สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ เรื่อง “ปัญหาทางกฎหมายของสัญญารับทุนรัฐบาล” จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.00-16.00 น.
วิทยากร
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ มณีศร อดีตอาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายแพ่ง / อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม / อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ดร.พีรดล สามะศิริ อาจารย์สถาบันนการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี / อดีตนักเรียนทุนรัฐบาล
- คุณอรรถพร รูปงาม นิติกรชำนาญการพิเศษ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.)
- คุณพรพิศ สมวงษ์ นักทรัพยากรบุคคลเชี่ยวชาญ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.)
- คุณอภินันท์ อรรจนนานันท์ นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.)
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์สุประวีณ์ อาสนศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / อดีตนักเรียนทุนรัฐบาล
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- ทักษ์ดนัย เรืองศรี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 3 (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
อาจารย์สุประวีณ์ อาสนศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / อดีตนักเรียนทุนรัฐบาล (ผู้ดำเนินรายการ)
อ.สุประวีณ์ กล่าวเปิดงานโดยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของหัวข้อการเสวนาในครั้งนี้โดยกล่าวว่าแม้หลายท่านจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวแต่หัวข้อนี้มีประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจหลายเรื่องที่สามารถมาพูดคุยถกเถียงกันได้ จากนั้นได้อธิบายถึงขอบเขตการพูดคุยในหัวข้อการเสวนาครั้งนี้โดยอธิบายว่าสัญญาทุนรัฐบาลนั้นคือการที่ผู้เซ็นสัญญาจะได้ทุนการศึกษาจากรัฐบาลไทยเพื่อไปใช้ศึกษาต่อทั้งในประเทศและนอกประเทศ แต่สำหรับงานเสวนาในครั้งนี้จะโฟกัสไปที่การศึกษาต่อภายนอกประเทศ โดยในสัญญาดังกล่าวมีข้อผูกพันว่าเมื่อศึกษาจบแล้วก็ต้องกลับมาใช้ทุนให้แก่หน่วยงานคู่สัญญากล่าวคือเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของนักเรียนทุน โดยผู้รับทุนนั้นจะมีได้หลากหลายระดับตั้งแต่ระดับมัธยมไปจนถึงระดับมหาลัยหรือไปจนถึงระดับผู้ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานของรัฐก็อาจได้รับทุนเช่นกัน ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐที่เปิดให้ทุนการศึกษานั้นมีมากมาย เช่น ทุนรัฐบาลไทย ทุนสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ ทุนเหล่านี้ถูกเรียกรวม ๆ ว่าทุนรัฐบาลโดยทุนรัฐบาลจะอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานข้าราชการพลเรือน(สำนักงาน ก.พ.) โดยสํานักงานข้าราชการพลเรือนจะเข้ามาดูแลตั้งแต่การเข้าทำสัญญาไปจนถึงเรื่องการสมัครเรียนต่อและการกลับมาทำงานใช้ทุนในหน่วยงานต้นสังกัดที่ผู้รับทุนเข้าทำสัญญาด้วย
คุณอภินันท์ อรรจนนานันท์ นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) (วิทยากร)
คุณอภินันท์ กล่าวถึงขอบเขตหน้าที่ของสำนักงานข้าราชการพลเรือนโดยกล่าวว่าว่า ด้วยวัตถุประสงค์ของทุนการศึกษาต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกัน โดยทุนบางส่วนจะให้สำนักงานข้าราชการพลเรือนเป็นผู้คัดเลือกและสรรหาผู้ที่จะได้รับทุนแต่กฎเกณฑ์และเงื่อนไขของทุนนั้น ๆ จะยังขึ้นอยู่กับหน่วยงานต้นสังกัดของทุนนั้น ๆ เช่นทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และทุนสำนักงานข้าราชการพลเรือนพี่จะมีบางจุดที่แตกต่างกันโดยทุนของสำนักงานข้าราชการพลเรือนในปัจจุบันจะมีการแยกทุนออกเป็นหลายระดับไม่ใช่เป็นทุนระยะยาวในขณะที่ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ก็จะมีการแยกระดับทุนเช่นกันแต่จะแยกเป็นทุนระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นปริญญาตรีล้วน ซึ่งตรงจุดนี้จะเป็นความแตกต่างของทุนทั้ง 2 ประเภท แต่ด้วยการที่ทุนทั้ง 2 ประเภทเป็นทุนของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ดังนั้นตามระเบียบของสำนักนายกและพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนได้ให้อำนาจตามกฎหมายแก่สำนักงานข้าราชการพลเรือนให้เป็นผู้ดูแลเรื่องทุนของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ
ดร.พีรดล สามะศิริ อาจารย์สถาบันนการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี / อดีตนักเรียนทุนรัฐบาล (วิทยากร)
ดร.พีระดล ได้กล่าวถึงประสบการณ์การรับทุนของตนว่าทุนสํานักงานข้าราชการพลเรือนแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไปตั้งแต่ตอนม.6 หรือต่ำกว่านั้นและกลุ่มของทุนที่ไปตั้งแต่ช่วงปริญญาตรีหรือก่อนจบปริญญาตรีเพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทหรือเอก ดร.พีรดลกล่าวต่อว่าทุนสำนักงานข้าราชการพลเรือนในรุ่นของตนนั้นจะรับสมัครในช่วงม.6 โดยทุนหลัก ๆ ที่เปิดรับสมัครได้แก่ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ ทุนเล่าเรียนหลวง ทุนไทยพัฒน์ ทุนตามความต้องการของกรมกระทรวงต่าง ๆ โดยการสมัครทุนผู้สมัครสามารถเลือกอันดับทุนที่ตนต้องการได้ 2 อันดับว่าคะแนนของตนอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้ทุนใดโดยคะแนนจะมาจากการสอบข้อเขียน เมื่อถูกคัดเลือกไปก็จะต้องไปสอบสัมภาษณ์โดยกรรมการผู้สอบสัมภาษณ์จะมาจากบุคคลในหน่วยงานต้นสังกัดและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าราชการพลเรือนร่วมกันจากนั้นเมื่อผ่านการสอบสัมภาษณ์ก็จะได้รับข้อเสนอทุนโดยอันนี้เป็นกรณีทุนสำหรับปริญญาตรี ส่วนสำหรับกรณีทุนปริญญาโทและปริญญาเอกมี 2 ลักษณะคือ1.ทุนที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสมัครโดยส่วนมากจะเป็นทุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ 2.ทุนที่เปิดให้ผู้ที่ศึกษาในชั้นปริญญาตรีชั้นปีสุดท้ายได้สมัครโดยเมื่อเรียนจบระดับปริญญาตรีแล้วจะต้องเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐเป็นเวลา 1-2 ปีก่อนที่จะถูกส่งไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่ต่างประเทศ
ดร.พีรดล กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ตนได้รับทุนตอนอายุ 18 ปีนั้นความกังวลหลักของตนคือการหาที่เรียนต่อในระดับชั้นปริญญาตรีว่าจะเรียนในประเทศหรือต่างประเทศ โดยตนได้ตัดสินใจรับทุนเพราะว่าการได้ไปเรียนวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศและกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อใช้ทุนก็ไม่เสียหายอะไร
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร อดีตอาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายแพ่ง / อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
ประเด็น : ความเป็นผู้เยาว์ของผู้รับทุน
ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะหากผู้เยาว์ยังอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์การแสดงเจตนารับทุนจึงต้องการความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมคือบิดาและมารดาต้องให้ความยินยอม หากไม่มีความยินยอมการแสดงเจตนาผูกพันสัญญาโดยผู้เยาว์ก็อาจถูกบอกล้างโดยบิดามารดาได้เพราะการแสดงเจตนาถือเป็นโมฆียะในทางกฎหมาย โดยปกติหากเป็นทุนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐก็มักจะให้บิดามารดามาให้ความยินยอมตอนเข้าทำสัญญาอยู่แล้วปัญหาการมาบอกล้างทีหลังจึงมักไม่ค่อยเกิดขึ้น เพียงแต่ว่าจะมีปัญหาในแง่ที่ว่าผู้เยาว์รับทุนไปโดยไม่คิดให้รอบคอบ เช่น ผู้เยาว์รับทุนไปเรียนต่อเป็นระยะเวลา 7 ปีและต้องกลับมาทำงานใช้ทุนเป็นระยะเวลา 2 เท่าของทุนคือไปเรียน 7 ปีแล้วต้องกลับมาทำงานใช้ทุนอีก 14 ปีรวมเป็นระยะเวลาถึง 21 ปี กว่าจะใช้ทุนเสร็จก็อายุ 50 พอดี ทำให้เกิดคำถามว่าสัญญาที่มีระยะเวลาผูกพันยาวนานขนาดนั้นมีผลผูกพันหรือไม่แล้วมีความเป็นธรรมกับผู้เยาว์หรือไม่เพราะตอนที่ผู้เยาว์เข้าทำสัญญาผู้เยาว์ยังอายุน้อยอาจคิดไม่รอบคอบมากพอ
ประเด็นนี้ ในทางกฎหมายถือว่ามีผลผูกพันแล้วแม้ว่าผู้เยาว์จะยังคิดไม่รอบคอบก็ตาม ต้องให้บิดามารดาเป็นคนดูแลจัดการและให้ความยินยอม โดยปกติผู้ใหญ่ที่จะรับทุนก็จะมีอายุประมาณ 18 ปีแล้วสามารถตัดสินใจอะไรเองได้แล้วมีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถเลือกคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ตามมาตรฐานทางสังคมเขาสามารถคิดอะไรเองได้แล้วซึ่งแม้บางครั้งจะไม่รอบคอบก็ยังมีบิดามารดามาคอยดูแลและให้ความยินยอมอีกชั้นนึง ฉะนั้นการที่ผู้เยาว์ทำสัญญารับทุนรัฐบาลแม้จะมีผลผูกพันเป็นระยะเวลานานหลายสิบปีแต่ก็ถือว่าผูกพันตามกฎหมาย แม้แต่กรณีผู้เยาว์เข้าทำสัญญาที่อาจมีผลผูกพันเกษียณอายุราชการนั้น สัญญาก็มีผลผูกพันสมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่อาจจะมีบางประเด็นในสัญญาที่จะต้องมาตีความว่าสัญญานั้นมีความเป็นธรรมหรือไม่
ประเด็น : สถานะทางกฎหมายของสัญญารับทุนรัฐบาล
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ได้กล่าวว่าหากพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะพบว่ามีเรื่องสัญญาให้ โดยมีลักษณะคือเมื่อผู้ให้ได้ให้ไปแล้วผู้รับการให้ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องทำแทนผู้ให้ซึ่งทุนบางทุนก็จะมีลักษณะเป็นสัญญาให้ เช่น ทุนของรัฐบาลเยอรมันอาจารย์สุรศักดิ์เคยได้รับเลือกให้เป็นทุนไปเรียนกฎหมายที่ประเทศเยอรมัน ส่วนสำหรับทุนของรัฐบาลไทยหรือทุนของสำนักงานข้าราชการพลเรือนนั้นมีข้อผูกมัดที่จะต้องให้ผู้รับทุนกลับมาทำงานในหน่วยงานของรัฐในประเทศไทย นั้นทุนเหล่านี้จึงไม่ได้มีลักษณะเป็นสัญญาให้เพราะว่ามีความผูกพัน โดยลักษณะนี้จึงถือว่าเป็นสัญญาให้ทุนรูปแบบหนึ่ง ผู้รับทุนมีหน้าที่ที่จะต้องกลับมาทำงานใช้ทุนแต่หน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่ตามสัญญาไม่ใช่หน้าที่ตามกฎหมายเพราะสำหรับสัญญาดังกล่าวหากพิจารณาตามกฎหมายแล้วถือว่ามีลักษณะที่นอกกรอบไปจากรูปแบบของเอกเทศสัญญาในบรรพ 3 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ทุนของรัฐบาลไทยมีลักษณะผูกพันคู่สัญญา โดยผูกพันผู้ให้ทุนว่าจะต้องให้ทุนไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้รับทุนจะเรียนจบซึ่งตรงจุดนี้จะต่างจากสัญญาให้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะยุติการให้เมื่อใดก็ได้ เช่น ทุนรัฐบาลต่างประเทศที่ให้โดยไม่มีความผูกพัน รัฐบาลต่างประเทศจึงสามารถที่จะยุติการให้ทุนเมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการแม้ผู้รับทุนไม่จบ ส่วนทุนของรัฐบาลไทยนั้นจะยุติการให้ไม่ได้ หากยุติการให้แล้วเกิดความเสียหายก็ต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายเกิดขึ้นแต่หากเป็นการยุติการให้ทุนที่เกิดจากการที่ผู้รับทุนละเมิดข้อสัญญานั้นสามารถทำได้
ประเด็น : การโอนย้ายสังกัดมิได้มีการระบุไว้ในสัญญารับทุนรัฐบาล แต่เพิ่งมีประกาศเพิ่มเติมภายหลังว่าจะต้องทำงานในหน่วยงานต้นสังกัดเป็นเวลา 2 ปีก่อน จึงจะสามารถโอนย้ายต้นสังกัดได้ เช่นนี้ถือเป็นการเพิ่มเติมแก้ไขข้อสัญญาใช่หรือไม่ มีผลทางกฎหมายอย่างไร
ทุนรัฐบาลตามความต้องการของมหาวิทยาลัยนั้นระบุไว้ชัดว่าในสัญญาว่าเมื่อเรียนจบกลับมาแล้วจะได้บรรจุงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หากทุนนั้นให้เรียนถึงจบชั้นปริญญาโทแต่ว่ามหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนเงื่อนไขในภายหลังว่าผู้ที่จะเข้าเป็นอาจารย์ได้นั้นจะต้องจบชั้นปริญญาเอกเท่านั้น เงื่อนไขดังกล่าวจะมีผลผูกพันทุนในอนาคตเท่านั้นจะไม่ผูกพันผู้ที่ได้รับทุนนั้นไปก่อนหน้ากล่าวคือการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาส่งผลย้อนหลังไปเป็นโทษไม่ได้ ดังนั้นหากผู้ที่ได้รับทุนนั้นศึกษาจบชั้นปริญญาโทแล้วกลับมาที่ประเทศไทยมหาวิทยาลัยก็มีความผูกพันตามสัญญาที่จะต้องบรรจุเขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแม้ว่าเขาจะไม่ได้จบปริญญาเอกก็ตามเพราะว่าในตอนที่เขารับทุนไปนั้นเงื่อนไขยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง
ในทางปฏิบัตินั้นการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาจะมาจากตัวผู้รับทุนเองเป็นผู้เสนอขอเปลี่ยนแปลงข้อสัญญา เช่น เคยมีกรณีที่ผู้รับทุนได้ทุนเพื่อที่จะไปเรียนกฎหมายแรงงานในต่างประเทศแต่เมื่อไปถึงมหาวิทยาลัยแล้วกลับพบว่ากฎหมายแรงงานไม่ได้เปิดสอนเนื่องจากไม่มีผู้สนใจที่จะเรียนมากเพียงพอทำให้หลักสูตรกฎหมายแรงงานต้องปิดตัวลง เช่นนี้ทำให้ตัวผู้รับทุนมีความจำเป็นจะต้องกลับมาขอเจรจาเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อสัญญาเดิมได้แล้วจากเหตุสุดวิสัย การเจรจาเปลี่ยนแปลงข้อสัญญานั้นจึงอาจไปได้ 2 ทางคือการเปลี่ยนมหาวิทยาลัยที่จะเรียนโดยยังเรียนในสาขาเดิมตามข้อสัญญาหรือการเรียนในมหาลัยเดิมตามข้อสัญญาแต่เปลี่ยนสาขาวิชาที่จะเรียนเป็นสาขาอื่น
การที่จะขอเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาโดยความจำเป็นเช่นนี้ก็จำเป็นที่จะต้องขอให้ผู้ให้ทุนยินยอมด้วย โดยปกติในทางปฏิบัติทางผู้ให้ทุนก็จะให้ความยินยอมเพราะไม่อย่างนั้นตัวผู้รับทุนก็จะไม่สามารถปฏิบัติตามข้อสัญญาได้เลย
คุณพรพิศ สมวงษ์ นักทรัพยากรบุคคลเชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) (วิทยากร)
ประเด็น : การให้ข้อมูลแก่ผู้รับทุนซึ่งเป็นผู้เยาว์
ตามสัญญารับทุนรัฐบาลนั้นทางบิดามารดาจะต้องเข้ามาเซ็นเป็นผู้ค้ำประกันผู้รับทุนอยู่แล้ว ส่วนในด้านการให้ข้อมูลทุนรัฐบาล สํานักงานข้าราชการพลเรือนจะมีการจัดงานปฐมนิเทศเพื่อให้ข้อมูลและชี้แจงระเบียบต่าง ๆ รวมถึงเรื่องสัญญารับทุนรัฐบาลว่าจะมีการผูกมัดอย่างไรต้องไปนานเท่าไหร่และต้องกลับมาทำงานเพื่อใช้ทุนนานเท่าไหร่ ซึ่งงานปฐมนิเทศนี้จะให้ข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อที่จะทำให้ผู้ใหญ่และผู้ปกครองสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบว่าจะรับทุนรัฐบาลหรือไม่
โดยในทางปฏิบัตินั้นมีผู้ที่ผูกพันสัญญารับทุนสำนักงานข้าราชการพลเรือนนานที่สุด จะเป็นกลุ่มทุนของผู้รับุทนที่ไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ฉะนั้นอย่างน้อยด้วยเงื่อนไขของทุนจะต้องไปเรียนประมาณ 11 ปีและกลับมาทำงานใช้ทุนเป็นระยะเวลา 2 เท่าคือ 22 ปี
โดยหน่วยงานที่จะต้องกลับมาทำงานเพื่อใช้ทุนนั้นจะถูกระบุไว้ในสัญญารับทุนรัฐบาลว่าจะเป็นหน่วยงานใด ซึ่งผู้รับทุนจะสามารถทราบได้ตั้งแต่ตอนเข้าทำสัญญาว่าตนจะต้องกลับมาทำงานที่หน่วยงานใด ส่วนกรณีที่ทำงานไปแล้วต้องการโอนย้ายตามระเบียบของสำนักงานข้าราชการพลเรือนนั้นจะต้องทำงานใช้ทุนในหน่วยงานที่ระบุในสัญญาอย่างน้อย 2 ปีก่อนทำการโอนย้ายไปหน่วยงานอื่นได้โดยจะต้องได้รับความยินยอมจากทั้งหน่วยงานและหน่วยงานใหม่ของตนในการโอนย้ายหากไม่ได้รับความยินยอมจากทั้ง 2 ที่ก็จะไม่สามารถโอนย้ายได้
ประเด็น : การเปลี่ยนสาขาของผู้รับทุน
จากสถิติที่ผ่านมาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสาขาที่เรียนของผู้รับทุนในสังกัดสำนักงานข้าราชการพลเรือนนั้นจะขอแยกออกเป็น 2 ประเด็น ถ้าเป็นในกรณีทุนสำนักงานข้าราชการพลเรือนนั้นหน่วยงานที่จัดสรรทุนให้ไปเรียนจะดูภาพรวมว่าสาขาที่ผู้รับทุนต้องการจะไปเรียนงั้นเป็นไปตามกรอบที่ทุนกำหนดหรือไม่ แล้วสอดคล้องกับสังกัดที่จะไปทำงานหรือเปล่า ซึ่งจากที่ผ่านมาโดยส่วนมากก็จะอนุญาตให้เปลี่ยนสาขาเรียนได้ ในกรณีของทุนจากแหล่งทุนอื่นก็จะให้แหล่งทุนและสังกัดเป็นผู้พิจารณาว่าจะอนุญาตให้เปลี่ยนสาขาเรียนหรือไม่ซึ่งโดยส่วนมากก็จะอนุญาตให้เปลี่ยนได้
ในการดูแลนักเรียนทุนนั้นทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนไม่ได้กำหนดแน่นอนว่าถ้าอนุมัติให้ไปเรียนในสาขาใดแล้วแล้วผู้รับทุนประสบปัญหาว่าไม่สามารถเรียนได้แล้วจะไม่สามารถขอเปลี่ยนสาขาที่เรียนได้เลย ทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนจะพิจารณาจากเหตุผลและความจำเป็นเป็นกรณีไป
ในทางปฏิบัตินั้นน้อยมากที่จะมีนักเรียนทุนมาขอเปลี่ยนสาขาที่เรียน หากมีโดยส่วนมากก็จะอนุญาตให้ย้ายสาขาเรียนได้อยู่แล้วหากสาขาดังกล่าวเป็นสาขาที่มีความจำเป็นและมีความสอดคล้องกับหน่วยงานต้นสังกัดของทุนนั้น แต่หากต้องการจะย้ายไปในสาขาที่ไม่ได้ตรงกับความต้องการของหน่วยงานต้นสังกัดทุนเลยก็ยิ่งจะต้องพิจารณาเป็นพิเศษยิ่งกว่ากรณีทั่วไปต้องพิจารณาถึงประโยชน์ของรัฐและประโยชน์ของตัวผู้รับทุนร่วมกัน
ประเด็น : การโอนย้ายสังกัดมิได้มีการระบุไว้ในสัญญารับทุนรัฐบาล แต่เพิ่งมีประกาศเพิ่มเติมภายหลังว่าจะต้องทำงานในหน่วยงานต้นสังกัดเป็นเวลา 2 ปีก่อน จึงจะสามารถโอนย้ายต้นสังกัดได้ เช่นนี้ถือเป็นการเพิ่มเติมแก้ไขข้อสัญญาใช่หรือไม่ มีผลทางกฎหมายอย่างไร
กฎระเบียบของสำนักงานข้าราชการพลเรือนนั้นบังคับใช้แค่กับนักเรียนทุนที่สังกัดสำนักงานข้าราชการพลเรือนเท่านั้น ดังนั้นเงื่อนไขของสำนักงานข้าราชการพลเรือนที่ว่าจะต้องทำงานในหน่วยงานต้นสังกัด 2 ปีก่อนจึงจะสามารถทำการโอนย้ายสังกัดได้งั้นจะใช้กับเฉพาะนักเรียนทุนของสำนักงานข้าราชการพลเรือน ส่วนนักเรียนทุนจากแหล่งทุนอื่น ๆ ก็จะต้องไปพิจารณากฎเกณฑ์ของแหล่งทุนนั้น ๆ จะไม่ใช้ระเบียบของสำนักงานข้าราชการพลเรือน
ประเด็น : การให้ทุนโดยมีลักษณะข้อผูกมัดให้กลับมาทำงานชดใช้ทุนในหน่วยงานที่กำหนดนั้นมีลักษณะเป็นการประกาศสิทธิและเสรีภาพหรือไม่
สัญญารับทุนนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างข้อผูกมัดในเช่นนี้เนื่องจากเป็นเหตุผลในเรื่องการพัฒนาบุคลากรของภาครัฐเพราะหากสภาพสัญญาไม่มีการผูกพันไว้เลย คนที่รับทุนก็อาจจะไม่กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยหรือไปทำงานอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ต้องการจะพัฒนาบุคลากร ประเด็นที่ควรต้องดูควรจะเป็นเรื่องระยะเวลาการทำงานชดใช้ทุนและเบี้ยปรับเสียมากกว่านานหรือสูงเกินไปหรือไม่เพราะอาจเกิดกรณีที่ผู้ที่รับทุนเป็นระยะเวลานานจะต้องกลับมาทำงานใช้ทุนไปจนกว่าจะเกษียณซึ่งทำให้เขาไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้เลย
คุณอรรถพร รูปงาม นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) (วิทยากร)
ประเด็น : ความเป็นสัญญาทางปกครองของสัญญารับทุนรัฐบาล
ในช่วงก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องสัญญาทางปกครองนั้น สัญญารับทุนรัฐบาลเมื่อมีปัญหาข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเดิมจะฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม ในปัจจุบันหลังจากที่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองเกิดขึ้นและก็มีการกำหนดให้สัญญาทางปกครองต้องฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครอง โดยนิยามของคำว่าสัญญาทางปกครองจะหมายถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลผู้ที่ซึ่งกระทำการแทนรัฐและให้หมายความรวมถึงสัญญาสัมปทาน สัญญาให้จัดทำบริการสาธารณะ สัญญาให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จากนิยามดังกล่าวในกฎหมายทำให้เรายังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าสัญญาทุนรัฐบาลถือเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ โดยในช่วงแรก ๆ ที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองเกิดขึ้นสำนักงานข้าราชการพลเรือนก็ยังฟ้องคดีข้อพิพาทในเรื่องสัญญาทุนรัฐบาลต่อศาลยุติธรรมอยู่ ซึ่งต่อมาที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีมติว่าสัญญาทางปกครองให้หมายความรวมถึงสัญญาที่มีการตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรงและยังเป็นสัญญาพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐทั้งนี้ด้วยการใช้อำนาจทางปกครองและดำเนินกิจการทางปกครองซึ่งก็คือบริการสาธารณะ นับแต่นั้นเป็นต้นมาตั้งแต่มีการให้คำนิยามลักษณะนี้ออกมาเมื่อเกิดข้อพิพาทในสัญญารับทุนรัฐบาลจะต้องไปฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ในปัจจุบันได้มีข้อยุติแล้วโดยศาลจะวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานเดียวกันว่าการทำสัญญารับทุนรัฐบาลที่จะให้ผู้รับทุนมาปฏิบัติราชการถือว่าเป็นการให้ผู้รับสัญญาหรือผู้รับทุนได้เข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง นอกจากนี้ในตัวสัญญาก็ยังมีข้อกำหนดบางเรื่อง เช่น ข้อกำหนดเรื่องการให้ยุติการศึกษาซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้ถือว่าเป็นเอกสิทธิ์ของรัฐในการที่จะพิจารณาความเหมาะสมของผู้รับทุนว่าควรยุติการศึกษากลับมาทำงานรับราชการในประเทศไทย ตรงจุดนี้ก็เข้าลักษณะตามที่ศาลได้วินิจฉัยมาโดยตลอดว่าสัญญารับทุนรัฐบาลทางปกครอง
มีข้อสังเกตอีกประการในเรื่องสัญญารับทุนรัฐบาลโดยบางท่านอาจจะมองว่าหากเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญารับทุนรัฐบาลจะต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครองในทุกกรณี แต่จริง ๆ แล้วก็มีข้อยกเว้นอยู่บางประการเช่นหากสัญญานั้นเป็นสัญญาที่ให้ไปโดยไม่มีข้อผูกพันว่าจะต้องกลับมาทำงานรับราชการอย่างเช่นสัญญาทุนเล่าเรียนหลวง สัญญาให้เปล่าเหล่านี้จะไม่มีลักษณะให้ผู้รับทุนต้องกลับมาทำงานบริการสาธารณะโดยตรง ดังนั้นก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครองต้องไปฟ้องร้องศาลยุติธรรม
สำหรับทุนเล่าเรียนหลวงนั้น จะไม่ได้มีข้อผูกพันที่ผู้รับทุนจะต้องกลับมาทำงานรับราชการแต่ก็มีเงื่อนไขบางประการในข้อสัญญาของทุนที่ระบุว่าเมื่อจบการศึกษาแล้วจะต้องกลับมาทำงานที่ประเทศไทยแต่ไม่ได้บังคับว่าจะต้องกลับมาทำงานในหน่วยงานราชการของประเทศไทยหรือหน่วยงานไหน โดยในสัญญาระบุให้ต้องกลับมาทำงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลาเท่ากับที่รับทุนเล่าเรียนหลวงไป โดยจะประกอบอาชีพใด ๆ ก็ได้ไม่มีการบังคับเพียงแต่ต้องทำอยู่ในประเทศไทย
ประเด็น : การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาที่มีผลต่อผู้รับทุน
โดยปกติแล้วสัญญาที่ทำกับสำนักงานข้าราชการพลเรือนนั้นเนี่ยได้ทำไปแล้วก็จะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเพราะในตัวสัญญาที่ทำไปนั้นเงื่อนไขในสัญญาจะถูกระบุไว้อย่างกว้าง ๆ เมื่อพิจารณาจากสถิติของสำนักงานข้าราชการพลเรือนแล้วกรณีที่จะมีการผิดสัญญารับทุนรัฐบาลจนถึงขั้นมีข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลนั้นมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดและปัญหาในการตีความข้อสัญญานั้นแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย ในทางปฏิบัติสํานักงานข้าราชการพลเรือนแม้จะมีการยุติการให้ทุนหรือมีกรณีที่ผู้รับทุนเรียนไม่จบก็จะยุติเรื่องโดยการเจรจาหาทางออกร่วมกันจึงทำให้แทบจะไม่มีข้อพิพาทขึ้นสู่ศาล อรรถพรกล่าวต่อว่าสํานักงานข้าราชการพลเรือนนั้นแม้มีการผิดสัญญาเกิดขึ้นก็ไม่ได้มุ่งแต่จะฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกเบี้ยปรับเพียงอย่างเดียวแต่มักจะมุ่งไปที่การเจรจาร่วมกันเพื่อหาทางออกในกรณีที่มีการผิดสัญญาเกิดขึ้นเว้นแต่คู่สัญญาปฏิเสธที่จะเจรจาร่วมกันจึงจะนำข้อพิพาทขึ้นสู่ศาล
ในทางปฏิบัตินั้นก็มีกรณีที่ผู้ให้ทุนเป็นฝ่ายผิดและศาลวินิจฉัยว่าเป็นความผิดของผู้ให้ทุนเช่นกัน สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.732/2555 คำพิพากษานี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่าผู้ให้ทุนที่ได้ทำสัญญากับผู้รับทุนไปแล้วต่อมาผู้ให้ทุนได้มาแก้ไขกฎระเบียบของตัวเองโดยเดิมในสัญญาระบุว่าให้ผู้รับทุนทำงานใช้ทุนเป็นเวลา 1 เท่าของทุนแต่ทางหน่วยงานได้มาแก้ไขให้ทำงานเป็น 3 เท่าของทุน ศาลก็ได้วินิจฉัยว่าการทำข้อกำหนดเช่นนี้ไม่เป็นธรรมกับผู้รับทุนเพราะว่าเป็นข้อตกลงที่ถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้มีการตกลงร่วมกันมาก่อน
คดีนี้ก็เป็นตัวอย่างของการที่หน่วยงานรัฐมาแก้ไขข้อตกลงซึ่งสร้างภาระเกินสมควรแก่ผู้รับทุน ผลคือศาลพิพากษาว่าจะต้องเพิ่มถอนกฎระเบียบที่แก้ไขนั้น
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ได้กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่าเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาแล้วทำให้ผู้รับทุนมีภาระหนักขึ้น เพราะจริง ๆ แล้วตามหลักจะย้อนหลังให้เป็นโทษไม่ได้แต่หากมีการแก้ไขกฎระเบียบย้อนหลังแล้วเป็นคุณสามารถกระทำได้ เช่น แก้ไขระยะเวลาใช้ทุนจาก 3 เท่าลดลงเหลือ 1 เท่า
ประเด็น : การโอนย้ายสังกัดมิได้มีการระบุไว้ในสัญญารับทุนรัฐบาล แต่เพิ่งมีประกาศเพิ่มเติมภายหลังว่าจะต้องทำงานในหน่วยงานต้นสังกัดเป็นเวลา 2 ปีก่อน จึงจะสามารถโอนย้ายต้นสังกัดได้ เช่นนี้ถือเป็นการเพิ่มเติมแก้ไขข้อสัญญาใช่หรือไม่ มีผลทางกฎหมายอย่างไร
ในประเด็นนี้ มีหนังสือเวียนของสำนักงานข้าราชการพลเรือนที่ ว2 ปี 2560 กำหนดในเรื่องของหลักเกณฑ์ในการเปลี่ยนหน่วยงานเพื่อปฏิบัติการชดใช้ทุนของนักเรียนทุนสำนักงานข้าราชการพลเรือน โดยกำหนดว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะใช้กับนักเรียนทุนของสำนักงานงานข้าราชการพลเรือนเท่านั้น คุณอรรถพรมองว่าหลักเกณฑ์ตรงนี้เป็นประโยชน์กับกับผู้รับทุนเพราะว่าในสัญญารับทุนเขียนว่าให้ผู้รับทุนจะต้องกลับมาปฏิบัติงานในหน่วยงานราชการสํานักงานข้าราชการพลเรือนกำหนดโดยทำงานอย่างน้อยไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะเวลาทุน แต่ในประกาศเรื่องการโอนย้ายสังกัดที่เพิ่งออกมานั้นกำหนดว่าต้องทำงานในหน่วยงานสังกัดทุนเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีจึงจะสามารถย้ายได้ ซึ่งคุณอรรถพรมองว่าประกาศที่เพิ่งออกมานั้นเป็นการผ่อนคลายข้อกำหนดเรื่องสถานที่ใช้ทุน ในสัญญารับทุนมีความเคร่งครัดว่าจะต้องทำในหน่วยงานที่สำนักงานข้าราชการพลเรือนกำหนดเท่านั้นเป็นระยะเวลา 2 เท่าของเวลาทุน แต่ด้วยประกาศนี้ผู้รับทุนสามารถที่จะย้ายไปในหน่วยงานอื่นที่ต้องการได้ด้วยการทำงานในหน่วยงานต้นสังกัดเพียง 2 ปี เพราะหากตีความตามข้อสัญญาอย่างเคร่งครัดแล้วผู้ทำสัญญาจะต้องทำงานในหน่วยงานตามสัญญาหน่วยงานเดียวติดต่อกันไปตลอดระยะเวลาที่ระบุในสัญญา
ประเด็น : ความเป็นไปได้ในการขียนกฎหมายให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้เพื่อให้มีความเท่าเทียมต่อผู้รับทุน
คุณอรรถพรกล่าวเพิ่มเติมว่าในเรื่องทุนของรัฐบาลนั้นจะต้องพิจารณาความต้องการของหน่วยงานและแนวยุทธศาสตร์ชาติว่าต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในด้านใด จากนั้นจึงจัดสรรทุนเพื่อส่งคนไปเรียนให้ตรงกับความต้องการของรัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ดังนั้นการที่ตัวผู้รับทุนมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสาขาที่เรียนให้แตกต่างไปโดยสิ้นเชิงจากในตอนแรกนั้นจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศเป็นอย่างมากเพราะจะทำให้แผนพัฒนาบุคลากรของประเทศไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้ในตอนแรก
ประเด็น : กฎระเบียบของสำนักงานข้าราชการพลเรือนกำหนดว่าผู้รับทุนที่กำลังทำงานใช้ทุนแล้วมีอาการเจ็บป่วยจนไม่สามารถที่จะทำงานรับราชการต่อไปได้ก็จะสามารถออกจากราชการได้เลยโดยไม่ต้องทำงานใช้ทุนต่อ อาการเจ็บป่วยดังกล่าวนี้จะรวมถึงโรคทางจิตเวชต่าง ๆ ด้วยหรือไม่
โดยปกติแล้วกฎเกณฑ์นี้จะมีระบุไว้ในสัญญารับทุนสํานักงานข้าราชการพลเรือน ส่วนทุนของหน่วยงานอื่น ๆ นั้นอาจกำหนดแตกต่างจากทุนของพนักงานข้าราชการพลเรือนก็ได้ ในส่วนของทุนรัฐบาลหรือทุนสำนักงานข้าราชการพลเรือนนั้นกำหนดไว้ว่าถ้าเป็นเป็นอาการเจ็บป่วยจะต้องกรณีที่สำนักงานข้าราชการพลเรือนและกระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วแล้วเห็นว่าผู้รับทุนรับราชการหรือไม่เหมาะสมที่จะรับราชการผู้รับทุนจึงจะไม่ต้องรับผิด ซึ่งจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังในเรื่องของการชดใช้ทุนซึ่งจะมีการเขียนข้อยกเว้นไว้ในข้อที่ 27 กำหนดว่ากรณีที่จะไม่ต้องชดใช้ทุนก็จะเป็นกรณีเรื่องเจ็บป่วย ซึ่งจะกำหนดไว้ในข้อ 28 ต่อด้วยว่าอาการเจ็บป่วยที่จะไม่ต้องรับผิดตามสัญญานั้นจะต้องเป็นกรณีที่มีความเห็นแพทย์รับรองว่าไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ โดยหากแพทย์ได้รับรองมาแล้วว่าไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการป่วยทางกายหรือรวมถึงอาการป่วยทางจิตเวช ทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนและกระทรวงการคลังก็จะพิจารณาให้ไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับทุนก็ได้ ส่วนกรณีเจ็บป่วยเป็นอื่นที่แพทย์ยังไม่ได้รับรองก็ไม่ใช่ว่าทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนจะต้องให้รับผิดแน่นอนเพราะผู้ในข้อสัญญาก็มีกำหนดไว้ว่าในกรณีอื่น ๆ ถ้ากระทรวงการคลังเห็นว่าให้รับราชการต่อไปก็เป็นการไม่สมควรก็สามารถที่จะยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติราชการเพื่อชดใช้ทุนตามสัญญาก็ได้เพียงแต่ผู้รับทุนจะต้องเป็นผู้ทำเป็นคำขอเข้ามาให้สำนักงานข้าราชการพลเรือนและกระทรวงการคลังพิจารณาในเรื่องเหตุเจ็บป่วยหรือเหตุอื่น ๆ
ประเด็น : กฎเกณฑ์ดังกล่าวยังมีการระบุต่อไปอีกว่าหลังจากเจ็บป่วยจนต้องออกจากราชการโดยไม่ต้องรับผิดชดใช้ทุนและจ่ายเบี้ยปรับแล้ว ภายใน 3 ปีนับแต่ออกจากข้าราชการผู้ที่ออกจากข้าราชการไปแล้วจะต้องห้ามไม่ให้เข้าทำงานในบริษัทเอกชน องค์กรต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศที่มีเงินเดือนและผลประโยชน์สูงกว่าที่ผู้ทำสัญญาจะได้รับจากการรับข้าราชการ มิเช่นนั้นผู้ต้องรับผิดชดใช้ทุนรัฐบาลและเบี้ยปรับต่อไป
กรณีนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนได้ยกเว้นความผิดให้แก่ผู้ที่มีอาการป่วยให้ไม่ต้องรับราชการและชดใช้เบี้ยปรับ เพราะเมื่อผู้นั้นไม่ต้องรับราชการและชดใช้เบี้ยปรับแล้วหากหลังจากออกราชการไปและหายจากอาการป่วยแล้วและยังสามารถไปปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นได้ก็จะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ได้ยกเว้นความผิดให้เพราะอาการป่วยจนไม่อาจรับราชการได้ ในกรณีนี้เคยมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมาแล้วที่ตัวผู้รับทุนขอลาออกจากราชการโดยอ้างเหตุอาการเจ็บป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ตามปกติ แต่ต่อมาได้ไปทำงานกับบริษัทเอกชนซึ่งได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าตอนรับราชการศาลก็พิพากษาให้ผู้นั้นรับผิดชำระเบี้ยปรับเต็มจำนวนเพราะถือว่าบุคคลนี้ตั้งใจหลีกเลี่ยงการปฏิบัติราชการโดยอ้างอาการป่วย คุณอรรถพรเห็นว่าทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนได้ยกเว้นความรับผิดให้เพราะอาการป่วยของเขา ดังนั้นหากหายป่วยแล้วผู้รับทุนก็ควรแสดงความบริสุทธิ์ใจโดยการกลับเข้ามารับราชการเพื่อทำงานใช้ทุนตามสัญญา
รศ.ดร.ต่อพงศ์ถามเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่าในกรณีที่ได้รับการยกเว้นความผิดจากการออกราชการมาแล้วต่อมาหายจากอาการป่วยหายในเวลา 1 ปี ในกรณีนี้ทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนจะมีข้อบังคับให้ต้องกลับเข้าไปรับราชการเพื่อชดใช้ทุนหรือไม่หรือเพียงแต่มีข้อห้ามว่าห้ามไปทำงานในหน่วยงานเอกชนอื่นที่ได้รับผลประโยชน์สูงกว่าภายในระยะเวลา 3 ปีนับแต่ออกจากราชการเพราะอาการป่วยเท่านั้น
คุณคุณอรรถพรกล่าวว่าในข้อสัญญาไม่ได้ระบุว่าหากออกจากราชการด้วยอาการเจ็บป่วยแล้วจะต้องห้ามมิให้ไปทำงานในองค์กรอื่น เขาไปปฏิบัติงานได้ภายใน 3 ปีนั้นแสดงว่าเหตุเจ็บป่วยของเขาได้หมดลงไปแล้ว การที่ทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนอนุญาตตามข้อสัญญาข้อนี้นั้นไม่ใช่เรื่องของการที่ผู้รับทุนจะพ้นความรับผิดไปโดยสิ้นเชิงเพียงแต่เป็นการยกเว้นความรับผิดให้ในเหตุที่ผู้รับทุนมีอาการป่วยจริง ๆ หากสาเหตุดังกล่าวได้หมดไปภายในระยะเวลา 3 ปีแล้วผู้รับทุนไปทำงานในหน่วยงานอื่นที่ได้รับค่าตอบแทนสูงเขาก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ทุนต่อไป
ประเด็น : เบี้ยปรับของการผิดข้อสัญญารับทุนรัฐบาล
ในส่วนนี้ถือว่าเป็นเบี้ยปรับจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาซึ่งจริง ๆ แล้วทางหน่วยงานไม่ได้ประสงค์จะใช้ข้อสัญญาข้อนี้ในการเรียกเบี้ยปรับอยู่แล้ว คุณอรรถกรกล่าวต่อว่าในทางปฏิบัตินั้นในเรื่องการผิดสัญญาไม่กลับมารับข้าราชการนั้นแทบจะไม่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นเลย โดยส่วนมากผู้รับทุนจะยอมเข้ารับราชการเพื่อใช้ทุนตามกำหนด ในส่วนของเรื่องเบี้ยปรับนั้นก็เป็นไปตามสัญญาแต่ว่าก่อนที่จะใช้มาตรการเบี้ยปรับนั้นทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนมีการพูดคุยร่วมกันเพื่อหาสาเหตุของปัญหาว่าทำไมจึงกลับมารับราชการไม่ได้เสียก่อน คุณอรรถพรกล่าวว่าหากผู้รับทุนมีปัญหาใด ๆ ในเรื่องการทำงานก็อยากที่จะให้มาปรึกษากับทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนเสียก่อนเพื่อช่วยในการตัดสินใจช่วยหาทางออกให้ มาตรการที่จะให้ศาลบังคับตามข้อสัญญานั้นให้เป็นวิธีสุดท้ายจริง ๆ หรือหากผู้ใดต้องการจะศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับทุนหรือเคสของนักศึกษาทุนต่าง ๆ ที่ทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนจะจัดหาให้ได้ก็สามารถที่จะมาขอได้ทางสำนักงานพลเรือนยินดีที่จะให้
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ถามเพิ่มเติมว่าในกรณีที่ผู้รับทุนถูกฟ้องคดีจากการผิดสัญญาแล้วแล้วจะต้องจ่ายเบี้ยปรับนั้นมีกรณีที่ผู้รับทุนต่อสู้แล้วร้องขอต่อศาลให้ลดจำนวนเบี้ยปรับลงเพราะสูงเกินไปหรือไม่ เนื่องจากตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานข้าราชการพลเรือนจะต้องจ่ายคือเงินทุนทั้งหมดที่ใช้ไประหว่างได้ทุนและจ่ายเบี้ยปรับอีก 2 เท่า รวมแล้วต้องจ่ายถึง 3 เท่า
คุณอรรถพรกล่าวว่าก็มีเพราะว่าโดยหลักกฎหมายแล้วสามารถที่จะร้องขอต่อศาลให้ลดเบี้ยปรับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 381 และมาตรา 383 แต่จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะลดเบี้ยปรับให้หรือไม่ คุณอรรถพรกล่าวว่าเมื่อดูจากข้อมูลแล้วหากว่าผู้นั้นไม่กลับมารับราชการเลยโดยหลักแล้วศาลจะไม่ลดเบี้ยปรับให้ แต่หากทำงานรับราชการมาเป็นระยะเวลาจนเกือบจะครบตามสัญญาแล้วศาลก็อาจจะพิจารณาลดเบี้ยปรับให้โดยดูจากเหตุผลความจำเป็นและข้อเท็จจริง ส่วนเรื่องการฟ้องคดีนั้นจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นเพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องฟ้องคดีผู้ผิดสัญญา
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ได้ถามเพิ่มเติมว่าเกณฑ์ในเรื่องการคืนทุนที่ได้รับไปทั้งหมดและจะต้องจ่ายเบี้ยปรับ 2 เท่ารวมแล้วเป็น 3 เท่าหากจะไม่กลับมาทำงานรับราชการตามสัญญานั้น เป็นเกณฑ์ที่กำหนดไว้แบบนี้ตั้งแต่ต้นใช่หรือไม่หรือว่าเคยมีแบบอื่น
คุณอรรถพรกล่าวว่าตัวเลขของเกณฑ์ดังกล่าวสามารถมีการปรับเปลี่ยนได้โดยจะเป็นไปตามนโยบายของฝ่ายบริหารเช่นหากเป็นกรณีทุนของสำนักงานข้าราชการพลเรือน สํานักงานข้าราชการพลเรือนก็จะเป็นผู้พิจารณาเกณฑ์ดังกล่าว โดยก่อนปีพ.ศ 2533 เกณฑ์ดังกล่าวเคยกำหนดเบียปรับไว้เพียง 1 เท่าจากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนมาเป็นแบบในปัจจุบันคือรวมแล้ว 2 เท่า
ปัจจุบันก็มีการทบทวนเรื่องนี้อยู่เหมือนกันว่าจำนวนดังกล่าวถือว่าสูงไปหรือไม่โดยในที่ประชุมของกรรมการสำนักงานข้าราชการพลเรือนก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยว่าเหมาะสมแล้วเพราะจะช่วยรักษาบุคลากรให้อยู่ทำงานกับหน่วยงานภาครัฐตามวัตถุประสงค์ของทุนและฝ่ายที่เห็นว่าควรปรับลดระยะเวลาการทำงานใช้ทุนหรือปรับลดจำนวนเบี้ยปรับลงเพื่อเป็นการจูงใจให้คนอยากมารับทุนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพูดคุยเพื่อปรับปรุงแก้ไข
รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม / อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประเด็น : ความแตกต่างระหว่างสัญญาทางปกครองและสัญญาทางแพ่ง
รศ.ดร.ต่อพงศ์ กล่าวว่าในประเด็นดังกล่าวคุณอรรถพรตอบไปค่อนข้างชัดเจนแล้ว แต่จะขอเพิ่มเติมประเด็นบางอย่างเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยกล่าวว่าในปัจจุบันนั้นสัญญารับทุนรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการรับทุนเพื่อศึกษาภายในประเทศหรือการรับทุนเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศที่มีลักษณะผูกพันให้ผู้รับทุนต้องกลับมาทำงานราชการเพื่อใช้ทุน ศาลปกครองก็ได้วางบรรทัดฐานไว้แล้วว่าถือเป็นสัญญาทางปกครอง แล้วการชี้ขาดว่าสัญญาใดเป็นสัญญาทางปกครองบ้างนั้นก็จะต้องพิจารณาจากมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาทางปกครอง โดยเงื่อนไขความเป็นสัญญาทางปกครองนั้นในทางวิชาการจะมีอยู่ 2 ประการ คือ 1.ตัวบุคคลที่เป็นคู่สัญญา โดยการที่จะเป็นสัญญาทางปกครองได้นั้นจะต้องมีคู่สัญญาอย่างน้อย 1 ฝ่ายที่เป็นรัฐหรือผู้แทนรัฐ 2.ตัวเนื้อหาของสัญญา ด้วยการที่จะเป็นสัญญาทางปกครองได้นั้นเนื้อหาสัญญาจะต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งที่ถูกกฎหมายกำหนดเอาไว้ เช่น สัญญาสัมปทาน สัญญาจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ในเรื่องของสัญญารับทุนรัฐบาลนั้นก็เป็นที่ยุติแล้วโดยศาลตัดสินมาโดยตลอดว่าเป็นสัญญาทางปกครอง เพราะลักษณะของข้อสัญญาที่ต้องให้ผู้รับทุนกลับมาทำงานรับราชการเป็นข้อสัญญาว่าจะร่วมกันจัดทำบริการสาธารณะ ในประเด็นนี้มีการอภิปรายถกเถียงกันในทางวิชาการค่อนข้างเยอะว่าแนวทางการตีความสัญญาทางปกครองของศาลไทยนั้นค่อนข้างกว้าง ส่งผลให้สัญญาหลาย ๆ ประการที่หน่วยงานของรัฐทำขึ้นจะกลายเป็นสัญญาปกครองเกือบทั้งหมด แต่ในทางปฏิบัตินั้นถือว่ายุติแล้วว่าสัญญารับทุนรัฐบาลเป็นสัญญาทางปกครอง
เมื่อสัญญารับทุนรัฐบาลเป็นสัญญาทางปกครองแล้วจะเกิดผล 2 ประการ ผลประการแรกคือศาลที่จะมีอำนาจพิจารณาข้อพิพาทในสัญญารับทุนรัฐบาลจะเป็นศาลปกครอง ผลประการที่สองคือเรื่องหลักกฎหมายที่จะนำมาใช้กับข้อพิพาทในสัญญารับทุนรัฐบาลโดยมากถือว่าเป็นสัญญาทางปกครองแล้วหลักกฎหมายที่จะนำมาใช้ก็จะต้องเป็นหลักกฎหมายในทางมหาชน หลักกฎหมายปกครอง กฎหมายเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง แต่ก็มีปัญหาตรงที่ว่าในตัวราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองนั้นไม่ได้เขียนรายละเอียดในเรื่องของสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา หลักต่าง ๆ จึงเกิดมาจากการที่ศาลตัดสินคดีและพัฒนาขึ้นมาเองจนเกิดเป็นบรรทัดฐาน โดยหลักที่ศาลพัฒนาขึ้นมาจะมีหลักการสำคัญประการหนึ่งคือ สัญญาใดเป็นสัญญาทางปกครองแล้วไม่ว่าคู่สัญญาจะตกลงกันอย่างไรก็ตาม คู่สัญญาฝ่ายที่เป็นรัฐมีเอกสิทธิ์อย่างมากในการที่จะเลิกสัญญาหรือเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาฝ่ายเดียวโดยที่คู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ต้องยินยอม
เมื่อสัญญารับทุนรัฐบาลมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองแล้วจึงมีเอกสิทธิ์อย่างยิ่งในการที่จะเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาฝ่ายเดียว ยกเลิกข้อสัญญา ยกเลิกการให้ทุนหรือลงโทษผู้รับทุนในกรณีที่ผู้รับทุนผิดสัญญาซึ่งเรื่องสถานะของสัญญารับทุนรัฐบาลเป็นที่ยุติแล้วจากคำพิพากษาของศาลว่าเป็นสัญญาทางปกครอง แต่ประเด็นที่อาจจะต้องมาถกเถียงกันต่อไปคือเรื่องที่ผู้รับทุนมีความกังวลมากกว่าคือเรื่องความเป็นธรรมของสัญญาว่ามีความเป็นธรรมต่อตัวผู้รับทุนหรือไม่ เมื่อรัฐเซ็นสัญญาแล้วจะสามารถเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาฝ่ายเดียวที่จะทำให้เกิดภาระให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายได้หรือไม่
ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาฝ่ายเดียวโดยรัฐหลังจากเซ็นสัญญาที่มีลักษณะสร้างภาระให้แก่อีกฝ่ายสามารถกระทำได้เพราะรัฐมีเอกสิทธิ์อย่างที่ได้กล่าวไป แต่ไม่ใช่ว่ารัฐจะกระทำได้ตามอำเภอใจแต่จะกระทำได้เมื่อมีข้อเท็จจริงเรื่องประโยชน์สาธารณะบางอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องจนทำให้รัฐต้องตัดสินใจเปลี่ยนข้อสัญญา การที่รัฐตัดสินใจจะเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาฝ่ายเดียวหลังจากเซ็นสัญญานั้นก็ต้องถือว่ารัฐกระทำผิดข้อสัญญา โดยศาลปกครองก็อาจชี้ขาดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อสัญญาโดยฝ่ายรัฐไม่ใช่ว่ารัฐจะสามารถกระทำได้โดยไม่มีความผิดเลย
ในประเด็นนี้ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าการที่รัฐได้ใช้อำนาจของฝ่ายปกครองเพื่อไปยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงสัญญารับทุนรัฐบาล รัฐก็จำเป็นที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่สัญญาโดยใช้กฎหมายแพ่ง คือเมื่อสัญญาเกิดแล้วคู่สัญญาก็ต้องผูกพันตามสัญญา หากรัฐใช้อำนาจทางปกครองเพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาโดยไม่ได้รับความยินยอมคู่สัญญาอีกฝ่ายรัฐย่อมต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่าย ดังนั้นโดยหลักแล้วการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาต้องพิจารณาถึงความตกลงร่วมกันระหว่างคู่สัญญา
ประเด็น : ผู้ให้ทุนมีสิทธิแค่ไหนที่จะไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อสัญญาตามคำขอของผู้รับทุนเนื่องจากสัญญารับทุนรัฐบาลเป็นสัญญาทางปกครองที่ทางฝ่ายผู้ให้ทุนมีเอกสิทธิ์มากกว่าไปผู้รับทุน
เรื่องสถานะของสัญญารับทุนรัฐบาลว่าเป็นสัญญาทางปกครองก็เป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนในทางทฤษฎีนั้นหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจมากกว่าเอกชน แต่ในสัญญารับทุนนั้นมีลักษณะเฉพาะมาก ๆ โดยรศ.ดร.ต่อพงศ์เห็นด้วยกับผศ.ดร.สุรศักดิ์ในประเด็นที่ว่าสัญญารับทุนที่มีการกำหนดล่วงหน้า 2 ประการแล้วมักจะมีปัญหา ประการหนึ่งคือการกำหนดล่วงหน้าสำหรับนักศึกษาคือการให้ผู้รับทุนเซ็นสัญญาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือชั้นปริญญาตรีล่วงหน้าว่าคุณจะต้องกลับมาทำงานนานเท่าใด ในสถานที่ไหน งานแบบใด ประการสองคือการกำหนดล่วงหน้าว่าคุณจะต้องไปสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะที่ถูกกำหนดในสัญญา เห็นว่าข้อกำหนดทั้ง 2 ประการดังกล่าวเป็นความต้องการของภาครัฐหรือหน่วยงานต้นสังกัดทุน แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วสัญญาดังกล่าวถือเป็นสัญญาที่มีความเสี่ยงเป็นอย่างมากที่ผู้รับทุนจะปฏิบัติตามไม่ได้โดยอาจเพราะด้วยเหตุผลส่วนตัวของผู้รับทุน เช่น เมื่อผู้รับทุนไปเรียนในสาขาดังกล่าวแล้วพบว่าตนไม่ถนัดหรือไม่สนใจหรือมีความสนใจในสาขาอื่นทำให้ตัวผู้รับทุนไม่มีกำลังใจที่จะเรียนต่อให้จบการศึกษา จริง ๆ แล้วเรื่องทุนควรมองบนพื้นฐานความต้องการของผู้รับทุนเป็นหลักว่าเขามีความต้องการที่จะไปเรียนในสาขาใดที่เขาต้องการหรือกลับมาทำงานในหน่วยงานใดที่เขาต้องการ เป็นการกำหนดอนาคตของคนล่วงหน้าโดยที่เราไม่มีทางรู้เลยว่าในอีก 3 ปี 5 ปีข้างหน้าความสนใจของนักเรียนที่รับทุนจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใด
รศ.ดร.ต่อพงศ์มองว่าสัญญาที่มีการกำหนดล่วงหน้าทั้ง 2 ประการนั้นมันมีความไม่เป็นธรรมอยู่ในแง่ของการจำกัดความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตของผู้รับทุนค่อนข้างมากหากเกิดปัญหาแล้วจะแก้อย่างไร เมื่อสัญญารับทุนเป็นสัญญาทางปกครองวิธีแก้ปัญหาเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ เช่น ผู้รับทุนต้องการเปลี่ยนสาขาที่เรียนหรือผู้รับทุนไม่สามารถที่จะกลับมาทำงานในหน่วยงานที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ หากถึงที่สุดรัฐและสำนักงานข้าราชการพลเรือนก็ควรจะต้องหาวิธีจัดการที่จะทำให้ผู้รับทุนสามารถได้เรียนในสาขาที่ตรงกับความสนใจของตน หรือได้กลับมาทำงานในหน่วยงานที่ตรงกับความสามารถหรือตรงความสนใจมากที่สุด ซึ่งตรงจุดนี้มองว่าระบบการให้ทุนควรจะกำหนดกฎเกณฑ์ที่สร้างความผ่อนคลายโอกาสที่สองให้แก่ผู้รับทุน กล่าวคือกฎเกณฑ์ควรจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพราะปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาที่นักเรียนทุนส่วนมากมักจะพบเจออยู่เป็นประจำ
ประเด็น : ความเป็นไปได้ในการขียนกฎหมายให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้เพื่อให้มีความเท่าเทียมต่อผู้รับทุน
รศ.ดร.ต่อพงศ์กล่าวว่าตนนั้นเข้าใจความจำเป็นของหน่วยงานรัฐเช่นกันที่จะต้องวางแผนพัฒนาบุคลากรต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อประโยชน์ประเทศโดยตรงซึ่งการส่งคนไปเรียนก็ถือว่าความต้องการดังกล่าวอยู่ เรื่องการกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องกลับมาทำงานใช้ทุนในหน่วยงานใดนั้นก็เป็นเรื่องที่ถือว่ามีความจำเป็นเพราะหน่วยงานรัฐให้ทุนไปโดยคาดหวังว่าจะได้บุคลากรในแบบที่ต้องการกลับมา ส่วนการที่ฝ่ายผู้รับทุนก็มีความรู้สึกว่าการกำหนดไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ตนยังเด็ก ว่าเขาจะต้องกลับมาทำงานในที่ใด ทำงานตำแหน่งใดตรงกับที่เรียนมาไหม มีความก้าวหน้าแค่ไหน เหตุผลเหล่านี้ก็ควรค่าแก่การรับฟัง
ประเด็นนี้ค่อนข้างพูดยากเนื่องจากก่อนที่จะรับทุนผู้รับทุนย่อมทราบเงื่อนไขของสัญญาดีอยู่แล้วว่าจะต้องกลับมาทำงานที่ใด แต่เพราะผู้รับทุนเองก็มีความอยากได้ทุนจึงได้ตอบตกลงไป ส่วนทางฝั่งรัฐก็มีความต้องการบุคลากรตามทุนที่จัดสรรไป การตั้งกฎเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นถือว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดี แต่วิธีที่จะแก้ปัญหาในระยะยาวได้คืออาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการให้ทุนเนื่องจากคนรุ่นใหม่นั้นมีความต้องการที่จะได้ทุนแบบที่ไม่มีข้อผูกมัด อาจจะต้องจัดสรรทุนให้แก่หน่วยงานที่มีความจำเป็นจริง ๆ ที่ผู้ได้รับทุนไม่รู้สึกอึดอัดใจที่จะกลับมาทำงานในหน่วยงานดังกล่าว แต่หากไม่สามารถทำได้คำถามดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ว่าที่เขาไปเรียนแล้วรู้สึกว่าหน่วยงานที่จะต้องกลับมาทำงานนั้นสามารถใช้ศักยภาพของเขาได้อย่างเต็มที่หรือไม่ ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจความจำเป็นของรัฐเช่นกันแต่ในเรื่องนี้นั้นก็ควรที่จะมีทางออกร่วมกันหากถึงที่สุดแล้วผู้รับทุนมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงานหลังจากที่กลับมาทำงานในประเทศไทย ทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนก็ควรสร้างกฎเกณฑ์เพื่อหาทางออกให้แก่ผู้รับทุนโดยไม่เป็นการสร้างภาระแก่ผู้รับทุนที่มากเกินไปภาระในเรื่องการใช้ทุนและภาระในเรื่องเบี้ยปรับ
ประเด็น : เบี้ยปรับของการผิดข้อสัญญารับทุนรัฐบาล
ตามความเห็นของศาลนั้นศาลมองว่าเบี้ยปรับ 3 เท่านั้นถือว่าไม่สูงเกินไปเพราะหากหน่วยงานของรัฐไม่กำหนดเบี้ยปรับให้สูงเช่นนี้แผนพัฒนาบุคลากรก็จะสำเร็จได้ยากเนื่องจากคนที่ได้ทุนอาจไม่ยอมเข้ามาทำงานรับราชการหลักจากเรียนจบแต่จะเลือกเสียเบี้ยปรับแทนซึ่งจะทำให้ภาครัฐขาดบุคลากรตามวัตถุประสงค์ของทุนและต้องเสียเวลาเพื่อที่จะส่งคนไปเรียนใหม่
ประเด็นที่มักจะอภิปรายกันคือประเด็นที่ว่าเบี้ยปรับที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าใดเสียมากกว่าโดยคิดว่าตัวเลขเบี้ยปรับที่เหมาะสมนั้นเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก
รศ.ดร.ต่อพงศ์ได้ยกรณีตัวอย่างในเรื่องเบี้ยปรับของสัญญาใช้ทุนจากคำพิพากษาของศาลแรงงานของเยอรมันโดยโดยศาลมีการวางหลักว่าสัญญารับทุนที่มีความผูกพันให้กลับมาทำงานตามที่กำหนดซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพนั้นสามารถกระทำได้เพราะเป็นความตกลงระหว่างคู่สัญญา แต่ระยะแต่เวลาในข้อตกลงก็มีประเด็นว่าหากนานเกินไปก็จะขัดกับเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพเกินสมควรแก่เหตุ ในเรื่องตัวเลขเวลานั้นแนวคำพิพากษาของศาลแรงงานเยอรมันบอกว่ารวมทั้งหมดแล้วไม่ควรเกิน 5 ปีเพราะหากเกิน 5 ปีจะถือเป็นการจำกัดสิทธิ์ในการประกอบอาชีพเยาวชนเกินสมควรแก่เหตุ ประการต่อมาที่ศาลแรงงานเยอรมันได้วางหลักไว้คือการกำหนดให้คนกลับมาทำงานใช้ทุนหลังจากที่เรียนจบจะกำหนดได้เฉพาะกรณีที่ปริมาณทุนที่ผู้ให้ทุนได้ให้ไปมีจำนวนสูงมากพอที่จะมาจำกัดสิทธิ์ของผู้รับทุนได้หมายความว่าถ้าให้ทุนไม่มากก็จะไม่สามารถมาจำกัดสิทธิ์ให้ผู้รับทุนต้องทำงานใช้ทุนได้ ประการต่อมาที่ศาลแรงงานเยอรมันได้วางหลักไว้คือการที่จะกำหนดให้ผู้รับทุนกลับมาทำงานใช้ทุนได้นั้นจะต้องมีการยืนยันกับตัวผู้รับทุนตั้งแต่แรกว่างานที่ผู้รับทุนจะได้กลับมาทำนั้นจะตรงกับสิ่งที่เขาไปเรียนจริง ๆ ประการสุดท้ายในเรื่องเบี้ยปรับศาลแรงงานเยอรมันได้วางหลักว่าเงินที่กำหนดไว้ในข้อสัญญาคือให้จ่ายเงินพร้อมดอกเบี้ยนั้นศาลรับได้ แต่ในศาลแรงงานเยอรมันนั้นไม่ได้มีการถกเถียงกันในเรื่องประเด็นที่ว่าเบี้ยปรับ 2-3 เท่านั้นถือว่าสูงเกินไปหรือไม่
เบี้ยปรับที่กำหนดไว้สูงเกินไปนั้นจะทำให้ผู้รับทุนไม่มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองได้เพราะจะต้องทำงานในที่ที่กำหนดไปเป็นระยะเวลายาวนานซึ่งอาจดูเกินสมควรไปเหมือนกัน เราจึงต้องมาถกเถียงกันว่าตัวเลขที่เหมาะสมที่พอจะทำให้ผู้รับทุนสามารถเปลี่ยนชีวิตของตัวเองในกรณีจำเป็นโดยการเลือกที่จะจ่ายเบี้ยปรับได้นั้นคือเท่าใด ทั้งในเรื่องตัวเลขเทียบปรับ 3 เท่านั้นก็อาจจะสร้างความไม่เท่าเทียมให้แก่ผู้รับทุนเช่นกันเนื่องจากในสถานที่ที่ผู้รับทุนไปเรียนในแต่ละที่นั้นมีค่าเงินที่ถูกแพงต่างกัน ในบางที่เช่นยุโรปหรืออเมริกาอาจจะใช้เงินเป็นจำนวนมากจนทำให้เบี้ยปรับมีจำนวนมากกว่าของผู้ที่ไปเรียนในประเทศอื่น ๆ จนทำให้ไม่สามารถจ่ายเบี้ยปรับได้ไหวเพราะมีจำนวนมาก ซึ่งจะเสียเปรียบกว่าผู้ที่ต้องเสียเบี้ยปรับจำนวนน้อยกว่าเพราะเขามีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองได้มากกว่า แต่ส่วนตัวก็เข้าใจถึงความจำเป็นของรัฐเช่นกันว่าจำเป็นต้องกำหนดเบี้ยปรับที่สูงเพื่อจะต้องรักษาบุคลากรไว้
ประเด็น : การให้ทุนโดยมีลักษณะข้อผูกมัดให้กลับมาทำงานชดใช้ทุนในหน่วยงานที่กำหนดนั้นมีลักษณะเป็นการประกาศสิทธิและเสรีภาพหรือไม่
โดยส่วนตัวตนเห็นว่าสัญญารับทุนของรัฐบาลนั้นมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพแน่นอนอยู่แล้วแต่ว่าการจำกัดดังกล่าวก็ถือว่ามีเหตุผลจำเป็นให้ทำได้เพราะเป็นเรื่องแผนพัฒนาบุคลากรของภาครัฐ โดยมีความเห็นว่าการจำกัดสิทธิ์ของกลุ่มบุคคลนั้นมีความไม่เท่าเทียมกันโดยควรจะแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับทุนไปเป็นผู้ที่เป็นข้าราชการของรัฐอยู่แล้วและถูกผูกมัดว่าจะต้องกลับมาทำงานใช้ทุนในหน่วยงานที่กำหนดซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ใหญ่ที่มีแนวทางชีวิตของตัวเองชัดเจนอยู่แล้วจึงไม่น่าห่วงเท่าไหร่ กับอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มนักศึกษาชั้นมัธยมหรือชั้นปริญญาตรีที่ได้ทำสัญญารับทุนดังกล่าวไปโดยกลุ่มนี้จะต้องดูเป็นพิเศษว่าจะกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไรเพื่อที่จะให้ผู้รับทุนสามารถเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองได้ง่ายเพราะผู้ที่เซ็นสัญญารับทุนในลักษณะนี้นั้นยังเป็นเพียงแค่นักเรียนนักศึกษาที่ยังไม่เคยเข้าทำงานจึงยังไม่รู้ว่าชีวิตตัวเองจะเดินไปในลักษณะใด โดยเห็นว่าทุนที่จะให้กลุ่มบุคคลกลุ่มหลังนั้นควรจะเป็นทุนให้เปล่า
คำถามอื่น ๆ จากการเสวนา
(1) การกลับมาใช้ทุนสองปีก่อนที่จะขอโอนย้ายและเรื่องเบี้ยปรับจากตัวข้อสัญญานั้นหากจะอธิบายให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้จะมีหลักเกณฑ์เช่นใดบ้าง (อ.สุประวีณ์)
คุณอรรถพร : สํานักงานข้าราชการพลเรือนนั้นไม่ได้ออกกฎที่มีลักษณะบังคับเด็ดขาดเลยเสียทีเดียวว่าจะต้องทำงานที่หน่วยงานที่ตนเองให้สัญญาไว้ โดยได้มีหลักเกณฑ์ออกมาแล้วว่าถ้าทำงานครบ 2 ปีแล้วมีความประสงค์ที่จะย้ายหน่วยงานก็สามารถทำเป็นคำขอได้ หลักเกณฑ์นี้จะใช้เฉพาะกับทุนของสำนักงานข้าราชการพลเรือนเท่านั้นไม่ใช้กับทุนที่สังกัดกระทรวงอื่น ๆ ในการขอย้ายหน่วยงานที่จะทำงานใช้ทุนนั้นจำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมจากทั้งหน่วยงานที่ระบุในสัญญาและความยินยอมจากหน่วยงานที่ผู้รับทุนต้องการจะย้ายไป คุณอรรถพรกล่าวต่ออีกว่าหลักเกณฑ์ในการขอย้ายสถานที่ทำงานใช้ทุนนั้นค่อนข้างยืดหยุ่นขึ้นจากแต่เดิมที่ย้ายได้แค่ระหว่างกระทรวงกรมแต่ในปัจจุบันสามารถย้ายไปทำงานในหน่วยงานรัฐอื่น ๆได้ เช่น องค์กรอิสระต่าง ๆ องค์การมหาชน มหาวิทยาลัย
(2) มีความเป็นไปได้ไหมในอนาคตที่จะสามารถให้ผู้รับทุนไปทำงานใช้ทุนในบริษัทเอกชนแทนที่จะป็นหน่วยงานของภาครัฐเพราะว่าก็สามารถที่จะช่วยพัฒนาประเทศได้เช่นเดียวกันการทำงานในหน่วยงานรัฐ (ผู้เข้าร่วมเสวนา)
คุณอรรถพร : ในส่วนของสำนักงานข้าราชการพลเรือนนั้นมีความเป็นไปได้อยู่ สํานักงานข้าราชการพลเรือนกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบทุนรัฐบาลโดยส่วนหนึ่งจะมีการปรับปรุงข้อสัญญาของทุนรัฐบาล ในส่วนของการที่จะให้ไปปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นในปัจจุบันนั้นก็มีระเบียบของสำนักงานข้าราชการพลเรือนที่จะให้ข้าราชการไปปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาตัวเองในหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นในหน่วยงานอื่นหรือในหน่วยงานเอกชน แต่การที่จะกำหนดเลยว่าผู้รับทุนรัฐบาลจะขอไปชดใช้ทุนในหน่วยงานเอกชนตั้งแต่แรกเลยนั้นจะยังไม่สามารถทำได้ในปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างรวบรวมประเด็นความเห็นต่าง ๆ เพื่อที่จะมาปฏิรูประบบทุนรัฐบาลเล่นแก้ไขปรับปรุงสัญญาทุนรัฐบาล
(3) หากมีกฎระเบียบของต้นสังกัดเพิ่มเติมมาทีหลังแล้วเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้รับทุนมากกว่าที่ผู้รับทุนทราบในตอนแรกจากกฎระเบียบของสํานักงานข้าราชการพลเรือน เช่นหากระเบียบของสํานักงานข้าราชการพลเรือนได้กำหนดว่าให้ต้องทำงานเป็นระยะเวลา 2 ปีก่อนจึงจะโอนย้ายสังกัดได้ แต่มีระเบียบของต้นสังกัดทุนออกมาในภายหลังว่าจะต้องทำงานมากกว่าครึ่งหนึ่งของระยะเวลาทุนจึงจะสามารถย้ายสังกัดได้ ผลจะเป็นอย่างไร (ดร.พีรดล)
รศ.ดร.ต่อพงศ์ : มีความเห็นว่าหากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นควรจะใช้กฎระเบียบ 2 ปีของสำนักงานข้าราชการพลเรือนที่ตัวผู้รับทุนได้ทราบตั้งแต่แรกเป็นเกณฑ์กลางในการพิจารณากับนักเรียนทุนเป็นการทั่วไป ถ้าระเบียบของหน่วยงานอื่นสร้างภาระมากกว่าทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนควรจะใช้เกณฑ์ 2 ปีเป็นมาตรฐานเพราะหากให้หน่วยงานอื่นหน่วยงานสามารถกำหนดเกณฑ์เวลาที่แตกต่างกันไปได้ก็จะทำให้เกิดความไม่เสมอภาคกันระหว่างตัวผู้รับทุนด้วยการในการที่จะเปลี่ยนแปลงอาชีพหรือเป็นสายงาน
(4) หากหน่วยงานได้มีการวางแผนไว้แต่แรกว่าต้องการบุคคลที่จบในสาขาใดเพื่อจะเข้ามาทำงาน เช่นนี้หากผู้รับทุนยังอยู่ในระหว่างการศึกษาแล้วนโยบายหรือแผนพัฒนาบุคลากรภายในประเทศเกิดมีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างที่ตัวผู้รับทุนยังไม่ได้กลับเข้ามาทำงานในประเทศในเมื่อเขากลับมาเขาต้องไปทำงานในหน่วยงานที่ไม่ตรงกับสาขาที่ไปเรียนมาจะมีทางแก้อย่างไร (ดร.พีรดล)
คุณพรพิศ : เรื่องนี้นั้นตอบได้ยากเนื่องจากจะต้องมีการพูดคุยกันจากหลายฝ่ายก่อนเพราะนโยบายทางบริหารนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้และทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด คุณพรพิศกล่าวต่อว่าจากประสบการณ์ที่ดูแลนักเรียนทุนมากว่า 20ปีนั้นนักเรียนทุนเป็นผู้ที่มีความสามารถไม่ว่าเขาจะเรียนจบในสาขาใดมาเขาก็สามารถนำความรู้ที่เรียนมามาประยุกต์ใช้ได้อย่างดีแม้จะเข้าทำงานในหน่วยงานที่ไม่ได้ตรงกับสาขาที่ตนเองเรียนโดยตรง
(5) ทางสำนักงานพลเรือนมีการติดตามผู้รับทุนหลังจากกลับมาทำงานอย่างไรบ้างว่าเขาได้เข้าทำงานตรงกับสาขาที่เรียนมาหรือไม่ (ดร.พีรดล)
คุณพรพิศ : ทุนที่สำนักงานข้าราชการพลเรือนเป็นผู้จัดสรร สํานักงานข้าราชการพลเรือนจะมีหน่วยงานที่คอยดูแลและติดตามน้นักเรียนทุนที่กลับมาทำงานว่าได้ไปทำงานที่ใด ส่วนทุนอื่น ๆ ที่สำนักงานข้าราชการพลเรือนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้คัดเลือกบุคคลที่จะได้ทุนแต่ทุนดังกล่าวมีต้นสังกัดอยู่ที่กระทรวงอื่น เช่นนี้การติดตามดูแลในเรื่องที่ทำงานของผู้รับทุนจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงต้นสังกัดของทุนไม่ใช่หน้าที่ของสำนักงานข้าราชการพลเรือน
(6) ในกรณีที่นักเรียนทุนมีปัญหาหรือข้อสงสัยควรจะปรึกษาหน่วยงานใดเป็นที่แรกดีระหว่างสำนักข้าราชการพลเรือนหรือต้นสังกัดของทุน (ดร.พีรดล)
คุณพรพิศ : สำหรับนักเรียนทุนที่จบการศึกษามาแล้วก็จะแนะนำให้ปรึกษากับต้นสังกัดทุนของตนโดยตรง
(7) การไปรับทุนอีกทุนซ้อนกับทุนของสำนักงานข้าราชการพลเรือนนั้นสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร (อ.สุประวีณ์)
คุณอรรถพร : จะมีเขียนอยู่ในข้อ 3 ของสัญญาทุนว่าผู้รับทุนจะต้องไม่ตกลงรับทุนอื่นเว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน สัญญาข้อนี้มีเจตนาเพื่อไม่ให้ผู้รับทุนไปรับทุนอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสำนักงานข้าราชการพลเรือนเพราะทุนดังกล่าวอาจจะมีข้อผูกพันซึ่งจะทำให้มาขัดกับสัญญารับทุนรัฐบาลไทยที่ระบุว่าจะต้องกลับมาทำงานรับราชการในไทย หากเป็นทุนที่ไม่ได้มีความผูกพันที่จะมาขัดกับสัญญารับทุนของสำนักงานข้าราชการพลเรือนก็สามารถที่จะรับได้แต่จะต้องได้รับความยินยอมจากสำนักงานข้าราชการพลเรือนเสียก่อน
(8) สํานักงานข้าราชการพลเรือนมีการจ่ายเงินเดือนให้แก่นักเรียนทุนอย่างไรเพราะว่าในแต่ละประเทศที่นักเรียนทุนไปนั้นอาจจะมีค่าครองชีพที่แตกต่างกัน (อ.สุประวีณ์)
คุณอรรถพร : จะมีการพิจารณาและจ่ายให้อย่างเหมาะสมตามประเทศที่ไปและเมืองที่ไปอยู่ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็จะมีการปรับปรุงเมื่อถึงเวลาอันสมควรโดยสำนักงานผู้ดูแลจะสำรวจดัชนีค่าครองชีพของประเทศนั้น ๆ อยู่เป็นประจำ โดยเงินที่จ่ายให้จะยึดจากดัชนีค่าครองชีพที่ถูกส่งมาเป็นหลัก
(9) สำนักงานข้าราชการพลเรือนมีขอบอำนาจแค่ไหนหากเกิดกรณีที่นักเรียนทุนถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมจากทางมหาวิทยาลัยจนทำให้ไม่สามารถเรียนจบได้ (อ.สุประวีณ์)
คุณพรพิศ : โดยปกติแล้วทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนจะดูแลในทุกเรื่องรวมถึงเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยแต่จะสามารถดูแลได้มากแค่ไหนนั้นจะขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้น ๆ แต่ขอให้มั่นใจว่าสำนักงานข้าราชการพลเรือนจะดูแลนักเรียนทุนอย่างเต็มที่ในทุกด้านแน่นอน
(10) หากรับทุนอื่นไปด้วยในขณะศีกษาชั้นปริญญาเอกที่ไม่มีลักษณะผูกมัดนั้นเป็นการช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณแต่การรับทุนดังกล่าวไม่มีผลในการลดระยะเวลาของการกลับมาทำงานใช้ทุนในประเทศไทยหรือการลดจำนวนเบี้ยปรับใช่หรือไม่ (อ.สุประวีณ์)
คุณอรรถพร : หากเป็นทุนที่มีลักษณะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐโดยปกติก็จะไม่ได้ห้าม แต่โดยปกติทางสำนักข้าราชการพลเรือนก็จะจ่ายค่าใช้จ่ายรายเดือนให้แก่นักเรียนทุนอยู่แล้ว ในส่วนของระยะเวลาในการทำงานชดใช้ทุนก็เป็นไปตามข้อสัญญา
(11) หากเกิดกรณีดังกล่าวแล้วตามข้อสัญญาในข้อ 12 นั้นระบุว่าถ้าเกิดสละทุนของสำนักงานข้าราชการพลเรือนไปในระหว่างเรียนชั้นปริญญาเอกเพื่อไปรับทุนอื่น ช่วงระยะเวลาในการทำงานใช้ทุนนั้นจะคิดคำนวณจนถึงวันสุดท้ายที่เขาใช้ทุนของสำนักงานข้าราชการพลเรือนใช่หรือไม่ (ผศ.ดร.สุรศักดิ์)
คุณพรพิศ : กรณีดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้เพราะหากผู้รับทุนต้องการจะรับทุนจากที่อื่นมาด้วยนั้นทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนจะไม่ให้รับมาเต็มจำนวนแต่จะให้เลือกว่าจะรับส่วนไหนระหว่างค่าเล่าเรียนหรือค่าครองชีพและเมื่อเลือกแล้วทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนก็จะจ่ายเงินอีกส่วนให้อยู่ดี การจะสละของสำนักงานข้าราชการพลเรือนไปโดยสิ้นเชิงนั้นไม่สามารถกระทำได้ ดังนั้นในเรื่องระยะเวลาการกลับมาทำงานใช้ทุนนั้นก็จะยังนับไปจนถึงจบชั้นปริญญาเอกอยู่ดี
คุณอรรถพร : เมื่อพิจารณาจากข้อ 10 ของสัญญาแล้วหากผู้รับทุนได้ประสงค์จะขอขยายเวลาการศึกษาต่อโดยใช้ทุนส่วนตัวหรือทุนอื่นนั้นและได้รับอนุญาตจากทางสำนักงานข้าราชกาพลเรือนแล้ว ระยะเวลาดังกล่าวจะไม่ถูกนำมาคำนวณเป็นเวลาทำงานรับราชการเพื่อชดใช้ทุน ระยะเวลาชดใช้ทุนนั้นจะนับจากเวลาที่รับทุนงานข้าราชการพลเรือนไปจนถึงวันที่เลิกใช้ทุนเท่านั้น