (วิทยากร) :
จากประสบการณ์ทำงานด้านทนายความ นายธวัชได้กล่าวถึงปัญหาในวิธีพิจารณาแบบระบบไต่สวนที่พบเจอ คือ
(1) กระบวนการตรวจพยาน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คู่ความแต่ละฝ่ายได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่แต่ละฝ่ายนำเสนอพยานหลักฐานต่อศาล และเมื่อได้พิจารณาแล้วคู่กรณีแต่ละฝ่ายสามารถเลือกยอมรับหรือคัดค้านพยานหลักฐานนั้นได้ โดยกระบวนการตรวจพยานมีกรอบของระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัด หลาย ๆ คดีมีข้อเท็จจริงที่ซับซ้อนและเอกสารในคดีมีมากถึงหมื่นหรือแสนหน้า ส่งผลให้ไม่สามารถตรวจสอบพยานหลักฐานได้ทั้งหมดภายใต้ข้อจำกัดของเวลา และผลของการตรวจพยานคือถูกสันนิษฐานไว้ว่าคู่ความแต่ละฝ่ายทราบถึงข้อเท็จจริงนั้นแล้ว ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้น ในทางปฏิบัติขั้นตอนการตรวจพยานจึงเป็นเพียงรูปแบบที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่มีเนื้อหาที่จะบังคับให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
(2) การกำหนดให้การพิจารณาของศาลต้องใช้สำนวนสอบสวนขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นหลัก เช่น มาตรา 6 วรรคสองแห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่วางหลักให้การพิจารณาคดีของศาลต้องใช้สำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหลัก หรือมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่วางหลักให้ยึดสำนวนการสอบสวนและสำนวนการไต่สวนของอัยการสูงสุด พนักงานอัยการ ป.ป.ช. ที่เป็นโจทก์เป็นหลักในการพิจารณาคดี เป็นต้น กรณีมีปัญหาที่ตั้งเป็นคำถามฝากไว้ในคิดว่า หากองค์กรเหล่านั้นทำสำนวนให้บุคคลคนหนึ่งมีความผิด ศาลจะต้องตัดสินให้บุคคลนั้นมีความผิดด้วยหรือไม่ และหลักการดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองในเรื่อง Presumption of Innocence หรือไม่
(3) เรื่องการเลือกพยานหลักฐาน หลังจากที่คู่ความทั้งสองฝ่ายเสนอพยานหลักฐานต่อศาลแล้ว ศาลจะเปิดโอกาสให้คู่ความแต่ละฝ่ายทำคำแถลงว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับพยานหลักฐานนั้นหรือไม่ เพราะเหตุใด เมื่อคู่ความยอมรับพยานหลักฐานกันแล้ว ศาลที่ใช้ระบบไต่สวน (ยกเว้นศาลปกครอง) มักเลือกพยานหลักฐานอื่นที่คู่ความไม่ได้ยอมรับกันมาพิจารณาด้วย ซึ่งบ่อยครั้งที่ศาลเลือกพยานมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีโดยที่ไม่ชี้แจงเหตุผลให้คู่ความรับทราบ ทำให้เกิดปัญหาว่าพยานหลักฐานอื่นที่ศาลเลือกมา จะสามารถรับฟังได้มากน้อยขนาดไหน
นอกจากนี้ พยานบุคคลโดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะทาง เช่น ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ศาลที่ใช้ระบบไต่สวน (ยกเว้นศาลปกครอง) มีอำนาจที่จะถามพยานด้วยตนเองได้ แต่บ่อยครั้งที่ศาลไม่มีความรู้เฉพาะทางนั้นถามคำถามแบบผู้ไม่เข้าใจ ทำให้ผู้ตอบหรือพยานเข้าใจคำถามผิดและตอบคำถามผิด และในขณะเดียวกันผู้ทำหน้าที่บันทึกถ้อยคำของพยานก็บันทึกไม่ตรงกับความจริงเพราะไม่เข้าใจคำตอบของพยาน ส่งผลให้เกิดความเข้าใจข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนอันส่งผลต่อรูปคดีได้
ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาลัยวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
กล่าวว่า วิธีพิจารณาความคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง และคดีรัฐธรรมนูญ ต่างต้องการมุ่งหาความจริงเพื่อรักษาความยุติธรรม แต่การได้มาซึ่งความจริงอาจใช้วิธีการที่แตกต่างกัน คือ ถ้าเป็นคดีแพ่ง จะเน้นเรื่องการสืบพยานในศาล ซึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์ของเอกชน คู่ความแต่ละฝ่ายจึงมีอิสระในการต่อสู้คดีกัน ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นคดีอาญา คดีปกครอง หรือคดีรัฐธรรมนูญ เป็นคดีที่มีผลกระทบต่อสังคม จึงเน้นเรื่องการแสวงหาข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด วิธีการพิจารณาจะไม่ได้เน้นการสืบพยานในชั้นศาลเพราะการสืบพยานในชั้นศาลเป็นเพียงการทักท้วงกระบวนการตรวจสอบพยานหลักฐานที่จะใช้ในการพิจารณาคดีเท่านั้น ดังนั้น ไม่ว่าการไต่สวนพยานหลักฐานจะมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากขั้นตอนที่กำหนด แต่ถ้าหากศาลได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีนำสืบพยานหลักฐานเพื่อหักล้างแล้ว พยานหลักฐานนั้นศาลก็สามารถรับฟังได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในคดีนั้น ศาลจึงต้องมีความรอบรู้และมีความสามารถในการเลือกพยานหลักฐานที่จะใช้บังคับแก่คดี
ศ.ดร.อุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในคดีอาญา คดีปกครอง คดีรัฐธรรมนูญ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องสำนวนคดี โดยเฉพาะสำนวนคดีก่อนที่จะส่งฟ้องไปยังศาล เช่น สำนวนคดีของพนักงานสอบสวน สำนวนคดีของอัยการ สำนวนคดีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น เพราะสำนวนคดีเหล่านี้จะส่งผลถึงการพิจารณาพยานหลักฐานในชั้นศาล โดยในต่างประเทศถือว่ากระบวนการการพิจารณาคดีก่อนชั้นศาลเป็นกระบวนการกลั่นกรองที่มีความสำคัญ ต้องเชื่อมั่นในกระบวนการการคัดกรองพยานหลักฐานว่าคัดครองมาดีแล้ว แตกต่างกับประเทศไทยที่มองว่าพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ไม่ใช่ศาล ความเชื่อมั่นในกระบวนการสอบสวนและกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานจึงมีน้อย ดังนั้น เพื่อทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านั้นมีความโปร่งใสและสุจริต ศ.ดร.อุดม มีข้อเสนอแนะว่าต้องมีการปรับปรุงกลไกการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน ไม่ให้ต่างกับการคัดเลือกตุลาการที่ทำหน้าที่กลั่นกรองชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในขั้นสุดท้าย
ศ.(พิเศษ) ดร.วรรณชัย บุญบำรุง กรรมการกฤษฎีกา (วิทยากร) :
กล่าวถึง ระบบไต่สวนกับเรื่องสิทธิในการต่อสู้คดีหรือหลักการฟังความสองฝ่ายว่า หลาย ๆ คนมักเข้าใจว่าเมื่อศาลใช้ระบบไต่สวนแล้ว ศาลไม่จำเป็นต้องพิจารณาพยานหลักฐานของคู่ความก็ได้ ความเข้าใจนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะแม้ศาลจะใช้วิธีพิจารณาความแบบระบบไต่สวน ศาลก็ต้องเปิดโอกาสให้คู่ความสามารถใช้สิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ระบบไต่สวนที่ศาลมีบทบาทเชิงรุกในการแสวงหาข้อเท็จจริงไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลักการฟังความสองฝ่าย (เป็นคนละประเด็นกัน) ศาลไม่ควรควบคุมกระบวนการพิจารณาให้ไปกระทบถึงหลักการฟังความสองฝ่ายของคู่กรณี ซึ่งศ.(พิเศษ) ดร.วรรณชัย มีความเห็นว่าหลักฟังความสองฝ่ายมีความสำคัญยิ่งกว่าการพิจารณาความแบบระบบไต่สวน เพราะเป็นเรื่องของนิติธรรมและเป็นสิทธิของคู่ความที่พึงมีในกระบวนยุติธรรม
ในเรื่องระบบวิธีพิจารณาความ ปัจจุบันทุกประเทศใช้ระบบพิจารณาความแบบผสมขึ้นอยู่กับว่าจะเน้นระบบไต่สวนหรือระบบกล่าวหาอย่างใดมากกว่ากัน ซึ่งในทางวิชาการมีปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาอยู่ 3 ปัจจัย คือ
(1) ลักษณะของคู่ความ ถ้าคู่ความมีสถานะที่ไม่เท่าเทียมกัน ควรใช้วิธีพิจารณาความแบบระบบไต่สวนเพราะศาลจะมีบทบาทในการแสวงหาข้อเท็จจริงมากกว่าระบบกล่าวหา อันทำให้คู่ความฝ่ายที่ด้อยกว่าไม่มีเสียเปรียบคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง
(2) ลักษณะของคดี ถ้าเป็นคดีแพ่งควรใช้ระบบกล่าวหาเพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของเอกชน รัฐไม่มีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาแทรกแซงคดี และศาลไม่ควรเข้าไปมีบทบาทในคดีมากเกินไป ศาลเพียงแต่เปิดโอกาสให้คู่ความทั้งสองฝ่ายได้ใช้สิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ก็พอ เว้นแต่ กรณีคดีที่คู่ความมีสถานะไม่เท่าเทียมกัน เช่น คดีคุ้มครองผู้บริโภค คดีแรงงาน แม้ไม่ใช่เรื่องประโยชน์ของสาธารณะโดยตรง แต่คดีเหล่านี้กระทบต่อความเป็นอยู่ของสังคมหรือคนหมู่มาก ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ คดีเหล่านี้จึงควรใช้ระบบไต่สวนมาใช้ในกระบวนการพิจารณาคดี
(3) บทบาทของศาล กรณีคดีปกครองและคดีรัฐธรรมนูญ ศาลควรมีบทบาทเชิงรุกหรือใช้ระบบไต่สวน เพราะศาลต้องตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร จึงควรมีอำนาจในการเรียกพยานบุคคลหรือพยานเอกสารจากหน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้แสวงหาข้อเท็จจริงได้โดยง่าย ซึ่งศาลปกครองไทยก็ได้ใช้ระบบไต่สวน โดยมีบทบัญญัติชัดเจนในพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯและระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง
สำหรับประเทศไทยแม้ระบบกฎหมายของไทยจะได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มประเทศ Civil Law แต่เรื่องวิธีพิจารณาความนั้น ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากกลุ่มประเทศ Common Law มากกว่ากลุ่มประเทศ Civil Law ซึ่งเรื่องระบบกฎหมายเป็นคนละเรื่องกับวิธีพิจารณาความ กล่าวคือ ระบบกฎหมายจะพิจารณาถึงบ่อเกิด การใช้การตีความกฎหมาย และนิติวิธี แต่วิธีพิจารณาความจะพิจารณาถึงระบบไต่สวนหรือระบบกล่าวหา เมื่อวิเคราะห์แล้วจะพบว่าการสืบพยานบุคคลของประเทศไทยได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มประเทศ Common Law ค่อนข้างมาก สังเกตได้จากการถามค้าน ถามติง ซึ่งเป็นลักษณะการสืบพยานที่ปรากฏเฉพาะในกลุ่มของประเทศ Common Law เท่านั้น อย่างไรก็ตามการสืบพยานก็มีบางส่วนที่ได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มประเทศ Civil Law ด้วยเช่นกัน เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสาม ที่วางหลักให้ศาลสามารถเรียกพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติศาลไทยจะไม่ใช้อำนาจไต่สวนมากนัก เพราะการที่ศาลมีบทบาทเชิงรุกจะทำให้เกิดข้อครหาได้ว่าศาลไม่วางตัวเป็นกลาง
ศ.(พิเศษ) ดร.วรรณชัย กล่าวถึงปัญหาว่า บ่อยครั้งที่พนักงานสอบสวนผู้มีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงก่อนฟ้องคดี ไม่ใช้อำนาจไต่สวนในการค้นหาความจริง เพราะเข้าใจว่าการแสวงหาข้อเท็จจริงเป็นหน้าที่ของทนายความ ทำให้พยานหลักฐานต่าง ๆ อาจได้ไม่ครบถ้วน หรือกรณีปัญหาในเชิงทัศนคติที่มองว่าศาลแพ่งต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ควรใช้อำนาจไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสาม ปัญหาเหล่านี้ ศ.(พิเศษ) ดร.วรรณชัย มีข้อเสนอแนะว่า ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวน ทนายความ พนักงานอัยการ ศาล ต้องมาพูดคุยตกลงกันว่ากระบวนการในคดีใดควรใช้ระบบกล่าวหาหรือระบบไต่สวน และต้องปรับความเข้าใจใหม่ว่าในคดีแพ่ง หากศาลใช้อำนาจไต่สวนเรียกพยานหลักฐานมีสืบเพิ่มเติมโดยที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดร้องขอ ไม่ใช่หมายความว่าศาลไม่วางตัวเป็นกลาง มิเช่นนั้นกฎหมายก็จะเป็นหมันไม่สามารถใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ
ดร.ประสาท พงษ์สุวรรณ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด (วิทยากร) :
กล่าวว่า ในทางปฏิบัติศาลปกครองสามารถนำระบบไต่สวนมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ภายใต้ของหลักความเป็นกลางและหลักฟังความทุกฝ่ายที่ทุกฝ่ายมีสิทธิในการเสนอและโต้แย้งพยานหลักฐาน เพื่อเป็นกรอบไม่ให้ตุลาการในศาลปกครองใช้ดุลพินิจเกินขอบเขต อย่างไรก็ดีจากหลักการทั้งสองประกอบกับการที่ตุลาการต้องแสวงหาข้อเท็จจริง ตุลาการไม่สามารถพิจารณาเพียงถ้อยคำในคำฟ้องหรือคำให้การเพียงอย่างเดียวได้และระบบพิจารณาคดีของศาลปกครองต้องมีการส่งสำนวนคดีให้แก่ผู้แถลงคดีปกครองเพื่อถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจของตุลาการ ทำให้ในบางครั้งการพิจารณาคดีอาจเกิดความล่าช้า
จากที่ศ.ดร.อุดม มีข้อเสนอแนะว่าต้องมีการปรับปรุงกลไกการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานในชั้นก่อนศาล ดร.ประสาท มีความเห็นเพิ่มเติมว่า หากจะปรับปรุงกลไกการคัดเลือกสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ให้อำนาจไต่สวนไปอยู่ในมือของคนที่ขาดความเป็นกลางและขาดความมีอิสระ เช่น พนักงานสอบสวนที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้บังคับบัญชา ดร.ประสาทได้ยกตัวอย่างของประเทศฝรั่งเศสและประเทศเยอรมันว่าประเทศเหล่านี้มีการตั้งตุลาการเพื่อมาทำหน้าที่สอบสวนโดยเฉพาะ เพราะเห็นว่าการสอบสวนที่ดีผู้สอบสวนต้องมีความเป็นกลางและเป็นผู้มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของสำนวนคดี เพราะฉะนั้นการรวบรวมพยานหลักฐาน การสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องของต่างประเทศจึงมีความน่าเชื่อถือมากมั่นใจได้ว่าปราศจากการถูกแทรกแซง
นายธวัช ดำสอาด Partner สำนักงานกฎหมาย Tilleke & Gibbins (วิทยากร) :
ยกตัวอย่างคดีที่เป็นที่ยุติแล้ว เพื่อให้เห็นภาพว่าการไต่สวนที่ไม่มีการรับฟังคู่ความหรือไม่ให้สิทธิแก่จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ส่งผลให้เกิดอะไรหรือส่งผลต่อการตั้งคำถามของสังคมอย่างไร
คดีแรก คู่ความร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 98/1 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 27 เพราะเป็นบทบัญญัติที่ให้ศาลยึดรายงานและสำนวนคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา ทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และเสียสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่ถูกต้องเป็นธรรม รวมทั้งไม่มีโอกาสตรวจสอบโต้แย้งและถามค้านพยานในชั้นการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลย ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ามาตรา 98/1 ไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา 98/1 เป็นเพียงบทบัญญัติให้ศาลนำรายงานสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาใช้เป็นหลักในการพิจารณาคดี แต่ไม่ได้บังคับว่าศาลต้องรับฟังเฉพาะสำนวนคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น กล่าวคือ ศาลยังคงมีอำนาจวินิจฉัยพยานหลักฐานอื่นได้อยู่ อย่างไรก็ดีในคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นการชั่งน้ำหนักของพยานหลักฐาน แต่ไม่ได้บอกว่าหากศาลพิจารณาเฉพาะสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นน่าคดีว่าหากมีคดีในลักษณะนี้ในอนาคต ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไร
คดีที่สอง คดีจำนำข้าวที่คู่ความโต้แย้งว่ามาตรา 5 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขัอต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ซึ่งโดยหลักตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 เมื่อมีการโต้แย้งของคู่ความพร้อมด้วยเหตุผล ศาลที่พิจารณาคดีต้องส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ามาตราที่กล่าวอ้างขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ปรากฏว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญามีคำสั่งไม่ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่าการพิจารณาคดีนี้ ศาลให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนเพิ่มเติมแล้ว อันเป็นการให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานมาให้ศาลไต่สวนอย่างเต็มที่ ดังนั้น คำร้องที่ขอให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญจึงฟังไม่ขึ้น นายธวัช มีความเห็นว่าศาลให้เหตุผลไม่ตรงกับประเด็น เพราะประเด็นคือมาตรา 5 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ศาลให้เหตุผลว่าเปิดโอกาสให้คู่ความนำพยานหลักฐานมาเสนอเพิ่มเติมแล้ว ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
และคดีที่สาม คดียุบพรรคอนาคตใหม่ที่ศาลสั่งงดสืบพยาน ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องนำพยานเข้าไต่สวนเพื่อค้นหาความจริง ศาลเพียงแต่ให้ผู้ถูกร้องยื่นบันทึกถ้อยคำพยานได้เท่านั้น ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ก็ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำพยานไป เช่น พยานที่เป็นนักวิชาการกล่าวว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน ไม่ใช่นิติบุคคลมหาชน หรือพยานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการธนาคารกล่าวว่าดอกเบี้ยมีอัตราปกติ แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินตรงข้ามกับบันทึกถ้อยคำพยานที่พรรคอนาคตใหม่อ้างทั้งหมด นายธวัช กล่าวว่าไม่ได้ต้องการนำเสนอถึงเนื้อหาในการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ที่ยกคดีนี้มาเพราะต้องการชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าศาลจะใช้ระบบวิธีพิจารณาความแบบกล่าวหาหรือไต่สวน ก็ควรเปิดโอกาสคู่ความโต้แย้งชี้แจงพยานหลักฐานโดยให้มีการสืบพยาน เพราะจากประสบการณ์ด้านทนายความการซักถามจะทำให้ได้ความจริงที่มากกว่า